คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
พระราชวังต้องห้าม
พระราชวังหลวงในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ในกรุงปักกิ่ง จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
พระราชวังต้องห้าม (จีน: 紫禁城; พินอิน: Zǐjìn Chéng จื่อจิ้นเฉิง; อังกฤษ: Forbidden City) หรือพระราชวังกู้กง จากชื่อภาษาจีนสามารถแปลตามตัวอักษรได้ว่า "เมืองต้องห้ามสีม่วง" พระราชวังต้องห้ามตั้งอยู่ใจกลางของกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน โดยเป็นพระราชวังหลวงมาตั้งแต่สมัยกลางราชวงศ์หมิงจนถึงราชวงศ์ชิง พระราชวังต้องห้ามยังเป็นที่รู้จักกันในนามของ พิพิธภัณฑ์พระราชวัง (ภาษาจีน: 故宫博物院; พินอิน: Gùgōng Bówùyùan) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 720,000 ตารางเมตร หรือ 450 ไร่ (0.72 ตร.กม.) อาคาร 980 หลัง[2] พระราชวังต้องห้ามมีห้องทั้งหมด 9,999 ห้อง[3] และมีพระที่นั่ง 75 องค์ หอพระสมุด และห้องลับต่าง ๆ อีกมาก ทั้งยังมีสวน ลานกว้าง และทางเดินเชื่อมกันโดยตลอด มีคูและกำแพงที่สูงถึง 11 เมตร[4] ล้อมรอบ พระราชวังต้องห้ามใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 14 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1406 จนถึง ค.ศ. 1420
![]() | บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ เพราะใช้โปรแกรมแปลมา คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
Remove ads
พระราชวังต้องห้ามตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัสเทียนอันเหมิน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมพระราชวังต้องห้ามได้ผ่านทางจตุรัสนี้ผ่านประตูเทียนอัน บริเวณรอบจัตุรัสเทียนอันเหมินเรียกว่า "อาณาเขตหลวง" มีสถานที่สำคัญรายล้อมอยู่โดยรอบ เช่น มหาศาลาประชาคม ในอดีต พระราชวังแห่งนี้เป็นเขตหวงห้ามไม่ให้ประชาชนเข้า แม้แต่ข้าราชการชั้นสูงก็ยังต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ จึงเป็นเหตุที่เรียกพระราชวังนี้ว่า "พระราชวังต้องห้าม" จักรพรรดิจะประทับอยู่ในพระราชวังแห่งนี้โดยกั้นพระองค์จากโลกภายนอก มีสนมกำนัล ขันที และข้าหลวงคอยรับใช้ คนเหล่านี้ต้องอาศัยอยู่ในนครต้องห้ามตลอดชีวิตเพื่อตอบสนองความสำราญของจักรพรรดิ ในพระราชวังต้องห้ามจะมีวิเสท 6,000 คนคอยประกอบพระกระยาหาร มีสนมกำนัล 9,000 นาง และมีขันที 70,000 คน คอยดูแล
แม้ว่าประเทศจีนจะไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว พระราชวังต้องห้ามก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีน ภาพประตูเทียนอันเหมินยังคงปรากฏอยู่ในตราประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ พระราชวังต้องห้ามยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งไม่นานมานี้ทางรัฐบาลจีนได้มีนโยบายจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์สภาพของอาคารและสวนหย่อมไว้
ยูเนสโกได้ประกาศให้พระราชวังต้องห้ามร่วมกับพระราชวังเฉิ่นหยาง เป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลก ในนาม พระราชวังหลวงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงในปักกิ่งและเฉิ่นหยาง เมื่อ ค.ศ. 1987
Remove ads
ชื่อ
สรุป
มุมมอง
ชื่อ "พระราชวังต้องห้าม" นั้นแปลมาจากชื่อในภาษาจีนว่า จื่อจิ้น เฉิง (จีน: 紫禁城; พินอิน: Zǐjīnchéng แปลตามตัวอักษรได้ว่า "เมือง ต้องห้าม สีม่วง") ชื่อ จื่อจิ้น เฉิง ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1576[5] สำหรับในภาษาอังกฤษเรียกพระราชวังนี้ว่า เมืองต้องห้าม (Forbidden City) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ พระราชวังต้องห้าม (Forbidden Palace)[6]
ชื่อ จื่อจิ้น เฉิง เป็นชื่อที่มีความสำคัญหลายระดับ คำว่า จื่อ หรือ "สีม่วง" อ้างอิงถึงดาวเหนือ ซึ่งจีนโบราณเรียกดาวดวงนี้ว่า ดาวจื่อเว่ย และในดวงจีนแบบดั้งเดิมถือว่าเป็นสรวงสวรรค์ที่ประทับของเง็กเซียนฮ่องเต้ โดยดาวจื่อเว่ย (ดาวเหนือ) นี้อยู่ตรงกลาง วงล้อมจื่อเว่ย (จีน: 紫微垣; พินอิน: Zǐwēiyuán) โดยมีดาวบริวารต่าง ๆ รายล้อมดาวจื่อเว่ย (ดาวเหนือ) อยู่ภายในวงล้อมดังกล่าว ถือเป็นราชอาณาจักรของเง็กเซียนฮ่องเต้และพระบรมวงศานุวงศ์ของพระองค์ พระราชวังต้องห้ามถือเป็นที่ประทับของจักรพรรดิ (ฮ่องเต้) บนแผ่นดิน ซึ่งเป็นโลกคู่กัน คำว่า จิ้น หรือ "ต้องห้าม" อ้างอิงถึงความจริงที่ว่าไม่มีผู้ใดที่สามารถผ่านเข้าออกพระราชวังได้ โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จจักรพรรดิ ส่วนคำว่า เฉิง หมายถึง "เมือง"[7]
