Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนเธอร์แลนด์ (ดัตช์: Nederland [ˈneːdərˌlɑnt] เนเดอร์ลันด์; อังกฤษ: Netherlands) หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ฮอลแลนด์ (อังกฤษ: Holland) เป็นประเทศองค์ประกอบของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วยสิบสองจังหวัดในแผ่นดินใหญ่ และสามเกาะในแคริบเบียนซึ่งทั้งหมดมีชื่อเรียกว่า แคริบเบียนเนเธอร์แลนด์ ดินแดนส่วนที่อยู่ในทวีปยุโรปมีอาณาเขตทิศเหนือและตะวันตกจดทะเลเหนือ, ทิศใต้จดประเทศเบลเยียม และทิศตะวันออกจดประเทศเยอรมนี และมีพรมแดนทางทะเลร่วมกับเบลเยียม เยอรมนี และสหราชอาณาจักร[3] ภาษาราชการคือภาษาดัตซ์ ในขณะที่ภาษาฟรีเชียตะวันตกเป็นภาษาหลักในภูมิภาคทางเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดฟรีสลันด์ โดยมีภาษาดัตซ์, ภาษาอังกฤษ และภาษาปาเปียเมนตู เป็นภาษาราชการในแคริบเบียนเนเธอร์แลนด์[4] เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้แก่ อัมสเตอร์ดัม, รอตเทอร์ดาม, เฮก และยูเทรกต์ตามลำดับ แม้อัมสเตอร์ดัมจะมีสถานะเป็นเมืองหลวง ทว่ากรุงเฮกเป็นที่ตั้งของที่ทำการรัฐบาลรวมถึงศูนย์กลางทางการบริหาร และยังเป็นที่ตั้งของรัฐสภา และศาลสูงสุด[5]
เนเธอร์แลนด์ | |
---|---|
ที่ตั้งของ เนเธอร์แลนด์ในทวีปยุโรป (เขียวเข้ม) – ในทวีปยุโรป (เขียว & เทาเข้ม) | |
ที่ตั้งของ เทศบาลของเนเธอร์แลนด์ในทะเลแคริบเบียน (เขียว) | |
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | อัมสเตอร์ดัม[lower-alpha 1] 52°22′N 4°53′E |
ศูนย์กลางอำนาจ | เดอะเฮก[lower-alpha 1] |
ภาษาราชการ | ภาษาดัตช์2 |
การปกครอง | รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ |
สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ | |
ดิก สโคฟ | |
เจ้าหญิงคาทารีนา-อะมาเลีย เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ | |
เอกราช จาก สงครามแปดสิบปี | |
• ประกาศ | 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1581 |
• เป็นที่ยอมรับ | 30 มกราคม ค.ศ. 1648 (จาก สเปน) |
พื้นที่ | |
• รวม | 41,526 ตารางกิโลเมตร (16,033 ตารางไมล์) (132) |
18.41% | |
ประชากร | |
• 22 กุมภาพันธ์ 2565 ประมาณ | 17,692,900 (66) |
• สำมะโนประชากร 2559 | 17,045,900 |
395 ต่อตารางกิโลเมตร (1,023.0 ต่อตารางไมล์) (15) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2560 (ประมาณ) |
• รวม | $ 915.175 พันล้าน |
• ต่อหัว | $ 53,581 |
จีดีพี (ราคาตลาด) | 2560 (ประมาณ) |
• รวม | $ 824.480 พันล้าน |
• ต่อหัว | $ 48,271 |
จีนี (2019) | 26.6[1] ต่ำ · อันดับที่ 15 |
เอชดีไอ (2019) | 0.944[2] สูงมาก · อันดับที่ 8 |
สกุลเงิน | ยูโร 3 (€ EUR) |
เขตเวลา | UTC+1 (CET) |
UTC+2 (CEST) | |
รหัสโทรศัพท์ | 31 |
รหัส ISO 3166 | NL |
โดเมนบนสุด | .nl |
ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 18 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดอาศัยอยู่ในพื้นที่ 41,850 ตารางกิโลเมตร (16,160 ตารางไมล์) ซึ่งมีพื้นที่แผ่นดินอยู่ที่ 33,500 ตารางกิโลเมตร (12,900 ตารางไมล์) เนเธอร์แลนด์จึงเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรมากเป็นอันดับที่ 33 ของโลก ด้วยอัตราความหนาแน่น 535 คนต่อตารางกิโลเมตร (1,390 คน/ตารางไมล์) อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร และสินค้าเกษตรกรรมรายใหญ่อันดับสองของโลกตามมูลค่าโดยรวม จากการมีทรัพยากรดินที่อุดมสมบูรณ์, สภาพอากาศอบอุ่น และนวัตกรรมการทำเกษตรเชิงสร้างสรรค์[6][7]
เนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ โดยชื่อประเทศ "Netherlands" มีความหมายว่า "ประเทศที่ตั้งอยู่ต่ำ" โดยพื้นที่กว่า 26% ของแผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล[8] โดยบริเวณทั้งหมดที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเป็นที่รู้จักในชื่อโพลเดอร์ (Polder) ซึ่งเป็นผลมาจากการถมที่ดินซึ่งเริ่มต้นในศตวรรษที่ 14 พื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเกิดจากฝีมือมนุษย์ซึ่งเกิดจากการสกัดพีต (Peat) อย่างกว้างขวางและมีการควบคุมไม่ดีหลายศตวรรษทำให้พื้นผิวต่ำลงหลายเมตร แม้ในพื้นที่น้ำท่วมถึง การสกัดพีตยังดำเนินต่อไปโดยการขุดลอกพื้นที่ ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เริ่มมีการฟื้นสภาพที่ดินและปัจจุบันมีการสงวนพื้นที่โพลเดอร์ขนาดใหญ่ด้วยระบบการระบายน้ำที่ซับซ้อนซึ่งมีทั้งพนัง คลองและสถานีสูบ พื้นที่เกือบ 17% ของประเทศเป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถมทะเล พื้นที่บริเวณกว้างของเนเธอร์แลนด์เกิดจากชะวากทะเลของแม่น้ำสำคัญของทวีปยุโรปสามสายและลำน้ำแตกสาขาเกิดเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไรน์–เมิซ–ซเกลดะ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นที่ราบ ยกเว้นเนินเขาทางตะวันออกเฉียงใต้และเทือกเขาเตี้ย ๆ ทางตอนกลาง การก่อตั้งสาธารณรัฐดัตช์ใน ค.ศ. 1588 เป็นจุดเริ่มต้นยุคเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของเนเธอร์แลนด์ ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในรัฐที่ทรงอำนาจที่สุดของโลกในขณะนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นยุคทองของเนเธอร์แลนด์ บริษัทอย่างบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ และบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์มีอิทธิพลทางการค้า การลุงทุน และการแลกเปลี่ยนไปทั่วโลก รวมทั้งแผ่ขยายการล่าอาณานิคม[9][10]
