แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านจังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะไหลออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 315 กิโลเมตร[1] แม่น้ำท่าจีนมีชื่อเรียกหลายชื่อ ตอนที่ไหลผ่านจังหวัดชัยนาทเรียกว่า "คลองมะขามเฒ่า" ตอนที่ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่า "แม่น้ำสุพรรณบุรี" ตอนที่ผ่านจังหวัดนครปฐมเรียกว่า "แม่น้ำนครชัยศรี" ส่วนตอนที่ไหลผ่านจังหวัดสมุทรสาครลงสู่อ่าวไทยเรียกว่า "แม่น้ำท่าจีน"
ข้อมูลเบื้องต้น แม่น้ำท่าจีน คลองมะขามเฒ่า, แม่น้ำสุพรรณบุรี, แม่น้ำนครชัยศรี, ที่ตั้ง ...
ปิด
จังหวัดสมุทรสาคร[2]
จังหวัดนครปฐม[3][4]
- คลองบางแก้ว เป็นคลองธรรมชาติ อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี มีสองสาขาคือ แยกซ้ายไปเชื่อมกับห้วยหลายสายจนถึงแม่น้ำแม่กลอง มีลำรางสระอ้อเป็นทางเชื่อม ต่อจากนั้นจึงเป็นคลองบางระกำ และต่อกับลำห้วยต่าง ๆ จนถึงแม่น้ำแม่กลอง ส่วนแยกขวาไปรวมกับคลองเจดีย์บูชา
- คลองมหาสวัสดิ์ อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี เป็นคลองที่ขุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อมแม่น้ำนครชัยศรีกับคลองบางกอกน้อยที่บริเวณวัดชัยพฤกษมาลา เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีความยาว 30 กิโลเมตร กว้าง 10 วา ขนานไปกับทางรถไฟสายใต้
- คลองเจดีย์บูชา อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี เป็นคลองขุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปากคลองอยู่เหนือตลาดท่านาเล็กน้อย ยาวประมาณ 12 กิโลเมตร จากอำเภอนครชัยศรีถึงอำเภอเมืองนครปฐม ขนานกับทางรถไฟสายใต้ คลองบางช่วงมีลำรางอยู่ก่อนแก้ว มีคลองบางแก้วมาบรรจบช่วงใกล้ถึงองค์พระปฐมเจดีย์ ออกสู่แม่น้ำแม่กลองที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
- คลองโยง อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี เชื่อมแม่น้ำนครชัยศรีกับคลองอ้อมนนท์และคลองบางกอกน้อยที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
- คลองบางพระ อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครชัยศรี เป็นคลองธรรมชาติ ไหลผ่านหลายตำบล เชื่อมต่อแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำนครชัยศรี เดิมปากคลองบางพระจะไหลไปบรรจบแม่น้ำแม่กลองที่บริเวณอำเภอท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันปากคลองถูกตัดขาด และเปิดให้รับน้ำจากคลองประปาที่ไหลมาจากเขื่อนแม่กลอง
- คลองพิสมัย อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี ระหว่างตำบลบางหลวง อำเภอนครชัยศรี กับอำเภอบางเลน เป็นคลองขุดยาวประมาณ 4 กิโลเมตร พระองค์เจ้าพิสมัยทรงริเริ่มให้ขุด ใช้ประโยชน์ในทางการเกษตร
- คลองทวีวัฒนา และ คลองนราภิรมย์ อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี ปากคลองอยู่ที่ตำบลนราภิรมย์ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ไหลผ่านฝั่งซ้ายอำเภอบางเลน และอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม กับฝั่งขวาที่อำเภอไทรน้อย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เข้าเขตกรุงเทพมหานครที่เขตทวีวัฒนา ก่อนออกสู่คลองภาษีเจริญที่เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร
- คลองท่าสาร-บางปลา เป็นคลองธรรมชาติ อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครชัยศรี บริเวณหน้าวัดบางปลา หมู่ที่ 6 ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ผ่านอำเภอดอนตูม อำเภอกำแพงแสน เข้าเขตจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนจะออกสู่แม่น้ำแม่กลองที่อ่าวท่าสาร บริเวณบ้านท่าเรือ[5] ตำบลตะคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี[6] คาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ชาวบ้านใช้ลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ เป็นเส้นทางการรบในอดีต และเป็นแหล่งน้ำสำหรับการดำเนินชีวิตของชาวชุมชนทั้งการอุปโภคบริโภคและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม[7] ทั้งนี้ เมื่อคลองทอดผ่านหมู่บ้านใดนักเรียกชื่อตามหมู่บ้านนั้น เช่น จากอ่าวท่าสารมาเป็นคลองท่าสาร เมื่อมาถึงบ้านหมอสอเรียกว่า ลำหมอสอ ถึงบ้านห้วยปลากดเรียกว่า ห้วยปลากด ถึงบ้านรางเกตุเรียกว่า รางตาบุญ บ้านบ้านยางขาคีมเรียกว่า ห้วยยาง[8] ผ่านบ้านยางเรียกว่า คลองบ้านยาง ผ่านแหลมกระเจาเรียกว่า คลองแหลมกะเจา ผ่านลาดสะแกและบ้านเกาะแรดเรียกว่า คลองลาดสะแก
