ส้มโอ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในตระกูลเดียวกับส้ม มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกคือ โกร้ยตะลอง (ภาษาเขมร) มะขุน (เหนือ) มะโอ (เหนือ) ลีมาบาลี (มลายู ยะลา) และ สังอู (กะเหรี่ยง มลายู)[2] มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Pomelo ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาดัตช์ pompelmoes ซึ่งแปลตรงตัวว่า "ส้มที่ลูกเท่าฟักทอง" [3] แหล่งกำเนิดอยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส้มโอจัดว่าเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย นิยมปลูกทางภาคตะวันตกของประเทศ
ข้อมูลเบื้องต้น ส้มโอ, สถานะการอนุรักษ์ ...
ปิด
ส้มโอเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอด ลำต้นมีสีน้ำตาล มีหนามเล็ก ๆ สูงประมาณ 8 เมตร ใบเป็นแผ่นหนาสีเขียวเข้ม โคนก้านใบมีหูใบแผ่ออกเป็นรูปหัวใจ แผ่นใบเหมือน มะกรูด คือแบ่งใบเป็น 2 ตอน แต่ขนาดใบใหญ่กว่า ใบหนาแข็ง มีสีเขียวแก่ มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อสั้นหรือดอกเดี่ยว ตามบริเวณง่ามใบ มีสีขาว ปลายกลีบมนมี 4 กลีบ กลางดอกมี เกสร 20-25 อัน ผลกลมโต บางพันธุ์ตรงขั้วมีจุกสูงขึ้นมา ผิวผลเมื่อยังอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จัดเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวของผลไม่เรียบ ผิวของเปลือกผลมีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไป ภายในผลเป็นช่อง ๆ มีแผ่นบาง ๆ สีขาวกั้นเนื้อให้แยกออกจากกัน เนื้อแต่ละส่วนเรียกว่า "กลีบ" มีรสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว มีเมล็ดฝังอยู่ระหว่างเนื้อมากกว่า 1 เมล็ด[4] ผลส้มโอมีเปลือกหนาทำให้สามารถเก็บรักษาได้นาน มีวิตามินซีมาก
แหล่งปลูกส้มโอที่สำคัญในประเทศไทยแต่เดิมมีสองแหล่งคือ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นแหล่งกำเนิดของพันธุ์ขาวแป้น และบางปะกอกในเขตธนบุรี เป็นแหล่งกำเนิดของพันธุ์ขาวพวง[3] ในปัจจุบัน พันธุ์ส้มโอที่เป็นที่นิยมปลูกทางการค้า ได้แก่
- พันธุ์ทับทิมสยาม เนื้อสีแดงเข้ม รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม เปลือกบางสีเขียวเข้ม มีขนอ่อนปกคลุมทั่วผล ปลูกมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนส้มโอทับทิมสยามปากพนังเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
- พันธุ์ทองดี ผลโต กลมแป้น ไม่มีจุก ที่ขั้วมีจีบเล็กน้อย รสหวาน ฉ่ำน้ำ เนื้อสีชมพู เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกที่จังหวัดนครปฐม
- พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ผลใหญ่ กลมสูง ก้นเรียบ
- พันธุ์ขาวใหญ่ เนื้อขาวอมเหลือง รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดน้อย นิยมปลูกที่จังหวัดสมุทรสงคราม
- พันธุ์ขาวพวง ผลกลม มีจุกสูง ผิวเรียบ สีเปลือกเขียวอ่อนอมเหลือง มีเมล็ดน้อย เป็นพันธุ์ดั้งเดิม
- พันธุ์ขาวแตงกวา ผลขนาดกลางกลมแป้น เปลือกบาง เนื้อสีขาว นิยมปลูกที่จังหวัดชัยนาท และอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด
- พันธุ์ท่าข่อย เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากที่จังหวัดพิจิตร
- พันธุ์ปัตตาเวีย ปลูกมากทางภาคใต้
- พันธ์หอมควนลัง มีรสชาติ เปรี้ยวอมหวาน เมื่อปอกเปลือกจะมีกลิ่มหอมอ่อน ถิ่นกำเนิดมาจาก ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ประโยชน์ของส้มโอ
- รับประทานส้มโอช่วยขับสารพิษในร่างกายได้ (ผล)
- มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง (ผล)
- ในตำราจีนเปลือกส้มโอใช้เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ ช่วยแก้อาการไอ ผสมในยาหอมกินแล้วทำให้สดชื่น (เปลือก)
- ในตำราคาไทย เปลือกส้มโอจัดอยู่ในเปลือกส้มทั้ง 8 ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย เปลือกส้มโอ เปลือกส้มเขียวหวาน เปลือกส้มจีน เปลือกส้มซ่า เปลือกส้มตรังกานู เปลือกมะนาว เปลือกมะกรูด เปลือกมะงั่น ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลม (ระบบไหลเวียนโลหิต) แก้เสมหะ และใช้ปรุงเป็นยาหอม (เปลือก)
- มีความเชื่อว่าสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงานจะนำส้มโอมาทาหน้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง สดใส (ผล)
- เชื่อว่าการรับประทานส้มโอจะช่วยทำให้ตาสดใสและเป็นประกาย (ผล)
- ช่วยให้เจริญอาหาร เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เบื่ออาหาร ปากไม่รู้รสอาหาร (ผล)
- ส้มโอมีวิตามินซีสูง จึงช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอกบริเวณศีรษะ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการเมาสุรา (ผล)
- เปลือกส้มโอเป็นส่วนประกอบของยาหอมสมุนไพร ซึ่งมีส่วนช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน (เปลือก)
- ช่วยแก้หวัด (ราก, เมล็ด)
- ประโยชน์ของส้มโอช่วยแก้อาการไอ (เปลือก, ราก, เมล็ด)
- ช่วยขับเสมหะ (ดอก, เปลือก)
- สรรพคุณส้มโอแก้อาการไอมีเสมหะ ด้วยการใช้ผลสดนำเมล็ดออก แกะเป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่กับน้ำเหล้าไว้หนึ่งคืน เสร็จแล้วนำไปต้มให้เละแล้วผสมกับน้ำผึ้ง นำมากวนจนเข้ากันแล้วจิบกินบ่อย ๆ (ผล)
- ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (เปลือก)
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง (ใบ)
- ส้มโอ สรรพคุณช่วยแก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ปวดท้องน้อย (เปลือก, ราก, เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ลำไส้เล็กหดตัวผิดปกติ (เมล็ด)
- ช่วยขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร (ผล, ดอก, เปลือก)
- ช่วยแก้อาการปวดในกระเพาะอาหาร (ดอก)
- ช่วยแก้อาการปวดกระบังลม (ดอก)
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดข้อหรืออาการปวดบวม ด้วยการใช้ใบส้มโอนำมาตำแล้วเอาไปย่างไฟให้อุ่น แล้วนำมาพอกบริเวณที่ปวด (ใบ)
- ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง ด้วยการนำเปลือกมาต้มน้ำอาบ (เปลือก)
- ช่วยรักษาโรคลมพิษที่ผิวหนัง ด้วยการใช้เปลือกประมาณ 1 ผล หั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วต้มกับน้ำอาบ หรือทาในบริเวณที่เป็นลมพิษ (เปลือก)
- ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับผิวหนังอื่น ๆ ด้วยการใช้เปลือกมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต้มกับน้ำจนมันงวด แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง (เปลือก)
- เปลือกใช้ตำแล้วนำมาพอกเพื่อรักษาฝี (เปลือก)
- เปลือกมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดการอักเสบ และยังช่วยฆ่าแมลง ฆ่าเห็บวัว เป็นต้น
- ช่วยแก้อาการไส้เลื่อน (เปลือก, เมล็ด, ราก)
- เรานิยมรับประทานส้มโอเป็นผลไม้สด ทำเป็นน้ำผลไม้ หรือจะนำไปประกอบอาหารก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ยำ เมี่ยง ส้มตำ ข้าวยำ หรือของหวานเป็นต้น (ผล)
- เปลือกนอกสีขาวนำไปแปรรูปทำเป็นส้มโอสามรส ส้มโอแช่อิ่มได้ (เปลือก)
- ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด
ความเชื่อ
ในพิธีไหว้พระจันทร์ของชาวจีน ส้มโอถือเป็นเครื่องสังเวยที่สำคัญ เนื่องจากมีความเชื่อว่าหลังจากไหว้ ถ้าผ่าผลส้มโอออกแล้วกลางลูกแห้ง ไม่มีน้ำจะเป็นเครื่องหมายของโชคดี สตรีที่ยังไม่แต่งงานจะนำส่วนของส้มโอมาทาหน้า เชื่อว่าทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง และถ้ากินส้มโอในคืนนั้นจะทำให้ตาเป็นประกายสวยงาม นอกจากนั้นยังใช้ส้มโอเป็นสัญลักษณ์แทนศีรษะของชาวจีนที่เสียชีวิตในการกู้ชาติ [3]
นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ส้มโอ ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า225 - 229
ส้มโอ ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Citrus maxima ที่วิกิสปีชีส์