จังหวัดแม่ฮ่องสอน
จังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แม่ฮ่องสอน (ไทยถิ่นเหนือ: ᨾᩯ᩵ᩁᩬ᩵ᨦᩈᩬᩁ; ไทใหญ่: မႄႈႁွင်ႈသွၼ်) เป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย มีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และความหลากหลายของประชากรจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ นับเป็นจังหวัดที่สถิติน่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีประชากรเบาบางที่สุดในประเทศ และมีประชากรน้อยมากเป็นอันดับ 5 ในขณะที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ
จังหวัดแม่ฮ่องสอน | |
ชื่อภาษาไทย | |
---|---|
อักษรไทย | แม่ฮ่องสอน |
อักษรโรมัน | Mae Hong Son |
ชื่อคำเมือง | |
อักษรธรรมล้านนา | ᨾᩯ᩵ᩁᩬ᩵ᨦᩈᩬᩁ |
อักษรไทย | แม่ฮ่องสอน |
จังหวัดแม่ฮ่องสอน | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Mae Hong Son |
(ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย): วัดพระธาตุดอยกองมู, ทุ่งบัวตอง ในดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม, ถ้ำผีแมน, ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน, ปางอุ๋ง | |
คำขวัญ: หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอนเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ชูชีพ พงษ์ไชย[1] (ตั้งแต่ พ.ศ. 2567) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 12,681.259 ตร.กม. (4,896.261 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 8 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[3] | |
• ทั้งหมด | 287,644 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 69 |
• ความหนาแน่น | 22.68 คน/ตร.กม. (58.7 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 77 |
รหัส ISO 3166 | TH-58 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | เมืองสามหมอก |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | จั่น |
• ดอกไม้ | บัวตอง |
• สัตว์น้ำ | กบทูด |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถนนขุนลุมประพาส ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000 |
• โทรศัพท์ | 0 5361 2156 |
เว็บไซต์ | www |
แม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่าเป็น เมืองสามหมอก เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพอากาศมีหมอกปกคลุมตลอดเวลาส่วนใหญ่ของปี นอกจากนี้แม่ฮ่องสอนยังนับเป็นพื้นที่ปลายสุดด้านตะวันตกของประเทศ คือที่เส้นแวง 97.5 องศาตะวันออกในเขตอำเภอแม่สะเรียง (ตะวันออกสุดของประเทศ อยู่ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ 105.5 องศาตะวันออก)
แม่ฮ่องสอนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าเมืองประเทศราชแห่งสยามประเทศ
ประวัติศาสตร์
บริเวณที่ตั้งเมืองแม่ฮ่องสอนปัจจุบันนี้ แต่เดิมเป็นเพียงสถานที่ที่มีผู้คนมาปลูกกระท่อมอาศัยอยู่ บริเวณที่ราบริมเชิงเขา เป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกมาก ผู้คนที่อาศัยตามที่ราบมักจะเป็นชาวไทใหญ่ ส่วนผู้คนที่อาศัยอยู่บนดอยมักจะเป็นกะเหรี่ยง ลัวะ และมูเซอ บริเวณนี้อยู่ห่างจากแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) ประมาณ 40 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดกับรัฐฉาน ประเทศพม่า ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2374 สมัยพระยาพุทธวงศ์ เป็นพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และต้องการช้างป่าไว้ใช้งาน จึงให้เจ้าแก้วเมืองมา ซึ่งเป็นญาติพร้อมด้วยกำลังช้างต่อหมอควาญออกเดินทางไปสำรวจและไล่จับช้างป่ามาฝึกใช้งาน เจ้าแก้วเมืองมาจึงยกกระบวนเดินทางรอนแรมจากเชียงใหม่ผ่านไปทางเมืองปาย ใช้เวลาหลายคืนจนบรรลุถึงป่าแห่งหนึ่ง ทางทิศใต้ริมฝั่งแม่น้ำปาย เป็นป่าดงว่างเปล่าและเป็นดินโป่งที่มีหมูป่าลงมากินโป่งชุกชุม เจ้าแก้วเมืองมาพิจารณาเห็นว่า ที่แถวนี้เป็นทำเลที่ดี น้ำท่าบริบูรณ์สมควรที่จะตั้งเป็นหมู่บ้าน จึงหยุดพักอยู่ ณ ที่นี้ และเรียกผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วย ริมเขาซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ และกะเหรี่ยง (ยางแดง) มาประชุม ชี้แจงให้ทราบถึงความคิดที่จะตั้งบริเวณนี้ขึ้นเป็นหมู่บ้าน และบุกเบิกที่ดินที่เป็นไร่นาที่ทำมาหากินต่อไป และเจ้าแก้วเมืองมาแต่งตั้งให้ชาวไทใหญ่ผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนเฉลียวฉลาดและมีความรู้ดีกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน ชื่อว่า "พะกาหม่อง" ให้เป็น "ก๊าง" (คือตำแหน่งนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน) มีหน้าที่คอยควบคุมดูแล และให้คำแนะนำพวกลูกบ้านใน การดำเนินการต่อไป พะกาหม่องได้เป็นผู้ชักชวนเกลี้ยกล่อมพวกที่อยู่ใกล้เคียง ให้ย้ายมาอยู่รวมกัน แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า "บ้านโป่งหมู" โดยถือเอาว่าที่โป่งนั้น มีหมูป่าลงมากินโป่งมากนั่นเอง ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ เรียกว่า "บ้านปางหมู" อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร[4]
เมื่อจัดตั้งหมู่บ้านแล้ว เจ้าแก้วเมืองมาก็ยกขบวนออกเดินทางตรวจชายแดน และคล้องช้างป่าต่อไป จนถึงลำห้วยแห่งหนึ่ง มีรอยช้างป่าอยู่มากมาย ก็หยุดคล้องช้างป่าได้หลายเชือก แล้วให้ตั้งคอกสอนช้างในร่องห้วย ริมห้วยนั้นเป็นพื้นที่ราบกว้างขวางพื้นดินดีกว่าบ้านโป่งหมูและมีชาวไทใหญ่ตั้งกระท่อมอยู่เป็นอันมาก เจ้าแก้วเมืองมาพิจารณาเห็นว่า เป็นทำเลที่เหมาะสมพอที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง จึงเรียกชาวไทใหญ่อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรเขยของพะกาหม่อง ชื่อ "แสนโกม" มาแนะนำชี้แจงแต่งตั้งให้เป็นก๊าง ให้เป็นหัวหน้าเกลี้ยกล่อมผู้คนให้มาอยู่รวมกัน จนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ เจ้าแก้วเมืองมาตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า "บ้านแม่ฮ่องสอน" ซึ่ง ฮ่อง ในภาษาล้านนา คือ ร่อง โดยอาศัยที่ร่องน้ำนั้น เป็นคอกที่ฝึกสอนช้างป่า เมื่อเจ้าแก้วเมืองมาคล้องช้างป่าได้พอสมควรแล้วก็เดินทางกลับเมืองเชียงใหม่ แล้วกราบทูลให้พระเจ้ามโหตรประเทศทราบ[5]
เมื่อเจ้าแก้วเมืองมากลับนครเชียงใหม่แล้วพะกาหม่องและแสนโกมบุตรเขยก็ได้พยายามชักชวนผู้คนที่อยู่ใกล้เคียง ให้อพยพครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทำมาหากินจนแน่นหนาขึ้นเป็นหมู่บ้านใหญ่ และต่อมาเห็นว่าบริเวณนั้นมีไม้สักมาก พะกาหม่องและแสนโกม เห็นว่าหากตัดเอาไม้สักนั้นไปขายประเทศพม่าโดยใช้วิธีชักลากลงลำห้วย แล้วปล่อยให้ไหลลงแม่น้ำคง(แม่น้ำสาละวิน) ก็คงได้เงินมาช่วยในด้านเศรษฐกิจและการบำรุงบ้านเมือง เมื่อปรึกษาหารือกันดีแล้วพะกาหม่องและแสนโกม จึงเดินทางเข้ามาเฝ้าพระเจ้ามโหตรประเทศฯ ที่นครเชียงใหม่ กราบทูลขออนุญาตตัดฟันชักลากไม้ไปขายแล้วจะแบ่งเงินค่าตอบแทนถวายตลอดปี พระเจ้ามโหตรประเทศฯก็ทรงอนุญาต พะกาหม่องและแสนโกม จึงทูลลากลับ และเริ่มลงมือทำไม้ขอนสักส่งไปขายที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่าได้เงินมาก็เก็บแบ่งถวายพระเจ้ามโหตรประเทศทุกปี นอกนั้นก็ใช้ประโยชน์ส่วนตัวและบำรุงบ้านเมือง[6]
