Remove ads
ศาสดาของศาสนาพุทธ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระโคตมพุทธเจ้า (ออกเสียง: โค-ตะ-มะ) มีพระนามเดิมในภาษาบาลีว่า สิทฺธตฺถ โคตม หรือในภาษาสันสกฤตว่า สิทฺธารฺถ เคาตมะ (อ่านว่า /สิดทาด —/) (เทวนาครี: सिद्धार्थ गौतम) เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ สาวกของพระองค์ไม่นิยมออกพระนามโดยตรง แต่เรียกตามพระสมัญญาว่า "ภควา" (พระผู้มีพระภาคเจ้า)[1]
พระโคตมพุทธเจ้า | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
พระนามเดิม | สิทธัตถะ |
พระนามอื่น | อังคีรส โคดม ศากยมุนี |
วันประสูติ | ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 80 ปีก่อนพุทธศักราช |
สถานที่ประสูติ | ลุมพินีวัน |
สถานที่บวช | ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา |
สถานที่บรรลุธรรม | ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา |
ตำแหน่ง | พระพุทธเจ้า |
ก่อนหน้า | พระกัสสปพุทธเจ้า |
ถัดไป | พระเมตไตรยพุทธเจ้า |
ปรินิพพาน | ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ตามคติเถรวาท) |
สถานที่ปรินิพพาน | กุสินารา |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | กบิลพัสดุ์ |
พระบิดา | พระเจ้าสุทโธทนะ |
พระมารดา | พระนางสิริมหามายา |
วรรณะเดิม | กษัตริย์ |
ราชวงศ์ | โอกกากะ |
สถานที่รำลึก | |
สถานที่ | สังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ลุมพินีวัน พุทธคยา สารนาถ กุสินารา อารามสำคัญ คือ วัดเวฬุวัน วัดเชตวัน |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
คัมภีร์พุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท นิกายมหายาน และนิกายวัชรยาน บันทึกตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้าทรงประสูติ 623 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปี ก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล[2]
พระโคตมพุทธเจ้าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งแคว้นสักกะ โคตมโคตร อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มาช้านาน ก่อนออกผนวชทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นรัชทายาท เมื่อเสด็จออกผนวชและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงได้รับการถวายพระนามต่าง ๆ อาทิ พระศากยมุนี, พระพุทธโคดม, พระโคดมพุทธเจ้า ฯลฯ แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า ตถาคต แปลว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น[3] คือ ทรงปฏิญาณว่า ทรงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง สำเร็จแล้วซึ่งอรหัตผล[4]
ในคืนที่พระโพธิสัตว์เสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระนางสิริมหามายา พระนางทรงพระสุบินนิมิตว่า มีช้างเผือกมีงาสามคู่ ได้เข้ามาสู่พระครรภ์ ณ ที่บรรทม สิบเดือนหลังจากนั้น ขณะทรงพระครรภ์แก่ ได้ทรงขอพระราชานุญาตจากพระสวามีเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะอันเป็นพระมาตุภูมิ เพื่อให้การประสูติเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ระหว่างเสด็จกลับพระมาตุภูมิ พระนางได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละในสวนป่าลุมพินี[5] ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระโอรสก็ได้ประสูติ เมื่อประสูติแล้ว พระราชกุมารนั้นทรงพระดำเนินได้ 7 ก้าวทันที พร้อมทั้งเปล่งอาสภิวาจา ว่า "เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก การเกิดของเราครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว"[6] อนึ่ง ทั้งสวนป่าลุมพินีและกรุงกบิลพัสดุ์ในปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล[7]
หลังจากมีพระประสูติกาลแล้ว 3 วัน มีฤๅษีตนหนึ่งนามว่า "อสิตะ" ได้เข้าเยี่ยมพระราชกุมาร เมื่อพิจารณาดูก็พยากรณ์ว่าพระราชกุมารนี้จะได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณอย่างแน่นอน[8]
เมื่อพระชนมายุ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้เชิญพราหมณ์มา 108 คนเพื่อถวายพระนามพระราชกุมาร จึงได้พระนามว่า "สิทธัตถะ" จากนั้น พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ 8 คนเข้าพิจารณาพระลักษณะของพระกุมารเพื่อถวายคำพยากรณ์ พราหมณ์ 7 คนในจำนวนนั้นทำนายเป็น 2 สถาน คือหากพระราชกุมารครองราชย์จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากผนวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เว้นแต่พราหมณ์อายุน้อยสุดชื่อ "โกณฑัญญะ" พยากรณ์ว่า พระราชกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน[9]
หลังจากที่มีพระประสูติกาลแล้ว 7 วัน พระพุทธมารดาก็เสด็จสวรรคต ในปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวว่า เป็นเพราะพระครรภ์ของพระพุทธมารดาไม่ควรจะเป็นที่เกิดของสัตว์ใดอีก และจึงจักต้องเสด็จสู่สวรรคาลัย จึงต้องอยู่ในการดูเแลของพระนางปชาบดีโคตมี หรือพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีในเวลาต่อมา
เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ทรงเจริญวัยด้วยความสุขยิ่ง เพราะทรงถือกำเนิดในราชตระกูลภายใต้เศวตฉัตร และได้ทรงศึกษาในสำนักอาจารย์วิศวามิตร ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงที่สุด เจ้าชายได้ทรงศึกษาอย่างรวดเร็ว และจบหลักสูตรสิ้นทุกประการ คือ จบศิลปศาสตร์ทั้ง 18 สาขาวิชา
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงปริวิตกต่อคำทำนายของพราหมณ์หนุ่มที่ว่าเจ้าชายจะทรงออกผนวชแน่นอน จึงทรงจัดการเตรียมความพร้อมสำหรับการราชาภิเษกให้เจ้าชายขึ้นครองราชย์ พร้อมสร้างปราสาท 3 ฤดูให้ประทับ เมื่อพระชมน์ได้ 16 พรรษา ได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราพิมพา ผู้เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ กษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติกรุงเทวทหะ จนพระชนมายุได้ 29 พรรษา จึงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่าพระราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง
เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นอรรถกถากล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัยจนมีพระชนมายุได้ 29 พรรษาแล้ว ทรงเสพสุขอยู่บนปราสาท 3 ฤดู มีความสุขทางโลกบริบูรณ์[10] จนวันหนึ่งได้เสด็จประพาสอุทยาน ครั้งนั้นเทวดาได้เนรมิตเทวทูต 4 อันได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 ก็ทรงบังเกิดความสังเวชในพระทัย และใคร่เสด็จออกผนวชเป็นสมณะ
วันที่เจ้าชายราหุลประสูตินั้น เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา ด้วยทรงเบื่อในเพศฆราวาสอันเต็มไปด้วยกิเลส จึงทรงเห็นว่าเพศบรรพชิตเท่านั้นที่ประเสริฐ และเป็นสามารถจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เมื่อตัดสินพระทัยจะออกผนวช จึงตรัสให้นายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่ง แล้วเสด็จไปเยี่ยมพระโอรสและพระชายา เมื่อพระองค์เห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิทพระกรกอดโอรสอยู่ ทรงพระดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรสเสด็จออกจากห้อง เสด็จลงจากปราสาทพบนายฉันนะซึ่งเตรียมม้ากัณฐกะเป็นม้าพระที่นั่งไว้แล้ว เสด็จออกจากพระนครในเวลาเที่ยงคืน[11] เข้าเขตแดนแคว้นโกศลและแคว้นวัชชี จนถึงฝั่งแม่น้ำอโนมาในคืนนั้น เมื่ออาทิตย์ขึ้นแล้วจึงทรงครองบาตรและจีวรที่ฆฏิการพรหมนำมาถวาย[12] ขณะนั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จากนั้น ทรงส่งนายฉันนะให้นำเครื่องทรงกษัตริย์กลับนคร แล้วเสด็จลำพังโดยพระองค์เดียว มุ่งพระพักตร์ไปยังแคว้นมคธ
เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้นคือพระไตรปิฎกกล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา ทรงพระดำริว่า
...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัวอยู่อีกเล่า!— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. 12/316/316
ความคิดเช่นนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า
เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 12/316/316
นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า
ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวเหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้วโดยง่ายนั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.13/669/738
ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช ซึ่งนักวิชาการพุทธศาสนาบางท่านอ้างว่า การเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่เสด็จออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว โดยอ้างจากโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า
...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. 13/443/489
ตามพุทธวจนะไม่ได้กล่าวว่าผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดา เพียงแต่ตรัสว่าผนวชขณะทั้งสองพระองค์กรรแสง เพราะทรงหนีจากพระราชวังแล้วผนวชในตอนเช้า เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงทราบในเช้านั้น จึงเสียพระทัย การผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะและการกรรแสงของพระราชบุพการีจึงเป็นเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่
เหตุการณ์จากนี้ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุตรงกันว่า เมื่อพระองค์ถือเพศบรรพชิตแล้ว ก็ทรงศึกษาในลัทธิคณาจารย์ต่าง ๆ ซึ่งสมัยนั้นนิยมกัน ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครองเพศบรรพชิตแล้ว ทรงถือวัตรปฏิบัติของสมณะ คือปลงผมนุ่งผ้า ย้อมน้ำฝาด (สีเหลืองแก่นขนุน) เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาต ที่ผู้ต้องการบุญถวายให้ ทรงมีพระนามเรียกขานว่าพระสมณโคดม (คำว่า โคดม มาจากคำว่า โคตมะ ซึ่งเป็นชื่อโคตรของราชวงศ์ศากยะ)
