Loading AI tools
สถานีโทรทัศน์แห่งที่ 3 ของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช่อง 7HD (ช่อง 7 เอชดี; ชื่อเดิม: สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7) เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินภาพสีแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 3 ของประเทศไทย ดำเนินกิจการโดย บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด โดยการดำเนินการออกอากาศในระบบแอนะล็อกนั้นอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับกองทัพบก แต่ในระบบดิจิทัลดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตจาก กสทช. ดังเช่นผู้เข้าประมูลทีวีดิจิทัลรายอื่น ๆ ทั่วไป เริ่มแพร่ภาพเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ในระบบวีเอชเอฟ ออกอากาศภาพขาวดำทางช่องสัญญาณที่ 9, ภาพสีทางช่องสัญญาณที่ 7 และตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 ออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิทัลความละเอียดสูงทางช่องหมายเลข 35 จนถึงปัจจุบัน มีกฤตย์ รัตนรักษ์ เป็นประธานกรรมการบริษัท และพัฒนพงค์ หนูพันธ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ
ตราสัญลักษณ์ที่เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2557 | |
ประเทศ | ไทย |
---|---|
พื้นที่แพร่ภาพ | ประเทศไทย |
เครือข่าย | สถานีโทรทัศน์/สถานีวิทยุ ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ |
คำขวัญ | ช่อง 7HD ทีวีเพื่อคุณ (คำขวัญหลัก) (ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ) ดูทีวีกด 35 สดออนไลน์ Bugaboo.TV (ใช้ในการประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับชม) |
สำนักงานใหญ่ | 998/1 ซอยพหลโยธิน 18/1 (ร่วมศิริมิตร) ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 |
แบบรายการ | |
ระบบภาพ | 1080i (16:9 ภาพคมชัดสูง) 1080p (ออนไลน์) |
ความเป็นเจ้าของ | |
เจ้าของ | บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด |
บุคลากรหลัก |
|
ประวัติ | |
เริ่มออกอากาศ |
|
ยุติออกอากาศ |
|
ชื่อเดิม | สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 (2510 - 2561) |
ลิงก์ | |
เว็บไซต์ | www |
ออกอากาศ | |
ภาคพื้นดิน | |
ดิจิทัล | ช่อง 35 (มักซ์#2 : ททบ.) |
เคเบิลทีวี | |
ช่อง 35 | |
ทีวีดาวเทียม | |
ไทยคม 6 C-Band | 4080 H 30000 |
ไทยคม 8 KU-Band | 11680 H 30000 |
ไชนาแซท 12 C-Band[2] | 3830 V 4500 |
ทรูวิชั่นส์ | ช่อง 35 |
กู๊ด ทีวี | ช่อง 35 |
ทั่วไป | ช่อง 35 |
สื่อสตรีมมิง | |
Ch7 | ชมรายการสด |
บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (อังกฤษ: Bangkok Broadcasting & Television Co., Ltd; (ชื่อย่อภาษาไทย: บีบีทีวี,ชื่อย่อภาษาอังกฤษ: BBTV) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นด้วยทุน 10,000,000 บาท เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2510 เพื่อประกอบธุรกิจโฆษณา ขณะที่ปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) มีทุนจดทะเบียนที่ 61,000,000 บาท โดยมีรายชื่อผู้ก่อตั้งประกอบด้วย คุณหญิงไสว จารุเสถียร (คำนำหน้าชื่อขณะนั้น; ภริยาจอมพล ประภาส จารุเสถียร), เรวดี เทียนประภาส (น้องสาวคุณหญิงไสว), ร้อยเอกชูศักดิ์ บุณยกะลิน, เฑียร์ กรรณสูต (น้องชายสุชาติ กรรณสูต สามีของเรวดี ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2501), ชาติเชื้อ กรรณสูต (บุตรชายคนโต), ร้อยโทชายชาญ กรรณสูต (ยศขณะนั้น; บุตรชายคนที่สอง เปลี่ยนมาใช้นามสกุลฝ่ายแม่เมื่อ พ.ศ. 2517) และสุรางค์ เปรมปรีดิ์ (บุตรสาวคนเล็ก) ซึ่งคณะผู้ก่อตั้งมอบหมายให้สมภพ ศรีสมวงศ์ (ปัจจุบันชื่อสหสมภพ) เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนบริคณห์สนธิ กับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) จากนั้นมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กันยายน ซึ่งมีมติแต่งตั้งให้คุณหญิงไสว เป็นประธานกรรมการบริษัท ส่วนเฑียร์, ชาติเชื้อ กับร้อยโทชายชาญ เป็นกรรมการบริษัท ทั้งสี่ถือหุ้นจำนวน 100 หุ้นเท่ากัน, ชวน รัตนรักษ์ ผู้บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นรองประธานกรรมการ ถือ 50 หุ้น, เรวดีเป็นกรรมการผู้จัดการ ถือ 230 หุ้น และร้อยเอกชูศักดิ์ เป็นกรรมการบริษัท ถือ 20 หุ้น[3]
