Loading AI tools
อารยธรรมที่เก่าแก่ในทวีปแอฟริกา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อียิปต์โบราณ หรือ ไอยคุปต์ เป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ทางตอนบนตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ตั้งแต่ตอนกลางจนถึงปากแม่น้ำไนล์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศอียิปต์ อารยธรรมอียิปต์โบราณสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และเริ่มปรากฏชัดเมื่อประมาณ 3,150 ปีก่อนคริสต์ศักราช [1] จากการรวมอำนาจทางการเมืองของอียิปต์ตอนเหนือและตอนใต้ ภายใต้ฟาโรห์นาร์เมอร์ซึ่งเป็นฟาโรห์องค์แรกแห่งอียิปต์[2]
ประวัติศาสตร์ของอียิปต์โบราณจำแนกตามยุคอาณาจักรที่มั่นคง หรือที่รู้จักกันในยุค "ราชอาณาจักร" (Kingdoms) โดยมักแบ่งตามราชวงศ์ที่ขึ้นมาปกครอง และยุคที่ไม่มีความแน่นอนที่เรียกว่า "ช่วงต่อ" (Intermediate Periods) ยุคที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ราชอาณาจักรเก่า ในช่วงต้นยุคสัมฤทธิ์, ราชอาณาจักรกลาง ในช่วงกลางยุคสัมฤทธิ์ และ ราชอาณาจักรใหม่ ในช่วงปลายยุคสัมฤทธิ์ ซึ่งในยุคราชอาณาจักรใหม่นี่เองที่อารยธรรมอียิปต์โบราณถึงจุดสูงสุด โดยได้ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของนูเบียและส่วนหนึ่งของตะวันออกใกล้ ก่อนที่จะถดถอยไปอย่างช้า ๆ
ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ อียิปต์ถูกรุกรานหรือยึดครองโดยต่างชาติหลายต่อหลายครั้ง กล่าวคือ โดยฮิกซอส ลิเบีย นูเบีย อัสซีเรีย อคีเมนียะห์เปอร์เซีย และมาเกโดเนียภายใต้การยึดครองโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเมื่อ 332 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งทำให้ความเป็นอาณาจักรอียิปต์โบราณล่มสลายลง และจัดอียิปต์เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิมาเกโดเนีย[3] แม้กระนั้นเองความเป็นอารยธรรมอียิปต์โบราณก็ดำรงอยู่ต่อไปภายใต้ราชวงศ์ทอเลมีเชื้อสายกรีกที่ตั้งขึ้นภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ และปกครองอียิปต์จนถึง 30 ปีก่อนคริสตกาล ภายใต้พระนางคลีโอพัตรา กระทั่งถูกจักรวรรดิโรมันเข้ายึดครองและกลายมาเป็นจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน[4] เกิดการผสมผสานเข้ากับอารยธรรมผู้ปกครองเรื่อยมาจนเลือนหายไปในที่สุด
อารยธรรมอียิปต์พัฒนาการมาจากสภาพของลุ่มแม่น้ำไนล์ การควบคุมระบบชลประทาน, การควบคุมการผลิตพืชผลทางการเกษตร พร้อมกับพัฒนาอารยธรรมทางสังคม และวัฒนธรรม พื้นที่ของอียิปต์นั้นล้อมรอบด้วยทะเลทรายเสมือนปราการป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก นอกจากนี้ยังมีการทำเหมืองแร่ และอียิปต์ยังเป็นชนชาติแรก ๆ ที่มีการพัฒนาการด้วยการเขียน ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้, การบริหารเน้นไปที่สิ่งปลูกสร้างและการเกษตรกรรม พร้อมกันนั้นก็มีการพัฒนาการทางทหารของอียิปต์ที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ราชอาณาจักร โดยประชาชนจะให้ความเคารพกษัตริย์หรือฟาโรห์เสมือนหนึ่งเทพเจ้า ฟาโรห์ทรงมีอำนาจเด็ดขาดทำให้การบริหารราชการบ้านเมืองและการควบคุมอำนาจนั้นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชาวอียิปต์โบราณไม่ได้เป็นเพียงแต่เกษตรกรหรือช่างก่อสร้าง แต่ยังเป็นนักคิด, นักปรัชญา ผู้ได้มาซึ่งความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ มากมายตลอดพัฒนาการของอารยธรรมกว่า 4,000 ปี ทั้งคณิตศาสตร์ วิธีการสร้างพีระมิด วัด โอเบลิสก์ ตัวอักษร และเทคนิคโลยีด้านกระจก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาประสิทธิภาพทางด้านการแพทย์, ระบบชลประทานและการเกษตรกรรม สิ่งที่อียิปต์ทิ้งไว้เป็นมรดกแก่อนุชนรุ่นหลัง คือ ศิลปะและสถาปัตยกรรม ซึ่งถูกคัดลอกนำไปใช้ทั่วโลก อนุสรณ์สถานที่ต่าง ๆ ในอียิปต์ต่างดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักประพันธ์ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการค้นพบวัตถุใหม่ ๆ ในอียิปต์มากมายซึ่งกำลังตรวจสอบถึงประวัติความเป็นมา เพื่อเป็นหลักฐานแก่อารยธรรมอียิปต์ และอารยธรรมของโลกต่อไป [5]
ความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณรอบแม่น้ำไนล์ เสมือนหนึ่งที่ธรรมชาติหยิบยื่นโอกาสให้แก่มนุษย์ที่จะตั้งถิ่นฐาน พัฒนาการเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และสังคม และนับเป็นศูนย์กลางทางสังคมสำคัญในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษยชาติ[6] ที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำไนล์ทำให้มนุษย์มีโอกาสพัฒนาเกษตรกรรม พร้อมกับการตั้งถิ่นฐานและสังคมที่มีการรวมศูนย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น อันเป็นรากฐานที่สำคัญในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์[7] ชนร่อนเร่ที่เก็บของป่าล่าสัตว์เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณหุบเขาไนล์ในช่วงกลางยุคไพลสโตซีนหรือเมื่อประมาณ 120,000 ปีก่อน กระทั่งช่วงปลายยุคหินเก่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งของแอฟริกาตอนเหนือ เริ่มร้อนและแห้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประชากรโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามแนวแม่น้ำ
ในยุคก่อนราชวงศ์และราชวงศ์แรก ๆ สภาพอากาศของอียิปต์แห้งแล้งน้อยกว่าในปัจจุบันมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ของอียิปต์ปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้าสะวันนาและมีฝูงสัตว์กีบเท้ากินหญ้า ใบไม้และสัตว์ป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากในทุกสภาพแวดล้อม ภูมิภาคไนล์เป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำจำนวนมาก คาดว่าการล่าสัตว์เป็นเรื่องปกติสำหรับชาวอียิปต์และนี่ก็เป็นช่วงเวลาที่สัตว์หลายชนิดถูกนำมาเลี้ยงเป็นครั้งแรก[8]
ราว 5500 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในหุบเขาไนล์ได้พัฒนาเป็นวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงการควบคุมการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์อย่างมั่นคง ระบุได้จากเครื่องปั้นดินเผาและของใช้ส่วนตัว เช่น หวี กำไลและลูกปัด หนึ่งในวัฒนธรรมยุคนี้ที่ใหญ่ที่สุดบริเวณอียิปต์ตอนบน (ภาคใต้) คือวัฒนธรรมบาดาเรียน (Badarian culture) ซึ่งอาจมีต้นกำเนิดในทะเลทรายตะวันตก เป็นที่รู้จักในเรื่องเซรามิกคุณภาพสูง เครื่องมือหิน และการใช้ทองแดง[9]
การมาถึงของวัฒนธรรม Amratian (Naqada I), Gerzeh (Naqada II) และ Semainean (Naqada III) หลังวัฒนธรรมบาดาเรียนนำมาซึ่งการพัฒนาวิทยาการหลายประการ[10] โดยในช่วงวัฒนธรรม Naqada I ชาวอียิปต์ได้นำเข้าหินออบซิเดียนจากเอธิโอเปียเพื่อใช้ในการผลิตใบมีดและวัตถุอื่น ๆ[11] ในสมัย Naqada II มีหลักฐานการติดต่อกับตะวันออกใกล้ โดยเฉพาะคานาอันและชายฝั่งบิบลอส[12] ในช่วงเวลาประมาณ 1,000 ปีนี้ วัฒนธรรม Naqada ได้พัฒนาจากชุมชนเกษตรกรรมเล็ก ๆ เพียงไม่กี่แห่งจนกลายเป็นอารยธรรมที่ทรงพลัง ที่ผู้นำสามารถควบคุมผู้คนและทรัพยากรของหุบเขาไนล์ได้อย่างสมบูรณ์ การจัดตั้งศูนย์อำนาจที่ Nekhen (ในภาษากรีก Hierakonpolis) และต่อมาที่ Abydos ผู้นำของ Naqada III ได้ขยายการครอบครองของอียิปต์ไปทางเหนือตามแม่น้ำไนล์[13] พวกเขายังค้าขายกับนูเบียทางทิศใต้ โอเอซิสของทะเลทรายทางตะวันตกทางทิศตะวันตก และวัฒนธรรมต่างๆ บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและตะวันออกใกล้ทางทิศตะวันออก อันป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์ - เมโสโปเตเมีย[14]
วัฒนธรรม Naqada ผลิตสินค้าที่หลากหลายซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นและความมั่งคั่งของชนชั้นสูง ตลอดจนของใช้ส่วนตัวในสังคมซึ่งรวมถึงหวี รูปปั้นขนาดเล็ก เครื่องปั้นดินเผาทาสี แจกันหินตกแต่งคุณภาพสูง จานเครื่องสำอาง และเครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำไพฑูรย์และงาช้าง พวกเขายังพัฒนาเครื่องเคลือบเซรามิก ที่เรียกว่า "faience" ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายถึงยุคปกครองโดยจักรวรรดิโรมันเพื่อตกแต่งถ้วยเครื่องรางและรูปแกะสลัก[15] และในช่วงท้ายของวัฒนธรรม Naqada ปรากฏการใช้สัญลักษณ์ในลักษณะอักษร ซึ่งในที่สุดจะได้รับการพัฒนาเป็นระบบอักษรอียิปต์โบราณ หรือ "ไฮเออโรกลีฟ" (hieroglyphs) สำหรับการเขียนภาษาอียิปต์โบราณ[16]
ยุคราชวงศ์เริ่มแรก (Early Dynastic Period) นั้นร่วมสมัยกับช่วงต้นของอารยธรรมสุเมเรียน – อัคคาเดียของเมโสโปเตเมียและเอลามโบราณ
ในคริสต์ศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล นักบวชชาวอียิปต์ "มาเนโธ" (Manetho) ได้จำแนกและจัดกลุ่มกษัตริย์ หรือ "ฟาโรห์" ตั้งแต่เมเนสจนถึงช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ออกเป็น 30 ราชวงศ์ ซึ่งวิธีการจำแนกที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยเขาเริ่มต้นประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการกับกษัตริย์ชื่อ "เมนี" (หรือ เมเนส/Menes ในภาษากรีก) ซึ่งเชื่อกันว่าได้รวมสองอาณาจักรแห่งอียิปต์ตอนบนและตอนล่างเข้าด้วยกัน[18] อย่างไรก็ตาม การรวมดินแดนให้เป็นหนึ่งดังกล่าวคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่นักเขียนชาวอียิปต์โบราณนำเสนอ อีกทั้งยังไม่ค้นพบหลักฐานร่วมสมัยที่อ้างถึงเมเนส ส่งผลให้นักวิชาการบางคนเชื่อว่า เมเนสในตำนานอาจเป็นฟาโรห์นาร์เมอร์ ผู้ซึ่งปรากฏหลักฐานบนนาร์เมอร์พาเล็ตเป็นภาพบุคคลที่สวมเครื่องราชกกุธภัณฑ์เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการรวมดินแดน[19]
