Loading AI tools
แอนนิเมชั่นอเมริกันสร้างโดยแมท โกรนนิ่ง จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดอะซิมป์สันส์ (อังกฤษ: The Simpsons) เป็นรายการการ์ตูนซิตคอมในสหรัฐอเมริกา สร้างโดย แม็ตต์ เกรนิง สำหรับ บริษัทฟ็อกซ์บรอดแคสติง มีเนื้อเรื่องตลกเสียดสีวิถีชีวิตชนชั้นกลางของชาวอเมริกัน โดยผ่านตัวละครในครอบครัวคือ โฮเมอร์, มาร์จ, บาร์ต, ลิซา และ แม็กกี โดยมีเนื้อหาเกิดที่เมืองที่ชื่อ สปริงฟิลด์ ที่ถากถางมุมมองของสังคมมนุษย์ วัฒนธรรมอเมริกัน สังคมทั้งหมดและวงการโทรทัศน์
เดอะซิมป์สันส์ | |
---|---|
ประเภท | แอนิเมชัน ตลก |
สร้างโดย | แม็ตต์ เกรนิง |
พัฒนาโดย | เจมส์ แอล. บรูกส์ แม็ตต์ เกรนิง แซม ไซมอน |
เสียงของ | แดน แคสเทลลาเนตา จูลี คาฟเนอร์ แนนซี คาร์ตไรต์ เยิร์ดเลย์ สมิธ แฮงก์ อะซาเรีย แฮร์รี เชียร์เรอร์ |
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่อง | แดนนี เอลฟ์แมน |
ดนตรีแก่นเรื่องเปิด | "The Simpsons Theme" |
ประเทศแหล่งกำเนิด | สหรัฐอเมริกา |
ภาษาต้นฉบับ | อังกฤษ |
จำนวนฤดูกาล | 31 |
จำนวนตอน | 677 |
การผลิต | |
ผู้อำนวยการผลิต | อัล ฌอง เจมส์ แอล. บรูกส์ แม็ตต์ เกรนิง แซม ไซมอน |
ความยาวตอน | 21-24 นาที |
ออกอากาศ | |
เครือข่าย | บริษัทฟ็อกซ์บอร์ดแคสติง |
ออกอากาศ | 17 ธันวาคม พ.ศ. 2532 – ปัจจุบัน |
การแสดงที่เกี่ยวข้อง | |
เดอะ เทรซีย์ อุลแมน โชว์ |
แนวความคิดเรื่องตัวละครเกิดจากเกรนิง ก่อนที่เขาจะนำไปสร้างขึ้นเป็นตอนสั้น ๆ โดยผู้สร้าง เจมส์ แอล. บรูกส์ โดยเกรนิงยังสร้างแคแรกเตอร์ครอบครัวที่ดูผิดปกตินี้โดยตั้งชื่อสมาชิกจากครอบครัวของเขาเอง แต่เปลี่ยนชื่อบาร์ตสำหรับชื่อจริงของเขาเอง[1] ตอนสั้น ๆ นั้นเป็นส่วนหนึ่งในรายการที่ชื่อว่า เดอะ เทรซีย์ อุลแมน โชว์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1987[2] หลังจากออกฉายได้ 3 ฤดูกาล แบบร่างต่าง ๆ เริ่มพัฒนาสู่รายการในช่วงไพรม์ไทม์ จำนวนเวลาครึ่งชั่วโมงและได้รับความนิยมในสถานีฟ็อกซ์ และเป็นรายการซีรีส์ของช่องฟ็อกซ์ที่สามารถติดอันดับ 1 ใน 30 อันดับที่มีผู้ชมมากที่สุดในฤดูกาลนั้น (ปี ค.ศ. 1992-1993) [3]
หลังจากออกฉายซีรีส์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1989 ก็มียอดออกอากาศ 420 ตอนกับ 20 ฤดูกาล และยังจะเริ่มฤดูกาลใหม่อีกในฤดูใบไม้ร่วงในปี ค.ศ. 2008[4] ส่วนภาพยนตร์ The Simpsons Movie ออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกเมื่อวันที่ 26 และ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 มีรายได้รวม 526.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงวันนี้
เดอะซิมป์สันส์ยังได้รับรางวัลอีกมากมาย รวมถึง 23 รางวัลเอ็มมี, 26 รางวัลแอนนี และรางวัลพีบอดี และในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 นิตยสารไทม์พาดหัวข้อว่าเป็น รายการโทรทัศน์ซีรีส์ที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 20[5] และในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2000 ยังได้รับรางวัลใน ฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟม อีกด้วย เดอะซิมป์สันส์ยังถือว่าเป็นรายการซิตคอมที่อยู่ยืนยาวที่สุด[6] และเป็นรายการแอนิเมชันของอเมริกาที่ฉายยาวนานที่สุด[7] ส่วนเสียงรำคาญของโฮเมอร์ที่ตะคอกว่า "D'oh!" ก็ได้นำมาบรรจุในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ขณะที่เดอะซิมป์สันส์ มีอิทธิพลต่อการ์ตูนซิตคอมสำหรับผู้ใหญ่อยู่หลายเรื่อง[8]
โกรนิงมีไอเดียเกี่ยวกับเดอะซิมป์สันส์ที่ล็อบบี้ในออฟฟิสของเจมส์ แอล บรูกส์ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง บรูกส์แนะนำให้โกรนิงเสนอความคิดนี้เป็นซีรีส์แอนิเมชันเรื่องสั้น ซึ่งตอนแรกโกรนิงตั้งใจว่าจะใส่ในการ์ตูนเรื่อง Life in Hell ของเขา แต่อย่างไรก็ตามโกรนิงก็นึกได้ว่าถ้านำมาใส่ใน Life in Hell จะต้องยกเลิกลิขสิทธิ์ในการพิมพ์ในงาน Life in Hell นี้ โดยเขาเลือกที่จะสร้างในลักษณะครอบครัวที่ผิดปกตินี้[9] เขาตั้งชื่อตัวละครตามสมาชิกในครอบครัวของเขา ยกเว้น "บาร์ต" ที่ไม่ได้มาจากชื่อเขา[1]
โชว์ครอบครัวเดอะซิมป์สันส์ ปรากฏตัวครั้งแรกในรูปแบบเรื่องสั้นในรายการเดอะ เทรซีย์ อุลแมน โชว์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1989[2] โกรนิงสเก็ตช์แบบร่างให้นักสร้างแอนิเมชันโดยคาดหวังว่ารูปลักษณ์ต่าง ๆ จะมีการขัดเกลาในภาคงานผลิต แต่นักสร้างแอนิเมชันได้แกะจากภาพร่างของเขา ซึ่งทำให้ได้ภาพหยาบ ๆ สำหรับตัวละครในตอนสั้น ๆ นี้[1]