ในปี พ.ศ. 2511 ผู้ถือหุ้นมีมติให้เฑียร์ ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริษัท, หัวหน้าฝ่ายรายการ และหัวหน้าฝ่ายเทคนิค โดยแต่งตั้งให้สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เข้าเป็นกรรมการแทน พร้อมถือ 80 หุ้น[3] ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2513 เรวดี และร้อยเอกชูศักดิ์ เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผู้ถือหุ้นมีมติแต่งตั้งให้ชาติเชื้อรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จากนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ชาติเชื้อขอลาออก ผู้ถือหุ้นจึงมีมติให้ร้อยเอกชายชาญ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แล้วแต่งตั้งให้ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ สามีของสุรางค์ ที่มีอยู่ 20 หุ้น เป็นกรรมการบริษัท และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2517 ท่านผู้หญิงไสวลาออกจากกรรมการบริษัท ชวนจึงขยับขึ้นเป็นประธานกรรมการแทน และให้ร้อยเอกหญิงสุมิตรา จารุเสถียร บุตรสาวท่านผู้หญิงไสว ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการที่ว่าง[3]
เนื่องจากความต้องการของช่อง 7 สี ที่ต้องการจะขยายสถานีส่งสัญญาณออกไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่า 300 ล้านบาท จึงทำให้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2522 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งใช้วิธีขายหุ้นเพิ่มทุน ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ เป็นจำนวน 10 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งให้ประธานกรรมการ (ชวน รัตนรักษ์) และกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ดำเนินการตามที่เห็นสมควร เป็นจำนวน 30 ล้านบาท และให้ลดมูลค่าต่อหุ้นลงเหลือ 100 บาท เมื่อรวมกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง เป็นจำนวน 61,000,000 บาท[4] เมื่อปี พ.ศ. 2527 จึงทำให้ในที่สุดตระกูลรัตนรักษ์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบีบีทีวีแทนกลุ่มตระกูลจารุเสถียร กรรณสูต และเทียนประภาส[3]
พันโทชายชาญ ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนขนาด 11 มิลลิเมตร ยิงจนเสียชีวิตที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2523 ส่งผลให้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการว่างลง ผู้ถือหุ้นมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการผู้จัดการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการ โดยมีไพโรจน์เป็นประธาน คณะกรรมการชุดดังกล่าว และมีกรรมการคือพิสุทธิ์ ตู้จินดา, สมภพ ศรีสมวงศ์, ร้อยเอกสุพจน์ แสงสายัณห์, ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ (อดีตนักร้องชื่อดัง ผู้เป็นภรรยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ของพันโทชายชาญ) และวีระพันธ์ ทีปสุวรรณ ซึ่งเป็นญาติของตระกูลรัตนรักษ์ ซึ่งวีระพันธ์เข้ามารับตำแหน่งกรรมการบริษัทที่ว่างลงด้วย ทว่าต่อมาไม่นาน ระบบคณะกรรมการผู้จัดการก็ยกเลิกไป โดยผู้ถือหุ้นแต่งตั้งให้ไพโรจน์เป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว[3] จากนั้นในปี พ.ศ. 2524 ชาติเชื้อกลับเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอีกครั้ง พร้อมทั้งให้น้องสาวคือสุรางค์เข้ามาช่วยงานด้วย ซึ่งเป็นผลให้ช่อง 7 สีประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะต่อมา และเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2536 ชวนก็เสียชีวิตลง บุตรชายคือกฤตย์ รัตนรักษ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จึงขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแทนบิดา
อนึ่ง ในช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2530 ชาติเชื้อล้มป่วยด้วยอาการอัมพาต จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่มาหลายปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 สุรางค์จึงต้องรับตำแหน่งแทนพี่ชาย โดยที่ยังเป็นผู้จัดการฝ่ายข่าว (พ.ศ. 2541 - 2545) และผู้จัดการฝ่ายรายการ (พ.ศ. 2524 - 2551) อยู่ด้วย[3] และสุรางค์ก็ดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 14 ปี ก่อนที่กฤตย์จะลงนามในคำสั่งให้สุรางค์พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และให้ส่งมอบงานแก่ศรัณย์ วิรุตมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการไปบริหารต่อภายในวันที่ 30 ธันวาคม และให้ศรัณย์เริ่มเข้ารักษาการกรรมการผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555[5] ต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้แต่งตั้งพลากร สมสุวรรณ อดีตพิธีกรของช่อง 7 สี ขึ้นเป็นว่าที่กรรมการผู้จัดการแทนสุรางค์ ซึ่งเป็นการพ้นจากตำแหน่งสุดท้ายในบริษัท พร้อมทั้งมอบหมายให้พลากรเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายรายการด้วย[6] จากนั้นพลากรก็ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการแทนศรัณย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556[7] จนกระทั่งเกษียณการทำงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ผู้ถือหุ้นจึงแต่งตั้ง สมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561[8] ก่อนที่ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562 กฤตย์จะลงนามตามมติผู้ถือหุ้นให้แต่งตั้ง ดร.เยาวลักษณ์ พูลทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมการเจ้าหน้าที่บริหารให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกันเป็นต้นมา[9] แต่ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2563 ดร.เยาวลักษณ์ได้ลาออกจากตำแหน่ง ผู้ถือหุ้นจึงแต่งตั้ง พัฒนพงค์ หนูพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจโฆษณา ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม ปีเดียวกันเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน[10]
ในปี พ.ศ. 2510 พลเอกประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น มีนโยบายให้คณะกรรมการควบคุมวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพบก ร่วมกับบีบีทีวี ดำเนินการติดต่อนำเครื่องส่งโทรทัศน์สี ของบริษัทฟิลิปส์แห่งฮอลแลนด์ ระบบแพร่ภาพ 625 เส้น 25 อัตราภาพ มาทดลองใช้งาน โดยบันทึกภาพการประกวดนางสาวไทย ภายในงานวชิราวุธานุสรณ์ ที่พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน มาถ่ายทอดผ่านคลื่นวิทยุ ในย่านความถี่สูงมาก (VHF) ทางช่องสัญญาณที่ 7 และออกอากาศคู่ขนานด้วยระบบแพร่ภาพขาวดำ 525 เส้น 30 อัตราภาพ ทางช่องสัญญาณที่ 9[11] ในอีก 2 วันถัดมา คือวันที่ 27 พฤศจิกายน หลังจากนั้น ก็ยุติการแพร่ภาพชั่วคราว เพื่อดำเนินการในทางเทคนิค และเมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม มีการประกอบพิธีสถาปนาบีบีทีวี และเริ่มออกอากาศช่อง 7 สีอย่างเป็นทางการ โดยในปีต่อมาคือ พ.ศ. 2511 คณะกรรมการฯ ทำสัญญาที่กำหนดให้บีบีทีวีจัดสร้างอาคารที่ตั้งช่อง 7 สี ภายในบริเวณที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) ย่านสนามเป้า พร้อมติดตั้งเครื่องส่งโทรทัศน์สีกำลังออกอากาศ 500 วัตต์ เพื่อมอบทั้งหมดให้แก่ ททบ.5 แล้วจึงทำสัญญาเช่าช่วงจาก ททบ. เพื่อบริหารงานอีกทอดหนึ่งเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยใน 2 ปีแรกใช้บุคลากรและห้องส่ง ร่วมกับ ททบ. พร้อมทั้งนำรถประจำทางเก่าสามคัน เข้าไปจอดไว้ภายในที่ทำการ ททบ.5 สนามเป้า แล้วรื้อที่นั่งออกทั้งหมด เพื่อใช้ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปพลางก่อน
