Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเยือนภาคใต้ของเติ้ง เสี่ยวผิง (จีนตัวย่อ : 邓小平南巡; จีนตัวเต็ม : 鄧小平南巡) หรือ การเยือนภาคใต้ พ.ศ. 2535 (จีนตัวย่อ: 九二南巡; จีนตัวเต็ม: 九二南巡) เป็นการเยือนภาคใต้ของจีนของเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำสูงสุดของจีน ได้แก่ เชินเจิ้น จูไห่ กว่างโจว และเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535[1][2][3][4][5] การพูดคุยและข้อสังเกตของเติ้งระหว่างการเยือนได้ตอกย้ำการดำเนินการตามโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนของเขาในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งหยุดชะงักลงหลังจากการปราบปรามของทหารในการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2532 จากคำสั่งของเติ้งเอง[1][6][7][8] การเยือนภาคใต้ปี พ.ศ. 2535 ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน เนื่องจากมีส่วนช่วยรักษาการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ตลอดจนตลาดทุน และเสถียรภาพของสังคม[1][6][9][10][11][12]
ในระหว่างการเยือนภาคใต้ เติ้งได้เน้นย้ำกับผู้นำทางทหารหลายคนของกองทัพปลดปล่อยประชาชน คือ หยาง ช่างคุน หลิว หฺวาชิง และหยาง ไป่ปิง ว่า "ผู้ที่ไม่ส่งเสริมการปฏิรูปสมควรถูกถอดออกจากตำแหน่งผู้นำ" และบังคับให้เจียง เจ๋อหมิน ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน สนับสนุนและดำเนินโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป[13] นอกจากนี้เขายังหวังว่ามณฑลกวางตุ้งจะตามทัน "สี่เสือแห่งเอเชีย" ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจภายใน 20 ปี[14][15] ข้อสังเกตและความคิดเห็นที่โดดเด่นบางประการจากเติ้งในระหว่างการเยือน ได้แก่ "ไม่สำคัญว่าแมวจะเป็นสีดำหรือขาว ขอแค่จับหนูได้ มันก็เป็นแมวที่ดี" (不管黑猫白猫,能捉到老鼠就是好猫) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกโดยเขาคริสต์ในทศวรรษ 1960 และ "การพัฒนาคือคำตอบสุดท้าย (发展才是硬道理)" และ "รัฐบาลเชินเจิ้น ควรเข้มงวดมากขึ้นในการปฏิรูปเศรษฐกิจ กล้าทดลอง และไม่ควรทำตัวเป็นผู้หญิงรัดเท้า"[10][16][17][18]
อย่างไรก็ตาม แม้เติ้งเองก็กล่าวว่าจะต้องบังคับใช้การต่อต้านการทุจริตตลอดกระบวนการปฏิรูปและการเปิดประเทศทั้งหมด และเน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักนิติธรรม[19][20] แต่ในความเป็นจริงการเยือนภาคใต้ไม่ได้แก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดจนความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจในจีน และไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปการเมืองของจีนต่อซึ่งล้มเหลวและสิ้นสุดลงในการประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2532[21][22][23][24][25]
สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงว่าควรจะดำเนินโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนต่อไปหรือไม่ หลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิง ได้สั่งการให้ทหารเข้าปราบปรามการผู้ชุมนุมในการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2532[8][26] หลังจากที่ จ้าว จื่อหยาง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนักปฏิรูปชั้นนำถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีการสนับสนุนนักศึกษาและต่อต้านการปราบปรามของทหารในการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เจียง เจ๋อหมิน จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคนใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำอนุรักษ์นิยมฝ่ายซ้ายที่ทรงอำนาจหลายคน เช่น เฉิน ยฺหวิน และหลี่ เซียนเนี่ยน[27][28]
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีมติ ("การตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้ไขธรรมาภิบาลเพิ่มเติมและการปฏิรูปเชิงลึก") โดยระบุว่าการปฏิรูปเร็วเกินไป และตัดสินใจยกเครื่องการเปลี่ยนแปลง[29] ผลที่ตามมาคือ โครงการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2532 ในยุโรป และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2534
ผลของการปฏิรูปตลาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนภาคใต้ของเติ้ง ได้รับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์อย่างกว้างขวาง[30]: 84
ในฤดูใบไม้ผลิปี พ.ศ. 2534 หนังสือพิมพ์เจี๋ยฟางเดลี (Jiefang Daily) ในเซี่ยงไฮ้ได้ตีพิมพ์บทความหลายบทความที่เขียนโดยหฺวาง ฝู่ผิง ซึ่งส่งเสริมการปฏิรูป ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างรวดเร็วจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและประชาชน[26][31] ในทางกลับกัน สื่อหลายแห่งในกรุงปักกิ่งซึ่งควบคุมโดยเจียง เจ๋อหมิน และหลี่ เผิง (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ตอบโต้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์บทความของหฺวางโดยตรง และตั้งคำถามว่าจีนกำลังเดินตามเส้นทางทุนนิยมหรือสังคมนิยม[26][31]
วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2535 เติ้ง เสี่ยวผิง ในวัย 87 ปี เริ่มต้นการเดินทางเยือนภาคใต้ของจีนด้วยการเยือนเขตอู่ชาง เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ และเมืองฉางชา มณฑลหูหนาน[2] ต่อจากนั้น เขายังได้ไปเยือนหลายเมืองในมณฑลกวางตุ้ง รวมถึง เชินเจิ้น จูไห่ และกว่างโจว ตั้งแต่วันที่ 19–29 มกราคม[2] หลังจากนั้นเขาแวะพักในมณฑลเจียงซี และในวันที่ 31 มกราคม เติ้งก็เดินทางมาถึงเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดการเยือนภาคใต้ของเขา[2] หลังจากใช้เวลาร่วมเทศกาลตรุษจีนในเซี่ยงไฮ้ เติ้งก็เดินทางกลับกรุงปักกิ่งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ระหว่างทาง เขาได้แวะเยี่ยมนานกิง ในมณฑลเจียงซู และมณฑลอานฮุย[2]
ในช่วงแรก การเยือนภาคใต้ของเติ้งแทบจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อปักกิ่งและสื่อระดับชาติ เนื่องจากสื่อเหล่านั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของคู่แข่งทางการเมืองของเติ้ง แม้กระทั่งเจียง เจ๋อหมิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น ก็แสดงท่าทีสนับสนุนน้อยมากและนิ่งเฉยต่อการเดินทางครั้งนี้ ทำให้ยิ่งตอกย้ำถึงความพยายามลดทอนความสำคัญของเติ้งบนเวทีการเมือง
อย่างไรก็ตาม สื่อในฮ่องกงรายงานข่าวการเดินทางของเติ้งเป็นแห่งแรก หลังได้รับการยืนยันจากรัฐบาลเชินเจิ้น ในขณะที่หนังสือพิมพ์เขตเศรษฐกิจพิเศษเชินเจิ้นรายวัน (深圳特区报) ได้เผยแพร่รายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางของเติ้งในวันที่ 26 มีนาคม โดยไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลาง นับเป็นสื่อแห่งแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ที่กล้าทำเช่นนั้น[32]
เวลา 9 โมงเช้าของวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2535 เติ้ง เสี่ยวผิง เดินทางมาถึงเชินเจิ้น หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีนที่ได้รับการอนุมัติจากตัวเขาเอง ท่ามกลางการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึง เซี่ย เฟย์ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกวางตุ้ง[2][33] ในวันรุ่งขึ้น เติ้งได้เดินทางไปเยี่ยมชมตึกกั๋วเม่า (Guomao Building) และบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในเชินเจิ้น[2] ในวันที่ 21 มกราคม เติ้งได้เยี่ยมชมเมืองจีนโพ้นทะเลและหมู่บ้านพื้นเมือง[2] ในเช้าตรู่ของวันที่ 22 มกราคม เติ้งพร้อมด้วยภรรยา บุตร และหลาน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมสวนพฤกษศาสตร์ไห่หลินร่วมกัน ซึ่งพวกเขายังร่วมปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึกด้วย ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เติ้งได้กล่าวสุนทรพจน์อันโด่งดังต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลเซินเจิ้น คำพูดของเขาในครั้งนี้เป็นแรงกระตุ้นสำคัญของนโยบาย "ปฏิรูปและเปิดประเทศ" และมีความหมายต่อทิศทางเศรษฐกิจจีนอย่างมาก:[2][17][18]
