โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค (McCormick Hospital) เป็นโรงพยาบาลเอกชน ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2431 โดยคณะมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไทบีเรียน ตั้งชื่อโรงพยาบาลตามชื่อของนางไซรัส แม็คคอร์มิค (Mrs.Cyrus McCormick) เพื่อเป็นเกียรติที่ได้บริจาคเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาล[1] ปัจจุบันโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เป็นสถานปฏิบัติการของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค | |
---|---|
McCormick Hospital | |
ประเภท | โรงพยาบาลเอกชน |
ที่ตั้ง | 133 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50000 |
ข้อมูลทั่วไป | |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2431 |
ผู้อำนวยการ | นายแพทย์ มาโนช เล้าวงค์ |
เว็บไซต์ | http://www.mccormickhospital.com |
ในปี พ.ศ. 2430 คณะกรรมการกลางเพรสไบทีเรียนในสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติเงินจำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยดำเนินการปรับปรุงสถานที่จำหน่ายยา ให้เป็นสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น" (American Mission Hospital) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ในปี พ.ศ. 2431
ในปี พ.ศ. 2463 นางแนนซี มาเรีย แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา ได้บริจาคเงินจำนวน 30,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ นายแพทย์ อี ซี คอร์ท จึงได้ก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่บริเวณทุ่งนาฝั่งซ้ายแม่น้ำปิง ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เป็นประธานในพิธีวางศิลาหัวมุม
ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2467 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (เมื่อครั้งดำรงอิสริยยศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยหม่อมสังวาล มหิดล และพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
ในปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ ประพาสจังหวัดเชียงใหม่และเสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
ในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้เสด็จเปิดตึก ณ เชียงใหม่ ซึ่งเจ้าดารารัศมี พระราชชายา พร้อมด้วยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้เป็นองค์ประธานบริจาคทรัพย์ในการสร้างเพื่อใช้เป็นอาคารผู้ป่วยนอก ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ได้เสด็จเปิดตึกสูติกรรม ซึ่งได้บริจาคโดย หลวงอนุสารสุนทร และนางคำเที่ยง ชุติมา
ในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์แล้ว ได้เสด็จมาทรงงานแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกผู้ป่วย และพระราชทานนามว่า "ตึกมหิดล" โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เสด็จฯ ทรงเปิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2484
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปี พ.ศ. 2485 ถึง พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยได้เข้าควบคุมกิจการของโรงพยาบาลแมคคอร์มิคและเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลเสรีเริงฤทธิ์" ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เมื่อสงครามโลกสงบลง รัฐบาลจึงส่งมอบโรงพยาบาลคืนให้กับคณะมิชชั่นนารีดำเนินการต่อ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 และใช้ชื่อ "โรงพยาบาลแมคคอร์มิค" ดังเดิม
ในปี พ.ศ. 2492 นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท ซึ่งได้ทำงานในโรงพยาลแมคคอร์มิคเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 40 ปี จึงขอเกษียณอายุการทำงานและเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ดังนั้น คณะมิชชั่นนารีเพรสไบทีเรียนจึงมอบโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ให้แก่มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เป็นผู้ดูแล
ในปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาและพระบรมราชานุญาตให้รื้อ "ตึกมหิดล" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างตึกมหิดลหลังใหม่ขึ้นในตำแหน่งเดิม โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ในการก่อสร้างด้วย และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิด "ตึกมหิดล" หลังใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2535
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.