- คลองบางภาษี อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน บริเวณวัดบางภาษี ตำบลคลองนกกระทุง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเดิมเป็นเขตตำบลบางภาษี อำเภอบางปลา ก่อนแบ่งออกเป็นสองตำบล และเปลี่ยนจากอำเภอบางปลาเป็นอำเภอบางเลนในปัจจุบัน ก่อนจะขนานไปกับเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างฝั่งซ้าย อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กับฝั่งขวา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะออกสู่คลองพระยาบรรลือ
- คลองพระพิมล เป็นคลองชลประทาน อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ปากคลองอยู่ที่ประตูน้ำพระพิมล ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ผ่านคลองบางภาษี เข้าเขตจังหวัดนนทบุรีที่ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย แล้วออกสู่คลองบางบัวทอง
จังหวัดสุพรรณบุรี[9]
- คลองพระยาบรรลือ เป็นคลองชลประทาน อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำสุพรรณบุรี ปากคลองอยู่ที่ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บางช่วงขนานไปกับฝั่งทิศเหนือ ตำบลหลักชัย อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับฝั่งทิศใต้อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครอง ก่อนจะเข้าเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยตรงที่ปากคลองบางภาษี ตำบลสามเมือง และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูน้ำสิงหนาท ตำบลไม้ตรา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แม่น้ำท่าจีนเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาสำคัญของบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำหน่ายน้ำประปาให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน และอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม กับอำเภอเมืองสมุทรสาครและอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยใช้แหล่งน้ำดิบบริเวณที่ตั้งของโรงผลิตน้ำประปาบางเลน หมู่ที่ 9 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ก่อนจะส่งจ่ายน้ำประปาที่ผ่านการผลิตไปยังสถานีจ่ายน้ำพุทธมณฑล ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และสถานีจ่ายน้ำมหาชัย ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะจ่ายน้ำไปยังผู้ใช้ต่อไป[10]
น้ำในแม่น้ำท่าจีนมิได้ใช้สำหรับผลิตน้ำประปาสำหรับเขตกรุงเทพมหานคร แต่เป็นน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่บริเวณเขื่อนแม่กลอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (เดิมชื่อเขื่อนวชิราลงกรณ เปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนแม่กลองเมื่อ พ.ศ. 2544) ซึ่งดำเนินการโดยการประปานครหลวง โดยได้ก่อสร้างคลองประปาตะวันตกหรือคลองส่งน้ำดิบฝั่งตะวันตกซึ่งเรียกว่า "คลองประปามหาสวัสดิ์" เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองไปยังโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี รวมเป็นระยะทาง 106 กิโลเมตร ช่วงตัดกับแม่น้ำท่าจีนมีการสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำท่าจีน ที่ตำแหน่งพิกัดจีพีเอส 14.011195, 100.17856 เพื่อมิให้แหล่งน้ำทั้งสองสัมผัสกันและเพื่อคงคุณภาพน้ำ โดยมีสถานีสูบน้ำดิบบางเลน ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เพื่อคงคุณภาพน้ำดิบมิให้สัมผัสแหล่งน้ำอื่น ก่อนเข้าสู่โรงผลิตน้ำ ยังมีตำแหน่งการขุดอุโมงค์ลอดอื่นอีก เช่น ที่ตำแหน่ง 13.845466, 100.379736
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๒ (อักษร ก-ธ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2559.
เก็บถาวร 2011-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เมืองเก่ากำแพงแสน จากเว็บไซต์หอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
เก็บถาวร 2011-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485