Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ร่างทรง (อังกฤษ: The Medium, เกาหลี: 랑종) เป็นภาพยนตร์ไทยแนวระทึกขวัญ–สยองขวัญ ร่วมทุนผลิตโดยจีดีเอช จากประเทศไทย และ โชว์บอกซ์ จากประเทศเกาหลีใต้ กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล และอำนวยการสร้างโดย นา ฮง-จิน เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติพูช็อน ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2564[2] ต่อมาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564[3] สำหรับประเทศไทย มีกำหนดเข้าฉายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564[ต้องการอ้างอิง]
ร่างทรง | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | บรรจง ปิสัญธนะกูล |
เขียนบท |
|
เนื้อเรื่อง |
|
อำนวยการสร้าง | นา ฮง-จิน บรรจง ปิสัญธนะกูล |
นักแสดงนำ |
|
กำกับภาพ | นฤพล โชคคณาพิทักษ์ |
ตัดต่อ | ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค |
ดนตรีประกอบ | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | จีดีเอช (ไทย) โชว์บอกซ์ (เกาหลีใต้) |
วันฉาย |
|
ความยาว | 130 นาที |
ประเทศ | ไทย เกาหลีใต้ |
ภาษา | ภาษาไทย ภาษาอีสาน |
ทำเงิน | 250 ล้านบาท (เกาหลีใต้)[1] 54.1 ล้านบาท (กรุงเทพ ปริมณฑล และเชียงใหม่) 112.19 ล้านบาท (ทั่วประเทศไทย) |
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best of Bucheon) ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติพูช็อน ครั้งที่ 25 ด้วยมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการ พร้อมทั้งเป็นภาพยนตร์ทำเงินลำดับที่ 15 ของบอกซ์ออฟฟิศเกาหลีใต้ประจำปี พ.ศ. 2564 ด้วยยอดรายได้ 7.35 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดผู้ชม 831,126 คน[4] นอกจากนี้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้เสนอชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนจากประเทศไทย เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม[5] แต่ไม่ได้ถูกรับเลือกให้เข้าชิง
ภาคต่อของภาพยนตร์ “MINK” (มิ้ง) กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา
เรื่องราวการถ่ายทำสารคดีติดตามชีวิตครอบครัวที่สืบเชื้อสายร่างทรง "ย่าบาหยัน" มาหลายชั่วอายุคน ซึ่งเชื่อกันว่าจะเลือกแต่ร่างของผู้หญิงเพื่อสืบทอดทายาท โดยมี ป้านิ่ม (สวนีย์ อุทุมมา) เป็นผู้สืบทอดสายเลือดร่างทรงคนปัจจุบัน ระหว่างการถ่ายทำกำลังดำเนินอยู่นั้น ทุกคนเริ่มพบอาการแปลกประหลาดหลายอย่างเกิดขึ้นกับ มิ้ง (นริลญา กุลมงคลเพชร) หลานสาวคนเดียวของตระกูล ทุกคนจึงคาดกันว่ามิ้งน่าจะถูกรับเลือกให้เป็นทายาทร่างทรงคนต่อไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปมิ้งกลับมีอาการน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ จนสมาชิกในครอบครัวเริ่มสงสัยกันว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เข้ามาอยู่ในร่างของมิ้งอาจจะไม่ใช่ย่าบาหยันอย่างที่ทุกคนคิด
นางน้อย (ศิราณี ญาณกิตติกานต์) แม่ของมิ้ง เป็นคนเดียวในครอบครัวที่ไม่เชื่อว่ามิ้งจะถูกผีร้ายเข้าสิง จึงเร่งให้มีการทำพิธีกรรมรับขันธ์ให้มิ้งเป็นร่างทรงคนต่อไป แต่ป้านิ่มไม่ยอมทำพิธีกรรมให้เพราะเชื่อว่าที่อยู่ในร่างมิ้งไม่ใช่ย่าบาหยัน แต่นางน้อยไม่ยอมจึงนำมิ้งไปทำพิธีกรรมกับหมอผีอื่นตามลำพัง ป้านิ่มตามไปทำลายพิธีกรรมนั้นลงจนมิ้งเกิดอาการคลั่งและเตลิดเปิดเปิงไป เมื่อเป็นเช่นนั้นป้านิ่มจึงถามกับ ลุงมานิต (ยะสะกะ ไชยสร) ว่ามิ้งเคยผิดผีกับ แม็กซ์ พี่ชายของตัวเองหรือไม่ แม้ลุงมานิตไม่ยอมตอบ แต่หลังจากวันนั้นกิจการทุก ๆ อย่างของตระกูลยะสันเทียะ เริ่มพังทลายลงทีละน้อย เมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างเริ่มเลวร้ายลง ความลับอันดำมืดของตระกูลก็เริ่มผุดขึ้นมาทีละน้อย