Loading AI tools
กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษ หรือ พระทรงธรรม์[5][หมายเหตุ 1] หรือ สมเด็จพระธาดาธิเบศร์[8]: 17 (พ.ศ. 2175 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2246) มีพระนามเดิมว่า ทองคำ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 28[9]: 206 [10] แห่งอาณาจักรอยุธยาและเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง แย่งชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์พระองค์ก่อน และเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา[11]: 252
สมเด็จพระเพทราชา | |
---|---|
สมเด็จพระมหาบุรุษ | |
พระบรมสาทิสลักษณ์ฝีมือ Gaspar Bouttats เมื่อ ค.ศ. 1690[1] | |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2231 –พ.ศ. 2246 (14 ปี 210 วัน) |
ราชาภิเษก | พ.ศ. 2231 , พ.ศ.2236 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ราชวงศ์ปราสาททอง) |
ถัดไป | สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี |
พระมหาอุปราช | สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี |
กรมพระราชวังหลัง | นายจบคชประสิทธิ์ |
สมุหนายก | ดูรายชื่อ
|
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2175 บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี อาณาจักรอยุธยา |
สวรรคต | พ.ศ. 2246 (71 พรรษา) กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
พระมเหสี | กรมพระเทพามาตย์ (กัน) กรมหลวงโยธาเทพ กรมหลวงโยธาทิพ พระนางกุสาวดี[3] |
พระราชบุตร | แม่อยู่หัวนางพระยา (นิ่ม) สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ตรัสน้อย เจ้าพระขวัญ พระองค์เจ้าหญิงฉิม พระองค์เจ้าหญิงจีน พระองค์เจ้าดำ พระองค์เจ้าชายแก้ว พระองค์เจ้าชายบุนนาค[4] |
ราชวงศ์ | บ้านพลูหลวง |
พระราชบิดา | ไม่ปรากฏ |
พระราชมารดา | ท้าวศรีสัจจา (พระนมเปรม) |
สมเด็จพระเพทราชา เดิมสามัญชนมีพระนามเดิมว่า ทองคำ เป็นชาวบ้านพลูหลวง (หรือบ้านโพธิ์หลวง)[12] แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันคือบ้านพลูหลวง ตั้งอยู่ใน ต.สนามชัย อ.เมือง จังหวัดสุพรรณบุรี) มีนิวาสสถานเดิมอยู่ที่ย่านป่าตอง (ตลาดตอง) ในกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดบรมพุทธารามหลังขึ้นครองราชย์[13] เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2175[14][9]: 205 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นบุตรของพระนมเปรม และมีพระขนิษฐาคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม)[15] พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชา ดำรงตำแหน่งจางวาง[16] กรมพระคชบาล (ขวา) มีราชทินนามว่า พระเพทราชาธิบดี ศรีสุริยาภิชาติสุริยวงศ์ องค์สมุหพระคชบาล ศักดินา 5,000[17] มีกำลังพลในสังกัดหลายพัน[18] เช่น คราวเหตุการณ์ขับไล่กองทหารฝรั่งเศสออกจากสยาม สมเด็จพระเพทราชาสามารถเกณฑ์กองทัพปิดล้อมฝรั่งเศสได้มากถึง 60,000 คน[19] และยังมีตำแหน่งรักษาการเสนาบดีสมุหพระกลาโหม[20] สืบต่อจาก เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เมื่อปี พ.ศ. 2226[21] ปรากฏใน พระสมุดตำราช้าง ความว่า "...สมเด็จพระรายณ์เป็นเจ้าสั่งพระเพทราชา ผู้ว่าที่กลาโหม ให้จัดแจงผู้จะนุ่งผ้าเกี้ยวผ้าผู้ขี่ช้าง ตามบันดาศักดิ์ ให้ศึกษาร่ำเรียนให้ถูกในกฎหมายนี้"[22]
มีบุคคลร่วมสมัยในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงชาติกำเนิดของสมเด็จพระเพทราชา หลักฐานร่วมสมัยที่สำคัญ เช่น
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ. 2230 กล่าวถึง สมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเรียกเพี้ยนมาจาก ออกพระพิพิธราชา (Oc-Prá Pipitcharatcha)[23] กล่าวว่า "ตระกูลของท่านได้รับราชการสืบกันมาช้านานในตำแหน่งอันสูงส่ง และมีความสัมพันธ์กับราชบัลลังก์อยู่เนือง ๆ และมีผู้คนได้โจษขานกันอย่างเปิดเผยว่า ตัวท่านเองหรือออกหลวงสรศักดิ์ (Oc-Loüang Sourasac) บุตรของท่านอาจอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ได้อยู่ หากว่าคนใดคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ เมื่อพระมหากษัตริย์ซึ่งผ่านพิภพ อยู่ในปัจจุบันนี้เสด็จสวรรคตแล้ว มารดาของออกพระพิพิธราชานั้นเป็นพระนมของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน"[24]
นายพล เดส์ฟาร์จ[25] กล่าวถึง สมเด็จพระเพทราชา ว่า "ในบรรดาผู้ที่มีอำนาจคนอื่นๆ ในราชสำนักนั้น มีอีกบุคคลหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษที่สังเกตได้ง่าย และที่ข้าพเจ้าเองได้พบนับแต่เมื่อแรกที่ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงว่า มีความน่าเกรงขามสง่างามต่างจากผู้อื่น ชื่อของท่านคือ ออกพระเพทราชา ตระกูลของท่านผู้นี้สามารถสืบได้กลับไปไกลมากและมีชื่อเสียง พระเพทราชาเป็นพระเชษฐาร่วมกับแม่นมกับพระเจ้าแผ่นดินและมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน บางคนถึงกับบอกว่าท่านมีเชื้อสายความเป็นเจ้า โดยที่พ่อของท่านเคยครองแผ่นดินราชบัลลังก์มาแล้วนั่นทีเดียว..."[26]
จดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ หมอประจำของคณะทูตของเนเธอร์แลนด์ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2233 รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เขียนบันทึกถึงสมเด็จพระเพทราชาไว้ว่า พระเพทราชาพระสหายสนิทของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระบุตรของท้าวศรีสัจจา (พระนมเปรม) ซึ่งเป็นพระภคินี (พี่สาว) ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระขนิษฐา (น้องสาว) และพระราชธิดาของสมเด็จพระเพทราชาต่างก็เป็นบาทบริจาริกาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขจร สุขพานิช ได้วิเคราะห์ จดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ ไว้ว่าพระเพทราชาเป็นเชื้อพระวงศ์ (เจ้าราชนิกูล) ในราชวงศ์ปราสาททอง[27] :-
... dat hy Petraatia altyd had gehouden, voor zynen besten boesem vriend, die zyner zuſters zoon was, wier zuſters en dochters des Konings wyven waren, ...[28]
(คำแปลอังกฤษ): ...that he had always looked upon Petraatia as his most intimate friend, who was his Sister's Son, whose Sisters and Daughters were the King's Wives, ...[29]
(คำแปลไทย): พระองค์ [สมเด็จพระนารายณ์มหาราช] ทรงถือว่าพระเพทราชาเป็นพระสหายสนิทที่สุดของพระองค์ ผู้ซึ่งเป็นโอรสพระพี่นางของสมเด็จพระนารายณ์ ส่วนพระขนิษฐา และพระธิดาของพระเพทราชาต่างก็เป็นบาทบริจาริกาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
— Engelbert Kaempfer (1690), De Beschryving van Japan. (Translated in 1727 by John Gaspar Scheuchzer).
และ ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง แต่งโดย ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง ซึ่งมาจากการบันทึกของบาทหลวงปีแยร์ บรีโก ที่เคยพำนักในสยามช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงสมเด็จพระเพทราชา ความว่า "...ใครบางคนกล่าวว่า พระเพทราชามีชาติกำเนิดมาจากตระกูลทาสที่เป็นฝีพายในเรือมากกว่าจากตระกูลที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ แต่จากข้อมูลที่เชื่อถือได้ ข้าพเจ้าสามารถยืนยันได้ว่า พระองค์ทรงมีเชื้อสายกษัตริย์และเป็นพระภาดาของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงครองราชย์อยู่ในขณะนี้..."[30][31]: 76
ส่วนนักประวัติศาสตร์ไทยได้สันนิษฐานชาติกำเนิดของสมเด็จพระเพทราชาแตกต่างจากพงศาวดารไทยที่ชำระตั้งแต่รัชกาลที่ 1 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่กล่าวว่า สมเด็จพระเพทราชาเป็นชาวบ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรีซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัย โดยสันนิษฐานตรงกันว่า สมเด็จพระเพทราชาน่าจะสืบเชื้อสายจากตระกูลขุนนางเก่า มีชาติตระกูลสูง อาจเป็นเชื้อพระวงศ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[33][34]: 149 หรือคงมีเชื้อสายเดิมของราชวงศ์สุพรรณภูมิ[35] หรือเกี่ยวข้องกับสายเจ้าเมืองสุพรรณบุรี[36] เช่น
นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า "สมเด็จพระเพทราชานั้นมีฐานะในราชการที่ค่อนข้างประหลาด กล่าวคือในแง่ของระบบราชการ สมเด็จพระเพทราชาเป็นขุนนางในฝ่ายปกครองในตำแหน่งสมุหพระคชบาล จางวางขวา กรมพระคชบาลขวา ซึ่งถือเป็นตำแหน่งอันสูงสุด และมีอำนาจค่อนข้างมาก สำหรับบุคคลซึ่งมีตำแหน่งเพียงแค่ "ออกพระ" ทำให้เข้าใจว่าสมเด็จพระเพทราชาน่าจะเป็นข้าหลวงเดิมในราชสำนักและที่สำคัญสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงไว้วางพระทัยในตัวสมเด็จพระเพทราชาอย่างมากด้วย เพราะหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงรับพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นพระสนม เมื่อนางตั้งครรภ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงพระราชทานให้กับสมเด็จพระเพทราชา"[37]
ขจร สุขพานิช ได้วิเคราะห์งานเขียนของแกมป์เฟอร์ เรื่อง อยุธยา ในต้นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา และจดหมายเหตุของฝรั่ง พบว่าแกมป์เฟอร์และหลักฐานจดหมายเหตุให้ข้อมูลสำคัญ ๆ ที่น่าเชื่อถือกว่าพระราชพงศาวดารไทย ขจร สุขพานิช จึงได้เสนอไว้ใน เอกสารทางวิชาการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2509-2520 ว่าพระเพทราชาไม่ใช่ขุนนางธรรมดา แต่เป็นเจ้าราชนิกูลในราชวงศ์ปราสาททอง ความว่า "ผู้เขียนเสนอว่าพระเพทราชาเป็นโอรสของพระพี่นางของพระนารายณ์ พระขนิษฐา และพระธิดาของพระเพทราชาก็เป็นบาทบริจาริกาของพระนารายณ์ ดังนั้นพระเพทราชาจึงเป็นเจ้าราชนิกูลในราชวงศ์ ไม่ใช่ขุนนางธรรมดา"[38]
ในปี พ.ศ. 2231 เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ทรงพระประชวรใกล้สวรรคต ทรงเห็นว่าพระเพทราชาเป็นผู้ใหญ่ จึงมอบหมายให้ว่าราชการแทน[39] ระหว่างนั้นพระเพทราชาลวงพระอนุชาทั้งสองพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ คือเจ้าฟ้าน้อยและเจ้าฟ้าอภัยทศว่ามีรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จถึงเมืองลพบุรีก็ถูกหลวงสรศักดิ์จับไปสำเร็จโทษที่วัดทราก ส่วนพระปีย์พระราชโอรสบุญธรรมถูกขุนพิพิธรักษา[34] ผลักตกจากชาลาพระที่นั่งสุทธาสวรรค์แล้วกุมตัวไปสำเร็จโทษ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้ยินเสียงพระปีย์ แล้วเสด็จนั่งขึ้นได้จึงตรัสว่า "ใครทำไมแก่อ้ายเตี้ยเล่า"[40] แล้วเสด็จสวรรคตในวันนั้น ปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า[41][42][43]
ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังเรื่องพระปีย์ร้องขึ้นมาดังนั้นก็ตกพระทัย ความอาลัยในพระปีย์ดำรัสว่าใครอะไรกับอ้ายเตี้ยเล่า และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตในเพลาวันนั้น เป็นวันพฤหัส เดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ ศักราช ๑๐๔๔ ปีจอ จัตวาศก[หมายเหตุ 2]