พระโพธิสัตว์ได้ทรงศึกษากับอาฬารดาบส กาลามโคตร เมื่อหมดความรู้ของอาจารย์ จึงอำลาไปเป็นศิษย์ในสำนักอุทกดาบส รามบุตร ซึ่งมีความรู้สูงกว่าอาฬารดาบสหนึ่งขั้น คือเป็นผู้บรรลุฌานขั้นที่ 8 พระสมณโคดมทรงใช้เวลาศึกษาไม่นาน ก็สิ้นภูมิรู้ของอาจารย์ ในที่สุด จึงอำลาไปค้นหาวิมุตติธรรมตามแนวทางของพระองค์ ด้วยทรงประจักษ์ว่า นี่ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้
พระองค์จึงได้ละทิ้งสำนักอาจารย์เหล่านั้นเสีย พระองค์ได้มุ่งหน้าสู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ พร้อมฤๅษี 5 รูป ชื่อว่า โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ มาปฏิบัติตนเป็นศิษย์ ด้วยคาดหวังว่า เมื่อพระโพธิสัตว์หลุดพ้นแล้ว จะได้สอนพวกตนให้บรรลุด้วย โดยพระองค์ได้เริ่มการบำเพ็ญเพียรขั้นอุกฤษฏ์ ที่เรียกว่า ทุกกรกิริยา ซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมปฏิบัติกัน วาระแรก ทรงกัดฟัน นำลิ้นแตะเพดานปากไว้แน่น จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลออกทางพระกัจฉะ (รักแร้) วาระที่ 2 ทรงกลั้นลมหายใจเข้าออก จนเกิดเสียงดังอู้ทางช่องหูทั้งสอง ทำให้ทรงปวดหัว เสียดท้อง และทรงร้อนพระวรกาย การนั่งตากแดดจนผิวเกรียมไหม้ ครั้นฤดูหนาว ก็ลงไปแช่น้ำจนตัวแข็ง พระองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมทุกวิถีทาง แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุแนวทางค้นพบสัจจธรรมได้
พระองค์เริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยาในวาระสุดท้าย คือเริ่มลดอาหารที่ละน้อย ๆ จนถึงขั้นอดอาหาร จนร่างกายซูบซีดผอมแห้ง เหลือแต่หนังและเอ็นหุ้มกระดูก ทรงมาบำเพ็ญเพียรถึงขั้นอุกฤษฏ์ขนาดนี้ นับเป็นเวลาถึง 6 พรรษา ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรม ภายหลังทรงได้แนวพระดำริว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยานั้นเป็นการทรมานตนให้ลำบากเปล่า เป็นข้อปฏิบัติที่ตึงเกินไป และไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ แต่มัชฌิมาปฏิปทาคือไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป น่าจะเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ได้ จึงเริ่มเสวยพระกระยาหารดังเดิม เพื่อให้ร่างกายคลายเวทนา มีสมาธิที่จะบำเพ็ญเพียรต่อไป ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงเข้าใจว่า พระบรมโพธิสัตว์ได้ละความเพียร แล้วหันมาบริโภคพระกระยาหารดังเดิม ไหนเลยจะสามารถพบธรรมวิเศษได้ จึงพากันเดินทางจากพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี
ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์บรรทมหลับในยามราตรีของคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 จนเวลาใกล้รุ่ง ทรงสุบินนิมิต 5 ประการ[13] คือ
เมื่อทรงตื่นจากบรรทมแล้ว พระองค์ก็เริ่มพยากรณ์ไปตามลำดับว่า
เมื่อพระองค์ทรงทำนายสุบินนิมิตดังนี้ และทรงทำสรีรกิจส่วนพระองค์เสร็จแล้ว จึงเสด็จไปประทับนั่งพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ โคนต้นไทรใหญ่ ซึ่งไม่ไกลจากที่นั้น
ขณะที่พระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่นั้น สุชาดา ธิดาของเสนานีกุฎุมพี ได้นำมธุปายาสที่เธอได้หุงไว้มาถวายแด่พระองค์ พร้อมกับถวายบังคมลากลับไป
เมื่อนางสุชาดากลับไปแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปที่ริมแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อสรงน้ำและเสวยข้าวมธุปายาสทั้งหมด 49 ก้อน เมื่อเสวยจนหมดแล้ว จึงได้นำถาดทองไปลอยที่แม่น้ำเนรัญชรา ก่อนนำไปลอยได้อธิษฐานว่า
ถ้าเราจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำเถิด แต่ถ้ายังไม่ตรัสรู้ ก็ขอให้ถาดทองลอยไปตามกระแสน้ำเถิด
— พระสมณโคดม
เมื่ออธิษฐานจบแล้ว ถาดทองได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป และได้จมลงสู่นาคภิภพ ไปกระทบกับถาดทอง 3 ใบของอดีตพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ
ทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ผินพระพักตร์สู่เบื้องบูรพาทิศ ตั้งจิตแน่แน่วว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาน จักไม่ลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์ ในคืนนั้น ท้าววสวัตตีเข้าทำการขัดขวางการบำเพ็ญเพียรของพระมหาบุรุษ แต่ก็พ่ายแพ้ไป พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้าฌาน เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ จนเวลาผ่านไปพระองค์ได้บรรลุถึงญาณต่าง ๆ ดังนี้
พระองค์จึงพบกับความสุขสว่างอย่างแท้จริง ซึ่งเรียกกันว่าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ณ พุทธคยา กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