สมัยก่อนตระกูลยะสันเทียะเคยรับจ้างฆ่าคนไม่เว้นวัน แม้เลิกราไปนานจนถึงยุคปัจจุบัน คนในตระกูลก็ยังประกอบอาชีพฆ่าสัตว์ ฆ่าหมา ฆ่าวัว ฆ่าควาย เพื่อเอามาชำแหละเนื้อขาย ซึ่งผิดกันกับตระกูลฝ่ายหญิงที่ทำอาชีพร่างทรง ถือศีล ประพฤติตนตามหลักศาสนา ด้วยความลับนี้จึงทำให้ป้านิ่มเชื่อมั่นว่า สิ่งที่อยู่ในร่างมิ้ง ต้องเป็นหนึ่งในเจ้ากรรมนายเวรพวกนี้แน่ จึงเร่งพยายามอัญเชิญย่าบาหยันให้มาทำพิธีไล่ผีและขอขมาเจ้ากรรมนายเวรให้ปลดปล่อยครอบครัวไป แต่ทุกอย่างก็สายเมื่ออยู่ดี ๆ ป้านิ่มก็เสียชีวิตลงจนทำให้ทุกคนเริ่มหมดหวัง
นางน้อยเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมแพ้ เธอจึงจัดการหาหมอผีทำพิธีคุณไสย์ ไล่วิญญาณร้ายออกไปจากร่างมิ้ง นางน้อยใช้วิธีใดก็ไม่เป็นผล แต่ทุก ๆ ครั้งที่เธอทำพิธีกรรม ความลับที่ซ่อนเอาไว้ก็เริ่มผุดออกมาว่า จริง ๆ แล้ว นางน้อยคือคนที่ย่าบาหยันเลือกให้เป็นร่างทรงคนต่อไป แต่นางน้อยกลับปฏิเสธด้วยการใส่ยันต์ลงในรองเท้ารวมถึงเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์ ทำให้ย่าบาหยันไม่เลือกเธอแต่ไปเลือกป้านิ่มแทน เมื่อเป็นเช่นนั้นนางน้อยจึงกลับไปหาย่าบาหยันที่เคยปฏิเสธไป เธอจัดพิธีกรรมรับขันธ์เพื่อรับเอาย่าบาหยันเข้ามา พร้อม ๆ กับผนึกวิญญาณร้ายไปพร้อมกันทีเดียว แต่แล้วผีร้ายกลับบังตา แป้ง (อรุณี วัฒฐานะ) ให้เข้าใจผิดว่าลูกของเธอหายไป เธอจึงพังยันต์เข้าไปหามิ้งเพื่อไปเอาลูกคืน แต่สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าคือมิ้งที่ทำลายยันต์ได้สำเร็จ มิ้งจึงลงมือฆ่าทุกคนที่อยู่ที่นั่น ก่อนบุกไปทำลายพิธีกรรมและฆ่าทุกคนที่ลานพิธีกรรมอย่างเลือดเย็น
นางน้อยที่รับเอาย่าบาหยันเข้ามาสำเร็จ จึงทำพิธีกรรมไล่ผีร้ายออกไปจากมิ้งตามลำพัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมิ้งหลอกล่อให้นางน้อยตายใจ ก่อนใช้มีดแทงคอนางน้อยให้ล้มลงและเผาร่างนางน้อยทั้งเป็น พริบตาที่เพลิงลุกไหม้ กล้องที่ล้มลงไปก็จับภาพได้พอดีว่ามีตุ๊กตาสาปแช่งคนตระกูลยะสันเทียะวางอยู่ใกล้ ๆ และภาพก็ตัดลง
ทีมงานนำบันทึกสัมภาษณ์ป้านิ่มครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิตมาเปิด ภาพที่ปรากฏคือป้านิ่มทำพิธีไหว้ย่าบาหยันตามปกติ แต่เมื่อไหว้เสร็จป้ากลับโยนถาดทิ้งแบบไม่พอใจ ทีมงานจึงถามป้าว่าทำไมทำเช่นนั้น ป้านิ่มจึงสารภาพว่า ตัวเธอเองยังไม่รู้เลยว่าย่าบาหยันเข้าร่างจริงหรือไม่ ก่อนหนีไปร้องไห้ตามลำพังเพียงคนเดียว
ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีสถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเลย แถบภาคอีสานของประเทศไทย[6][7]
ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวครั้งแรกในงานแถลงข่าว GDH Xtraordinary 2021 Line-up เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเปิดตัวว่าเป็นภาพยนตร์ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดยมีโปรดิวเซอร์คือ นา ฮง-จิน จากค่ายโชว์บอกซ์[8] ก่อนจะประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[9] และมีแผนเข้าฉายในเกาหลีใต้ช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564[10] ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหว โดยได้เปิดเผยตัวอย่างแรก และอธิบายเนื้อเรื่องว่าเกี่ยวข้องกับคนทรง และความเชื่อของชาวไทยถิ่นอีสาน
ด้วยเนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วนที่มีฉากไม่เหมาะสมอย่างการนำสุนัขมาชำแหละ หรือนำสุนัขลงไปต้มในน้ำเดือดทั้งเป็น ผู้สร้างภาพยนตร์ยังได้มีการขึ้นคำชี้แจงไว้ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ว่าทั้งหมดเป็นเพียงเทคนิคการถ่ายทำ และไม่มีสัตว์ใด ๆ ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการซื้อขายในตลาดภาพยนตร์ยุโรป ผ่านทาง Finecut ลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ตกเป็นของ The Jokers สำหรับการเข้าฉายในฝรั่งเศส[11] และ Koch Films สำหรับการเข้าฉายในประเทศที่พูดภาษาเยอรมัน[12] และในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งภาพยนตร์สยองขวัญชื่อดังอย่าง Shudder และ เน็ตฟลิกซ์ ได้รับสิทธิ์สตรีมภาพยนตร์เรื่องนี้ในสหรัฐ เริ่มออกฉายสตรีมครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564[13]
ในแถบเอเชีย ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกหลายบริษัทซื้อไปเข้าฉายในหลายประเทศ เช่น Edko Films ในมาเก๊า กับฮ่องกง, MovieCloud ใน ไต้หวัน, Synca Creations ในญี่ปุ่น, Encore Films ในมาเลเซีย กับอินโดนีเซีย, Golden Village ในสิงคโปร์, M Pictures ในลาว กับกัมพูชา และ Lumix Media ในเวียดนาม[12] พร้อมทั้งกวาดเสียงวิจารณ์และรายได้ในหลายประเทศ เช่น เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในรอบ 8 ปีที่สิงคโปร์, เป็นภาพยนตร์เรท R ที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดแห่งปีที่ไต้หวัน และเป็นภาพยนตร์ไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอินโดนีเซีย แซงหน้าภาพยนตร์ พี่มาก..พระโขนง[14]
ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งพูช็อน ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2564[2] ต่อมาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564[3] ด้วยจำนวนโรงสูงถึง 1403 โรง[1] เปิดตัววันแรกขึ้นอันดับหนึ่งบอกซ์ออฟฟิศเกาหลีใต้ ด้วยยอดผู้ชม 129,917 คน แซงหน้าภาพยนตร์จากมาร์เวลสตูดิโอส์อย่างแบล็ค วิโดว์ ไปได้ในวันเดียวกัน หลังจากเข้าฉายได้ 4 วัน กลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ทำรายได้สูงสุดในเกาหลีใต้ ด้วยรายได้ราว 2.67 ล้านเหรียญสหรัฐ และมียอดผู้ชมสะสมอยู่ที่ 403,019 คน[15] รายได้รวมตลอดการฉายในเกาหลีใต้อยู่ที่ 7.32 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 250 ล้านบาท) และมียอดผู้ชมรวมทั้งสิ้น 831,126 คน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่สามารถเข้าฉายในไทยพร้อมกับเกาหลีใต้ได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19[ต้องการอ้างอิง] ภายหลังจีดีเอชได้ประกาศกำหนดเข้าฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยมีงานแถลงข่าวและเปิดให้ชมภาพยนตร์ในรอบสื่อ ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สามารถทำรายได้เปิดตัววันแรกในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ ไปได้ 3.68 ล้านบาท (รายได้ทั่วประเทศ 8.69 ล้านบาท) กลายเป็นภาพยนตร์ไทยรายได้เปิดตัววันแรกสูงเป็นลำดับที่สอง ประจำปี พ.ศ. 2564[16] (ลำดับที่ 1 เป็นของ 4 KINGS อาชีวะ ยุค 90 ทำรายได้ 3.85 ล้านบาท) ภายหลังเข้าฉายได้ 4 วัน ทำรายได้ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ รวม 19.2 ล้านบาท (รายได้ทั่วประเทศ 40.02 ล้านบาท)[17]
สิ้นสุดวันหยุดสุดสัปดาห์ที่สอง หลังจากการเข้าฉายในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ ทำรายได้รวม 38.59 ล้านบาท (รายได้ทั่วประเทศ 81.58 ล้านบาท)[18] สิ้นสุดวันหยุดสุดสัปดาห์ที่สาม ทำรายได้รวมในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ 47.94 ล้านบาท (รายได้ทั่วประเทศ 101.09 ล้านบาท) กลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกของปี พ.ศ. 2564 ที่ทำรายได้ทั่วประเทศทะลุ 100 ล้านบาท[19] สิ้นสุดโปรแกรมการฉาย หลังเข้าฉายไปได้ 6 สัปดาห์ ทำรายได้รวมในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ 54.1 ล้านบาท (รายได้ทั่วประเทศ 112.19 ล้านบาท)
ปี | ผู้มอบรางวัล | สาขาที่เข้าชิง | ผู้ได้รับเสนอชื่อ | ผล |
---|---|---|---|---|
2564 | เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติพูช็อน ครั้งที่ 25[20] | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ร่างทรง | ชนะ |