ในยุคราชวงศ์เริ่มแรกซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาลนี้ ฟาโรห์พระองค์แรก ๆ ของยุคได้รวมอำนาจในการควบคุมอียิปต์ตอนล่าง (ภาคเหนือ) โดยการตั้งเมืองหลวงที่เมมฟิส ทำให้สามารถควบคุมกำลังแรงงานและเกษตรกรรมในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ตลอดจนเส้นทางการค้าที่สำคัญสู่ลิแวนต์ อำนาจและความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของฟาโรห์ในยุคนี้สะท้อนให้เห็นในสุสานแมสตาบาและโครงสร้างหลุมฝังศพที่อไบดอสที่ใช้เพื่อเฉลิมฉลองฟาโรห์ในฐานะเทพหลังการสวรรคต[20] สถาบันการปกครองที่แข็งแกร่งซึ่งพัฒนาโดยฟาโรห์ทำหน้าที่เพื่อควบคุมรัฐอย่างชอบธรรมในการควบคุมที่ดิน แรงงาน และทรัพยากร นั้นจำเป็นต่อการอยู่รอดและการเติบโตของอารยธรรมอียิปต์โบราณ[21]
ความก้าวหน้าที่สำคัญทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะและวิทยาการ เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) เพราะได้รับแรงหนุนจากผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นและจำนวนประชากรที่มากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการบริหารส่วนกลางที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี[22] เห็นได้จากความสำเร็จชิ้นเอกในยุค อาทิ พีรามิดแห่งกีซาและมหาสฟิงซ์ที่สร้างขึ้นในสมัยนี้ ภายใต้การดูแลของ "วิเซียร์ (Vizier)" และเจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษี มีการประสานงานเพื่อจัดทำชลประทานเพื่อปรับปรุงผลผลิตพืช การเกณฑ์ชาวนาเพื่อทำงานในโครงการก่อสร้าง และจัดตั้งระบบยุติธรรมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย[23]
ด้วยอำนาจการปกครองส่วนกลางที่แข็งแกร่งขึ้น บรรดาอาลักษณ์และเจ้าหน้าที่อื่นที่มีการศึกษาต่างได้รับพระราชทานทรัพย์สินและที่ดิน เพื่อเป็นการตอบแทนจากการรับใช้ฟาโรห์ และฟาโรห์เองยังพระราชทานที่ดินให้กับวัดและผู้ประกอบพิธีฝังพระศพ (mortuary cults) เพื่อให้แน่ใจว่าสถาบันเหล่านี้จะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะบูชาฟาโรห์หลังการสวรรคต นักวิชาการเชื่อว่าห้าศตวรรษของการปฏิบัติต่อเนื่องกันของสิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ทำลายเศรษฐกิจของอียิปต์ จนไม่สามารถรองรับการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่ได้อีกต่อไป[24] เมื่ออำนาจของกษัตริย์ลดลง ผู้ปกครองในภูมิภาคที่เรียกว่า "Nomarch" ก็เริ่มท้าทายอำนาจสูงสุดของราชสำนัก ควบคู่กับความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในช่วง 2200 ถึง 2150 ปีก่อนคริสตกาล[25] เชื่อกันว่าทำให้ประเทศเข้าสู่ช่วงเวลา 140 ปีแห่งความอดอยากและความขัดแย้งที่เรียกว่า ช่วงต่อระยะที่หนึ่ง[26]
ช่วงต่อระยะที่หนึ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลกลางของอียิปต์ล่มสลายในช่วงท้ายของราชอาณาจักรเก่า โดยไม่สามารถสนับสนุนหรือสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกต่อไป ผู้ปกครองในภูมิภาคเองไม่สามารถพึ่งพาฟาโรห์เพื่อขอความช่วยเหลือได้ในยามวิกฤต และการขาดแคลนอาหาร และข้อพิพาททางการเมืองที่ตามมาส่งผลให้เกิดความอดอยากและสงครามกลางเมืองขนาดเล็ก แม้กระนั้น ผู้นำท้องถิ่นก็ใช้ความเป็นอิสระของพวกเขานี้สร้างวัฒนธรรมที่เฟื่องฟูในต่างจังหวัด การควบคุมทรัพยากรในส่วนภูมิภาคทำให้แต่ละท้องถิ่นร่ำรวยขึ้น เห็นได้จากหลุมฝังศพที่ใหญ่โตและดีขึ้นในทุกชนชั้นทางสังคม[27] ในการสร้างสรรค์ของช่างฝีมือท้องถิ่น ได้มีการนำเอาศิลปวัฒนธรรมซึ่งก่อนหน้านี้จำกัดเฉพาะราชวงศ์ของอาณาจักรเก่ามาใช้และดัดแปลง เหล่านักเขียนเองก็พัฒนารูปแบบวรรณกรรมที่แสดงถึงการมองโลกในแง่ดีและความคิดริเริ่มในยุคนั้น[28]
เมื่อปราศจากอำนาจของฟาโรห์ ผู้ปกครองท้องถิ่นต่างเริ่มแข่งขันกันเพื่อควบคุมดินแดนและอำนาจทางการเมือง เมื่อถึง 2160 ปีก่อนคริสตกาล ผู้ปกครองในเฮราคลีโอโพลิสได้เข้าครอบครองส่วนทิศเหนือของอียิปต์ตอนล่าง ในขณะที่กลุ่มคู่แข่งที่อยู่ในธีบส์ตระกูลอินเทฟได้ครอบครองอียิปต์ตอนบนทางตอนใต้ เมื่อเหล่าอินเทฟมีอำนาจมากขึ้นและขยายการครอบครองไปทางเหนือจึงเกิดการปะทะกันระหว่างสองตระกูล ราว 2055 ปีก่อนคริสตกาล กองกำลังธีบส์ทางตอนเหนือภายใต้เมนทูโฮเตปที่ 2 ในที่สุดก็เอาชนะผู้ปกครองเฮราคลีโอโพลิส เป็นการวมทั้งสองดินแดนอีกครั้งและนำมาซึ่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่เรียกว่า ราชอาณาจักรกลาง[29]
บรรดาฟาโรห์แห่งราชอาณาจักรกลางได้ทำการฟื้นฟูความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศ ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวของงานศิลปะ วรรณกรรม และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่[30] แต่เดิม ฟาโรห์เมนทูโฮเตปที่ 2 และผู้สืบทอดราชวงศ์ที่สิบเอ็ดปกครองประเทศจากเมืองธีบส์ แต่ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์พระองค์แรกของราชวงศ์ที่สิบสองในราวปี 1985 ก่อนคริสตกาล ได้ทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรไปที่เมืองอิทจ์-ทาวี (Itjtawy) ซึ่งตั้งอยู่ในโอเอสิสไฟยุม (Faiyum Oasis) จากเมืองอิทจ์-ทาวีนี้ ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่สิบสองได้ดำเนินโครงการถมดินและชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ยกทัพเข้ายึดครองนูเบียซึ่งอุดมไปด้วยเหมืองหินและเหมืองทองคำ ในขณะที่ได้มีการสร้างป้อมป้องกันในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำตะวันออก เรียกว่า "กำแพงแห่งผู้ปกครอง" ไว้เพื่อป้องกันการรุกรานจากต่างชาติ[31]
ในทางตรงกันข้ามกับทัศนะของราชอาณาจักรเก่าต่อเทพเจ้าที่เป็นลักษณะขั้นสูงสุด (elitist) ราชอาณาจักรกลางกลับแสดงออกถึงศรัทธาอันแกล่งกล้าส่วนบุคคลต่อเทพเจ้า (expressions of personal piety)[32] วรรณกรรมในยุคนี้มีบทและตัวละครที่ซับซ้อนซึ่งเขียนในรูปแบบที่มั่นใจและคมคาย[33] รูปนูนภาพแกะสลัก และภาพบุคคลบันทึกรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนของแต่ละบุคคลซึ่งมาถึงความซับซ้อนทางวิทยาการขั้นสูงใหม่ ๆ[34]
ผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่พระองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรกลาง คือ ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 โดยทรงอนุญาตให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวคานาอันที่พูดภาษาเซมิติกจากตะวันออกใกล้เข้าสู่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ เพื่อกำลังแรงงานที่เพียงพอสำหรับการทำเหมืองแร่และการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการก่อสร้างและการเหมืองที่ทะเยอทะยานเหล่านี้ รวมกับน้ำท่วมในแม่น้ำไนล์ครั้งรุนแรงในปลายรัชกาลทำให้เศรษฐกิจตึงเครียดและตกต่ำลงอย่างช้า ๆ ในช่วงปลายราชวงศ์ที่สิบสามและสิบสี่ จนเข้าสู่ยุดช่วงต่อระยะที่สอง[35]
ในช่วงนี้ ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวคานาอันได้เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ จนมีอำนาจเหนือดินแดนอียิปต์ในฐานะชาวฮิกซอส[35]
ประมาณ 1785 ปีก่อนคริสตกาล เมื่ออำนาจของฟาโรหฺ์แห่งราชอาณาจักรกลางอ่อนแอลง ชาวเอเชียตะวันตกที่เรียกว่า ฮิกซอส (Hyksos) ซึ่งตั้งรกรากอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ได้ยึดอำนาจการปกครองของอียิปต์ และตั้งเมืองหลวงที่ "อวาริส" ส่งผลให้รัฐบาลกลางเดิมต้องล่าถอยกลับไปยังปกครองเมืองธีบส์ ฟาโรห์เองทรงถูกปฏิบัติในฐานะเป็นเมืองขึ้น พร้อมทั้งต้องส่งบรรณาการไปยังผู้ปกครองทางเหนือ[36] ในทางกลับกัน ฮิกซอส (หรือ "ผู้ปกครองชาวต่างชาติ") ยังคงรักษารูปแบบการปกครองเดิมของอียิปต์และตั้งตนว่าเป็นกษัตริย์ พร้อมทั้งผสมผสานองค์ประกอบของอียิปต์เข้ากับวัฒนธรรมของพวกตนและของผู้รุกรานอื่น ๆ ได้นำเสนอเครื่องมือใหม่ ๆ ในการทำสงครามเข้ามาในอียิปต์ โดยเฉพาะธนูคอมโพสิทและรถม้าศึก[37]
หลังจากที่กษัตริย์พื้นเมืองของธีบส์ถอยร่นไปทางใต้ ก็พบว่าตนติดอยู่ระหว่างชาวฮิกซอสที่ปกครองทางเหนือ กับชาวคูช ชนเชื่อสายนูเบียซึ่งเป็นพันธมิตรของฮิกซอสทางใต้ หลังจากหลายปีในฐานะผู้ถูกปกครอง ธีบส์ได้รวบรวมความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะท้าทายอำนาจฮิกซอสในความขัดแย้งที่กินเวลานานกว่า 30 ปีจนถึง 1555 ปีก่อนคริสตกาล[36] ซึ่งฟาโรห์เซเคนเอนเร ทาโอและฟาโรห์คาโมสทรงสามารถเอาชนะชาวนูเบียทางตอนใต้ของอียิปต์ได้สำเร็จ แต่ล้มเหลวในการเอาชนะชาวฮิกซอส กระทั่งฟาโรห์อาโมสที่ 1 ประสบความสำเร็จในการรบชนะและล้มล้างฮิกซอสไปจากอียิปต์อย่างถาวร ทรงก่อตั้งราชวงศ์ใหม่และราชอาณาจักรใหม่ที่จะสถาปนาต่อมา การทหารกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพระองค์ ผู้ซึ่งพยายามขยายพรมแดนของอียิปต์และปกครองดินแดนตะวันออกใกล้[38]
กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรใหม่ได้สร้างช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยการรักษาพรมแดนและเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับเพื่อนบ้าน รวมถึงจักรวรรดิมิทันนี อัสซีเรียและคานาอัน การสงครามที่เกิดขึ้นในรัชกาลฟาโรห์ทุตโมสที่ 1 และฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 พระราชนัดดา ได้ขยายอิทธิพลให้อียิปต์จนมีดินแดนที่กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตน ฟาโรห์เมร์เนปทาห์แห่งราชวงศ์ที่สิบเก้าทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ใช้คำว่า "ฟาโรห์"