หลักฐานต่างชาติร่วมสมัยไม่ปรากฏในพงศาวดารไทยอ้างว่ามีชาวฝรั่งเศสรายงานว่าพระเพทราชาสำเร็จโทษกรมหลวงโยธาเทพที่ริมน้ำ[46]: 103
รายงานละเอียดและถูกต้อง เกี่ยวกับ การปฏวัติอันยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ในพระราชอาณาจักรสยาม กล่าวว่า :-
ก็ได้สั่งให้จับพระเจ้าลูกเธอ พระราชกุมารีผู้ทรงพระเยาว์ บรรจุลงถุงกำมะหยี่ใบใหญ่ ให้ทุบพระเศียรเสียด้วยท่อนไม้ใหญ่อันมีกลิ่นหอมและเป็นที่นับถือกว่าบรรดาไม้ทั้งปวงในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก เรียกว่า ไม้จันทน์ แล้วให้โยนพระศพลงไปในแม่น้ำ[47]: 7
ข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็เข้ามาอยู่ศาลาลูกขุนในพระราชวังกันทั้งปวง แต่มีบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ ณ อยู่ศาลาลูกขุน เช่น พระยาหุเสนขานหนีไปเที่ยวอยู่ป่า ส่วนพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) อยู่ที่ตึกบ้าน[48] พระเพทราชาจึงมอบหมายให้เจ้าพระยาสุรสงครามออกไปตามหาพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) โดยหมายจะตั้งขึ้นเป็นวังหน้า[49] (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) เจ้าพระยาสุรสงครามจึงใช้ทนายออกไปตามหาพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เมื่อทนายไปพบพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) จึงกล่าวความแก่ทนายว่า "ท่านเขียนด้วยมือแล้วจะมาลบด้วยเท้าเล่าครั้นมิเข้าไปก็จะโกรธ"[40] เมื่อพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) มาถึงศาลาลูกขุนจึงถูกจับกุมตัวไปประหารชีวิต[50][51] เมื่อจัดการบ้านเมืองสงบแล้วจึงเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มาประดิษฐานที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แล้วรับราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท[52]
เมื่อปราบดาภิเษกนั้นสมเด็จพระเพทราชามีพระชนมพรรษาได้ 51 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว
เมื่อพระชนมพรรษาครบรอบ 56 พรรษา[53]: 385 สมเด็จพระเพทราชาทรงกระทำพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งที่ 2[54]: 69 การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีเหมือนพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสิบขึ้นเจ็ดค่ำปีจอจัตวาศก เวลาเช้าสี่นาฬิกาสี่บาท[53]: 385 เป็นฤกษ์มหามงคล เหล่าขุนนาง และข้าทูลละอองทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยร่วมประชุมกันที่พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ณ กรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา[53]: 385 และอันเชิญสมเด็จพระเพทราชาเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิเจ้าภิภพกรุงเทพพระมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน[55]: 498 [54]: 69 [53]: 385
การพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนั้นมีการประดับตกแต่งพระนคร[53]: 385 แม่น้ำลำคลองต่างๆ มีราชวัตรฉัตรธง ฉัตรเบญจรงค์ ฉัตรเงิน ฉัตรทอง ธงประดาก (ธงผืนผ้า) ประดับเป็นระยะๆ ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เป็นต้น และจัดงานรื่นเริงมหรสพสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน[53]: 385 เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงเครื่องศิริราชวิภูสนาภรณ์เสร็จแล้วทรงพระราชยานซึ่งประดับไปด้วยเครื่องสูงไสวอย่างตระการตา และมีเครื่องดุริยางค์ดนตรีประโคมพระราชพิธี ทั้งปืน กลอง แตรสังข์ ขบวนแห่พยุหะยาตราของพระองค์รายล้อมด้วยพสกนิกรอย่างคับคั่ง เมื่อพระราชพิธีขบวนแห่รอบพระนครเสร็จสิ้นแล้ว สมเด็จพระเพทราชาเสด็จประทับเลียบพระนครแล้วจึงเสด็จกลับไปยังพระราชวัง[53]: 385 ส่วนพระญาติและข้าหลวงเดิม ณ บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ทราบว่าสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ยกเศวตฉัตรปราบดาภิเษกแล้ว ต่างชื่นชมโสมนัสยินดี และได้จัดแจงอาหาร และสิ่งของต่างๆ ตามประสาชนบท เข้ามายังพระราชวังทูลเกล้าถวายพระองค์[53]: 386 และการเพ็ดทูลของพระญาติก็เป็นอย่างกันเองที่คุ้นเคยมาแต่ก่อน เหล่าข้าทูลในพระราชวังได้ฟังจึงห้ามตักเตือนว่าเป็นการมิสมควร
สมเด็จพระเพทราชาทรงได้ฟังเช่นนั้นจึงสวนพระราชดำรัสว่า :-
เรามิได้ถืออย่าห้ามมันเลย[53]: 386
แล้วจึงให้พระญาติอยู่ในพระราชวังใกล้พระราชนิเวสสถานและจัดเลี้ยงอาหารสุราต่างๆ พร้อมยังพาเที่ยวชมพระราชวัง[53]: 387 วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเพทราชาพระราชทานเงินทอง เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งของแก่พระญาติทั้งยังฝากให้แก่ผู้ที่ไม่ได้มาเข้าเฝ้าในครั้งนี้ บรรดาพระญาติของพระองค์ได้รับพระราชทานสิ่งของทั้งหลายแล้วจึงถวายพระพรและถวายบังคมลา[53]: 387
แล้วทรงตั้งคุณหญิงกัน (พระมเหสีเดิม) เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา ตั้งกรมหลวงโยธาเทพ (เจ้าฟ้าทอง) พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ตั้งนางนิ่มเป็นพระสนมเอก ตั้งสมเด็จพระสรศักดิ์[56]: 365 หรือหลวงสรศักดิ์[57]: 252 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระขนิษฐาของพระองค์เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์ และตั้งเจ้าราชนิกูล[58] เช่น นายกรินท์คชประสิทธิ ทรงบาศซ้ายกรมพระคชบาล ซึ่งเป็นพระราชนัดดาขึ้นเป็น เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ (ภายหลังสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรมเป็นกรมหมื่นอินทรภักดี ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[59][60]) และขุนทิพพลภักดิ์ เชื้อพระวงศ์ ขึ้นเป็น เจ้าพระอินทรอภัย พร้อมพระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่งฐานาศักดิ์ เป็นต้น[61]
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายอาณาจักรอยุธยาเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา
สมเด็จพระเพทราชามีพระนามเรียกขานอื่นๆ เช่น
เดอ ลา ลูแบร์ ผู้แทนพิเศษของคณะราชทูตฝรั่งเศสมายังอาณาจักรอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2230 ปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนบันทึกลักษณะออกพระเพทราชาไว้ว่า :-
"...Oc-Pra Pipitcharatcha : who though he has only the Title of Oc-Pra, is yet a very great Lord. The people love him becauſe he appears modetate ; and think him invulnerable, becauſe he expreſſed a great deal of Courage in ſome Fight againſt the Pegains : his Courage has likewiſe procur'd him the Favour of the King his Maſter. His Family has continued a long time in the higheſt Offices: is ſtequently allied to the Crown; and is it publickly repotted that he or his Son Oc-Louang Souracac may pretend to it, if either of them ſurvive the King that now Reigns."[67]: 89
— Simon de La Loubère, 1642-1729., Du Royaume de Siam, (1687).
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ความว่า :-
"ออกพระพิพิธราชา ผู้มาตรว่าทรงยศเป็นแต่เพียงออกพระ ก็ยังมีศักดิ์มีอำนาจยิ่งใหญ่ ราษฎรก็รักใคร่นิยมนับถือมาก เพราะท่านเป็นคนใจดีสงบเสงี่ยม และพากันคิดว่าท่านเป็นคนมีวิชาความรู้ และเฉลียวฉลาดหลักแหลมน่านับถือ เพราะท่านเข้าใจผูกน้ำใจไพร่พลและกล้าหาญ เห็นฝีมือคราวออกศึกรามัญ[หมายเหตุ 3] ความแกล้วกล้าสามารถในการศึกนี้ ทำให้พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตากรุณาไว้วางพระราชหฤทัยมาก วงศ์ตระกูลของออกพระเพทราชาได้รับราชการแผ่นดินในตำแหน่งสูงสืบต่อกันมาช้านานหลายชั่วมีทางเกี่ยวข้องในราชสมบัติหลายแง่จนคนโจษกันแซ่แทบไม่เป็นการปิดบังว่า ตัวท่านหรือบุตรของท่านออกหลวงสรศักดิ์นั้น อาจจะคิดเอาราชสมบัติได้ ถ้าคนใดคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่"[68]: 73
— กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ทรงพระนิพนธ์แปล)., จดหมายเหตุลาลูแบร์ เล่มที่ 2, (2505).
ในประชุมพงศาวดาร ตอน โกษาปานไปฝรั่งเศส กล่าวสอดคล้องตามจดหมายเหตุ ลา ลู แบร์ ว่า :-
"ออกพระเพทราชาเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ราษฎรชอบพอมาก เพราะใจคอเยือกเย็น และลือกันว่าเป็นคนคงกะพันชาตรียิงไม่ออก ฟันไม่เข้าถึงพระรายณ์เองก็ทรงโปรดมาก เพราะเคยไปสงครามมีชัยชนะแก่พระเจ้าตองอูมา......ตามเสียงตลาดที่โจษกันทุกวันนี้มักนิยมถือกันว่า ถ้าพระนารายณ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อใด ออกพระเพทราชากับลูกชายชื่อออกหลวงสรศักดิ์มีหวังที่จะสืบราชสมบัติยิ่งกว่าใครๆ......มารดาของออกพระเพทราชานั้นเคยเป็นนางนมของในหลวงเดี๋ยวนี้เหมือนกับมารดาของเจ้าคุณอัครราชทูตซึ่งเคยถวายนมแก่พระองค์เหมือนกัน"[69]: 186
— ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 33 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๙ - ๖๑), (2512).
บันทึกความทรงจำของออกพระศักดิสงคราม (เรือโท เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง)[70]: 25 [71]: 434 นายทหารเรือชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาช่วยราชการสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงออกพระเพทราชา ความว่า :-
"ข้าพเจ้ารู้จักท่านผู้นี้ดีถึงแม้ว่าท่านมีอายุกลางคนแล้ว ก็ยังมีกำลังแข็งแรงว่องไวเหมือนเมื่อยังหนุ่มอยู่ มีสติปัญญารอบคอบและประพฤติตนถูกกาลเทศะ ท่านได้พระภิกษุสงฆ์เป็นพรรคพวกแล้วก็เกลี้ยกล่อมขุนนางอื่นโดยเยินยอความมักใหญ่ใฝ่สูงของเขา สัญญาว่าจะให้มีหน้าที่ในการปกครองบ้านเมืองด้วย ท่านไม่ได้เกลี้ยกล่อมเฉพาะแต่ขุนนางเท่านั้น ยังได้เอาใจราษฎรด้วย ราษฎรที่ชอบของใหม่ ๆ แปลก ๆ ก็หวังใจว่า เมื่อได้อยู่ใต้แอกผู้อื่นแล้ว การปกครองคงจะไม่เข้มงวดนัก"[72]: 180 [73]: 187
— Claude de Forbin-Gardanne, Mémoires du comte de Forbin (1656–1733), ฉบับทรงนิพนธ์แปลโดย ม.จ. ดำรัสดำรงค์ เทวกุล (2509).
บันทึกของบาทหลวงปีแยร์ บรีโก กล่าวว่า :-
พระเพทราชาถึงแม้จะรูปร่างเล็ก แต่ก็มีจิตใจสูง รูปร่างหน้าตาเป็นที่่น่าสนใจ แม้ว่าจะมีอายุถึง ๕๖ ปีแล้วก็ตาม เขาเป็นที่รู้จักรักใคร่ของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่กับศัตรูเขาไว้ท่าเสมอ เขาได้รับการเลี้ยงดูเหมือนกับพระเจ้าแผ่นดิน ความสุขของพระเจ้าแผ่นดินได้รับแรงดลใจจากประชาชนที่ผาสุก ความซื่อสัตย์จงรักภักดีของเขาแฝงไว้ด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่เฉลียวฉลาด โดยเล่ห์เหลี่ยมนี้เขาอาจแสดงความไม่พอใจพระเจ้าแผ่นดินในความผิดของพระองค์หรือของพวกเสนาบดีของพระองค์ผู้ซึ่งเขาจะจัดการตอบแทนอย่างรุนแรงด้วยการกระทำของพวกบ้าอำนาจ ทั้ง ๆ ที่เขาพยายามปิดบังเจตนาร้ายของเขา[31]: 77–78
— P. Brigot, Bishop of Tabraca Vicar Apostolic, รวบรวมโดย ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง A.D. 1770, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง, แปลโดยสมศรี เอี่ยมธรรม, (2522).