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมานิแอติก 2021[21] | ชนะ | |||
เทศกาลภาพยนตร์สยองขวัญและแฟนตาซีซาน เซบาสเตียน ครั้งที่ 32[22] |
ชนะ | |||
เทศกาลภาพยนตร์สยองขวัญนานาชาติมอลินส์ 2021[23] | กำกับภาพยอดเยี่ยม | นฤพล โชคคณาพิทักษ์ | ชนะ | |
2565 | Fever Awards ครั้งที่ 5[24] | ภาพยนตร์ฟีเวอร์แห่งปี | ร่างทรง | ชนะ |
นักแสดงนำหญิงสาขาภาพยนตร์ฟีเวอร์ | นริลญา กุลมงคลเพชร | ชนะ | ||
Thailand Zocial Awards 2022[25] | Best Entertainment on Social Media สาขาภาพยนตร์ไทย | ร่างทรง | ชนะ | |
คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 18[26] | ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม | ชนะ | ||
ผู้กำกับยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกุล | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม | นริลญา กุลมงคลเพชร | ชนะ | ||
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | บุญส่ง นาคภู่ | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
ยะสะกะ ไชยสร | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม | สวนีย์ อุทุมมา | ชนะ | ||
ศิราณี ญาณกิตติกานต์ | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกูล, ฉันทวิชช์ ธนะเสวี, ศิววุฒิ เสวตานนท์ | ชนะ | ||
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 30[27] | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ร่างทรง | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกุล | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม | นริลญา กุลมงคลเพชร | ชนะ | ||
สวนีย์ อุทุมมา | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม | ศิราณี ญาณกิตติกานต์ | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | บุญส่ง นาคภู่ | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
ยะสะกะ ไชยสร | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ร่างทรง | ชนะ | ||
กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
ลำดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม | ชนะ | |||
ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 30[28] | ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม | นริลญา กุลมงคลเพชร | ชนะ | |
ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม | สวนีย์ อุทุมมา | ชนะ | ||
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกูล | ชนะ | ||
ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | บุญส่ง นาคภู่, ยะสะกะ ไชยสร | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ฉันทวิชช์ ธนะเสวี, ศิววุฒิ เสวตานนท์, บรรจง ปิสัญธนะกูล | ชนะ | ||
ถ่ายภาพยอดเยี่ยม | นฤพล โชคคณาพิทักษ์ | ชนะ | ||
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ร่างทรง | ชนะ | ||
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | อรรคเดช แก้วโคตร | ชนะ | ||
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ | ชนะ | ||
ออกแบบเครื่องแต่งกาย | ชญานุช เสวกวัฒนา | ชนะ | ||
ลำดับภาพยอดเยี่ยม | ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
เทคนิคการสร้างภาพพิเศษ | บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น สตูดิโอ จำกัด | ชนะ | ||
บันทึกเสียงและผสมเสียง | นฤเบศ เปี่ยมใย | ชนะ | ||
เทคนิคพิเศษการแต่งหน้า | พิเชษฐ วงศ์จันทร์สม | ชนะ |
จากความสำเร็จของภาพยนตร์ นาฮงจิน ผู้อำนวยการสร้าง ได้ประกาศข่าวให้เหล่าแฟน ๆ ในงาน SHOWBOX: Fun for Tomorrow ประกาศสร้างหนัง “ภาคต่อ” โดยจะใช้ชื่อเรื่องว่า “MINK” (มิ้ง)[29]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.