ครั้นถึง พ.ศ. 2397 พระเจ้ามโหตรประเทศฯถึงแก่พิราลัย เจ้ากาวิโลรสซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าหัวเมืองแก้วได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่แทน ทรงนามว่า "พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์" ใน พ.ศ. 2399 พะกาหม่อง และแสนโกม ก็ยังคงทำป่าไม้และส่งเงินไปถวายทุกปี พะกาหม่องกับแสนโกมจึงมีฐานะดีขึ้น และหมู่บ้านโป่งหมูและบ้านแม่ฮ่องสอนก็เจริญขึ้นตามลำดับ ในครั้งนั้นหัวเมืองไทใหญ่ตามแถบตะวันตกฝั่งแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) เกิดการจลาจลเกิดรบราฆ่าฟัน จึงมีชาวไทใหญ่อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านปางหมูหรือโป่งหมู และบ้านแม่ฮ่องสอนมากขึ้น บางพวกก็ลงไปอาศัยอยู่ที่บ้านขุนยวม (หมู่บ้านไทใหญ่บนเขา) บางพวกอพยพเลยขึ้นไปทางเหนือ ไปอยู่ที่เมืองปาย กลุ่มพวกไทใหญ่ที่อพยพเข้ามานี้ มีผู้หนึ่งชื่อว่า "พะก่าเติ๊กซาน" หรือ "ชานกะเล" เป็นชาวเมืองจ๋ามกา เป็นคนขยันขันแข็งชานกะเลเข้ามาอาศัยที่บ้านปางหมู และช่วยพะกาหม่องทำไม้ด้วยความซื่อสัตย์ และตั้งใจทำงานโดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก พะกาหม่องไว้วางใจและรักใคร่มาก ถึงกับยกลูกสาวชื่อนาง ใส ให้เป็นภรรยา นางใส มีบุตรกับชานกะเลคนหนึ่งชื่อนางคำ[7]
กาลเวลาผ่านไปหมู่บ้านปางหมู และบ้านแม่ฮ่องสอนก็มีผู้คนมาอาศัยหนาแน่นยิ่งขึ้น และใน พ.ศ. 2409 นั่นเอง มีเหตุการณ์สำคัญที่ชักนำเอาบุคคลสำคัญของชาวไทใหญ่ให้มาอพยพอยู่ในแม่ฮ่องสอนอีกคือเจ้าฟ้าเมืองนายมีเรื่องขัดเคืองกับ เจ้าฟ้าโกหล่านเจ้าเมืองหมอกใหม่ จึงได้ยกทัพมาตีเมืองหมอกใหม่แตก เจ้าฟ้าโกหล่านเจ้าเมืองหมอกใหม่จึงพาครอบครัวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับแสนโกมที่บ้านแม่ฮ่องสอน เจ้าฟ้าโกหล่านมีภรรยาชื่อ นาง เกี๋ยง มีบุตรชายชื่อ เจ้าขุนหลวง มีหลาน 4 คนเป็นชาย 1 หญิง 3 ชายชื่อ ขุนแจหญิงชื่อ เจ้าหอม เจ้านางนุ เจ้านางเมี้ยะ เมื่อเจ้าฟ้าโกหล่านมาอาศัยอยู่ด้วย แสนโกมได้มีหนังสือทูลให้พระเจ้ากาวิโลรสฯ ทราบพระเจ้ากาวิโลรสฯ จึงรับสั่งให้ส่งตัวเข้าเฝ้า แต่เจ้าฟ้าโกหล่านป่วย จึงส่งเจ้าขุนหลวงบุตรไปแทน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ โปรดเจ้าขุนหลวงทรงยกเจ้าอุบลวรรณาผู้เป็นหลานให้เป็นภรรยาอยู่กินด้วยกันที่เชียงใหม่ จนมีบุตรคนหนึ่งชื่อ เจ้าน้อยสุขเกษมและอนุญาตให้เจ้าฟ้าโกหล่านอาศัยอยู่ในเขตแดนต่อไป ต่อมานางใส ภรรยาของชานกะเลถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าโกหล่านจึงทรงยกเจ้านางเมี๊ยะหลานสาวคนเล็กให้เป็นภรรยาของชานกะเล ชานกะเลได้ไปตั้งเมืองอยู่บนภูเขาอีกแห่งหนึ่งทางเหนือต้นแม่น้ำยวม เรียกว่า เมืองขุนยวม ต่อมาใน พ.ศ. 2417 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ฯ ทรงแต่งตั้งให้ ชานกะเลเป็น "พญาสิงหนาทราชา" เป็นพ่อเมืองคนแรก และยกฐานะหมู่บ้านแม่ฮ่องสอนขึ้นเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองหน้าด่านต่อไป และยกเมืองปาย เมืองขุนยวมเป็นเมืองรอง[8]
