แฮร์รอดส์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประเภท | เอกชน |
---|---|
อุตสาหกรรม | ค้าปลีก |
รูปแบบ | ห้างสรรพสินค้า |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2377 |
ผู้ก่อตั้ง | ชาร์ลส์ เฮนรี แฮร์รอด |
สำนักงานใหญ่ | ถนนบรอมพ์ตัน ไนท์สบริดจ์ ลอนดอน สหราชอาณาจักร |
ผลิตภัณฑ์ | สินค้าคุณภาพระดับหรูหรา |
เจ้าของ | บริษัทกาตาร์ โฮลดิ้ง |
พนักงาน | 5000+ |
บริษัทแม่ | แฮร์รอด |
เว็บไซต์ | www.harrods.com |
แฮร์รอดส์ (อังกฤษ: Harrods) เป็นห้างสรรพสินค้าหรูหราบนถนนบรอมพ์ตันในเขตไนท์สบริดจ์ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ตราแฮร์รอดส์ยังนำไปใช้กับวิสาหกิจอื่น ๆ ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มบริษัทแฮร์รอดส์ รวมถึงธนาคารแฮร์รอดส์ แฮร์รอดส์เอสเตทส์ แฮร์รอดส์เอเวียชัน และแอร์แฮร์รอดส์
ห้างตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 18,000 ตารางเมตร มีพื้นที่จำหน่ายสินค้ากว่า 90,000 ตารางเมตรในร้านค้ากว่า 330 ร้าน ห้างเซลฟริดจ์สบนถนนออกซฟอร์ดซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสหราชอาณาจักร มีขนาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของแฮร์รอดส์เล็กน้อย โดยมีพื้นที่จำหน่ายสินค้า 50,000 ตารางเมตร[1]
คติพจน์ของแฮร์รอดส์คือ Omnia Omnibus Ubique - ทุกสิ่งสำหรับทุกคนในทุกแห่ง ร้านค้าหลายร้านภายในห้างมีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงแผนกคริสต์มาสตามเทศกาลและศูนย์อาหาร
แฮร์รอดส์ก่อตั้งขึ้นโดย ชาร์ลส์ เฮนรี แฮร์รอด เมื่อ พ.ศ. 2377 โดยตั้งเป็นร้านขายส่งในเขตสเตปนีย์ ย่านอีสต์เอนด์ เนื่องด้วยความสนใจเกี่ยวกับชาเป็นพิเศษ ต่อมาใน พ.ศ. 2392 แฮร์รอดได้ซื้อร้านค้าขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเขตไนท์สบริดจ์บนที่ตั้งของห้างในปัจจุบัน เพื่อหนีความวุ่นวายของเมืองชั้นใน และเพื่อโอกาสทำกำไรจากนิทรรศการใหญ่แสดงผลงานทางอุตสาหกรรมจากทุกพื้นทวีป ที่จัดขึ้นใน พ.ศ. 2394 ใกล้กับสวนสาธารณะไฮด์ โดยตอนแรกเริ่มต้นจากร้านค้าห้องเดียว มีผู้ช่วยสองคนและผู้ส่งสารอีกหนึ่งคน ต่อมาชาร์ลส์ ดิกบี แฮร์รอด ผู้เป็นบุตรชาย ได้ดำเนินกิจการจนกลายเป็นธุรกิจขายปลีกที่เฟื่องฟู จำหน่ายยา น้ำหอม เครื่องเขียน ผลไม้ และผัก แฮร์รอดส์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่ง พ.ศ. 2423 ได้ซื้ออาคารที่อยู่ติดกันและจ้างพนักงานหนึ่งร้อยคน
เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2426 ตัวอาคารได้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้กิจการที่กำลังเจริญรุ่งเรืองต้องถดถอยลง แต่กระนั้น ชาร์ลส์ แฮร์รอด ยังคงบริการส่งสินค้าแก่ลูกค้าในเทศกาลคริสต์มาสในปีนั้น และทำกำไรได้อย่างดี อาคารใหม่ถูกสร้างขึ้นบนตำแหน่งเดิม และในเวลาไม่นานแฮร์รอดส์ก็ได้รับความเชื่อถือมากขึ้นจากลูกค้าชั้นนำ เช่น ออสการ์ ไวลด์ ลิลลี แลงทรี นักแสดงหญิงระดับตำนาน เอลเลน เทอร์รี Noël Coward ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เอ. เอ. ไมลน์ และสมาชิกราชวงศ์อังกฤษหลายพระองค์
วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 แฮร์รอดส์ได้เปิดตัวบันไดเลื่อนตัวแรกในอังกฤษในห้างที่ถนนบรอมพ์ตัน ซึ่งลักษณะเป็นอุปกรณ์คล้ายล้อตีนตะขาบจากหนังทอที่มีตับลูกกรงจากไม้มะฮอกกานีและกระจกฉาบเงิน[2] ลูกค้าที่ตื่นตระหนกจากการขึ้นบันไดเลื่อนจะได้รับบรั่นดีที่ด้านบนบันไดเพื่อช่วยกระตุ้นประสาท
ร้านค้า 330 ร้านในห้างมีผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายประเภท อย่างเช่น เครื่องแต่งกายสำหรับลูกค้าทุกประเภท (สตรี บุรุษ เด็ก และทารก) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเพชรพลอย อุปกรณ์กีฬา เครื่องแต่งกายสำหรับแต่งงาน สัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ของเล่น อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงาม ของขวัญบรรจุหีบห่อ เครื่องเขียน เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องเรือน ฯลฯ
ตัวอย่างของบริการในห้าง เช่น :
วันที่มีลูกค้าคับคั่งที่สุด จะมีลูกค้ามากถึง 300,000 คน จำนวนนี้รวมจำนวนที่สูงที่สุดของลูกค้าจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ มีพนักงานกว่าห้าพันคนจากกว่าห้าสิบประเทศที่ทำงานในแฮร์รอดส์
ในร้าน 'แฮร์รอดส์ 102' ที่อยู่ตรงข้ามกับห้างบนถนนบรอมพ์ตัน ยังมีร้านสัมปทานอีกจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น เทิร์นบูลแอนด์อัสเซอร์ เอชเอ็มวี วอเตอร์สโตนส์ คริสปีครีม และ David Clulow Opticians
วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ธนาคารแฮร์รอดส์เริ่มจำหน่ายทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่ลูกค้าสามารถหยิบจากชั้นวางได้ทันที และยังมีผลิตภัณฑ์ทองคำน้ำหนักตั้งแต่ 1 กรัมจนถึง 12.5 กิโลกรัม รวมทั้งบริการสำรองทองคำและรับซื้อทองคำคืนที่จะให้บริการในอนาคต[4]
แฮร์รอดส์และโมฮัมเหม็ด อัล ฟาเยด ถูกวิจารณ์จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนสัตว์แท้ และเกิดการประท้วงในกรณีนี้เป็นประจำที่ด้านนอกห้าง[5] แฮร์รอดส์เป็นห้างสรรพสินค้าเพียงแห่งเดียวในสหราชอาณาจักรที่ยังคงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนสัตว์[6] ใน พ.ศ. 2547 แฮร์รอดส์ถูกโจมตีจากชุมชนฮินดูในกรณีจำหน่ายชุดชั้นในสตรีที่มีภาพเทพีของเอเชียใต้ ซึ่งชุดชั้นในนี้ทางห้างได้เก็บออกและขอโทษอย่างเป็นทางการ[7]
เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2545 แฮร์รอดส์ได้เช่างูเห่าอียิปต์หนึ่งตัวมาใช้รักษาความปลอดภัยของรองเท้าประดับทับทิม แซฟไฟร์ และเพชร ที่ออกแบบโดย Rene Caovilla มูลค่า 62,000 ปอนด์สเตอร์ลิง ที่จัดแสดงอยู่ที่แผนกรองเท้า[8]
หลังจากไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์พร้อมกับโดดี ฟาเยด บุตรชายของโมฮัมเหม็ด อัล ฟาเยด ทางห้างได้สร้างอนุสรณ์ภายในห้างสองแห่งเพื่อรำลึกถึงบุคคลทั้งสองตามความต้องการของอัล ฟาเยด แห่งแรกเปิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2541 ประกอบด้วยภาพถ่ายของทั้งสองอยู่ด้านหลังแท่นรูปพีระมิดที่ตั้งแก้วไวน์ที่ยังมีคราบลิปสติกจากพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของเจ้าหญิงไดอาน่า และแหวนที่มีคำบรรยายว่าเป็นแหวนหมั้นที่โดดีซื้อก่อนวันที่เสียชีวิต[9]
อนุสรณ์แห่งที่สองเปิดเมื่อ พ.ศ. 2548 ตั้งอยู่ที่บันไดเลื่อนอียิปต์ที่ประตูสาม มีชื่อว่า "เหยื่อผู้บริสุทธิ์" เป็นรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ของบุคคลทั้งสองในท่วงท่าเต้นรำบนชายหาดใต้ปีกของนกอัลบาทรอส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สื่อถึง "จิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์"[10] รูปหล่อนี้สร้างขึ้นโดยบิลล์ มิทเชลล์ วัย 80 ปี ผู้เป็นเพื่อนสนิทกับอัล ฟาเยด และเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบศิลป์ให้แก่แฮร์รอดส์มานาน 40 ปี อัล ฟาเยด กล่าวว่า เขาต้องการให้จิตวิญญาณของบุคคลทั้งสองยังคงมีชีวิตผ่านทางรูปหล่อนี้[11]
หลังการเสียชีวิตของไมเคิล แจ๊คสัน อัล ฟาเยด ประกาศว่า ได้มีการหารือถึงแผนการสร้างอนุสรณ์สำหรับศิลปินผู้ล่วงลับแล้ว[12]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.