หลังจากที่พระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขที่เกิดจากความหลุดพ้น) ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน เพื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งสายเกิดและสายดับ จากนั้นในสัปดาห์ที่ 2 ได้เสด็จไปทรงยืนอยู่กลางแจ้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงทำอุปหาร คือ ยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรตลอด 7 วัน สถานที่เสด็จมาทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นได้นามว่าอนิมิสเจดีย์
ในสัปดาห์ที่ 3 หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้า ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้วขึ้น ณ กึ่งกลางระหว่างอนิมิสเจดีย์กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วเสด็จจงกรม ณ ที่นั้นเป็นเวลา 7 วัน สถานที่นั้นได้นามว่า รัตนจงกรมเจดีย์
ในสัปดาห์ที่ 4 จากวันที่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงพิจารณาธรรมตลอดเวลา ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์ ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่าในสัปดาห์ที่ 1-3 พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ) ยังมิได้โอภาสออกจากพระวรกาย จนในสัปดาห์ที่ 4 เมื่อเสด็จประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้วแล้ว พระฉัพพรรณรังสีจึงมีโอภาสออกมาจากพระวรกาย
หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้วแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปประทับใต้ต้นไทร ธิดามาร 3 พี่น้อง คือ นางราคา นางอรดี นางตัณหา ได้อาสาผู้เป็นบิดาไปทำลายตบะเดชะของพระพุทธองค์ ด้วยการเนรมิตร่างเป็นสตรีที่สวยงามในวัยต่าง ๆ ตลอดจนแสดงอิตถียาโดยการฟ้อนรำขับร้อง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ธิดามารให้หลีกไป
ในสัปดาห์ที่หกหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ได้บังเกิดมีฝนและลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย พญานาคชื่อ มุจลินท์ ได้ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ เข้าไปวงขนด 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้า เพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลายขนดออก แล้วจำแลงเป็นเพศมาณพยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์ ลำดับนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเปล่งอุทานจากความคิดว่า
ความสงัดคือความสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว ได้รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความสำรวมไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นผู้ปราศจากกำหนัด หรือสามารถก้าวล่วงพ้นซึ่งกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขอันประเสริฐในโลก ความขาดจากอัสมิมานะหรือการถือตัวตน หากกระทำให้ (การถือตัว) หมดสิ้นไปได้นั้น เป็นความสุขอย่างยิ่ง
— พระพุทธองค์
เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากร่มไม้จิกแล้ว ก็เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้เกด ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงทรงออกจากสมาธิ ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ผู้เป็นจอมเทพของดาวดึงส์ ทรงทราบว่า นับแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้มา 7 สัปดาห์ รวม 49 วัน มิได้เสวยภัตตาหารเลย จึงนำผลสมออันเป็นทิพยโอสถจากเทวโลกมาน้อมถวาย พระพุทธองค์จึงเสวยผลสมอทิพย์นั้น แล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ (ปาก) ด้วยน้ำที่ท้าวสักกเทวราชถวาย จากนั้นเสด็จประทับ ณ ร่มไม้เกดตามเดิม
หลังจากพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว 49 วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง 4 ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง
พระพุทธเจ้าทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงที่พ่อค้าสองพี่น้องถวายด้วยความเลื่อมใส เมื่อทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว พ่อค้าทั้งสองทูลขอถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นที่พึ่งนับถือสูงสุดในชีวิต เพราะขณะนั้น ยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้น ถือเป็นเทววาจิกอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา
หลังจากที่ตปุสสะและภัทลิกะ (ผู้ที่ถวายสัตตูก้อนสัตตูผง) ได้ขอถึงพระพุทธและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งสูงสุดในชีวิต ถือเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอภิวาทต่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บูชา พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียรเกล้าด้วยพระหัตถ์ขวา มีพระเกศา 8 เส้น อยู่บนฝ่าพระหัตถ์ จึงโปรดประทานพระเกศาทั้ง 8 เส้นนั้นแก่พ่อค้าทั้งสอง โดยแบ่งให้คนละครึ่ง (4 เส้น) เมื่อกราบบังคมลาไปสู่บ้านเมืองของตนแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศาไว้เป็นที่สักการบูชาแก่มหาชน
ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้นมีความละเอียดและลึกซึ้งมาก เป็นสิ่งที่เหล่าปุถุชนคนธรรมดาผู้มากไปด้วยกิเลสยากจะเข้าใจได้เมื่อได้ฟังธรรม แล้วจะมีใครสักคนที่จะเข้าใจธรรมของพระพุทธองค์ไม่ หากสอนไปแล้วเกิดไม่เข้าใจก็เปล่าประโยชน์ พระทัยหนึ่งจึงเกิดความมักน้อยว่าจะไม่แสดงธรรมเพื่อโปรดใครเลย ด้วยพระพุทธดำริของพระพุทธเจ้าได้ทราบไปถึงท้าวสหัมบดีพรหมในพรหมโลก ท้าวสหัมบดีพรหมจึงตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเปล่งวาจาอันดังถึงสามครั้งว่า "โลกจะฉิบหายในครั้งนี้" ท้าวสหัมบดีพรหมพร้อมเทพบริษัทก็ได้ลงจากพรหมโลกมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดชาวโลก โดยอธิบายว่า ในโลกนี้ยังมีสัตว์ในโลกทั้งหลายนี้ ที่มีกิเลสเบาบางพอที่จะฟังธรรมของพระองค์ได้นั้นยังมีอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดชาวโลกในครั้งนี้เทอญ พระพุทธองค์ทรงกล่าวตอบท้าวสหัมบดี "เราตถาคตจะได้เปิดประตูอมตธรรมต้อนรับชนผู้ใคร่สดับซึ่งเราชำนาญดีในหมู่มนุษย์" หลังจากพระพุทธองค์ทรงได้พิจารณาเห็นความแตกต่างของระดับสติปัญญาของบุคคลในโลกนี้เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ดังนี้
เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณก็ทรงอธิษฐานว่า จะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะได้อยู่ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า
พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ทิพยจักษุญาณได้บอกว่า ทั้งสองสิ้นชีพไปแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ทรงทราบว่า ปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จึงได้เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรด ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหบูชานั่นเอง ซึ่งกล่าวถึงสุด 2 อย่าง อันบรรพชิต ไม่ควรปฏิบัติ คือการลุ่มหลงมัวเมาในกาม 1 การทรมาณตนให้ลำบากเปล่า 1 มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ควรดำเนิน คืออริยสัจ 4 และมรรคมีองค์แปด
ในที่สุด ท่านโกณฑัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งวาจาว่า
บาลี : อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ
ไทย : โกณฑัญญะ เธอได้รู้แล้ว เธอได้เข้าใจแล้ว— พระพุทธเจ้า
ท่านโกณฑัญญะ จึงได้สมญาว่า พระอัญญาโกณฑัญญเถระ และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์ 3 เป็นครั้งแรกในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร พระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ขณะสดับพระธรรมเทศนาส่งจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปาทาน สามารถละสังโยชน์ครบ 10 ประการ ได้บรรลุพระนิพพานเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง 5 รูป
หลังจากโปรดปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มแรกแล้ว ก็มียสะที่หนีออกจากเมืองพาราณสี และพระญาติอีก 54 คนเข้ามาขอบวชและฟังพระธรรมเทศนาจนได้พระอรหันต์สาวก 60 รูป พระองค์ทรงส่งพระสาวกเหล่านี้ออกไปประกาศพระศาสนาตามตำบลต่าง ๆ และได้แสดงธรรมแก่เศรษฐีคนหนึ่ง เป็นชาวเมืองพาราณสี รวมถึงนางสุชาดา มารดาของพระยสเถระ และภรรยาเก่าของท่าน จนบรรลุโสดาบัน ขอแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา และถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นอุบาสกคนแรก และอุบาสิกากลุ่มแรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
จากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ก่อนที่จะไปที่นั่น ได้พบกับภัททวัคคีย์ที่กำลังตามหานางคณิกาซึ่งโขมยเสื้อผ้าและเครื่องประดับของเขาไป พระพุทธองจึงทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4 โปรด ภัททวัคคีย์จึงบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลระดับต่าง ๆ เช่น โสดาบัน สกทาคามี จากนั้นจึงขอบวช พระพุทธองค์ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา จากนั้นพระพุทธองค์ทรงส่งภัททวัคคีย์ไปประกาศพระศาสนา เมื่อครบ 30 คนแล้วจึงเดินทางต่อไป