"รัฐบาลเชินเจิ้นควรกล้าหาญมากขึ้นในการดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ กล้าที่จะทดลอง และไม่ควรทำตัวเหมือนผู้หญิงรัดเท้า หากคุณคิดว่าอะไรถูกแล้ว จงทดลองและยอมรับมันอย่างกล้าหาญ บทเรียนสำคัญของเชินเจิ้นคือ "จิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญ" หากปราศจากจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญและพลังขับเคลื่อน คุณจะไม่สามารถค้นหาเส้นทางที่ดีหรือเส้นทางใหม่ หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ (改革开放胆子要大一些,敢于试验,不能像小脚女人一样。看准了的,就大胆地试,大胆地闯。深圳的重要经验就是敢闯。没有一点闯的精神,没有一点“冒”的精神,没有一股气呀、劲呀,就走不出一条好路,走不出一条新路,就干不出新的事业)
ในระหว่างการเยือน เติ้งคาดหวังว่ามณฑลกวางตุ้งจะตามทัน "สี่เสือแห่งเอเชีย" ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจภายใน 20 ปี[2][14][15] การเยือนของเติ้งยังช่วยรักษาตลาดทุนของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักทรัพย์สองแห่งที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และตลาดหลักทรัพย์เชินเจิ้น [12][34][35][36] เติ้งชี้ให้เห็นว่า:[36][37]
ประเด็นที่ว่าหุ้นและตลาดหลักทรัพย์นั้นเหมาะสมกับระบบสังคมนิยมหรือไม่ หรือเป็นสิ่งเฉพาะตัวของระบบทุนนิยมเท่านั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่มีความชัดเจนเบ็ดเสร็จ และนี่ก็หมายความว่า เราต้องทดลองมันก่อน! (证券、股票,这些东西究竟好不好,有没有危险,是不是资本市场独有的东西,社会主义能不能用?允许看,但要坚决地试)
วันที่ 23 มกราคม เติ้งเดินทางไปยังจูไห่ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกแห่งในมณฑลกวางตุ้ง[2] เติ้งได้เน้นย้ำกับผู้นำทางทหารหลายคนของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน รวมถึงหยาง ช่างคุน, หลิว หัวชิง และหยาง ไป่ปิง ว่า "ผู้ที่ไม่ส่งเสริมการปฏิรูปควรจะถูกลดตำแหน่งลง"[13] นอกจากนี้ เขายังไปเยี่ยมชมบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงหลายแห่งในจูไห่ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเรียกร้องให้นักเรียนจีนที่เรียนอยู่ต่างประเทศกลับมาสู่มาตุภูมิ[2] เติ้งออกจากพื้นที่ในวันที่ 29 มกราคม[2]
วันที่ 31 มกราคม เติ้งเดินทางมาถึงเซี่ยงไฮ้ เพื่อร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนประจำปี 2535[2]
เติ้งเยี่ยมชมสะพานหนานผู่ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และในวันต่อมา เขาเดินทางไปบนแม่น้ำหวงผู่โดยเรือสำราญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึงหฺวาง จฺวี๋ และอู๋ ปังกั๋ว[2] ร่วมกับหยาง ช่างคุน และคนอื่น ๆ เติ้งเยี่ยมชมบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงหลายแห่งในเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์[2] ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เขาใช้เวลากลางคืนของเทศกาลโคมไฟที่ย่านช้อปปิ้งถนนหนานจิง[2]
เติ้งเดินทางออกจากเซี่ยงไฮ้กลับไปยังปักกิ่งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ สิ้นสุดการเดินทางภาคใต้ของเขา[2] เขาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ผู่ตงใหม่ของเซี่ยงไฮ้ ทำให้เมืองนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของจีน
ในระหว่างการเยือนภาคใต้ เติ้งได้กล่าวสุนทรพจน์หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งสร้างเสียงสนับสนุนนโยบายปฏิรูปประเทศของเขาอย่างกว้างขวาง เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน และวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ต่อต้านการปฏิรูป แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันว่าเติ้งเคยพูดคำว่า "การร่ำรวยนั้นเป็นสิ่งที่รุ่งโรจน์ (致富光荣)" จริงหรือไม่[38] แต่คำพูดอันเป็นที่รับรู้ของเขานี้ได้ปลดปล่อยคลื่นแห่งการประกอบการส่วนบุคคล ซึ่งยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน[39] นอกจากนี้ เขายังระบุว่า กลุ่ม "ฝ่ายซ้าย" ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นอันตรายมากกว่าพวก "ฝ่ายขวา" มาก[2]
หนึ่งในสุนทรพจน์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดเกี่ยวกับการปฏิรูปและเปิดประเทศ เติ้ง เสี่ยวผิงได้กล่าวไว้ว่า:[40]: 44
แก่นแท้ของความแตกต่างระหว่างสังคมนิยมกับทุนนิยม ไม่ใช่ว่า การวางแผนของรัฐจะเหนือกว่ากลไกตลาด หรือกลไกตลาดจะเหนือกว่าการวางแผนของรัฐ เศรษฐกิจแบบแผนมิใช่สิ่งเดียวกับสังคมนิยม และในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็มีการวางแผนเช่นกัน ทั้งการวางแผนและกลไกตลาด ล้วนเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ... ตราสารและตลาดหลักทรัพย์ ดีหรือไม่ดี? สังคมนิยมสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่? เราควรเปิดใจศึกษา แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เราควรลองทดลองดู ... เพื่อให้สังคมนิยมมีความได้เปรียบ จำเป็นต้องกล้าหาญในการนำสิ่งที่ดีและความสำเร็จต่างๆ ของอารยธรรมที่มนุษยชาติสร้างสรรค์มาปรับใช้"
คำกล่าวที่สำคัญอื่น ๆ ของเติ้งระหว่างการเยือนภาคใต้ ได้แก่:
คำกล่าวของเติ้งที่เน้นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจได้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลุ่มต่าง ๆ ในคณะกรมการเมืองต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เจียง เจ๋อหมิน ในที่สุดก็เลือกอยู่ข้างเติ้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2535 สื่อระดับชาติจึงเริ่มรายงานการเยือนภาคใต้ของเติ้งเกือบสองเดือนหลังจากเสร็จสิ้น[32] นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่เจียงยอมรับนโยบายของเติ้ง ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้เขาในฐานะผู้สืบทอดอำนาจของเติ้ง เบื้องหลัง การเยือนภาคใต้ของเติ้งช่วยให้พันธมิตรสายปฏิรูปของเขา เช่น จู หรงจี้ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเซี่ยงไฮ้ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในระดับชาติ และเปลี่ยนทิศทางของจีนไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างถาวร[48] เติ้งได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากผู้นำระดับมณฑล กองทัพ สื่อมวลชน และประชาชนโดยทั่วไป[30]: 84 นอกจากนี้ ผลลัพธ์สุดท้ายของการเยือนภาคใต้ยังพิสูจน์ว่าเติ้งยังคงเป็นบุคคลทรงอำนาจที่สุดในจีน[49]
การเยือนภาคใต้ของเติ้งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านตลาดทุนและการเติบโตของพื้นที่ชายฝั่งทะเล ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุนจีนที่กำลังประสบปัญหา ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และเชินเจิ้นรอดพ้นจากภาวะตกต่ำ[12][34][35][36] นอกจากนี้ การมุ่งเน้นด้านการเปิดกว้างเศรษฐกิจของเขายังส่งเสริมระดับการเติบโตที่น่าทึ่งของพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะภูมิภาค "สามเหลี่ยมทองคำ" รอบเซี่ยงไฮ้ เติ้งยืนยันนโยบายที่ว่า "บางพื้นที่ต้องร่ำรวยก่อน" และยืนยันว่า ความมั่งคั่งจากพื้นที่ชายฝั่งจะถูกถ่ายโอนไปช่วยสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศในที่สุด อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้เผชิญความท้าทายมากมายเมื่อนำไปปฏิบัติจริง เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นต่างก็ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
แม้องค์ประกอบการดำเนินการทางเศรษฐกิจเอกชนอย่างไม่เป็นทางการจะปรากฏอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 แต่รูปแบบการเป็นเจ้าของกิจการเอกชนเหล่านี้ได้รับการยอมรับทางกฎหมายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในระหว่างการเดินทางเยือนภาคใต้ของเติ้ง[42]: 213
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.