ในทุกวันนี้ สถานที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า กู้กง (จีน: 故宫; พินอิน: Gùgōng) ซึ่งหมายถึง "พระราชวังเก่า"[8] ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนอาคารเหล่านี้รู้จักในชื่อ "พิพิธภัณฑ์พระราชวัง" (จีน: 故宫博物院; พินอิน: Gùgōng Bówùyùan)
Remove ads
ประวัติ
สรุป
มุมมอง


เมื่อเจ้าชายจูตี้ พระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิหงอู่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิหย่งเล่อแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้ย้ายเมืองหลวงจากหนานจิงไปยังปักกิ่ง การก่อสร้างพระราชวังหลวงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1406 และต่อมาจึงกลายมาเป็นพระราชวังต้องห้าม[7]
การก่อสร้างดำเนินไปเป็นระยะเวลา 14 ปี และใช้กรรมกรมากกว่าหนึ่งล้านคน[9] วัสดุที่ถูกนำมาใช้ ประกอบด้วย ท่อนไม้ชั้นเยี่ยมจากไม้ Phoebe zhennan (จีน: 楠木; พินอิน: nánmù) ซึ่งพบได้ทางป่าด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และหินอ่อนขนาดใหญ่จากเหมืองใกล้กับปักกิ่ง[10] พื้นของตำหนักส่วนใหญ่ถูกปูด้วย "อิฐทองคำ" (จีน: 金磗; พินอิน: jīnzhuān) ซึ่งเป็นอิฐเผาพิเศษจากซูโจว[9]
ตั้งแต่ ค.ศ. 1420 ถึง ค.ศ. 1644 พระราชวังต้องห้ามเป็นศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์หมิง ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1644 พระราชวังแห่งนี้ถูกยึดครองโดยกลุ่มกบฎที่นำโดยหลี่ จื้อเฉิง โดยเขาประกาศตัวเองเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชุน[11] แต่ไม่ช้าเขาก็ต้องลี้ภัยออกจากพระราชวังต้องห้ามไปก่อนที่กองทัพซึ่งเป็นกองผสมของอดีตผู้บัญชาการอู่ ซานกุ้ยแห่งราชวงศ์หมิงและกองกำลังแมนจู จะเข้ายึดชิงบางส่วนของพระราชวังต้องห้ามคืน[12]
ต่อมาในเดือนตุลาคม กองกำลังแมนจูประสบความสำเร็จอย่างสูงในภาคเหนือของจีน และมีการจัดพระราชพิธีบรมจักรพรรดิยาภิเษกขึ้นที่พระราชวังต้องห้าม ในการประกาศการเสวยราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิซุ่นจื้อในฐานะทรงปกครองแผ่นดินจีนทั้งหมดภายใต้ราชวงศ์ชิง[13] ราชสำนักชิงมีการเปลี่ยนแปลงชื่อพระตำหนักบางองค์เพื่อเน้น "ความสามัคคี" มากกว่า "ความยิ่งใหญ่"[14] สร้างป้ายชื่อสองภาษา (ภาษาจีนและภาษาแมนจู)[15] และได้นำองค์ประกอบเชมันเข้าสู่พระราชวัง[16]
ใน ค.ศ. 1806 ระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่สอง กองกำลังแองโกล-เฟรนซ์ได้เข้ามายึดครองพระราชวังต้องห้ามและครองไว้จนสิ้นสุดสงคราม[17] ใน ค.ศ. 1900 สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่ พระพันปีหลวงทรงลี้ภัยออกจากพระราชวังต้องห้ามในช่วงที่เกิดกบฏนักมวย และทรงปล่อยให้พระราชวังต้องห้ามถูกยึดครองโดยกองกำลังตามอำนาจในสนธิสัญญาจนถึงปีถัดมา[17]
หลังจากที่พระราชวังต้องห้ามแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิ 24 พระองค์ ในจำนวนนั้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง 14 พระองค์ และราชวงศ์ชิง 10 พระองค์ พระราชวังต้องห้ามถูกยุติการเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของประเทศจีนลงใน ค.ศ. 1912 พร้อมกับการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งมหาจักรวรรดิจีน จากข้อตกลงกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีนใหม่ อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋จะยังประทับอยู่ภายในเขตพระราชฐานชั้นในได้ ในขณะที่เขตพระราชฐานชั้นนอกนั้นยกให้ใช้เป็นที่สาธารณะ[18] จนกระทั่งอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ทรงถูกขับออกจากพระราชวังต้องห้ามภายหลังการรัฐประหารใน ค.ศ. 1924[19] พิพิธภัณฑ์พระราชวังถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1925[20] ใน ค.ศ. 1933 การบุกรุกจีนของญี่ปุ่น ได้บังคับให้ย้ายสมบัติประจำชาติภายในพระราชวังต้องห้ามออกไป[21] ส่วนหนึ่งของสมบัติถูกส่งกลับคืนเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง[22] แต่อีกส่วนหนึ่งถูกโยกย้ายไปยังไต้หวันใน ค.ศ. 1948 ภายใต้คำสั่งของเจียง ไคเชก เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งปราชัยในสงครามกลางเมืองจีน สมบัติที่มีขนาดค่อนข้างเล็กแต่มีคุณภาพสูงถูกเก็บไว้จนถึง ค.ศ. 1965 มันถูกนำมาจัดแสดงแก่สาธารณะอีกครั้ง เป็นสมบัติชิ้นหลักของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติในไทเป[23]
หลังจากการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 ความเสียหายบางประการได้เกิดขึ้นกับพระราชวังต้องห้ามเนื่องจากถูกกวาดล้างในการปฏิวัติที่รวดเร็วเกินไป[24] ในช่วงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม การทำลายล้างอย่างต่อเนื่องได้รับการป้องกันจากนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลด้วยการส่งกองทัพออกไปคุ้มครองป้องกันพระราชวังต้องห้าม[25]
พระราชวังต้องได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อ ค.ศ. 1987 โดยยูเนสโก ในชื่อ "พระราชวังแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง"[26] เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในการพัฒนาของสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมจีน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของพิพิธภัณฑ์พระราชวัง ซึ่งมีการดำเนินโครงการการบูรณะสิบหกปี เพื่อซ่อมแซมและบูรณะอาคารทั้งหมดภายในพระราชวังต้องห้ามให้กลับไปอยู่ในสภาพก่อน ค.ศ. 1912[27]
ในปัจจุบันนี้การแสดงตัวขององค์กรการค้าในพระราชวังต้องห้ามกำลังก่อให้เกิดการโต้แย้ง[28] ร้านสตาร์บัคส์ถูกเปิดเมื่อ ค.ศ. 2000 จุดประกายความรู้สึกไม่เห็นด้วยและในที่สุดก็ถูกปิดร้านในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2007[29][30] สื่อจีนยังมีการแจ้งว่ามีร้านขายของที่ระลึก 2 แห่งซึ่งปฏิเสธชาวจีนและยอมรับเงินจากชาวต่างชาติใน ค.ศ. 2006[31]
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐที่ได้รับการเลี้ยงรับรองอาหารค่ำในพระราชวังต้องห้าม นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนมา[32]
Remove ads
โครงสร้างและสถาปัตยกรรม
สรุป
มุมมอง

- – - เส้นแบ่งโดยประมาณระหว่างเขตพระราชฐานชั้นใน (ด้านเหนือ) และเขตพระราชฐานชั้นนอก (ด้านใต้)
A. ประตูอู่ B. ประตูเฉินอู่ C. ประตูซีหวา D. ประตูตงหวา E. ป้อมมุมกำแพง F. ประตูไท่เหอ G. พระที่นั่งไท่เหอ |
H. ตำหนักอู่หยิง J. ตำหนักเหวินฮวา K. พระที่นั่งหน่านซัน L. พระตำหนักเฉียนชิง M. อุทยานหลวง N. ตำหนักหย่างซิน O. พระที่นั่งเฉียนหลง |
พระราชวังต้องห้ามเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างจากเหนือถึงใต้ 961 เมตร และจากตะวันออกถึงตะวันตก 753 เมตร[33][34] ประกอบด้วยอาคารที่หลงเหลืออยู่ 980 องค์ พร้อมด้วยห้อง 8,886 ห้อง[35][36] ซึ่งตามตำนานบอกว่ามีห้องจำนวน 9,999 ห้องรวมถึงห้องขนาดเล็กที่เป็นทางผ่านด้วย[37] ซึ่งจำนวนนี้อยู่บนตำนานปากเปล่าและไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานด้านการสำรวจแต่อย่างใด[38] พระราชวังต้องห้ามถูกออกแบบมาเพื่อเป็นศูนย์กลางทางอำนาจในสมัยโบราณ เป็นกำแพงเมืองแห่งปักกิ่ง พระราชวังนี้ถูกปิดล้อมด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ก่อเป็นกำแพง เรียกว่า นครหลวง (Imperial City) นครหลวงนี้เป็นลำดับชั้นการปิดล้อมจากพระราชวังชั้นใน ไปยังพระราชวังชั้นนอก
พระราชวังต้องห้ามนั้นยังคงมีความสำคัญในโครงการเทศบาลของปักกิ่ง แกนแนวกลาง เหนือ–ใต้ที่เหลืออยู่ในแกนกลางของปักกิ่ง แกนนี้ขยายออกไปทางใต้จนถึงประตูเทียนอันเหมินไปยังจตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นลานประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนจีน และยาวไปจนถึงประตูหย่งติ้ง ส่วนทางด้านเหนือขยายไปจนถึงเนินเขาจิ่งชาน ถึงหอระฆังและกลอง[39] แกนนี้ไม่ได้ขยายไปในแนวเหนือใต้ตรง ๆ แต่มีความเอียงเล็กน้อยสององศา การศึกษาเชื่อว่าแกนนี้ถูกออกแบบในสมัยราชวงศ์หยวนเพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งแซนาดู ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งอื่นของอาณาจักร[40]
นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมมีความเห็นว่า หากพิจารณาด้านจังหวะการจัดวางอาคารบนเส้นแกนกลาง จะพบว่าแนวคิดเบื้องหลังประตูต้าชิงคือการเลือกใช้วิธีกดลงแล้วค่อยยกขึ้น หรือทำให้ดูเรียบง่ายก่อนแล้วกระตุ้นอารมณ์ภายหลัง ให้ความรู้สึกเหมือนค่อย ๆ ก้าวไปสู่พระราชวังอันยิ่งใหญ่งดงามและน่าเกรงขาม เมื่อคณะทูตจากต่างแดนมาถวายบรรณาการ ตามระเบียบพระราชพิธีจะต้องผ่านประตูต้าชิงเพื่อเข้าไปเฝ้า โดยต้องเดินประมาณ 1,500 เมตร ผ่านทั้ง 5 ประตู ข้ามลานจตุรัสหลายลานไปจนถึงจตุรัสหน้าพระที่นั่งไท่เหอ สิ่งเหล้านี้เป็นอิทธิพลจากคติ "โอรสสวรรค์จะต้องมี 5 ประตู 3 เขตพระราชฐาน" ของพระราชวังตามขนบดั้งเดิมของจีน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ประตู ได้แก่ ประตูเทียนอัน ประตูตวน ประตูอู่ ประตูไท่เหอ และประตูเฉียนชิง และ 3 เขตพระราชฐาน คือ เขตพระราชทานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน
กำแพงและประตูวัง



พระราชวังต้องห้ามล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองสูง 7.9 เมตร[14] และลึก 6 เมตรจาก 52 เมตรของคูเมืองกว้าง กำแพงมีความกว้าง 8.62 เมตรที่บริเวณฐานกำแพง และค่อย ๆ เรียวลงไปจนถึงยอดกำแพง ซึ่งมีความกว้าง 6.66 เมตร[41] กำแพงเหล่านี้ทำหน้าที่ทั้งเป็นกำแพงป้องกันและกำแพงกันดินให้กับพระราชวัง พวกมันถูกสร้างขึ้นมาจากแกนดินอัด และปูผนังด้วยอิฐอบพิเศษสามชั้นในทั้งสองด้าน โดยใช้การฉาบปูนลงไปในร่องเล็ก ๆ[42]
ที่มุมทั้งสี่ของกำแพงเป็นที่ตั้งของป้อม (E) ที่มีหลังคาอันวิจิตรประณีต ซึ่งมีซี่หลังคาจำนวน 72 ซี่ เป็นการคัดลอกแบบของพลับพลาขององค์ชายเติ้งและหอคอยหวางเห้อที่ปรากฏในจิตรกรรมแบบราชสำนักซ่ง[42] ป้อมเหล่านี้เป็นส่วนที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดของพระราชวังจากราษฎรที่อยู่ภายนอกกำแพง ประเพณีความเชื่อของผู้คนจึงยึดติดกับป้อมเหล่านี้ ตามตำนานหนึ่งกล่าวว่า ช่างฝีมือไม่สามารถจัดวางมุมของป้อมให้เข้ากันได้ หลังจากที่ถูกรื้อถอนเพื่อบูรณะในยุคเริ่มแรกของราชวงศ์ชิง และมันถูกสร้างขึ้นใหม่หลังจากที่มีการแทรกแซงของเซียนช่างไม้ชื่อ หลู่ปัน[14]
กำแพงถูกล้อมรอบด้วยประตูในทุก ๆ ด้าน ประตูที่อยู่ทางใต้สุดคือประตูอู่เหมิน (A)[43] ทางเหนือคือประตูประตูเสินอู่เหมิน (B) ซึ่งหันหน้าเข้าหาสวนจิ่งชาน ทางตะวันออกสุดคือ "ประตูตงหวาเหมิน" (D) และทางตะวันตกสุดคือ "ประตูซีหวาเหมิน (C) ประตูทั้งหมดของพระราชวังต้องห้ามมีการประดับตกแต่งด้วยหมุดประตูทองคำ 9 แถว ยกเว้นประตูตงหวาเหมินที่มีเพียง 8 แถว[44]
ประตูอู่เหมินมีปีกอยู่ทั้งสองข้าง ทำให้เกิดเป็นด้านของสี่เหลี่ยมทั้งสามด้าน[45] ประตูนี้มีช่องประตูทั้งหมดห้าช่อง ช่องประตูตรงกลางเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งมีการทำเครื่องหมายด้วยหินซึ่งเป็นแกนกลางของพระราชวังต้องห้ามและนครโบราณปักกิ่ง ตลอดแนวจากประตูจงหวาเหมินทางใต้ไปจนถึงจิ่งชานทางเหนือ มีเพียงฮ่องเต้เท่านั้นที่จะสามารถทรงพระดำเนินหรือทรงนั่งผ่านเส้นทางนี้ได้ ยกเว้นสมเด็จพระจักรพรรดินีในพระราชวโรกาสงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และบัณฑิตที่สอบผ่านการสอบขุนนาง[44]
เขตพระราชฐานชั้นนอก






ตามธรรมเนียม พระราชวังต้องห้ามถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก (外朝) หรือส่วนหน้า (前朝) ประกอบด้วยส่วนทางใต้ ถูกใช้ในวัตถุประสงค์ด้านการพระราชพิธี และเขตพระราชฐานชั้นใน (内廷) หรือวังหลัง (后宮) ประกอบด้วยส่วนทางเหนือ ถูกใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ และถูกใช้ในการบริหารกิจการรัฐประจำวัน (มีเส้นแบ่งโดยประมาณสีแดงตามแผนผังด้านบนเป็นเส้นแบ่งเขต) โดยทั่วไปแล้ว พระราชวังต้องห้ามมีแกนแนวตั้งเป็นสามแฉก อาคารที่สำคัญที่สุดตั้งอยู่ที่แฉกตรงกลางในแนวเหนือ–ใต้[44]
