คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
โรงเรียนวิทยาศาสตร์ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (อังกฤษ: Mahidol Wittayanusorn School) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย ภายในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยมหิดล เดิมตั้งอยู่ ณ วัดไร่ขิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 โรงเรียนมีสถานะเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเปลี่ยนสถานภาพจากโรงเรียนทั่วไปเป็นองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2543[2]
Remove ads
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการศึกษาเพื่อสร้างฐานนักวิทยาศาสตร์ของประเทศอย่างยั่งยืน โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัย การคิดวิเคราะห์ และการลงมือปฏิบัติจริง นักเรียนจะได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์เชิงลึก โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมวิชาการที่หลากหลาย ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โรงเรียนยังมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและเครือข่ายโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในระดับสากล ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนเน้นการพัฒนาทักษะรอบด้าน ทั้งด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การใช้ภาษา และจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อหล่อหลอมให้นักเรียนเติบโตเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
ในด้านการรับนักเรียน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ใช้ระบบคัดเลือกเฉพาะของตนเอง โดยมีการแข่งขันสูงมาก ในปีการศึกษา 2562 มีผู้สมัครในศูนย์โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 13,967 คน แต่สามารถรับนักเรียนได้เพียง 240 คน หรือคิดเป็นอัตราการรับเข้าประมาณร้อยละ 1.7 เท่านั้น[3] นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านการเรียน การวิจัย อุปกรณ์การศึกษา ที่พัก อาหาร และกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งนี้ โรงเรียนยังให้ความสำคัญกับการดูแลนักเรียนในทุกมิติ ทั้งด้านการเรียนรู้ การใช้ชีวิต การพัฒนาทางอารมณ์ และการเตรียมความพร้อมสู่ระดับอุดมศึกษาและการวิจัยขั้นสูง โดยมีเป้าหมายในการปลูกฝังนักเรียนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าของประเทศและสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก
Remove ads
ประวัติ
สรุป
มุมมอง
แนวคิดริเริ่ม
มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากความขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีความคิดที่จะผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในทางสาขาวิชานี้ เพื่อป้อนให้กับประเทศ ทั้งนี้บุคลากรเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับพื้นฐานที่ดีก่อนที่จะมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อันเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญดีอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกับกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เพื่อสร้างนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษา และศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รูปแบบดังกล่าวนี้หากขยายนำไปใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็จะผลิตกำลังคนได้สอดคล้อง กับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ[4]
โรงเรียนในช่วงแรก
ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และโกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้ร่วมลงนามในโครงการความร่วมมือจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยใช้พื้นที่ 35 ไร่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ให้กรมสามัญศึกษาใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งโรงเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือสนับสนุนทางด้านวิชาการ รูปแบบการเรียนการสอนว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบใดเพื่อให้เหมาะสมในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนรู้ และพฤติกรรมของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต
ในปีเดียวกัน กรมสามัญศึกษาได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานนามโรงเรียนอย่างเป็นทางการ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า "มหิดลวิทยานุสรณ์" อันหมายถึง อนุสรณ์แห่งความก้าวหน้าทางวิชาการที่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยได้ทรงบำเพ็ญ