ในปี ค.ศ. 1989 ทีมงานสร้างดัดแปลง เดอะซิมป์สันส์ สู่รูปแบบซีรีส์ครึ่งชั่วโมงเพื่อออกอากาศทางช่องฟ็อกซ์ มีทีมจากคลาสกีชัปโปแอนิเมชันเฮาส์ โดยจิม บรูกส์ต่อรองเงื่อนไขในสัญญากับฟ็อกซ์เน็ตเวิร์กเพื่อป้องกันไม่ให้ทางฟ็อกซ์เข้ามาก้าวก่ายเนื้อหาของรายการ[10] โกรนิงบอกว่าเป้าหมายของเขาในการสร้างโชว์มาเพื่อเป็นทางเลือกอื่นให้กับผู้ชม ที่เขาเรียกว่า "ขยะในกระแส" ที่ผู้ชมตอนนั้นบริโภคอยู่[11] ซีรีส์รูปแบบครึ่งชั่วโมงนี้ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1989 ที่ชื่อตอนว่า "Simpsons Roasting on an Open Fire" เป็นตอนพิเศษในช่วงคริสต์มาส[12] แต่ตอนที่ชื่อว่า "Some Enchanted Evening" เป็นตอนยาวตอนแรกที่ผลิตขึ้น แต่ไม่ได้ออกอากาศจนกระทั่งในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1990 เนื่องจากติดปัญหาการทำแอนิเมชัน[13]
เดอะซิมป์สันส์ เป็นรายการทีวีซีรีส์ รายการแรกทางช่องฟ็อกซ์เน็ตเวิร์กที่สามารถติดอันดับ ใน 30 อันดับแรกของเรตติงการชม[14] ด้วยความสำเร็จทางฟ็อกซ์จึงได้นำซีรีส์กลับมาฉายใหม่อีกเพื่อแข่งกับรายการเดอะคอสบีโชว์ แต่การเปลี่ยนนี้ก็ทำให้เรตติงของเดอะซิมป์สันส์ลดลง[15] ในปี 1992 เทรซีย์ อุลล์แมนยื่นฟ้องกับฟ็อกซ์ โดยอ้างว่ารายการของเธอเป็นต้นกำเนิดของความสำเร็จซีรีส์นี้ โดยพูดว่าเธอมีสิทธิ์ที่จะได้รับผลประโยชน์จาก เดอะซิมป์สันส์ แต่ข้อหาก็ตกลงไป[16]
ตัวโชว์มีข้อขัดแย้งตั้งแต่เริ่มต้น ตัวละครหัวดื้ออย่าง บาร์ต ที่มักจะไม่ได้รับการลงโทษจากพฤติกรรมพิลึกพิลั่น ทำให้ผู้ปกครองและพวกหัวอนุรักษ์ชี้ให้เห็นว่าบาร์ตมีลักษณะไม่น่าควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง[17][18] ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช พูดว่า "เราต้องทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันแข็งแรงกว่านี้ ให้เหมือนกับครอบครัววอลตันส์และไม่ให้เหมือนกับเดอะซิมป์สัน"[19] โรงเรียนรัฐบาลหลายแห่งแบนสินค้าที่เกี่ยวกับครอบครัวซิมป์สันส์ ทีเชิร์ต อย่างเช่น เสื้อที่เขียนว่า "เด็กคะแนนต่ำสุดในห้อง (และวงเล็บว่า ภูมิใจซะ)"[19] แต่ถึงแม้จะมีการแบน แต่สินค้าต่าง ๆ ก็อย่างขายได้ดีอยู่ มียอดขาย 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 14 เดือนแรกของการขาย[19]
รายชื่อผู้รับตำแหน่ง โชว์รันเนอร์ ในแต่ละฤดูกาล
แม็ตต์ โกรนิงและเจมส์ แอล. บรูกส์ รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างตั้งแต่เริ่ม และทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านความคิดสร้างสรรค์ ส่วนแซม ไซมอน รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายความคิดสร้างสรรค์สำหรับ 4 ฤดูกาลแรก แต่ยังคงได้เครดิตเป็นผู้อำนวยการสร้างถึงแม้จะไม่ได้ทำงานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993[20] อีกตำแหน่งที่มีส่วนสำคัญคือ โชว์รันเนอร์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการเขียน การจัดการภาคผลิตของโชว์ของทั้งฤดูกาลนั้น[21]
ทีมงานเขียนบท เดอะซิมป์สันส์ ประกอบด้วยนักเขียน 16 คน ที่จะเสนอแนวคิดทุกช่วงต้นเดือนธันวาคม[22] นักเขียนหลักแต่ละตอนจะเขียนแบบร่างแรก จากนั้นจะมีกลุ่มมาร่วมกันเขียนใหม่และพัฒนาบท โดยจะสอดแทรกหรือลดมุกตลก เพิ่มฉาก และจะเรียกมาอ่านอีกครั้งโดยผู้พากย์เสียง[23] หัวหน้าของกลุ่มนี้คือ จอร์จ เมเยอร์ ที่พัฒนาโชว์มาตั้งแต่ฤดูกาลที่ 1 และนักเขียนอีกคน จอน วิตติ และเมเยอร์เอง ได้คิดคำพูดที่ดีที่สุดในแต่ละตอน ถึงแม้ว่านักเขียนบทในตอนนั้น ๆ จะได้รับเครดิตไป[23] แต่ละตอนใช้เวลาทำถึง 6 เดือน เนื้อหาจึงมักไม่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน[24] อย่างไรก็ตาม บางตอนที่มีการวางแผนระยะยาวอย่างโอลิมปิกหรือซูเปอร์โบวล์ก็มีปรากฏมาบ้าง
จอห์น สวาตซ์เวลเดอร์ กับเครดิตในการเขียนกว่า 60 ตอน ที่ถือว่าเขียนบทมากที่สุดในทีมงาน[25] หนึ่งในนักเขียนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งคือ โคนัน โอ'เบรียน ที่ช่วยเขียนอยู่หลายตอนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ก่อนที่จะไปทำงานทอล์คโชว์[26] ริกกี้ เกอร์เวส นักแสดงตลกชาวอังกฤษได้เขียนบทในตอนที่ชื่อ "Homer Simpson, This Is Your Wife" ถือเป็นคนดังคนแรกที่ได้เขียนบทและรับเชิญเป็นแขกในตอนของ เดอะซิมป์สันส์[27]
ปลายปี ค.ศ. 2007 นักเขียนบทจาก เดอะซิมป์สันส์ ร่วมประท้วงสมาคม เดอะไรเตอร์สไกด์ออฟอเมริกา ฝั่งตะวันออก โดยนักเขียนได้ร่วมกับสมาคมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998[28] ผลของการประท้วงนี้จะมีผลต่อ 23 ตอนในฤดูกาลที่ 19[29]
เครดิตผู้ให้เสียงในแต่ละตอน ทางฟ็อกซ์และทีมงานสร้างต้องการที่จะเก็บความลับชื่อผู้ให้เสียงพากย์ตั้งแต่ต้นฤดูกาลที่ฉาย ดังนั้นในการบันทึกเสียงพวกเขาจะปฏิเสธในการถ่ายรูปศิลปินที่จะมาบันทึกเสียงพากย์[30] อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดก็มีกาเครดิตบทบาทนักแสดงที่ร่วมในตอน "Old Money" เพราะโปรดิวเซอร์พูดว่า ผู้ให้เสียงนักแสดงควรได้รับเครดิตสำหรับการทำงาน[31]
