Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นายแถมสิน รัตนพันธุ์ (4 ธันวาคม พ.ศ. 2472 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564) อดีตคอลัมนิสต์ผู้เขียนเรื่องราวของวงการสังคมชั้นสูงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ เช่น ไทยรัฐ ผู้จัดการรายวัน โพสต์ทูเดย์ สกุลไทย เป็นต้น โดยใช้นามปากกาว่า “ลัดดา” ซึ่งเป็นชื่อภรรยาของเขาเอง
แถมสิน รัตนพันธุ์ | |
---|---|
เกิด | 4 ธันวาคม พ.ศ. 2472 จังหวัดพัทลุง ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 (91 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
นามปากกา | ลัดดา |
อาชีพ | นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์ |
สัญชาติ | ไทย |
ช่วงปีที่ทำงาน | พ.ศ. 2485 - 2564 |
คู่สมรส | ลัดดา รัตนพันธุ์ |
บุตร | สิน รัตนพันธุ์ |
นายแถมสิน เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2472 ที่อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์ (ผู้ร่วมก่อการกบฏ ร.ศ. 130, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุงคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2477, อดีตเลขานุการของจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และสยามราษฎร์) และนางแส รัตนพันธุ์ (สกุลเดิม ณ พัทลุง) หลานสาวของพระยาโสภณพัทลุงกุล อดีตเจ้าเมืองพัทลุงคนสุดท้าย มีพี่น้อง 4 รวมคน เรียงตามลำดับดังนี้ คือ แถมศรี, แถมสิน,แถมสุข และแถมสร้อย
นายแถมสิน เข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2483-2485 ในชื่อรุ่น “ลมหวน” ซึ่งเรียนร่วมกับนายอานันท์ ปันยารชุน และพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งรัฐมนตรีและบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน อนึ่ง นายแถมสิน ให้การนับถือท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และนายอิศรา อมันตกุล เป็นการส่วนตัว นายแถมสินเริ่มงานนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นผู้สื่อข่าว หัวหน้าข่าวกีฬาและบันเทิง คอลัมนิสต์ และหัวหน้ากองบรรณาธิการ ของหนังสือพิมพ์รายวัน และรายสัปดาห์ จำนวนมากกว่า 15 ฉบับ โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ การเขียนข่าวในวงสังคม ผ่านคอลัมน์ “ลัดดาซุบซิบ” ในหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง (ของ จ.อ.กำพล วัชรพล ปัจจุบันคือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ) เมื่อปี พ.ศ. 2502 เนื่องจากมีโอกาสรู้จักบุคคลหลายวงการ นับแต่สมัยเป็นนักเรียนและเป็นคนช่างสังเกต จึงรอบรู้ทุกเรื่องของบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างดี
นายแถมสิน เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1] และ พ.ศ. 2549-2551, สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2546-2548, รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย, กรรมการและรักษาการผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย, ผู้ตรวจการรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม, ประธานชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโสปี 2559[2], อาจารย์พิเศษ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นายแถมสิน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) และ มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) รวมถึงวุฒิบัตรวิชาการบริหารหนังสือพิมพ์ระดับอำนวยการจากสถาบันหนังสือพิมพ์นานาชาติ กรุงเบอร์ลิน โดยทุนรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พ.ศ. 2516-2517, วุฒิบัตรหลักสูตรนักบริหารระดับอธิบดี รุ่นที่ 24 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, วุฒิบัตรหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง (ป.ป.ร.) รุ่นที่ 7 จากสถาบันพระปกเกล้า และ วุฒิบัตรหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) นอกจากนี้ นายแถมสิน ยังได้รับรางวัลต่างๆ คือ โล่พระราชทาน ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยยอดเยี่ยม จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2519, รางวัลเกียรติคุณ “นราธิป” ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2552, โล่รางวัลนักหนังสือพิมพ์ยอดเยี่ยม ของสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2553 และ รางวัลนักเรียนเก่าดีเด่น โรงเรียนราชินี ประจำปี พ.ศ. 2552
นายแถมสิน มีผลงานหนังสือ รวมทั้งหมด 6 เล่ม คือ “ลัดดาครอบสังคม” “ลัดดาเอ็กซคลูซีฟ” “ทระนง-คนหนังสือพิมพ์” “ใต้ละอองธุลีพระบาท” “ลึก(ไม่)ลับกับลัดดา” และ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท” ซึ่งทำสถิติขายดี ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากสำนักพิมพ์ ต้องจัดพิมพ์ใหม่ถึง 38 ครั้ง ในระยะเวลาเพียงสองปี และนายแถมสินเป็นผู้อำนวยการผลิตรายการ “สุดสัปดาห์กับลัดดาซุบซิบ” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทีเอ็นเอ็น (ทีเอ็นเอ็น 24 หรือช่องทรูวิชั่นส์ 7)
ชีวิตครอบครัวของแถมสิน สมรสกับนางลัดดา รัตนพันธุ์ มีบุตรชาย 1 คนคือ นายสิน รัตนพันธุ์ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านพักย่านถนนอรุณอมรินทร์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
นายแถมสิน ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 รวมอายุได้ 92 ปี[3][4] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.