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เปิดทำการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรุ่นแรกในปีการศึกษา 2534 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระธรรมมหาธีรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ให้ใช้บริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมของทางวัดเป็นสถานที่เรียนชั่วคราวไปจนกว่าอาคารเรียนของทางโรงเรียนในบริเวณของมหาวิทยาลัยจะเสร็จเรียบร้อย ในช่วงนั้นทางวัดไร่ขิงได้ให้ความอนุเคราะห์โรงเรียนใช้บริเวณวัดทำการเรียนการสอน บริการเรื่องสาธารณูปโภค โดยไม่คิดมูลค่า ให้ใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ของทางวัดทำการเรียนการสอน อนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ของวัดมาสอนวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งยังมอบเงินทุนส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุก ๆ ปี และยังได้รับความอุปการะจากบุญ วนาสิน ในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน ได้จ้างครูต่างชาติมาสอนวิชาภาษาอังกฤษปีละ 2 คนทุกปี จัดสร้างหอพักนักเรียนชายและหญิง ณ บริเวณโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศาลายา
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ได้มีการลงนามร่วมกันอีกครั้งหนึ่งโดยบรรจง พงศ์ศาสตร์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา และประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการความร่วมมือจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยเปลี่ยนแปลงมาให้ใช้พื้นที่ 25 ไร่ จำนวนระยะเวลา 30 ปี และตกลงให้ความร่วมมือสนับสนุนการเรียนการสอน รวมทั้งให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสม ปีการศึกษา 2538 โรงเรียนได้ย้ายสถานที่เรียนชั่วคราวที่วัดไร่ขิง มาตั้งเป็นโรงเรียนเอกเทศภายในบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดลจนถึงปัจจุบัน
โรงเรียนในสถานภาพองค์การมหาชน
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
ปี 2542 รัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ขณะนั้นมีนโยบายจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จึงได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พัฒนาโครงการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ที่มีลักษณะพิเศษต่างจากโรงเรียนทั่วไป ต่อมาจึงมีพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ. 2543 ให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีสถานภาพเป็นองค์การมหาชน ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไป ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[5] จุดมุ่งหมายของโรงเรียนตามที่กล่าวไว้ตามพระราชกฤษฎีกาเป็นดังนี้
ให้โรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการ และดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กที่มีศักยภาพสูงทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ต่อมาใน พ.ศ. 2544 ได้มีแต่งตั้งผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในฐานะองค์การมหาชน คือ ธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานในระบบองค์การมหาชนนี้ โรงเรียนได้รับการบริหารที่ยืดหยุ่นกว่าในระบบเดิมและได้รับงบประมาณที่มากขึ้น จึงสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว
ความคาดหวังให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนนำร่อง[6] ได้ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2551 ได้ขยายห้องเรียนวิทยาศาสตร์ไปสู่กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง และ จัดตั้งโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่งโดยใช้หลักสูตรอ้างอิงจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะนำหลักสูตรไปดัดแปลงและปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของมหาวิทยาลัย และยังมีแผนจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกจำนวน 207 โรงเรียน
จากการประเมินองค์การมหาชนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเมื่อปี พ.ศ. 2558 พบว่าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับการประเมินในระดับดีเด่น เป็นต้นแบบทางด้านวิธีการทำงาน กลไกการทำงาน หลักการดำเนินกิจการเพื่อประสบความสำเร็จ[7]
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานกรรมการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2566[8]
Remove ads
ผลงานและเกียรติประวัติของโรงเรียน
สรุป
มุมมอง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้ก่อตั้ง International Student Science Fair (ในอดีตเรียกว่า Thailand International Science Fair[9]) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนชั้นนำทางวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สืบเนื่องจากความสำเร็จในการจัดครั้งแรกจึงได้รับการสานต่อโดยโรงเรียนต่าง ๆ และในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ได้เวียนมาจัดที่โรงเรียนมหิดลวิทยานสุรณ์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับโรงเรียนต่าง ๆ จากทั่วโลกอีกด้วย[10] และในปีพ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นครั้งที่ 20 ได้เวียนมาจัดที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์อีกครั้งหนึ่ง[11]
