Loading AI tools
อดีตนักร้องลูกทุ่งชาวไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สายัณห์ สัญญา (31 มกราคม พ.ศ. 2496 – 11 กันยายน พ.ศ. 2556) ชื่อเล่น เป้า เป็นอดีตนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย มีน้ำเสียง ลีลา อันเป็นเอกลักษณ์ สายัณห์ สัญญา มีผลงานเพลงอันเป็นอมตะ ติดหูคนไทยมากมายหลายสิบเพลง มานานกว่า 3 ทศวรรษ
สายัณห์ สัญญา | |
---|---|
(ภาพสายัณห์ ในปี 2519) | |
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | สายัณห์ ดีเสมอ |
รู้จักในชื่อ | เป้า |
เกิด | 31 มกราคม พ.ศ. 2496 อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 11 กันยายน พ.ศ. 2556 (60 ปี) โรงพยาบาลธนบุรี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
แนวเพลง | ลูกทุ่ง |
อาชีพ | นักร้อง, นักแสดง |
ช่วงปี | พ.ศ. 2515–2556 (อายุ 41 ปี) |
ค่ายเพลง | วงดนตรีลูกทุ่ง สายัณห์ สัญญา (พ.ศ. 2515–2527) อาร์เอส (พ.ศ. 2527–2544) แกรมมี่ เอ็นเตอร์ เทอร์เมน (พ.ศ. 2544–2556) |
สายัณห์ สัญญา มีชื่อจริงเดิมคือ สายัณห์ ดีเสมอ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น พรสายัณห์ มีโชคดีเสมอ เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2496 (บางเเหล่งบอกว่าเกิดปี 2495) ที่บ้านเลขที่ 63 หมู่ 6 ตำบลหนองโพธิ์ อำเภอหนองหญ้าไซ (เดิมแยกจากอำเภอเดิมบางนางบวช และ แยกจากอำเภอสามชุก) จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายอ่อง และนางบุญช่วย ดีเสมอ มีพี่ชาย 1 คน แต่ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่สายัณห์ยังเล็ก ๆ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา เมื่อตอนเด็ก ๆ ได้ร่ำเรียนหนังสือที่โรงเรียนใกล้ ๆ บ้านคือ โรงเรียนบ้านใหม่ไร่อ้อย จนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาที่บ้าน ไม่นานคุณพ่ออ่องก็เสียชีวิตกลางคัน ทำให้สายัณห์ต้องอยู่กับแม่ตามลำพัง
สายัณห์นิยมชมชอบและรักการร้องเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เด็ก ตระเวนประกวดร้องเพลงมามากมายนับครั้งไม่ถ้วน ได้รับรางวัลชนะเลิศมาก็หลายครั้ง โดยมีญาติผู้ใหญ่ที่ชื่อ "น้าสว่าง" เป็นผู้พาไปสมัครประกวดร้องเพลงตามสถานที่ต่าง ๆ จากนั้นออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา
จนกระทั่งวันหนึ่งวงดนตรี ผ่องศรี วรนุช มาเปิดทำการแสดงที่วัดราษฎร์บำรุง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งบนเวทีจัดให้มีการประกวดร้องเพลง สายัณห์จึงมาสมัครเพื่อเข้าร่วมประกวดร้องเพลงด้วย แต่ปรากฏว่าเขาปิดรับสมัครไปก่อนแล้ว ในช่วงที่รอการตัดสินการประกวดร้องเพลง สายัณห์จึงขอขึ้นเวทีไปร้องโชว์แทน ซึ่งเพลงที่เขาร้องคือ เพลงแฟนจ๋า ของ สุรพล สมบัติเจริญ ปรากฏว่าเมื่อร้องเพลงจบได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากผู้ชม ขณะที่ ผ่องศรี วรนุช ก็รู้สึกประทับใจ จึงรับสายัณห์เข้าวงดนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2509
ที่นี่สายัณห์เริ่มออกเวทีในฐานะหางเครื่อง ต่อมาก็ได้มีโอกาสร้องเพลงด้วย ใช้ชื่อว่า "กัมชัย ราษฎร์บำรุง" หรือ "กรรมชัย ราชบำรุง" และ "กัมชัย ราชบำรุง" ช่วงนี้เขาร้องเพลงแนวศรคีรี ศรีประจวบ เป็นหลัก สายัณห์อยู่ที่นี่ได้ 3 ปี วงก็ยุบ
จากนั้นสายัณห์ก็ไปอยู่กับวงดนตรีอีกมากมายหลายวง อย่าง "รวมดาวกระจาย" ของครูสำเนียง ม่วงทอง, บรรจบ เจริญพร, ก้าน แก้วสุพรรณ และชินกร ไกรลาศ โดยในยุคนี้ได้มีโอกาสอัดแผ่นเสียง ซึ่งเพลงที่สามารถหาฟังได้ในปัจจุบัน คือเพลง "หักใจไม่ลง" ต่อมาสายัณห์มาอยู่กับวง "รวมพร" ของคุณเล็ก และคุณน้อยศรี อิงคะนันท์ เจ้าของปั๊มน้ำมันพรรุ่งโรจน์ ย่านบุคคโล และได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งสองให้บันทึกเสียงเป็นครั้งแรก คือ "รักเธอเท่าฟ้า" ของครูฉลอง การะเกต ซึ่งทำให้เขาพอจะเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงอยู่บ้าง
พ.ศ. 2515 สายัณห์ สัญญา มีความตั้งใจใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องจึงแสวงหาโอกาสให้ตัวเองทั้งการเดินสายประกวดร้องเพลง และทำหน้าที่คนแบกกลอง หางเครื่องในวงดนตรี และย้ายวงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งโชคชะตาได้นำพาให้มาเจอผู้อุปการะ คือ คุณพ่อเล็กและแม่น้อยศรี อิงคะนันท์ ซึ่งเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันพรรุ่งโรจน์ บุคคโล และเป็นเจ้าของวงดนตรีรวมพร ผู้มีอุปการะทั้งสองออกทุนให้สายัณห์อัดแผ่นเสียงเริ่มต้นจากเพลงรักเธอเท่าฟ้า และเพลงพลัดคู่ แต่แผ่นเสียงไม่ได้รับการเผยแพร่ สร้างความเสียใจและท้อใจ ที่สุดก็เป็นเด็กล้างรถอยู่ที่ปั๊มน้ำมันพรรุ่งโรจน์ บุคคโล...ทำหน้าที่เด็กปั๊มสักระยะ โชคชะตาก็เข้าข้างอีกครั้งเมื่อ ครูชลธี ธารทอง ไปพบสายัณห์ สัญญา ที่ปั๊มน้ำมันแห่งนั้น เมื่อได้ยินเงาเสียงของศรคีรี ก็เกิดชอบใจ จึงแต่งเพลง "ลูกสาวผู้การ" และ "แหม่มปลาร้า" ให้สายัณห์ขับร้อง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 มีการตั้งวงดนตรีสายัณห์ สัญญา โดยแสดงครั้งแรกที่บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยได้รับค่าแสดงรวมกันทั้งวง 8,000 บาท และนับตั้งแต่นั้น สายัณห์ ก็ผลิตผลงานออกมาประดับวงการลูกทุ่งเมืองไทยมากมาย ในปี พ.ศ. 2525 สายัณห์ได้ผ่าตัดลำคอทำให้เสียงกลายเป็นเสียงแหบ และได้ฉายาว่า "แหบมหาเสน่ห์" จากนั้นในปี พ.ศ. 2527 สายัณห์ก็ได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ทำให้ผลงานเพลงเงียบหายไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาทำผลงานเพลงอีกครั้ง
สายัณห์ สัญญา ได้ชื่อว่าเป็นนักร้องลูกทุ่งชายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดหลังจากการถึงแก่กรรมของสุรพล สมบัติเจริญ แม้จะไม่เคยได้รับรางวัลทางการร้องเพลงใด ๆ เลยก็ตาม แต่สายัณห์ก็เป็นนักร้องที่มีเสน่ห์ มีคำออดอ้อนแม่ยก แฟนเพลง ผู้สนับสนุน ด้วยประโยคที่คุ้นเคยคือ รักสายัณห์น้อย ๆ แต่รักนาน ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบของพระเอกลิเก มีการไว้เคราแพะเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว[1]
สายัณห์ สัญญาเคยใช้ชีวิตคู่กับวรรณพร สัมฤทธิ์ อดีตนางงามจังหวัดนครศรีธรรมราช มีบุตรและบุตรีด้วยกัน 4 คนคือ สวามินี ชื่อเล่น เบสท์, ศิรประภา ชื่อเล่น เกรซ, เวสารัช ชื่อเล่น บิ๊ก และภัทรกัญญา ชื่อเล่น เฟิร์ส[2] ก่อนหน้านี้สายันต์มีบุตรชายอีกคนที่เกิดกับอารมณ์ แต่งทรง อดีตหางเครื่อง ชื่อ อนุสรณ์ มุสิกสินธุ์ ชื่อเล่น ปุ้ม[3]
สายัณห์ สัญญา ได้รับการเข้าพักรักษาตัวด้วยโรคมะเร็งตับที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ญาติกล่าวว่าขณะที่สายัณห์นอนพูดคุยกับครอบครัวที่บ้านพัก เกิดฟุบหมดสติ เนื่องจากอาการน็อกเบาหวาน หลังการตรวจอย่างละเอียดแพทย์พบจุด 4 จุดในตับอ่อน และอยู่ในสภาวะกระจายตัว แพทย์จึงนำชิ้นเนื้อไปตรวจ และพบว่าเป็นเซลล์มะเร็ง[4]
ต่อมาสายัณห์ได้ย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 และโรงพยาบาลธนบุรีตามลำดับ โดยระหว่างการรักษาตัวในเดือนกรกฎาคม สายัณห์ได้ขออนุญาตแพทย์เพื่อขึ้นแสดงในคอนเสิร์ตอำลาขวัญใจคนเดิม ซึ่งจัดโดยโทรทัศน์ดาวเทียม แซบแชแนล ณ พระประแดงอาเขต จังหวัดสมุทรปราการ และได้ขออนุญาตแพทย์อีกครั้งเพื่อขึ้นแสดงคอนเสิร์ต ณ วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม[5]
ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556 แพทย์เปิดเผยว่า สายัณห์อยู่ในภาวะวิกฤติ ไตทำงานผิดปกติเป็นผลมาจากโรคมะเร็งตับที่แพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว อาการต้องดูวันต่อวัน และระวังไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน ไม่เช่นนั้นคนไข้จะทรุดทันที ต่อมาเมื่อเวลา 12:35 นาฬิกาของวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556 สายัณห์ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลธนบุรี ญาติประกอบพิธีรดน้ำศพที่วัดไร่ขิงในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556 และพระราชทานเพลิงศพ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี[6]
สายัณห์ สัญญา ผลิตผลงานเพลงออกมามากมายหลายสิบชุด เช่น
สายัณห์ สัญญา บันทึกเสียงเอาไว้กว่า 1, 200 เพลง และในจำนวนนั้นมีเพลงที่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงมากมาย เช่น
สายัณห์ สัญญา ชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงขั้นแต่งเพลงเชิดชูให้ และเคยขึ้นเวทีปราศรัยของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ท้องสนามหลวง สนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยด้วย เมื่อปี พ.ศ. 2552[7]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.