พญาสิงหนาทราชา ได้ปกครองเมืองและพัฒนาเมืองแม่ฮ่องสอนให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการขุดคูเมืองและสร้างประตูเมืองขึ้นอย่างมั่นคง จนถึง พ.ศ. 2427 พญาสิงหนาทราชาได้ถึงแก่กรรม เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้แต่งตั้งเจ้านางเมี๊ยะผู้เป็นภรรยาของพญาสิงหนาทเป็นเจ้านางเมวดีขึ้นปกครองแทน ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกเจ้านางเมวดีว่า "เจ้านางเมี๊ยะ" โดยให้ปู่โทะ (พญาขันธเสมาราชานุรักษ์) เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ต่อมา พ.ศ. 2434 เจ้านางเมี๊ยะถึงแก่กรรม พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ปกครองนครเชียงใหม่ จึงแต่งตั้งพญาขันธเสมาราชานุรักษ์ เป็นพญาพิทักษ์สยามเขต ให้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน จนถึงพ.ศ. 2433 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสหเทพปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยได้ตรวจราชการพื้นที่หัวเมืองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือจึงจัดระบบการปกครองใหม่เป็น รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองปาย และเมืองยวม (แม่สะเรียง) เป็นหน่วยเดียวกันเรียกว่า "บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก" ตั้งที่ว่าการแขวง (เทียบเท่าเมือง) ที่เมืองขุนยวม โดยแต่งตั้งนายโหมดเป็นนายแขวง (แจ้งความเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ร.ศ. 119) และในปีเดียวกันนี้เมืองเชียงใหม่ได้แต่งตั้งขุนหลู่บุตรของพญาพิทักษ์สยามเขต เป็นพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี พ.ศ. 2446 ได้ย้ายที่ว่าการแขวงจากเมืองขุนยวม ไปตั้งที่เมืองยวมแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "บริเวณพายัพเหนือ" จนถึง พ.ศ. 2450 พญาพิทักษ์สยามเขตถึงแก่กรรม เมืองเชียงใหม่จึงแต่งตั้งพญาพิศาลฮ่องสอนบุรีขึ้นปกครองเมืองแทน พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพายัพ ย้ายที่ว่าการแขวงจากเมืองยวมมาตั้งที่แม่ฮ่องสอนให้ชื่อว่า "เมืองแม่ฮ่องสอน" แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระศรสุรราช (เปลื้อง) มาปกครองเมือง ถือว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนแรก[9]
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง
จังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือประมาณ 924 กิโลเมตร (574 ไมล์)
อาณาเขตติดต่อ
มีอาณาเขตทางทิศเหนือและทิศตะวันตกติดต่อกับสามรัฐของประเทศพม่า ได้แก่ รัฐฉาน รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยง โดยมีแนวกั้นธรรมชาติเป็นทิวเขาถนนธงชัยตะวันตก แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำเมย ทางทิศใต้ติดต่อกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยมีแม่น้ำเงาเป็นแนวกั้น และทางทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอสะเมิง อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด และอำเภออมก๋อย ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแนวกั้นเป็นทิวเขาถนนธงชัยกลางและตะวันออก
ประชากรศาสตร์
ประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลาย โดยมากเป็นชาวไทใหญ่ นอกนั้นเป็นชาวไทยวน กะเหรี่ยง มูเซอ ลีซอ ลัวะ ม้ง ฮ่อ ปะโอ และอื่น ๆ[10] โดยต่างรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็อยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมที่ต่างกันได้โดยไม่เคยปรากฏความแตกต่างระหว่างภาษาและวัฒนธรรมแต่อย่างใด
ด้วยความหลากหลายของเชื้อชาติดังกล่าวนี้ ประชากรในแม่ฮ่องสอนจึงมีการใช้ภาษาที่หลากหลายด้วย โดยในชาติพันธุ์ต่าง ๆก็จะพูดภาษาต่างกัน โดยแบ่งเป็นใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
ตระกูลภาษา | กลุ่มภาษาแยกย่อย | กลุ่มชาติพันธุ์ |
---|---|---|
ตระกูลภาษาขร้า-ไท, กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ | กลุ่มภาษาเชียงแสน | ไทยภาคเหนือ (ล้านนา-ไทยวน), ไทลื้อ, ไทเขิน, ไทยภาคกลาง (สยาม) |
กลุ่มภาษาไตตะวันตกเฉียงเหนือ | ไทใหญ่ | |
ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต | ตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า | พม่า |
ภาษาลาฮู | ล่าหู่ (ชาวมูเซอ) | |
ภาษาลีสู่ | ลีซู (ลีซอ) | |
ภาษาจีน-จีนกลาง | จีนฮ่อ (จีนยูนนาน) | |
ภาษากะเหรี่ยงสะกอ | กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) | |
ตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน | ภาษาม้งเขียว-ภาษาม้งขาว | ม้ง (แม้ว) |
ตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก | ภาษากลุ่มมอญ-เขมร | ลัวะ (ละเวือะ) |
จากการสำรวจใน พ.ศ. 2562 พบว่าประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 74.2 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 25.53 ศาสนาอิสลามร้อยละ 0.25 และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.02[10] มีชุมชนมุสลิมในจังหวัด ประมาณ 1,300 คน มีมัสยิดจดทะเบียน 3 แห่ง ในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปาย และอำเภอแม่สะเรียง[11] ส่วน รายงานสถานการณ์ทางสังคมจังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ. 2565 พบว่าประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 74.44 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 25.32 ศาสนาอิสลามร้อยละ 0.21 ศาสนาซิกข์ ฮินดู และอื่น ๆ ร้อยละ 0.03[12]
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
- คำขวัญประจำจังหวัด : หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง
- ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นจั่นหรือกระพี้จั่น (Millettia brandisiana)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกบัวตองหรือพอหมื่อนี่ (Tithonia diversifolia)
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด : กบทูดหรือเขียดแลว (Limnonectes blythii)
การเมืองการปกครอง
หน่วยการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 45 ตำบล 415 หมู่บ้าน
รายนามเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน
ลำดับ | รายนาม | เริ่มตำแหน่ง | สิ้นสุดตำแหน่ง |
---|---|---|---|
1 | พญาสิงหนาทราชา (พะก่าเติ๊กซาน หรือ ชานกะเล) | 2417 | 2427 |
2 | เจ้าแม่นางเมี้ยะ (เจ้านางเมี้ยะ) | 2427 | 2434 |
3 | พญาพิทักษ์สยามเขต (ปู่ขุนโท้ะ) | 2434 | 2450 |
4 | พญาพิศาลฮ่องสอนกิจ