ทางด้านผลงานของนักเรียนและนักเรียนเก่าเก่า นักเรียนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับรางวัลจากการแข่งขันทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันเพชรยอดมงกุฎ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศและระดับนานาชาติ การแข่งขันประลองความรู้ในหลากหลายสาขาวิชาเป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า World Scholar's Cup[12] ทางโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ตั้งเป้าหมายให้นักเรียนได้เข้ารับการศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลก นักเรียนเก่าของโรงเรียนได้รับทุนการศึกษาทั้งจากการสมัครสอบผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และมีอีกจำนวนมากได้สมัครเข้าเรียนโดยตรงผ่านทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งที่มีความร่วมมือโดยตรงกับโรงเรียน และที่ไม่ได้มีความร่วมมือโดยตรงกับโรงเรียน[13]
Remove ads
หลักสูตรโรงเรียน
สรุป
มุมมอง
โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรขึ้นใช้เป็นการเฉพาะกับนักเรียนของโรงเรียนมีการปรับปรุงหลักสูตรทุก 3 ปี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ จากสถาบันอุดมศึกษาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตร โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียน รอบด้าน ทั้งพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา รายวิชาพื้นฐานครอบคลุมหลักสูตรการศึกษาขั้น พื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการนอกจากนี้ยังจัดสาระการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมให้หลากหลาย สอดคล้องกับ ศักยภาพ ความถนัดและความสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคลมีการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทั้งภายในและ ภายนอกห้องเรียน เพื่อมุ่งสร้างความเป็นพหุปัญญาสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ที่กว้างไกลของ นักเรียน และ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งความรู้ ความคิด ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม[14]
ปัจจุบันโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ใช้หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2566[15] เป็นการปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่ 7 ซึ่งปรับปรุงและพัฒนาจากหลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2562[16] จุดสำคัญของหลักสูตรฉบับนี้ คือการส่งเสริมนักเรียนให้มีความรู้รอบด้านโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และมุ่งเน้นให้นักเรียนมีคุณลักษณะของนักวิจัยและนวัตกร มีความรู้และทักษะด้านดิจิทัล มีความคิดวิจารณญาณ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนและบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีความตระหนักรู้และจัดการตนเอง มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีจิตสาธารณะมีความมุ่งมั่นสู่ความสําเร็จ กล้าสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ สามารถสร้างและพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้อื่น สามารถขับเคลื่อนการทํางานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีจิตสํานึกความเป็นไทย อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรม และมีความรับผิดชอบต่อการเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองของสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศและของโลกที่มุ่งทําประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมต่อไป
ระบบคัดเลือกนักเรียน
สรุป
มุมมอง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีระบบการคัดเลือกนักเรียนที่ดำเนินการโดยบุคลากรของโรงเรียนเอง เพื่อคัดเลือกนักเรียนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเป้าหมายของโรงเรียน ในอดีต การสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าโรงเรียนทำควบคู่ไปกับการคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการ พสวท. (จนถึงรุ่นที่ 16 หรือรุ่นที่เข้าปีการศึกษา พ.ศ. 2549) แบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกเป็นข้อสอบประเภทข้อเขียน มีทั้งข้อสอบประเภทปรนัยและอัตนัย ส่วนในรอบที่สองนั้น เป็นการสอบพร้อมกับการเข้าค่ายที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยมีทั้งการสอบข้อเขียนแบบอัตนัย และการฟังบรรยายแล้วสอบจากเรื่องที่บรรยาย รวมถึงให้นักเรียนได้เข้าใช้ห้องปฏิบัติการของทั้งสาขาวิชาชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ ทั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนหอพัก เพื่อช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงเป็นการวัดความสามารถในการเรียนรู้ที่ไม่สามารถเตรียมมาล่วงหน้าได้ (จนถึงรุ่น 17 หรือรุ่นที่เข้าปีการศึกษาพ.ศ. 2550) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รุ่นที่ 18 หรือรุ่นที่เข้าปีการศึกษาพ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกนักเรียน ให้สามารถใช้ร่วมกับการคัดเลือกนักเรียนเข้าโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง และโครงการ วมว. โดยใช้การอ่านบทความแทนการฟังบรรยาย และเปลี่ยนให้การเข้าร่วมค่ายที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นไปตามความสมัครใจแทน
การคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนมีความเข้มข้นสูงมาก โดยตั้งแต่รุ่นที่ 17 เป็นต้นมา มีนักเรียนสมัครเข้ารับการคัดเลือกประมาณ 20,000 คน สถิตินักเรียนที่สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ปีการศึกษา พ.ศ. 2562 มีจำนวน 22,321 คน[3] ซึ่งโรงเรียนจะคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนเป็นจำนวน 240 คน นักเรียนที่ได้คะแนนเท่ากันเป็นอันดับสุดท้ายก็จะรับเข้าศึกษาด้วย
Remove ads
อาคารสถานที่
สรุป
มุมมอง

ศูนย์วิทยบริการและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เป็นแหล่งวิทยาการที่มีสื่อความรู้หลากหลายรูปแบบครบถ้วนทุกสาขาวิชา จัดบริการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ การค้นคว้าวิจัย จนถึงเวลา 21.00 น. ทุกวันในช่วงเปิดภาคเรียน ภายในมีให้บริการหนังสือและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้โรงเรียนได้เดินสายสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงทุกอาคารภายในโรงเรียน มีจุดเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์มากกว่า 400 จุด นอกจากนั้นยังได้ติดตั้งระบบสัญญาณเครือข่ายไร้สายทั่วบริเวณโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการศึกษาเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นักเรียนและครูอาจารย์สามารถใช้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนติดต่อสื่อสาร และสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีให้บริการในศูนย์วิทยบริการ ห้องเรียน และห้องทำงาน หรือสามารถเข้าถึงได้จากหอพัก ห้องอาหาร สนามกีฬา หรือที่อื่น ๆ ที่สัญญาณเครือข่ายกระจายไปถึง
ห้องฉายภาพยนตร์
ห้องฉายภาพยนตร์ (ชื่อเดิม: ห้องฉายภาพเสมือนจริงดาราศาสตร์ 3 มิติ) จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ The Centre for Astrophysics & Supercomputing, Swinburne University of Technology, Australia เพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนดาราศาสตร์ที่จะช่วยจุดประกายเด็กและเยาวชน ให้เกิดความรักและสนใจในดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ช่วยในการเสริมสร้างจินตนาการให้สนใจศึกษาและค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งห้องฉายภาพยนตร์นี้โรงเรียนอนุญาตให้ชุมชนภายนอกสามารถเข้ามาใช้ได้ โดยต้องนัดหมายล่วงหน้า หรือใช้บริการในวัน MWIT Science Fair ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีความยาวตั้งแต่ 9-19 นาที
หอพักสำหรับนักเรียนและบุคลากร
เนื่องจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนประจำ จึงจำเป็นต้องมีหอพักไว้สำหรับนักเรียน โดยจะแยกเป็นหอพักชาย 9 ชั้น 1 แห่ง (อาคาร 9) และหอพักหญิง 2 แห่ง (อาคาร 7 และ 8) นอกจากนั้นยังมีหอพักสำหรับครูและบุคลากรเพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินกิจกรรมหลังจากเลิกเรียนได้ และมีหอพักสำหรับรองรับนักเรียนแลกเปลี่ยนอีกด้วย (อาคาร 14)
ห้องปฏิบัติการ
โรงเรียนมีห้องปฏิบัติการเฉพาะสาขาวิชาที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการเรียนการสอน การค้นคว้า ทดลอง และฝึกปฏิบัติต่าง ๆ อันได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการภาษา ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการเขียนแบบ ห้องปฏิบัติการช่างกลโรงงาน ห้องปฏิบัติการเครื่องปั้นดินเผา และห้องปฏิบัติการทัศนศิลป์ เป็นต้น ในส่วนของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นั้นได้แบ่งออกเป็น 3 สาขาคือ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา นักเรียนที่ต้องการใช้บริการสามารถขอใช้บริการทั้งในและนอกเวลาได้ที่อาจารย์ของแต่ละสาขาวิชา
ศูนย์กีฬาและสนามกีฬากลางแจ้ง
โรงเรียนมีสถานที่สำหรับเล่นกีฬาและออกกำลังกายหลากหลายประเภท ได้แก่ ฟุตบอล แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส สควอช บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เซปัคตะกร้อ ว่ายน้ำ ลีลาศ แอโรบิค ศิลปะการป้องกันตัว หรือฟิตเนส ศูนย์กีฬาและสนามกีฬากลางแจ้งเปิดให้บริการ ถึงเวลา 20.00 น. ทุกวัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬา
Remove ads
กิจกรรมเสริมหลักสูตร
กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- กิจกรรมฝึกงานในศูนย์วิจัยในช่วงปิดภาคเรียน: ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกงานและเรียนรู้กับนักวิจัยในสถานที่จริง
- กิจกรรม MWIT Science Fair: นิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ได้มีโอกาสนำเสนอโครงงานที่ตนเองทำต่อสาธารณชน
กิจกรรมวิชาการอื่น ๆ
- กิจกรรมค่ายวิชาการ: ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนโดยจัดบูรณาการระหว่างสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ มีการทำโครงงานขนาดเล็กที่เรียกกันว่า Miniproject และพักอาศัยในค่ายพักแรมตามธรรมชาติ
- กิจกรรมบรรยายพิเศษ: โรงเรียนได้เชิญบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านต่างๆมาบรรยายเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเติมองค์ความรู้ใหม่ๆให้นักเรียนและให้ได้แนวคิดใหม่ๆในการทำโครงงานหรืองานวิจัยในอนาคต
- กิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่: ให้นักเรียนได้ศึกษาดูงานตามสถานที่และศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม
กิจกรรมทางนันทนาการและสังคม
- กิจกรรมสนับสนุนการออกกำลังกายและเล่นกีฬา: โรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย รวมทั้งโรงเรียนยังมีการตรวจสุขภาพประจำปี การทดสอบสมรรถภาพ และโครงการ MWIT วัยใส ใส่ใจสุขภาพ เพื่อให้นักเรียนได้รับทราบถึงสุขภาพของตนเองและพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
- กิจกรรมค่ายบำเพ็ญประโยชน์: ส่งเสริมให้นักเรียนได้ช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดโอกาสเพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณในการพัฒนาประเทศ
- กิจกรรมค่าย Pre-MWIT: ค่ายสำหรับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์รอบแรก มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และให้นักเรียนได้มาพบประสบการณ์จริงในโรงเรียน
- กิจกรรมแลกเปลี่ยนกับนักเรียนโรงเรียนเครือข่ายในต่างประเทศ: สร้างประสบการณ์ในการใช้ภาษาต่างประเทศและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างแดน
Remove ads
รายนามผู้อำนวยการโรงเรียน
Remove ads
รายชื่อสาขาวิชาและฝ่าย
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดระบบการบริหารโดยหลัก ๆ เป็น 2 ส่วนคือ บุคลากรกลุ่มครูสังกัดสาขาวิชา และบุคลากรกลุ่มปฏิบัติการสังกัดฝ่าย ดังต่อไปนี้[19]
สายงานวิชาการ
- สาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ
- สาขาวิชาฟิสิกส์
- สาขาวิชาเคมี
- สาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- สาขาวิชาศิลปศาสตร์
- สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ
สายงานสนับสนุน
- ฝ่ายบริหารการเรียนรู้และระบบโรงเรียนประจำ
- ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
- ฝ่ายบริหารทรัพยากรและความปลอดภัย
- ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
Remove ads
เหตุการณ์สำคัญ
- วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ณ สถานที่ปฏิบัติธรรมของวัดไร่ขิง
- วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนหลังแรก บริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
- พ.ศ. 2538 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ย้ายมาบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดลจนกระทั่งปัจจุบัน
- วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีสถานภาพเป็นองค์การมหาชน เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2544 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
- วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารหอพัก และทรงเปิดอาคารเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 3
- วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2548 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเปิดอาคารศูนย์วิทยบริการ ห้องฉายภาพยนตร์เสมือนจริงดาราศาสตร์ 3 มิติ และอาคารศูนย์กีฬา
- วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานทรงเปิดงานการจัดแสดงโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติในประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับฟังการบรรยาย และเสด็จทอดพระเนตรการเสนอโครงงานในรูปแบบโปสเตอร์ของนักเรียน พระองค์ได้ทรงซักถามนักเรียนทุกโครงงานด้วยความสนพระทัย ยังความปลื้มปีติให้แก่นักเรียน ครู ผู้จัดงาน และผู้เข้าเฝ้าฯ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศโดยถ้วนหน้า เป็นกำลังใจให้นักเรียน ครู และผู้จัดงาน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะรังสรรค์ผลงานของโรงเรียนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
- วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเปิดหอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินฺทปญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง ห้องประชุมศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ห้องประชุม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ ห้องประชุมดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ซึ่งห้องประชุมเหล่านี้ได้ตั้งชื่อตามผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียนเพื่อเป็นต้นแบบให้นักเรียนในการแสดงออกถึงการตอบแทนต่อผู้มีพระคุณ และทรงร่วมกิจกรรมปฏิบัติการ เรื่อง "การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ และธรรมชาติของวิทยาศาสตร์"
- วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ในช่วงเวลาเช้ามืด ได้เกิดเหตุวางเพลิงอาคาร 2 ของโรงเรียน ห้องสมุดชั้น 1-2 เสียหายทั้งหมด ในส่วนชั้น 3 และอาคารใกล้เคียงเสียหายบางส่วน โรงเรียนได้ประกาศปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 7 วัน โดยมีกำหนดเปิดเรียนใหม่อีกครั้งในวันที่ 14 มิถุนายน[20]
- วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553 นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เดินทางเข้าหอพักเพื่อเตรียมพร้อมเปิดเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน ในค่ำวันนั้น นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม, สุชาดา กีระนันทน์ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เดินทางไปให้กำลังใจคณะครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อรักษามาตรฐานของโรงเรียนและร่วมมือกันปฏิบัติตามอุดมการณ์ที่โรงเรียนได้ปลูกฝังเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสืบไป ภายในเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โรงเรียนได้ปรับสภาพห้องต่าง ๆ ภายในโรงเรียนให้เป็นห้องเรียนชั่วคราว ปรับห้องประชุม ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ ให้เป็นห้องสมุดชั่วคราว ได้รับบริจาคหนังสือและโต๊ะเรียนจากหลายองค์กร อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งได้สั่งซื้อหนังสือใหม่จากศูนย์หนังสือจุฬา ได้รับพระราชทานหนังสือหลักสูตรสอวน. และหนังสือวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้ได้รับงบฉุกเฉินจากทางกระทรวงศึกษาธิการและได้รับเงินบริจาคจากสมาคมผู้ปกครองและนักเรียนเก่าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ การดำเนินการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของคณะกรรมการบริหารโรงเรียน คณะครูอาจารย์เจ้าหน้าที่ และนักเรียนเก่าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เพื่อให้โรงเรียนกลับมาอยู่ในสภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
- วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเปิดงานการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม ถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554 โดยโรงเรียนวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานรวม 47 โรงเรียน จำแนกเป็นโรงเรียนจากต่างประเทศ 29 แห่ง ในประเทศ 18 แห่ง มีการนำเสนอโครงงานภาคโปสเตอร์ 158 โครงงาน ภาคบรรยาย 101 โครงงาน ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบไปด้วย กิจกรรม Science Show, Science Labs, Science and Mathematics Rally, Robotic Show, Astronomy night รวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของนักเรียนที่เข้าร่วมงานจากแต่ละประเทศ การศึกษาดูงานนอกสถานที่ด้านวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเยี่ยมชมโบราณสถานซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมไทย[21]
- วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงร่วมงานฉลองครบรอบ 30 ปี มหิดลวิทยานุสรณ์ ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม คณะกรรมการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่ ทั้งอดีตและปัจจุบัน ผู้ปกครอง นักเรียนเก่า และนักเรียนปัจจุบัน เฝ้าฯ รับเสด็จ
- วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2568 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์นานาชาติครั้งที่ 20 หรือ The 20th International Students Science Fair 2025 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครปฐม ซึ่งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับเกียรติจาก International Science Schools Network (ISSN) ภาคีเครือข่ายโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก ให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ระหว่างวันที่ 26 – 31 มกราคม 2568 ภายใต้ธีม “The 20th Chapter: Exploring a Visionary Future in Sustainability, Humanity, and Technology” ซึ่งเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองการจัดงาน ISSF เป็นครั้งที่ 20 (20th Anniversary of ISSF) ในการนี้ทรงร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษจาก Prof. Akira Yoshino และ Prof. Yifang Wang พร้อมกันนี้ ทรงรับฟังการนำเสนอผลงานของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และทอดพระเนตรการแสดงของ The 1st MWIT Symphony Orchestra ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีในรูปแบบของออร์เคสตราครั้งแรกของโรงเรียน
Remove ads
อ้างอิง
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads