จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย (อังกฤษ: The Church of Christ in Thailand) เป็นองค์การทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย ที่รวมตัวกันเพื่อทำพันธกิจของพระเจ้าในประเทศไทย อันประกอบด้วย พันธกิจด้านการประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณ พันธกิจด้านการศึกษา พันธกิจด้านการรักษาพยาบาล และพันธกิจอื่น ๆ โดยมีหลักข้อเชื่อ ข้อปฏิบัติ และธรรมนูญเดียวกัน อยู่ภายใต้การปกครองด้วยกัน ด้วยวิธีการเลี้ยงตนเอง ปกครองตนเอง และประกาศพระกิตติคุณด้วยตนเอง[2] ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 24 คริสตจักรภาค
![]() | |
ชื่อย่อ | CCT |
---|---|
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) |
ประเภท | องค์การทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ |
สํานักงานใหญ่ | 328 ถนนพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 |
สมาชิก | 123,581 (2555)[1] |
ประธาน | ศจ.ดร.บุญรัตน์ บัวเย็น |
เว็บไซต์ | http://www.cct.or.th/ |
สภาคริสตจักรในประเทศไทย มีประวัติศาสตร์สืบย้อนไปใน ค.ศ.1828 เมื่อศาสนาจารย์จาคอบ ทอมลิน และศาสนาจารย์นายแพทย์คาร์ล กุตสลาฟ ของคณะสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอน ได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ต่อมาในปี ค.ศ.1833 มิชชันนารีของคณะอเมริกันแบ๊บติสต์เข้ามาทำพันธกิจและได้จัดตั้งคริสตจักรไมตรีจิต ใน ค.ศ.1837 เป็นคริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งแรกในประเทศสยาม
ใน ค.ศ.1840 มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่เป็นรากฐานสำคัญของสภาคริสตจักรในประเทศไทยเข้ามายังประเทศสยามและปฏิบัติพันธกิจจนถึง ค.ศ.1844 จึงกลับออกไป ต่อมาเมื่อศาสนาจารย์สตีเฟนกับนางแมรี่ แมตตูน และนายแพทย์ซามูเอล เฮาส์ ได้เข้ามาใน ค.ศ.1847 จึงมีการตั้งมิชชั่นอย่างมั่นคงเรียกว่า "มิชชันสยาม" และมีการจัดตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 กรุงเทพฯ ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1849 เมื่อถึงวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1858 ได้จัดตั้งเพรสไบเทอรี่แห่งสยามเพื่อขยายงานมิชชั่นและพันธกิจคริสตจักรออกไปยังส่วนภูมิภาค
มิชชันคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ขยายงานออกไปนอกกรุงเทพฯ โดยมีครอบครัวศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี และครอบครัวศาสนาจารย์ซามูเอล แมคฟาร์แลนด์ ได้จัดตั้งสถานีมิชชั่นที่เพชรบุรีใน ค.ศ.1861 ต่อมาในปี ค.ศ.1867 ครอบครัวศาสนาจารย์แมคกิลวารี ได้จัดตั้งสถานีมิชชั่นที่เชียงใหม่และเป็นศูนย์กลางของเพรสไบทีเรียนที่ 1 เชียงใหม่ ในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1868 และเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1869 มีคริสเตียนคนเมืองสองคน คือน้อยสุริยะและหนานชัยถูกฆ่าตายเนื่องด้วยไม่ยอมละทิ้งความเชื่อในคริสต์ศาสนา และต่อมาใน ค.ศ.1878 มิชชันนารีถูกขัดขวางไม่ให้มีการจัดพิธีแต่งงานตามแบบคริสเตียนที่จะจัดขึ้นครั้งแรกจึงมีการฟ้องร้องขอสิทธิคุ้มครองจากราชสำนักสยาม ทำให้ได้รับพระบรมราชโองการเรื่องเสรีภาพทางศาสนา (The Edict of Toleration) ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1878 บังคับใช้ในเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
