สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือ สมัยเรเนซองส์[1] (ฝรั่งเศส: Renaissance; อิตาลี: Rinascimento; แปลว่า เกิดใหม่ หรือคืนชีพ) เป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ยุโรป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสมัยกลางสู่สมัยใหม่และครอบคลุมศตวรรษที่ 15 และ 16 มีการแสดงลักษณะด้วยความพยายามที่จะฟื้นฟูและก้าวข้ามแนวคิดและความสำเร็จของสมัยคลาสสิก ได้เกิดขึ้นภายหลังจากวิกฤตการณ์จากสมัยกลางปลายและมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ นอกเหนือจากช่วงเวลาตามมาตรฐาน ผู้เสนอของ"เรอแนซ็องส์ระยะยาว" ซึ่งอาจจะเริ่มต้นในศตวรรษที่ 14 และสิ้นสุดลงในศตวรรษที่ 17

รูปสลักเดวิด เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี หนึ่งในประติมากรรมชิ้นเอกของยุคนี้

มุมมองดั้งเดิมได้มุ่งเน้นไปที่ลักษณะด้านสมัยใหม่ช่วงต้นของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและให้เหตุผลว่าเป็นการทำลายจากอดีต แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนในปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปที่ลักษณะด้านสมัยกลางและได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนขยายเพิ่มเติมของสมัยกลาง อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของช่วงเวลา –สมัยเรอแนซ็องส์ช่วงต้นศตวรรษที่ 15 และอิตาลีในยุคก่อนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1250 หรือ ค.ศ. 1300 – มีการทับซ้อนกันอย่างมากกับสมัยกลางปลาย เป็นไปตามของช่วงเวลาของปี ค.ศ. 1250-1500 และสมัยกลางเองก็เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังเช่นสมัยปัจจุบัน และในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านระหว่างทั้งสองยุค สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยามีความคลึงกันอย่างใกล้ชิดทั้งสองยุค โดยเฉพาะสมัยปลายและช่วงเวลาย่อยของสมัยต้นในแต่ละช่วง

พื้นฐานทางปัญญาของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยนิยม ซึ่งได้รับมาจากแนวคิดของฮิวแมนนิตัสจากสมัยโรมันและการค้นพบปรัชญากรีกสมัยคลาสสิคอีกครั้ง เช่น โพรทาโกรัส ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า "มนุษย์เป็นหน่วยชี้วัดของทุกสิ่ง" ความคิดใหม่เหล่านี้ได้ปรากฏให้เห็นในศิลปะ สถาปัตยกรรม การเมือง วิทยาศาสตร์ และวรรณกรรม ตัวอย่างแรก ได้แก่ การพัฒนาทัศนมิติในภาพวาดสีน้ำมันและการฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับการทำคอนกรีต แม้ว่าการประดิษฐ์ของการพิมพ์ด้วยตัวเรียงแบบโลหะซึ่งจะเร่งการเผยแพร่กระจายความคิดจากช่วงปลายศตวรรษที่ 15 การเปลี่ยนแปลงของยุคเรอแนซ็องส์นั้นไม่เหมือนกันทั่วทั้งยุโรป: ร่องรอยแรกซึ่งปรากฏในอิตาลีตั้งแต่ช่วงต้นจนถึงปลายศตวรรษที่ 13 โดยเฉพาะกับงานเขียนของดันเต และภาพวาดของจอตโต

ในการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาได้รวบรวมเอานวัตกรรมของการเบ่งบานของภาษาละตินและวรรณกรรมพื้นเมือง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการฟื้นฟูการเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลคลาสสิค ซึ่งได้ยกย่องบุคคลร่วมสมัยอย่างเปตราก การพัฒนาทัศนมิติแบบเส้นตรงและเทคนิคอื่น ๆ ในการแสดงภาพเสมือนจริงในการวาดภาพ และการปฏิรูปการศึกษาในวงกว้างแต่กลับต้องค่อยเป็นค่อยไป ในด้านการเมือง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาจารีตประเพณีและธรรมเนียมของการทูต และในด้านวิทยาศาสตร์ได้พึ่งพาอาศัยจากการตั้งข้อสังเกตและการให้เหตุผลแบบอุปนัย แม้ว่ายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาจะแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติในการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมมากมาย เช่นเดียวกับการนำเสนอการธนาคารสมัยใหม่และการจัดทำบัญชี อาจจะเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดสำหรับการพัฒนาผลงานศิลปะและคุณูปการของผู้รู้รอบด้าน เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี และมีเกลันเจโล ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นในการใช้คำว่า "คนเรอแนซ็องส์"