เดอะซิมป์สันส์ มีตัวละครหลักอยู่ 6 ตัว แดน แคสเทลลาเนตารับบทเป็น โฮเมอร์ ซิมป์สัน, อับราฮัม ซิมป์สัน, ครัสตี เดอะ คลาวน์, และตัวละครผู้ชายผู้ใหญ่[32] จูลี คาฟเนอร์ ให้เสียงของ มาร์จ ซิมป์สัน และ แพ็ตตี บูวีเยร์ และ เซลมา บูวีเยร์ และตัวละครประกอบอีกหลายตัว[32] แนนซี คาร์ตไรต์ ให้เสียง บาร์ต ซิมป์สัน, ราล์ฟ วิกกัม และตัวละครเด็ก ๆ อื่น ๆ[32] เยิร์ดเลย์ สมิธ ให้เสียง ลิซา ซิมป์สัน เป็นคนเดียวให้ให้เสียงตัวละครเพียงตัวเดียว[32] ยังมีนักพากย์เสียง 2 คนที่พากย์เสียงตัวละครนอกครอบครัวซิมป์สันส์ อย่าง แฮงก์ อาซาเรีย ให้เสียงอย่าง โม ซิซแลค, ผู้กองวิกกัม และ อาปู นหสปีมเปติโลน อีกคนหนึ่งคือ แฮร์รี เชียร์เรอร์ ให้เสียงกับ มิสเตอร์เบิร์นส, สมิตเธอร์ส, ครูใหญ่สกินเนอร์, เน็ด แฟลนเดอร์ส, ศาสนจารย์เลิฟจอย และ จูเลียส ฮิบเบิร์ท[32] นอกจากนี้ตัวละครทุกตัวยังรับรางวัลเอมมีสาขาผู้ให้เสียงยอดเยี่ยมอีกด้วย (ยกเว้น แฮร์รี เชียร์เรอร์ คนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้รับรางวัล) [33]
จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1998 ผู้ให้เสียงพากย์ 6 คนได้รับเงินค่าตอบแทน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตอน ในปี 1998 พวกเขามีข้อโต้แย้งกับทางฟ็อกซ์ ทางบริษัทขู่ว่าจะรับนักพากย์ใหม่ ถึงขนาดจะเตรียมการแคสต์เสียงนักพากย์ใหม่ โกรนิงเองในฐานะผู้สร้างก็เข้ามาช่วยเหลือพวกเขา[35] และปัญหาดังกล่าวก็ยุติไป โดยในระหว่างปี ค.ศ. 1998-2004 พวกเขาได้รับค่าตอบแทนเป็น 125,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตอน และรายการก็เติบโตด้วยยอดขายดีวีดีเพิ่มมากขึ้น จากนั้นเมษายน ค.ศ. 2004 พวกเขาเรียกร้องเงิน 360,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตอน[36][37] และก็สามารถตกลงกันได้อีก 1 เดือนต่อมา[38] และเงินเดือนพวกเขาก็เพิ่มขึ้นอยู่ระหว่าง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ[39] ถึง 360,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตอน[40] ต่อมาในปี ค.ศ. 2008 การสร้างฤดูกาลที่ 20 ก็ถูกระงับชั่วคราวเนื่องจากสัญญาใหม่ที่นักพากย์เสียงต้องการให้ได้เงินจำนวนใกล้ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตอน[40] แต่ก็ตกลงกันได้ที่ เพิ่มเงินเดือนเป็น 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตอน[41]
ในแต่ละตอนของมักจะมีแขกรับเชิญ ตั้งแต่ นักแสดง นักกีฬา นักประพันธ์ วงดนตรี นักดนตรี และนักวิทยาศาสตร์ ในช่วงฤดูกาลแรก ๆ แขกรับเชิญส่วนใหญ่จะรับบทเป็นตัวเอง โทนี เบ็นเน็ตต์ เป็นแขกรับเชิญคนแรกที่รับบทเป็นตัวเอง ปรากฏตัวในฤดูกาลที่ 2 กับตอนที่ชื่อว่า "Dancin' Homer"[42] เดอะซิมป์สันส์ ยังสร้างสถิติโลกคือ "เป็นรายการซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่มีแขกรับเชิญมากที่สุด"[43]
รายการยังได้มีการแปลเป็นหลากหลายภาษา ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เยอรมัน สเปน และโปรตุเกส และบางส่วนทั้งภาษาฝรั่งเศส และ ภาษาฝรั่งเศสควิเบก[44] เดอะซิมป์สันส์ออกอากาศในภาษาอาราบิก แต่เนื่องอาจมีผลต่อความเชื่อศาสนาอิสลาม บางตอนจึงมีการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น โฮเมอร์กินโซดา แทนกินเบียร์ และกินไส้กรอกเนื้ออียิปต์แทนกินฮ็อตด็อก และด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้เอง จึงได้กระแสตอบรับทางด้านลบจากแฟนพันธุ์แท้ของ เดอะซิมป์สันส์ เองในภูมิภาคนี้ [45]
สตูดิโอที่มีส่วนเกี่ยวข้อง:
การทำภาพแอนิเมชันใน เดอะซิมป์สันส์ ว่าจ้างสตูดิโอทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ในการสร้างแอนิเมชันตอนสั้น ๆ ที่ออกในรายการเดอะ เทรซีย์ อุลแมน โชว์ ใช้ทีมงานภายในประเทศที่ชื่อ คลาสกีชัปโป[46][47] กับการปรากฏตัวในรูปแบบซีรีส์ อันเนื่องด้วยงานล้น ทำให้ฟ็อกซ์ว่าจ้างบริษัทผลิตงานสตูดิโอนอกประเทศหลายสตูดิโอ อย่างในเกาหลีใต้[46] ศิลปินจากสตูดิโอในอเมริกาที่ชื่อ ฟิล์ม โรมัน จะวาดสตอรีบอร์ด ออกแบบตัวละครใหม่ ฉากหลัง อุปกรณ์ประกอบฉาก ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เคลื่อนไหวให้ผู้เขียนอีกต่อที่ กราซี ฟิล์มส ในการปรับปรุงเพิ่มเติม ก่อนที่จะส่งข้ามทะเลออกไป ส่วนสตูดิโอนอกประเทศจะวาดโดยใช้หมึกและลงสี จากนั้นทำแอนิเมชันให้เคลื่อนไหวลงเทป และส่งเทปกลับสหรัฐอเมริกา มาที่ฟ็อกซ์ 3-4 เดือนหลังจากส่งไป[48]
ใน 3 ฤดูกาลแรก คลาสกีชัปโปทำแอนิเมชันในสหรัฐอเมริกา ในปี 1992 ได้เปลี่ยนบริษัทโพรดักชัน จาก กราซีฟิล์มส์ เป็น ฟิล์ม โรมัน[49] ซึ่งยังคงทำแอนิเมชันของรายการจนถึงปี ค.ศ. 2008
ในฤดูกาลที่ 14 ทีมสร้างได้เปลี่ยนวิธีการทำแอนิเมชันดั้งเดิมมาเป็นการใช้หมึกดิจิตอลและการสีดิจิตอลแทน[50] โดยในตอนแรกที่ได้ทดลองใช้สีดิจิตอลคือ ตอนที่ชื่อ "Radioactive Man" ในปี ค.ศ. 1995 นักสร้างแอนิเมชันได้ทดลองใช้ทั้งหมึกและสีดิจิตอลในฤดูกาลที่ 12 ในตอนที่ชื่อว่า "Tennis the Menace" แต่กราซีฟิล์มสได้ใช้จริง ทั้งหมึกและสีดิจิตอลในอีกสองฤดูกาลต่อมา[51]
