Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลกเมื่อคิดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)[1][2]จากรายงานของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีจีดีพีต่อคนอยู่ที่ราวๆ 48,860 ดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2017/18 จีดีพีของประเทศเติบโตราวร้อยละ 4 ระหว่างช่วง ค.ศ. 1996 ถึง 2000 ก่อนจะลงมาในช่วง 5 ปีต่อมา และลงมาอยู่ที่การเติบโตร้อยละ 3-4 ในช่วง ค.ศ. 2006 ถึง 2007 จากพิษเศรษฐกิจจากเหตุการณ์วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป
หลังการค้นพบก๊าซธรรมชาติเมื่อปี ค.ศ. 1959 เนเธอร์แลนด์ขุดเจาะและส่งออกมานับแต่นั้นโดยมีก๊าซธรรมชาติคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณสำรองในสหภาพยุโรป เป็นทรัพยากรที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับเนเธอร์แลนด์หลายทศวรรษที่ผ่านมา[3] อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติก็มีผลกระทบกับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นเช่นกันหรือที่รู้จักกันในทางเศรษฐศาสตร์ว่า โรคดัตช์
เนเธอร์แลนด์มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดและมั่งคั่ง ขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมาก มีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง อัตราการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเกินสะพัดสูง และเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมของยุโรปโดยมีท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ท่าอากาศยานนานาชาติสคิปโฮลเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ของยุโรป อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ การกลั่นปิโตรเลียม เทคโนโลยีขั้นสูง การบริการด้านการเงิน บันเทิง และเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ ภาคการเกษตรมีแรงงานเพียงร้อยละ 2 ของแรงงานทั้งประเทศแต่สร้างผลผลิตส่วนเกินมหาศาลสำหรับการแปรรูปอาหารและการส่งออก เนเธอร์แลนด์ยังเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศที่เริ่มใช้เงินสกุลยูโรเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2002
หลังเนเธอร์แลนด์ประกาศอิสรภาพจากการปกครองของสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1581 ก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐดัตช์ เศรษฐกิจก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก มีการพัฒนาวิธีการสร้างเรือ ทักษะทางการค้า การรวบรวมเงินทุน โดยมีปัจจัยเสริมจากการที่พ่อค้าที่มั่งคั่งอพยพจากฟลานเดอร์สทางตอนใต้อพยพขึ้นมาอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์หลังดินแดนฝั่งใต้ตกเป็นของสเปนจากการสู้รบในสงครามประกาศเอกราช การค้าระหว่างประเทศของสาธารณรัฐรุ่งเรืองมาก การขนส่งสินค้าทางทะเลมีมากถึง 568,000 ตันในปี ค.ศ. 1670 หรือราวๆครึ่งหนึ่งของยุโรป สาเหตุสำคัญคือการเติบโตของกรุงอัมสเตอร์ดัมที่กลายมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป และการประสบความสำเร็จของบริษัทอินเดียตะวันออกและบริษัทอินเดียตะวันตกในการทำการค้ากับดินแดนอาณานิคม
การปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงแรกที่มีลม น้ำ และพีตเป็นแหล่งพลังงงานหลักนั้นก็ทำให้ดัตช์สามารถผันน้ำทะเลออกไปและสร้างผืนแผ่นดินใหม่ได้ นำมาซึ่งการปฏิวัติเกษตรกรรม ทำให้ชาวดัตช์มีคุณภาพชีวิตสูงที่สุดในยุโรปราวกลางศตวรรษที่ 17 หรือที่เรียกว่ายุคทองของเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองนี้ถึงคราวต้องสิ้นสุดหลังเกิดสงครามกับประเทศมหาอำนาจด้วยกันหลายครั้งต่อเนื่องและวิกฤตเศรษฐกิจราว ค.ศ. 1670 เนเธอร์แลนด์ไม่สามารถกลับไปอยู่ ณ จุดสูงสุดได้อีกเลยนับจากนั้น
เนเธอร์แลนด์ไม่ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วดั่งเช่นชาติอื่นๆของยุโรป เนื่องจากภาคเศรษฐกิจหลักคือการค้าและเกษตรกรรมเกิดการถดถอย จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 รัฐบาลเริ่มสร้างนโยบายที่รวมเศรษฐกิจเข้าเป็นระบบเดียวกัน มีการยกเลิกภาษีศุลกากรในประเทศ ยุบสมาคมพ่อค้า ใช้ระบบเงินตราแบบเดียวกัน ใช้วิธีการเก็บภาษีแบบใหม่ ใช้มาตรวัดชั่งตวงมาตรฐาน และสร้างโครงข่ายถนน คลอง และรางรถไฟ
เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์เปลี่ยนไปสู่สังคมอุตสาหกรรมโดยมีชนชั้นกลางเป็นแรงขับเคลื่อนหลังในช่วงศตวรรษที่ 19 เช่นเดียวกับชาติอื่นๆในยุโรป ตัวเลขแรงงานในภาคเกษตรกรรมลดลงและผันไปอยู่กับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า ในอดีตเนเธอร์แลนด์เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมช้ากว่าประเทศเบลเยียมแต่ก็ไล่ทันราวๆ ค.ศ. 1920 โดยมีอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยบริษัทฟิลิปส์เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก[4] ท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลขคนจนลดลงอย่างช้าๆ การจ้างงานและสวัสดิการดีขึ้นเรื่อยมา
ในปี ค.ศ. 1959 เนเธอร์แลนด์ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศ สร้างรายได้มหาศาลแต่ก็มีผลกระทบกับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นเช่นกัน[5]
ขณะที่ภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน การใช้จ่ายของภาครัฐคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 28 ของจีดีพี[6]โดยไม่รวมการจ่ายเงินประกันสังคม ขณะที่รายได้จากการเก็บภาษีอยู่ที่ร้อยละ 38.7 ของจีดีพี[7]ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรป[8] นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีอำนาจในการออกข้อบังคับต่างๆ โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจจุลภาคแบบเข้มงวดและเสถียรมาปรับใช้ในการปฏิรูปโครงสร้างและระเบียบข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเริ่มลดบทบาทในทางเศรษฐกิจลงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและปล่อยให้ภาคเอกชนมีเสรีในการดำเนินกิจการ เปลี่ยนมามีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจผ่านทางการประชุมสภาเศรษฐกิจและสังคมร่วมมือกับสหภาพการค้าและองค์กรนายจ้างแทน
ระบบประกันสังคมของเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างกว้างขวาง ครอบคลุมผู้อยู่อาศัยในเนเธอร์แลนด์ทุกคน แบ่งเป็นประกันสังคมแห่งชาติ และประกันลูกจ้าง บุคคลที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้กับระบบประกันสังคม รวมถึงชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ด้วย
การค้นพบก๊าซธรรมชาติในปี ค.ศ. 1959 ที่โกรนิงเงินทางตอนเหนือของประเทศสร้างรายได้มหาศาลและผลกระทบกับธุรกิจภาคส่วนอื่นไปพร้อมๆกัน เนเธอร์แลนด์มีก๊าซธรรมชาติคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณสำรองของยุโรป[9] หรือราวๆร้อยละ 0.3 ของทั้งโลก[10] แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและยุบบ่อยครั้ง รัฐบาลได้สั่งลดปริมาณการขุดเจาะเมื่อปี ค.ศ. 2014 เรื่อยไปจนกระทั่งเลิกขุดในปี ค.ศ. 2028[11] และตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานแหล่งอื่นแทนเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก
นักวิจัยในเนเธอร์แลนด์เริ่มศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 และเริ่มสร้างเตาปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยที่โดเดอวาร์ด ในจังหวัดเกลเดอร์ลันด์เมื่อปี ค.ศ. 1955 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ในปี ค.ศ. 1962 เพื่อมาทดแทนเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ มีการทดสอบนำเตาปฏิกรณ์มาเชื่อมกับโครงข่ายพลังงานในปี ค.ศ. 1968 (แต่ถูกปิดไปในปี ค.ศ. 1997) ในปี ค.ศ. 1984 รัฐบาลตัดสินใจสร้างโรงงานจัดเก็บของเสียกัมมันตรังสีแบบอ่อนระยะยาว (100 ปี) และทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการย่อยสลายของเสียจากนิวเคลียร์ มีการตั้งองค์กรกลางเพื่อของเสียกัมมันตรังสีขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2003 เพื่อสร้างโรงงานจัดเก็บของเสียกัมมันตรังสีแบบเข้ม
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในเชิงพาณิชย์ตั้งอยู่ที่โบร์สเซเลอ จังหวัดเซลันด์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 และสร้างกำลังไฟฟ้าราวร้อยละ 4 ของกำลังไฟฟ้าทั่วประเทศ[12] นอกจากนี้ยังมีเตาปฏิกรณ์ขนาด 2 ล้านเมกะวัตต์ตั้งอยู่ที่ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ เพื่อการวิจัยด้านนิวตรอนและโพสิตรอน
รัฐสภาเนเธอร์แลนด์มีมติให้ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงเมื่อปี ค.ศ. 1994 เป็นสาเหตุให้มีการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่โดเดอวาร์ด และถอนใบอนุญาตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่โบร์สเซเลอในปี ค.ศ. 2003 แต่ผ่อนผันให้ได้ถึงปี ค.ศ. 2034 หากยังสามารถดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยสูงสุดได้ อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะขยายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์และบริษัทไฟฟ้านิวเคลียร์เริ่มเสนอให้มีการสร้างเตาปฏิกรณ์แห่งใหม่ แต่ข้อเสนอยังไม่ได้ข้อสรุปจนถึงทุกวันนี้
ในปี ค.ศ. 2011 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในเนเธอร์แลนด์ราว 11.3 ล้านคน[13] สร้างรายได้ราวร้อยละ 5.4 ของจีดีพีของประเทศในปี ค.ศ. 2012 มีการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวประมาณร้อยละ 9.6 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ คิดเป็นลำดับ 83 จาก 147 ประเทศทั่วโลกที่มีการจัดอันดับ การท่องเที่ยวจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ใหญ่มากในเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์[14]
จังหวัดนอร์ดฮอลแลนด์เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมากที่สุด ราวๆ 6 ล้านคนในปี ค.ศ. 2011 รองลงมาคือจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ ราวๆ 1.4 ล้านคน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากเยอรมัน อังกฤษ และเบลเยียม (ราวๆ 3.0 ล้านคน 1.5 ล้านคน และ 1.4 ล้านคนตามลำดับ[15]) เนเธอร์แลนด์มีมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก 9 แห่ง และประเทศเนเธอร์แลนด์มีชื่อเสียงด้านมรดกทางศิลปะและประวัติศาสตร์
เนเธอร์แลนด์มีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งอยู่ โดยมีบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมื่อวัดจากรายได้ และเคยใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปี ค.ศ. 2009 สำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างๆสัญชาติดัตช์มักตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เช่น ไฮเนเก้น อาโฮลด์ ฟิลิปส์ ทอมทอม รันด์สตัดโฮลดิง และไอเอ็นจี ยกเว้นสำนักงานของยูนิลีเวอร์ตั้งอยู่ที่รอตเทอร์ดาม ของอาเอสเอ็มเอล โฮลดิงตั้งอยู่ใกล้ไอนด์โฮเวน
บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 2011 มีดังนี้
อันดับ | ชื่อ | สำนักงานใหญ่ | รายได้ (ล้านยูโร) | กำไร (ล้านยูโร) | จำนวนลูกจ้าง
(ทั่วโลก) |
---|---|---|---|---|---|
1. | รอยัลดัตช์เชลล์ | เดอะเฮก | 378,152 | 20,127 | 97,000 |
2. | ไอเอ็นจี | อัมสเตอร์ดัม | 147,052 | 3,678 | 106,139 |
3. | เอกอน | เดอะเฮก | 65,136 | 2,330 | 27,474 |
4. | แอร์บัส | ไลเดิน | 60,597 | 732 | 121,691 |
5. | ไลยงเดลล์บาเซลล์ | รอตเทอร์ดาม | 41,151 | ไม่รายงาน | 14,000 |
6. | รอยัลอาโฮลด์ | อัมสเตอร์ดัม | 39,111 | 1,130 | 122,027 |
7. | ฟิลิปส์ | อัมสเตอร์ดัม | 33,667 | 1,915 | 119,001 |
8. | ราโบบังก์ | ยูเทรกต์ | 32,672 | 3,552 | 58,714 |
9. | ก๊าซแทร์รา | โกรนิงเงิน | 24,313 | 48 | 188 |
10. | ไฮเนอเกิน | อัมสเตอร์ดัม | 21,684 | 954 | 65,730 |
— | เอสฮาเฟโฮลดิงส์ | ยูเทรกต์ | 21,202 | 799 | 50,300 |
— | อักโซโนเบิล | อัมสเตอร์ดัม | 20,419 | 999 | 55,590 |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.