ในรัชกาลฟาโรห์แฮตเชปซุต ซึ่งเป็นราชินีที่สถาปนาตัวเองเป็นฟาโรห์ ได้ทรงโปรดให้ก่อสร้างและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ได้รับความเสียหายจากฮิกซอส พร้อมทั้งได้ส่งคณะสำรวจทางการค้าไปยังดินแดนพันท์และคาบสมุทรไซไน เมื่อฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 สวรรคตใน 1425 ปีก่อนคริสตกาล อียิปต์มีอาณาจักรที่กินพื้นที่ตั้งแต่เมืองนียาทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ไปจนถึงแก่งที่สี่ของแม่น้ำไนล์ในนูเบีย เปิดช่องทางนำเข้าของที่สำคัญ เช่น สัมฤทธิ์และไม้
ฟาโรห์แห่งราชอาณาจักรใหม่ทรงสนับสนุนสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าอาเมินในเมืองคาร์นัค ทำให้วิหารคาร์นัคกลายเป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในอียิปต์โบราณ[39] พวกพระองค์ยังโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูความสำเร็จของพระองค์เองทั้งจริงและในจินตนาการ
ราว 1350 ปีก่อนคริสตกาล ความมั่นคงของราชอาณาจักรใหม่ถูกคุกคาม เมื่อฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4 ขึ้นครองราชย์และทำการปฏิรูปที่รุนแรงและวุ่นวาย ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น แอเคนาเทน พร้อมกับบูชาสุริยเทพที่คลุมเครือก่อนหน้านี้พระนามว่า "อาเทน" เป็นเทพสูงสุด ระงับการบูชาเทพส่วนใหญ่องค์อื่น ๆ และย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองใหม่แอเคนาเทน (เมืองอาร์มานาในปัจจุบัน) โดยทุ่มเทให้กับศาสนาและรูปแบบศิลปะใหม่ที่เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่หลังการสวรรคตของแอเคนาเทน ลัทธิของเอเทนก็ถูกละทิ้งอย่างรวดเร็วและศาสนาแบบดั้งเดิมได้รับการฟื้นฟู ฟาโรห์พระองค์ต่อ ๆ มา ตุตันคาเมน ไอย์และโฮเรมเฮบ ต่างได้ทำการลบการกล่าวถึงเรื่องนอกรีตของฟาโรห์แอเคนาเทน (ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อสมัยอาร์มานา)[40]
ราว 1279 ปีก่อนคริสตกาลฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 หรือที่รู้จักกันในนาม "แรเมซีสมหาราช" เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดฯ ให้สร้างวิหาร รูปปั้นและเสาโอเบลิสก์จำนวนมาก ทรงมีบุตรมากกว่าฟาโรห์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์อียิปตืโบราณ[lower-alpha 1] ด้วยเหตุที่ทรงเป็นผู้นำทางทหารที่กล้าหาญ จึงทรงนำกองทัพด้วยพระองค์เองต่อต้านชาวฮิตไทต์ในสมรภูมิคาเดช (ซีเรียในปัจจุบัน) และหลังจากต่อสู้จนถึงทางตัน ในที่สุดก็ตกลงทำสนธิสัญญาสันติภาพที่บันทึกไว้เมื่อประมาณ 1258 ปีก่อนคริสตกาล[41]
อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งของอียิปต์ทำให้ตกเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการรุกรานของต่างชาติ โดยเฉพาะชาวลิเบียเบอร์เบอร์ทางตะวันตก และกลุ่มชาวเลจากทะเลอีเจียน[lower-alpha 2] ในช่วงต้น กองทัพอียิปต์สามารถขับไล่การรุกรานเหล่านี้ได้ แต่ในที่สุดอียิปต์ก็สูญเสียดินแดนที่เหลืออยู่ทางตอนใต้ของคานาอันส่วนใหญ่ให้กับชาวอัสซีเรีย ภัยคุกคามภายนอกเองทำให้ความไม่สงบภายในรุนแรงขึ้น เกิดการทุจริต การปล้นสุสาน และความไม่สงบของสังคม กอปรกับหลังจากฟื้นคืนอำนาจของเหล่านักบวชแห่งวิหารแห่งอาเมินในธีบส์ที่ได้สะสมที่ดินและความมั่งคั่งมากมายและอำนาจที่แผ่ขยายของพวกเขา ทำให้ประเทศแตกสลาย ข้าสู่ยุคช่วงต่อระยะที่สาม[42]
หลังการสวรรคตของฟาโรห์แรเมซีสที่ 9 ใน 1078 ปีก่อนคริสตกาล สเมนเดสมีอำนาจปกครองทางตอนเหนือของอียิปต์โดยปกครองจากเมืองแทนิส ในส่วนทางตอนใต้นั้นอยู่ภายใต้การปกครองของเหล่านักบวชแห่งอาเมินที่เมืองธีบส์โดยยอมรับสเมนเดสเพียงแค่ในนามเท่านั้น[43] ในช่วงเวลานี้ชาวลิเบียได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทางตะวันตก และหัวหน้าของผู้ตั้งถิ่นฐานเหล่านี้เริ่มมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น ผู้ปกครองชาวลิเบียได้เข้าครอบครองสามเหลี่ยมปากแม่น้ำภายใต้ฟาโรห์โชเชงค์ที่ 1 ใน 945 ปีก่อนคริสตกาล โดยก่อตั้งราชวงศ์ลิเบียหรือ Bubastite ที่จะปกครองต่อไปอีกกว่า 200 ปี ฟาโรห์โชเชงค์ได้ปกครองทางตอนใต้ของอียิปต์อีกครั้งโดยจัดให้สมาชิกพระราชวงค์อยู่ในตำแหน่งนักบวชที่สำคัญ การควบคุมของลิเบียเริ่มลดลงเมื่อราชวงศ์คู่แข่งในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเกิดขึ้นในลีออนโทโพลิส และชาวคุชที่คุกคามจากทางใต้
ราว 727 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์คุชพระนามว่าปีเย ได้บุกขึ้นเหนือและเข้าครอบครองธีบส์ถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ สถาปนาราชวงศ์ที่ยี่สิบห้า[45] ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่ยี่สิบห้านี้ได้สร้างและบูรณะวัด วิหารและอนุสาวรีย์ทั่วทั้งหุบเขาไนล์ ทั้งที่เมมฟิส คาร์นัค คาวา และเจเบล บาร์คาล[46] ฟาโรห์ทาฮาร์กาทรงขยายอาณาเขตจนมีขนาดใหญ่เกือบเทียบเท่าราชอาณาจักรใหม่ การก่อสร้างพีระมิด (ส่วนใหญ่ในประเทศซูดานในปัจจุบัน) กลับมาแพร่หลายอีกครั้งนับตั้งแต่ราชอาณาจักรกลาง[47][48][49]
ความเจริญของอียิปต์ลดลงอย่างมากในช่วงปลายยุคช่วงต่อระยะที่สาม พันธมิตรต่างชาติตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอัสซีเรียและเมื่อ 700 ปีก่อนคริสตกาลสงครามระหว่างสองรัฐก็กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดสงครามขึ้นระหว่าง 671 ถึง 667 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอัสซีเรียเริ่มการพิชิตอียิปต์ ในรัชกาลทาฮาร์กาและทานูทาเมินเต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องกับชาวอัสซีเรีย จนในที่สุดชาวอัสซีเรียก็ขับไล่ชาวคุชกลับไปยังนูเบีย ยึดครองเมืองเมมฟิส และทำลายเหล่าวิหารแห่งธีบส์[50]
ในยุคปลายนี้ ใน 653 ปีก่อนคริสตกาลฟาโรห์ Psamtik ที่ 1 แห่งราชวงศ์ที่ยี่สิบหก สามารถขับไล่ชาวอัสซีเรียได้ด้วยความช่วยเหลือของทหารรับจ้างชาวกรีกซึ่งได้รับคัดเลือกให้จัดตั้งกองทัพเรือแห่งแรกของอียิปต์ อิทธิพลของกรีกขยายตัวอย่างมากเมื่อนครรัฐนอคราติส (Naucratis) กลายเป็นบ้านสำคัญของชาวกรีกในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ เมืองหลวงใหม่ภายใต้ราชวงศ์นี้ที่เมืองซาอิสปรากฏให้เห็นการฟื้นตัวในระยะเวลาสั้น ๆ ของเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ใน 525 ปีก่อนคริสตกาลกษัตริย์เปอร์เซีย แคมบิเซสที่ 2 (Cambyses II) ได้เริ่มการพิชิตอียิปต์กระทั่งจับฟาโรห์ Psamtik ที่ 3 ได้ที่สมรภูมิเปลูเซียม แคมบิเซสที่ 2 จึงได้เป็นฟาโรห์อย่างเป็นทางการ แต่ปกครองอียิปต์จากดินแดนเปอร์เซีย ปล่อยให้อียิปต์อยู่ภายใต้การควบคุมของเซแทร็ป มีการปฏิวัติต่อต้านชาวเปอร์เซียที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่ครั้งในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช แต่อียิปต์ก็ไม่สามารถเป็นอิสระจากเปอร์เซียได้อย่างถาวร[51]
หลังจากการผนวกดินแดนโดยเปอร์เซีย อียิปต์ได้กลายมาเป็นเขตปกครองหนึ่งของจักรวรรดิเปอร์เซียอะคีเมนิดร่วมกับไซปรัสและฟีนิเซีย ช่วงแรกของการปกครองของเปอร์เซียเหนืออียิปต์ภายใต้ราชวงศ์ที่ยี่สิบเจ็ด สิ้นสุดลงใน 402 ปีก่อนคริสตกาล เมื่ออียิปต์ได้รับเอกราชภายใต้ราชวงศ์ชนพื้นเมืองเชื่อสายอียิปต์ โดยราชวงศ์ที่สามสิบกลายมาเป็นราชวงศ์ชนพื้นเมืองสุดท้ายของอียิปต์โบราณ มีฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 2 เป็นฟาโรห์ชนพื้นเมืองพระองค์สุดท้าย
การกลับมาอยู่ภายการปกครองของเปอร์เซียอีกครั้งเกิดขึ้นในช่วงราชวงศ์ที่สามสิบเอ็ดใน 343 ปีก่อนคริสตกาล แต่ไม่นานหลังจากนั้นใน 332 ปีก่อนคริสตกาล Mazaces ผู้ปกครองชาวเปอร์เซียได้มอบอียิปต์ให้แก่อเล็กซานเดอร์มหาราชโดยไม่มีการต่อสู้[52]
ใน 332 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตอียิปต์โดยมีการต่อต้านจากชาวเปอร์เซียเพียงเล็กน้อย พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับจากชาวอียิปต์ในฐานะผู้ปลดปล่อย อาณาจักรมาซิโดเนียทอเลมีสืบทอดประเทศต่อมาโดยใช้ระบอบการปกครองเดิมของอียิปต์เป็นต้นแบบและตั้งนครหลวงใหม่ที่เมืองอะเล็กซานเดรีย นครนี้แสดงอำนาจและเกียรติภูมิของการปกครองแบบเฮลเลนิสต์ เป็นแหล่งการเรียนรู้และวัฒนธรรมโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ห้องสมุดแห่งอะเล็กซานเดรีย[53] ประภาคารแห่งอเล็กซานเดรียเป็นจุดเริ่มต้นให้เรือหลายลำที่ยังคงมีการค้าขายให้ล่องผ่านเมือง โดยเฉพาะการค้าขายและผลิตต้นกระดาษปาปิรัส[54]
วัฒนธรรมเฮลเลนิสต์ไม่ได้แทนที่วัฒนธรรมอียิปต์พื้นเมืองทั้งหมดเนื่องจากผู้ปกครองสนับสนุนเพื่อรักษาความภักดีในหมู่ประชาชน เห็นได้จากการสร้างวิหารในแบบของอียิปต์ การสนับสนุนความเชื่อดั้งเดิมและการวาดภาพตัวเองเป็นฟาโรห์ จนเกิดการผสมผสานกันซึ่งวัฒนธรรมและความเชื่อ ถึงกระนั้น ราชวงศ์ทอเลมีก็ถูกท้าทายจากการกบฏของชนพื้นเมือง การแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ราชวงศ์ และกลุ่มผู้มีอำนาจในอเล็กซานเดรียที่ก่อตัวขึ้นหลังจากการสวรรคตของทอเลมีที่ 4[55] นอกจากนี้ เมื่อชาวโรมันต้องพึ่งพาการนำเข้าธัญพืชจากอียิปต์มากขึ้น ชาวโรมันจึงให้ความสนใจอย่างมากในสถานการณ์ทางการเมืองของอียิปต์ ความไม่สงบทั้งในประเทศและภัยจากนอกประเทศทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ส่งผลให้โรมส่งกองกำลังเข้ายึดครองในฐานะหนึ่งจังหวัดของจักรวรรดิโรมัน[56]
อียิปต์กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันในปีที่ 30 ก่อนคริสตกาล หลังจากความพ่ายแพ้ในยุทธนาวีที่อักติอูงของมาร์กุส อันโตนิอุสและพระนางคลีโอพัตราโดยอ็อกตาวิอุส (ต่อมาคือจักรพรรดิเอากุสตุส) ชาวโรมันพึ่งพาการขนส่งธัญพืชจากอียิปต์ และกองทัพโรมันภายใต้การบัญชาของผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งโดยจักรพรรดิต้องปราบกบฎ เก็บภาษีอย่างเคร่งครัดและป้องกันการโจมตีโดยกลุ่มโจรซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงเวลานั้น[57] นครอะเล็กซานเดรียกลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญมากในเส้นทางการค้ากับชาวตะวันออก เนื่องจากสินค้าฟุ่มเฟือยแปลกใหม่เป็นที่ต้องการอย่างมากในกรุงโรม[58]
แม้ว่าชาวอียิปต์จะมีทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรต่อชาวโรมันมากกว่าชาวกรีก แต่ประเพณีบางอย่าง เช่น การทำมัมมี่และการบูชาเทพเจ้าดั้งเดิมยังคงดำเนินต่อไป[59] ศิลปะการวาดภาพมัมมี่เฟื่องฟูจนจักรพรรดิโรมันบางพระองค์ทรงโปรดให้วาดภาพพระองค์เองเป็นฟาโรห์ แม้ว่าจะไม่เท่าที่กระทำกันในยุคทอเลมีก็ตาม ผู้ปกครองหลักอาศัยอยู่นอกอียิปต์และไม่มีการประกอบพิธีตามแบบของกษัตริย์อียิปต์โบราณ การปกครองท้องถิ่นจึงกลายเป็นแบบโรมัน[59]
ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง คริสต์ศาสนาได้หยั่งรากลึกในอียิปต์และมองว่าเป็นอีกลัทธิหนึ่งที่สามารถยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม คริสต์ศาสนาเองก็ต้องช่วงชิงความเลื่อมใสของผองชนที่นับถือศาสนาอียิปต์ดั้งเดิมและศาสนากรีก-โรมันที่เป็นความเชื่อที่นิยมมาแต่เดิม สิ่งนี้นำไปสู่การกดขี่ข่มเหงของผู้เปลี่ยนศาสนา นำมาซึ่งการกวาดล้างครั้งใหญ่โดยจักรพรรดิดิออเกลติอานุสเริ่มต้นใน ค.ศ. 303 แต่ในท้ายที่สุดศาสนาคริสต์ได้รับชัยชนะ[60] โดยใน ค.ศ. 391 จักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1 ในฐานะคริสตชนได้ออกกฎหมายที่ห้ามพิธีกรรมนอกรีตและปิดวัด[61] อะเล็กซานเดรียกลายเป็นสถานที่เกิดเหตุจลาจลต่อต้านคนนอกศาสนาครั้งใหญ่โดยมีการทำลายภาพทางศาสนาของภาครัฐและเอกชน[62] ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมทางศาสนาของชาวอียิปต์ดั้งเดิมจึงตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ชาวพื้นเมืองยังคงพูดภาษาของพวกเขา ความสามารถในการอ่านเขียนอักษรอียิปต์โบราณได้หายไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากบทบาทของนักบวชในวิหารของอียิปต์ลดลง ในบางกรณี วัดเองก็ถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์คริสต์หรือถูกทอดทิ้งให้หักพักอยู่กลางทะเลทราย[63]
ในคริสต์ศตวรรษที่สี่ เมื่อโรมันแตกแยกออกเป็นโรมันตะวันตกและตะวันออก อียิปต์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ภายหลังอียิปต์ตกเป็นของซาซาเนียนเปอร์เซียในการพิชิตอียิปต์ของซาซาเนียน (ค.ศ. 618–628) กลับมาเป็นของโรมันอีกครั้งในรัชกาลจักรพรรดิเฮราคลิอัส (ค.ศ. 629–639) จนท้ายที่สุดถูกพิชิตโดยกองทัพมุสลิมรอชิดีน ใน ค.ศ. 639–641 เป็นการยุติการปกครองของโรมันอย่างสมบูรณ์
ระบบการปกครองของอียิปต์โบราณเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยฟาโรห์ และอย่างน้อยในทางทฤษฎี ทรงสามารถควบคุมที่ดินและทรัพยากรได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังทรงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งต้องอาศัยระบบราชการและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ในการปกครอง รองลงมาคือตำแหน่ง "วิเซียร์ (Vizier)" ผู้ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของฟาโรห์ มีหน้าที่ในการประสานงาน การสำรวจที่ดิน การคลัง โครงการก่อสร้าง ระบบกฎหมายและจดหมายเหตุ[64] ในระดับภูมิภาค ประเทศถูกแบ่งออกเป็นเขตการปกครอง 42 แห่ง เรียกว่า "Nome" ปกครองโดย "Nomarch" มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ภายใต้การปกครองของวิเซียร์
วัดและวิหารเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่สักการะเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมและจัดเก็บความมั่งคั่งของอาณาจักรในระบบของยุ้งฉางและคลัง ซึ่งบริหารโดยผู้ดูแลผู้มีหน้าที่แจกจ่ายธัญพืชและสินค้า[65]
เศรษฐกิจโดยภาพรวมมักได้รับการจัดระเบียบจากส่วนกลางและควบคุมอย่างเข้มงวด แม้ว่าชาวอียิปต์โบราณจะไม่ใช้เหรียญกษาปณ์จนถึงยุคปลาย[66] แต่พวกเขาใช้ระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของประเภทหนึ่ง[67] กับกระสอบธัญพืชมาตรฐาน และหน่วยของน้ำหนักที่เรียกว่า ดีเบน (Deben) (1 ดีเบน มีน้ำหนักราว 91 กรัม ใช้วิธีชั่งน้ำหนักทองแดงหรือเงิน ในช่วงหลังราชวงศ์ที่ 12) เป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยน (common denominator)[68][69] คนงานได้รับค่าจ้างเป็นธัญพืช คนงานทั่วไปอาจได้รับเมล็ดธัญพืช 5 1⁄2 กระสอบ (200 กก. หรือ 400 ปอนด์) ต่อเดือน ในขณะที่หัวหน้าคนงานอาจหารายได้ 7 1⁄2 กระสอบ (250 กก. หรือ 550 ปอนด์) สินค้าถูกกำหนดให้มีราคาเท่ากันทั่วประเทศและบันทึกไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย เช่น ราคาของเสื้อคือห้าทองแดงดีเบน ในขณะที่วัวมีราคา 140 ดีเบน[68] ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล เงินเหรียญถูกนำเข้ามาสู่อียิปต์จากต่างประเทศ แม้ในตอนแรกเหรียญถูกใช้ในฐานะเป็นโลหะมีค่ามาตรฐานมากกว่าเป็นเงินเหรียญเพื่อการใช้จ่ายจริง[70]
สังคมอียิปต์มีการแบ่งชนชั้นและสถานะทางสังคมอย่างชัดเจน ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหรือชาวนา แต่ผลิตผลทางการเกษตรเป็นของรัฐ วัด หรือตระกูลขุนนางที่เป็นเจ้าของที่ดิน[71] เกษตรกรยังต้องเสียภาษีแรงงานและต้องทำงานในโครงการชลประทานหรือก่อสร้างจากการเกณฑ์แรงงาน[72] ศิลปินและช่างฝีมือมีสถานะสูงกว่าเกษตรกร แต่พวกเขายังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ทำงานในวัดและร้านค้าที่ติดกับวัด และมีรายได้โดยตรงจากคลังของรัฐ อาลักษณ์และเจ้าหน้าที่จัดเป็นชนชั้นสูงในอียิปต์โบราณ หรือที่รู้จักในชื่อ "ชนชั้นคิลต์ขาว" (white kilt class) จากการที่สวมใส่เสื้อผ้าลินินฟอกขาวซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายยศของพวกเขา[73] ชนชั้นสูงแสดงสถานะทางสังคมของตนอย่างเด่นชัดในด้านศิลปะและวรรณคดี ถัดจากชนชั้นขุนนางมีนักบวช แพทย์ และวิศวกร ซึ่งเป็นผู้ที่มีการฝึกอบรมเฉพาะทาง แต่ส่วนที่เกี่ยวกับการเป็นทาสในสถานะตามที่เข้าใจในทุกวันนี้นั้น ไม่ชัดเจนว่ามีอยู่ในอียิปต์โบราณหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นและการตีความของผู้ศึกษา[74]
ชาวอียิปต์โบราณมองว่าชายและหญิงรวมถึงผู้คนจากทุกชนชั้นทางสังคมโดยพื้นฐานแล้วเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย แม้แต่ชาวนาที่ต่ำต้อยที่สุดก็มีสิทธิร้องทุกข์ต่อวิเซียร์และศาลเพื่อขอความยุติธรรม[75] แม้ว่าทาสส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นผู้รับใช้ในลักษณะผูกมัดกับเจ้านาย พวกเขาสามารถซื้อและขายความเป็นทาส ทำงานเพื่ออิสรภาพหรือพัฒนาเป็นชนชั้นสูงได้ และมักจะได้รับการรักษาโดยแพทย์ในที่ทำงาน[76]
ทั้งชายและหญิงมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของและขายทรัพย์สิน ทำสัญญา แต่งงานและหย่าร้าง รับมรดก และดำเนินคดีในศาล คู่สมรสสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกันและปกป้องตนเองจากการหย่าร้างโดยตกลงทำสัญญาแต่งงาน ซึ่งกำหนดภาระหน้าที่ทางการเงินของสามีที่มีต่อภรรยาและลูกหากการแต่งงานสิ้นสุดลง ดังนั้น เมื่อเทียบกับผู้หญิงในสมัยกรีกโบราณ โรมัน และชาติที่ทันสมัยกว่าทั่วโลก ผู้หญิงอียิปต์โบราณมีตัวเลือกส่วนตัว สิทธิทางกฎหมาย และโอกาสในการประสบความสำเร็จที่หลากหลายมากกว่า อาทิ แฮตเชปซุตและคลีโอพัตราในสถานะฟาโรห์ และสตรีอื่นในฐานะ (Divine Wives of Amun; แปล: ภริยาเทพแห่งอามุน) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสิทธิและเสรีภาพพอสมควร พวกเธอมักไม่ค่อยมีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองมากนัก และไม่น่าจะได้รับการศึกษาเท่าชาย[75]
ฟาโรห์ทรงมีหน้าที่รับผิดชอบในการออกกฎหมาย ให้ความยุติธรรม รักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ชาวอียิปต์โบราณเรียกว่า Ma'at[64] แม้ว่าจะไม่มีประมวลกฎหมายใดจากอียิปต์โบราณที่หลงเหลือให้ค้นคว้าได้ในปัจจุบัน เอกสารการตัดสินของศาลแสดงให้เห็นว่ากฎหมายของอียิปต์มีพื้นฐานจากสามัญสำนึกเกี่ยวกับความถูกต้องและความผิด ที่เน้นการบรรลุข้อตกลงและการแก้ไขข้อขัดแย้ง แทนที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนอย่างเข้มงวด[75]
ในคดีที่ร้ายแรงเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม การทำธุรกรรมทางที่ดินครั้งใหญ่ และการโจรกรรมหลุมฝังศพ ซึ่งวิเซียร์หรือฟาโรห์จะเป็นประธาน มีกล่าวถึงใน Great Kenbet ว่าโจทก์และจำเลยต้องปรากฏตัวที่ศาลและต้องสาบานว่าพวกเขาบอกความจริง ในบางกรณี รัฐรับทั้งบทบาทของอัยการและผู้พิพากษา และอาจทรมานผู้ถูกกล่าวหาด้วยการเฆี่ยนตีเพื่อให้ได้คำสารภาพและระบุชื่อผู้ร่วมสมรู้ร่วมคิด ไม่ว่าข้อกล่าวหาจะเล็กน้อยหรือร้ายแรง อาลักษณ์ประจำศาลจะบันทึกคำร้อง คำให้การ และคำตัดสินของคดีเพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต[77]
สำหรับอาชญากรรมเล็กน้อย การลงโทษทำด้วยการปรับ ทุบตี ทำร้ายใบหน้า หรือการเนรเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิด ในขณะที่อาชญากรรมร้ายแรง เช่น การฆาตกรรมและการโจรกรรมหลุมฝังศพ อาจถูกลงโทษโดยการประหารชีวิต โดยการตัดหัว ทุ่มน้ำให้ตาย หรือการเสียบบนเสา การลงโทษอาจขยายไปถึงครอบครัวของอาชญากรในบางกรณี[64] ในยุคราชอาณาจักรใหม่ เทพพยากรณ์มีบทบาทสำคัญในระบบกฎหมายทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ขั้นตอนคือตั้งคำถามว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" เกี่ยวกับประเด็นนั้น ๆ จากนั้นนักบวชจำนวนหนึ่งในนามของเทพจะพิพากษาโดยเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างเดินหน้าหรือถอยหลัง หรือชี้ไปที่คำตอบข้อใดข้อหนึ่งที่เขียนไว้บนแผ่นกระดาษพาไพรัสหรือเศษกระเบื้องดินเผา[78]
การผสมผสานของลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยมีส่วนในความสำเร็จของอารยธรรมอียิปต์โบราณ ที่สำคัญที่สุดคือดินอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำท่วมประจำปีของแม่น้ำไนล์ ชาวอียิปต์โบราณจึงสามารถผลิตอาหารได้มากมาย ทำให้ประชากรมีเวลาและทรัพยากรมากขึ้นในการแสวงหาวัฒนธรรม เทคโนโลยี และศิลปะ[79]
การทำฟาร์มในอียิปต์ขึ้นอยู่กับวัฏจักรของแม่น้ำไนล์ ชาวอียิปต์รู้จักสามฤดูกาล: Akhet (ฤดูน้ำท่วม), Peret (ฤดูเพาะปลูก) และ Shemu (ฤดูเก็บเกี่ยว) ฤดูน้ำท่วมกินเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน น้ำจะนำมาซึ่งชั้นของตะกอนที่อุดมด้วยแร่ธาตุมาทับถมริมฝั่งแม่น้ำให้เหมาะแก่การปลูกพืชผล ฤดูเพาะปลูกเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ภายหลังน้ำลด เพราะอียิปต์ได้รับปริมาณน้ำฝนเพียงเล็กน้อย เกษตรกรจึงต้องพึ่งพาแม่น้ำไนล์ คูน้ำและคลองขุด[80] ฤดูเก็บเกี่ยวคือช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ชาวนาใช้เคียวในการเก็บเกี่ยวพืชผล จากนั้นใช้ไม้ตีเพื่อแยกฟางออกจากเมล็ดธัญพืช เอาแกลบออกจากเมล็ด บดธัญพืชเป็นแป้ง ต้มเทำเบียร์หรือเก็บไว้ใช้ในภายหลัง[81]
ชาวอียิปต์โบราณปลูกเอ็มเมอร์และข้าวบาร์เลย์ และธัญพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ทำเป็นอาหารหลักสองชนิดอย่างขนมปังและเบียร์[82] ต้นแฟลกซ์ซึ่งถูกถอนรากถอนโคนก่อนจะเริ่มออกดอกถูกปลูกเพื่อเป็นเส้นใย เส้นใยเหล่านี้แยกตามความยาวแล้วปั่นเป็นด้าย ใช้เพื่อทอผ้าลินินและทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม ต้นกกที่ปลูกริมฝั่งแม่น้ำไนล์ใช้ทำกระดาษ ผักและผลไม้ปลูกในแปลงสวน ใกล้กับที่อยู่อาศัยและบนที่สูง และต้องรดน้ำด้วยมือ ผักในที่นี้ เช่น กระเทียมต้น กระเทียม แตง สควอช พัลส์ ผักกาดหอม และพืชผลอื่น ๆ นอกเหนือจากองุ่นที่ทำเป็นไวน์[83]
ชาวอียิปต์เชื่อว่าความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างคนกับสัตว์เป็นองค์ประกอบสำคัญของระเบียบจักรวาล ดังนั้นมนุษย์ สัตว์ และพืชจึงเชื่อว่าเป็นสมาชิกของทั้งมวล[84] สตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าจึงเป็นแหล่งสำคัญของจิตวิญญาณ ความเป็นเพื่อน และการยังชีพของชาวอียิปต์โบราณ วัวเป็นปศุสัตว์ที่สำคัญที่สุดเพราะผู้ปกครองจะเก็บภาษีปศุสัตว์ในสำมะโนเป็นประจำ และขนาดของฝูงสะท้อนให้เห็นถึงเกียรติและความสำคัญของที่ดินหรือวัดและผู้ที่เป็นเจ้าของ นอกจากวัวแล้ว ชาวอียิปต์โบราณยังเลี้ยงแกะ แพะ และสุกรด้วย สัตว์ปีก เช่น เป็ด ห่าน และนกพิราบ ถูกจับในตาข่ายและเพาะพันธุ์ในฟาร์ม ซึ่งพวกมันจะถูกเลี้ยงด้วยแป้งเพื่อให้อ้วน[85] แม่น้ำไนล์ยังเป็นแหล่งปลาที่อุดมสมบูรณ์ ผึ้งเองก็ถูกเลี้ยงตั้งแต่ยุคราชอาณาจักรเก่าเป็นอย่างน้อยเพื่อน้ำผึ้งและขี้ผึ้ง[86]
ชาวอียิปต์โบราณใช้ลาและวัวเป็นสัตว์พาหนะ และใช้ไถนาและเหยียบเมล็ดพืชลงในดิน การฆ่าวัวขุนเป็นส่วนสำคัญของพิธีบูชา ม้านำเข้าสู่อิยิปต์โดยฮิกซอสในช่วงต่อระยะที่สอง อูฐแม้จะปรากฏหลักฐานตั้งแต่ยุคราชอาณาจักรใหม่ แต่ก็ไม่ได้ถูกใช้เป็นสัตว์พาหนะจนถึงยุคปลาย นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีการใช้ช้างในช่วงสั้น ๆ ในช่วงปลายยุค แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากขาดทุ่งเลี้ยงสัตว์[85] แมว สุนัข และลิงเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน ในขณะที่สัตว์เลี้ยงแปลก ๆ นำเข้าจากแอฟริกากลาง เช่น สิงโตจากภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราสงวนไว้สำหรับราชวงศ์[87] เฮโรโดตุสตั้งข้อสังเกตว่าชาวอียิปต์เป็นเพียงชนชาติเดียวในขณะนั้นที่เลี้ยงสัตว์ของพวกเขาไว้ในบ้าน[84] ในช่วงปลายยุคนั้น การบูชาเทพเจ้าด้วยสัตว์ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น แมวสำหรับเทพีบาสเต็ท และนกช้อนหอยศักดิ์สิทธิ์และลิงบาบูนสำหรับเทพธอธ ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะถูกเลี้ยงไว้เป็นจำนวนมากเพื่อจุดประสงค์ในการบูชายัญในพิธีกรรม[88]
แผ่นดินอียิปต์อุดมไปด้วยหินที่ไว้สำหรับการก่อสร้างและประดับ ทองแดงและแร่ตะกั่ว ทอง และหินสังเคราะห์ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ส่งเสริมให้ชาวอียิปต์โบราณสร้างอนุสาวรีย์ ปั้นรูปปั้น ทำเครื่องมือ และเครื่องประดับ
ท้องที่ Wadi Natrun เป็นแหล่งผลิตเกลือเพื่อใช้ในการดองศพ (Embalming) สำหรับทำมัมมี่ และยิปซั่มที่จำเป็นในการทำปูนปลาสเตอร์[89] การก่อตัวของหินที่มีแร่ดังกล่าวพบได้ในวาดีที่ห่างไกลและไม่เอื้ออำนวยในทะเลทรายตะวันออกและซีนาย เพื่อให้ได้ทรัพยากรธรรมชาติที่ค้นพบเหล่านี้จำเป็นต้องมีการสำรวจขนาดใหญ่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐ มีเหมืองทองคำมากมายในนูเบีย และแผนที่แรกที่รู้จักคือเหมืองทองคำในภูมิภาคนี้ ส่วนพื้นที่ Wadi Hammamat เป็นแหล่งขุดหินแกรนิต Greywacke และทองคำ
หินเหล็กไฟ (Flint) เป็นแร่ชนิดแรกที่นำมาใช้ทำเครื่องมือ และขวานหินเหล็กไฟเป็นหลักฐานชิ้นแรก ๆ ของการตั้งถิ่นที่อยู่ในหุบเขาไนล์ ก้อนแร่ถูกสะเก็ดอย่างระมัดระวังเพื่อให้ใบมีดและหัวลูกศรมีความแข็งและความทนทาน[90] ชาวอียิปต์โบราณเป็นชนกลุ่มแรก ๆ ที่ใช้แร่ธาตุเช่นกำมะถันเป็นlส่วนประกอบเครื่องสำอาง[91]
ชาวอียิปต์สกัดแร่ตะกั่วกาลีนาที่ Gebel Rosas เพื่อทำตาข่ายดักจับ ลูกดิ่ง และตุ๊กตาขนาดเล็ก ทองแดงเป็นโลหะที่สำคัญที่สุดสำหรับการผลิตเครื่องมือในอียิปต์โบราณ และหลอมในเตาหลอมจากแร่มาลาไคต์ที่ขุดในซีนาย[92] คนงานหาทองโดยการร่อนตะกอนแม่น้ำ หรือโดยกระบวนการบดและล้างแร่ควอทซ์ที่มีทองคำซึ่งใช้แรงงานคนมากขึ้น แหล่งแร่เหล็กที่พบในอียิปต์ตอนบนถูกนำมาใช้ในช่วงปลายยุค[93] หินก่อสร้างคุณภาพสูงมีอยู่มากมายในอียิปต์ ชาวอียิปต์โบราณขุดเหมืองหินปูนตลอดหุบเขาไนล์ หินแกรนิตจากอัสวาน และหินบะซอลต์และหินทรายจากหุบเขาแห่งทะเลทรายตะวันออก ในสมัยทอเลมีและโรมัน คนงานเหมืองสามารถขุดมรกตได้ใน Wadi Sikait และเขี้ยวหนุมานในวาดี เอล-ฮูดี[94]
ชาวอียิปต์โบราณทำการค้าขายกับเพื่อนบ้านต่างชาติเพื่อซื้อของหายากที่หาไม่ได้ในอียิปต์ ในยุคก่อนราชวงศ์ พวกเขาค้าขายกับนูเบียเพื่อทองคำและธูป พวกเขายังค้าขายกับปาเลสไตน์ เห็นได้จากเหยือกน้ำมันแบบปาเลสไตน์ที่พบในหลุมฝังพระศพของฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่หนึ่ง[95] อาณานิคมของอียิปต์บริเวณตอนใต้ของคานาอันมีอายุก่อนราชวงศ์ที่หนึ่งเล็กน้อย ฟาโรห์นาร์เมอร์ทรงให้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาอียิปต์ที่ผลิตในคานาอันและส่งกลับมายังอียิปต์[96][97]
ไม่เกินยุคราชวงศ์ที่สอง การค้าอียิปต์กับบิบลอสทำให้ได้มาซึ่งไม้คุณภาพที่ไม่สามารถพบในอียิปต์ ในสมัยราชวงศ์ที่ห้า การค้ากับดินแดนพันท์ได้มาซึ่งทองคำ เรซินอะโรมาติก ไม้มะเกลือ งาช้าง และสัตว์ป่า เช่น ลิงและลิงบาบูน[98] อียิปต์อาศัยการค้าขายกับอนาโตเลียเพื่อดีบุกและทองแดง ชาวอียิปต์โบราณยกย่องหินลาพิสลาซูลีสีน้ำเงิน ซึ่งต้องนำเข้าจากอัฟกานิสถานที่อยู่ห่างไกลออกไปมาก คู่ค้าในแถบเมดิเตอร์เรเนียนของอียิปต์ยังรวมถึงกรีซและครีต เพื่อจัดหาน้ำมันมะกอกและสินค้าอื่น ๆ[99]
r n kmt 'ภาษาอียิปต์' ในไฮเออโรกลีฟอียิปต์ | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ภาษาอียิปต์เป็นภาษาในตระกูลภาษาแอโฟรเอชีแอติกตอนเหนือ ใกล้เคียงกับภาษาเบอร์เบอร์และภาษาเซมิติก[100] มีประวัติยาวนานที่สุดเป็นอันดับสอง (รองจากภาษาซูเมอร์) โดยเริ่มมีการเขียนกันตั้งแต่ราว 3200 ปีก่อนคริสตกาลถึงยุคกลาง ไม่นับระยะเวลาที่เป็นภาษาพูดที่นานกว่านั้น ช่วงเวลาของภาษาอียิปต์โบราณ ประกอบด้วย ภาษาอียิปต์โบราณเก่า ภาษาอียิปต์โบราณกลาง (อียิปต์คลาสสิก) ภาษาอียิปต์โบราณตอนปลาย เดโมติก และคอปติก[101] งานเขียนของอียิปต์ไม่ได้แสดงความแตกต่างในเชิงภาษาถิ่นก่อนการพัฒนาเป็นภาษาคอปติก แต่อาจมีการพูดในภาษาถิ่นที่อยู่รอบ ๆ เมมฟิสและธีบส์[102]
อียิปต์โบราณเป็นภาษาคำควบ (synthetic language) แต่ในภายหลังได้กลายเป็นภาษาแยกหน่วยคำ (analytic language), อักษรไฮเออโรกลีฟ (hieroglyphic) ไฮเออราติก (hieratic) และดีโมติก ถูกแทนที่ด้วยชุดตัวอักษรคอปติกที่สะกดตามการออกเสียง คอปติกยังคงใช้ในพิธีสวดของโบสถ์คริสต์คอปติกออร์ทอดอกซ์ และบางส่วนในภาษาอาหรับอียิปต์สมัยใหม่[103]
อักษรอียิปต์โบราณประกอบด้วยตัวอักษรในรูปแบบสัญลักษณ์นับร้อย เริ่มใช้ตั้งแต่ราว 3000 ปีก่อนคริสตกาล สามารถแทนคำ เสียง และ silent determinative และสัญลักษณ์เดียวกันสามารถสื่อได้หลายความหมายตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในบริบทที่แตกต่างกัน อักษรไฮเออโรกลีฟเป็นอักษรที่เป็นทางการ มีให้เห็นได้ตามอนุสาวรีย์หินและในสุสานเสมือนผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ในการเขียนแบบวันต่อวัน อาลักษณ์ใช้รูปแบบการเขียนที่เขียนได้เร็วและง่ายกว่าที่เรียกว่า อักษรไฮเออราติก ในขณะที่อักษรไฮเออโรกลีฟสามารถอ่านได้ในทั้งแนวตั้งและนอน (แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะเขียนจากขวาไปซ้าย) อักษรไฮเออราติกมักจะเขียนจากขวาไปซ้ายและอยู่ในแถวแนวนอน รูปแบบการเขียนใหม่ "อักษรดีโมติก" กลายเป็นรูปแบบการเขียนที่แพร่หลายต่อมา โดยเขียนร่วมกับอักษรไฮเออโรกลีฟอย่างเป็นทางการ เช่นที่จารึกบนศิลาโรเซตตาร่วมกับอักษรกรีก[104]
ราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช เริ่มมีการนำอักษรคอปติกมาใช้ควบคู่ไปกับอักษรเดโมติก โดยเป็นอักษรกรีกที่ถูกดัดแปลงพร้อมเพิ่มเติมเครื่องหมายแบบดีโมติก[105] แม้ว่าอักษไฮเออโรกลีฟจะใช้ในพิธีการจนถึงคริสต์ศตวรรษที่สี่ แต่ในช่วงท้ายนี้มีนักบวชเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังคงอ่านได้ เนื่องจากศาสนสถานแบบดั้งเดิมถูกยุบ ความรู้เกี่ยวกับการเขียนอักษรอียิปต์โบราณจึงสูญหายไป
ความพยายามที่จะแกะความหมายของตัวอักษรมีมาตั้งแต่สมัยไบแซนไทน์[106] และยุคอิสลามในอียิปต์[107] แต่ต้องรอจนถึงในช่วงปี 1820 ถึงจะไขปริศนาได้ เมื่อมีการค้นพบศิลาโรเซตตาและการค้นคว้าหลายปีโดยโทมัส ยัง และฌ็อง-ฟร็องซัว ช็องปอลียง [108]
ชาวอียิปต์โบราณส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ผูกติดอยู่กับที่ดิน ที่อยู่อาศัยของพวกเขาถูกจำกัดให้อยู่แต่เฉพาะสมาชิกในครอบครัว และสร้างด้วยอิฐโคลนซึ่งออกแบบให้ยังคงความเย็นท่ามกลางความร้อนระหว่างวัน บ้านแต่ละหลังมีห้องครัวพร้อมหลังคาเปิดซึ่งมีหินบดสำหรับบดเมล็ดพืชและเตาอบขนาดเล็กสำหรับอบขนมปัง[109] เครื่องดินเผาทำหน้าที่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนสำหรับการจัดเก็บ การเตรียมการ การขนส่งและการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบ ผนังทาสีขาวและสามารถคลุมด้วยผ้าแขวนผนังด้วยผ้าลินินย้อมสีได้ พื้นปูด้วยเสื่อกก ขณะที่เก้าอี้ไม้ เตียงที่ยกขึ้นจากพื้น และโต๊ะเดี่ยวเป็นเฟอร์นิเจอร์ประจำบ้าน[110]
ชาวอียิปต์โบราณให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและรูปลักษณ์ ส่วนใหญ่อาบน้ำในแม่น้ำไนล์และใช้สบู่เหลวที่ทำจากไขมันสัตว์และชอล์ก ผู้ชายโกนทั้งตัวเพื่อความสะอาด น้ำหอมและขี้ผึ้งหอมกลบกลิ่นไม่พึงประสงค์และผิวที่ปลอบประโลม[111] เสื้อผ้าทำจากผ้าลินินธรรมดา ๆ ฟอกขาว ทั้งชายและหญิงในชนชั้นสูงสวมวิกผม เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง เด็กไม่สวมเสื้อผ้าจนโต คือ อายุได้ประมาณ 12 ปี และในวัยนี้ผู้ชายก็กระทำการขริบและโกนศีรษะ มารดามีหน้าที่ดูแลบุตร ส่วนบิดาเป็นผู้หารายได้ให้ครอบครัว[112]
ดนตรีและการเต้นรำเป็นความบันเทิงยอดนิยมสำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์พอ เครื่องดนตรียุคแรก คือ ขลุ่ยและพิณ ในขณะที่เครื่องดนตรีที่คล้ายกับทรัมเป็ต โอโบ และไปป์ได้รับการพัฒนาขึ้นในภายหลังและกลายเป็นที่นิยมในยุคราชอาณาจักรใหม่ ชาวอียิปต์เล่นระฆัง ฉิ่ง กลอง กลอง และนำเข้าลูตและพิณจากเอเชีย[113] เครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงโดยการสั่น ซิสต์ทรัม (sistrum) เป็นเครื่องดนตรีซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในพิธีทางศาสนา
อาหารอียิปต์โบราณไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา อาหารของอียิปต์สมัยใหม่เองคงมีความคล้ายคลึงกันอย่างโดดเด่นกับอาหารในยุคโบราณ อาหารหลัก ประกอบด้วยขนมปังและเบียร์ เสริมด้วยผัก เช่น หัวหอมและกระเทียม และผลไม้ เช่น อินทผาลัมและมะเดื่อ ทุกคนมีความสุขกับไวน์และเนื้อในวันฉลอง ในขณะที่ชนชั้นสูงนิยม ปลา เนื้อ และไก่ ซึ่งสามารถใส่เกลือหรือตากแห้ง และปรุงเป็นสตูว์หรือย่างบนตะแกรง[114]
สถาปัตยกรรมของอียิปต์โบราณประกอบด้วยสิงก่อสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกหลายแห่ง อาทิ มหาพีระมิดแห่งกิซาและวิหารที่ธีบส์ ซึ่งได้รับการจัดระเบียบและให้ทุนสนับสนุนโดยรัฐเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนา เป็นที่ระลึก และเแสดงถึงอำนาจของฟาโรห์ ชาวอียิปต์โบราณเป็นช่างก่อสร้างที่มีฝีมือ สถาปนิกสามารถสร้างอาคารหินขนาดใหญ่ที่แม่นยำโดยใช้เพียงแค่เครื่องมือที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ[115]
ที่อยู่อาศัยของชาวอียิปต์ทั้งชนชั้นสูงและประชาชนทั่วไปสร้างจากวัสดุที่ผุพังง่าย เช่น อิฐโคลนและไม้ ชาวนาอาศัยอยู่ในบ้านที่เรียบง่าย ในขณะที่วังของชนชั้นสูงและฟาโรห์มีโครงสร้างที่วิจิตรบรรจง วังในยุคราชอาณาจักรใหม่ที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง เช่น วังในมัลกาตาและอามาร์นา มีการประดับผนังและพื้นอย่างวิจิตรด้วยภาพของผู้คน นก แอ่งน้ำ เทพ และการออกแบบทางเรขาคณิต[116] ในทางกลับกัน อาคารอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น วัดและสุสานที่ตั้งใจจะให้อยู่อย่างถาวรนั้นสร้างด้วยหินแทนที่จะเป็นอิฐโคลน เห็นได้จากตัวอย่างสุสานของฟาโรห์โจเซอร์ ที่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ใช้ในอาคารหินขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก ประกอบด้วยเสาและทับหลังในลายปาปิรัสและดอกบัว
วัดอียิปต์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการอนุรักษ์ เช่น วัดที่กิซา ประกอบด้วยห้องโถงเดี่ยวแบบปิด มีหลังคาที่รองรับด้วยเสา ต่อมาในยุคราชอาณาจักรใหม่ ได้มีการเพิ่มเสา ลานกลางแจ้ง และโถงซึ่งมีเสาเรียงรายรับหลังคา (ไฮโปสไตล์) แบบปิดที่ด้านหน้าของวิหาร และได้มีการสร้างในรูปแบบดังกล่าวเป็นมาตรฐานจนถึงสมัยกรีก-โรมัน[117] สถาปัตยกรรมหลุมฝังศพที่เก่าแก่และได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคราชอาณาจักรเก่าคือ แมสตาบา ซึ่งเป็นโครงสร้างสี่เหลี่ยมหลังคาเรียบ สร้างด้วยอิฐโคลนหรือหินเหนือห้องฝังศพใต้ดิน ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ พีระมิดขั้นบันไดของโจเซอร์ที่เป็นชุดของแมสตาบาหินเรียงซ้อนกัน บรรดาพีระมิดอียิปต์นั้นนิยมสร้างขึ้นในสมัยราชอาณาจักรเก่าและยุคกลาง แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่หลังจากยุคดังกล่าวได้ละทิ้งการสร้างพีระมิด โดยปรับเปลี่ยนมาเป็นสุสานที่สลักเข้าไปในชั้นหินที่มองเห็นได้ชัดเจนได้ยากกว่า[118] แม้กระนั้น การสร้างพีระมิดยังคงดำเนินต่อไปในหลุมฝังศพส่วนตัวในยุคราชอาณาจักรใหม่และในพีระมิดแห่งราชวงศ์นูเบีย[119]
ชาวอียิปต์โบราณผลิตงานศิลปะเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เป็นเวลากว่า 3,500 ปีที่ศิลปินยึดมั่นในรูปแบบศิลปะและการยึดถือที่พัฒนาขึ้นในสมัยราชอาณาจักรเก่า โดยยึดหลักการที่เข้มงวดซึ่งต่อต้านอิทธิพลจากต่างชาติและการเปลี่ยนแปลงภายใน[120] มาตรฐานทางศิลปะเหล่านี้ ที่ใช้เส้น รูปร่าง และพื้นที่สีเรียบ ๆ รวมกับการฉายภาพแบน ที่เป็นลักษณะเฉพาะโดยไม่มีการระบุความลึกเชิงพื้นที่ สร้างความรู้สึกเป็นระเบียบและสมดุลภายในองค์ประกอบ รูปภาพและข้อความถักทออย่างแนบเนียนบนหลุมฝังศพและกำแพงวัด โลงศพ ศิลา ไปจนถึงรูปปั้น ตัวอย่างเช่น จานสีนาร์เมอร์ (Narmer Palette) แสดงภาพที่สามารถอ่านเป็นอักษรอียิปต์โบราณได้เช่นกัน[121] เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดซึ่งควบคุมรูปลักษณะเฉพาะและเชิงสัญลักษณ์ ศิลปะอียิปต์โบราณจึงสามารถแสดงจุดประสงค์ทางการเมืองและศาสนาอย่างแม่นยำและชัดเจน[122]
ช่างฝีมืออียิปต์โบราณใช้หินเป็นสื่อหลักในการแกะสลักรูปปั้นและภาพนูนต่ำนูนสูง และใช้ไม้ทดแทนการแกะสลักอย่างง่ายหรือราคาถูก สีได้มาจากแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แร่เหล็ก (สีเหลืองสดและสีแดง) แร่ทองแดง (สีน้ำเงินและสีเขียว) เขม่าหรือถ่าน (สีดำ) และหินปูน (สีขาว) เนื้อสีสามารถผสมกับกัมอารบิกเป็นสารยึดเกาะและกดเป็นก้อน ซึ่งสามารถจุ่มน้ำได้เมื่อจะนำมาใช้[123]
ฟาโรห์ใช้ภาพนูนต่ำนูนสูงเพื่อบันทึกชัยชนะในการต่อสู้ การตรากฎหมาย และวาดภาพทางศาสนา ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงงานศิลปะเกี่ยวกับความตาย เช่น รูปปั้น Shabti และคัมภีร์มรณะ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะปกป้องพวกเขาในชีวิตหลังความตาย[124] ในยุคราชอาณาจักรกลาง โมเดลไม้หรือดินเหนียวที่แสดงฉากจากชีวิตประจำวันกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในหลุมฝังศพ ในความพยายามที่จะเลียนแบบกิจกรรมของชีวิตหลังความตาย แบบจำลองเหล่านี้แสดงคนงาน บ้าน เรือ และแม้แต่ทหาร ที่เป็นตัวแทนของชีวิตหลังความตายในอุดมคติของอียิปต์โบราณ[125]
แม้ลักษณะศิลปะอียิปต์โบราณจะมีความสม่ำเสมอตลอดการดำรงอยู่ในอารยธรรม แต่รูปแบบศิลปะในบางช่วงเวลาและสถานที่ก็สะท้อนถึงทัศนคติทางวัฒนธรรมหรือการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จิตรกรรมฝาผนังในรูปแบบของอารยธรรมไมนอสที่เมืองอวาริสภายหลังการรุกรานของชาวฮิกซอสในยุคช่วงต่อระยะที่สองของอียิปต์[126] และที่โดดเด่นที่สุดอย่างศิลปะอามาร์นา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบศิลปะอย่างสิ้นเชิงที่ขับเคลื่อนด้วยการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเกี่ยวกับดารปฏิวัติทางศาสนาของฟาโรห์แอเคนาเทน แต่ก็ถูกละทิ้งอย่างรวดเร็วภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ และถูกแทนที่ด้วยศิลปะในรูปแบบดั้งเดิม[127]
ความเชื่อในพระเจ้าและชีวิตหลังความตายฝังแน่นในอารยธรรมอียิปต์โบราณตั้งแต่เริ่มแรก การปกครองแบบฟาโรห์ขึ้นอยู่กับสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ เทพเจ้าอียิปต์โบราณเต็มไปด้วยผู้ที่มีพลังเหนือธรรมชาติ แต่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้มีเมตตาเสมอไป และชาวอียิปต์เชื่อว่าพวกเขาต้องบูชาเทพเจ้าด้วยเครื่องเซ่นไหว้และคำอธิษฐาน เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือหรือปกป้อง ลำดับเทพเจ้าเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเมื่อมีเทพองค์ใหม่ แต่นักบวชไม่ได้พยายามที่จะจัดระเบียบตำนานและเรื่องราวที่หลากหลายนี้ให้เป็นระบบที่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ดี แนวความคิดเกี่ยวกับเทพเจ้าเหล่านี้ไม่ถือว่าขัดแย้งกัน แต่จัดเป็นแง่มุม ๆ หนึ่งของความเป็นจริง[128]
มีการบูชาเทพเจ้าในวัดหรือวิหารโดยนักบวชที่ทำหน้าที่แทนกษัตริย์ โดยที่ศูนย์กลางของวิหารปรากฏรูปเคารพของเทพเจ้า โดยทั่วไปศาสนสถานจะถูกปิดผนึกจากโลกภายนอกและมีเพียงเจ้าหน้าที่ของสถานที่นั้น ๆ เท่านั้นที่เข้าถึงได้ โดยไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปบูชา แต่จะนำรูปสักการะของเทพเจ้าออกมาในที่สาธารณะเพื่อสักการะเฉพาะในวันและงานที่สำคัญเท่านั้น ประชาชนทั่วไปสามารถบูชารูปปั้นส่วนตัวในบ้านของพวกเขา และมีเครื่องรางเพื่อช่วยป้องกันความโกลาหล[129] ภายหลังจากยุคราชอาณาจักรใหม่ บทบาทของฟาโรห์ในฐานะสื่อกลางทางจิตวิญญาณก็ถูกละเลยเมื่อธรรมเนียมทางศาสนาเปลี่ยนไปเป็นการบูชาเทพเจ้าโดยตรง ส่งผลให้นักบวชพัฒนาระบบพยากรณ์หรือการทำนาย เพื่อสื่อสารเจตจำนงของเหล่าทวยเทพโดยตรงต่อผู้คน[130]
ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนประกอบด้วยส่วนหรือลักษณะทางกายภาพและจิตวิญญาณ นอกจากร่างกายแล้ว แต่ละคนมี šwt (เงา), ba (บุคลิกภาพหรือจิตวิญญาณ), ka (พลังชีวิต) และชื่อ [131] หัวใจ (ไม่ใช่สมอง) ถือเป็นแหล่งกำเนิดความคิดและอารมณ์ หลังความตาย วิญญาณจะถูกปลดปล่อยออกจากร่างกาย และสามารถเคลื่อนไหวได้ตามที่มุ่งหวัง แต่ต้องการซากศพ (หรือสิ่งทดแทน เช่น รูปปั้น) เป็นที่พำนัก โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การกลับไปสมทบกันของ ka และ ba เพื่อให้เป็น "ผู้ตายที่ได้รับพร" และอยู่ต่อไปในฐานะ akh หรือ "ผู้มีผล" เพื่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ผู้ตายจะต้องได้รับการตัดสินว่าเหมาะสมหรือคู่ควรในการพิจารณาคดี ซึ่งหัวใจจะถูกชั่งน้ำหนักกับ "ขนนกแห่งความจริง" หากถือว่าคู่ควร ผู้ตายสามารถดำรงอยู่บนโลกต่อไปในรูปแบบจิตวิญญาณ[132] หากไม่คู่ควร หัวใจของพวกเขาจะถูกกลืนกินโดยเทพอัมมิตที่มีรูปลักษณ์เป็นจรเข้ และพวกเขาก็ถูกลบออกไปจากจักรวาล
ชาวอียิปต์โบราณมีประเพณีการฝังศพที่ซับซ้อนซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามีความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้วายชนม์จะเป็นอมตะหลังความตาย ประเพณีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการรักษาศพโดยการทำมัมมี่ จัดพิธีฝังศพ และฝังสิ่งของเพื่อให้ผู้ตายใช้ในชีวิตหลังความตาย[124] ก่อนยุคราชอาณาจักรเก่า ศพที่ฝังอยู่ในหลุมทะเลทรายจะถูกทำให้แห้งตามธรรมชาติ สภาพทะเลทรายที่แห้งแล้งเป็นประโยชน์ตลอดประวัติศาสตร์ของอียิปต์โบราณสำหรับการฝังศพของคนยากจนที่ไม่สามารถเตรียมการฝังศพอย่างประณีตเช่นชนชั้นสูง ชาวอียิปต์ผู้มั่งคั่งเริ่มฝังศพของพวกเขาในสุสานหินและใช้ทำมัมมี่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำอวัยวะภายในออก ห่อศพด้วยผ้าลินิน และฝังไว้ในโลงศพหินสี่เหลี่ยมหรือโลงไม้ โดยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ที่สี่เป็นต้นมาได้มีการนำเครื่องในบางส่วนไปเก็บรักษาไว้ต่างหากในโถ[133]
ในยุคราชอาณาจักรใหม่ ชาวอียิปต์โบราณได้พัฒนาศิลปะการทำมัมมี่ให้สมบูรณ์ วิธีการที่ดีที่สุดใช้เวลา 70 วัน โดยการนำอวัยวะภายในออก นำสมองออกทางรูจมูก และใช้ส่วนผสมของเกลือที่เรียกว่านาตรอนทาทีร่างเพื่อให้ร่างแห้ง ศพถูกห่อด้วยผ้าลินินโดยมีเครื่องรางสอดแทรกระหว่างชั้นและวางไว้ในโลงศพที่ตกแต่งอย่างสวยงาม แต่เมื่อถึงสมัยทอเลมีและโรมัน วิธีในการทำมัมมี่แบบดั้งเดิมได้รับความนิยมน้อยลง ขณะที่การตกแต่งรูปลักษณ์ภายนอกของมัมมี่ได้รับความนิยมแทน[134]
การฝังศพของชาวอียิปต์โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางสังคม จะเป็นการฝังร่างพร้อมกับสิ่งของของผู้ตาย หากเป็นผู้ที่มีฐานะก็มักจะฝังสิ่งของฟุ่มเฟือยจำนวนมาก ตำรางานศพมักถูกฝังไว้ในหลุมศพ และในสมัยราชอาณาจักรใหม่ มีการฝังรูปปั้น Shabti ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นแรงงานเพื่อให้ผู้ตายใช้ในชีวิตหลังความตาย[135] หลังจากพิธีฝังศพ ญาติที่มีชีวิตอยู่จะนำอาหารไปที่หลุมฝังศพเป็นครั้งคราวและสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้าแทนผู้ตาย[136]
กองทัพอียิปต์โบราณมีหน้าที่ปกป้องอียิปต์จากการรุกรานจากต่างชาติ และรักษาอำนาจของตนในภูมิภาคตะวันออกใกล้โบราณ กองทัพได้ปกป้องการสำรวจเหมืองที่ซีนายในช่วงราชอาณาจักรเก่า และสู้รบในสงครามกลางเมืองในช่วงต่อระยะกลางที่หนึ่งและสอง กองทัพยังมีหน้าที่รักษาป้อมปราการตามเส้นทางการค้าที่สำคัญ เช่น เมืองบูเฮนระหว่างทางไปนูเบีย ป้อมปราการยังถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานทัพทหาร เช่น ป้อมปราการที่เมืองไซล์ ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับการเดินทางไปยังลิแวนต์ ในราชอาณาจักรใหม่ บรรดาฟาโรห์ได้ใช้กองทัพเพื่อโจมตีและยึดครองอาณาจักรคุช และบางส่วนของลิแวนต์[137]
ยุทโธปกรณ์ทางทหารทั่วไป ได้แก่ คันธนูและลูกธนู หอก และโล่ทรงกลมที่ทำจากหนังสัตว์ยืดบนโครงไม้ ในอาณาจักรใหม่ กองทัพเริ่มใช้รถม้าศึกที่นำมาใช้โดยชาวฮิกซอสที่บุกรุกมาก่อนหน้านี้ในการสู้รบ อาวุธและชุดเกราะยังคงพัฒนาต่อไปภายหลังการนำสัมฤทธิ์มาใช้ เช่น โล่ทำจากไม้จริงที่มีหัวเข็มขัดสัมฤทธิ์ หอกปลายแหลมด้วยสัมฤทธิ์ และขวาน โคเพช (Khopesh) จากทหารเอเซียติก[138]
ฟาโรห์มักถูกพรรณนาในงานศิลปะและวรรณคดีซึ่งขี่ม้าในฐานะทรงเป็นผู้นำกองทัพ มีข้อสังเหตว่าฟาโรห์อย่างน้อยสองถึงสามพระองค์ เช่น ฟาโรห์เซเคนเอนเร ทาโอ และพระราชโอรส ทรงกระทำเช่นนั้นจริง[139] อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า "กษัตริย์ในยุคนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำสงครามในแนวหน้าเป็นการส่วนตัว ต่อสู้เคียงข้างกับกองทหารของพวกเขา"[140] ทหารได้รับการคัดเลือกจากประชากรทั่วไป แต่ในระหว่างและโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังยุคอาณาจักรใหม่ ทหารรับจ้างจากนูเบีย กูช และลิเบียได้รับการว่าจ้างให้ต่อสู้เพื่ออียิปต์[141]
อารยธรรมอียิปต์โบราณได้พัฒนามาตรฐานการผลิตและความซับซ้อนที่ค่อนข้างสูง อียิปต์เองยังเป็นผู้ที่แสดงถึงประจักษ์นิยม ( mpiricism) แบบดั้งเดิมเป็นครั้งแรก ตามหลักฐานที่ปรากฏใน Edwin Smith Papyrus และ Ebers papyri (ราว 1600 ปีก่อนคริสตกาล) ชาวอียิปต์ยังสร้างตัวอักษรและระบบเลขฐานสิบของตนเอง
แม้กระทั่งก่อนสมัยราชอาณาจักรเก่า ชาวอียิปต์โบราณได้พัฒนาวัสดุที่เป็นแก้วที่เรียกว่า faience ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นหินเทียมกึ่งมีค่าชนิดหนึ่ง Faience คือ เซรามิกที่ไม่ใช่ดินเหนียว ทำมาจากซิลิกา ผสม แคลเซียมออกไซด์และโซเดียมออกไซด์เล็กน้อย และสารแต่งสีซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นทองแดง[142] วัสดุนี้ใช้ทำลูกปัด กระเบื้อง รูปแกะสลักและเครื่องใช้ขนาดเล็ก วิธีการผลิต Faience มีหลาายวิธี แต่โดยทั่วไปแล้ว การผลิตจะเกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุที่เป็นผงในรูปแบบของแป้งเปียกบนแกนดินเหนียวแล้วนำไปเผา ด้วยเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ชาวอียิปต์โบราณได้ผลิตเม็ดสีที่เรียกว่า Egyptian blue หรือที่เรียกว่า blue frit ซึ่งเกิดจากการหลอมซิลิกา (หรือการเผาผนึก) ทองแดง แคลเซียมออกไซด์ และด่าง เช่น นาตรอน และตัวผลิตภัณฑ์สามารถบดและใช้เป็นเม็ดสีได้[143]
ชาวอียิปต์โบราณสามารถประดิษฐ์สิ่งของได้หลากหลายจากแก้วด้วยทักษะที่ยอดเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าพวกเขาพัฒนากระบวนการนี้อย่างเอกเทศหรือไม่[144] ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขาทำแก้วดิบของตัวเองหรือเพียงแค่นำเข้าแท่งโลหะสำเร็จรูปที่หลอมและเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขามีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในการสร้างวัตถุ ตลอดจนเพิ่มองค์ประกอบการติดตามเพื่อควบคุมสีของกระจกสำเร็จรูป สีนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ สีเหลือง สีแดง สีเขียว สีฟ้า สีม่วง และสีขาว และแก้วสามารถทำแบบใสหรือทึบแสงได้[145]
ปัญหาทางการแพทย์ของชาวอียิปต์โบราณเกิดจากสิ่งแวดล้อมโดยตรง การใช้ชีวิตและทำงานใกล้กับแม่น้ำทำให้เกิดอันตรายจากโรคมาลาเรียและปรสิตโรคพยาธิใบไม้ในเลือด (schistosomiasis) ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอและให้ตับและลำไส้เสียหาย สัตว์ป่าที่เป็นอันตราย เช่น จระเข้และฮิปโปก็เป็นภัยคุกคามร่วมกัน การทำงานตลอดชีวิตบนฟาร์มและสิ่งก่อสร้างก่อให้เกิดปัญหาแก่กระดูกสันหลังและข้อต่อ และการบาดเจ็บที่กระทบกระเทือนจิตใจจากการก่อสร้างและการสงครามล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก กรวดและทรายจากแป้งหินบดทำให้ฟันสึกกร่อน ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการเป็นฝี (แม้ว่ากรณีฟันผุจะพบได้ยาก)[146]
อาหารของคนรวยอุดมไปด้วยน้ำตาล ซึ่งส่งเสริมโรคปริทันต์อักเสบ (เหงือกอักเสบ)[147] แม้จะมีรูปร่างที่งดงามบนผนังหลุมฝังศพ แต่มัมมี่ที่มีน้ำหนักเกินของชนชั้นสูงหลายคนก็แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของชีวิตที่ปล่อยตัวมากเกินไป อายุขัยของผู้ใหญ่อยู่ที่ประมาณ 35 สำหรับผู้ชาย และ 30 สำหรับผู้หญิง แต่การเข้าสู่วัยผู้ใหญ่นั้นยากเพราะประมาณหนึ่งในสามของประชากรเสียชีวิตในวัยเด็กFiler (1995), p. 25
แพทย์อียิปต์โบราณมีชื่อเสียงในตะวันออกใกล้สมัยโบราณเพราะทักษะการรักษาของพวกเขา และบางคน เช่น อิมโฮเทป ยังคงมีชื่อเสียงมานานหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิต[148] เฮโรโดตุสตั้งข้อสังเกตว่าแพทย์ชาวอียิปต์มีความเชี่ยวชาญในระดับสูง โดยบางคนรักษาเฉพาะศีรษะหรือกระเพาะอาหาร ขณะที่คนอื่น ๆ เป็นจักษุแพทย์และทันตแพทย์[149] การฝึกอบรมแพทย์เกิดขึ้นที่สถาบัน Per Ankh หรือ "บ้านแห่งชีวิต" โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สังกัด Per-Bastet ในช่วงอาณาจักรใหม่ และที่ Abydos และซาอิสในช่วงปลายยุค ปาปิรุสทางการแพทย์แสดงความรู้เชิงประจักษ์เกี่ยวกับกายวิภาค การบาดเจ็บ และการรักษาในทางปฏิบัติ[150]
บาดแผลได้รับการรักษาโดยการพันผ้าพันแผลด้วยเนื้อดิบ ผ้าลินินสีขาว ไหมเย็บ ตาข่าย ผ้าอนามัย และผ้าพันที่ชุบน้ำผึ้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ[151] ขณะที่ฝิ่น ไทม์ และเบลลาโดนา ถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด บันทึกแรกสุดของการรักษาแผลไฟไหม้กล่าวถึงน้ำสลัดที่ใช้นมจากมารดาของทารกเพศชาย มีการสวดมนต์ต่อเทพีไอซิส ขนมปังขึ้นรา น้ำผึ้ง และเกลือทองแดงยังถูกใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสิ่งสกปรกในแผลไหม้[152] กระเทียมและหัวหอมถูกใช้เป็นประจำเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและคิดว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้ ศัลยแพทย์ชาวอียิปต์โบราณเย็บบาดแผล จัดเรียงกระดูกหัก และตัดแขนขาที่เป็นโรคออก แต่พวกเขาตระหนักดีว่าอาการบาดเจ็บบางอย่างร้ายแรงมากจนทำได้เพียงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายก่อนที่จะเสียชีวิต[153]
ชาวอียิปต์ยุคแรกรู้วิธีประกอบแผ่นไม้เข้ากับตัวเรือและเชี่ยวชาญการต่อเรือรูปแบบขั้นสูงตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาล สถาบันโบราณคดีแห่งอเมริการายงานว่าเรือที่ปูกระดานที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักคือเรืออไบดอส[154] กลุ่มเรือที่ค้นพบ 14 ลำใน Abydos สร้างขึ้นจากแผ่นไม้ "เย็บ" เข้าด้วยกัน มีการใช้สายรัดแบบทอ[155] เส้นเพื่อฟาดแผ่นไม้เข้าด้วยกัน[154] และกกหรือหญ้าที่สอดไว้ระหว่างแผ่นไม้ช่วยในการผนึกตะเข็บ เพราะเรือทั้งหมดถูกฝังไว้ด้วยกันและใกล้กับหลุมฝังศพของฟาโรห์คาเซเคมวี เดิมทีพวกเขาคิดว่าเป็นของเขาทั้งหมด แต่หนึ่งใน 14 ลำกลับมีอายุย้อนไปถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล และโถเครื่องปั้นดินเผาที่เกี่ยวข้องซึ่งฝังไว้กับเรือก็มีอายุใกล้เคียงเช่นกัน เรือลำนี้ที่มีอายุถึง 3000 ปีก่อนคริสตกาล มีความยาว 75 ฟุต (23 เมตร) จึงคาดว่าน่าจะเป็นของฟาโรห์รุ่นก่อน บางทีอาจเป็นเรือลำแรกตั้งแต่ครั้งฟาโรห์ฮอร์-อฮา[155]
ชาวอียิปต์ยุคแรกยังรู้วิธีประกอบแผ่นไม้ด้วยตะปูไม้เพื่อยึดเข้าด้วยกันโดยใช้เรซินเพื่ออุดรอยตะเข็บ "เรือคูฟู" ซึ่งเป็นเรือขนาด 43.6 เมตร (143 ฟุต) ถูกปิดผนึกเข้าไปในหลุมในมหาสุสานแห่งกิซาเชิงมหาพีระมิดแห่งกิซาในยุคราชวงศ์ที่สี่ ประมาณ 2500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นตัวอย่างขนาดจริงที่ยังมีให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ของเรือสุริยะ ชาวอียิปต์ยุคแรกยังรู้วิธียึดไม้กระดานของเรือด้วยข้อต่อร่องและเดือย[154]
เป็นที่รู้กันว่าชาวอียิปต์ใช้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ในการค้าขายกับต่างชาติริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองบิบลอส (บนชายฝั่งของเลบานอนในปัจจุบัน) และในการสำรวจหลายครั้งตามทะเลแดงไปยังดินแดนพันท์ อันที่จริงหนึ่งในคำอียิปต์ที่เก่าแก่ที่สุดสำหรับเรือเดินทะเลคือ "Byblos Ship" ซึ่งเดิมกำหนดประเภทของเรือเดินทะเลอียิปต์ที่ใช้แล่นไปบิบลอส อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดอาณาจักรเก่า คำนี้ก็หมายความรวมถึงเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะมีปลายทางที่ใด[156]
ในปี 1977 มีการค้นพบคลองโบราณเหนือ-ใต้ ซึ่งทอดยาวจากทะเลสาบทิมซาห์ไปจนถึงทะเลสาบบัลลาห์[157] คาดว่าสร้างในยุคราชอาณาจักรกลางของอียิปต์โดยคาดการณ์จากโบราณสถานทราสร้างขึ้นตามแนวเส้นทาง[157]
ในปี 2011 นักโบราณคดีได้ขุดทะเลสาบที่แห้งแล้งที่รู้จักกันในชื่อ Mersa Gawasis ค้นพบร่องรอยของท่าเรือโบราณ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเรือ เช่น การสำรวจดินแดนพันท์ของฟาโรห์แฮตเชปซุตสู่ทะเลเปิด หลักฐานที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับความกล้าหาญในการเดินเรือของชาวอียิปต์โบราณ ได้แก่ ไม้สำหรับเรือขนาดใหญ่และเชือกหลายร้อยฟุตซึ่งทำจากกระดาษปาปิรัสขดเป็นมัดขนาดใหญ่[158] ในปี 2013 นักโบราณคดียังได้ค้นพบท่าเรือที่เชื่อกันว่าเป็นท่าเรือที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุราว 4500 ปี นับตั้งแต่สมัยฟาโรห์คูฟู บนชายฝั่งทะเลแดงใกล้ Wadi el-Jarf (ประมาณ 110 ไมล์ทางใต้ของซูเอซ)
ตัวอย่างแรกสุดของการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ได้รับการยืนยันมีตั้งแต่ยุคนาคาดาสมัยก่อนราชวงศ์ และแสดงระบบตัวเลขที่พัฒนาเต็มที่แล้ว[lower-alpha 3] ความสำคัญของคณิตศาสตร์ต่อชาวอียิปต์ที่มีการศึกษานั้นเห็นได้จากจดหมายในยุคราชอาณาจักรใหม่ ซึ่งผู้เขียนเสนอการแข่งขันทางวิชาการระหว่างเขากับนักเขียนอีกคนหนึ่ง เกี่ยวกับงานคำนวณในชีวิตประจำวัน เช่น การบัญชีที่ดิน แรงงาน และธัญพืช[160] ข้อความในกระดาษปาปิรัสคณิตศาสตร์ Rhind และกระดาษปาปิรัสคณิตศาสตร์มอสโก แสดงให้เห็นว่าชาวอียิปต์โบราณสามารถดำเนินการทางคณิตศาสตร์พื้นฐานสี่อย่าง ได้แก่ การบวก การลบ การคูณ และการหาร โดยใช้เศษส่วน คำนวณพื้นที่ของสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม และวงกลม แล้วคำนวณปริมาตรของกล่อง เสา และปิรามิด พวกเขาเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของพีชคณิตและเรขาคณิต และสามารถแก้สมการแบบง่าย ๆ ได้พร้อมกัน[161]
23 ในไฮเออโรกลีฟอียิปต์ | ||
---|---|---|
สัญกรณ์คณิตศาสตร์เป็นทศนิยม และอิงจากเครื่องหมายอักษรอียิปต์โบราณยกกำลังสิบถึงหนึ่งล้าน แต่ละข้อสามารถเขียนได้หลายครั้งตามความจำเป็นเพื่อเพิ่มจำนวนที่ต้องการ ดังนั้น ในการเขียนเลขแปดสิบหรือแปดร้อย สัญลักษณ์สิบหรือหนึ่งร้อยจึงเขียนแปดครั้งตามลำดับ[162] เนื่องจากวิธีการคำนวณของพวกเขาไม่สามารถจัดการกับเศษส่วนส่วนใหญ่ที่มีตัวเศษมากกว่าหนึ่งได้ พวกเขาจึงต้องเขียนเศษส่วนเป็นผลรวมของเศษส่วนหลาย ๆ ตัว ตัวอย่างเช่น ให้ เศษส่วนสองในห้า เป็นผลรวมของ หนึ่งในสาม + หนึ่งในสิบห้า ตารางค่ามาตรฐานช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้[163] อย่างไรก็ตาม เศษส่วนทั่วไปบางตัวเขียนด้วยสัญลักษณ์พิเศษ — ซึ่งเทียบเท่ากับสองในสามในปัจจุบันแสดงอยู่ทางด้านขวา
นักคณิตศาสตร์ชาวอียิปต์โบราณรู้จักทฤษฎีบทพีทาโกรัสว่าเป็นสูตรเชิงประจักษ์ ตัวอย่างเช่น พวกเขารู้ว่าสามเหลี่ยมมีมุมฉากตรงข้ามกับด้านตรงข้ามมุมฉากเมื่อด้านของมันอยู่ในอัตราส่วน 3–4–5[162] พวกเขาสามารถประมาณพื้นที่ของวงกลมได้โดยการลบหนึ่งในเก้าจากเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมแล้วยกกำลังสองผลลัพธ์:
การประมาณที่สมเหตุสมผลของสูตร πr2.[164][165]
อัตราส่วนทองดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นในสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของอียิปต์ รวมทั้งพีระมิด แต่การใช้อัตราส่วนนี้อาจเป็นผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการปฏิบัติของชาวอียิปต์โบราณในการผสมผสานการใช้เชือกผูกปมเข้ากับความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติของสัดส่วนและความกลมกลืน[166]
วัฒนธรรมและอนุสรณ์สถานของอียิปต์โบราณได้ทิ้งมรดกตกทอดไว้อย่างถาวรในโลก อารยธรรมอียิปต์มีอิทธิพลอย่างมากต่ออาณาจักรคุช และ Meroë โดยใช้บรรทัดฐานทางศาสนาและสถาปัตยกรรมของอียิปต์ (พีระมิดหลายร้อยแห่ง (สูง 6-30 เมตร) สร้างขึ้นในอียิปต์/ซูดาน) ตลอดจนการใช้การอักษรของชนอียิปต์โบราณเป็นพื้นฐานของอักษร Meroitic (Meroitic เป็นภาษาเขียนที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกานอกเหนือจากอียิปต์ ช่วงการใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5)[167][167]: 62–65 คติความเชื่อและโบราณวัตถุ อาทิ เกี่ยวกับเทพีไอซิส โอเบลิสก์และศิลปวัตถุอื่น ๆ ถูกขนไปยังกรุงโรมและได้รับความนิยมในจักรวรรดิโรมัน[168] ชาวโรมันยังนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากอียิปต์เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอารยธรรมอียิปต์ นักประวัติศาสตร์ยุคแรก เช่น เฮอรอโดทัส สตราโบ และ Diodorus Siculus มองว่าเป็นสถานที่ลึกลับกระทั่งศึกษาและมีงานเขียนเกี่ยวกับดินแดนนี้[169]
ในช่วงยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา การเข้ามาของศาสนาคริสต์และอิสลามทำให้ความสนใจในวัฒนธรรมนอียิปต์โบราณลงลด แต่ก็ยังพอปรากฏชิ้นงานเขียนเกี่ยวกับอารยธรรมฯ ให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ผลงานของ Dhul-Nun al-Misri และ al-Maqrizi[170] อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 นักเดินทางและนักท่องเที่ยวชาวยุโรปได้เริ่มเขียนเรื่องราวการเดินทางไปอียิปต์ของพวกเขาพร้อมนำโบราณวัตถุกลับมา ซึ่งนำไปสู่กระแสความคลั่งอียิปต์ทั่วยุโรปและการขุดค้น สะสม ซื้อขายโบราณวัตถุที่สำคัญจำนวนมากเรื่อยมา ที่ฝรั่งเศส นโปเลียนได้จัดให้มีการศึกษาครั้งแรกหัวข้ออียิปต์วิทยา (Egyptology) เมื่อเขานำนักวิทยาศาสตร์และศิลปินกว่า 150 คน ไปศึกษาและจัดทำเอกสารเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาของอียิปต์ ซึ่งตีพิมพ์ใน "Description de l'Égypte"[171]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐบาลอียิปต์และนักโบราณคดีต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพวัฒนธรรมและความสมบูรณ์ในการขุดค้น กระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อดูแลและอนุมัติการขุดค้นทั้งหมด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาข้อมูล มากกว่าการนำเป็นสมบัติ พร้อมกับบริหารพิพิธภัณฑ์และเสนอโครงการฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างโบราณเพื่อรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ของอียิปต์
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.