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2512 บีบีทีวีจัดหาเครื่องส่งโทรทัศน์สีกำลังออกอากาศ 10 กิโลวัตต์ พร้อมเสาส่งสูง 570 ฟุต และเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ระบบเอฟเอ็ม กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์ เพื่อส่งมอบให้แก่ ททบ. ก่อนที่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2513 บีบีทีวีจะย้ายเข้าใช้อาคารที่ทำการถาวรของช่อง 7 สี บริเวณหลังสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) แห่งเดิม (ปัจจุบันเป็นอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส และลานจอดรถสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสวนจตุจักร)[12] และเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เวลา 15:30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังช่อง 7 สี ทอดพระเนตรการแข่งขันมวยไทยและมวยสากล โดยเสด็จพระราชกุศล สมทบทุนนักมวยไทย ในมูลนิธิอานันทมหิดล พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยรางวัล แก่นักกีฬามวยไทยและมวยสากลยอดเยี่ยม[13]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ททบ. ร่วมกับบีบีทีวี เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมปาลาปาของอินโดนีเซีย เพื่อถ่ายทอดสัญญาณจากกรุงเทพมหานครไปสู่สถานีเครือข่ายทุกภูมิภาคเป็นสถานีแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเช่าสัญญาณดาวเทียมนานาชาติ (อินเทลแซท) ถ่ายทอดเหตุการณ์จากทั่วโลกมายังไทย และในเวลาใกล้เคียงกัน ก็ริเริ่มใช้รถถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียมย่านความถี่สูง (เคยูแบนด์) และรถบรรทุกเครื่องถ่ายทอดนอกสถานที่ (โอ.บี.) ใช้ย่านความถี่ซีแบนด์ ทำหน้าที่เป็นสถานีแม่ข่ายชั่วคราว เพื่อถ่ายทอดสดงานประเพณีที่น่าสนใจ กีฬานัดสำคัญ และเหตุการณ์ในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ[12]
เมื่อวันที่ 26 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 บีบีทีวีได้เข้าประมูลช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในหมวดรายการทั่วไปความละเอียดสูง และได้ให้ราคาเป็นอันดับที่ 3 รองจากช่อง 3 เอชดี และพีพีทีวี จากนั้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557 กสทช. ประกาศหมายเลขช่องที่แต่ละบริษัทซึ่งผ่านการประมูลเลือกไว้ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม ในการประชุมร่วมกัน โดยในส่วนของบีบีทีวีได้หมายเลข 35 จากนั้นบีบีทีวีได้เริ่มดำเนินการออกอากาศ ช่อง 7HD อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 เมษายน โดยออกอากาศเนื้อหาเดียวกับช่อง 7 สีทุกประการ เนื่องจากบริษัทที่ดำเนินการออกอากาศทั้ง 2 ระบบ เป็นบริษัทเดียวกัน[14] แต่ในส่วนของทีวีดิจิทัลนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานกับกองทัพบกแต่อย่างใด เนื่องจากดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตจาก กสทช. ดังเช่นผู้เข้าประมูลทีวีดิจิทัลรายอื่น ๆ ทั่วไป[15]
สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้กำหนดการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง (สัมปทาน 25 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ไปจนถึงปี พ.