เหตุการณ์ขับไล่ฝรั่งเศสจากสยามเป็นเหตุการณ์สืบต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังจากที่สมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เมื่อ ปี พ.ศ. 2230 เมื่อคราวคณะราชทูตไทยซึ่งออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเดินทางกลับสยาม ราชสำนักฝรั่งเศสก็ได้ส่งคณะราชทูต โดยมีลา ลูแบร์ เป็นผู้แทนพิเศษ และเซเบอแร ดูว์ บูแล เป็นอุปทูต มายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาทางการค้าฉบับก่อน[74]: 28 และชักจูงให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเข้ารีตในศาสนาคริสต์ พร้อมกับกำลังทหารพร้อมอาวุธทันสมัยมีอนุภาพเหนือกว่าอยุธยามากเข้ามาประจำการที่บางกอกและเมืองมะริด (ทวาย) โดยมีนายพลเดส์ฟาร์จเป็นผู้ควบคุมกำลังทหารนั้น
ออกพระเพทราราชา จางวางกรมพระคชบาลควบตำแหน่งรักษาการสมุหกลาโหม ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[75]: 330–375 และเคยติงเรื่องนี้ในที่ประชุมขุนนางต่อหน้าพระพักตร์มาก่อน แม้ทรงพระพิโรธการดิงของออกพระเพทราชาแต่ทรงระงับไว้ไม่ได้ลงพระราชอาญา ตั้งแต่นั้นมา ออกพระเพทราราชาจึงจับตาดูการเคลื่อนไหวจับตาดูการเคลื่อนไหวของออกญาวิไชยเยนทร์เป็นพิเศษและทราบว่า :-
"เมอซิเออร์คอนซตันซ์ก็มีใจคิดร้ายอยู่ด้วย พวกข้าราชการที่รู้เท่าเมอซิเออร์คอนซตันซ์ก็ไม่กล้าพูด แต่ก็ได้พยายามช่วยกันป้องกันไม่ให้เมอซิเออร์คอนซตันซ์ได้ทำการร้ายขึ้นได้"[76]: 603
เมื่อปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรด้วยโรคไอหืดมีพระอาการแย่ลงอย่างมาก เปิดโอกาสให้ออกพระเพทราชาซึ่งมีตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชิงกระทำการรัฐประหาร ออกพระเพทราชาจึงเข้ายึดพระราชวังละโว้ทันทีในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 โดยมีออกหลวงสรศักดิ์เป็นกำลังสำคัญและยังมีแนวร่วม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวเมืองกรุงศรีอยุธยา กลุ่มขุนนางในราชสำนักที่แตกเป็นฝักเป็นฝ่าย และกลุ่มพระสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช วัดราชา เมืองลพบุรี เป็นฐานกำลังสำคัญและอาจใช้เป็นกำลังรบหากจำเป็น ต่อมาออกพระเพทราชาได้ให้เจ้าพระยาสุรสงครามซึ่งเป็นบุคคลที่พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) นับถือ ให้ไปบอกความว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) จึงถูกจับกุมตัวไปประหารชีวิตในคราวนั้น
"เมื่อวันที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัตินั้น ฟอลคอนได้รับคำสั่งให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมกับนายทหารฝรั่งเศสอีก ๔ นาย มีอาวุธครบมือ เมื่อเข้ามาในบริเวณพระราชวัง พระเพทราชาและขุนนางกลุ่มหนึ่งคอยดักพบและจับกุมตัวไปสำเร็จโทษโดยที่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้า จากนั้นบ้านหลวงรับราชทูตก็ถูกตรวจค้น มาดามฟอลคอนภรรยาและลูกถูกจองจำ และปลดจากบรรดาศักดิ์ทุกระดับชั้น"
พันตรีโบชอง ผู้คุ้มกันฟอลคอนในขณะนั้น ได้เขียนบรรยายเหตุการณ์ไว้ว่า :-
"เมอซิเออร์ก็องสต๊องส์เริ่มวิตกว่าจะไม่ได้พบพระเจ้าแผ่นดินและสังเกตเห็นว่าทหารต่างๆ ที่จุกช่องล้อมวงพระราชวังได้พยายามเข้ามาหาข่าวจากทหารที่ข้าพเจ้านำขึ้นไปจากบางกอกซึ่งประจำกองอยู่ใกล้ๆ กับพวกเขา เขาลงความเห็นว่าคงจะเกิดอะไรที่เลวร้ายสักอย่างหนึ่งเป็นแน่ จึงสั่งให้ข้าพเจ้าไปแจ้งกับทหารฝรั่งเศสว่าห้ามพูดคุยกับผู้อื่น"[77]: 9
วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2231 กองทหารฝรั่งเศสซึ่งประจำการอยู่ ณ บางกอก และเมืองมะริด (ทวาย) เปิดฉากรบปะทะต่อสู้กับฝ่ายสยามอันเป็นผลมาจาก นายพลเดส์ฟาร์จ (Chevalier Desfarges) แข็งข้อและไม่ยอมปฏิบัติตามความต้องการของออกพระเพทราชา[78] ต่อมาฝ่ายอยุธยาส่งทหารไปยังเมืองมะริด (ทวาย) เพื่อขับไล่กองทหารฝรั่งเศสอีกทาง จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน กองทหารฝรั่งเศสที่เมืองมะริด (ทวาย) จึงเดินทางออกจากสยามไป ส่วนการรบพุ่งกับกองทหารฝรั่งเศสที่บางกอกยังคงยืดเยื้อต่อไปจนถึงปลายปี พ.ศ. 2231
วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต ออกพระเพทราชาจึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินและสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวว่า[79][80][81]: 161
"ครั้นพระนารายณ์สวรรคตแล้ว เสนาอำมาตย์ทั้งปวงจึงปรึกษากันทั้งสิ้นแล้วก็พร้อมกันด้วยใจจงรักภักดีที่จักเอาเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์[หมายเหตุ 4]ให้ครอบครองกรุง ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์นั้นมิได้สมัคยอมใจที่จะครองกรุง จึงปรึกษากันกับเสนาทั้งปวงว่าใหญ่กว่าเรานี้ยังมีอยู่ แล้วเราได้เรียกว่าเปนบิดาคือเจ้าพระยาสุรศรี[หมายเหตุ 5] เปนยอดใหญ่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา แล้วก็ดีที่ในการบุราณทั้งชื่อสัตย์ มีอัชฌาอาศรัยทั้งใจตรงแล้วมีสติปัญญาทั้งศรัทธาวิรียก็บริบูรณ์อันเสนาทั้งปวงก็มิได้ยอมใจ ด้วยมิใช่เปนเชื้อเนื้อหน่อองค์พระนารายน์ ก็จำเปนจำต้องยอมใจด้วยบทพระธรรมนูญและอย่างธรรมเนียม ก็มีมาสิได้เรียกว่าเปนบิดาแล้วก็ควรที่จักทำการราชาภิเศก จึงยินยอมพร้อมใจกันทั้งสิ้นให้เจ้าพระยาสุรศรีครอบครองกรุง"
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2231 หลังจากฝ่ายอยุธยากับฝรั่งเศสต่อสู้กันยืดเยื้อนานถึง 4 เดือน นายพลเดส์ฟาร์จ (Chevalier Desfarges) กับนายโวลอง เดส์ แวร์แกง (Volland Des Vergens)[82]: 216 รวมทั้งกองทหารฝรั่งเศสที่รักษาการอยู่ที่ป้อมบางกอกจำนวน 250 คน ยอมยกธงขาว นายพลเดส์ฟาร์จ จึงได้ลงนามทำสัญญาสงบศึกต่อสมเด็จพระเพทราชา[83]: 11
สัญญาสงบศึกของสมเด็จพระเพทราชา ปรากฏใน เอกสารของนายโวลอง เดส์ แวร์แกง ประกอบด้วย 9 ข้อ ดังนี้[84]: 22–24
๑. พระเจ้าแผ่นดินสยามจะให้ชาวฝรั่งเศสยืมเรือ ๒ ลำ พร้อมอุปกรณ์ครบเพื่อที่จะบรรทุกทหารฝรั่งเศสทั้งหมด เดินทางออกไปจากสยาม โดยฝ่ายไทยจะนำเรือมาจอดไว้ให้ฝรั่งเศสตรวจสภาพก่อนออกเดินทาง
๒. ให้ท่านสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส และคณะบาทหลวง พร้อมด้วยนายเวเรต์เป็นตัวประกันจนกว่าที่เรือทั้ง ๒ ลำ จะถูกส่งกลับคืนมาและจนกว่าจะมีการส่งมอบเงินรายได้จากการค้ากับบริษัทฝรั่งเศสซึ่งฟอลคอนอ้างว่าเป็นของตน
๓. ให้กองทหารฝรั่งเศสที่รักษาป้อมออกจากป้อมได้โดยมีพิธีการตามที่ปฏิบัติกันในยุโรป และให้นำสิ่งของที่เป็นของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสกลับไปด้วย เช่น ปืนใหญ่ ดินปืน ระเบิดมือ ฯลฯ และให้ชาวสยามจัดหาเสบียงอาหารและของจำเป็นอื่นๆ ให้เพียงพอระยะเวลา ๑ ปี โดยชาวฝรั่งเศสจะเป็นผู้จ่ายเงิน
๔. ให้บาทหลวงทำงานเผยแผ่ศาสนาต่อไปได้อย่างเสรี
๕. ให้บาทหลวงเจซูอิตเป็นผู้เลือกเองว่าจะดำเนินงานต่อไป หรือจะออกไปจากอาณาจักร โดยได้รับสิทธิพิเศษตลอดจนเกียรติยศตามเดิม
๖. ให้บริษัทการค้าฝรั่งเศสดำเนินกิจการต่อไปได้โดยได้รับสิทธิพิเศษตามเดิม
๗. เพื่อให้เกิดความมั่นใจในสัญญาและมิให้ผิดสัญญากันทั้งสองฝ่าย ให้มีตัวประกันทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายไทยเป็นขุนนางระดับสูง ส่วนทางฝรั่งเศสได้แก่นายพลจากป้อมบางกอก เมอซิเยอร์ เชอวาลิเย่ร์ เดส์ฟาร์จ และนายเวเรต์
๘. ให้ตัวประกันฝ่ายสยามลงเรือลำเดียวกับนายพลเดส์ฟาร์จ ส่วนตัวประกันฝ่ายฝรั่งเศสจะลงเรืออีกลำหนึ่งตามไปในระยะไม่เกินวิถีกระสุน และการแลกเปลี่ยนตัวประกันจะกระทำเมื่อถึงด่านขนอนสุดท้ายที่ปากน้ำ
๙. ในทุกกรณี ให้นายพลเดส์ฟาร์จคืนป้อมบางกอกให้แก่พระเจ้ากรุงสยาม ตามสภาพที่เป็นอยู่ขณะนั้นพร้อมด้วยทุกอย่างที่เคยเป็นของพระเจ้ากรุงสยาม
นายพลเดส์ฟาร์จจึงคุมทหารฝรั่งเศสออกไปอย่างสันติโดยเรือ 2 ลำชื่อสยามกับละโว้ นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชายังทรงให้ยืมเงิน 45,000 แฟรงค์ เพื่อเป็นค่าเดินทางพร้อมปล่อยตัวบุตรชายของนายพลเดส์ฟาร์จ 2 คน และยังมีชาวฮอลันดาช่วยหาเรือและจัดเสบียงอาหารแก่พ่อค้าและบาทหลวงชาวฝรั่งเศส กองกำลังทหารฝรั่งเศสจึงได้เดินทางนอกกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2231[85]: 310
แม้มีข้อสัญญาสงบศึก ปรากฏว่ามีบรรดาบาทหลวงบางส่วน และชาวคริสเตียนถูกจับขังจำนวนมาก โบสถ์คริสต์ถูกปิดและถูกปล้นทำลาย การเผยแพร่คริสต์ศาสนาที่เคยรุ่งเรืองในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็อยู่ในสภาพตกต่ำจนต้องล้มเลิกไปตลอดรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มีคณะบาทหลวงฝรั่งเศสที่ยังพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ได้เขียนบันทึกความโหดเหี้ยมทารุณกรรมนักโทษชาวคริสเตียน และยังออกไปให้ทำงานหนักหลายอย่างตั้งแต่เช้าจรดเย็น เช่น ขนดิน ขนอิฐ ขนขยะ ล้างท่อ ล้างที่ทิ้งอุจจาระ ลากเสา ลางซุง เป็นต้น
ปรากฏใน จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ความว่า :-