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาได้เริ่มต้นในสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ หนึ่งในหลายรัฐของอิตาลี มีการเสนอทฤษฏีต่าง ๆ เพื่ออธิบายถึงต้นกำเนิดและคุณลักษณะต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งลักษณะโดยเฉพาะทางสังคมและพลเมืองของฟลอเรนซ์ในช่วงสมัยนั้น เช่น โครงสร้างทางการเมือง การให้อุปถัมภ์ของตระกูลที่มีอำนาจมากอย่างตระกูลเมดีชี และการอพยพของเหล่านักวิชาการชาวกรีกและตำราความรู้ของพวกเขาไปยังอิตาลี ภายหลังการเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลให้กับเติร์กออตโตมัน ศูนย์กลางหลักอื่น ๆ ได้แก่ นครรัฐอิตาลีทางตอนเหนือ เช่น เวนิส เจนัว มิลาน โบโลญญา และโรมในช่วงสมัยพระสันตะปาปาแห่งเรอแนซ็องส์ หรือเมืองต่าง ๆ ของเบลเยียม เช่น บรูช เกนต์ บรัสเซลส์ เลอเฟิน หรือแอนต์เวิร์ป

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยานั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและซับซ้อน และสอดคล้องกับข้อสงสัยทั่วไปของช่วงเวลาที่ถูกแบ่งแยกออกจากกัน มีการถกเถียงกันอย่างมากในท่ามกลางนักประวัติศาสตร์ที่มีต่อการยกย่อง"ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา" จากศตวรรษที่ 19 และบุคคลที่มีชื่อเสียงทางวัฒนธรรมแต่ละบุคคลในฐานะ "คนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา" การตั้งคำถามถึงประโยชน์ของยุคเรอแนซ็องส์ทั้งในแง่ของคำศัพท์และประวัติศาสตร์ ผู้สังเกตบางคนได้ตั้งคำถามว่า ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็น"ความก้าวหน้า" ทางวัฒนธรรมจากสมัยกลางหรือไม่ แต่กลับมองเห็นว่าเป็นช่วงเวลาของลัทธิมองโลกในแง่ร้ายและการหวนรำลึกจากสมัยคลาสสิค ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ลงก์ดูเร กลับมุ่งเน้นไปที่ความต่อเนื่องระหว่างสองสมัย[2] ซึ่งได้เชื่อมโยงกัน ดังที่แฟร์น็องซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตแล้วว่า "ได้ถูกพันธนาการนับพันเสียแล้ว"[3]

คำว่า รินาสชิตา ('การกำเนิด') ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสือเรื่องชีวิตศิลปินของจอร์โจ วาซารี (ค.ศ. 1550) จึงถูกนำมาแผลงเป็นภาษาอังกฤษเป็นเรอแนซ็องส์ ใน ค.ศ. 1830[4] คำศัพท์นี้ได้ขยายไปถึงการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อื่น ๆ เช่น สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในจักรวรรดิการอแล็งเฌียง (ศตวรรษที่ 8 และ 9) สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในราชวงศ์อ็อทโท (ศตวรรษที่ 10 และ 11) และสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในศตวรรษที่ 12[5]

ประวัติของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

หลังจากสงครามครูเสดอันยาวนานร่วม 300 ปีสิ้นสุดลง ยุโรปก็เข้าสู่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา โดยในช่วงแรกความรู้ทางศิลปะและวิทยาการของกรีกและโรมันได้ถูกนำเข้ามาผ่านเอกสารและหนังสือที่นักวิชาการมุสลิมในโลกอาหรับได้แปลไว้ เช่น ปรัชญาของอริสโตเติล และคณิตศาสตร์ของกรีก ต่อมาการล่มสลายของนครคอนสแตนติโนเปิล ศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 15 จากการรุกรานของสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมัน ทำให้บรรดาพระ และผู้มีวิชาความรู้ในเมืองหอบตำราสำคัญที่คัดลอกด้วยมือ (manuscripts) ต่างๆอันเป็นความรู้และสมบัติทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากอารยธรรมกรีก และโรมัน ออกมาเผยแพร่เพื่อต่อสังคมยุโรปในวงกว้าง และเนื่องจากในขณะนั้นเทคโนโลยีการพิมพ์ และการพิมพ์แบบตัวเรียง (moveable types) เพิ่งได้รับการประดิษฐ์ขึ้นโดยกูเทนเบิร์กในยุโรป ความรู้ศิลปวิทยาการในสมัยคลาสสิคจึงแพร่กระจายไปได้เร็วมาก ทำให้ยุโรปได้นำศิลปวิทยาการที่ได้รับการเผยแพร่ใหม่เหล่านี้ มาสอนในมหาวิทยาลัย ตลอดจนนำมาปรับปรุง ดัดแปลงใหม่ ทำให้ยุโรปมีความเจริญก้าวหน้าในศาสตร์ทุก ๆ ด้าน อาทิเช่น