มิชชั่นคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ขยายงานออกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ โดยในมิชชั่นลาวได้จัดตั้งสถานีมิชชั่นที่ลำปางใน ค.ศ.1858 ที่ลำพูน (ค.ศ.1891) แพร่ (ค.ศ.1893) น่าน (ค.ศ.1895) เชียงราย (ค.ศ.1897) ซึ่งภายหลังยังได้ขยายงานไปยังเชียงตุงของพม่า (ค.ศ.1904-1908) และเขตเชียงรุ้งของจีน (ค.ศ.1917-1941) ส่วนมิชชั่นสยาม ได้ขยายงานไปยังราชบุรี (ค.ศ.1889) พิษณุโลก (ค.ศ.1899) นครศรีธรรมราช (ค.ศ.1900) และตรัง (ค.ศ.1910)
นอกจากนี้ใน ค.ศ.1903 คณะคริสตจักรของพระคริสต์แห่งสหราชอาณาจักรเข้ามาทำพันธกิจที่บ้านนครชุมน์ ราชบุรี และได้ย้ายศูนย์มิชชั่นมาอยู่ที่นครปฐมใน ค.ศ.1906 มิชชั่นคณะนี้ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้ง "สยามคริสตสภา" และริเริ่มจัดตั้งสภาคริสตจักรในสยามด้วย
ใน ค.ศ.1920 มีการรวมมิชชั่นสยามและมิชชั่นลาว ต่อมาใน ค.ศ.1930 มีการจัดตั้งสยามคริสต์สภา (National Christian Council in Siam) เพื่อการจัดตั้งคริสตจักรที่เป็นของชนในชาติ (National Church) และใน ค.ศ.1932 มีการรวมเพรสไบเทอรี่สยามกับเพรสไบเทอรี่ลาว และได้ตีพิมพ์วารสาร "ข่าวคริสตจักร" เป็นสื่อรณรงค์เรื่องการจัดตั้งองค์กรคริสตจักรที่เป็นของชนในชาติ ต่อมาได้มีการประชุมผู้แทนคริสตจักรจากคริสตจักรเพรสไบทีเรียน (ทั้งชาวไทยและจีน) ในสยาม ผู้แทนจากคริสตจักรไมตรีจิตของคณะอเมริกันแบ๊บติสต์ และผู้แทนจากคริสตจักรพระคริสต์แห่งสหราชอาณาจักร (คณะดีไซเปิลส์ออฟไครส์ นครปฐม) ในวันที่ 7-11 เมษายน ค.ศ.1934 ณ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นับเป็นสมัชชาสภาคริสตจักรในประเทศสยามครั้งแรก โดยที่ประชุมได้รับรองธรรมนูญการปกครองซึ่งได้กำหนดนามคริสตจักรที่เป็นของชนในชาตินี้ว่า "คริสตจักรในสยาม" จัดแบ่งการปกครองออกเป็นคริสตจักรภาค 7 ภาค มีหลักการพื้นฐานในการทำพันธกิจสามด้าน คือ "การเลี้ยงตนเอง" "การปกครองตนเอง" และ "การประกาศพระกิตติคุณด้วยตนเอง" ต่อมาในธรรมนูญการปกครอง ค.ศ.1941 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สภาคริสตจักรในประเทศไทย" ตามการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยในสมัยรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม
ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1957 มิชชั่นคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้สลายตัวอย่างเป็นทางการ ได้มอบหมายกิจการต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้อำนาจบริหารของสภาคริสตจักรในประเทศไทยโดยตรง และใน ค.ศ.1962 มิชชั่นคณะดีไซเปิลส์ออฟไครส์ ได้สลายตัวเข้ากับสภาคริสตจักรในประเทศไทย จากนั้นเมื่อมีมิชชันนารีของมิชชั่นคณะต่าง ๆ เข้ามาร่วมงานกับสภาคริสตจักรในประเทศไทยต้องอยู่ในฐานะภารดรผู้ร่วมงาน
สภาคริสตจักรในประเทศไทยยึดถือหลักข้อเชื่อจาก 3 แหล่ง คือคัมภีร์ไบเบิล หลักข้อเชื่อของอัครทูต และหลักข้อเชื่อไนซีน[2]
สภาคริสตจักรในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ดังนี้[2]
สภาคริสตจักรในประเทศไทยมีการปกครองโดยมีธรรมนูญเป็นระเบียบปกครองสูงสุด ในปัจจุบันได้ใช้ "ธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย คริสตศักราช 1998"[2]
สภาคริสตจักรในประเทศไทยแบ่งการปกครองคริสตจักรออกเป็น 3 ระดับดังนี้[2]
