Loading AI tools
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมชาย อาสนจินดา หรือ ส. อาสนจินดา (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 – 19 กันยายน พ.ศ. 2536) เป็นนักแสดง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนบท ผู้กำกับการแสดง และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชายชาวไทย เป็นผู้บุกเบิกวงการละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ไทย เป็นเวลากว่า 50 ปี ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวที ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2533
ส. อาสนจินดา | |
---|---|
ชื่อเกิด | สมชาย อาสนจินดา |
เกิด | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 19 กันยายน พ.ศ. 2536 (71 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | สมใจ เศวตศิลา |
บุตร | 7 คน |
อาชีพ | นักแสดง, นักหนังสือพิมพ์, นักเขียนบท, ผู้กำกับการแสดง, ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2492 - 2536 |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2533 - สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวที ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) |
พระสุรัสวดี | ลำดับภาพยอดเยี่ยม พ.ศ. 2500 - มงกุฎเดี่ยว พ.ศ. 2529 - บ้าน พ.ศ. 2536 - ณ สุดขอบฟ้า |
สุพรรณหงส์ | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2523 - เลือดสุพรรณ |
โทรทัศน์ทองคำ | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2533 - เกมกามเทพ |
ส. อาสนจินดา เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 เกิดที่กรุงเทพมหานคร เติบโตที่เชียงใหม่ โดยติดตามพระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. 2471-2481 (ปัจจุบันคือตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด) ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง
จบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และมัธยม 8 จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
ส. อาสนจินดาสมรสกับ สมใจ เศวตศิลา (ตุ๊) บุตรีของพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดาของ ฯพณฯพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา อดีตองคมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2493 [1] มีบุตร 7 คน[2]
ปี พ.ศ. 2513 ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมศิลปินแห่งประเทศไทย
เริ่มงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ แล้วไปรับราชการที่จังหวัดเชียงรายเป็นเสมียนสหกรณ์ เวลาว่างตอนกลางคืน เขียนเรื่องสั้นส่งหนังสือ "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" ซึ่งจัดทำโดย วิตต์ สุทธเสถียร กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ และโชติ แพร่พันธุ์ เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ "ชีวิตในภาพวาดอันเลอะเลือนของข้าพเจ้า " ได้ตีพิมพ์เป็นเรื่องเอกประจำฉบับ และได้รับการชักชวนให้มาทำงานหนังสือพิมพ์ จึงลาออกจากราชการ และเริ่มงานหนังสือพิมพ์ "บางกอกรายวัน" ร่วมงานกับ อิศรา อมันตกุล เสนีย์ เสาวพงศ์ อุษณา เพลิงธรรม ประหยัด ศ. นาคะนาท แต่ไม่นานก็เลิกกิจการ จึงย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์นวนิยายรายวัน "วันจันทร์" รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา ตีพิมพ์ได้สามเดือนก็ขาดทุนจนเลิกกิจการ
เมื่อตกงานได้ไปอาศัยวัดมหรรณพารามอยู่ จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ก็ได้รับการชักชวนให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร ชื่อ "8 พฤศจิ" จนกระทั่งคณะรัฐประหารได้จับกุมนักหนังสือพิมพ์เกือบ 20 คนไปคุมขัง รวมทั้ง อิศรา อมันตกุล หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "เอกราช" ที่นับถือเป็นการส่วนตัว จึงใช้บทบรรณาธิการเขียนโจมตี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง และประกาศลาออก โดยขึ้นหัวข่าวหนังสือพิมพ์ เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมงานต้องเดือดร้อน [1] เหลือเพียงงานเขียนเรื่องสั้นหาเลี้ยงชีพ
เริ่มเข้าสู่วงการแสดงในปี พ.ศ. 2492 หลังจากตกงานหนังสือพิมพ์ โดยรับบทเป็น "หม่อมเจ้านิรันดร์ฤทธิ์ธำรง" พระเอกละครเวทีเรื่อง "ดรรชนีนาง " ของศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) แทนสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ พระเอกเดิมที่ถอนตัวกะทันหัน [3][1] ละครเวทีประสบความสำเร็จ และสร้างชื่อเสียงในฐานะนักแสดงในวงการบันเทิงนับแต่นั้น
ส. อาสนจินดาเป็นทั้งผู้ประพันธ์ และ ผู้กำกับการแสดงยุคหนังไทย 16 มม.ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีโรงถ่ายทำ ส.อาสนจินดาภาพยนตร์ ที่เชิงสะพานท่าพระ ย่านฝั่งธนบุรี
เจ้าของความคิดแปลกใหม่ทันยุค ในช่วงทศวรรษ 2500-2520 กับฉายา "เชือกกล้วยกางเกงแดง " จากตัวละครยอดนิยมแนวบู๊นักเลงชุด หนึ่งต่อเจ็ด และ เจ็ดประจัญบาน ซึ่งมีภาคต่อตามมาอีกหลายครั้ง, หนังไทยแนววิทยาศาสตร์สืบสวนกับยานดำน้ำล้ำยุค กระเบนธง ที่ได้แรงบันดาลใจจากยานสติงเรย์ (Stingray) หนังหุ่นชักแนวผจญภัยทางทีวียุค '60 จนถึงจินตนิยายอภินิหารพื้นบ้านไทยที่ผู้แต่งชื่นชอบมากที่สุด ลูกสาวพระอาทิตย์ เป็นต้น ทุกเรื่องประสบความสำเร็จทำรายได้ มีผู้ชมคับคั่ง
ส.อาสนจินดา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2536 ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง เนื่องจากการสูบบุหรี่ มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
ปี พ.ศ. | รางวัล | สาขา | ผล | ผลงานที่เข้าชิง |
---|---|---|---|---|
2500 | รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี | ลำดับภาพยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | มงกุฏเดี่ยว |
2501 | บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | กตัญญูประกาศิต | |
2505 | นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | เรือนแพ | |
2523 | รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ | นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | เลือดสุพรรณ |
รางวัลมหกรรมเอเซีย-แปซิฟิค | นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | อุกาฟ้าเหลือง | |
2529 | รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี | นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | บ้าน |
2530 | รางวัลมหกรรมเอเซีย-แปซิฟิค | นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | บ้าน |
2533 | รางวัลศิลปินแห่งชาติ | ศิลปะการแสดง (ละครเวที ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์) | ได้รับรางวัล | |
2536 | รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี | นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | ณ สุดขอบฟ้า |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.