"ในครั้งนั้นบรรดาชาวต่างประเทศมีความประหลาดใจมากที่ได้เห็นชาวยุโรปในเมืองไทย ทั้งนักเรียนอายุ ๑๓ ขวบ ๑๔ ขวบ ตลอดจนมิชชันนารีซึ่งหน้าตาแสดงความบริสุทธิ์ของตัว ต้องถูกลากไปตามถนน และถูกบีบคั้นไม่ผิดกันกับพวกผู้ร้ายอย่างสำคัญและผู้ร้ายที่ฆ่าคนตาย ถ้าพวกคริสเตียนล้มลงด้วยอ่อนเพลียเพราะความไม่สบาย หรือแดดเผาจนร้อน หรือเหน็ดเหนื่อยเต็มที ประเดี๋ยวก็ต้องลุกขึ้นได้ด้วยไม้ตี ในตอนเช้าเวลาเดินไปทำงานและตอนเย็นเวลากลับ พวกนี้ต้องขอทานตามประตูบ้านและตามร้านทุก ๆ แห่ง พวกชาวบ้านก็ให้ข้าวบ้าง ปลาเค็มบ้าง เบี้ยซึ่งใช้กันต่างเงินบ้าง และให้เหมือนกับนักโทษไทยและมอญที่ต้องร้อยโซ่ติดเป็นพวงเดียวกันไป"[86]: 12–13
กบฏธรรมเถียร หรือกบฎพระมอญ[87]: 439 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2233[88]: 28 ราวเดือนเมษายน ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ผู้ก่อกบฏชื่อ ธรรมเถียร เป็นพระสึกใหม่เคยต้องโทษอาญาที่ตะนาวศรี และเป็นบัณฑิต[89]: 66 อาศัยอยู่แขวงเมืองนครนายก[90]: 9 เคยเป็นข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศ หลังสมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าฟ้าอภัยทศจึงถูกสำเร็จโทษ ธรรมเถียรจึงหนีไปบวชระยะหนึ่ง หลังจากสึกจึงคิดก่อกบฏหมายจะชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระเพทราชา โดยใช้อุบายหลอกลวงชาวบ้านด้วยการปลอมตัว และประกาศตนเองแอบอ้างว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ และยังทำกิริยาและน้ำเสียงพูดจาเหมือนพระขวัญ[91] ชาวบ้านต่างพากันหลงเชื่อเป็นอันมากเนื่องจากธรรมเถียรติดไฝดำไฝแดงที่ใบหน้า[92]: 251 จึงคล้ายกับพระพักตร์ของเจ้าฟ้าอภัยทศ และชาวบ้านต่างเลื่องลือว่าพระขวัญนี้มีบุญญาธิการ
ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ความว่า :-
"ลุศักราช ๑๐๔๒ ปีชวด ฉศก ขณะนั้นเกิดกบฏ ไอ้ธรรมเถียรข้าหลวงเดิมเจ้าฟ้าอภัยทศ เป็นจราจลในจังหวัดแขวงหัวเมืองนครนายก และอ้ายธรรมเถียรกระทำการโกหกติดไฝที่หน้าให้เหมือนเจ้าฟ้าอภัยทศ สำแดงแก่ชาวชนบทประเทศทั้งปวงว่าตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ"[93]: 499
ธรรมเถียรจึงได้ขี่ช้างพลายกาง พร้อมทาสควาญช้างคนสนิทชื่อ คุลา หรือกุลา[94]: 79 ยกพรรคพวกซ่องสุมผู้คนเรื่อยมาตั้งแต่เมืองสระบุรีและขุนละครมีผู้คนทั้งชาวบ้านชาวนาต่างหอบดาบ คันหลาว คานหอบข้าว และเคียวเข้าร่วมกบฏเป็นจำนวนมาก[95]: 143
เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2233 ธรรมเถียรยกกองกบฏมาตั้งที่พระตำหนัก พระราชวังหลวง ตั้งอยู่ทางเหนือใกล้กับกรุงศรีอยุธยา ยังมีขุนนางเข้าร่วมกบฏธรรมเถียรด้วย เช่น หลวงเทพราชา ผู้รักษาวัง เข้าร่วมกบฏพร้อมนำเครื่องสูงมาให้ ขุนศรีคชกรรม์เข้าร่วมกบฏพร้อมนำช้างพลายมงคลรัตนาศน์มาให้[96]: 363 ธรรมเถียรจึงตั้งให้เป็นอำมาตย์ให้ขึ้นขี่ช้างกั้นเศวตฉัตรคุมพรรคพวกประมาณ 2,000 คน[97] แล้วจึงให้พรรคพวกคนสนิทลอบไปนิมนต์พระพรหม เจ้าอาวาสวัดปากคลองช้าง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเจ้าฟ้าอภัยทศ บอกความแก่เจ้าอาวาสว่าเจ้าฟ้าอภัยทศ เสด็จมาอยู่ที่ตำหนักพระราชวังหลวงได้ 3 วันแล้ว พระพรหมเจ้าอาวาสได้ฟังนั้นจึงกล่าวความแก่คนสนิทธรรมเถียร พวกคนสนิทได้ฟังนั้นจึงกลับไปบอกความกันแล้วต่างพากันแตกหนีออกมา ความว่า :-
"ถ้าแลลูกกูอยู่จริง ไหนเลยจะอยู่แต่ที่พระนครหลวงเล่า สูเจ้าอย่าเชื่อถือ ถ้าแลผู้ใดเชื่อถือมัน ผู้นั้นก็จะพลอยตายเสียเปล่าเป็นมั่นคง"[98]: 232
เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2233 รุ่งเช้าวันถัดมาธรรมเถียรขึ้นขี่ช้างจัดแจงเครื่องสูงอย่างเจ้าเสด็จ แล้วรี้พลพร้อมศัสตราวุธต่างๆ มาทางคลองบ่อโพง (ตำบลบ่อโพง) เข้ามายังเพนียดคล้องช้างอย่างไร้ระเบียบ ในขณะนั้นกรมพระราชวังบวรพระมหาอุปราชสรศักดิ์ กำลังเสด็จทรงช้างพระที่นั่งอยู่ มีผู้มากราบทูลกรมพระราชวังบวรจำนวนมากจึงทรงตกพระทัยแล้วมีพระราชบัณฑูรให้ตำรวจไปสืบดู และทราบว่าเจ้าฟ้าอภัยทศยกทัพมา กรมพระราชวังบวรทรงตรัสแก่ พันชัยธุช ซึ่งขี่ควายถือธงนำทัพกบฏธรรมเถียรเข้ามายังเพนียด ว่า "ยกมาก็สู้กัน เราจะกลัวอะไร"[99]
ต่อมากรมพระราชวังบวรพระมหาอุปราชสรศักดิ์ มีพระบัณฑูรตรัสให้ ขุนอินทราธิบาล นำมูลเหตุไปกราบทูลสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเพทราชาจึงทรงช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬเสด็จไปวังหน้าและมีรับสั่งให้มหาดเล็กอัญเชิญ พระแสงขอพลพ่าย[หมายเหตุ 6] ซึ่งเป็นพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อคราวชนช้างกับพระมหาอุปราชาแล้วทรงฟัดคอขาดด้วยพระแสงนี้ เพื่อใช้เป็นศาสตราวุธรบทัพจับศึกกบฏธรรมเถียรในคราวนั้น ส่วนกรมพระราชวังบวรเสด็จกลับรอรับศึกที่พระนครแทนตามคำกราบทูลของ เจ้าพระยาธรรมา เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง จึงไม่ได้ทรงเสด็จรับศึก ณ ที่ เพนียด
เมื่อกรมพระราชวังบวรพระมหาอุปราชสรศักดิ์ เสด็จไปถึงบนป้อมมหาไชย ธรรมเถียรจึงขี่ช้างเข้ามาทางวัดมหาโลก กรมพระราชวังบวรจึงมีพระบัณฑูรตรัสให้ตำรวจไปดูให้แน่แล้วทรงทราบว่าไม่ใช่เจ้าฟ้าอภัยทศ จึงมีพระบัณฑูรให้ยิงปืนใหญ่ 8 กระบอก และทรงตั้งสัตยาธิษฐานก่อนยิงปืนใหญ่ว่า
"ข้าแต่เทพยดาสุรารักษ์ อันสิงสู่รักษาปืนใหญ่นี้ ถ้าแลข้าพเจ้าบุญน้อยมีอาจสามารถจะดำรงสมบัติ์ไว้ได้ แลจะถึงปราไชยแก่ประจามิตร์แล้ว แลจะจุดปืนบัดนี้ขอให้ปืนจงแตกออกต้องข้าพเจ้า ให้ถึงแก่ชีวิตร์อันตรายเถิด ถ้าแลข้าพเจ้ามีบุญญาภิสังขารบารมีมาก อาจสามารถจะดำรงสมบัติ์เสวตรฉัตร์เฉลิมแผ่นดินสยามประเทศได้ไซ้ ขอให้กระสุนปืนใหญ่ไปต้องดัสกรพินาศฉิบหายเถิด"[101]: 267
เมื่อยิงปืนใหญ่ออกไปแล้ว กระสุนปืนไปถูกช้างพลายธรรมเถียรจนล้มตาย พลฝ่ายหน้ากบฏธรรมเถียรแตกหนีกระจาย ธรรมเถียรได้รับบาดเจ็บเมื่อได้โอกาสจึงหนีไปซุกซ่อนตัวที่สวนดอกไม้ ณ วัดสีฟัน และถูกจับตัวในวันรุ่งขึ้น ใช้เวลา 3 วัน จึงปราบกบฏธรรมเถียรได้สำเร็จ เค็มพ์เฟอร์ ได้เขียนบันทึกไว้ว่า ธรรมเถียรถูกแห่ประจานทั่วพระนคร 3 วันแล้วจึงถูกประหารชีวิตโดยถูกเพชฌฆาตจับแหวกท้องทั้งเป็นแล้วทิ้งไส้ให้หมากิน[102]: 340 ส่วน คุลา ทาสควาญช้างคนสนิทถูกจับได้ที่ตำบลวัดขนานป่าข้าวสารแล้วถูกประหารชีวิต ช้างพลายที่ยังรอดบางส่วนถูกจับได้นำถวาย ช้างบางส่วนหนีเข้าป่าไปจำนวนมากจนส่งผลให้แขวงเมืองสระบุรี เมืองลพบุรี และแขวงขุนละครร้างหลายตำบล[103]: 218 [104]: 69 บรรดาไพร่พลที่หลงเชื่อเข้าร่วมกับกบฏธรรมเถียรนั้นได้รับการปล่อยตัวไปไม่ได้ถูกลงพระราชอาญา
สมเด็จพระเพทราชาทรงพระราชทานอภัยโทษ ทรงตรัสว่า :-
"มันเป็นคนโมหะ หาปัญญามิได้ ปล่อยมันเสียเถิด อย่าเอาโทษเลย"[105]: 265
กบฏหัวเมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราชเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2234 ในรัชกาลพระองค์[106] คือ กบฏพระยารามเดโช (ชู) ขุนศึกมุสลิมชาวเมืองไทรบุรี และกบฏพระยายมราช (สังข์) ซึ่งเคยเป็นขุนศึกคู่พระทัยและเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้ง พระยารามเดโช (ชู) เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ดูแลหัวเมืองใต้อันห่างไกลต่างพระเนตรพระกรรณ และพระยายมราช (สังข์) เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ครั้นสมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สร้างความไม่พอใจให้พระยารามเดโช (ชู) และพระยายมราช (สังข์) จึงก่อการกบฏแข็งเมืองไม่ยอมถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่กรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้สมเด็จพระเพทราชาทรงพระพิโรธ ปรากฏความว่า :-
"ในศักราช ๑๐๔๘ ปีขาลอัถสกนั้น กรมการเมืองไชยาบอกข้อราชการเข้ามาถึงกรมพระกลาโหม ในลักษณะนั้นว่า เจ้าพระยานครครีธรรมราชเป็นกบฎแข็งเมือง แลซ่องสุมผู้คนเครื่องสาตราอาวุธเป็นอันมากจะยกเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้งปวงได้หัวเมืองทั้งปวงแล้ว จะยกเข้าไปทำลายกรุง อนึ่งนายสังข์ ยมราช เจ้าเมืองนครราชสีมา ซึ่งหนี ไปได้นั้นพาสมัครพรรคพวกออกไปตั้งอยู่ ณ พรมแดนเมืองนครศรีธรรมราช แลแขวงไชยาต่อกัน แลคิดการกบฏเข้าด้วยพระยานครศรีธรรมราชอีก"[107][108]
จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสีหราชเดโช ยกทัพไปตีหัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งพระยายมราช (สังข์) เป็นเจ้าเมืองอยู่ แต่พระยายมราช (สังข์) รักษาเมืองไว้ได้มั่นคง พระยาสีหราชเดโชจึงตีเมืองไม่สำเร็จ สมเด็จพระเพทราชาจึงมีรับสั่งให้กุมตัวแม่ทัพนายกอง แล้วลงพระราชอาญาให้โบย แล้วริบทรัพย์จากนั้นจึงประหารชีวิต ปรากฏใน จดหมายของบาทหลวงโบรลต์ เขียนไปส่งยังกรุงปารีสเมื่อ ค.ศ. 1700 (ปี พ.ศ. 2243) ความว่า :-
"หาไม่คงถูกประหารชีวิตเหมือนขุนนางผู้ใหญ่ ๔๘ คน ที่ไปตีนครราชสีมาไม่สำเร็จ ถูกสงสัยว่าเข้ากับกบฏเลยรับสั่งให้จับมาตระเวนกลางเมืองแล้วสับฟันศีรษะเป็นแฉก ๆ ตัดแขนตัดขาผ่าอกชกต่อยทรมานอย่างน่าทุเรศ แล้วก็ฟันเอาศีรษะขาดไปเสียบไว้ที่บนกำแพงพระนคร"[109]: 638
