Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อังกฤษ: Suan Dusit University; อักษรย่อ: มสด. – SDU) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐในประเทศไทย[3] เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษาปฐมวัย คหกรรมศาสตร์ ธุรกิจบริการ ธุรกิจการโรงแรม ธุรกิจการบิน รวมถึง กฎหมายและการเมือง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 ในชื่อ "โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน" ตั้งอยู่ที่ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
Suan Dusit University | |
ตราสัญลักษณ์ มสด. สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม | มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต |
---|---|
ชื่อย่อ | มสด. / SDU |
คติพจน์ | เทคโนโลยีก้าวไกล อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 1,061,148,800 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
นายกสภาฯ | ถนอม อินทรกำเนิด |
อธิการบดี | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิทักษ์ จันทร์เจริญ (รักษาการ) |
อาจารย์ | 819 คน (พ.ศ. 2567) |
บุคลากรทั้งหมด | 2,209 คน (พ.ศ. 2567) |
ผู้ศึกษา | 22,162 คน (พ.ศ. 2558)[2] |
ที่ตั้ง |
|
วิทยาเขต | วิทยาเขตและศูนย์การศึกษา |
เพลง | มาร์ชมหาวิทยาลัยสวนดุสิต |
ต้นไม้ | เฟื่องฟ้า–ขจร |
สี | สีฟ้าน้ำทะเล |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
หลังการการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หรือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาเข้าสู่ยุคการศึกษาสมัยปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ ในช่วงนั้นรัฐบาลมีการจัดตั้งโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยเฉพาะทางขึ้นมามากมายให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงตามสิทธิของตนในระบอบรัฐธรรมนูญ นำความรู้นั้นพัฒนาชาติต่อไป โดยมีการนำวัง พระราชวัง ที่พัก และพื้นที่ที่รัฐบาลยึดจากเชื้อพระวงศ์และบุคคลสำคัญบางแห่งใช้มาเป็นสถานที่ราชการและสถานศึกษาจำนวนมาก เช่น วังหน้า ใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บ้านนรสิงห์ ใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลไทย เป็นต้น ภายหลังทรัพย์สินเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และนี่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆของโรงเรียนการเรือน-มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การจัดการศึกษาเพื่อจะให้พลเมืองได้มีการศึกษาโดยแพร่หลาย ก็จะต้องอนุโลมตามระเบียบการปกครองที่ให้เข้าลักษณะเกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ หลักสูตรของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะต้องขยายให้สูงขึ้นเท่าเทียมอารยประเทศ ในการนี้จะต้องเทียบหลักสูตรของนานาประเทศ หลักสูตรใดสูงถือตามหลักสูตรนั้น
— มโนปกรณ์นิติธาดา, พระยา
โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน สังกัดกองอาชีวศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ระหว่าง พ.ศ. 2475–พ.ศ. 2476 เป็นผู้วางโครงการก่อตั้งโรงเรียนการเรือน และ พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ระหว่าง พ.ศ. 2477–พ.ศ. 2478 ผู้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน โดยโรงเรียนฯ เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พณิชยการพระนคร) โดยมี คุณหญิงเพชรดา ณ ป้อมเพชร (นามเดิม หม่อมหลวงจิตรจุล กุญชร) เป็นครูใหญ่คนแรก โรงเรียนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมการบ้านการเรือนสำหรับสตรี หลักสูตร 4 ปี และได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรอบรมครูการเรือนขึ้นเป็นครั้งแรกมีความมุ่งหมายเพื่อเตรียมผู้ที่จะออกไปมีอาชีพครูในสาขานี้
พ.ศ. 2480 ได้ย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่วังจันทรเกษม (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) และเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือนมาเป็น "โรงเรียนการเรือน" (จากเอกสารพบว่าใช้ชื่อโรงเรียนการเรือนเท่านั้น ส่วนวังจันทรเกษมนักเรียนและผู้ปกครองมีการใช้เรียกต่อท้ายเอง) สังกัดกองและกรมเดิม โดยเปิดสอนหลักสูตรมัธยมการเรือน (หลักสูตร 3 ปี) และหลักสูตรการเรือนชั้นสูง (หลักสูตร 3 ปี) โดยโรงเรียนการเรือนนี้เป็นโรงเรียนแบบ Finishing school เหมือนทางยุโรป คือ มีสอนงานบ้าน งานเรือนสำหรับกุลสตรี การจัดดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง งานศิลปะ การประกอบอาหาร มารยาท และการเข้าสังคม เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนการช่างสตรีอื่นในยุคสมัยเดียวกัน นักเรียนเสียค่าเล่าเรียนภาคการศึกษาละ 150 บาทซึ่งถือว่าเป็นค่าเล่าเรียนที่สูงพอสมควรในยุคสมัยนั้น
พ.ศ. 2484 โรงเรียนได้ย้ายจากวังจันทรเกษม (ที่ตั้งกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) มาตั้งอยู่ในบริเวณสวนสุนันทา บนพื้นที่ประมาณ 37 ไร่ (รวมพื้นที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ) ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันและเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนการเรือนพระนคร" ย้ายสังกัดจากกองอาชีวศึกษาไปสังกัดกองฝึกหัดครู กรมสามัญศึกษา เปิดสอนหลักสูตร ป.กศ., ป.กศ. ชั้นสูง
ในสวนสุนันทานี้มีตำหนักรวมทั้งสิ้นจำนวน 32 ตำหนัก (อยู่ในฝั่งโรงเรียนการเรือนพระนคร 15 ตำหนัก) พระตำหนักที่สำคัญในพื้นที่โรงเรียนการเรือนพระนคร เช่น พระตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้วตั้งอยู่บริเวณทางเชื่อมอาคาร 2 และอาคาร 3), พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (แต่ไม่ได้เสด็จมาประทับ) ปัจจุบันคืออาคารสถาบันศิลปวัฒนธรรม, สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้วตั้งอยู่บริเวณสระว่ายน้ำของมหาวิทยาลัย) เป็นต้น และรัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้สร้างท้องพระโรง (พระที่นั่งนงคราญสโมสร) ในปี พ.ศ. 2465
พ.ศ. 2504–2518
ยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครู (โรงเรียนการเรือนคือโรงเรียนฝึกหัดครูด้านการเรือน) เป็นวิทยาลัยครูในนาม "วิทยาลัยครูสวนดุสิต" นับเป็นครั้งแรกที่ใช้นาม "สวนดุสิต" ซึ่งเป็นชื่อของสถานที่ตั้งของวิทยาลัยฯ เป็นชื่อสถานศึกษานับแต่นั้น
พ.ศ. 2518–2535
ก่อนปี พ.ศ. 2518 วิทยาลัยครูหลายแห่งยังเปิดเปิดสอนได้เพียงระดับ ป.กศ. และ ป.กศ. (ชั้นสูง) เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2518 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครูขึ้นเพื่อให้วิทยาลัยครูทั้งหมดสามารถเปิดการสอนในระดับปริญญาได้ โดยให้สังกัดกองการฝึกหัดครู กรมการฝึกหัดครู โดยให้มี 3 คณะวิชาได้แก่ คณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ปี พ.ศ. 2535 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจต่างๆ ของประเทศ ภารกิจของสถาบันราชภัฏที่เพิ่มขึ้นในขณะนั้นก็เพื่อการสร้างบุคลากรให้เพียงพอและตรงกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศ ส่งผลให้วิทยาลัยครูสวนดุสิตเปลี่ยนสถานะและชื่อ เป็น "สถาบันราชภัฏสวนดุสิต" และสังกัดสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ
ศูนย์ศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ ศูนย์ซุปเปอร์เซฟ ศูนย์องค์การเภสัชกรรม ศูนย์อรรถวิทย์ ศูนย์ดุสิตพณิชยการ ศูนย์จรัญสนิทวงศ์ ศูนย์สุโขทัย ศูนย์สันติราษฏร์ ศูนย์ธนาลงกรณ์ ศูนย์บุษยมาส ศูนย์เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ศูนย์อิมพีเรียลบางนา ศูนย์ระนอง2 ศูนย์ลุมพินี ศูนย์พณิชยการสยาม (ภายหลังยุบและย้ายไปศูนย์รางน้ำ) ศูนย์พงษ์สวัสดิ์ ในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ ศูนย์นครนายก ศูนย์ปราจีนบุรี ศูนย์นครปฐม ศูนย์ชลบุรี ศูนย์พัทยา ศูนย์สระบุรี ศูนย์พะเยา ศูนย์ลำปาง ศูนย์พิษณุโลก ศูนย์ตรัง ศูนย์หนองคาย ศูนย์หัวหิน และ วิทยาเขตสุพรรณบุรี ทำให้ช่วงนั้นสถาบันฯ มีนักศึกษารวมมากกว่า 4.5 หมื่นคน อาจารย์และบุคลากรกว่า 2,000 คน
ช่วงดังกล่าวนี้ได้นำเทคโนโลยีช่วยในการจัดการเรียนการสอนและจัดการอื่นๆมาใช้เป็นครั้งแรก เช่น Video Conference, Video on demand, E–learning, Visual library, ระบบบริหารการศึกษา, E–asm Kiosk, ระบบ Intranet เป็นต้น ภายใต้นโยบาย "เทคโนโลยีก้าวไกล อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน"
ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนศูนย์การศึกษาเพื่อบริการท้องถิ่นและชุมชนคงเหลือเพียง 5 แห่งบนพื้นที่ของตนเอง ได้แก่ ศูนย์นครนายก ศูนย์ตรัง ศูนย์ลำปาง ศูนย์หัวหิน วิทยาเขตสุพรรณบุรี และเปลี่ยนเป็นศูนย์การเรียนรู้ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์รางน้ำ ศูนย์ระนอง 2
สถาบันราชภัฎสวนดุสิตได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพจาก "สถาบันราชภัฏ" เป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 โดยใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต" สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เปลี่ยนสถานะเป็น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. 2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ภายในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย ซึ่งมีที่ตั้งในกรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ทำงานสถานศึกษา และเพื่อเป็นประโยชน์ในทางราชการตลอดไป มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยรองศาสตราจารย์ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดินเนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เดิมพื้นที่ส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต คือ สวนดุสิต อันเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังจะเห็นได้จากพระตำหนัก ตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจำนวนหนึ่ง
นาม | วาระ |
---|---|
1. คุณหญิงเพชรดา ณ ป้อมเพชร์ | พ.ศ. 2477 |
2. นางนิลรัตน์ บรรณสิทธิ์วรสาสน์ | พ.ศ. 2477 |
3. คุณหญิงไสววงศ์ ทองเจือ | พ.ศ. 2477–2484 |
4. นางบุญเกลื้อ กรลักษณ์ | พ.ศ. 2484–2489 |
5. คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์ | พ.ศ. 2489–2518 |
6. ศาสตราจารย์เรวดี วงศ์พรหมเมฆ | พ.ศ. 2518–2528 |
7. รองศาสตราจารย์ลำพอง บุญช่วย | พ.ศ. 2528–2537 |
8. รองศาสตราจารย์ธง รุญเจริญ | พ.ศ. 2537–2538 |
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน | พ.ศ. 2538–2546 (วาระที่ 1) |
10. รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ | พ.ศ. 2546–2547 |
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน | พ.ศ. 2547–2556 (วาระที่ 2) |
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ | พ.ศ. 2556–2559 |
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน | พ.ศ. 2559–2563 (วาระที่ 3)[4] 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563–ปัจจุบัน (วาระที่ 4) |
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร* | |||
---|---|---|---|
ประจำปี | ผู้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ | สถานที่ | หมายเหตุ |
พ.ศ. 2526 (17–20, 22–25 และ 27 พฤษภาคม) |
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร | เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาแก่ผู้สำเร็จจากวิทยาลัยครูทั่วประเทศ |
พ.ศ. 2527–พ.ศ. 2537 | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร | ||
พ.ศ. 2538–พ.ศ. 2546 | เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏเขตภาคกลาง | ||
พ.ศ. 2547–พ.ศ. 2559 | เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง | ||
พ.ศ. 2560–พ.ศ. 2561 | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี | เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง |
พ.ศ. 2558 มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดการจัดทำตราสัญลักษณ์ขึ้นใหม่เพื่อใช้สื่อสารในองค์กรและสาธารณะ จึงได้มีการติดต่อไปยังสำนักพระราชวังเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อม ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ใช้ตราพระโพธิสัตว์สวนดุสิต ซึ่งเป็นตราประจำพระราชวังดุสิตที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงปี พ.ศ. 2442 เพื่อนำใช้ใน เอกสารราชการ งานพิธีสำคัญ และอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตและประกาศให้ใช้สัญลักษณ์นี้
ปี พ.ศ. 2547 โครงการสวนดุสิตกราฟิกไซท์ ได้รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ โดยเน้นเป้าหมายเพื่อความง่ายต่อการสื่อสาร ความโดดเด่น สะดุดตา ง่ายต่อการจดจำ และสื่อความหมายในภาพลักษณ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้ อีกทั้งเพื่อองค์กรจะได้มีตราประจำมหาวิทยาลัยสำหรับใช้เพื่อการสื่อสารเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากตราพระราชลัญจกรซึ่งมีประจำอยู่ในทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏ
สัญลักษณ์ใหม่ชิ้นนี้ได้ถูกออกแบบขึ้นโดยการใช้ภาพตัวอักษร (Letter mark) เพื่อสื่อถึงความเป็นเอกภาพ ความคล่องตัว และความเป็นเลิศในการบริหารจัดการ ภายใต้แนวคิดการทำงานเป็นทีม โดยนำอักษรย่อจากคำเต็มในภาษาไทยและภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยมาใช้ โดยยึดตัวอักษรหลักของแต่ละชื่อในแต่ละภาษามาใช้คือ มสด. และ SDU ตามลำดับ อีกทั้งคำย่อดังกล่าวยังได้แสดงถึงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ท่ามกลางความโดดเด่นที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยกัน ซึ่งความโดดเด่นแห่งอัตลักษณ์นี้ถือเป็นอิทธิพลหนึ่งจากแบบตัวอักษรที่เคยปรากฏเป็นสัญลักษณ์จากพระราชลัญจกร และพระนามแบบต่างๆ ที่เคยปรากฏอยู่ในราชสำนักนับตั้งแต่ยุคสมัยการปฏิรูปประเทศตามแนวทางตะวันตก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา
ปี พ.ศ. 2559 มีการประกาศใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่เพิ่มเติม โดยมีรูปแบบสัญลักษณ์เป็นวงรีรูปไข่ 2 วงซ้อนกัน วงรีด้านนอกใช้สีทอง ด้านบนมีข้อความเป็นภาษาไทยว่า "มหาวิทยาลัยสวนดุสิต" สีขาว ส่วนด้านล่างมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า "SUAN DUSIT UNIVERSITY" สีขาว ใช้รูปแบบอักษร (font) SP Suan Dusit คั่นด้วยดอกเฟื่องฟ้าและดอกขจร ในวงรีด้านในใช้สีฟ้าน้ำทะเลเป็นพื้น มีเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นพยัญชนะภาษาไทย อักษรย่อ "มสด" สีขาว สำหรับภาษาอังกฤษใช้ อักษรย่อ "SDU" สีขาวอยู่ตรงกลาง[5]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.