เมื่อเข้าจากประตูอู่ จะพบกับพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่ มีแม่น้ำสีทองที่คดเคี้ยวไหลผ่าน ซึ่งมีสะพานข้ามทั้งหมดห้าสะพาน เมื่อข้ามสะพานไป เบื้องหน้าจะเป็นประตูไท่เหอ (F) ตั้งอยู่ โดยด้านหลังถัดไปจากประตูคือพื้นที่จตุรัสของพระที่นั่งไท่เหอ[46] อันเป็นพระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่บนแท่นหินหยกขาวยกพื้นสูงจากจตุรัสนี้ โดยมีพระที่นั่งทั้งหมดสามองค์ตั้งอยู่บนแท่นหินหยกขาว ซึ่งเป็นจุดสนใจของพระราชวังที่ซับซ้อนนี้ ประกอบด้วย (จากด้านทางใต้) พระที่นั่งไท่เหอ (太和殿) พระที่นั่งจงเหอ (中和殿) และพระที่นั่งเป่าเหอ (保和殿)[47]
พระที่นั่งไท่เหอ (พระที่นั่งอัครบรรสาน) (G) เป็นพระที่นั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่สูงกว่าปริมณฑลโดยรอบประมาณ 30 เมตรเศษ พระที่นั่งนี้เป็นศูนย์กลางพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิ และเป็นโครงสร้างไม้ที่ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศจีน มีมุขกว้างเก้ามุขและมุขลึกห้ามุข ซึ่งเลข 9 และ 5 เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงฮ่องเต้[48] บนเพดานตรงกลางของพระที่นั่งนั้นเป็นช่องทึบที่ถูกตกแต่งอย่างประณีตด้วยมังกรกำลังม้วนตัว ที่ปากของมังกรนั้นห้อยด้วยลูกโลหะทรงกลมปิดทองคำที่ถูกจัดไว้คล้ายกับโคมระย้า เรียกว่า "กระจกซวนหยวน"[49] ในสมัยราชวงศ์หมิง ฮ่องเต้ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้ขึ้นเพื่อไว้ทรงบริหารราชกิจของประเทศ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง ฮ่องเต้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระที่นั่งนี้บ่อยครั้งขึ้น ทำให้พระที่นั่งนี้ถูกใช้งานบ่อยขึ้น และพระที่นั่งไท่เหอนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการพระราชพิธีเท่านั้น เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีสถาปนา และพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส[50]
พระที่นั่งจงเหอ (พระที่นั่งมัธยบรรสาน) มีขนาดรองลงมา เป็นพระที่นั่งทรงจตุรัส ถูกใช้สำหรับให้ฮ่องเต้ทรงเตรียมพระองค์เอง และเป็นที่สำหรับทรงพักผ่อนในช่วงก่อนและในระหว่างพระราชพิธี[51] ด้านหลังเป็นพระที่นั่งเป่าเหอ (พระที่นั่งดำรงบรรสาน) ใช้สำหรับฝึกซ้อมการพระราชพิธี และยังถูกใช้เป็นสนามสอบขั้นสุดท้ายของการสอบขุนนางด้วย[52] ทั้งสามพระที่นั่งมีพระราชบัลลังก์หลวง ซึ่งพระราชบัลลังก์ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนที่สุดประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่งไท่เหอ[53]
บันไดตรงกลางที่ตรงขึ้นสู่แท่นจากด้านเหนือและด้านใต้เป็นบันไดพระราชพิธี เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของฮ่องเต้ โดยมีรูปแกะสลักนูนต่ำประดับอยู่ บันไดด้านเหนืออยู่ด้านหลังพระที่นั่งเป่าเหอ ตัวบันไดแกะสลักขึ้นจากหินชิ้นเดียวขนาดยาว 16.57 เมตร กว้าง 3.07 เมตร และหนา 1.7 เมตร มีน้ำหนัก 200 ตันเศษและเป็นวัตถุแกะสลักขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน[9] บันไดด้านใต้อยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งไท่เหอ มีความยาวกว่า แต่ประกอบจากหินสองชิ้นเชื่อมกันด้วยคอนกรีต รอยต่อถูกซ่อนไว้อย่างชาญฉลาดโดยใช้การแกะสลักนูนต่ำที่ทับซ้อนกัน ถูกค้นพบจากการผุพังที่ทำให้ช่องว่างนั้นขยายขึ้นในศตวรรษที่ 20[54]
ด้านใต้ฝั่งตะวันตกและด้านใต้ฝั่งตะวันออกของเขตพระราชฐานชั้นนอกเป็นพระที่นั่งอู่อิง (H) และพระที่นั่งเหวินฮวา (J) ซึ่งในอดีตเคยถูกใช้สำหรับฮ่องเต้เสด็จออกรับเหล่ารัฐมนตรีและการเปิดศาล ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์ในพระราชวัง อีกพระที่นั่งถูกใช้เป็นสถานที่บรรยายพิธีการทางศาสนาโดยนักพรตขงจื้อขั้นสูงที่ได้รับการยกย่อง และต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นสำนักงานราชเลขาธิการ สำเนาของหนังสือซื่อคูเฉียนชูถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่ ส่วนด้านเหนือฝั่งตะวันออกเป็นหมู่พระที่นั่งหน่านซัน (หมู่พระที่นั่งไตรทักษิณา) (南三所) (K) ซึ่งเป็นที่ประทับของพระรัชทายาท[46]
เขตพระราชทานชั้นกลาง
เขตพระราชฐานชั้นใน