ครอบครัวซิมป์สันส์ เป็นครอบครัวทั่วไปในเรื่องแต่ง เป็นครอบครัวอเมริกันชนชั้นกลาง อยู่ที่เมืองสปริงฟิลด์[52] โฮเมอร์ผู้เป็นพ่อ ทำงานเป็นผู้ตรวจความปลอดภัยที่โรงไฟฟ้าพลังปรมาณู ผู้ไม่ค่อยเอาใจใส่ในการทำงาน แต่เป็นคนตลก เขาแต่งงานกับ มาร์จ ซิมป์สัน แม่บ้านแบบแม่บ้านชาวอเมริกันทั่วไป มีลูกสามคน คือ บาร์ต อายุ 10 ขวบ จอมเจ้าปัญหา ,ลิซา เด็กแก่แดด อายุ 8 ขวบ และเป็นนักกิจกรรม และแม็กกี ทารกน้อยที่ไม่ค่อยพูด ครอบครัวนี้ยังเลี้ยงหมาชื่อ ซานตาส์ ลิตเติล เฮลเปอร์ และแมวชื่อ สโนว์บอลที่ 2 สัตว์เลี้ยงทั้ง 2 ตัวมีบทบาทอยู่หลายตอนในซีรีส์นี้ และถึงแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานหลายปีไม่ว่าจะเป็น วันหยุดหรือวันเกิด แต่รูปลักษณ์ทางกายภาพของครอบครัวซิมป์สันก็ไม่แก่ตามไป เหมือนกับในช่วงปลายทศวรรษ 1980 (มีเพียงแอนิเมชันบางส่วนที่แตกต่างบ้างเล็กน้อยกับช่วงแรก)
ยังมีตัวละครแปลก ๆ อีกหลายตัวในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ร่วมงาน ครู เพื่อน ๆ ญาติ ผู้คนในเมือง ดาราท้องถิ่น ผู้สร้างต้องการจะให้มีตัวละครหลายตัว เป็นตัวโจ๊ก หรือเติมเต็มหน้าที่ของเมือง จำนวนตัวละครก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ในแต่ละตอน โดยแมตต์ โกรนิง ได้แนวความคิดของตัวละครเสริมมาจากรายการตลกทางช่อง เอสซีทีวี[15]
สถานที่ในเรื่อง เดอะซิมป์สันส์ เกิดขึ้นในเมืองแห่งหนึ่งในสปริงฟิลด์ในอเมริกา ไม่ได้ระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ หรืออ้างอิงว่าอยู่ในรัฐไหน และไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่ส่วนใดของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม แฟน ๆ ผู้ชื่นชอบพยายามตีความเมืองจากลักษณะและเอกลักษณ์ สิ่งแวดล้อม และจุดสังเกต แต่ทางผู้สร้างก็จงใจหลีกเลี่ยงให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับที่ตั้งของสปริงฟิลด์[53] คำว่า "สปริงฟิลด์" เป็นชื่อที่มีเมืองต่าง ๆ ตั้งซ้ำกันมากที่สุด[54] ลักษณะภูมิศาสตร์ของเมืองสปริงฟิลด์ รอบล้อมไปด้วย แนวชายฝั่งทะเล ทะเลทราย ฟาร์มอันกว้างใหญ่ ภูเขาสูง หรืออะไรก็ตามที่ต้องการเป็นจุดประสงค์ของมุกตลก[55] แต่โกรนิงก็เคยบอกว่า สปริงฟิลด์มีหลาย ๆ อย่างคล้ายกับ พอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน เมืองที่เขาเติบโตมา[56]
ถึงแม้ในเรื่องไม่เคยมีฉากที่สื่อว่าเป็นประเทศไทย อย่างไรก็ตามในเมืองสปริงฟีลด์มีย่านชาวต่างชาติอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือย่านคนไทยในปริงฟีลด์ชื่อว่า ลิทเทิ่ล แบงคอก (Little Bangkok) ตั้งอยู่ถัดจากย่านคนจีน (ไชน่าทาวน์; Chinatown) และ ย่านคนทิเบต (ทิเบตทาวน์; Tibet Town) ปรากฏตัวในตอน Please Homer, Don't Hammer 'Em เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ภายในเป็นที่ตั้งของร้านอาหารไทย ยู ไทย นาว (You Thai Now) ซึ่งบริหารโดยตัวละครชาวไทยคนเดียวของเรื่องชื่อว่า คุณไทย (Mr. Thai)[57]
เดอะซิมป์สันส์ ใช้รูปแบบทั่วไปของซิตคอม โดยมุ่งไปที่ครอบครัวและการใช้ชีวิตของครอบครัวอเมริกันที่อยู่ในเมืองทั่วไป[52] อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมชาติของแอนิเมชัน ขอบเขตของ เดอะซิมป์สันส์ จึงกว้างมากกว่าซิตคอมทั่วไป เมืองสปริงฟิลด์เป็นเหมือนจักรวาลหนึ่งที่รวมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ตัวละครสามารถค้นพบ เผชิญกับสังคมสมัยใหม่ โดยมีโฮเมอร์ผู้ที่ทำงานที่โรงไฟฟ้าพลังปรมาณู และยังสามารถวิจารณ์ต่อสิ่งแวดล้อม[58] ถึงแม้ว่าบาร์ตและลิซาจะเรียนอยู่ระดับประถมที่โรงเรียนประถมสปริงฟิลด์ ผู้เขียนได้แสดงตัวอย่าง หรือประเด็นขัดแย้ง ในแง่การศึกษา และเมืองยังมีช่องสื่ออย่างมากมายตั้งแต่ สถานีโทรทัศน์เด็ก ถึงสถานีข่าวท้องถิ่น ที่ทำให้ผูสร้างสามารถใส่มุกเกี่ยวกับพวกเขาเองหรือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิงได้อีกด้วย[59]
นักวิจารณ์บางคนพูดว่า โชว์มีความเป็นการเมืองในตัวของมัน และแนวโน้มไปทางเอียงซ้าย[60] อัล ฌองยอมรับในบทสัมภาษณ์ว่า "เรา (หมายถึงรายการ) ไปทางเสรีนิยม"[61] นักเขียนมักเขียนบทที่แสดงความรู้สึกในแนวคิดที่ดูก้าวร้าว แต่ก็ทำให้ตลกผ่านแนวความคิดทางการเมือง[62] และยังพรรณนารัฐบาลและหน่วยงานเป็นสิ่งใจจืดใจดำที่หากินกับคนงานทั่วไป[61] ด้วยเหตุนี้นักเขียนจึงมักเขียนถึงฝ่ายบริหารอย่างไม่ยกยอใด ๆ หรือทางด้านลบ ในเนื้อหา เดอะซิมป์สันส์ นักการเมืองมีแต่ความเสื่อมทราม อย่างเช่น นักบวชเรเวอร์เอน เลิฟจอย และตำรวจท้องถิ่นที่ไร้ความสามารถ[63] เรื่องศาสนาก็เป็นอีกเนื้อหาหนึ่งที่พูดถึง ในช่วงเวลาวิกฤต ครอบครัวมักจะเข้าหาพระเจ้า[64]
ฉากเปิดในเรื่องเดอะซิมป์สันส์ เป็นสิ่งที่น่าจดจำ ส่วนใหญ่ของทุกตอนจะเปิดด้วยกล้องที่ซูมผ่านชื่อรายการไปยังเมืองสปริงฟิลด์ หลังจากนั้นกล้องจะตามสมาชิกในครอบครัวซิมป์สันส์ ที่กำลังเดินทางกลับบ้าน จนเข้าสู่ตัวบ้าน กล้องจะมองผ่านเก้าอี้ยาว มองเห็นพวกเขากำลังชมโทรทัศน์ ฉากเปิดสร้างสรรค์โดย เดวิด ซิลเวอร์แมน เป็นงาน งานแรกที่เขาทำเมื่อเริ่มมีการสร้างโชว์นี้[65] สำหรับเพลงธีม ประพันธ์ดนตรีโดยแดนนี เอลฟ์แมน ในปี ค.ศ. 1989 หลังจากที่โกรนิงตามหาเขาเพื่อประพันธ์เพลงลักษณะย้อนยุค โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 2 วัน ในการทำงาน และเป็นชิ้นงานที่โด่งดังที่สุดของเอลฟ์แมนในอาชีพการงานของเขา[66]
อีกจุดเด่นหนึ่งของฉากเปิดคือ มีหลายตอนที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น บาร์ตเขียนบนชอล์กบอร์ดบนกระดานที่โรงเรียนที่ดูแตกต่างกันไป [65] ลิซาอาจเล่นแซกโซโฟนที่ต่างกันไป หรือแม้กระทั่งสิ่งประกอบต่าง ๆ ขณะที่สมาชิกในครอบครัวเดินเข้าไปนั่งในห้องนั่งเล่น[67]
ตอนพิเศษฮัลโลวีนถือเป็นประเพณีทุก ๆ ปีของ เดอะซิมป์สันส์ ในปี ค.ศ. 1990 ได้ออกอากาศครั้งแรกกับตอนที่ชื่อว่า "Treehouse of Horror" ในฤดูกาลที่ 2 โดยสร้างเป็น 3 ส่วน โดยแต่ละเรื่องจะเกี่ยวกับฮัลโลวีน[68] ซึ่งแต่ละส่วนมักจะเกี่ยวข้องกับครอบครัวเดอะซิมป์สันส์ในเรื่องเขย่าขวัญ นวนิยายวิทยาศาสตร์ และสิ่งเร้นลับ และมักจะล้อเลียนหรือคารวะต่อผลงานชิ้นโด่งดังในอดีต[69] และมักเกิดขึ้นนอกเหนือจากตอนปกติทั่วไป ถึงแม้ว่าซีรีส์ Treehouse จะเห็นได้ในช่วงวันฮัลโลวีน แต่ปีล่าสุดได้ฉายรอบปฐมทัศน์หลังวันฮัลโลวีนเนื่องจากทางฟ็อกซ์ติดสัญญากับเวิร์ลซีรีส์ของเบสบอลเมเจอร์ลีก[70]
มุกตลกของเรื่องได้ใช้อ้างอิงจากสังคม ทั้งผู้ชมที่มีหลากหลายความคิด และคนดูก็สนุกสนานกับการชม[71] ตัวอย่างที่มาของมุกตลก เช่นมาจาก ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ดนตรี วรรณกรรม วิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์[71] ได้สอดแทรกมุกตลกทุกที่ที่เป็นไปได้ นักสร้างแอนิเมชันใส่มุกตลก แก๊กตลก ทั้งเป็นฉากหลัง ในมุกตลกหรือตัวหนังสือในป้าย หนังสือพิมพ์ หรือที่ไหนก็ตาม[72] คนดูบางครั้งก็ไม่ได้สังเกตมุกในครั้งแรกที่ชม มันเร็วมากจนบางครั้งถึงขนาดต้องกดปุ่มหยุดในเมนูวิดีโอเลย[72] คริสติน ธอมสัน กล่าวเกี่ยวกับ เดอะซิมป์สันส์ ว่า "...การใช้มุกตลกที่มาจากสังคมจริง มีความตั้งใจให้เกิดการอธิบายลักษณะที่ขัดแย้ง และเป็นการสะท้อนตัวเองเกี่ยวกับยุทธวิธีทางโทรทัศน์และสถานะของรายการทางโทรทัศน์"[73]
รายการใช้วลีติดหู อย่างน้อยตัวละครหลักและตัวละครรองจะมีวลีของตัวเองอย่างน้อย 1 วลี[74] อย่างเช่นถ้าโฮเมอร์รำคาญจะตะโกนออกมาว่า "D'oh!" ,มิสเตอร์ เบิร์นส กับ Excellent..." และ เนลสัน มุนตซ์ กับคำว่า "Ha-ha!" ส่วนวลีดติดปากของบาร์ตเช่น "¡Ay, caramba!", "Don't have a cow, man!" และ "Eat my shorts!" ซึ่งก็ยังปรากฏบนเสื้อทีเชิร์ตในช่วงแรก ๆ ด้วย[75] อย่างไรก็ตามบาร์ตก็ไม่ค่อยได้พูดสองประโยคหลังที่กล่าวมา จนได้รับความนิยมในสินค้า ของที่ระลึก และการใช้วลีติดปากก็มีการใช้ลดลงในที่สุด ในตอนที่ชื่อว่า "Bart Gets Famous" ได้ล้อเลียนวลีติดปากเหล่านั้น บาร์ตรับรางวัลใน ครัสตีเดอะคลาวน์โชว์ โดยขึ้นไปพูดว่า "ผมไม่ได้ทำอย่างนั้น"[76]
มีคำศัพท์ใหม่หลายคำที่เกิดมาจาก เดอะซิมป์สันส์ และได้รับคำนิยมจนเป็นภาษาพูด[77][78] มาร์ก ลิเบอร์แมน นักภาษาศาสตร์ ให้ความเห็นว่า "เดอะซิมป์สัน เข้ามาแทนที่เชคสเปียร์และไบเบิล ในฐานะแหล่งข้อมูลใหญ่ของสำนวน วลีติดปาก และต่าง ๆ นานา รวมถึงคำอุปมา"[78] วลีติดปากที่ดังที่สุดคือ เสียงรำคาญของโฮเมอร์ที่ว่า "D'oh!" ซึ่งมีคนใช้อย่างแพร่หลายจนได้รับการบรรจุในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ด แต่สะกดแบบไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน (Doh)[79] แดน แคสเทลลาเนตาพูดว่า เขายืมประโยคดังกล่าวมาจาก เจมส์ ฟินเลย์สัน นักแสดงในคณะตลกลอเรลแอนด์ฮาร์ดี ที่ชอบออกเสียงคำพูดต่าง ๆ ยาน ๆ และโทนเสียงสะอื้น ผู้กำกับ เดอะซิมป์สันส์ บอกให้แคสเทลลาเนตา ทำเสียงให้สั้นลง และก็เป็นคำอุทานที่รู้จักดีในรายการทีวีซีรีส์ต่าง ๆ[80] คำนี้ยังใช้ในรายการซีรีส์โทรทัศน์ในสหราชอาณาจักร รายการ ด็อกเตอร์ฮู อีกด้วย[81]
สำนวนอื่นที่โด่งดังเช่น "excellent" พูดแบบยืดยานแบบ "eeeexcelllent…" โดยชาร์ลส มอนต์โกเมอรี เบิร์นส, เสียงแห่งความมีชัยของโฮเมอร์ที่ว่า "Woohoo!" และเนลสัน มุนตซ์ กับคำเย้ยหยัน "Ha-ha!" ส่วนผู้ดูแลดิน วิลลีกับคำว่า "cheese-eating surrender monkeys" (แปลลงตัวว่า ลิงกินชีสที่ยอมแพ้) ได้ถูกนำไปใช้ในบทในคอลัมน์ใน เนชันอลรีวีว เขียนโดยโจนาห์ โกลด์เบิร์กในปี ค.ศ. 2003 หลังจากประเทศฝรั่งเศสค้านการรุกรานอิรัก ประโยคนี้ได้ถูกใช้แพร่หลายสู่นักเขียนท่านอื่น[82] คำว่า "Cromulent" ที่ใช้ในตอน "Lisa the Iconoclast" ก็ปรากฏในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับเว็บสเตอร์สหัสวรรษใหม่[83] คำว่า "Kwyjibo" ประดิษฐ์ขึ้นโดยบาร์ตในตอน "Bart the Genius" ก็ถูกใช้เป็นชื่อเวิร์มที่ชื่อ "Melissa worm"[84] ส่วนประโยคที่ว่า "I, for one, welcome our new insect overlords" ได้ใช้โดยเคนต์ บร็อกแมนในตอน "Deep Space Homer" ได้กระจายสู่วัฒนธรรมสมัยนิยม ในความหมายของจำนวนอีเวนต์ และมีการใช้ในทางเย้ยหยัน โดยมากใช้เพื่อเป็นมุกตลก[85] อีกทั้งยังมีการใช้ในสื่อหลายแขนง อย่างในนิตยสาร New Scientist[86] และคำว่า "Meh" ก็เป็นที่นิยมใช้ในรายการ[87]
เดอะซิมป์สันส์ เป็นรายการประเภทแอนิเมชันในช่วงไพรม์ไทม์รายการแรกที่ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่รายการ Wait Till Your Father Gets Home ในช่วงทศวรรษ 1970[88] ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่ารายการแอนิเมชันเหมาะสมสำหรับเด็กเท่านั้น และการทำแอนิเมชันใช้ค่ายใช้จ่ายสูงที่จะให้อยู่ในระดับคุณภาพมาตรฐานในรายการโทรทัศน์ช่วงไพรม์ไทม์ แต่ เดอะซิมป์สันส์ ได้เปลี่ยนแปลงแนวความคิดนี้ไป[46] การใช้สตูดิโอจากเกาหลีในระหว่างการทำสี การถ่าย ทำให้แต่ละตอนถูกลง การประสบความสำเร็จของ เดอะซิมป์สันส์ และค่าใช้จ่ายการผลิตที่ถูกลงกระตุ้นให้สถานีโทรทัศน์มีโอกาสที่จะทำรายการแอนิเมชันเรื่องอื่น[46] การพัฒนานี้เอง ในช่วงยุคทศวรรษ 1990 นำไปสู่การทำรายการแอนิเมชันในช่วงไพร์มไทม์ อย่างเช่น เซาธ์ปาร์ก, แฟมิลีกาย, คิงออฟเดอะฮิลล์, ฟิวเจอรามา, และ เดอะคริติก[46] ต่อมาเซาธ์ปาร์กได้ทำการคารวะต่อ เดอะซิมป์สันส์ ในตอนที่ชื่อว่า "Simpsons Already Did It"[89]
เดอะซิมป์สันส์ ยังมีอิทธิพลต่อรายการประเภทไลฟ์แอกชัน อย่าง Malcolm in the Middle ที่ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2000 ในช่วงเวลาหลังรายการ เดอะซิมป์สันส์[8][90] Malcolm in the Middle ใช้ตลกท่าทางและไม่ใช้เสียงหัวเราะแทรกเหมือนอย่างซิตคอมทั่วไป ริกกี้ เกอร์เวส เรียกว่า เดอะซิมป์สันส์ มีอิทธิพลอย่างมากกับรายการตลกอังกฤษที่ชื่อ The Office ไม่มีเสียงหัวเราะแทรกเช่นกัน[91]
เดอะซิมป์สันส์ ได้รับการชมเชยอย่างมากมาย โดยในปี ค.ศ. 1990 เคน ทักเกอร์จากนิตยสาร เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี อธิบายไว้ว่า "ความสลับซับซ้อนของครอบครัวชาวอเมริกัน ได้ถูกวาดเป็นการ์ตูนอย่างง่าย และความผิดปกติของคนที่ทำให้คนนับล้านหนีจาก 3 ช่องเครือข่ายใหญ่ ในคืนวันอาทิตย์หันมาดู เดอะซิมป์สันส์"."[92] ทักเกอร์ยังอธิบายต่อว่า "เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมสมัยนิยม เป็นการ์ตูนในช่วงไพรม์ไทม์ที่ดึงดูดได้ทั้งครอบครัว"[93]
เดอะซิมป์สันส์ ได้รับรางวัลมาหลายรางวัลตั้งแต่เริ่มออกฉาย ทั้ง 23 รางวัลเอมมี[43] 26 รางวัลแอนี[94] และ รางวัลพีบอดี[95] ในการฉลองความสำเร็จในแวดวงศิลปะและบันเทิงของศตวรรษที่ 20 นิตยสารไทม์ ได้ให้ เดอะซิมป์สันส์ เป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่ดีที่สุด[5] ในฉบับเดียวกันนั้น นิตยสารไทม์ บาร์ต ซิมป์สัน ยังติดอันดับ 100 อันดับของการจัดอันดับ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุด[96] บาร์ตเป็นตัวละครในบทประพันธ์ที่ติดอันดับครั้งนี้ และในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2000 เดอะซิมป์สันส์ ยังได้รับรางวัลใน ฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟม[97] และในปี ค.ศ. 2000 นิตยสารเอนเตอร์เทนเมนวีกลี นักเขียนที่ชื่อว่า เคน ทักเกอร์ ได้ให้ เดอะซิมป์สันส์ เป็นรายการโทรทัศน์ที่ดีที่สุดในทศวรรษ 1990 มากกว่านั้นผู้ชมในสหราชอาณาจักรทางแชนนอล 4 ได้ลงคะแนนเสียงให้ เดอะซิมป์สันส์ ที่อันดับ 1 ของการสำรวจในหัวข้อ 100 อันดับ รายการสำหรับเด็กที่ดีที่สุดในปี 2001[98] และ 100 อันดับการ์ตูนที่ดีที่สุด ในปี ค.ศ. 2005[99]
โฮเมอร์ ซิมป์สันยังถูกโหวตให้เป็นที่ 1 ของ 100 ตัวละครทางโทรทัศน์ในปี ค.ศ. 2001[100] โฮเมอร์ยังติดอยู่ที่อันดับ 9 ในการจัดอันดับของ นิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี จากการสำรวจหัวข้อ 50 สัญลักษณ์ในวงการโทรทัศน์[101] ในปี ค.ศ. 2002 เดอะซิมป์สันส์ อยู่ในอันดับ 8 ในการจัดอันดับของ นิตยสารทีวีไกด์ ในรายการโทรทัศน์ที่ดีที่สุดตลอดกาล[102] และในปี ค.ศ. 2007 ยังติดในอันดับของ นิตยสารไทม์ ของการจัดอันดับ 100 รายการโทรทัศน์ที่ดีที่สุดตลอดกาล[103] และในปี ค.ศ. 2008 ติดอันดับ 1 ของ นิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี ในการจัดอันดับ 100 สุดยอดโชว์ใน 25 ปีที่ผ่านมา[104]
ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 เดอะซิมป์สันส์ แซงหน้าสถิติ เดอะฟลินต์สโตนส์ กับตอนที่ชื่อว่า "The Itchy & Scratchy & Poochie Show" ในสถิติ รายการซีรีส์แอนิเมชันในช่วงไพรม์ไทม์ที่ยาวนานที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2004 เดอะซิมป์สันส์ ยังแซงหน้า ดิแอดเวนเจอร์สออฟออซซีแอนด์อาร์เรียต (ค.ศ. 1952 ถึง 1966) ในสถิติรายการซิตคอม (ประเภทแอนิเมชันหรือไลฟ์แอกชัน) ที่ฉายยาวนานที่สุดในสหรัฐอเมริกา[6] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 สกูบี-ดู แซงหน้า เดอะซิมป์สันส์ ในฐานะรายการแอนิเมชันอเมริกันที่มีจำนวนตอนมากที่สุด[105] แต่อย่างไรก็ตามทางผู้สร้าง สกูบี-ดู ได้ออกมายกเลิกในการสร้างในเดือนเมษายน ค.ศ. 2005 หลังจากเสร็จสิ้นทั้งหมด 371 ตอน ส่วน เดอะซิมป์สันส์ มีจำนวน 378 ตอนของการสร้างในฤดูกาลที่ 17[7] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 เดอะซิมป์สันส์ มีจำนวน 400 ตอนในการจบของฤดูกาลที่ 18 ขณะที่ เดอะซิมป์สันส์ สร้างสถิติรายการแอนิเมชันอเมริกันที่มีจำนวนตอนมากที่สุด แต่ยังไม่ใช่สถิติของในโลกนี้[106] เพราะยังมีแอนิเมชันญี่ปุ่นเรื่อง Sazae-san ที่มีจำนวนตอนที่ 2,000 ตามที่อ้าง[106]
ในปี ค.ศ. 2007 เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีของ เดอะซิมป์สันส์ ซึ่งรายการซีรีส์ช่วงไพรมไทม์เรื่อง Gunsmoke ครบรอบ 20 ปีเช่นกัน (ในช่วงปี ค.ศ. 2008-2009) และมี 20 ฤดูกาลเช่นกัน แต่ Gunsmoke มีจำนวนตอนฉายมากกว่าที่ 635 ตอน ซึ่งถ้าถึงตอนที่ 635 แล้วเดอะซิมป์สันส์ จะอยู่ที่ฤดูกาลที่ 29 ตามตารางการฉาย[6]
คำวิจารณ์ใน เดอะซิมป์สันส์ ตอนใหม่ ๆ ได้ชมรายการไว้ว่า เหมือนจริงและดูเฉลียวฉลาด[11][107] ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โทนของเรื่องและการเน้นความสำคัญของเรื่องเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไป นักวิจารณ์บางคนเรียกว่า "น่าเบื่อ"[108] โดยปี ค.ศ. 2000 แฟนคลับที่ติดตามมานานหลายคนได้เลิกคลั่งไคล้ต่อไปโดยชี้ว่า เรื่องที่คนชื่นชอบมันเปลี่ยนไปที่คนดูรู้สึกว่า เป็นการแสดงกล ตลกโง่ ๆ มากเกินไป[109][110] นักเขียนที่ชื่อว่า ดักลาส คูปแลนด์ อธิบายเกี่ยวกับการถดถอยคุณภาพของซีรีส์ไว้ว่าเหมือน "อาหารหมู" และพูดว่า "เดอะซิมป์สันส์ ไม่ได้ทำตัวเงอะงะมา 14 ปี มันแทบจะไม่มีทางว่าจะเงอะงะเลย"[111] ไมค์ สกัลลี ที่เป็นตำแหน่งโชว์รันเนอร์ตั้งแต่ฤดูกาลที่ 9 ถึง 12 เป็นประเด็นของการวิจารณ์นี้[112][113] คริส ซูเอลเลนทรอปจาก นิตยสารสเลต เขียนไว้ว่า "ในช่วงการดำเนินงานของสกัลลี เดอะซิมป์สันส์ ดูดี ตอนต่างๆ ที่มักจบด้วยโฮเมอร์และมาร์จขี่จักรยานสู่ตะวันลับ ตอนนี้จบอย่างโฮเมอร์ระเบิดยาระงับประสาทใส่ที่คอมาร์จ โชว์ก็ยังคงตลก แต่มันก็ยังไม่น่าประทับใจมาหลายปี"[112]
ปี ค.ศ. 2003 ในการฉลองครบรอบ 300 ตอน ในตอนที่ชื่อว่า "Barting Over" ยูเอสเอทูเดย์พิมพ์บทความที่เกี่ยวข้องกับ เดอะซิมป์สันส์ ไว้เกี่ยวกับ 10 ตอนที่ถูกเลือกมาโดยเว็บมาสเตอร์ของเว็บแฟนไซต์ The Simpsons Archive[114] และ จัดที่สุด 15 อันดับโดย นักเขียนเอง[115] โดยตอนที่ติดอันดับของแฟน ๆ คือตอน "Homer's Phobia" ในปี ค.ศ. 1997 และตอนที่เลือกโดยนักเขียนคือตอน "Behind the Laughter" ในปี ค.ศ. 2000 และในปี ค.ศ. 2004 แฮร์รี เชียร์เรอร์ วิจารณ์ว่า เขารู้สึกถึงคุณภาพที่ลดถอยลงของ เดอะซิมป์สันส์ "ผมให้อันดับไว้ว่า 3 ฤดูกาลล่าสุดเป็นตอนที่เลวร้ายที่สุด และฤดูกาลที่ 4 ดูดีมากสำหรับผมตอนนี้"[116]
เดอะซิมป์สันส์ พยายามรักษาฐานคนดูและพยายามดึงดูแฟนใหม่ ๆ ขณะที่ในฤดูกาลแรกมีผู้ชมเฉลี่ย 13.4 ล้านคนต่อตอนในสหรัฐอเมริกา[14] ในฤดูกาลที่ 19 มีผู้ชมเฉลี่ย 7.7 ล้านคน[117] ในบทสัมภาษณ์ของแม็ตต์ โกรนิง ช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 2006 เขาพูดว่า "ผมไม่เห็นจุดจบของมัน ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ที่โชว์จะลำบากในการเงิน แต่ ณ เวลานี้ โชว์มีความสร้างสรรค์ ผมคิดว่ามันจะดีและดีกว่าที่เคยเป็น แอนิเมชันดูน่าเหลือเชื่อที่มีรายละเอียดและมีจินตนาการ และเนื้อเรื่องเราจะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน มันช่างสร้างสรรค์จนไม่มีเหตุผลที่จะเลิก"[118]
ความนิยมใน เดอะซิมป์สันส์ ทำให้เกิดรายได้ของสินค้ากว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ[19] ตัวละครครอบครัว เดอะซิมป์สันส์ และตัวละครประกอบ ปรากฏตั้งแต่เสื้อทีเชิร์ตไปถึงโปสเตอร์ ในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2007 มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า เครื่องเล่น ซิมป์สันไรด์ จะอยู่ในยูนิเวอร์ซัลสตูดิโอที่ออร์ลันโดและฮอลลีวูด จะเปิดในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 2008[119] เดอะซิมป์สันส์ ยังได้ออกสินค้าเกี่ยวกับเกม อย่าง คลู, สแครบเบิล, เกมเศรษฐี, โอเปเรชัน และ เดอะเกมออฟไลฟ์ เช่นเดียวกับเกมคำถาม What Would Homer Do? และ Jeopardy! และเกมจำพวกไพ่อย่าง ทรัมป์ และการ์ดสะสม ก็ออกวางขาย
สิ่งตีพิมพ์เกี่ยวกับ เดอะซิมป์สันส์ ก็มีออกมามากมายหลายปี อย่างเช่น หนังสือซีรีส์การ์ตูนพิมพ์โดยบองโกคอมิกส์ พิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993[120] หนังสือการ์ตูน เดอะซิมป์สันส์ และ บาร์ต ซิมป์สัน พิมพ์ใหม่อีกครั้งในสหราชอาณาจักรภายใต้ชื่อเดิม โดยมีเรื่องราวหลากหลายจากของการพิมพ์บองโกในการพิมพ์หลักการ์ตูนเรื่องซิมป์สันส์นี้ นอกจากนี้ยังมีแบบฟอร์มสำหรับนักสะสมพิมพ์ออกมาสำหรับเป็นแนวทางของ เดอะซิมป์สันส์ แสดงตอนและหนังสือที่ออกจำหน่าย
และยังมีของสะสมประเภทเพลงประกอบที่มีออกในรายการ ก็ออกขายเป็นอัลบั้มเพลง ที่ชื่ออัลบั้ม Songs in the Key of Springfield และ Go Simpsonic with The Simpsons มีหลายเพลงที่ตัดออกขายเป็นซิงเกิล หรือออกขายเป็นอัลบั้มที่ไม่ปรากฏบนรายการ ซิงเกิลที่โด่งดังที่สุดคือ "Do the Bartman" ที่ร่วมแต่งโดยไมเคิล แจ็กสัน[121] และประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ สามารถขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ทซิงเกิลของสหราชอาณาจักรเป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์[122] และยังได้รางวัลแผ่นเสียงทองคำจากบีพีเอ[123] ในสหราชอาณาจักร ซิงเกิล Deep, Deep Trouble" ออกขายตามหลังซิงเกิล "Do The Bartman" และยังมีออกผลงานอัลบั้มชุด The Simpsons Sing the Blues และ The Yellow Album ที่มีการนำเพลงเก่ามาทำใหม่และเพลงใหม่ ๆ
ในการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง The Simpsons Movie ร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น 12 สาขาได้แปลงโฉมให้เป็นร้าน Kwik-E-Mart และขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ เดอะซิมป์สันส์ เช่น "Buzz Cola", "Krusty-O" cereal, โดนัทสีชมพู และ "Squishees"[124]
ในปี 2007 มีการประกาศว่า เดอะซิมป์สันส์ไรด์ ยานขับเคลื่อนเปิดตัวที่ยูนิเวอร์ซัลสตูดิโอในฟลอริด้าและฮอลลีวูด และแทนที่ ยานเจาะเวลาหาอดีต ทั้งสองที่[125] ยานที่ยูนิเวอร์ซัลสตูดิโอในฟลอริด้า เปิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 2008 มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม[126] ส่วนที่ฮอลลีวูดเปิดเมื่อ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2008[127] ซึ่งยานพาหนะนี้ก็มีการแนะนำสวนสนุกที่ชื่อว่า "ครัสตีแลนด์" สร้างโดยครัสตีเดอะคลาวน์[128]
มีหลายตอนของ เดอะซิมป์สันส์ ที่วางออกขายในรูปแบบดีวีดีและวีเอชเอส มานานหลายปี โดยในฤดูกาลแรกวางขายเป็นดีวีดีในปี ค.ศ. 2001 และยังถือว่ามียอดขายดีที่สุดในหมวดดีวีดีรายการโทรทัศน์ในประวัติศาสตร์ แต่ต่อมาก็ถูกทำลายสถิติโดยฤดูกาลแรกของรายการ Chappelle's Show[129] โดยเฉพาะในฤดูกาลแรกถึงสิบ ออกวางเป็นดีวีดีในสหรัฐอเมริกา (โซน 1), ยุโรป (โซน 2) และ ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์/ละตินอเมริกา (โซน 4) และยังคาดว่าจะออกฤดูกาลอื่นตามมาในอนาคต[130]
ในอุตสาหกรรมวิดีโอเกมมีการดัดแปลงตัวละครและโลกของเมืองสปริงฟิลด์สู่เกม อย่างเช่น เกมในยุคอาร์เคตยุคแรก ๆ ของโคนามิที่ชื่อ The Simpsons (ค.ศ. 1991) และของค่ายแอกเคลม เอนเตอร์เทนเมนต์ที่ชื่อ The Simpsons: Bart vs. the Space Mutants (ค.ศ. 1991) ส่วนเกมสมัยใหม่รวมถึง The Simpsons Road Rage (ค.ศ. 2001) , The Simpsons Hit & Run (ค.ศ. 2003) และ The Simpsons Game (ค.ศ. 2007) และยังมีเกมพินบอลก็ถูกผลิตมาเช่นกัน ออกมาในช่วงฤดูกาลแรกและยังมีออกวางขายด้วย[131]
ทเวนตี้เซ็นจูรี่ฟ็อกซ์, กราซีฟิล์มสและฟิล์มโรมัน ร่วมสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันของ เดอะซิมป์สันส์ ออกฉายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 2007[132] ภาพยนตร์กำกับโดย เดวิด ซิลเวอร์แมนและเขียนบทโดยทีมงานเขียนของ เดอะซิมป์สันส์ รวมถึง แม็ตต์ โกรนิง, เจมส์ แอล. บรูกส์, อัล ฌอง, จอร์จ เมเยอร์, ไมค์ รีสส์, จอห์น สวาตซ์เวลเดอร์, จอน วิตติ, เดวิด เมอร์คิน , ไมค์ สกัลลี, แม็ตต์ เซลแมน และ เอียน แมกซ์โทน-เกรแฮม[132] การสร้างภาพยนตร์เกิดขึ้นต่อเนื่องไปพร้อมกับการเขียนซีรีส์ อย่างไรก็ตามก็มีคนพูดว่าภาพยนตร์ควรจะมีหลังจากที่ซีรีส์จบแล้ว[132] ได้มีการพูดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำภาพยนตร์ยาวนี้มาตั้งแต่ในฤดูกาลแรก ๆ ของการทำซีรีส์ เจมส์ แอล. บรูกส์ เป็นเจ้าของความคิดว่า ตอน "Kamp Krusty" เหมาะที่จะทำเป็นภาพยนตร์ แต่มันก็ยากที่จะขยายบทให้มีความยาวเพิ่มขึ้นเป็นภาพยนตร์[133] และด้วยความยากไม่ว่าจะเป็น เนื้อเรื่องที่เหมาะสมและทีมงานที่พร้อม ก็ทำให้โครงการนี้ช้าออกไป[118]
ภาพยนตร์มีรอบปฐมทัศน์ที่เมืองสปริงฟิลด์ เวอร์มอนต์[134] ทำรายได้รวมในสัปดาห์แรกที่ 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสหรัฐอเมริกา และขึ้นอันดับ 1 บนบ็อกซ์ออฟฟิส[135] และสร้างสถิติ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากรายการโทรทัศน์ที่มียอดฉายในสัปดาห์แรกมากที่สุด ชนะเรื่อง Mission Impossible II ไปได้[136] และยังเปิดตัวอันดับ 1 ในบ็อกซ์ออฟฟิสระดับนานาชาติอีกหลายประเทศ ด้วยยอด 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 71 ประเทศ รวมถึง 27.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสหราชอาณาจักร และถือเป็นภาพยนตร์ของค่ายฟ็อกซ์ที่เปิดตัวสูงที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศนี้[137] ในออสเตรเลียมียอดรายได้เปิดตัวที่ 13.2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่เปิดตัวมากที่สุดและเป็นยอดการเปิดตัวมากที่สุดของภาพยนตร์เป็นอันดับสามของประเทศ[138] นับถึงวันนี้ภาพยนตร์ทำรายได้รวม 526,622,545 ดอลลาร์สหรัฐ[139]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.