ต่อมาสมเด็จพระเพทราชาทรงแต่งทัพอีกครั้ง มีพระราชบัญชาโปรดให้อัครมหาเสบาดียกทัพไปตีเมืองนครราชสีมาอีกครั้งจำนวน 4 ทัพ ทหารกองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ใช้กลอุบายเผาเมืองด้วยว่าวจุฬาผูกหม้อดิน[110]: 33 แล้วให้ทหารล่ามสายชนวนไปติดหม้อดินนั้น เมื่อว่าวลู่ลมลอยอยู่เหนือเมืองนครราชสีมาแล้วจึงจุดชนวนขึ้นทำให้หม้อดินระเบิดลุกเป็นไฟแล้วตกลงไปลุกไหม้บ้านเรือนของชาวเมืองนครราชสีมาเกิดความโกลาหลเป็นอันมาก แม้สมัยอยุธยามีกฎมณเฑียรบาลห้ามชักว่าวข้ามพระราชวังหากละเมิดมีโทษถึงตัดมือ[111][112]: 113 แต่ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาได้นำว่าวมาใช้เพื่อปราบกบฏเจ้าเมืองนครราชสีมาจนสำเร็จ[113]: 249 รวมแล้วใช้เวลา 2 ปีเศษ จึงสามารถปราบกบฏพระยายมราช (สังข์) ได้ แต่พระยายมราช (สังข์) และพรรคพวกหลบหนีไปยังเมืองนครศรีธรรมราชได้ สร้างความไม่พอพระราชหฤทัยแก่สมเด็จพระเพทราชาอย่างยิ่ง จึงแต่งทัพโดยมี พระยาสุรสงคราม (ขุนองค์) เป็นแม่ทัพหลวง พระยาเพชรบุรีเป็นเกียกกาย พระยาสุรเสนาเป็นยุกกระบัตร พระยาราชบุรีเป็นทัพหลัง และพระยาราชบังสัน (ฮัสสัน หรือ หะซัน)[114]: 186 เป็นผู้คุมทัพเรือรวมเป็นกองทัพกรุงศรีอยุธยาโดยมีกำลังพล[115]: 145 10,000 นาย กองช้าง 300 เชือก เรือรบ 100 ลำ และทหารสบทบอีก 500 นาย แล้วจึงโปรดให้ยกทัพทั้งหมดลงไปสมทบกันที่เมืองไชยา
ครั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพทางบกและเรือเข้ามาประชิดถึงบ้านท่าข้าม บริเวณค่ายหัวควนท่าข้ามซึ่งเป็นตั้งของชุมนุมพระยายมราช (สังข์) จึงเข้าปะทะกันเป็นเพลาหลายวันจนกระทั่งชุมนุมพระยายมราช (สังข์) แตก พระยายมราช (สังข์) และพรรรคพวกถึงแก่กรรม ต่อมาพระยาสุรสงคราม (ขุนองค์) จึงยกทัพหลวงเข้าโจมตีเมืองนครศรีธรรมราชโดยมีพระยารามเดโช (ชู) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พร้อมบุตรชาย 2 คน ชื่อ ตวนกูนาด และตวนกูกลาย เป็นขุนศึกร่วมรบ ทั้งสองฝ่ายรบปะทะกันอย่างดุเดือดเป็นสามารถ สงครามยืดเยื้อยาวนานถึง 3 ปี ทัพของพระยาสุรสงคราม (ขุนองค์) จึงเข้าล้อมเมืองนครศรีธรรมราชทำให้ทัพพระยารามเดโช (ชู) ไม่อาจสู้รบต่อได้จึงพากันหลบหนีฝ่ากองทัพกรุงศรีอยุธยา พระยารามเดโช (ชู) กับพวกหนีไปทางตะวันออกได้ชิงเอาเรือของทัพพระยาราชบังสัน (ฮัสสัน) แล้วหนีไปเมืองไทรบุรีได้สำเร็จ ต่อมาพระยาราชบังสัน (ฮัสสัน) ผู้คุมทัพเรือถูกพระยาสุรสงคราม (ขุนองค์) ประหารชีวิตเนื่องจากถูกจับได้ว่าแอบช่วยศัตรูให้หลบหนีไปได้
กบฏเมืองปัตตานี[116]: 43 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2234[117]: 200 รายามัสกลันตัน (โมรหุมกลันตัน)[118] ผู้ครองราชอาณาจักรปัตตานีในขณะนั้นประกาศไม่ยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเพทราชาโปรดฯ ให้ยกทัพไปปราบเมืองปัตตานีครั้งแรกแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาปี พ.ศ. 2235 โปรดฯ ให้ยกกองทัพหนุนไปปราบอีกครั้งแต่ก็ไม่สามารถปราบเมืองปัตตานีได้[119]: 69 เมืองปัตตานีจึงประกาศตนเป็นเมืองเป็นอิสระ[120]: 6 ไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาไปจนสิ้นสมัยกรุงธนบุรี
จดหมายเหตุโหร กล่าวว่า :-
ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๐๕๒ พระเพทราชาเป็นเจ้ามาจนทุกวันนี้ ปีนี้ต้องยกกองทัพกรุงไปปราบเมืองตานี
ปีมะแม จ.ศ. ๑๐๕๓ ต้องยกกองทัพกองหนุนไปปราบเมืองตานี[121]: 5
เหตุที่ไม่สามารถปราบเมืองเมืองปัตตานีได้เนื่องจากเมืองปัตตานีเป็นเมืองที่มีความชำนาญในการหล่อโลหะ โดยเฉพาะการหล่อปืนใหญ่ซึ่งเมืองปัตตานีมีปืนใหญ่ประจำเมือง 3 กระบอก ปรากฏว่าได้ใช้ปืนใหญ่ในการศึกสงครามกับฝ่ายกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง รวมทั้งการศึกสงครามครั้งสมเด็จพระเพทราชานี้ด้วย[122]: 53
มีเหตุสืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์แรม 13 ค่ำเดือน 6 จุลศักราช 1057 ปีกุน ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2238 ขุนนางไทยชื่อ สละวุต หรือ สารวัตร กับพวก 100 คน[123]: 50 อาจเป็นพวกนครราชสีมาหรือพวกกบฏธรรมเถียร หนีไปไปสวามิภักดิ์ต่อพม่าในรัชกาลพระเจ้ามังกะยอดิน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวว่า :-
ครั้น ณ วัน ๑ ๑๓ ฯ ๖ จุลศักราช ๑๐๕๗ อำมาตย์ของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ชื่อสารวัตรถือพลทหาร ๑๐๐ เศษ กับช้าง ๕ เชือกเข้ามาถวายที่พระเจ้าอังวะ[124]: 193
กาลต่อมาพระเจ้ามังกะยอดินเสด็จสวรรคตเมื่อปีขาล พ.ศ. 2241 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าสเน่ห์มิน พระราชโอรสจึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อ ในพงศาวดารพม่า กล่าวว่า เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2242 พระเจ้าสเน่ห์มิน ได้เตรียมกองทัพพม่าจะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา แต่มีเหตุใดอย่างหนึ่งพระเจ้ากรุงอังวะจึงไม่ได้ยกทัพมา[123]: 50 ส่วน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวแตกต่างจากพงศาวดารไทยออกไปว่า เมื่อวันอาทิตย์แรม 6 ค่ำเดือน 7 จุลศักราช 1061 ตรงกับวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2242 พระเจ้าสเน่ห์มินกรุงอังวะมีรับสั่งให้ทำกลองพิไชยฤกษ์ และทำธง 2 คู่ลงยันต์และเวทมนต์ คู่หนึ่งเป็นธงพระนเรศและธงอีกคู่เป็นธงราชสีห์เพื่อเป็นเคล็ดในการศึกสงคราม
ปรากฏใน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ความว่า :-
ครั้น ณ วัน ๑ ๖ฯ ๗ จุลศักราช ๑๐๖๑ พระเจ้ากรุงอังวะพระองค์ทรงตรัสให้ทำกลองพิไชยฤกษ แลเขียนธงเปนรูปพระนเรศคู่ ๑ เปนราชสีห์คู่ ๑ ธง ๒ คู่นี้ทำด้วยยันต์แลเวทมนต์ ที่ทรงทำขึ้นนี้สำหรับไปตีกรุงศรีอยุทธยา[124]: 193
เมื่อวันอังคารขึ้น 3 ค่ำเดือน 11 จุลศักราช 1061 ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2242 พระเจ้าสเน่ห์มินทรงจัดทัพพม่ามีช้างม้าและพลทหารจำนวนมาก มีรี้พลมา 2 เส้นทาง แบ่งเป็นทางเมืองเชียงใหม่มี 6 กองเป็นทัพที่หนึ่ง และเมืองเมาะตะมะมี 6 กอง เป็นทัพที่สอง เข้าใจว่าเมื่อฝ่ายกรุงศรีอยุธยาทราบข่าวศึก สมเด็จพระเพทราชาทรงจัดทัพเตรียมรับศึกพม่าในครั้งนี้
เมื่อวันพุธขึ้น 2 ค่ำเดือน 1 ตรงกับวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2242 (ปีปฏิทินไทยในปัจจุบันนับเป็น พ.ศ. 2243) ทัพฝ่ายพม่าทัพที่ 2 ยกทัพเคลื่อนพลออกจากเมืองเมาะตะมะจนมาถึงตำบลอองสาจึงเข้าปะทะกับทหารฝ่ายกรุงศรีอยุธยา แต่ทัพฝ่ายพม่าพ่ายแพ้แตกถอยทัพหนีกลับไปยังเมืองเมาะตะมะ ส่วนทัพฝ่ายพม่าจากเมืองเชียงใหม่ก็พ่ายแพ้แก่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน
มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวว่า :-
ครั้น ณ วัน ๓ ๓ฯ ๑๑ จุลศักราช ๑๐๖๑ ครั้นได้มหาพิไชยฤกษ ให้ยกไปทางเมืองเชียงใหม่ไปตีกรุงศรีอยุทธยา พวกชื่อนายทัพนายกองนั้น คือ มางแรนะราสิหพล ๑ ไชยจอถิง ๑ ชอยระสังรัน ๑ รันตสูร ๑ แล๊ดยาไชยะสู ๑ ไป้สั่งรันนายทหารม้ากอง ๑ ใน ๖ กองนี้มีช้างม้าแลพลทหารเปนอันมาก แต่ ๖ กองนี้ให้ไปทางเชียงใหม่ ทางเมืองมุตมะนั้นทรงตรัสให้นันทมิตจอถิงพล ๑ นันมิต ๑ ภยะนันมิต ๑ ภยะไชย ๑ ภยะราชสูอามะคไ ๑ แรโยธานายทหารม้ากอง ๑ รวม ๖ ทัพนี้ให้ยกจากเมืองมุตมะในวันที่ ๔ ๒ฯ ๑ ปีนั้น แต่กองทัพที่ยกไปจากเมืองมุตมะนั้น ครั้นถึงตำบลอองสาก็ได้รบกันกับอยุทธยาก็เสียทีกองทัพอยุทธยาแตกหนีถอยหนีมาที่เมืองมุตมะ กองทัพ ๖ กองที่ยกไปทางเชียงใหม่นั้น ก็เสียทีแก่อยุทธยาแตกหนีถอยมาเหมือนกัน[124]: 193–194
ภายหลังจากที่พม่าพ่ายให้แก่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าสเน่ห์มินแห่งกรุงอังวะก็ยังทรงจัดทัพพม่าเพื่อทำสงครามกับฝ่ายกรุงศรีอยุธยาและเมืองเชียงใหม่อีก แต่ไม่ปรากฏว่าเหตุการณ์การรบกันอย่างไรและผลการศึกสงครามต่อจากนี้ไม่มีบันทึกว่ามีฝ่ายใดแพ้ชนะ โดยเมื่อวันพุธขึ้น 5 ค่ำเดือน 3 ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2243 พระเจ้าสเน่ห์มินมีรับสั่งจัดทัพพม่าโดยมีนายทัพชื่อ พันธุกาภยะ เป็นแม่ทัพ ให้ยกพลฝ่ายพม่าจากเมืองเมาะตะมะไปยังกรุงศรีอยุธยา และมีรับสั่งให้ สังแคตี่น เป็นแม่ทัพให้ยกทัพฝ่ายพม่าจากเมืองเมาะตะมะเข้าตีเมืองเชียงใหม่
มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวว่า :-
ในปีนั้น ณ วัน ๔ ๕ฯ ๓ มีรับสั่งให้พันธุกาภยะให้ยกจากเมืองมุตมะไปตีกรุงศรีอยุทธยาอิก (แต่ไม่ปรากฏว่ารบกันอย่างไร) ครั้นแล้วมีรับสั่งให้สังแคตี่นเปนแม่ทัพยกจากเมืองมุตมะไปตีเมืองเชียงใหม่อิก (แลไม่ปรากฏว่ารบพุ่งกันอย่างไรมีแต่ว่ายกไปเท่านั้น)[124]: 194
เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2246[123]: 50 มีชาวอยุธยาพวกหนึ่งอพยพไปพึ่งพระเจ้าสเน่ห์มิน และปีต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็มีชาวอยุธยาอพยพไปอีกพวกหนึ่ง อาจเป็นพวกเจ้าฟ้าพระขวัญ พระราชโอรสของพระเพทราชาก็เป็นได้
มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวว่า :-
ครั้น ณ วัน ๕ ๑๐ ฯ ๖ จุลศักราช ๑๐๖๕ ชาวชาติอยุทธยาเข้ามาสวามิภักดิ์ที่พระเจ้ากรุงอังวะ ครั้น ณ วัน ๔ ๗ฯ ๙ จุลศักราช ๑๐๖๗ พวกอยุธยาเข้าสวามิภักดิ์แล้วเจ้าเมืองมุตมะส่งขึ้นมาถวายยังใต้ฝ่าพระบาทพระเจ้ากรุงอังวะ[124]: 194
เหตุการณ์พม่ารบกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชานี้ไม่มีบันทึกในพงศาวดารไทย
เมื่อปี พ.ศ. 2239 ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาเกิดไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ (Smallpox) ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เดือนมกราคม เด็กและผู้ใหญ่ต่างป่วยไข้ทรพิษล้มตายจำนวนมากเกือบ 80,000 คน[125]: 49 วัดต่างๆ ไม่มีที่ฝังศพ และมีศพคนตายนอนเกลื่อนกลาดตามทุ่งนาเป็นอันมาก ในขณะเกิดโรคระบาดนี้ สมเด็จพระเพทราชามีรับสั่งให้แพทย์ออกไปรักษาราษฎรที่ป่วยไข้ พร้อมพระราชทานยาและเงินแก่ราษฎรกันทั่วหน้า[126] และยังทรงแสดงความเป็นพุทธศาสนิกชนด้วยการจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระทั้งในและนอกพระนครหลายครั้ง นับว่าเหตุการณ์ไข้ทรพิษระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา[127]
นอกจากโรคระบาดแล้ว ยังเกิดฝนแล้งและข้าวยากหมากแพงจนหาซื้อไม่ได้ ทำให้ราษฎรวิตกเป็นอันมาก แต่แล้วเมื่อเดือนกันยายนเกิดฝนตกมากผิดปกติถึงเดือนพฤศจิกายนจนน้ำเข้าท่วมทุ่งนาถึง 2 เดือน สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงจัดการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรให้เบาบางลง ซึ่งมีบันทึกในหลักฐานชั้นต้นเป็นจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส 2 ฉบับ เรื่อง ที่กรุงศรีอยุธยาเกิดไข้ทรพิษ[128]: 618 คือ จดหมายมองซิเออร์ ปินโต (Antoino Pinto) ถึงมองซิเออร์ บาเซต์ วันที่ ๑๐ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๖ (พ.ศ. ๒๒๓๙) ฉบับหนึ่ง และจดหมายมองซิเออร์ โปเก (Pocquet) ถึง ผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ วันที่ ๒๗ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๙๖ (พ.ศ. ๒๒๓๙) อีกฉบับหนึ่ง ใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน ความว่า :-
"ครั้นอยู่มาศักราช ๑๐๖๐ ปีเถาะเอกศก (พ.ศ. ๒๒๔๑)..." "...ขณะนั้นให้เกิดพยาธิโรคป่วยไข้ชนก็ตายเป็นอันมาก ในปีนั้นน้ำมากเหลือขนาดท่วมไร่นาเรือกสวน"[129]: 419
แม้ความในพระราชพงศาวดารคลาดเคลื่อนจากจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสทั้ง 2 ฉบับถึง 2 ปี แต่ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ 11 ระบุว่า "...พ.ศ. ๒๒๔๑ ตรงในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา"[130]: 193 (ตรงกับปีที่พระเจ้าอังวะศิริปวรมหาธรรมราชา หรือ พระเจ้ามังกะยอดิน สิ้นพระชนม์เมื่อปีขาล) ส่วน สุวิทย์ ธีรศาศวัต ระบุว่า ความในพระราชพงศาวดารที่กล่าวมาเป็นปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2246-51)[131]: 128
กบฏบุญกว้างเป็นกบฎลาว เกิดกบฏขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2241[132]: 35 [133]: 87 รัชกาลของสมเด็จพระเพทราชา[134] นายบุญกว้าง เป็นชาวลาวอยู่แขวงเมืองลาวตะวันออก[135] ได้แสดงตัวว่าเป็นผู้วิเศษมีความรู้วิชาคาถาอาคมไสยศาสตร์ นายบุญกว้างนำพรรคพวก 28 คนเข้ายึดเมืองนครราชสีมา โดยทำคุณไสยปราบเจ้าเมืองและเหล่าขุนนาง[136]: 19 ปรากฏความใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล ความว่า :-
"ลุศักราช ๑๐๕๔ ปีวอก จัตวาศก ขณะนั้นเกิดกบฎลาวคนหนึ่งชื่อบุญกว้าง อยู่ ณ แขวงหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก มีความรู้วิชาการดี แลมีสมัครพรรคพวก ๒๘ คน คิดอ่านทำการกบฏตั้งตัวว่าเป็นผู้มีบุญ..."[137]
พระยานครราชสีมาไม่สามารถปราบได้ จึงปรึกษากับกรมการเมืองแล้วทำกลอุบายล่อลวงให้นายบุญกว้างยกทัพไปตั้งที่เมืองลพบุรี และหมายจะให้ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา นายบุญกว้างเห็นชอบด้วยแต่หารู้ไม่ว่าเป็นกลอุบาย จึงให้พระยานครราชสีมาจัดทัพประกอบด้วยกำลังพลกว่า 4,000 นาย ช้าง 84 เชือก ม้า 100 ตัว พร้อมศาสตราวุธเป็นดาบ หอก ทวน และปืนครบถ้วน[138]: 152 ครั้นพระยานครราชสีมาจัดทัพให้นายบุญกว้างเสร็จ นายบุญกว้างจึงได้ยกทัพออกจากเมืองนครราชสีมาผ่านมายังเมืองบัวชุม เมืองชัยบาดาลแล้วมาตั้งทัพที่เมืองลพบุรี ซ่องสุมผู้คนได้เป็นจำนวนมาก
ต่อมา พระยานครราชสีมาจึงแต่งหนังสือลับถึง เจ้าพระยาจักรี เสนาบดีสมุหนายก ให้นำขึ้นกราบทูลพระกรุณาแก่สมเด็จพระเพทราชาทราบมูลเหตุทั้งปวง และฝ่ายกรมการเมืองสระบุรี เมืองบัวชุม เมืองชัยบาดาล จึงแต่งหนังสือถึงเจ้าพระยาจักรีด้วยเช่นกันว่าเมืองนครราชสีมาเป็นกบฏ เจ้าพระยาจักรีสมุหนายก จึงนำหนังสือทั้ง 2 ฉบับขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเพทราชา เมื่อทราบมูลเหตุแล้วจึงทรงพระพิโรธมีดำรัสสั่งอัครมหาเสนาบดีให้เตรียมกำลังพล โดยจัดให้พระยาสุรเสนาเป็นแม่ทัพหลวง และท้าวพระยาอาสาหกเหล่าทั้งปวงเป็นยุกระบัตร เกียกกาย กองหน้า และกองหลังยกทัพไปตีทัพนายบุญกว้างที่เมืองลพบุรี
ครั้นพระยาสุรเสนาเคลื่อนทัพหลวงจากกรุงศรีอยุธยาใกล้ถึงเมืองลพบุรี จึงทำหนังสือลับแก่พระยานครราชสีมานัดกองทัพเข้าล้อมทัพนายบุญกว้างพร้อมกัน เมื่อทัพหลวงของพระยาสุรเสนากับทัพพระยานครราชสีมาเข้าล้อมเมืองลพบุรีแล้วจึงจับกุมนายบุญกว้างและพรรคพวกรวม 28 คน แล้วส่งไปลงพระราชอาญาที่กรุงศรีอยุธยา นายบุญกว้างและพรรคพวกจึงถูกประหารชีวิตทั้งหมด
ผลจากการเกิดกบฏหลายครั้ง สมเด็จพระเพทราชาทรงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง[139]: 311 ดังนี้ โดยกำหนดให้ เจ้าพระยาจักรี อัครมหาเสนาบดีสมุหนายกฝ่ายพลเรือน ดูแลกำกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ และกำหนดให้ เจ้าพระยามหาเสนาบดี เสนาบดีสมุหพระกลาโหมฝ่ายทหาร ดูแลกำกับหัวเมืองฝ่ายใต้ เพื่อลดทอนอำนาจเจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ลง และยังเพิ่มกำลังทหารแก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกด้วย
สืบเนื่องจากคณะราชทูตสยามที่ไปเจริญสัมพัมธไมตรีกับกรุงฝรั่งเศสมีเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี (ฤทธิ์) อุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต ได้มีโอกาสดูงานด้านการพิมพ์ในกรุงปารีส[140]: 39 ซึ่งในขณะนั้นฝรั่งเศสมีหนังสือพิมพ์ชื่อ แมกือ กาลัง (Mercure Galant)[141]: 131 พิมพ์ออกจำหน่าย ได้ลงข่าวคณะราชทูตสยามครั้งนี้ด้วย เมื่อคณะราชทูตสยามกลับมายังกรุงศรีอยุธยาคงจะได้สนับสนุนงานการพิมพ์ในสยามให้ก้าวหน้า[140]: 39
เมื่อปลายรัชกาลพระองค์ มีหนังสือพิมพ์ (ไม่ปรากฏชื่อ) ออกจำหน่ายเป็นประจำติดต่อกันในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา[142]: 50 เป็นครั้งแรก แต่ถูกริบทำลายหลายครั้งในรัชกาลพระองค์ต่อเนื่องไปถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[140]: 39 รวมทั้งถูกเผาในเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ด้วยเหตุนี้จึงไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานหนังสือพิมพ์ในสมัยอยุธยาหลงเหลืออยู่อีกเลย[140]: 39
ฟ. ฮีแลร์ ได้รวบรวมจดหมายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 (ตรงกับปี พ.ศ. 2466) เรื่อง ราชทูตถึงอสัญกรรม มีความใน จดหมายของบาทหลวงโบรลต์ (พ.ศ. 2243) กล่าวถึง "ออกพระวิสุทรสุนทร อัครราชทูตเก่าพึ่งตายในเร็ว ๆ ไม่กี่เดือนนี้เอง"[143]: 109 ออกพระวิสุทรสุนทรผู้นี้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (หรือเจ้าคุณอัครราชทูต) ว่าการพระคลัง เคยเป็นราชทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชานั้นกลับไม่ทรงโปรด เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เหมือนเช่นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงระแวงไม่ไว้พระทัย และลงพระราชอาญาเฆี่ยนตี และใช้พระแสงดาบฟันจมูกเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จนแหว่ง บรรดาภรรยาและบุตรธิดาก็ถูกจับ ถูกเฆี่ยน ถูกขัง และยังถูกริบทรัพย์สมบัติเสียหมดสิ้น เมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2243 บ้างก็ลือกันว่าแทงตัวเองตาย ถูกโบยด้วยเชือกจนตาย หรือถูกหมอจีนวางยาเบื่อให้ตาย ส่วนศพเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ก็ถูกนำไปฝังไว้ที่วัดใกล้เคียงบ้านในเวลากลางคืนอย่างเงียบๆ โดยไม่มีพิธีรีตองใดผิดกับงานศพเสนาบดีผู้ใหญ่ที่มักจัดให้สมเกียรติ ปรากฏใน จดหมายของบาทหลวงโบรลต์ เขียนไปส่งยังกรุงปารีสเมื่อ ค.ศ. 1700 (ปี พ.ศ. 2243) ความว่า :-
"ครั้งหนึ่ง เมื่อ ๔ ปีล่วงมานี้แล้ว (ภายหลังกลับจากฝรั่งเศส ๘ ปี) กำลังเฝ้าอยู่หน้าพระที่นั่ง จะทรงกริ้วอย่างไรไม่ปรากฏ ทรงคว้าพระแสงดาบฟันเอาราชทูตจมูกแหว่ง ดูน่าอุจาดและสงสารที่สุด นับแต่วันนั้นมาก็มีแต่ถูกระแวงสงสัยทุกอย่าง ไม่เป็นอันกินอันนอนเป็นปกติดังเดิม ค่าที่ถูกแกล้งจากราชวงศ์ไม่มีที่สิ้นสุด ลงปลายธิดาใหญ่ของท่านคน ๑ บุตรชายของท่าน ๓ คน ภรรยาหลวงและอนุภรรยาของท่านก็ถูกจับ ถูกเฆี่ยน ถูกขัง ทั้งนั้น ซ้ำก่อนเมื่อวันที่ท่านจะตายสัก ๒-๓ วันก็ได้ถูกริบทรัพย์สมบัติเสียหมด บางคนถึงกับลือกันว่า ที่ท่านตายนี้มิใช่อื่นไกลเลย ท่านแทงตัวเองตาย เพราะทนไม่ไหวเสียแล้ว..."[144]: 190–195
เมื่อปี พ.ศ. 2246 เดือนสาม[145] สมเด็จพระเพทราชาทรงประชวรหนักอยู่ ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์มหาปราสาทจวนใกล้เสด็จสวรรคตนั้น[146]: 21–25
"ครั้นถึงเดือนสาม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรลงได้ประมาณ ๑๕ วัน และพระโรคนั้นกำเริบหนักลงจะเสวยพระกระยาหารก็ไม่ได้ เกือบใกล้สวรรคตอยู่แล้วแลพระราชวงศานุวงศ์ และท้าวข้าทูลละอองธุรีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายก็เข้าไปนอนอยู่ในพระราชวังพร้อมกันสิ้น..."