เขตพระราชฐานชั้นในเป็นส่วนที่แยกออกจากเขตพระราชฐานชั้นนอกโดยลานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ตั้งฉากกับแกนหลักของพระนครต้องห้าม เป็นที่ประทับขององค์ฮ่องเต้และพระบรมวงศานุวงศ์ของพระองค์ ในสมัยราชวงศ์ชิง สมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงประทับและทรงงานเกือบเฉพาะแค่ในเขตพระราชฐานชั้นในเท่านั้น โดยจะเสด็จออกยังเขตพระราชฐานชั้นนอกเพียงแค่เฉพาะในการพระราชพิธีเท่านั้น[55]
องค์ประกอบพระราชฐานฝ่ายในทั้งหมดนี้เป็นที่มาของท้องฟ้าและดินรวมกันเป็นหนึ่ง (พระตำหนักหลัก 2 หลัง เฉียนชิงกงและคุนหนิงกง) ตงอู๋สั่วและซีอู๋สั่ว ตั้งอยู่ฝั่งละ 5 กลุ่ม เป็นสัญลักษณ์ของ 10 กิ่งฟ้า (ธาตุหยาง) ส่วนตงลิ่วกงและซีลิ่งกง ตั้งอยู่ฝั่งละ 6 กลุ่มคือ 12 ก้านดิน (ธาตุหยิน) เป็นสัญลักษณ์ของอักษร "คุน" บนยันต์ 8 ทิศ ก่อให้เกิดภาพของสวรรค์และพื้นดินผสานกันอย่างสมบูรณ์
หมู่พระราชมณเฑียรสามองค์ด้านหลัง
ที่ตรงกลางของเขตพระราชฐานชั้นในนั้นมีพระที่นั่งและพระตำหนักรวมสามองค์ (L) ประกอบด้วย (นับจากทางใต้)
- พระตำหนักเฉียนชิง (พระตำหนักสุทไธสวรรค์) (乾清宮)
- พระที่นั่งเจียวไท่ (พระที่นั่งบรมศรีสหภาพ) (交泰殿)
- พระตำหนักคุนหนิง (พระตำหนักโลกาสันติสุข) (坤寧宮)
ทั้งสามองค์มีขนาดเล็กกว่าในเขตพระราชฐานชั้นนอก โดยพระที่นั่งและพระตำหนักในหมู่พระที่นั่งนี้เป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการในสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของหยางและสวรรค์ จึงจะทรงประทับอยู่ในพระตำหนักเฉียนชิง ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีทรงเป็นสัญลักษณ์ของหยินและโลกมนุษย์ จึงจะทรงประทับอยู่ในพระที่นั่งคุนหนิง ในขณะที่ตรงกลางเป็นพระที่นั่งเจียวไถ่ ซึ่งเปรียบเสมือนสถานที่ที่หยินและหยางผสมผสานกันอย่างกลมกลืน[56]



พระตำหนักเฉียนชิง (พระตำหนักสุทไธสวรรค์) เป็นพระตำหนักที่มีชายคาสองชั้น อยู่บนแท่นหินอ่อนสีขาวในระดับเดียวกัน เชื่อมต่อกับประตูเฉียนชิงเหมินทางด้านใต้โดยเป็นทางเดินยกระดับ ในสมัยราชวงศ์หมิง พระตำหนักองค์นี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิยงเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จแปรพระราชฐาน ไปประทับอยู่ที่พระที่นั่งหยางซิน (N) ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์เล็กทางฝั่งตะวันตกแทน เนื่องจากทรงเคารพและทรงระลึกถึงความทรงจำที่ทรงมีแด่สมเด็จพระจักรพรรดิคังซี[14] พระตำหนักเฉียนชิงจึงถูกเปลี่ยนเป็นท้องพระโรงแทน[57] บนเพดานของพระที่นั่งมีหีบห้อยประดับอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปปั้นมังกรขดตัว เหนือพระราชบัลลังก์มีแผ่นป้ายภาษาจีนความว่า "ความยุติธรรมและเกียรติยศ" (จีน: 正大光明; พินอิน: zhèngdàguāngmíng)[58]
พระตำหนักคุนหนิง (พระตำหนักโลกาสันติสุข) (坤寧宮) เป็นพระตำหนักที่มีชายคาสองชั้น มีมุขกว้างเก้ามุขและมุขลึกสามมุข ในสมัยราชวงศ์หมิง พระตำหนักองค์นี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดินี ในสมัยราชวงศ์ชิง ส่วนใหญ่ของพระที่นั่งองค์นี้ถูกดัดแปลงเพื่อใช้สำหรับการนมัสการตามความเชื่อในเชมันตามแนวคิดของผู้ปกครองใหม่ซึ่งเป็นชาวแมนจู นับแต่รัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิยงเจิ้ง สมเด็จพระจักรพรรดินีก็ทรงแปรพระราชฐานออกจากพระตำหนักองค์นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีห้องอยู่สองห้องในพระตำหนักคุนหนิง ที่ยังถูกเก็บไว้เพื่อให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงใช้ในคืนวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส[59]
ระหว่างกลางของทั้งสองพระที่นั่งคือ พระที่นั่งเจียวไท่ (พระที่นั่งบรมศรีสหภาพ) เป็นพระที่นั่งทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส หลังคาทรงปีระมิด เป็นที่เก็บตราประทับหลวง 25 ตราในสมัยราชวงศ์ชิง รวมถึงสิ่งของที่ใช้ในการพระราชพิธีอื่น ๆ ด้วย[60]
ด้านหลังหมู่พระที่นั่งเป็นพระราชอุทยานหลวง (M) เป็นพระราชอุทยานที่มีพื้นที่ค่อนข้างเล็ก มีการออกแบบที่กระชับ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นสวนที่ประณีตงดงามและซับซ้อน[61] ทางด้านเหนือของพระราชอุทยานเป็นประตูเสินอู่เหมิน
ทางตะวันตกของหมู่พระที่นั่งเป็น พระที่นั่งหยางซิน (พระที่นั่งจิตพิพัฒน์) (N) เดิมเป็นพระที่นั่งองค์รอง แต่กลายมาเป็นที่ประทับและทรงงานของสมเด็จพระจักรพรรดิโดยพฤตินัย ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิยงเจิ้ง ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของราชวงศ์ชิง สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่ พระพันปีหลวง ได้ทรงใช้เขตทางตะวันออกของพระตำหนักองค์นี้ พระตำหนักองค์นี้รายล้อมด้วยสำนักงานกรมความลับทหารและหน่วยงานสำคัญของรัฐบาล[62]
ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่พระที่นั่งเป็นที่ตั้งของ พระตำหนักเฉียนหลง (พระตำหนักอายุสันติสุข) (寧壽宮) (O) เป็นพระตำหนักที่มีความซับซ้อน สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิเฉียนหลง โดยทรงโปรดเกล้าฯ จะให้เป็นที่ประทับเมื่อทรงสละราชสมบัติแล้ว พระตำหนักองค์นี้สะท้อนการสร้างพระราชวังต้องห้ามได้อย่างเหมาะสมและมีการแบ่ง "เขตพระราชฐานชั้นนอก" "เขตพระราชฐานชั้นใน" และพระราชอุทยานกับวัดหลวงอย่างชัดเจน ทางเข้าของพระที่นั่งเฉียนหลงมีกำแพงซึ่งประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลายผนังเก้ามังกร[63] ส่วนนี้ของพระราชวังต้องห้ามถูกบูรณะขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างพิพิธภัณฑ์พระราชวังและกองทุนอนุสาวรีย์โลก มีกำหนดแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2017[64]
เขตพระราชฐานชั้นในคือที่ประทับของพระราชวงศ์ ถนนกลางคือพระตำหนักที่บรรทมหลัก 2 หลัง ของจักรพรรดิและฮองเฮา (เฉียนชิงกงและคุนหนิงกง) ตรงกลางระหว่างพระตำหนัก 2 หลังคือ "พระที่นั่งเจียวไท่เตี้ยน" มีระเบียงล้อมรอบครบครัน ฝั่งตะวันออกและตะวันตกมีหมู่พระตำหนักฝั่งละ 6 หมู่
หมู่พระตำหนักฝั่งตะวันตก
เรียกว่า "ซีลิ่วกง" มี 6 ตำหนักดังนี้
- ตำหนักไท่จี๋ (ไท่จี๋เตี้ยน) หรือ ตำหนักอัครธุวมณฑล (太極殿)
- ตำหนักฉางชุน (ฉางชุนกง)หรือ ตำหนักวสันตนิรันดร์ (長春宮)
- ตำหนักเสียนฝู (เสียนฝูกง) หรือ พระที่นั่งสกลสุขสันต์ (咸福宮)
- ตำหนักหย่งโช่ว (หย่งโซ่วกง) หรือ ตำหนักอายุนิรันดร์ (永壽宮)
- ตำหนักอี้คุน (อี้คุนกง) หรือ ตำหนักโลกาสรรเสริญ (翊坤宮)
- ตำหนักฉู่ชิ่ว (ฉู่ซิ่วกง) หรือ ตำหนักธำรงสรรพกัญญา (儲秀宮)
หมู่พระตำหนักฝั่งตะวันออก
เรียกว่า "ตงลิ่วกง" มี 6 ตำหนักดังนี้
- ตำหนักจิ่งเหริน (จิ่งเหรินกง) หรือ ตำหนักมหากรุณา (景仁宮)
- ตำหนักเฉิงเฉียน (เฉิงเฉียนกง) หรือ ตำหนักสวรรค์กรุณา (承乾宮)
- ตำหนักจงชุ่ย (จงชุ่ยกง) หรือ ตำหนักสุธไธสม (鐘粹宮)
- ตำหนักเหยียนสี่ (เหยียนสี่กง) หรือ ตำหนักเจียรปรีดา (延禧宮)
- ตำหนักหย่งเหอ (หย่งเหอกง) หรือ ตำหนักบรรสารนิรันดร์ (永和宮)
- ตำหนักจิ่งหยาง (จิ่งหยางกง) หรือ ตำหนักมหาโอภาส (景陽宮)
และถัดไปทางด้านทิศเหนือมีหมู่พระตำหนักอีกฝั่งละ 5 หมู่ มีลักษณะคล้ายกันทุกหลัง มีบ่อน้ำส่วนตัว ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีลานกว้างอยู่ส่วนหน้าและส่วนกลาง มีหลังคาแบบอิ้งซาน มุงกระเบื้องสีเหลือง มีการตกแต่งเรียบง่าย ไม่หรูหรา บ่งบอกว่า องค์ชายเหล่านี้ ไม่ค่อยเป็นโปรดปราน หากเป็นองค์ชายรัชทายาทจะประทับที่ ตำหนัก"อี้ชิ่งกง" หรือไม่ก็ประทับกันที่ หมู่พระตำหนัก"หนานซ่านสั่ว"ในเขตพระราชฐานชั้นกลางกับเหล่าองค์ชายที่กำเนิดจากพระสนมชั้นสูง หากองค์ชายมีพระชันษาครบ 15 ปีหรืออภิเษกสมรสแล้ว ต้องออกจากตำหนักไปอยู่นอกวัง แต่สมัยจักรพรรดิคังซียังคงให้รัชทายาทประทับร่วมกับองค์ชายองค์อื่นได้ต่อไป แม้จะมีพระชันษาเกิน 15 ปีแล้วก็ตาม บางรัชสมัยตำหนักเหล่านี้ก็เคยเป็นที่พักของเหล่าพระสนมศักดิ์ต่ำที่มิค่อยมีบทบาทในราชสำนัก
- ฝั่งตะวันออก
เรียกว่า "ตงอู๋สั่ว" มี 5 ตำหนัก ได้แก่
- หรูอี้ก่วน
- โซ่วเย่าฝาง
- จิ้งซื่อฝาง เป็นตำหนัก 1 ใน 5 ของ "ตงอู๋สั่ว" ในอดีตเคยเป็นที่ประทับของเหล่าองค์ชายที่ยังไม่มีพระชันษาอายุครบ 15 ปี ส่วนเหล่าพระธิดาเมื่อแรกประสูติก็ให้ประทับรวมกับพระมารดาได้จนกว่าจะหย่านม หลังจากนั้นให้ย้ายไปประทับในหมู่พระตำหนัก "ซีอู๋สั่ว"จนกว่าจะอภิเษกสมรส
- ซื่อจื๋อคู่
- กู๋ต่งฝาง
- ฝั่งตะวันตก
เรียกว่า "ซีอู๋สั่ว" ในอดีตมี 5 ตำหนักเช่นกัน ต่อมาสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงเปลี่ยนเป็น หมู่พระตำหนัก "ฉงฮว๋ากง" และ "พระราชอุทยานเจี้ยนฝูกง"
ความเชื่อทางศาสนา