เมื่อถึงแม่น้ำเนรัญชรา ก็ได้พบกับชฎิล 3 พี่น้องได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ และบริวาร 1,000 คน (อุรุเวลฯ 500 คน, นทีฯ 300 คน และคยาฯ 200 คน) ซึ่งเป็นนักบวชลัทธิบูชาไฟ และเป็นที่เคารพบูชาของชาวกรุงราชคฤห์ ในครั้งแรก พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์โดยการปราบพญานาคให้มีขนาดเล็ก ครั้งที่สองทรงแสดงพุทธานุภาพ คือมีเทวดามาเข้าเฝ้า และครั้งสุดท้ายทรงแสดงนิมิตจงกรมกลางน้ำ แต่ถึงอย่างไร อุรุเวลกัสปะก็ไม่เลื่อมใสอยู่ดี จนพระพุทธองค์ต้องแสดงธรรมโปรด ทำให้อุรุเวลกัสสปะเกิดความเลื่อมใสขอบวชเป็นพระสาวก พระพุทธเจ้าจึงทรงให้อุรุเวลฯ ไปชี้แจงแก่บริวาร 500 คนให้รับทราบ บริวารทั้งหมดรับทราบและขอบวชจากพระพุทธเจ้า จากนั้น เรื่องจึงได้ทราบถึงนทีฯ ซึ่งมีบริวาร 300 คน และคยาฯ ซึ่งมีบริวาร 200 คน ชฎิลทั้ง 2 และบริวารทั้งหมดจึงขอบวชตาม พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงพาทั้ง 1,003 รูปไปที่คยาสีสะ แล้วทรงแสดงธรรม อาทิตตปริยายสูตร แก่ชฎิลทั้ง 3 และบริวาร ทั้งหมดจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระพุทธองค์ทรงพาชฎิล 3 พี่น้อง และบริวารจำนวน 1,000 รูป ไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงพักที่ สวนตาลหนุ่ม เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปเข้าเฝ้า เมื่อเสด็จไปสวนตาล พระเจ้าพิมพิสารทรงนมัสการพระพุทธเจ้า ส่วนข้าราชบริพารบางส่วนยังทำเมินเฉยอยู่
พระพุทธองค์จึงทรงทำลายทิฐิมานะของข้าราชบริพารเหล่านั้นลง โดยถามพระอุรุเวลกัสสปะถึงเหตุที่เลิกศรัทธาลัทธิบูชาไฟ อุรุเวลฯ ตอบว่า ลัทธิเดิมของตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าในประชาชนทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกัน พระพุทธเจ้าทรงสังเกตเห็นบรรดาข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารได้คลายทิฐิมานะลงแล้ว จึงทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ข้าราชบริพาร และประชาชนทั้งหลาย
ผลที่ได้รับคือ พระเจ้าพิมพิสาร และข้าราชบริพารส่วนใหญ่ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงได้ทรงแสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณที่พึ่งตลอดชีวิต พระเจ้าพิมพิสารยังได้ถวายสวนเวฬุวันให้พระพุทธองค์และพระสาวกทั้งหมด วัดเวฬุวันจึงเป็น วัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา ในยามดึกของค่ำวันนั้น บรรดาเปรตทั้งหลายที่เคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาติทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารบำเพ็ญกุศลมีการถวายทานเป็นต้น ต่างก็รอรับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารจะอุทิศส่งไปให้ เมื่อรอจนสิ้นวันนั้น ไม่เห็นพระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญให้ตามที่หวัง จึงพากันส่งเสียงร้องด้วยศัพท์สำเนียงอันน่าสะพรึงกลัว พระเจ้าพิมพิสารได้สดับเสียงนั้น เกิดความกลัวมาก จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสให้ทราบความเป็นมา บอกให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนกุศล ท้าวเธอก็ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ทันใดนั้นอาหารทิพย์ก็ปรากฏมีแก่เปรตเหล่านั้นต่างพากันบริโภคจนอิ่มหนำสำราญ ร่างกายที่เคยผอมโซทุเรศน่าเกลียดน่ากลัวก็กลับดูสะอาดสมบูรณ์ขึ้น
พระอัครสาวกที่สำคัญของพระพุทธเจ้าคือ พระสารีบุตร และ พระมหาโมคคัลลานะ ครั้งนั้นคืออุปติสสะและโกลิตะ ในขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังประทับท่ามกลางพุทธบริษัทจำนวนมาก เมื่อเห็นมาณพทั้งสองกำลังเดินมา จึงตรัสบอกภิกษุสงฆ์ว่า ภิกษุทั้งหลาย มาณพทั้งสองคนนั้นจะเป็นอัครสาวกของเราตถาคต มาณพทั้งสองได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ ทั้ง 2 ได้ปฏิบัติธรรมอย่างพากเพียรจนพระมหาโมคคัลลานะอุปสมบทได้ 7 วัน ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์ พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายการที่พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ช้ากว่าพระมหาโมคคัลลานะว่าเป็นเพราะพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก ต้องใช้บริกรรมใหญ่ เปรียบด้วยการเสด็จไปของพระราชาต้องตระเตรียมราชพาหนะและราชบริวาร จึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าการไปของคนสามัญ
ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ (วันมาฆบูชา) ในตอนบ่ายพระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าภิกษุรูปอื่นในฐานะมีฤทธิ์ล้ำเลิศ เมื่อล่วงค่ำพระสงฆ์ 1,250 รูปจึงมาถึงวัดพระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานโอวาทปาติโมกข์แก่ทั้งหมด รวมทั้งอัครสาวกทั้ง 2 พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุรูปอื่นในทางปัญญา เป็นผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักรและพระจตุราริยสัจให้กว้างขวางพิสดารเสมอพระองค์ เมื่อมีภิกษุมาทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อจะเที่ยวจาริกไป พระพุทธเจ้ามักจะตรัสให้ภิกษุที่มาทูลลา ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อให้พระสารีบุตรได้สั่งสอน เช่นครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุเป็นจำนวนมากได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลาไปชนบท พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร แล้วทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิด ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระสารีบุตรได้รับการยกย่องมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" พระสงฆ์ผู้ประกาศพระศาสนา ได้ชื่อว่าธรรมเสนา เป็นกองทัพธรรมที่ประกาศเผยแผ่ธรรม เมื่อไปถึงที่ไหน ก็ทำให้เกิดประโยชน์และความสุขที่นั่น พระพุทธเจ้าเป็นจอมธรรมเสนา เรียกว่า "พระธรรมราชา" โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดี หรือแม่ทัพฝ่ายธรรม
วันมาฆบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาติโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการคือ
ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)
ขณะที่พระโคตมพุทธเจ้ามีพระชนมายุราว 80 พรรษา พระวรกายได้เสื่อมทรุดไปตามสังขารวัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีพระโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและยังมีพระอาการปวดเรื้อรัง ในปีสุดท้ายของพระองค์นั้น พระองค์ประชวรพระนาภีอย่างรุนแรงจนเกือบจะปรินิพพาน เมื่อพระอาการดีขึ้น นายจุนทะ กัมมารบุตร ได้นำสูกรมัททะวะมาถวาย หลังจากเสวยเสร็จได้ทรงพระบังคลหนักเป็นพระโลหิต แต่ทรงข่มพระอาการมุ่งเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ต้นสาละ ของมัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา แล้วเสด็จบรรทมสีห์ไสยาสน์ ขณะนั้นปริพาชกชื่อสุภัททะ มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อถามปัญหาบางประการ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้สุภัททะจนเข้าใจ สุภัททะบรรลุโสดาบัน และบวชเป็นภิกษุต่อหน้าพระพุทธองค์เป็นคนสุดท้าย ก่อนปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลาย สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านจงทำกิจของตน และกิจของผู้อื่นด้วยความไม่ประมาทเถิด
หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพาน ระหว่างใต้ต้นสาละคู่ ณ กรุงกุสินารา ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปรุณมีเพ็ญเดือน 6 ขณะมีพระชนมายุ 80 พรรษา ประเทศกัมพูชาและพม่านับปีนี้เป็น พ.ศ. 1 แต่ในประเทศไทยนับ พ.ศ. 1 หนึ่งปีหลังจากการปรินิพพาน ซึ่งแตกต่างเพียงเล็กน้อย
มโน เลาหวณิช [[14]] สันนิษฐานว่าพระอาการประชวรมีสาเหตุมาจากการอุดตันของเส้นเลือดใหญ่ในลำไส้เล็กส่วนกลาง (superior mesenteric artery) เมื่อกล้ามเนื้อลำไส้ของพระองค์ตายจากการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้เลือดจำนวนมากไหลเข้าสู่ลำไส้ เกิดการถ่ายเป็นเลือด นอกจากนี้ แบคทีเรียจำนวนมากได้เข้าสู่ช่องท้องทำให้เกิดการอักเสบของช่องท้อง แบคทีเรียส่วนหนึ่งเข้าสู่กระแสพระโลหิต ทำให้เกิดพระอาการช็อกและหนาวสั่น อาการช็อกทำให้พระองค์เกิดการกระหายน้ำ เนื่องจากไม่สามารถพระดำเนินได้เองจึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย และรับสั่งให้นำผ้าสังฆาฏิปูบริเวณลานหนา 4 ชั้นเพื่อให้ทรงประทับ เมื่อพระอาการดูท่าไม่ดี เหล่าภิกษุได้ช่วยกันนำพระองค์เข้าไปในเมืองเพื่อรักษาแต่ไม่สำเร็จ จึงเสด็จปรินิพพานในกรุงกุสินารา หลังวันวิสาขบูชาราว 5-6 เดือนในช่วงออกพรรษา หลังจากปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายมีมติที่จะเคลื่อนพระพุทธสรีระออกจากเมืองไปประตูทางทิศใต้[15] แต่ก็ไม่สามารถอัญเชิญพระพุทธสรีระไปได้ แม้แต่จะขยับเขยื้อนให้เคลื่อนจากสถานที่สักน้อยหนึ่ง มัลลกษัตริย์พากันตกตลึงในเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยประสบเช่นนั้น จึงได้พร้อมกันไปเรียนถามพระอนุรุทธะเถระซึ่งเป็นประธานสงฆ์อยู่ พระอนุรุทธะเถระได้กล่าวว่า เหล่าเทวดามีความประสงค์ที่จะเคลื่อนพระพุทธสรีระให้เข้าเมืองจากทิศเหนือแล้วออกไปยังประตูทางทิศตะวันออก มัลลกษัตริย์ทั้งหลายต่างได้ทำตามความประสงค์ของเหล่าเทวดา หลังจากนั้นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 8 หลังพุทธปรินิพพาน เมื่อหลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตนแต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจากโทณพราหมณ์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามเมืองต่างๆ
พระพุทธเจ้าทรงเทศนา สั่งสอนพุทธบริษัทเรียกว่า พระธรรมวินัย พระธรรม คือคำสอนในสิ่งที่เป็นจริงของชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่จุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน
พระธรรมนั้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ คำสอนที่เกี่ยวเนื่องกับ ชีวิตประจำวันของ ผู้คนทั่วไป เรียกว่าพระสูตร และคำสอนที่เป็น หัวข้อธรรมล้วน ๆ เช่น ขันธ์ 5 ปัจจยาการ 12 เป็นต้นเรียกว่าพระอภิธรรม ส่วนวินัยสำหรับพระ ภิกษุและภิกษุณี ได้แก่กฎระเบียบข้อปฏิบัติ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน พุทธบริษัทได้ ร่วมกันรวบรวม พระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัย จัดเข้าเป็นหมวดหมู่ได้ 84,000 หมวด รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก
นักวิชาการยังลังเลใจในการอ้างอย่างไม่สันทัดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในพุทธประวัติ ส่วนใหญ่ยอมรับว่าพระองค์มีพระชนม์ ตรัสสอนและทรงจัดตั้งสำนักสงฆ์ แต่ไม่ได้ยอมรับในทุกๆ รายละเอียดที่บรรจุในพุทธประวัติ[16][17] ตามนักประพันธ์ มิเชล คาร์รัทเธอร์ (Michael Carrithers) ว่า แม้จะมีเหตุผลที่ดีในการสงสัยบันทึกดั้งเดิม แต่ "โครงร่างชีวิตนั้นจะต้องเป็นจริง การประสูติ การเจริญวัย การสละ การค้นหา การตรัสรู้และการหลุดพ้น การตรัสสอน และปรินิพพาน"[18]
ในงานเขียนพระพุทธประวัติของเธอ คาเรน อาร์มสตรอง เขียนว่า "ยากอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ในการเขียนพระพุทธประวัติเพื่อให้เข้ากับหลักเกณฑ์สมัยใหม่ เพราะเรามีข้อมูลน้อยมากที่ถูกมองได้ว่าเหมาะสมทางประวัติศาสตร์ ... [แต่] เราสามารถมั่นใจได้อย่างมีเหตุผลว่า พระโคตมพุทธเจ้าทรงมีตัวตนอยู่จริง และหลักคำสอนของพระองค์คงรักษาความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์"[19]
ในนิกายมหายาน นิยมเรียกพระโคตมพุทธเจ้าว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า (จีน: 释迦牟尼佛 ซื่อเจียโหฺมวหฺนีฝอ ตามสำเนียงจีนกลาง หรือ เสกเกียเมานีฮุก ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) ซึ่งมักจะนิยมสร้างประติมากรรมในรูปแบบถือลูกแก้วสีแดง ส่วนทางธิเบตจะนิยมมีพระวรกายสีเหลือง
ตามศาสนสถานหรือวัดในพุทธศาสนามหายาน จะพบพระศากยมุนีพุทธเจ้าประดิษฐานตรงกลาง ด้านซ้ายมือของพระศากยมุนี คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาตถาคตพุทธเจ้า ส่วนด้านขวามือของพระศากยมุนี คือพระอมิตาภพุทธเจ้า หรือที่พุทธศาสนิกชนชาวจีนเรียกว่า พระไตรรัตนพุทธเจ้า (จีน: 三寳佛 ซานเป้าฝอ ตามสำเนียงจีนกลาง หรือ ซำป้อฮุก ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดสภาวะคือตรีกาย อันได้แก่
นอกจากในพระพุทธศาสนาแล้ว พระโคตมพุทธเจ้ายังถูกอ้างถึงในลัทธิศาสนาอื่น ๆ ด้วย
ศาสนาฮินดูเชื่อว่าพระโคตมพุทธเจ้าเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ ปรากฏการอ้างอยู่ในหลายคัมภีร์
วิษณุปุราณะและภาควัตปุราณะ ระบุไว้ตรงกันว่า พระวิษณุเห็นว่าพวกอสูรขโมยเครื่องบูชายัญไป ทำให้มีอำนาจมากกว่าฝ่ายเทพ พระวิษณุจึงเนรมิตพระโคดมขึ้น เพื่อล่อลวงพวกอสูรให้ละทิ้งพระเวท ละทิ้งการบูชายัญ ติเตียนเทพและพราหมณ์ หันไปนับถือศาสนาพุทธ เมื่อพวกอสูรหลงผิดไปทิ้งพระเวทแล้ว ก็จะเสื่อมกำลังลง ฝ่ายเทพกลับก็จะโจมตีและทำลายพวกอสูรได้[20]
มหากาพย์มหาภารตะ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากพระวิษณุได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ก่อตั้งศาสนาพุทธเพื่อล่อลวงพวกอสูรให้ละทิ้งพระเวทแล้ว พระวิษณุจะอวตารเป็นกัลกี (บุรุษขี่ม้าขาว) มาปราบลัทธินอกศาสนาเหล่านี้ให้หมด[20]
ฝ่ายลัทธิไศวะ มีตำราชื่อศังกรทิควิชยะ อธิบายว่า เหล่าเทวดาไปร้องทุกข์ต่อพระศิวะว่า พระวิษณุได้เข้าสิงร่างพระพุทธเจ้า สอนให้คนเลิกการบวงสรวง ดูหมิ่นพราหมณ์ เกิดพวกนอกรีตขึ้นจำนวนมาก ทำให้เทวดาทั้งหลายไม่ได้รับเครื่องเซ่นสังเวย พระศิวะเห็นแก่เหล่าเทพ จึงอวตารเป็นศังกราจารย์ ลงมากอบกู้ศาสนาพระเวทให้กลับมารุ่งเรืองและทำลายความประพฤติชั่วให้สิ้นไป[20]
พระบะฮาอุลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาบาไฮ และพระอับดุลบะฮาอ์ ผู้นำศาสนารุ่นต่อมา กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมาเพื่อทำหน้าที่นำพาและให้ความรู้แก่มนุษย์ในยุคสมัยหนึ่ง เช่นเดียวกับศาสดาท่านอื่น ๆ คือ พระกฤษณะ โมเสส ซาราธุสตรา พระเยซู นบีมุฮัมมัด พระบาบ[21] โดยพระบาฮาอุลลออ์คือพระศรีอริยเมตไตรย เป็นศาสดาองค์ล่าสุดในยุคปัจจุบันนี้[22]
ลัทธิอนุตตรธรรมอ้างว่า พระเป็นเจ้าคือพระแม่องค์ธรรมได้ส่งพระศากยมุนีพุทธเจ้ามาตรัสรู้บนโลกเพื่อทำหน้าที่ฉุดช่วยนำพาวิญญาณเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้กลับสู่แดนนิพพาน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของวิญญาณทุกดวง ลัทธินี้เชื่อว่าเมื่อพระโคดมตั้งปณิธานได้ 7 วันว่าถ้าหากไม่ได้ตรัสรู้ก็จะไม่ลุกจากที่นั่ง พระแม่องค์ธรรมสงสารพระโคดมที่ลำบากบำเพ็ญเพียรมา 6 ปียังไม่บรรลุ จึงให้พระทีปังกรพุทธเจ้าจำแลงเป็นดาวประกายพรึกมาเปิดจุดญาณทวารให้ พระโคดมจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า[23]
ลัทธิอนุตตรธรรมอ้างว่าศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้ามีอายุ 3,114 ปี เริ่มต้นขึ้นราว 1200 ปีก่อนคริสตกาลและสิ้นสุดไปแล้วในปี ค.ศ. 1912[24] ปัจจุบันเป็นธรรมกาลของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งได้อวตารมาเป็นลู่ จงอี[25]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.