คริสตจักรภาค หมายถึง คริสตจักรท้องถิ่นหลายคริสตจักรและหมวดคริสเตียนหรือศาลาธรรม รวมตัวกันตั้งอยู่ในเขตภาค ซึ่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยกำหนดไว้ โดยถือเขตภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือภาษาเป็นเกณฑ์ ปัจจุบันสภาคริสตจักรในประเทศไทยแบ่งการปกครองออกเป็น 24 คริสตจักรภาค
คริสตจักรภาค | เขตภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือภาษาโดยสังเขป |
---|---|
คริสตจักรภาค 1 | เชียงใหม่ |
คริสตจักรภาค 2 | เชียงราย |
คริสตจักรภาค 3 | ลำปาง |
คริสตจักรภาค 4 | แพร่ |
คริสตจักรภาค 5 | น่าน |
คริสตจักรภาค 6 | กรุงเทพฯ พิษณุโลก |
คริสตจักรภาค 7 | กระจายตัวทั่วประเทศ มีรากฐานมาจากมิชชั่นคณะจีนเพรสไบทีเรียน |
คริสตจักรภาค 8 | เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร |
คริสตจักรภาค 9 | นครศรีธรรมราช ตรัง |
คริสตจักรภาค 10 | มาจากคริสตจักรชนเผ่ากะเหรี่ยงของคณะอเมริกันแบ๊บติสต์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย |
คริสตจักรภาค 11 | นครปฐม ซึ่งมีรากฐานมาจากคณะคริสตจักรพระคริสต์ของอังกฤษ (ต่อมาคณะดีไซเปิลส์แห่งสหรัฐอเมริการับผิดชอบแทน) |
คริสตจักรภาค 12 | กระจายตัวทั่วประเทศ มีรากฐานมาจากมิชชั่นคณะอเมริกันแบ๊บติสต์ที่เข้ามายังประเทศสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 3 |
คริสตจักรภาค 13 | เป็นคริสตจักรในภาคอีสาน มาจากคริสตจักรในสังกัดคณะ Christian and Missionary Alliance (C&M.A.) |
คริสตจักรภาค 14 | มีฐากฐานมาจากกลุ่มคริสตจักรนิคมหรือสาขาของสถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพ ซึ่งแต่เดิมเป็นคริสตจักรในสังกัดคริสตจักรภาค 1 เชียงใหม่-ลำพูน |
คริสตจักรภาค 15 | พะเยา มีรากฐานมาจากคณะมาร์บูร์เกอร์มิชชั่นที่เข้ามาร่วมงานกับสภาคริสตจักรในประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ.1954 |
คริสตจักรภาค 16 | สังขละบุรี มาจากคริสตจักรกลุ่มชนเผ่ากะเหรี่ยงของศูนย์มิชชั่นแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นพันธกิจร่วมระหว่างมิชชั่นนารีคณะดีไซเปิลส์ กับ The Thailand Baptist Mission Fellowship |
คริสตจักรภาค 17 | ตรัง |
คริสตจักรภาค 18 | ลาหู่ มาจากคริสตจักรชนเผ่าลาหู่ของ The Thailand Baptist Mission Fellowship ที่ปฏิบัติพันธกิจกับชนเผ่าลาหู่ในเขตภาคเหนือ (เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก) |
คริสตจักรภาค 19 | กะเหรี่ยง ซึ่งมีรากเหง้ามาจากกลุ่มคริสตจักรกะเหรี่ยงแบ๊บติสต์ในสังกัด The Thailand Baptist Mission Fellowship ที่ปฏบัติพันธกิจในภาคเหนือ (เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน ระยอง) |
คริสตจักรภาค 20 | ม้ง (กรุงเทพฯ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ เลย) |
คริสตจักรภาค 21 | ลาหู่ (เชียงราย เชียงใหม่ ตาก บุรีรัมย์ มหาสารคาม ลำปาง ลำพูน) |
คริสตจักรภาค 22 | อาข่า (เชียงราย เชียงใหม่ ตาก แพร่ ชลบุรี) |
คริสตจักรภาค 23 | ลีซู (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน) |
คริสตจักรภาค 24 | ลาหู่แบ๊บติสต์ (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน) |
สภาคริสตจักรได้ก่อตั้งโรงพยาบาลและสถานศึกษาต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน มหาวิทยาลัยคริสเตียน มหาวิทยาลัยพายัพ ตลอดจนบรรเทาสาธารณภัย ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในเขตสลัม [3]
มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยในเครือ 2 แห่ง คือ
มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย มีโรงเรียนในเครือ 30 แห่ง คือ
|
|
มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย มีวิทยาลัยพระคริสตธรรมในเครือ 7 แห่ง คือ
|
|
มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย มีสถาบันการแพทย์ในเครือ 8 แห่ง คือ
|
|
ปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการปฏิบัติพันธกิจของสภาคริสตจักรในประเทศไทย จำแนกเป็น 5 พันธกิจ ได้แก่
มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนส่งเสริมให้คริสตจักรภาค คริสตจักรท้องถิ่น หมวดคริสเตียน ศาลาธรรม และสถาบัน สามารถกระทำพันธกิจของพระเจ้าได้ด้วยตนเอง
มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมบทบาทของสตรีคริสเตียน เยาวชนคริสเตียน ครอบครัวคริสเตียน ในการเป็นพยานของพระเยซูคริสต์ รวมทั้งจัดให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการรับใช้พระเจ้า
มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการบริหารงานด้านการเงิน การคลัง การบัญชี งบประมาณ และทรัพย์สินทั้งปวงของสภาฯ และมูลนิธิฯ และจัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับบุคลากรในสภาคริสตจักรในประเทศไทย
มีหน้าที่หลักในการพัฒนาเยาวชนคริสเตียน และบุคคลทั่วไปให้ได้รับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ มีชีวิตที่สมบูรณ์ตามแบบของพระเยซูคริสต์ มีโรงเรียนในสังกัดพันธกิจ 30 แห่ง และมหาวิทยาลัย 2 แห่ง
มีหน้าที่หลักในการให้การบำบัดรักษาพยาบาล ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณแก่บุคคลทั่วไป รวมทั้งการฟื้นฟูสสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันการเจ็บป่วย เพื่อเป็นพยานของพระเยซูคริสต์โดยสถาบันสถานพยาบาลปัจจุบัน มีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลในสังกัดจำนวน 8 แห่ง
นอกจากนี้ยังมีสถาบันด้านศาสนศึกษาประกอบด้วย วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี (มหาวิทยาลัยพายัพ) สถาบันกรุงเทพคริสต์ศาสนศาสตร์ (สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยคริสเตียน) ศูนย์พระคริสตธรรมสิโลอัม (กระเหรี่ยงแบ๊บติสต์) ศูนย์พระคริสตธรรมเบธเอล ศูนย์พระคริสตธรรมลาหู่แบ๊บติสต์ และศูนย์พระคริสตธรรมเกธเซมาเน อีกทั้งยังมีฝ่ายงานต่าง ๆ ที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานเลขาธิการ สภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้แก่ หน่วยงานคริสเตียนศึกษาและบรรณศาสตร์ หน่วยงานตรวจสอบบัญชีภายใน สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สำนักงานคุ้มครองเด็ก บ้านพักและศูนย์ฝึกอบรมปราณบุรี บ้านพักกรุงเทพฯคริสเตียน พันธกิจตั้งคริสตจักรฝั่งอันดามัน พันธกิจเอดส์ ศูนย์อบรมเยาวชนคริสเตียนไทย-เกาหลี คณะกรรมการศาสนศาสตร์ศึกษา โรงเรียนภาษายูเนียน โรงเรียนคริสเตียนเยอรมันเชียงใหม่ โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ ศูนย์สร้างสาวกเพื่อการประกาศ ศูนย์ศึกษาคริสเตียนไทย-เกาหลี และงานของผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เป็นต้น
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.