ความเชื่อทางศาสนาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในราชสำนัก ในราชวงศ์ชิง พระที่นั่งคุนหนิง ถูกใช้เป็นสถานที่ในการพระราชพิธีแบบเชมัน ในขณะเดียวกันศาสนาประจำชนชาติจีนอย่าง เต๋า ก็ยังมีบทบาทสำคัญตลอดทั้งราชวงศ์หมิงและชิง มีศาลเจ้าในลัทธิเต๋าอยู่สองศาล ศาลหนึ่งอยู่ภายในพระราชอุทยานหลวงและอีกศาลหนึ่งอยู่บริเวณส่วนกลางของเขตพระราชฐานชั้นใน[65]
อีกศาสนาหนึ่งในสมัยราชวงศ์ชิงคือศาสนาพุทธ จึงปรากฏวัดและศาลเจ้ากระจายอยู่ทั่วทั้งเขตพระราชฐานชั้นใน รวมถึงศาสนาพุทธแบบทิเบตด้วย พุทธศาสนศาสตร์ยังแพร่หลายไปในการตกแต่งอาคารหลายหลังด้วย[66] ในบรรดาอาคารเหล่านั้น พลับพลาพิรุณมาลา (Pavilion of the Rain of Flowers) เป็นหนึ่งในอาคารที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นพลับพลาที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พุทธสัญลักษณ์ และแมนดาลาจำนวนมาก ซึ่งมีไว้เพื่อการพิธีทางศาสนา[67]
การล้อมรอบ
![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สัญลักษณ์นิยม
พระราชวังหลวงซึ่งตกแต่งด้วยจิตรกรรมสี
การตกแต่งหลังคาในวังหลวงด้วยรูปปั้นเครื่องสูงบนสันของหลังคาที่พระตำหนักไถ่เหอ
การออกแบบพระราชวังต้องห้าม จากภาพรวมไปจนถึงรายละเอียดที่เล็กที่สุด ล้วนถูกวางแผนมาอย่างพิถีพิถันเพื่อสะท้อนหลักทางปรัชญาและศาสนา และเหนือสิ่งอื่นใดเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิ มีการตั้งข้อสังเกตการออกแบบสัญลักษณ์บางอย่างประกอบด้วย
- การใช้สีเหลืองเพื่อสื่อถึงองค์ฮ่องเต้ ดังนั้นเกือบทุกหลังคาในพระราชวังต้องห้ามจะปูด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ยกเว้นเพียงสองอาคารคือ หอพระสมุดที่พลับพลาเหวินยวน (文淵閣) ซึ่งเป็นสีดำ เพราะสีดำมีส่วนเกี่ยวข้องกับธาตุน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย และที่ที่ประทับขององค์รัชทายาทที่ใช้สีเขียว เพราะเกี่ยวข้องกับธาตุดิน เพื่อการเติบโต[48]
- พระตำหนักองค์หลักในเขตพระราชฐานชั้นนอกและชั้นในถูกจัดเรียงเป็นกลุ่ม กลุ่มละสามองค์ เป็นรูปทรงของเฉียน เป็นตัวแทนของสวรรค์ ส่วนที่ประทับในเขตพระราชฐานชั้นใน ในแต่ละด้านถูกจัดเป็นกลุ่ม กลุ่มละหกองค์ เป็นรูปทรงของคุน เป็นตัวแทนของโลกมนุษย์[14]
- สันหลังคาที่ลาดเอียงของอาคารถูกตกแต่งด้วยรูปปั้นเรียงกัน เริ่มต้นจากชายที่ขี่นกอมตะและตามด้วยมังกรแห่งองค์จักรพรรดิ จำนวนของรูปปั้นเป็นตัวแทนของสถานะอาคาร อาคารองค์รองลงมาอาจจะมีรูปปั้น 3 หรือ 5 ตัว ส่วนพระตำหนักไถ่เหอมีรูปปั้น 10 ตัว ซึ่งเป็นพระตำหนักหลังเดียวในประเทศที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระจักรพรรดิในขณะนั้น ผลที่ตามมาคือ รูปปั้นตัวที่ 10 เรียกว่า "หั่งชือ" หรือ "อันดับที่สิบ" (จีน: 行十; พินอิน: Hángshí)[60] และยังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระราชวังต้องห้ามด้วย[68]
- เค้าโครงของอาคารโบราณถูกวางไว้เพื่อก่อสร้างตามต้นแบบแห่งพิธีกรรม ดังนั้นจึงมีการตั้งวัดหลวงสืบต่อมาจากบรรพบุรุษที่ด้านหน้าของพระราชวัง ส่วนพระคลังหลวงถูกวางไว้บริเวณส่วนหน้าของพระราชวังอันซับซ้อน และส่วนที่ประทับขององค์ฮ่องเต้อยู่ด้านหลัง[69]
Remove ads
เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกโลก
พระราชวังต้องห้ามได้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 11 เมื่อ ค.ศ. 1987 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมาใน ค.ศ. 2004 พระราชวังเฉิ่นหยาง พระราชวังพักตากอากาศของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง ได้ลงทะเบียนร่วมกับพระราชวังต้องห้ามภายใต้ชื่อ "พระราชวังแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงในปักกิ่งและเฉิ่นหยาง" ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังต่อไปนี้
- (i) - เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
- (ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใด ๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
- (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
- (iv) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
Remove ads
อ้างอิง
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads