อำเภออมก๋อย
อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อมก๋อย (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอหนึ่งใน 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางใต้สุดของจังหวัด มีอาณาเขตติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามหลายแห่ง เช่น ดอยม่อนจอง ดอยมูเซอ วัดแสนทอง ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอมก๋อย เป็นต้น เมื่อปี 2563 อำเภออมก๋อยถูกกล่าวถึงว่าเป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย[1]
อำเภออมก๋อย | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Omkoi |
![]() ล่าหู่ เกษตรกรชาวเขาในอำเภออมก๋อย | |
คำขวัญ: ดินแดนในหุบเขา ใต้ร่มเงาพระเจ้าแสนทอง ดอยม่อนจองสูงสง่า สัตว์ป่าล้วนมากมี ประเพณีหลายเผ่าพันธุ์ | |
![]() แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภออมก๋อย | |
พิกัด: 17°48′4″N 98°21′31″E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 2,093.8 ตร.กม. (808.4 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 63,207 คน |
• ความหนาแน่น | 30.19 คน/ตร.กม. (78.2 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 50310 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5018 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภออมก๋อย หมู่ที่ 1 ถนนเจริญทัศนา ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 50310 |
![]() |
ประวัติศาสตร์
สรุป
มุมมอง
อมก๋อย มาจากภาษาเลอเวือะคำว่า ลอา-อืม แปลว่า น้ำ (เลือนไปเป็น อำ, อม) + กอย คือชื่อของลำห้วย [2] สันนิษฐานว่า หมายถึง ต้นน้ำแม่ตื่นที่ไหลผ่านชุมชนเมืองโบราณจากตำนานเมืองตื๋นนันทบุรีได้จารึกไว้ ว่าพระยาช้างเผือกและพระยาเลิก สองพี่น้องได้พาราษฎรที่อพยพมาจากเมืองเชียงใหม่มาทำการสร้างเมืองตั๋นบุรี ในปี พ.ศ. 1985 (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ตื่น) มีอาณาเขตถึงบ้านฟ้อนฟ้า นาหง สะหรง แม่ระมาด หินลวด นาไฮ หนอแสง ดินแดง บ้านป๊อก บ้านหมาก ผาสาด และวังคำต่อมมาพระอทิตตราได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์วัดจอมแจ้งขึ้น ที่ดอยนางนอนในปี พ.ศ. 2148 และพระยาอนันตราช เจ้าเมืองตั๋นได้บรรจุพระบรมธาตุเจดีย์ในปี พ.ศ. 2299 และได้มีประเพณีไหว้พระธาตุในเดือน 9 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับที่ตั้งอำเภออมก๋อยในปัจจุบัน เดิมเป็นหมู่บ้านของชาวเลอเวือะ มีขุนแสนทองเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมาได้มีคนเมืองอพยพเข้ามาแทนที่ และชาวเลอเวือะได้ย้ายออกไปอยู่ในท้องที่อื่น ส่วนทางราชการได้ทำการจัดตั้งเป็นตำบลอยู่ในเขตปกครองของอำเภอฮอดได้ทำการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออมก๋อยในปี พ.ศ. 2463[3] และได้ยกฐานะเป็นอำเภออมก๋อยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2501[4]
การเสนอจัดตั้งอำเภอแม่ตื่น
ราษฎรชาวตำบลแม่ตื่น และตำบลม่อนจอง เรียกร้องให้มีการจัดตั้งอำเภอใหม่ขึ้นเป็นกรณีพิเศษ โดยเสนอให้ใช้ชื่อว่า "อำเภอนันทบุรี" ในปี พ.ศ. 2555[5] ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นชอบ[6] และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 กรมการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เห็นชอบการเสนอขอจัดตั้งอำเภอแม่ตื่นเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากราษฎรในตำบลม่อนจอง และตำบลแม่ตื่น ได้ร้องขอให้จัดตั้งอำเภอเป็นกรณีพิเศษเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อีกทั้งตำบลม่อนจองตำบลแม่ตื่น ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยมากกว่า 76 กิโลเมตร การคมนาคมขนส่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก[7]
ภูมิศาสตร์
สรุป
มุมมอง
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภออมก๋อยตั้งอยู่ทางใต้สุดของจังหวัดเชียงใหม่ พิกัดเส้นรุ้งที่ 17 องศาเหนือ และเส้นแวง ที่ 98 องศาตะวันออก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร ส่วนที่กว้างที่สุดของอำเภอจากทางด้านทิศตะวันออก ประมาณ 53 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร 875 กิโลเมตร โดยทางรถยนต์ผ่านทางจังหวัดเชียงใหม่
อำเภออมก๋อยมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสบเมย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) และอำเภอฮอด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอดอยเต่า และอำเภอสามเงา (จังหวัดตาก)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่ระมาด (จังหวัดตาก)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอท่าสองยาง (จังหวัดตาก) และอำเภอสบเมย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
ภูมิประเทศ
อำเภออมก๋อยมีพื้นที่ทั้งหมด 2,099.831 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,365,177.812 ไร่ มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 เขตย่อย ดังนี้
- เขตภูเขาสูง เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธาร อยู่ในพื้นที่ตำบลอมก๋อย ตำบลยางเปียง ตำบลแม่หลอง ตำบลนาเกียน ตำบลม่อนจอง ตำบลแม่ตื่น คิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่อำเภอ
- เขตภูเขาเตี้ย มีพื้นที่ร้อยละ 20 ของพื้นที่อำเภอ
ภูมิอากาศ
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอเป็นที่สูงและภูเขา จึงทำให้มีอากาศค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี ในฤดูร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูหนาวมีอุณหภูมิเฉลี่ย 15-20 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 2-4 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,000 มิลลิเมตรต่อปี อำเภออมก๋อยมีสภาพอากาศแบ่งเป็น 3 ฤดูดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน - พฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม - มีนาคม
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรน้ำ
อำเภออมก๋อยมีแหล่งน้ำที่สำคัญ ได้แก่
- ลำน้ำแม่ต๋อม มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาดอยพุย ทางทิศตะวันออกของอำเภอ ไหลผ่านหมู่บ้านต่างๆ แล้วลงสู่ลำน้ำแม่ตื่น มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับใช้ในการเกษตร
- ลำน้ำแม่ตื่น มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาขุนตื่น ในตำบลแม่หลอง ไหลผ่านตำบลอมก๋อย ตำบลยางเปียง ซึ่งมีแม่น้ำต๋อม น้ำแม่หาด และอีกมากมาย ไหลมารวมกันเป็นน้ำแม่ตื่น ไหลสู่ตำบลม่อนจอง และตำบลแม่ตื่น แล้วไหลลงรวมกับแม่น้ำปิงที่จังหวัดตาก มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของอำเภอ
- ลำน้ำอื่น ๆ เช่น ลำน้ำแม่หาด ลำน้ำเทย ลำน้ำขุนแม่ตื่นน้อย
ทรัพยากรธรณีและป่าไม้
ดินที่พบในอำเภออมก๋อยมีหลายประเภท ลักษณะเนื้อดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แตกต่างกันตามชนิดต้นกำเนิดของดินในบริเวณนั้นๆ มักมีหินโผล่กระจัดกระจายทั่วไปตามภูเขา ส่วนป่าไม้ ส่วนใหญ่อำเภอยังมีป่าไม้ประเภทต่างๆ ปกคลุมทั่วไป เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ แต่หลายแห่งมีการทำไร่เลื่อนลอย โดยปราศจากการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน อำเภออมก๋อยมีการจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
- พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย พื้นที่ 1,059,860 ไร่ (ร้อยละ 74.66 ของพื้นที่)
- พื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ 337,640 ไร่ (ร้อยละ 23.78 ของพื้นที่)
- เขตจำแนกเขตถาวร พื้นที่ 16,961 ไร่ (ร้อยละ 0.1 ของพื้นที่)
- พื้นที่นอกเขตป่าและที่อยู่อาศัย พื้นที่ 5,706 ไร่ (ร้อยละ 0.04 ของพื้นที่)
การคมนาคม

อำเภออมก๋อยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ 179 กิโลเมตร ใช้เส้นทางรถยนต์ในการติดต่อกับจังหวัดและอำเภอใกล้เคียง มีเส้นทางสำคัญดังนี้
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (อำเภอฮอด - บ้านกิ่วลม)
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1099 (สายกิ่วลม - อมก๋อย - แม่ตื่น)
- ชม.5052 ทางหลวงชนบทหมายเลข ชม. 5052 (สายอมก๋อย - แม่หลองน้อย)
- ชม.5101 ทางหลวงชนบทหมายเลข ชม. 5101 (สายบ้านโป่ง - แม่ลานน้อย)
ส่วนการขนส่ง มีรถโดยสารประจำทางจากจังหวัดเชียงใหม่มายังอำเภออมก๋อย วันละ 2 เที่ยว และมีรถโดยสารขนาดเล็ก ระหว่างอำเภออมก๋อย - อำเภอฮอด วันละ 3 เที่ยว
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภออมก๋อยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 ตำบล และ 95 หมู่บ้าน ดังนี้
ลำดับที่ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2566)[8] | ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2566)[8] | |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | อมก๋อย | Omkoi | 20 | 16,662 | 1,053 15,609 | (ทต. อมก๋อย) (อบต. อมก๋อย) |
2. | ยางเปียง | Yang Piang | 17 | 10,164 | 10,164 | (อบต. ยางเปียง) |
3. | แม่ตื่น | Mae Tuen | 16 | 10,960 | 10,960 | (อบต. แม่ตื่น) |
4. | ม่อนจอง | Mon Chong | 9 | 5,893 | 5,893 | (อบต. ม่อนจอง) |
5. | แม่หลอง[9] | Mae Long | 12 | 8,476 | 8,476 | (อบต. แม่หลอง) |
6. | นาเกียน | Na Kian | 21 | 11,052 | 11,052 | (อบต. นาเกียน) |
รวม | 95 | 63,207 | 1,053 (เทศบาล) 62,154 (อบต.) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภออมก๋อยประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลอมก๋อย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลอมก๋อย
- องค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอมก๋อย (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลอมก๋อย)
- องค์การบริหารส่วนตำบลยางเปียง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลยางเปียงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ตื่นทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลม่อนจองทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่หลอง[10] ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่หลองทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกียน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาเกียนทั้งตำบล
การท่องเที่ยว
- แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- ดอยม่อนจอง เป็นภูเขาที่มีความสูง 1,929 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ในตำบลม่อนจอง มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีพืชและสัตว์ป่าหายากนานาชนิด เช่น กุหลาบพันปี กวางผา ช้างป่า เป็นต้น
- หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน อยู่ในหมู่ 17 ตำบลอมก๋อย อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร มีทิวทัศน์สวยงาม เหมาะสำหรับการไปพักผ่อน
- ดอยมูเซอ อยู่ในหมู่ 5 ตำบลม่อนจอง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีทิวทัศน์ที่งดงาม
- น้ำตกแม่ตื่นน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ตื่น
- น้ำตกนางนอน หมู่ที่ 3 ตำบลม่อนจอง
- น้ำตกห้วยตาด หมู่ที่ 8 ตำบลม่อนจอง
- น้ำตกวังควายเผือก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่หลอง
- น้ำตกโป่งดิน หมู่ที่ 10 ตำบลอมก๋อย
- น้ำตกตะกอคะ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่หลอง
- ศาสนสถาน
- วัดแสนทอง เป็นวัดเก่าแก่อายุหลายร้อยปี คู่บ้านคู่เมืองอมก๋อย เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าแสนทอง พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน
- วัดจอมแจ้ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลแม่ตื่น สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2148
- วัดจอมหมอก ตั้งอยู่ที่ ตำบลม่อนจอง
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.