บัวสี่เหล่า
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ในทางศาสนาพุทธ บัวสี่เหล่า คืออุปมาเปรียบบุคคลเหมือนดอกบัว 4 จำพวก ตามฐานะที่จะบรรลุนิพพานได้และไม่ได้ในชาตินั้น ตามที่ปรากฏในโพธิราชกุมารสูตร ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีและคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ว่าเมื่อแรกตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาว่าพระธรรมที่ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ แต่ต่อมาได้ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว ทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว 3 เหล่า (ตามนัยโพธิราชกุมารสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลี[1]) หรือบัว 4 เหล่า (ตามนัยสุมังคลวิลาสินี[2])
การที่สุมังคลวิลาสินีกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบบุคคลเป็นดอกบัว 4 เหล่านั้น เป็นการประยุกต์จากพุทธพจน์เรื่องบุคคล 4 จำพวกที่ตรัสไว้ในอุคฆฏิตัญญุสูตร อังคุตตรนิกาย ปุคคลวรรคที่ 4[3] มาผสานกับพระพุทธพจน์เรื่องดอกบัว 3 เหล่าที่ตรัสไว้ในโพธิราชกุมารสูตร มัชฌิมนิกาย จึงกลายเป็นดอกบัว 4 เหล่าที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ในพระไตรปิฏก พระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของท้าวสหัมบดีพรหมที่เชิญให้พระองค์แสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ และทรงเห็นว่าสัตวโลกที่ยังสอนได้มีอยู่ (เรียกว่าเวไนยสัตว์) เปรียบด้วยดอกบัว 3 จำพวก ดังความต่อไปนี้[4]
... ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี...
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า
อุคฆฏิตัญญุสูตรและมโนรถปูรณีได้อธิบายบุคคล 4 จำพวก ไว้ดังนี้[5]
3 จำพวกแรกเรียกว่าเวไนยสัตว์ (ผู้แนะนำสั่งสอนได้) ส่วนปทปรมะเป็นอเวไนยสัตว์ (ผู้ไม่อาจแนะนำสั่งสอนได้)
สุมังคลวิลาสินีระบุว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบบุคคลเป็นดอกบัว 4 เหล่า โดยนำปทปรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุคฆฏิตัญญุสูตร บุคคลวรรค อังคุตตรนิกาย มาเปรียบเป็นบัวเหล่าที่ 4 จึงได้เป็นแนวคิดดอกบัว 4 เหล่า ดังนี้
บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยย ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ เหล่านั้นแล. ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง ชื่ออุคฆฏิตัญญู. บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร ชื่อว่าวิปจิตัญญู. บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแยบคาย ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร ชื่อว่าเนยย. บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้น แม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก ชื่อว่าปทปรมะ.
— อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร ธมฺมเทสนาธิฏฺฐานวณฺณนา
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.