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีรัฐสภาจากการเลือกตั้ง และปกครองด้วยประชาธิปไตยระบบรัฐสภา และจัดระเบียบเป็นรัฐเดี่ยวมาตั้งแต่ ค.ศ. 1848 ประเทศนี้มีธรรมเนียมปฏิบัติในการวางเสาหลัก (การแยกพลเมืองออกเป็นกลุ่มตามศาสนาและความเชื่อทางการเมือง) และมีประวัติการส่งเสริมเสรีภาพทางสังคมมายาวนาน โดยอนุญาตให้การค้าประเวณี และการการุณยฆาตชอบด้วยกฎหมาย ควบคู่ไปกับการรักษานโยบายเสรีนิยมด้านยาเสพติด เนเธอร์แลนด์ยังอนุญาตให้พลเมืองสตรีมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1919 และเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันใน ค.ศ. 2001[11] ประเทศมีระบบเศรษฐกิจแบบผสม ถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วโดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ท่าเรือรอตเตอร์ดัมถือเป็นท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในยุโรป และเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่นอกทวีปเอเชีย[12] ในขณะที่ท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮลเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศด้วยจำนวนผู้โดยสารที่พลุกพล่านมากเป็นอันดับ 4 ในยุโรป
เนเธอร์แลนด์เป็นสมาชิกก่อตั้งของสหภาพยุโรป, กลุ่ม 10, เนโท องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, องค์การการค้าโลก และเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพเศรษฐกิจไตรภาคีเบเนลักซ์ ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นที่ตั้งขององค์การห้ามอาวุธเคมี และศาลระหว่างประเทศห้าศาล ได้แก่ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร, ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ, ศาลอาญาระหว่างประเทศ, คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย และคณะตุลาการพิเศษสำหรับเลบานอน สี่ศาลแรกตั้งอยู่ในกรุงเฮก เช่นเดียวกับยูโรโปล สำนักข่าวกรองอาชญากรรมของสหภาพยุโรป และยูโรจัสต์ สำนักความร่วมมือทางตุลาการ ทำให้กรุงเฮกได้รับสมญาว่า "เมืองหลวงกฎหมายโลก"[13]
สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบกว้างใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่เคยเป็นน้ำทะเลมาก่อนดังนั้นประเทศนี้จึงอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล มีเพียงทางตะวันออกเฉียงใต้ในเขตลิมเบิร์ก เท่านั้นสามารถพบเห็นเนินเขาได้ แม่น้ำไรน์ที่ไหลมาจากเยอรมนี เป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเลจึงทำให้ต้องสร้างเขื่อน เพื่อไม่ให้นำทะเลไหลท่วมได้ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์มีที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลเหนือ จึงได้รับอิทธิพลของกระแสน้ำอุ่นด้วย ทำให้ภูมิอากาศของประเทศอบอุ่นกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรป และมีฝนตกชุกในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง มากถึง 700 มิลลิเมตรต่อปี
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป ประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 เนเธอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน และมีสันติภาพยาวนานต่อเนื่องเป็นเวลา 250 ปี ต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลง กลุ่มชนเจอร์แมนิก และเคลติก โดยเฉพาะชาวแฟรงก์ได้เข้าไปครอบครองพื้นที่แถบนั้น ก่อตั้งเป็นจักรวรรดิการอแล็งเฌียง ก่อนจะแยกออกเป็นสามอาณาจักรย่อย ได้แก่ อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก อาณาจักรแฟรงก์กลาง อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก ในเวลาต่อมา โดยดินแดนส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบันอยู่ในส่วนของอาณาจักรแฟรงก์กลาง ที่ไม่มีความเป็นปึกแผ่น จึงแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยอยู่หลายแคว้น มีเมืองสำคัญได้แก่ ฮอลแลนด์ แอโน ฟลานเดอร์ส เกลเดอร์ส บราบันต์ และยูเทรกต์ ในช่วงนี้ ระบบเกษตรกรรมถูกพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว มีพ่อค้ารายใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้เมืองเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ ชาวนาจากฟลานเดอร์สและยูเทรกต์เริ่มผันน้ำทะเลออกและสร้างพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นมาใหม่ทางตะวันตก ทำให้เคาน์ตีฮอลแลนด์เริ่มเรืองอำนาจมากขึ้น
ในช่วงปี พ.ศ. 1927 ถึง 2124 (ค.ศ. 1384 ถึง 1581) เนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของดยุคแห่งเบอร์กันดี ในยุคนี้ อัมสเตอร์ดัมเติบโตขึ้นและกลายเป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญของทะเลบอลติก เป็นจุดกระจายธัญพืชที่สำคัญสู่เบลเยียม ฝรั่งเศสตอนเหนือ และอังกฤษ กองกำลังของเคาน์ตีฮอลแลนด์ก็มีความเข้มแข็งมากขึ้นและสามารถเอาชนะกองทัพของสันนิบาตฮันเซอได้หลายครั้ง
ในศตวรรษที่ 16 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และกษัตริย์ของสเปน ได้รวบรวมเอาดินแดนทั้งหมดในเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก ตั้งเป็นกลุ่มสิบเจ็ดมณฑล ขึ้นตรงต่อสเปน ต่อมาเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์และขุนนางจำนวนหนึ่ง ได้ก่อการปฏิวัติต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน ใน ค.ศ. 1568 เพื่อเรียกร้องเอกราชให้ประชาชนเนเธอร์แลนด์ได้สถาปนาสาธารณรัฐดัตช์ สามารถนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ได้ โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดทั้งเจ็ดที่ลงสนามในสนธิสัญญาสหภาพแห่งยูเทรกต์ เป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม 80 ปี เมื่อสงครามดำเนินมาถึงปี ค.ศ. 1581 ส่วนเหนือของเนเธอร์แลนด์ได้ประกาศเอกราชจากสเปน แต่สงครามยังดำเนินต่อไปอีก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2191 (ค.ศ. 1648) จึงได้มีการลงนามในสนธิสัญญามุนสเตอร์ เพื่อสงบศึกระหว่างเนเธอร์แลนด์และสเปน ถือเป็นการรับรองเอกราชของเนเธอร์แลนด์จากสเปนอย่างเป็นทางการด้วย
หลังจากได้ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิสเปน ชาวดัตช์ได้ร่วมกันฟื้นฟูประเทศจนในที่สุดได้เข้ามาสู่ยุคทอง เช่นเดียวกับ สเปน โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลในการแสวงหาโอกาสทางการค้าในดินแดนต่าง ๆ ของโลก ตั้งแต่นิวอัมสเตอร์ดัม และหมู่เกาะแคริบเบียนในอเมริกา แอฟริกาใต้ จนถึงหมู่เกาะอินเดียตะวันออก(อินโดนีเซียในปัจจุบัน) โดยบริษัทอินเดียตะวันออกและบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ดูแลการค้าและปกครองอาณานิคม ทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นมหาอำนาจทางทะเลและเศรษฐกิจชั้นนำของยุโรปในเวลานั้น และกรุงอัมสเตอร์ดัมก็ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป จนมีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนถือให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศระบอบทุนนิยมประเทศแรกของโลก ก่อนจะเจอปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรุมเร้า เช่น การเก็งกำไรดอกทิวลิป และการโจมตีราคาหุ้น และเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2215 (ค.ศ. 1672) ที่เรียกว่าเป็นปีแห่งความหายนะ (Rampjaar) ของเนเธอร์แลนด์ เมื่อเกิดสงครามกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัฐในเยอรมนีพร้อมๆกัน แม้กองทัพจะรักษาเอกราชไว้ได้ แต่ความเสียหายจากสงครามเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมของเนเธอร์แลนด์ แม้จะพยายามฟื้นฟูอยู่หลายครั้งก็ไม่สามารถกลับไปเทียบเท่าจุดรุ่งเรืองสุดขีดของยุคทองได้อีก
เมื่อปี พ.ศ. 2338 (ค.ศ. 1795) กองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสนำโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 1 ได้กรีฑาทัพเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายวิลเลียมที่ 5 แห่งออเรนจ์ ผู้ปกครองเนเธอร์แลนด์ในครานั้นทรงลี้ภัยไปประทับที่อังกฤษ และในปี พ.ศ. 2353 (ค.ศ. 1810) เนเธอร์แลนด์ก็ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อพระเจ้านโปเลียนแพ้สงครามที่ยุทธการที่ไลพ์ซิช ใน พ.ศ. 2356 (ค.ศ. 1813) จักรวรรดิฝรั่งเศสจึงเสื่อมอำนาจลงเนเธอร์แลนด์จึงได้รับเอกราชคืนมาอีกครั้ง เจ้าชายวิลเลียม เฟรเดริค โอรสของผู้ปกครองเนเธอร์แลนด์คนสุดท้ายได้กลับมายังดินแดนเนเธอร์แลนด์ในปีเดียวกัน และได้ครองราชย์ราชรัฐเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่อีกสองปีต่อมา ผลจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาจะยกดินแดนเบลเยียมในปัจจุบันให้เป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายวิลเลียม เฟรเดริคจึงได้ทรงก่อตั้งสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ขึ้น และสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวิลเลิมที่ 1 แห่งเนเธอร์แลนด์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์พระองค์แรก และแกรนด์ดยุกลักเซมเบิร์ก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความแตกต่างในทุก ๆ ด้านระหว่างเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ประเทศทั้งสองจึงได้แยกออกจากกันในปี พ.ศ. 2373 (ค.ศ. 1830) ก่อนจะได้รับการรับรองเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839) เนเธอร์แลนด์ประกาศเลิกทาสเมื่อ ค.ศ. 1863 ก่อนจะเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19
เนเธอร์แลนด์ประกาศความเป็นกลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2457-2461 และประกาศความเป็นกลางอีกครั้งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดี กองทัพแวร์มัคท์ ได้รุกรานและยึดครองเนเธอร์แลนด์ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2483-2488 (ค.ศ. 1940-1945) ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์เป็นสมาชิกที่มีบทบาทแข็งขันในสหภาพยุโรปและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเจ้าอาณานิคมจนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) และซูรินามประกาศเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ส่วนเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสและอารูบายังคงเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ โดยมีอธิปไตยในการบริหารกิจการภายในประเทศ ส่วนด้านการทหารและการต่างประเทศยังอยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์ปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ ค.ศ. 1815 และมีระบบรัฐสภาตั้งแต่ ค.ศ. 1848 มีสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ พระมหากษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ทรงเป็นประมุขของประเทศและทรงอยู่เหนือการเมือง
การบริหารประเทศนั้นเป็นหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรี 13 ถึง 16 คนโดยมีรัฐมนตรีลอยอยู่ในคณะ 1-3 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ มาร์ก รุตเตอ ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2010
เนเธอร์แลนด์ใช้ระบบสองสภาในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 150 คนทำหน้าที่ในสภาล่างและมาจากการเลือกตั้งโดยตรงตามสัดส่วนของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีการจัดเลือกตั้งทุก 4 ปีหรือเมื่อมีการยุบสภา และมีอำนาจในการเสนอและแก้ไขกฎหมาย ส่วนสมาชิกวุฒิสภาหรือสภาบนมีทั้งหมด 75 คน และมาจากการเลือกตั้งทุก 4 ปีเช่นเดียวกัน มีอำนาจในการปฏิเสธข้อกฎหมายที่สภาล่างเสนอเข้ามา นอกจากนี้ สมาชิกบางส่วนของทั้งสองสภายังเป็นสมาชิกของสภาเบเนลักซ์ระหว่างประเทศอีกด้วย
สหภาพการค้าและองค์กรลูกจ้างต่างๆของเนเธอร์แลนด์จะมีการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรึกษาหารือกันด้านนโยบายการเงิน เศรษฐกิจและสังคม ก่อนจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะการสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และคณะกรรมการจะนำใจความไปเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่เปิดเสรีทางความคิดมาอย่างช้านาน นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เช่นการเปิดรับคริสตจักรปฏิรูปให้ได้รับการยอมรับเช่นเดียวกับนิกายคาทอลิก โปรเตสแตนท์ จนถึงการยอมรับศาสนายูดาห์ นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ยังเปิดเสรีกัญชาเพื่อความบันเทิง การออกกฎหมายรองรับการค้าประเวณี สิทธิเพศทางเลือก การุณยฆาต และการแท้ง
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ประเทศเนเธอร์แลนด์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 จังหวัด (provincie) โดยแต่ละจังหวัดแบ่งเขตการปกครองออกเป็นเทศบาล (gemeenten) รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 355 เทศบาล[14] แต่หากแบ่งตามเขตการบริหารจัดการน้ำจะแบ่งออกเป็น 21 เขตโดยแต่ละเขตมีคณะกรรมการน้ำ (waterschap) เป็นผู้ดูแล ซึ่งเขตการจัดการน้ำนี้มีมาก่อนการก่อตั้งประเทศเนเธอร์แลนด์เสียอีก โดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1196[15] มีการเลือกตั้งคณะกรรมการทุก 4 ปี
จังหวัดต่างๆในเนเธอร์แลนด์ ได้แก่
|
นอกเหนือจาก 12 จังหวัดแล้ว เนเธอร์แลนด์ยังมีดินแดนในแถบทะเลแคริบเบียนอีก 3 เกาะที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสก่อนที่จะล่มสลายในปี ค.ศ. 2010 และรวมตัวเป็น แคริบเบียนเนเธอร์แลนด์ ขึ้นตรงกับประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยแต่ละเกาะมีสิทธิปกครองพิเศษ (openbare lichamen) และเทศบาลย่อยในเกาะเหล่านี้จะเรียกว่า เทศบาลรูปแบบพิเศษ (special municipalities) [18] ได้แก่
|
ในประวัติศาสตร์ เนเธอร์แลนด์เน้นการวางตัวเป็นกลางในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศร่วมก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ และสหภาพยุโรป เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์มีการเปิดเสรีค่อนข้างมากและขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมาก
นโยบายระหว่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ โดยหลักแล้วจะเน้นความร่วมมือแถบทะเลแอตแลนติก แถบยุโรป การพัฒนานโยบายระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เรื่องที่เป็นประเด็นขัดแย้งเสมอในเวทีระดับนานาชาติคือนโยบายเสรียาเสพติดชนิดไม่รุนแรงของเนเธอร์แลนด์เอง
ในช่วงยุคทอง เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเจ้าอาณานิคม ก่อนประเทศใหญ่อย่างอินโดนีเซียและซูรินามได้ประกาศเอกราชแยกตัวไปในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่ทั้งสองประเทศยังคงมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันเนเธอร์แลนด์อยู่ ทำให้มีส่วนกับนโยบายระหว่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังมีประชากรของทั้งสองประเทศเป็นจำนวนมากที่ยังคงอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์จนถึงปัจจุบัน
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เนเธอร์แลนด์มีกองกำลังทหารมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1572 มีส่วนในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับจักรวรรดิดัตช์ เริ่มมีการเกณฑ์ทหารหลังจากที่พ่ายสงครามนโปเลียน หลังจากนั้น เนเธอร์แลนด์ดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่กลับถูกกองทัพเยอรมนีรุกรานในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ยกเลิกนโบายเป็นกลางและลงนามในสนธิสัญญาบรัสเซลส์ จึงเป็นประเทศร่วมก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในปี ค.ศ. 1949 หลังจากนั้น ได้มีส่วนร่วมกับการรบในสงครามเย็น (สงครามเกาหลี) วิกฤตการณ์คอซอวอ โซมาเลีย และ อัฟกานิสถาน รวมถึงปฏิบัติการรักษาสันติภาพของ สหประชาชาติ และ สหภาพยุโรป
กองทัพเนเธอร์แลนด์นั้นแบ่งออกเป็น 4 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก (Koninklijke Landmacht หรือ KL) กองทัพเรือ (Koninklijke Marine หรือ KM) กองทัพอากาศ (Koninklijke Luchtmacht หรือ KLu) และ กองสารวัตรทหาร (Koninklijke Marechaussee หรือ KMar)
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีบทบาทสำคัญเศรษฐกิจของยุโรปมาแล้วช้านานหลายศตวรรษ ชาวดัตช์ดำเนินกิจการเดินเรือ ประมง เกษตรกรรม ค้าขาย และธนาคารมายาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เศรษฐกิจมีเสรีภาพสูง ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกใน ค.ศ. 2017[20] และเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมอันดับ 2 ของโลกในปี ค.ศ. 2018[21]
คู่ค้าที่สำคัญของเนเธอร์แลนด์ได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี จีน และรัสเซีย[22] เนเธอร์แลนด์ติดอันดับประเทศที่ส่งออกมาที่สุด 10 อันดับแรก โดยสินค้าส่งออกหลักคือ อาหาร เคมีภัณฑ์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า การบริการ และการท่องเที่ยว โดยมีบริษัทสัญชาติดัตช์ขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจข้ามชาติอยู่มากมาย อาทิ Unilever เบียร์ Heineken สายการบิน KLM ธนาคาร ING, ABN AMRO, Rabobank เคมีภัณฑ์ DSM, AKZO ปิโตรเลียม Royal Dutch Shell เครื่องใช้ไฟฟ้า Philips, ASML และระบบนำร่องดาวเทียม TomTom
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)เฉลี่ยต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ในช่วง ค.ศ. 1997 ถึง 2000 มีอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศยุโรปแต่ลดลงเล็กน้อยหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี[23] และอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ใน ค.ศ. 2019[24]
ศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจของเนเธอร์แลนด์อยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม โดยมีตลาดหลักทรัพย์อัมสเตอร์ดัม (Amsterdam Stock Exchange หรือ AEX) เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ยุโรป (Euronext) เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกๆที่เริ่มใช้เงินสกุลยูโรพร้อมกับอีก 15 ประเทศ โดยเริ่มใช้ในทางบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 และเริ่มใช้เหรียญและธนบัตรยูโรอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2002 โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ยูโรต่อ 2.20371 คิลเดอร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินเก่าของชาวดัตช์
ทำเลที่ตั้งของเนเธอร์แลนด์ทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการค้ามาอย่างช้านาน ทั้งการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสหราชอาณาจักรและเยอรมนี และประเทศในภูมิภาคอื่นของโลก นับตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่านมาจากหลายประเทศในยุโรปและออกสู่ทะเลที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้หลายเมืองกลายเป็นท่าเรือ โดยเฉพาะท่าเรือรอตเทอร์ดาม (Rotterdam) ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่และมีความสำคัญทางด้านการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เปิดโอกาสให้ชาวเนเธอร์แลนด์ทำการค้าได้สะดวก และการค้ากับประเทศในแถบเอเชียและอเมริกามีความสำคัญกับเศรษฐกิจของชาวดัตช์มาตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากนี้ การที่เนเธอร์แลนด์ มีทรัพยากรธรรมชาติไม่มาก ชาวดัตช์ต้องอาศัยการเกษตรกรรม การประมง เลี้ยงสัตว์ ไม่มีแร่ธาตุสำคัญ (น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมาค้นพบในระยะหลังๆ) ดังนั้น จึงต้องอาศัยการค้าเป็นหลัก เพื่อความอยู่รอด จนได้รับการขนานนามว่าเป็นชาตินักการค้า (Trading nation) และประสบความสำเร็จในด้านการค้ามาตลอด ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ความเชี่ยวชาญด้านการค้านั้น ดูได้จากการค้าระหว่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น และได้เปรียบดุลการค้ามาตลอดหลายปีติดต่อกัน ปัจจุบัน เนเธอร์แลนด์ยังคงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เสมอ และยังเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ไปลงทุนในสหรัฐอเมริกามากที่สุด
เนเธอร์แลนด์ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 และกลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลหลายแสนล้านยูโรให้กับประเทศ[25] แต่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเนื่องจากอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติก็ไปกระทบทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆถดถอยได้เช่นกัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคดัตช์[25]
แหล่งก๊าซโกรนิงเงิน เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ใกล้เมืองโกรนิงเงิน สร้างรายได้ให้กับประเทศมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 รวมเป็นเงินกว่า 159,000 ล้านยูโร[26] ดำเนินการขุดเจาะโดยบริษัท Gasunie ที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าของ แล้วส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อให้รัฐบาล บริษัท Shell และ Exxon Mobil ใช้ประโยชน์ต่อไป อย่างไรก็ตาม การขุดเจาะก๊าซส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่ผิวโลกมากขึ้น และบางครั้งทำให้เกิดแผ่นดินไหวสูงถึงระดับ 3.6 ตามมาตราริกเตอร์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวมราว 6.5 พันล้านยูโร และประมาณ 35,000 ครัวเรือนได้รับความเสียหาย[27] ประมาณการกันว่าเนเธอร์แลนด์มีแหล่งก๊าซธรรมชาติคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณก๊าซสำรองตามธรรมชาติของยุโรป[28] อุตสาหกรรมพลังงานนั้นจึงสร้างรายได้กว่าร้อยละ 11 ของจีดีพีของประเทศ(ในปี ค.ศ. 2014)
อย่างไรก็ตาม การใช้ก๊าซธรรมชาติในเนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปริมาณสำรองเริ่มลดลง ความต้องการใช้ลดลง และเกิดปัญหาแผ่นดินไหวในแถบโกรนิงเงินบ่อยครั้ง นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังผลักดันให้ประเทศสมาชิกลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงและหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแหล่งพลังงานมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทนแก๊สนั้นยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่ เพราะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจและการผูกขาดพลังงานโดยบริษัทใหญ่ในประเทศมาเกี่ยวข้อง[29]
เนเธอร์แลนด์มีความสามารถรองรับเชิงนิเวศของโลก (biocapacity) ต่ำ กล่าวคือ มีการสร้างทรัพยากรชีวภาพขึ้นมาใหม่น้อย แต่ในทางกลับกัน ชาวดัตช์มีการเพาะปลูกที่เป็นระบบและมีระบบเกษตรกรรมที่เน้นการส่งออก ชาวดัตช์ราว 4 เปอร์เซ็นต์ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่ผลิตสินค้าเกษตรได้ปริมาณสูงเกินความจำเป็นต่อการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร ส่งผลให้เนเธอร์แลนด์ส่งออกสินค้าเกษตรสูงเป็นอันดับหนึ่งในสหภาพยุโรปและสูงเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา[30] สร้างรายได้กว่า 80.7 พันล้านยูโรในปี ค.ศ. 2014[31] สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ พริก มะเขือเทศ แตงกวา ตลอดจนดอกไม้และหน่อของดอกไม้
เมืองที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเนเธอร์แลนด์ เช่น อัมสเตอร์ดัม รอตเทอร์ดาม กรุงเฮก เดลฟ์ท
ระบบการสัญจรในประเทศเนเธอร์แลนด์เติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 โดยปัจจุบันมีการใช้รถยนต์คิดเป็นราวๆครึ่งหนึ่งของการคมนาคมทั้งหมด รองลงมาเป็นการใช้จักรยานร้อยละ 25 การเดินร้อยละ 20 และการขนส่งสาธารณะร้อยละ 5 [32] เนเธอร์แลนด์มีโครงข่ายถนนยาว 139,295 กิโลเมตร มีทางด่วนพิเศษยาว 2,758 กิโลเมตร นับเป็นประเทศที่มีระบบถนนหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก [33]
การขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือรถไฟ โดยเนเธอร์แลนด์มีระบบโครงข่ายรถไฟยาวกว่า 3,013 กิโลเมตรและถักทอกันอย่างค่อนข้างหนาแน่น [34] ทำหน้าที่เชื่อมต่อเมืองใหญ่ต่างๆเข้าด้วยกัน มีสถานีทั้งหมดกว่า 400 สถานี แต่ละเส้นจะมีรถไฟวิ่งอย่างน้อย 2 ขบวนต่อชั่วโมง และเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4 ขบวนต่อชั่วโมง [35] ในการให้บริการนั้น บริษัทรถไฟ NS ของรัฐเป็นผู้ให้บริการหลักในประเทศ และยังมีรถไฟระหว่างประเทศเชื่อมต่อกับเบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษอีกด้วย
จักรยาน เป็นอีกพาหนะหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันในเนเธอร์แลนด์ มีการประมาณตัวเลขไว้ว่าชาวเนเธอร์แลนด์มีจักรยานรวมราวๆ 18 ล้านคัน [36] หรือหนึ่งคันเศษๆต่อประชากรหนึ่งคน นอกจากนี้เนเธอร์แลนด์มักจะถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานอยู่เป็นอันดับต้นๆร่วมกับเดนมาร์กอยู่เสมอ โดยชาวดัตช์นิยมปั่นจักรยานไปทำงานอยู่เป็นประจำ [37] เพราะมีเส้นทางที่ทำแยกไว้สำหรับจักรยานโดยเฉพาะยาวถึง 35,000 กิโลเมตร และในหลายจุดยังมีสัญญาณไฟจราจรที่ทำไว้สำหรับจักรยานโดยเฉพาะอีกด้วย [38]
ท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเมิสและแม่น้ำไรน์ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญในหลายประเทศ ทั้งเยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ อุตสาหกรรมหลักที่ใช้บริการท่าเรือแห่งนี้คืออุตสาหกรรมปิโตรเลียมและการขนส่งสินค้าทั่วไป มีเรือเดินสมุทร เรือแม่น้ำ รถไฟ และรถบรรทุกเข้ามาถ่ายเปลี่ยนสินค้าอยู่ตลอดเวลา
ท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิโพล ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอัมสเตอร์ดัม เป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ และเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับสามในยุโรป รองรับผู้โดยสารกว่า 70 ล้านคนในปี ค.ศ. 2016 [39]
ปัจจุบัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีแผนติดตั้งสถานีชาร์ตไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศกว่า 200 สถานี โดยมีบริษัท ABB และ Fastned เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ โดยมีแผนจะติดตั้งให้มีอย่างน้อย 1 สถานีในระยะรัศมี 50 กิโลเมตรจากบ้านทุกหลักในเนเธอร์แลนด์ [40]
เนเธอร์แลนด์มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การวิจัย และสร้างนวัตกรรม ทำให้ชาวดัตช์ค้นพบ สร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆมากมายให้กับโลก เช่น ตำราโครงสร้างของร่างกายมนุษย์โดยแอนเดรียส เวซาเลียส การค้นพบวงแหวนของดาวเสาร์และดวงจันทร์ไททันโดยคริสตียาน เฮยเคินส์ การค้นพบกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช โดยยัน อิงเงินฮุส จนถึงการคิดค้นภาษาไพทอน โดยคีโด ฟัน โรสซึม
เนื่องจากวิทยาศาสต์และเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลจึงเป็นผู้ควบคุมโดยตรง โดยมีกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ (OCW) และกระทรวงเศรษฐกิจและนโยบายสภาพภูมิอากาศ (EZK) ร่วมวางนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์และงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การศึกษาภาคบังคับของเนเธอร์แลนด์อยู่ระหว่างช่วงอายุ 5 ปีถึง 16 ปี และแบ่งโรงเรียนตามระดับการศึกษาได้เป็น
โรงเรียนประถมศึกษา
นักเรียนอายุ 4-12 ปี โดยโรงเรียนประถมศึกษาในเนเธอร์แลนด์จะมี 8 ระดับชั้น ซึ่งเรียกว่า Groep 1-8
โรงเรียนมัธยมศึกษา
โดยจะแบ่งรูปแบบการสอนเป็น 3 หลักสูตร
1.VMBO (Voorbereidend Middelbaar Beroepsonderwijs)
เป็นการศึกษาในช่วงอายุ 12-16 ปี ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างหลักสูตรวิชาชีพกับทฤษฎี ซึ่งร้อยละ 60 ของนักเรียนจะเลือกหลักสูตรนี้
2.HAVO (Hoger Algemeen Voortgezet Onderwijs)
มีทั้งหมด 5 ระดับชั้น ตั้งแต่นักเรียนอายุ 12-17 ปี เมื่อเรียนจบสามารถเข้าเรียนต่อใน HBO ได้
3.VWO (Voorbereidend Wetenschappelijk Onderwijs)
มีทั้งหมด 6 ระดับชั้น ตั้งแต่นักเรียนอายุ 12-18 ปี ซึ่งสามารถเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้
4.MBO (Middelbaar Beroepsonderwijs)
เป็นการศึกษาต่อจาก VMBO มี 4 ปีการศึกษา
ระดับอุดมศึกษา
จะแบ่งออกเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกและดำเนินตาม กระบวนการโบโลญญ่า (Bologna Process)
1.MBO (Middelbaar Beroepsonderwijs)
เป็นการศึกษาต่อจาก VMBO มี 4 ปีการศึกษา
2.HBO (Hoger Beroepsonderwijs)
เป็นสถานบันฝึกวิชาชีพขั้นสูง แต่จะไม่เทียบเท่ากับการเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ที่จบ HBO แล้วต้องเรียน Pre-master ก่อนที่เจ้าเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้
3.WO (Wetenschappelijk Onderwijs)
หลักสูตรนี้จะเน้นหนักไปทางวิชาการ ในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่จะใช้เวลา 3 ปี ระดับปริญญาโทจะใช้เวลาเรียน 1 ปี ส่วนระดับปริญญาเอกจะใช้เวลาเรียน 4-5 ปี
มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของเนเธอร์แลนด์มีหลายแห่งด้วยกัน เช่น มหาวิทยาลัยไลเดิน มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม มหาวิทยาลัยไฟรย์อัมสเตอร์ดัม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเฟิน มหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน มหาวิทยาลัยมาสทริชท์ มหาวิทยาลัยรัดเบาด์ไนเมเคิน มหาวิทยาลัยเอรัสมุสรอตเทอร์ดาม มหาวิทยาลัยติลบูร์ค มหาวิทยาลัยทเว็นเตอ มหาวิทยาลัยยูเทรกต์ และมหาวิทยาลัยวาเคินนิงเงิน
เนเธอร์แลนด์มีระบบสาธารณสุขที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก [41] หลังจากที่มีการปฏิรูประบบครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2006 โดยเนเธอร์แลนด์ให้อิสระกับผู้ป่วยในการเลือกซื้อประกันสุขภาพและสถานที่รับบริการสาธารณสุข การตัดสินใจทางการแพทย์เกิดขึ้นระหว่างการสนทนาระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย เนเธอร์แลนด์บังคับให้ประชาชนมีประกันสุขภาพ โดยมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
ระบบสาธารณสุข สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ โดยระดับปฐมภูมินั้น แพทย์ประจำบ้าน (huisartsen เทียบได้กับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป) เป็นผู้รับการรักษาหรือส่งผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิต่อไป[42]
ประเทศเนเธอร์แลนด์มีประชากร 17,424,978 คน (ปี ค.ศ. 2019) โดยมีอัตราความหนาแน่น 521 คนต่อ ตร. กม. นับได้ว่าอยู่อันดับที่ 12 ของโลก มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.78 คนต่อผู้หญิง 1 คน[44] ประชากรมีอายุเฉลี่ย 42.7 ปีซึ่งนับว่าสูงทีเดียว นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5[45] และยังเป็นประเทศที่มีอัตราความสูงของผู้อยู่อาศัยสูงที่สุดในโลก โดยผู้ชายมีความสูง 1.81 เมตร และผู้หญิงสูง 1.68 เมตรอีกด้วย [46] และคนทางเหนือจะสูงกว่าคนทางใต้ราวๆ 2 เซนติเมตร
ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีประชาชนหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่อาศัย[47] ดังนี้
นอกจากนั้นยังมีผู้อาศัยที่มีเชื้อผสมระหว่างอินโดนีเซียกับดัตช์อีกกว่า 8 แสนคน
ในปี ค.ศ. 2015 สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ระบุว่า ร้อยละ 50.1 ประกาศตนเองว่าไม่นับถือศาสนาใด ส่วนอีกร้อยละ 43.8 นับถือศาสนาคริสต์ แบ่งเป็นนิกายคาทอลิกร้อยละ 23.7 นิกายโปรเตสแตนท์(ในคริสตจักรโปรเตสแตนท์แห่งเนเธอร์แลนด์)ร้อยละ 15.5 และนิกายอื่นๆร้อยละ 4.6 ส่วนศาสนาอื่น มีผู้นับถืออิสลามร้อยละ 4.9 และศาสนาอื่นๆรวมทั้งฮินดู พุทธ และยูดายอีกร้อยละ 1.1 [48]
แต่เดิม ราชวงศ์ของเนเธอร์แลนด์นับถือศาสนาคริสต์ลัทธิคาลวินก่อนจะเปลี่ยนเป็นคริสตจักรโปรเตสแตนท์แห่งเนเธอร์แลนด์ ส่วนในจังหวัดทางใต้ (นิยมหมายถึงพื้นที่ฝั่งใต้ของแม่น้ำไรน์และเมิส) เช่น นอร์ทบราบันต์และลิมบูร์ก ประชาชนนับถือนิกายโรมันคาทอลิกมาแต่โบราณ ทำให้คริสตจักรคาทอลิกยังเป็นที่ศรัทธาของประชนชนทางใต้อยู่เป็นจำนวนมาก
ภาษาราชการของเนเธอร์แลนด์คือภาษาดัตช์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสามารถพูดได้ ทั้งนี้ จังหวัดฟรีสลันด์ทางตอนเหนือยังยอมรับภาษาฟรีเชียตะวันตกเป็นภาษาราชการภาษาที่สอง นอกจากนี้ ยังมีการรับรองภาษาสำเนียงท้องถิ่นที่มีรากมาจากภาษาเยอรมันต่ำตามท้องที่ต่างๆที่มีชายแดนติดกับประเทศเยอรมนีอีกด้วย เช่น ทเวนเตอ เดรนเทอ และลิมบูร์ก
ชาวดัตช์มีค่านิยมในการเรียนภาษาต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งมีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายของเนเธอร์แลนด์อีกด้วย ประชากรกว่าร้อยละ 90 เชื่อว่าตนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้[49] และร้อยละ 70 สามารถพูดภาษาเยอรมนีได้ ส่วนคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสได้มีร้อยละ 29 ภาษาอังกฤษเป็นภาษาบังคับในหลักสูตรมัธยมศึกษา และหลายโรงเรียนมักจะบังคับให้เรียนภาษาต่างประเทศอีกหนึ่งภาษาตั้งแต่ช่วงสองปีแรกของมัธยมต้น
ผู้คนกว่า 4.5 ล้านคน ในเนเธอร์แลนด์ ได้ลงทะเบียนกับสโมสรกีฬาที่มีกว่า35,000แห่งในเนเธอร์แลนด์ ผู้คน 2 ใน 3 ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี จะเล่นกีฬาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์.ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมที่สุดในเนเธอร์แลนด์ และตามด้วยฮอคกี้และวอลเลย์บอลตามลำดับ กอล์ฟ,ยิมนาสติกและเทนนิส เป็นกีฬาประเภทเดียวที่นิยมกันในเนเธอร์แลนด์ องค์กรณ์เกี่ยวกับกีฬาได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 สหพันธ์การกีฬาได้ถูกสร้างขึ้นมา.กฏกีฬาได้ถูกประกาศออกมาเป็นทางการ และได้มีสโมสรกีฬาเป็นทางการ.คณะกรรมการโอลิมปิกของดัตซ์ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1912.และจนถึงบัดนี้ เนเธอร์แลนด์สามารถคว้าเหรียญมาได้ 230 เหรียญในกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน และอีก 78 เหรียญในกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
พอล แฟร์โฮเฟน เป็นผู้กำกับชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียง มีผลงานภาพยนตร์ในฮอลลีวูดมากมาย อาทิเช่น โรโบคอป และคนทะลุโลก นอกจากนี้ ยังมีผู้กำกับอย่างยาน เดอโบนท์ อันตอน คอร์ไบน์ และดิค มาส ที่เป็นที่รู้จักเช่นกัน ส่วนผู้กำกับภาพของภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ โฮยเตอ ฟัน โฮยเตอมา (จากอินเตอร์สเตลลาร์) และเตโอ ฟอนเดอซานเดอ (จากเบลด พันธุ์ฆ่าอมตะ) ส่วนนักแสดงชาวดัตช์หลายคนก็เป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ ทั้งฟัมเกอ ยันส์เซิน และ มีคีล เฮยส์มัน
ตลาดรายการโทรทัศน์ของเนเธอร์แลนด์ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน หลายรายการเป็นรายการนำเข้าจากต่างประเทศและถ่ายทอดเป็นภาษาต้นฉบับพร้อมมีคำบรรยายใต้ภาพ มีเพียงรายการสำหรับเด็กเท่านั้นที่จะถูกบันทึกเสียงแปลแทนเสียงต้นฉบับ บริษัทเอ็นเดโมล (Endemol) เป็นบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ ก่อตั้งโดยยอห์น เดอโมลและโยป ฟอนเดนเอ็นเด นักจัดรายการชื่อดัง มีรายการในสังกัดมากมาย รวมทั้ง บิกบราเธอร์ ดีลออร์โนดีล ก่อนที่เดอโมลจะแยกมาตั้งบริษัททัลปา เพื่อผลิตรายการประกวดร้องเพลงอย่างเดอะวอยซ์
ในช่วงยุคทองของเนเธอร์แลนด์ มีจิตรกรเอกเกิดขึ้นมากมาย ทั้งแร็มบรันต์ โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ ฟรันส์ ฮัลส์ ยาคอป ฟาน รุยส์เดล และอีกมากมาย สืบเนื่องมาจนศตวรรษที่ 19 และ 20 จิตรกรชาวดัตช์ก็ยังมีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลมากในศิลปะตะวันตก จากผลงานการสร้างสรรค์ของจิตรกรเอก ได้แก่ แวนโก๊ะ ปีต โมนดรียาน และเมาริตส์ กอร์เนลิส แอ็ชเชอร์ หรือแม้แต่วิลเลิม เดอ โกนิง จิตรกรชาวอเมริกาก็เกิดและเติบโตที่ร็อตเทอร์ดาม
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
แต่เดิม อาหารของชาวเนเธอร์แลนด์มาจากผลผลิตจากการจับปลาและเกษตรกรรมทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ อาหารดัตช์มีความเรียบง่ายตรงไปตรงมาและอุดมไปด้วยผลิตภัณฑ์จากนม มื้อเช้าและเที่ยงเป็นอาหารจำพวกขนมปังโรยหน้าต่างๆ อาหารมื้อเย็นแบบดั้งเดิมของเนเธอร์แลนด์มักมีมันฝรั่ง เนื้อ และผักตามฤดูกาล อาหารดัตช์มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันในปริมาณที่สูงเนื่องจากชาวดัตช์สมัยก่อนต้องใช้แรงงานมาก มีความเรียบง่าย ไม่ต้องการความปราณีตมาก ยกเว้นในช่วงวันหยุดเทศกาลที่จะมีการทำอาหารมื้อพิเศษ แต่กระแสโลกาภิวัฒน์ในศตวรรษที่ 20 ทำให้รูปแบบอาหารของชาวดัตช์เปลี่ยนแปลงไป มีการทำอาหารในรูปแบบสากล ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสมัยใหม่มักจะแบ่งอาหารของเนเธอร์แลนด์ออกตามภูมิภาคออกเป็น 3 ประเภท
ประเทศเนเธอร์แลนด์มีวันคริสต์มาส 2 ครั้ง วันที่ 5 และ 25 ธันวาคม ถือว่าเป็นวันคริสต์มาสทั้ง 2 วัน วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันฉลองวันนิโคลัสอีฟ โดยมีเรื่องเล่ากันว่า วันที่ 3 พฤศจิกายน เซนต์นิโคลัสหรือซานตาคลอสจะขึ้นม้าจากสเปน มุ่งหน้ามายังกรุงอัมสเตอร์ดัม
สังคมเนเธอร์แลนด์เป็นสังคมสมัยใหม่ที่เน้นสมภาคนิยม (egalitarianism) ชาวดัตช์ไม่ชอบการโอ้อวด[50]แต่ภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรม ความรุ่งเรืองของศิลปะในอดีต และการมีส่วนร่วมกับเวทีการเมืองระดับนานาชาติ
ชาวเนเธอร์แลนด์เป็นคนใจกว้างและตรงไปตรงมา ความเรียบง่ายและไม่เป็นทางการกลายเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของชาวดัตช์ นอกจากนี้ ยังชื่นชอบแนวคิดว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันอีกด้วย นอกจากนี้ ชาวดัตช์ยังเชื่อในโลกทางโลกมากกว่าทางธรรม และมองว่าการนับถือศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่าจารีตของสังคม โดยมีประชาชนเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ไปโบสถ์อย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์[51]
แม้เนเธอร์แลนด์จะเป็นประเทศผู้นำด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการควบคุมจำนวนประชากร แต่ก็เป็นหนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดประเทศหนึ่งของยุโรป มากกว่าฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม[52] ชาวดัตช์ชื่นชอบแนวคิดควายั่นยืน โดยรัฐบาลผลักดันให้ประเทศหันมาใช้แหล่งพลังงานที่หมุนเวียน ยั่งยืน และราคาถูกภายในปี ค.ศ. 2050 โดยตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่ง และไฟฟ้าราวร้อยละ 40 ต้องมาจากแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน[53]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.