Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมห์เหม็ดที่ 2 (ตุรกีออตโตมัน: محمد ثانى, อักษรโรมัน: Meḥmed-i s̱ānī; ตุรกี: II. Mehmed, ออกเสียง: [icinˈdʒi ˈmehmed]; 30 มีนาคม ค.ศ. 1432 - 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1481) รู้จักกันในพระนาม เมห์เหม็ดผู้พิชิต (ตุรกีออตโตมัน: ابو الفتح, อักษรโรมัน: Ebū'l-Fetḥ, แปลตรงตัว 'บิดาแห่งการพิชิต'; ตุรกี: Fatih Sultan Mehmed) เป็นสุลต่านออตโตมันที่ครองราชย์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1444 ถึงกันยายน ค.ศ. 1446 และอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1451 ถึงพฤษภาคม ค.ศ. 1481 ในรัชสมัยแรก พระองค์สามารถเอาชนะกลุ่มครูเสดที่นำโดยจอห์น ฮุนยาดีหลังการโจมตีฮังการี ซึ่งละเมิดเงื่อนไขในสนธิสัญญาสันติภาพแห่งแซแก็ด เมื่อเมห์เหม็ดที่ 2 ครองราชย์อีกครั้งใน ค.ศ. 1451 พระองค์เสริมกำลังกองทัพเรือออตโตมันและเตรียมการโจมตีคอนสแตนติโนเปิล เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ 21 พระองค์พิชิตคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคืออิสตันบูล) และทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์สิ้นสุดลง
สุลต่านเมห์เหม็ดผู้พิชิต | |||||
---|---|---|---|---|---|
คัยเซรีรูม (ซีซาร์แห่งโรมัน) สุลต่านแห่งสองดินแดนและข่านแห่งสองทะเล[1] | |||||
พระบรมสาทิสลักษณ์ของเมห์เหม็ดที่ 2 โดยเจนตีเล เบลลีนี วาดใน ค.ศ. 1480 | |||||
สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (ปะดีชาฮ์) องค์ที่ 7 | |||||
ครองราชย์ครั้งที่ 1 | สิงหาคม ค.ศ. 1444 – กันยายน ค.ศ. 1446 | ||||
ก่อนหน้า | มูรัดที่ 2 | ||||
ถัดไป | มูรัดที่ 2 | ||||
ครองราชย์ครั้งที่ 2 | 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1451 – 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1481 | ||||
ก่อนหน้า | มูรัดที่ 2 | ||||
ถัดไป | บาเยซิดที่ 2 | ||||
ประสูติ | 30 มีนาคม ค.ศ. 1432 เอดีร์แน รัฐสุลต่านออตโตมัน | ||||
สวรรคต | 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1481 ปี) ฮืนคาร์ชายือรือ (เทกฟูร์ชายือรือ) ใกล้กับเกบเซ จักรวรรดิออตโตมัน | (49||||
ฝังพระศพ | มัสยิดฟาติฮ์ อิสตันบูล | ||||
พระมเหสี |
| ||||
พระราชบุตร |
| ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ออตโตมัน | ||||
พระราชบิดา | มูรัดที่ 2 | ||||
พระราชมารดา | ฮือมา ฮาตุน | ||||
ศาสนา | อิสลามนิกายซุนนี[2][3] | ||||
ทูกรา |
หลังการพิชิต เมห์เหม็ดทรงอ้างสิทธิ์เป็น "ซีซาร์"แห่งจักรวรรดิโรมัน (قیصر روم Qayser-i Rûm) โดยอิงความจริงที่ว่าคอนสแตนติโนเปิลเป็นที่ตั้งและเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่ยังเหลือรอดมาตั้งแต่การแบ่งจักรวรรดิใน ค.ศ. 330 โดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1[4] ข้ออ้างนี้มีเพียงอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลที่ให้การยอมรับ ถึงกระนั้น เมห์เหม็ดที่ 2 มองรัฐออตโตมันว่าเป็นรัฐสืบทอดของจักรวรรดิโรมัน และมองตัวพระองค์เองว่า "สืบทอด" จักรวรรดิมากกว่า "ทดแทน" มัน
เมห์เหม็ดทรงดำเนินการศึกต่อไปในอานาโตเลียแล้วรวมบริเวณนี้กับยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ไปทางตะวันตกถึงบอสเนีย พระองค์ยังปฏิรูปการเมืองและสังคม ส่งเสริมในด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ และในช่วงปลายรัชสมัย พระองค์ได้ปรับปรุงคอนสแตนติโนเปิลให้เป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิที่เจริญรุ่งเรือง ประเทศตุรกีสมัยใหม่และโลกมุสลิมส่วนมากมองพระองค์เป็นวีรบุรุษ นอกจากนี้ ยังมีสถานที่หลายแห่งที่ตั้งชื่อตามพระองค์ด้วย
เมห์เหม็ดที่ 2 เสด็จพระราชสมภพในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1432 ที่เอดีร์แน เมืองหลวงของรัฐออตโตมันในเวลานั้น พระราชบิดาของพระองค์คือสุลต่านมูรัดที่ 2 (ค.ศ. 1404–1451) กับฮือมา ฮาตุน พระราชมารดาของพระองค์ที่เคยเป็นทาสไม่ทราบต้นกำเนิด[5][6][7]
ตามธรรมเนียมของผู้นำออตโตมันก่อนรัชสมัยของพระองค์ เมื่อเมห์เหม็ดที่ 2 มีพระชนมายุ 11 พรรษา พระองค์ถูกส่งไปที่อามัสยาพร้อมกับ ลาลัส (ที่ปรึกษา) สองคนเพื่อดูแลและได้รับประสบการณ์[7] หลังสุลต่านมูรัดที่ 2 ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับฮังการีในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1444[8] พระองค์จึงสละราชสมบัติให้กับเมห์เหม็ดที่ 2 พระราชโอรสในพระชนมพรรษา 12 พรรษาในเดือนกรกฎาคม[9]/สิงหาคม[8] ค.ศ. 1444
ในรัชสมัยแรก พระองค์สามารถเอาชนะกลุ่มครูเสดที่นำโดยจอห์น ฮุนยาดีหลังการโจมตีฮังการี ซึ่งละเมิดเงื่อนไขในสนธิสัญญาสันติภาพแห่งแซแก็ดในเดือนกันยายน ค.ศ. 1444[8] ณ เวลานั้น สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงขอให้มูรัดที่ 2 พระราชบิดา ครองบัลลังก์อีกครั้ง แต่พระองค์ปฏิเสธ บันทึกเหตุการณ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระบุไว้ว่า[10] สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงพระอักษรว่า "ถ้าเจ้าคือสุลต่าน จงมาและนำกองทัพของท่าน ถ้าข้าคือสุลต่าน ข้าจะสั่งให้เจ้ามาและนำกองทัพของข้า" จากนั้น มูรัดที่ 2 นำกองทัพออตโตมันและชนะยุทธการที่วาร์นาในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1444[8] ฮาลิล อีนัลจึก (Halil İnalcık) กล่าวว่าสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ไม่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระราชบิดา แต่มาจากความพยายามที่จะนำมูรัดที่ 2 กลับมาครองอำนาจโดยชันดาร์ลือ ฮาลิล พาชา (Çandarlı Halil Pasha)[9][10]
ใน ค.ศ. 1446 มูรัดที่ 2 กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง เมห์เหม็ดที่ 2 ยังคงมีตำแหน่งสุลต่าน แต่ทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการมานิซาเท่านั้น หลังการสวรรคตของสุลต่านมูรัดที่ 2 ใน ค.ศ. 1451 เมห์เหม็ดที่ 2 กลายเป็นสุลต่านครั้งที่สอง อิบราฮิม เบย์แห่งคารามันรุกรานดินแดนพิพาทและสืบสวนการก่อกบฏต่อการปกครองของออตโตมันหลายครั้ง สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 จึงคุมศึกครั้งแรกต่ออิบราฮิมแห่งคารามัน ทางไบแซนไทน์ขู่ที่จะปล่อยตัวออร์ฮัน ผู้อ้างสิทธิในราชวงศ์ออตโตมัน[8]
ใน ค.ศ. 1481 เมห์เหม็ดทรงนำทัพออตโตมันเพื่อเริ่มศึกใหม่ที่จะยึดครองโรดส์และอิตาลีตอนใต้ แต่ก่อนที่จะไปถึงมัลเทเพ อิสตันบูล พระองค์กลับประชวรเสียก่อน อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางส่วนรายงานว่าพระองค์วางแผนที่จะโค่นล้มรัฐสุลต่านมัมลูกแห่งอียิปต์ ยึดครองอียิปต์ และอ้างสิทธิ์เป็นเคาะลีฟะฮ์[11] หลังประชวรไม่กี่วัน พระองค์สวรรคตในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1481 ด้วยพระชนมพรรษา 49 พรรษา และฝังในtürbeของพระองค์ใกล้บริเวณมัสยิดฟาติฮ์[12] Colin Heywood นักประวัติศาสตร์รายงานว่า "มีหลักฐานแวดล้อมที่สำคัญว่าเมห์เหม็ดถูกวางยาพิษ ซึ่งน่าจะเป็นคำสั่งของบาเยซิด พระราชโอรสคนโตและทายาทผู้สืบทอดของพระองค์"[13]
ข่าวการสวรรคตของเมห์เหม็ดสร้างความดีใจในทวีปยุโรปอย่างมาก โดยมีการจัดงานฉลองและสั่นระฆังโบสถ์ และมีการประกาศข่าวในเวนิสว่า: "La Grande Aquila è morta!" ('อินทรีใหญ่ตายแล้ว!')[14][15]
เมห์เหม็ดที่ 2 ได้รับการยอมรับในฐานะสุลต่านองค์แรกที่ประมวลกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญ (เป็นเวลานานก่อนหน้าสุลัยมานผู้เกรียงไกร) การครองราชย์เป็นเวลา 31 ปี และสงครามจำนวนมากได้ขยายดินแดนจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเพิ่มดินแดนคอมสแตนติโนเปิล อาณาจักรและดินแดนเติร์กหลายแห่งในเอเชียน้อย บอสเนีย เซอร์เบีย และแอลเบเนีย เมห์เหม็ดสร้างชื่อเสียงอย่างมากทั้งในโลกอิสลามและคริสเตียน โดยFranz Babinger นักประวัติศาสตร์ได้รายงานว่า โลกคริสเตียนและพลเมืองบางส่วนมองตัวพระองค์เป็นทรราชกระหายเลือด[16] สะพานฟาติฮ์สุลต่านเมห์เหม็ดในอิสตันบูล (สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1988) ซึ่งข้ามช่องแคบบอสพอรัส ตั้งชื่อตามพระองค์ และพระนามกับพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ยังปรากฏในธนบัตร 1000 ลีราตุรกีใน ค.ศ. 1986 ถึง 1992[17][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้][18]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.