หรือ พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี (ขุนหลู่ หรือ ขุนหลู่ชิง) |
2450 | 2484 |
รายชื่อผู้ว่าราชการ
ลำดับ | รายนาม | ดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระยาศรสุรราช (เปลื้อง) | พ.ศ. 2455- พ.ศ. 2455 |
2 | พันตำรวจตรี พระสุรการบัญชา (ยิ้ม นีละโยธิน) | พ.ศ. 2455 - พ.ศ. 2463 |
3 | พระพิทักษ์เทพธานี (ปุ่น อาสนจินดา) | พ.ศ. 2463 - พ.ศ. 2470 |
4 | พระประธานธุรารักษ์ (ถาบ ผลนิวาส) | พ.ศ. 2470 - พ.ศ. 2472 |
5 | พระพายัพพิริยกิจ (เอม ทินนะลักษณ์) | 18 ธันวาคม 2472 - พ.ศ. 2473 |
6 | พระพิบูลย์บริหาร(ทรัพย์ สุวรรณสมบูรณ์) | 1 เมษายน 2473 - พ.ศ. 2481 |
7 | หลวงพำนักนิกรชน (อุ่น สมิตตามร) | 6 มิถุนายน 2481 - 5 สิงหาคม 2483 |
8 | ขุนไกรกิตตยานุกูล (อัมพร สาครพันธ์) | 6 สิงหาคม 2483 - 1 มิถุนายน 2486 |
9 | หม่อมราชวงศ์บุง ลดาวัลย์ | 20 พฤศจิกายน 2486 - 10 มิถุนายน 2487 |
10 | นายพรหม สูตรสุคนธ์ | 11 มิถุนายน 2487 - 29 เมษายน 2488 |
11 | นายถนอม พิบูลย์มงคล | 30 เมษายน 2488 - 1 ธันวาคม 2490 |
12 | ขุนบุรราษฎร์นราภัย (สอาด สุตบุตร) | 1 กุมภาพันธ์ 2491 - 4 มกราคม 2493 |
13 | นายมานิต ปุรณะพรรค์ | 14 มกราคม 2493 - 9 มิถุนายน 2496 |
14 | นายทำนุก รัตนดิลก ณ ภูเก็ต | 10 มิถุนายน 2496 - 20 ธันวาคม 2497 |
15 | นายจำรัส ธารีสาร | 1 มิถุนายน 2498 - 23 พฤศจิกายน 2500 |
16 | นายเครือ สุวรรณสิงห์ | 17 กรกฎาคม 2500 - 14 มิถุนายน 2501 |
17 | นายสุจิตต์ สมบัติศิริ | 15 มิถุนายน 2501 - 27 กันยายน 2507 |
18 | นายสุวรรณ กฤตธรรม | 1 ตุลาคม 2507 - 30 กันยายน 2508 |
19 | นายเอี่ยม เกรียงศิริ | 1 ตุลาคม 2508 - 30 เมษายน 2512 |
20 | พันตำรวจเอก เปลื้อง ตันตาคม | 1 พฤศจิกายน 2512 - 30 กันยายน 2514 |
21 | พลตรี ปราการ ภูวนารถนุรักษ์ | 1 ตุลาคม 2514 - 30 สิงหาคม 2515 |
22 | นายสุโข อินทรประชา | 1 ตุลาคม 2515 - 30 กันยายน 2518 |
23 | นายอรุณ ปุสเทพ | 1 ตุลาคม 2518 - 30 กันยายน 2519 |
24 | นายไพฑูรย์ ลิมปิทีป | 1 ตุลาคม 2519 - 30 กันยายน 2521 |
25 | นายจำนง ยังเทียน | 1 ตุลาคม 2521 - 30 กันยายน 2523 |
26 | นายอนันท์ มีชำนะ | 1 ตุลาคม 2523 - 30 กันยายน 2526 |
27 | นายวนิช พรพิบูลย์ | 1 ตุลาคม 2526 - 30 กันยายน 2528 |
28 | นายคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ | 1 ตุลาคม 2528 - 30 กันยายน 2530 |
29 | นายประมูล สังฆมณี | 1 ตุลาคม 2530 - 30 กันยายน 2531 |
30 | นายประมวล รุจนเสรี | 1 ตุลาคม 2531 - 5 สิงหาคม 2533 |
31 | ร้อยตรี ชาญชัย ใจใส | 6 สิงหาคม 2533 - 30 กันยายน 2535 |
32 | นายสหัส พินทุเสนีย์ | 1 ตุลาคม 2535 - 24 พฤษภาคม 2537 |
33 | นายสมเจตน์ วิริยะดำรงค์ | 25 พฤษภาคม 2537 - 30 กันยายน 2539 |
34 | นายภักดี ชมภูมิ่ง | 1 ตุลาคม 2539 - 24 เมษายน 2541 |
35 | นายสำเริง ปุณโยปกรณ์ | 25 เมษายน 2541 - 30 กันยายน 2542 |
36 | นายพจน์ อู่ธนา | 1 ตุลาคม 2542 - 30 กันยายน 2545 |
37 | นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ | 1 ตุลาคม 2545 - 30 กันยายน 2548 |
38 | นายดิเรก ก้อนกลีบ | 1 ตุลาคม 2548 - 30 กันยายน 2550 |
39 | นายธงชัย วงษ์เหรียญทอง | 1 ตุลาคม 2550 - 30 กันยายน 2552 |
40 | นายกำธร ถาวรสถิตย์ | 1 ตุลาคม 2552 - 8 มกราคม 2555 |
41 | นางนฤมล ปาลวัฒน์ | 9 มกราคม 2555 - 30 กันยายน 2556 |