หลักฐานฮอลันดาและฝรั่งเศส กล่าวว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2246[147]: 58 สมเด็จพระเพทราชามีพระอาการแย่ลง ทรงพระกาสะ [ไอ] และสะอึกไม่หยุดจนเสวยลำบาก ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ก็ทรงไม่อยากเสวย พอวันต่อมากรมพระราชวังบวรสถานมงคลถวายอาหารและยา สมเด็จพระเพทราชาก็ทรงดำรัสตอบว่าไม่เป็นการประโยชน์ใดๆ ต่อพระองค์ เพราะกาลมาถึงพระองค์คงไม่พ้นพระวาระสุดท้าย นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชาทรงกังวัลพระทัยเกรงว่ากรมพระราชวังบวรจะทรงทำอันตรายต่อเจ้าพระขวัญ[147]: 58
ต่อมากรมพระราชวังบวรพระมหาอุปราชสรศักดิ์ จับเจ้าพระขวัญไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์[148]: 478 ในตำหนักแล้วให้ข้าหลวงนำพระศพไปฝัง ณ วัดโคกพระยา ด้วยทรงตรัสเห็นเจ้าพระขวัญกับกรมหลวงโยธาทิพนั้นเป็นที่รักใคร่ของประชาราษฎร์ทั้งปวง มีขุนนางให้ความนิยมนับถือกันมาก กรมหลวงโยธาทิพ จึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระเพทราชากราบทูลมูลคดีทั้งปวง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงฟังก็ตกพระทัยอาลัย ทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ และทรงไม่ให้ราชสมบัติทรงดำรัสว่า "กูไม่ให้ราชสมบัติแก่ไอ้สามคนพ่อลูกนี้แล้ว ๆ"[145] สมเด็จพระเพทราชาทรงตรัสเรียกหาเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ราชนัดดาให้เข้าเฝ้าและพระกรุณามอบเวนราชสมบัติให้แก่ เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ แทน (ในกาลภายหลังเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ได้ถวายราชสมบัติแด่กรมพระราชวังบวรพระมหาอุปราชสรศักดิ์)
ในเพลาราตรีในคืนนั้น สมเด็จพระเพทราชาก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ในเดือน ๔ ปีฉลูนพศก ลุศักราชได้ ๑๐๕๙ นั้นตรงกับปี พ.ศ. 2246[149] สิริพระชนมายุได้ ๗๑ พรรษา[145] เช่นเดียวกับ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่าสวรรคต ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ขณะครองราชย์ได้ 15 ปี สิริพระชนมพรรษาได้ 71 พรรษา[150] ส่วน หลักฐานฮอลันดาและฝรั่งเศส กล่าวว่า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2246 เพลาเย็นทรงมีพระอาการทรุดหนักลงมาก พระกิริยานิ่งสงบไม่สามารถทรงพระราชปฏิสันถารได้แล้วพระองค์เสด็จสวรรคตเวลา 20 นาฬิกาในคืนนั้น[147]: 59
เมื่อปี พ.ศ. 2247[151]: 239–251 สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) โปรดให้สร้างพระเมรุถวายสมเด็จพระเพทราช เป็นพระเมรุเอกขนาดใหญ่[152]: 41 ขื่อ 7 วา 2 ศอก (กว้าง 15 เมตร[153]: 55 สูง 102.75 เมตร หรือเท่าอาคารสูง 27 ชั้น[154]: 155:เชิงอรรถที่ ๘, ๙ ) พระเมรุเป็นทรงปราสาทยอดพระปรางค์ 5 ยอด ล้อมรอบด้วยระเบียงคด (หรือสามสร้าง) บริเวณกึ่งกลางและมุมระเบียงคดมีอาคารทรงปราสาทยอดปรางค์ ซึ่งเป็นเมรุทิศ เมรุราย หรือเมรุทิศเมรุแทรก รอบพระเมรุพระบรมศพ และเมรุที่กึ่งกลางยังเป็นซุ้มประตู ตามที่ปรากฏในจิตรกรรมภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา มีมหรสพจุดดอกไม้เพลิงระทาใหญ่ 16 ระทาบูชาพระศพอย่างยิ่งใหญ่ ใช้เวลาสร้าง 11 เดือนจึงแล้วเสร็จ ปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ความว่า :-
"...แล้วทรงพระกรุณาให้ช่างพนักงาน จับการทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ขื่อเจ็ดวาสองศอก กอบด้วยเมรุทิษ เมรุแซรก แลสามสร้างพร้อม แลการพระเมรุมาศนั้น กำหนด ๑๑ เดือนจึ่งสำเรจ์ ลุะศักราช ๑๐๖๐ ปีขาน สำเรธ์ธิศก[หมายเหตุ 7] เดือน ๔ ได้สุภวารดิถีพิไชยฤกษ จึ่งให้อัญเชีญพระบรมโกษฐขึ้นประดิษถานเหนือพระมหาพิไชยราชถ แห่แหนเป็นกระบวนไป เข้าพระเมรุมาศตามหย่างแต่ก่อน แลให้ทิ้งทานต้นกามพฤกษ แลมีการมโหรศภต่างๆ ทุกประการ ครั้นค่ำให้จุดดอกไม้เพลีงต่างๆ สักาใหญ่ ๑๖ สักา บูชาพระบรมศภเปนมโหราธิการยิ่งนัก แลทรงสดับพระกอน พระสงฆ ๑๐๐๐๐ คำรบ ๗ วัน แล้วถวายพระเพลีง ครั้นดับพระเพลีงแล้ว แจงพระรูปทรงสดับพระกร พระสงฆอีก ๔๐๐ รูป แล้วเกบพระอัษฐิใส่พระโกษฐน้อย อันเชีญขึ้นพระราชยาน แห่เป็นขบวนเข้ามายังพระราชวัง จึ่งให้อันเชีญพระบรมโกษฐพระอัฐิบันจุไว้ ณะ ท้ายจระนำพระมหาวิหาร วัดพระศรีสรรเพชญดาราม"[155]: 278
แล้วเสด็จพระราชดำเนินถวายพระเพลิงพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2247 โปรดให้พระสงฆ์สดับปกรณ์ 10,000 รูป คำรพ 7 วัน เมื่อดับพระเพลิงแล้วโปรดให้พระสงฆ์สดับปกรณ์อีก 400 รูป จึงอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นพระราชยานแห่เข้ามายังพระราชวังแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิบรรจุไว้ ณ ท้ายจระนำพระมหาวิหาร วัดพระศรีสรรเพชญ์
สืบเนื่องจากการเกิดกบฏหลายครั้งในรัชสมัยของพระองค์ จึงทรงไม่ไว้วางพระทัยขุนนาง ทรงมีพระดำริจะลดบทบาททางการเมืองของขุนนางฝ่ายต่างๆ โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่จากเดิมที่ยึดรูปแบบการปกครองของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก ดูแลรับผิดชอบทั้งกิจการทหาร พลเรือน และดูแลรับผิดชอบจตุสดมภ์ทั้ง 4 ฝ่ายในส่วนกลาง และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม ดูแลรับผิดชอบทั้งกิจการทหาร พลเรือน และกรมต่างๆ ที่ขึ้นกับฝ่ายทหารในส่วนกลาง ส่วนด้านการค้าขาย การคลัง การติดต่อชาวต่างชาติ รวมถึงการบังคับบัญชาหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก ทั้งกิจการทหารและพลเรือน ให้อยู่ในความดูแลของโกษาธิบดี ส่งผลให้เสนาบดีฝ่ายโกษาธิบดีมีอำนาจมากขึ้น[156]
ด้านการปกครองหัวเมืองส่วนภูมิภาค สำหรับหัวเมืองชั้นในซึ่งเป็นเขตราชธานีให้อยู่ภายใต้การดูแลของเมืองหลวงโดยตรง ทรงแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครองเรียกว่า ผู้รั้งเมือง มีกรมการเมืองและยกกระบัตร เป็นผู้ช่วย ส่วนหัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ หัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี ทรงแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางที่เป็นเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้สำเร็จราชการเมือง มีอำนาจสิทธิ์เด็ดขาดในการปกครองเมืองภายใต้การควบคุมดูแลของสมุหนายกและสมุหพระกลาโหม
ด้านการปกครองในราชธานี ทรงตั้งกรมใหม่ขึ้น เช่น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระราชทานให้ออกหลวงสรศักดิ์ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ดูแลข้าราชการสังกัดวังหน้า นอกจากนี้พระองค์ยังทรงตั้งทำเนียบขุนนางวังหน้าโดยเพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย และทรงตั้ง กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) พระราชทานให้นายจบคชประสิทธิ์ ทรงบาศขวา กรมพระคชบาล ซึ่งเป็นคู่คิดกระทำรัฐประหารยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดูแลข้าราชการสังกัดวังหลัง
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงตรากฎหมายเพิ่มเติม 3 ฉบับ[157] เช่น
พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าในรัชกาลนี้ประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมเจริญสัมพันธไมตรี กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2234 นักเสด็จเถ้าพระเจ้ากรุงกัมพูชาโปรดให้พระยาเขมร 3 คนนำช้างเผือกพังช้างหนึ่งมาถวาย สมเด็จพระเพทราชาพระราชทานชื่อว่าพระบรมรัตนากาศ ชาติคเชนทร์ วเรนทรมหันต์ อนันตคุณ วิบุลธรเลิดฟ้า และพระราชทานผ้าแพรจำนวนมากให้พระยาเขมรนำไปพระราชทานนักเสด็จเถ้า[158]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2238 พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์นมาทูลว่าจะถวายพระราชธิดา และขอกรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพไปช่วยป้องกันกรุงศรีสัตนาคนหุตจากกองทัพหลวงพระบาง จึงโปรดให้พระยานครราชสีมานำพล 10,000 ไปกรุงเวียงจันทน์ หลวงพระบางทราบข่าวจึงยอมประนีประนอมกับเวียงจันทน์ เมื่อเรือพระที่นั่งของพระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมาถึงหน้าวัดกระโจม กรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็มีพระบัณฑูรให้รับพระราชธิดานั้นไว้ที่วังหน้า แล้วเสด็จไปกราบทูลสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเพทราชาก็พระราชทานตามที่ขอ[159]
ในรัชกาลพระองค์ทรงส่งเสริมการเกษตรกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะข้าวเป็นผลผลิตหลักทางการเกษตรที่ยังเป็นแหล่งรายได้เข้าพระคลังของราชสำนัก นอกจากการค้าขายภายในราชอาณาจักรแล้วยังส่งสินค้าออกไปค้าขายกับต่างประเทศด้วย ส่วนภาคการผลิตตามหัวเมืองต่างๆ ทั้งในและนอกเขตราชธานีเกิดการขยายตัว มีชาวเมืองนำสินค้าบรรทุกเกวียนออกขายโดยเฉพาะพ่อค้าชาวมอญ และเขมร ส่วนพ่อค้าชาวจีน ชวา และมลายูได้สร้างตึกอาคารขึ้นมากมายเพื่อใช้เป็นคลังสินค้า และสถานที่จำหน่าย
ย่านการค้าภายในราชอาณาจักรที่สำคัญ เช่น ย่านป่ามะพร้าว ย่านป่าผ้า ย่านป่าตะกั่ว ย่านป่าผ้าเหลือง ย่านป่าขนม ตลาดบก และตลาดน้ำ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีการขยายตัว มีการอุปโภคบริโภคอย่างมากในรัชกาลพระองค์ เช่น เครื่องเงินเครื่องทอง เครื่องประดับ ผ้าต่างๆ กระดาษข่อย สมุดดำ สมุดขาว สินค้าประเภทอาหาร กระเบื้องมุงหลังคา กระบุง ตะกร้า เป็นต้น[160]
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ขับไล่ฝรั่งเศสออกจากสยาม เมื่อ พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาทรงไม่โปรดคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตกนัก และไม่สนับสนุนการค้าขายกับพ่อค้าชาวตะวันตก การค้าขายในรัชกาลพระองค์จึงมีแต่ค้าขายกับประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน โดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น สภาพการค้าเติบโตอย่างมากในรัชกาลพระองค์ และการกระทำรัฐประหารของพระองค์ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการค้ากับจีนและญี่ปุ่น แต่ยังได้พึ่งพาอาศัยการค้ากับจีนมากขึ้น ทั้งการจ้างวานเรือของชาวจีนขนสินค้าไปยังเมืองนางาซากิซึ่งเป็นเมืองท่าของญี่ปุ่น[161] และจัดการธุระต่างๆ นับว่าการค้ากับจีนมีบทบาทเด่นชัดมากจนถึงขั้นตั้งชาวจีนเป็นหัวหน้า ตั้งพนักงาน และตั้งขุนนางชาวจีนในกรมท่าซ้าย แม้กระทั่งชาวจีนที่ทำความสะอาดเรือสำเภาก็ยังได้รับศักดินา สร้างความไม่พอใจแก่พ่อค้าชาวกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งพ่อค้าชาวมอญ แขก และมลายู
ปรากฏใน พงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ความว่า[162]
เจ้าพระคลังก็ตั้งให้พวกจีนเป็นหัวหน้า เพราะฉะนั้นในเวลานี้การณ์ภายในเมืองไทยจึงตกอยู่ในมือพวกจีนทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าพวกไทย มอญ แขก มลายู แขกมัวร์ไม่พอใจอย่างยิ่งในการที่ไทยลำเอียงเข้าข้างจีนเช่นนี้ แต่ก็ไม่กล้าพูดคัดค้านอย่างใดเพราะทราบอยู่ว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงฟังเสียงพวกจีน
ในระหว่าง พ.ศ. 2230-2246 ในรัชกาลพระองค์ ยังคงแต่งเรือสำเภาส่งสินค้าไปขายกับญี่ปุ่นที่เมืองนางาซากิ ซึ่งญี่ปุ่นมีการบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2236 ว่ามีเรือสำเภาไทยได้ไปค้าขายกับญี่ปุ่น[163] นอกจากนี้ในสินธิสัญญาฮอลันดาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มีข้อกำหนดซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังคงมีการค้าขายกับต่างชาติอยู่ตลอดรัชกาลพระองค์
สนธิสัญญาฮอลันดา กล่าวว่า[164]
เมื่อใดที่พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชประสงก์จะจัดส่งสำเภาไปญี่ปุ่น มีชาวสยามเป็นลูกเรือ บริษัทจะรับเป็นผู้ออกเงินให้สำหรับการซื้อหาหนังกวางจำนวน ๗,๐๐๐ หรือ ๑๐,๐๐๐ แผ่นหนัง แล้วแต่กรณี โดยมีเงื่อนไขว่ากรุงสยามจะไม่ว่าจ้างบุคคลอื่นใดทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อปฏิบัติการ ในการจัดหารวบรวมแผ่นหนังสำหรับส่งไปจำหน่าย
ส่วนการค้าขายกับพ่อค้าชาวตะวันตก มีเพียงพ่อค้าชาวฮอลันดาที่ยังค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากช่วงเหตุการณ์ขับไล่ฝรั่งเศสออกจากสยาม มีชาวฮอลันดาช่วยจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลแก่ฝ่ายสยามเป็นอันมาก[165] ภายหลังจากปราบดาภิเษกแล้ว สมเด็จพระเพทราชาจึงได้พระราชทานเครื่องราชบรรณาการแก่ผู้สำเร็จราชการเมืองปัตตาเวีย และได้ทำสนธิสัญญาการค้ากับฮอลันดาใหม่อีกครั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2231 โดยมีข้อตกลงเหมือนกับสนธิสัญญาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยอมผูกขาดสินค้าประเภทหนังกระบือ หนังกวาง และดีบุกแต่เพียงผู้เดียว[166] ส่วนการค้ากับอังกฤษยังมีการทำการค้าตลอดรัชกาลพระองค์แต่จำกัดปริมาณสินค้าเพียง 200 ตันต่อปีเท่านั้น
รายการสินค้าสำคัญที่กรุงศรีอยุธยาส่งขายให้กับพ่อค้าชาวต่างชาติปรากฏใน บันทึกของเซอร์ นิโคลาส เวท (Sr. Nicholas Waite) พ.ศ. 2242 ถึงการค้าขายของอินเดียในรอบ 12 ปี เช่น[167] ส่งดีบุกกับงาช้างไปขายที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ส่งดีบุก งาช้าง และไม้กฤษณาไปขายที่เมืองสุรัต ส่งหมาก ไม้ฝาง และไม้กฤษณาไปขายที่จีน และยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น หนังกวาง วัว ครั่ง และน้ำมัน เป็นต้น ส่วนอังกฤษบันทึกรายการสินค้าที่กรุงศรีอยุธยาส่งไปขาย เช่น ส่งแร่ดีบุก งาช้าง และไม้หอมไปขายที่ยุโรป บังกะหล่า และเมืองสุรัต เฉพาะดีบุกส่งไปขายราว 200 ตันต่อปี และยังมีสินค้าส่งไปขายที่จีนและญี่ปุ่น เช่น หนังสัตว์ หมาก ไม้ฝาง และไม้หอม เป็นต้น ส่วนญวนบันทึกไว้ว่า ประเทศญวนซื้อดินประสิว ครั่ง ไม้ฝาง งาช้าง ดีบุก ข้าว ตะกั่ว จากไทย[163] แม้ว่าในรัชกาลพระองค์มีการค้าขายกับประเทศในแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ทว่าการค้าขายกับพ่อค้าชาวตะวันตกกลับแย่ลงและสภาพการเงินยังฝืดเคืองอย่างมาก จนส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจการค้ายาวนานถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
เมอซิเออร์ เดอบูร์ ซึ่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2256 ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้เขียนบันทึกไว้ว่า[168]
ข้าพเจ้ามีความประหลาดใจมากที่ได้เห็นบ้านเมืองร่วงโรยไปมากทั่วพระราชอาณาจักร เมืองไทยเวลานี้ไม่เหมือนกับเมืองไทยเมื่อ 50 ปีล่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเราได้มาเห็นครั้งแรก ในเวลานี้ไม่ได้เห็นเรือต่างประเทศจำนวนมากมาย หรือเห็นเรือไทยไปมาค้าขายดังแต่ก่อนแล้ว
สมเด็จพระเพทราชาเมื่อได้ขึ้นครองราชสมบัติพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น ทรงเจริญพระราชกรณียกิจตามโบราณราชเพณีดั้งเดิม ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา สร้างบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม พระอุโบสถ พระวิหาร พระมหาเจดีย์หลายแห่ง รวมทั้งสร้างปราสาทในรัชกาลพระองค์ เช่น
"ในปีมะเส็งก่อนนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริถึงคุณพระอาจารย์เจ้าอธิการวัดพระยาแมน ซึ่งได้ถวายพยากรณ์ไว้ว่า จะได้เสวยราชสมบัติ แต่ยังทรงผนวชเป็นภิกษุภาวะอยู่ในวัดพระยาแมนนั้น และพระผู้เป็นเจ้าทำนายแม่นนัก"
"แถวเถื่อนพันลึกอธิกด้วยนานาพรรณพฤกษาชาติ บ้างเผล็ดดอกออกผลกล่นกลาดดูตระการตา ก็เสด็จยาตราพลากรทวยหาญไปโดยลำดับสถลมารควิถีสิ้นทาง ๕๕๐ เส้น ก็บรรลุเชิงเขาสุวรรณบรรพต จึงให้หยุดกระบวนแห่แหนทั้งปวงแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระแสงของ้าวเหนือตระพองช้างต้นสิ้นวารสามนัด บูชาพระพุทธบาทโดยพระราชประเพณีเสร็จแล้วก็บ่ายพระคชาธารโดยมารควิถี กำหนดทาง ๕๐ เส้น ถึงพระราชนิเวศน์ธารเกษม เสด็จลงสู่เกยแล้ว ๆ เสด็จเข้าประทับแรม ณ พระตำหนักนั้น"
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงปฏิสังขรณ์วัดที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร[195] เช่น วัดบุรบาริม วัดชังคะยี วัดรัตนาปราสาท เป็นต้น
งานวรรณกรรมในรัชสมัยของพระองค์นั้นไม่ปรากฏวรรณกรรมที่นับว่าเป็นงานชิ้นเอกใดๆ มีเพียงแต่วรรณกรรมชิ้นย่อม และกฎหมายบางลักษณะเท่านั้น เช่น
สมเด็จพระเพทราชามีพระมเหสีสำคัญ ๆ อยู่ 4 พระองค์ ได้แก่
มีการนำพระราชประวัติของสมเด็จพระเพทราชามาสร้างเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงหลายครั้ง รวมทั้งงานวรรณกรรม นวนิยายทั้งไทย และต่างประเทศ ได้แก่
๏ คิดพลางทางพระองค์ทรงโปรดเกศ | เรียกพระเพทราชามาต่อสอง | |
ตรัสตรึกปรึกษาบัญชารอง | รับสนองบรมนาถราชทาน ฯ | |
— พลอยแกมเพชร, 11-12: 204. |
"ลุศักราช ๑๐๔๙ ปีเถาะนพศก สมเด็จบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสให้ช่างพนักงานจัดการสร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง ในพระราชวังข้างใน ครั้นเสร็จแล้วพระราชทานนามบัญญัติพระมหาปราสาทชื่อ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นสี่ปราสาทด้วยกันทั้งเก่าสาม คือ พระที่นั่งวิหารสมเดจ์องค์หนึ่ง พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทองค์หนึ่ง พระที่นั่งสุริยามรินทร์องค์หนึ่ง แล้วให้ขุดสระเป็นคู่อยู่ซ้ายขวา พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์แล้ว ให้ก่ออ่างแก้วแลภูเขามีท่ออุทกธาราไหลลงในอ่างแก้วนั้นที่ริมสระคู่พระมหาปราสาทนั้นแล ให้ทำระหัดน้ำ ณ อ่างแก้วริมน้ำฝั่งท่อให้น้ำเดินเข้าไปผุดขึ้น ณ อ่างแลให้ท่าพระที่นั่งทรงปัน ณ ท้ายสระเป็นที่เสด็จออกกลับ"แต่ความในพระราชพงศาวดารข้างต้นขัดแย้งกับจดหมายเหตุของชาวต่างชาติอย่างน้อย 3 ฉบับ[185] ที่ต่างกล่าวว่าพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์มีอยู่แล้วในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และขัดแย้งกับคราวสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรจันทรุปราคาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2228 ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองละโว้ (ลพบุรี) พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านดาราศาตร์อย่างยิ่งทรงโปรดให้สร้างพระที่นั่งทรงดาวขึ้นในพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระองค์[186]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.