ศ. 2566) ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยบีบีทีวีเห็นถึงความจำเป็นในการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกเพื่อลดต้นทุนในการส่งสัญญาณ ประกอบกับโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลที่ช่อง 7HD เช่าใช้ร่วมกับ ททบ. ในฐานะเจ้าของอุปกรณ์รวมส่งสัญญาณ ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว[16] โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ใน 8 สถานี และวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ใน 11 สถานี และยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกโดยสมบูรณ์จากสถานีกรุงเทพมหานครในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 พร้อมกับสถานีอื่น ๆ อีก 18 สถานี (ดูในหัวข้อ สถานีถ่ายทอดสัญญาณ)[17] ทั้งนี้ พันธะผูกพันต่าง ๆ กับกองทัพบกในฐานะคู่สัญญาสัมปทานยังคงมีอยู่จนกระทั่งหมดสัญญาสัมปทาน[16][18]
สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เริ่มดำเนินการจัดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณระบบแอนะล็อกในส่วนภูมิภาคมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 นับจนถึงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ซึ่งยุติระบบแอนะล็อก มีจำนวนทั้งสิ้น 37 สถานีส่ง ดังต่อไปนี้[12]
|
|
* เฟสที่ 1 (1 สิงหาคม พ.ศ. 2560)
** เฟสที่ 2 (31 ธันวาคม พ.ศ. 2560)
*** เฟสที่ 3 (16 มิถุนายน พ.ศ. 2561)
โดยการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในเฟสที่ 3 ของช่อง 7 สี เกิดขึ้นในเวลา 00:01 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยตัดเข้าสู่หน้าจอแจ้งผู้ชมซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ แบบแรกเป็นแถบสี หรือคัลเลอร์บาร์ และข้อความแสดงการยุติออกอากาศในระบบแอนะล็อก และพื้นหลังสีฟ้า พร้อมข้อความแจ้งช่องทางการรับชมหลังจากการยุติการออกอากาศแล้ว
อัตลักษณ์ก่อนเข้ารายการต่างๆ ของช่อง 7HD ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 7 แบบดังนี้
ช่อง 7HD จัดตั้งฝ่ายข่าวขึ้น พร้อมกับการเปิดดำเนินงานของสถานีฯ มีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทางวิทยุโทรทัศน์ ด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน อย่างรวดเร็ว ฉับไว และเที่ยงตรง ปัจจุบัน รายการข่าวของช่อง 7 ที่นิยมเรียกกันว่า ข่าวเด็ดเจ็ดสี (หรือชื่อ ข่าว 7HD ในปัจจุบัน) นำเสนอข่าวสาร แบบเกาะติดสถานการณ์ตลอดทั้งวัน ผ่านช่วง เช้าข่าว 7 สี ห้องข่าวภาคเที่ยง ข่าวภาคค่ำ ข่าวเด็ดภาคดึก รวมถึงข่าวสั้น ซึ่งทำหน้าที่กระจกเงา สะท้อนวิถีชีวิตและสภาพปัญหา ของประชาชนในทั่วทุกภาคของประเทศ ผ่านรายงานข่าวต่าง ๆ ตลอดจนช่วงสะเก็ดข่าว และภาพกีฬามันมันส์ในข่าวภาคค่ำ ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งยังได้รับความนิยมจากผู้ชม
ตลอดระยะเวลาประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายข่าวของสถานีฯ เก็บรักษาและรวบรวมแฟ้มข่าวในประเทศ และแฟ้มภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอ) ข่าวในประเทศ อันมีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก มีระบบการจัดเก็บและดูแลรักษาอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน จนมีการก่อตั้ง "ศูนย์ข้อมูลทางโทรทัศน์" ของสถานีฯ ขึ้นเพื่อให้บริการแฟ้มข่าว และแฟ้มภาพข่าวดังกล่าว แก่สถานีโทรทัศน์และสำนักข่าวต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ทางสถานีฯ ยังริเริ่มจัดตั้งศูนย์ข่าวภูมิภาคขึ้น โดยมีอุปกรณ์เทคโนโลยีอันทันสมัยครบครัน เพื่อรายงานข่าวสารและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้ผู้ชมทั่วประเทศรับชมได้พร้อมกัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553 ข่าวภาคค่ำทั้งสองช่วง เริ่มนำเสนอข่าวและใช้ฉากข่าวรูปแบบใหม่ ซึ่งผลิตขึ้นด้วยระบบเวอร์ชวลสตูดิโอ พร้อมทั้งเปลี่ยนไตเติลข่าวภาคต่างๆ, กราฟิกหัวข้อข่าว และข่าวแถบตัววิ่ง ส่วนจิงเกิลประกอบข่าวภาคค่ำ ยังคงเป็นเพลงเดิมซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2544
โดยทั้งฝ่ายข่าวส่วนกลาง และศูนย์ข่าวภูมิภาค ต่างประกอบไปด้วยผู้ประกาศข่าวซึ่งมีชื่อเสียงหลายคน เช่น จักรพันธุ์ ยมจินดา, ศันสนีย์ นาคพงศ์, พิษณุ นิลกลัด, ศศินา วิมุตตานนท์, จรณชัย ศัลยพงษ์, ศุภรัตน์ นาคบุญนำ, พิสิทธิ์ กีรติการกุล, นิลาวัณย์ พาณิชย์รุ่งเรือง, เอกชัย นพจินดา, วีรศักดิ์ นิลกลัด, ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร, อดิสรณ์ พึ่งยา, สุฐิตา ปัญญายงค์, เกณฑ์สิทธิ์ กันธจันทร์, ช่อฟ้า เหล่าอารยะ, กฤษดา นวลมี, ภัทร จึงกานต์กุล, เหมือนฝัน ประสานพานิช, ศรีสุภางค์ ธรรมาวุธ, นารากร ติยายน, อนุวัต เฟื่องทองแดง, ศจี วงศ์อำไพ, ณัชฐพงศ์ มูฮำหมัด, ชัยอนันต์ ปันชู เป็นต้น[19] และผู้สื่อข่าวคุณภาพ ซึ่งรายงานข่าวต่างๆ ภายใต้แนวนโยบายเชิงวิสัยทัศน์ ในอันที่จะรายงานข่าวอย่างรวดเร็ว ฉับไว และเที่ยงตรง เป็นข่าวยอดนิยม มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง ตลอดจนสะท้อนเรื่องราวหรือปัญหาต่างๆ จากมุมมองของประชาชนทั่วไป
อนึ่ง ช่วงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2532 ฝ่ายข่าวช่อง 7 สี ถือเป็นสถานีแห่งแรกที่ริเริ่มการถ่ายทอดการรายงานความเคลื่อนไหวข้อมูลซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านการรายงานสดจากห้องค้าหลักทรัพย์ที่อาคารสินธร ถนนวิทยุ ตลอดเวลาทำการตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีเชื้อเชิญนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มาร่วมประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นด้วย
ช่อง 7HD ถือเป็นผู้นำของการนำเสนอรายการละครโทรทัศน์ในประเทศไทย โดยเริ่มต้นด้วยการนำเสนอละครพื้นบ้านในช่วงเช้าวันสุดสัปดาห์ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงมาเป็น การนำบทประพันธ์ของนักเขียนชื่อดัง ตลอดจนบทละครที่เขียนขึ้นใหม่ มาสร้างเป็นละครเพื่อนำเสนอในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ 20.30 น. ช่วงเย็นประมาณ 18.30 น. ภายหลังได้มีละครเยาวชนเพิ่มอีกในเวลา 18.00 น. และมีเวลาของละครซิตคอมในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 น. และเวลา 13.00 น. นอกจากนี้ ก่อนออกอากาศละครภาคเย็นและภาคค่ำ ยังมีข้อความแสดงคำเตือนเรื่องลิขสิทธิ์ เป็นสถานีฯ แรกด้วย
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (เมษายน 2020) |
ช่อง 7HD ริเริ่มกระตุ้นให้ชาวไทย สนใจในกีฬาต่างๆ ด้วยการบุกเบิกถ่ายทอดสด และบันทึกการแข่งขันกีฬาที่สำคัญ ทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ กล่าวคือ ฟุตบอลโลก, ฟุตบอลคอนเฟเดอเรชันส์, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งเอเชีย, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งอาเซียน, ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก, ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ฟุตบอลยูฟ่าซูเปอร์คัพ, ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก, ฟุตบอลเอฟเอคัพ, ฟุตบอลลีกคัพ, ฟุตบอลยุโรป, เทนนิสแกรนด์สแลม, เทนนิสมาสเตอร์ซีรีส์, เทนนิสเอทีพีทัวร์, เทนนิสดับเบิลยูทีเอทัวร์, กอล์ฟเมเจอร์, กอล์ฟยูเอสพีจีเอ, กอล์ฟแอลพีจีเอ, กอล์ฟไรเดอร์คัพ, มวยสากลชิงแชมป์โลก เป็นต้น[12]
แชนแนลเซเว่น บันเทิงเจ็ดสี | |
---|---|
ประเภท | รายการโทรทัศน์ |
นิตยสารราย | รายเดือน |
วันจำหน่ายฉบับแรก | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 |
ประเทศ | ไทย |
แชนแนลเซเว่น บันเทิงเจ็ดสี (อังกฤษ: Channel 7 Magazine) นิตยสารแบบรายเดือนจากช่อง 7HD ภายใต้การดูแลของมีเดีย สตูดิโอ
ซึ่งฉบับปฐมฤกษ์ออกวางแผงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยนิตยสารฉบับนี้ได้รวบรวมข่าวสาร เบื้องหลังกองละคร และบทสัมภาษณ์รวมถึงภาพถ่ายดาราในสังกัดช่อง 7 จนถึงปี พ.ศ. 2560 ได้ยุติการผลิตลง
ก่อนหน้านั้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 ทางช่อง 7 ได้เคยผลิตนิตยสารแนวเดียวกัน ออกมาจนถึงปี พ.ศ. 2539 จึงได้ยุติการผลิตไป
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.