42 | นายสุรพล พนัสอำพล | 1 ตุลาคม 2556 - 30 กันยายน 2558 |
43 | นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ | 1 ตุลาคม 2558 - 30 กันยายน 2559 |
44 | นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ | 1 ตุลาคม 2559 - 28 มิถุนายน 2561 |
45 | นายสิริรัฐ ชุมอุปการ | 29 มิถุนายน 2561 - 30 กันยายน 2562 |
46 | นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ | 1 ตุลาคม 2562 - 30 กันยายน 2563 |
47 | นายสิธิชัย จินดาหลวง | 1 ตุลาคม 2563 - 30 กันยายน 2564 |
48 | นายเชษฐา โมสิกรัตน์ | 15 ธันวาคม 2564 - 18 มีนาคม 2567 |
49 | นายชูชีพ พงษ์ไชย | 19 มีนาคม 2567 - ปัจจุบัน |
การคมนาคม
ระยะห่างจากตัวจังหวัดไปอำเภอต่าง ๆ
- อำเภอขุนยวม 65 กิโลเมตร
- อำเภอปางมะผ้า 68 กิโลเมตร
- อำเภอปาย 110 กิโลเมตร
- อำเภอแม่ลาน้อย 131 กิโลเมตร
- อำเภอแม่สะเรียง 162 กิโลเมตร
- อำเภอสบเมย 187 กิโลเมตร
สถานที่ท่องเที่ยว
- ถ้ำ
- ถ้ำเสาหิน
- ถ้ำข้าวแตก
- ถ้ำจั๊กต่อ หรือถ้ำพระพุทธหัตถ์, พระพุทธบาทคู่
- ถ้ำตุ๊กตา
- ถ้ำปลา
- ถ้ำปะการัง
- ถ้ำผาแดง
- ถ้ำผีแมน
- ถ้ำเพชร
- ถ้ำแม่ละนา
- ถ้ำลอด
- ถ้ำหินไข่มุก
- วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล
- น้ำตก
- น้ำตกผ่าบ่อง
- น้ำตกผาเสื่อ
- น้ำตกแม่ยวมหลวง
- น้ำตกแม่เย็น
- น้ำตกแม่สะกึดหลวง
- น้ำตกแม่สะงากลาง
- น้ำตกแม่สุรินทร์
- น้ำตกแม่อูคอ
- น้ำตกหมอแปง
- น้ำพุร้อน
- น้ำพุร้อนท่าปาย
- บ่อน้ำร้อนผ่าบ่อง
- บ่อน้ำร้อนเมืองแปง
- ตลาด
- ตลาดสายหยุด
- วัด/พระตำหนัก
- พระตำหนักปางตอง
- วัดก้ำก่อ
- วัดจองสูง
- วัดจองกลาง
- วัดจองคำ
- วัดต่อแพ
- วัดน้ำฮู
- วัดพระธาตุจอมมอญ
- วัดพระธาตุดอยกองมู
- วัดพระธาตุแม่เย็น
- วัดพระนอน
- วัดม่วยต่อ
- วัดศรีบุญเรือง
- วัดแสนทอง
- วัดหัวเวียง
- อุทยาน
- อุทยานแห่งชาติแม่เงา
- อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ
- อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์
- อุทยานแห่งชาติสาละวิน
- อื่น ๆ
- กองแลน
- ดอยปุย
- ทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ
- ทุ่งบัวตองดอยแม่เหาะ
- บ้านท่าตาฝั่ง
- บ้านน้ำเพียงดิน
- บ้านในสอย
- บ้านแม่สามแลบ
- บ้านแม่หลุย
- บ้านรักไทย
- บ้านสบโขง
- บ้านห้วยเสือเฒ่า
- สบเมย
สถาบันการศึกษา
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ณ แม่สะเรียง
- วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
- วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน
- โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐประจำจังหวัด
- วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- โรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา อำเภอแม่สะเรียง
- โรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ อำเภอแม่ลาน้อย
- โรงเรียนเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง
- โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ อำเภอเมือง
- โรงเรียนเทศบาล 2 (เฉลิมพระเกียรติ) อำเภอเมือง
- โรงเรียนเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน (เทศบาล 3 แผนกประถมศึกษา) อำเภอเมือง
- โรงเรียนอนุบาลแม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง
- โรงเรียนปายวิทยาคาร อำเภอปาย
อ้างอิง
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.