  1. ศิลปศาสตร์ ศิลปินและผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี ผู้วาดรูปโมนาลิซา มีเกลันเจโล ผู้ปั้นรูปปั้นเดวิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นชายที่มีสัดส่วนสมบูรณ์ที่สุดในโลก ราฟาเอลผู้กำกับการสร้างและตกแต่งมหาวิหารนักบุญเปโตร เป็นต้น
  2. เทคโนโลยี เทคโนโลยีที่สำคัญคือ เทคโนโลยีการต่อเรือ โดยชาติที่เป็นผู้ริเริ่มคือ โปรตุเกสและสเปน ซึ่งทำให้การติดต่อค้าขายกับเอเชียสะดวกขึ้น
  3. วิทยาศาสตร์ แนวคิดที่สำคัญ ได้แก่ การเล่นแร่แปรธาตุ โดยพาราเซลซัส, แนวคิดระบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โดยนิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส และความรู้ด้านการแพทย์ โดยแอนเดรียส เวซาเลียส และ วิลเลียม ฮาร์วีย์

ศิลปะ

ศิลปะเรอแนซ็องส์ (พ.ศ. 1940 - 2140) คำว่า "เรอแนซ็องส์" หมายถึง การเกิดใหม่ ซึ่งเป็นการระลึกถึงศิลปะกรีกและโรมันในอดีต ซึ่งเคยรุ่งเรืองให้กลับมาอีก ศิลปะเรอแนซ็องส์ไม่ใช่การลอกเลียนแบบจากอดีต แต่เป็นยุคสมัยแห่งการเน้นความสำคัญของลักษณะเฉพาะบุคคล มีความสนใจลักษณะภายนอกของมนุษย์ และ ธรรมชาติ เป็นแบบที่มีเหตุผลทางศีลธรรม ก่อให้เกิดความกระตือรือร้นในการค้นหาความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา" โดยมีรากฐานมาจากประเทศอิตาลี และแผ่ขยายไปยังดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป

ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา คริสตจักรยังคงเป็นผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญของเหล่าศิลปินนอกจากนี้ยังมีพวกขุนนาง พ่อค้าผู้ร่ำรวย ซึ่งเป็นชนชั้นสูงก็ได้ว่าจ้าง และอุปถัมภ์เหล่าศิลปินต่าง ๆ ด้วย ตระกูลที่มีชื่อเสียงเหล่านั้น ได้แก่ ตระกูลวิสคอนตี และสฟอร์ซา ในนครมิลาน ตระกูลกอนซากาในเมืองมานตูอา และตระกูลเมดีชีในนครฟลอเรนซ์ การอุปถัมภ์ศิลปินนี้มีผลในการกระตุ้นให้ศิลปินใฝ่หาชื่อเสียง และความสำเร็จมาสู่ชีวิตมากขึ้น ผลงานของศิลปินที่มีทั้ง จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ทำให้ชื่อเสียงของศิลปินหลายคน เป็นที่รู้จักทั่วโลกตลอดกาล เช่น ลีโอนาร์โด ดา วินชี มีเกลันเจโล ราฟาเอล สถานภาพทางสังคมของศิลปินเป็นที่ยอมรับกันอย่างสูงในวงสังคม เกิดสำนักศิลปะเพื่อฝึกฝนช่างฝีมือ และเกิดมีศิลปินระดับอัจฉริยะขึ้นมาอย่างมากมาย และในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยานี้เอง ที่มีการพัฒนาการพิมพ์ขึ้นในประเทศเยอรมนีโดย โยฮันน์ กูเทนแบร์ก เป็นผู้ผลิตนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมา ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ทำให้ศิลปะการพิมพ์ได้เริ่มมีการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างจริงจัง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.