คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
อักษรธรรมล้านนา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
อักษรธรรมล้านนา เป็นอักษรสระประกอบ (Abugida) ในตระกูลอักษรพราหฺมี ซึ่งใช้สำหรับเขียน ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษาไทลื้อ และภาษาไทเขิน รวมไปถึงภาษาสำหรับพระพุทธศาสนาคือ ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต อักษรธรรมล้านนาแต่เดิมเรียกว่า ตัวธัมม์ หรือ ตั๋วธรรม (ᨲ᩠ᩅᩫᨵᨾ᩠ᨾ᩼ หรือ ᨲ᩠ᩅᩫᨵᩢᨾ᩠ᨾ᩼) โดย ตัว หรือ ตั๋ว หมายถึง อักษร ส่วน ธัมม์ หรือ ธรรม หมายถึง คัมภีร์ แต่ในประเทศไทย ปัจจุบันนิยมเรียกอย่างเป็นทางการว่า อักษรธรรมล้านนา และเรียกแบบลำลองว่า ตั๋วเมือง (ᨲ᩠ᩅᩫᨾᩮᩬᩥᨦ; ใช้คู่กับ คำเมือง ซึ่งเป็นชื่อเรียกภาษาพูด) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอักษรนี้อีกหลายอย่าง เช่น อักษรไทธรรม (Tai Tham script) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกในระบบคอมพิวเตอร์ หรือ อักษรไทลื้อเก่า ซึ่งใช้เรียกในเมืองสิบสองปันนา ประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนได้มีการประดิษฐ์อักษรแบบใหม่สำหรับภาษาไทลื้อ ซึ่งเรียกว่าอักษรไทลื้อใหม่
Remove ads
ในประเทศลาว และภาคอีสานของไทย อักษรธรรมล้านนาได้รับการดัดแปลงรูปแบบให้เข้ากับภาษาลาว นิยมเรียกอักษรรูปแบบนี้ว่า โตธรรมลาว หรือ โตธรรมอีสาน และใช้สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ส่วนอักษรธรรมล้านนาแบบดั้งเดิมนั้น ทางฝ่ายลาวจะนิยมเรียกว่า อักษรยวน หรือ อักษรโยน ซึ่งเป็นชื่อที่เชื่อมโยงกับอาณาจักรโยนกเชียงแสน ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณแห่งหนึ่งของชาวไทยวน (ชาวล้านนา)
ส่วนในรัฐฉาน ประเทศพม่า ชาวไทใหญ่เรียกอักษรชนิดนี้ว่า ลิ่กยวน หมายถึงอักษรของชาวไทยวน(ชาวล้านนา) ใช้เขียนเอกสารทางศาสนา
เนื่องจากนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลไทยตั้งแต่สมัยอดีต ทำให้ไม่มีการสอนอักษรธรรมล้านนาในระบบโรงเรียนอย่างเป็นทางการอีกต่อไป ส่งผลให้ผู้รู้อักษรธรรมล้านนาในไทยในปัจจุบันมักมีจำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของพระสงฆ์ นักวิชาการ ช่างศิลป์พื้นเมือง และหมอพื้นบ้าน เท่านั้น ไม่เป็นที่รับรู้ของบุคคลทั่วไปมากนัก อย่างไรก็ดี ในเมืองเชียงตุงและเขตรัฐฉานประเทศเมียนมาร์ ยังพบว่ามีการใช้อักษรธรรมล้านนาในชีวิตประจำวันอยู่อย่างแพร่หลาย
Remove ads
พยัญชนะ
สรุป
มุมมอง
อักษรธรรมล้านนามีพยัญชนะ 43 ตัว แบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ พยัญชนะในวรรค (ᨻ᩠ᨿᩢᨬ᩠ᨩᨶᨶᩲᩅᩢᨣ᩠ᨣ᩼), พยัญชนะอวรรค (ᨻ᩠ᨿᩢᨬ᩠ᨩᨶᩋᩅᩢᨣ᩠ᨣ᩼), และ พยัญชนะเพิ่ม โดยพยัญชนะในวรรคและพยัญชนะอวรรค เป็นกลุ่มอักขระที่วิวัฒนาการมาจากอักษรมอญโบราณซึ่งใช้สำหรับการเขียนภาษาบาลีและสันสกฤต ในทำนองเดียวกับอักษรเทวนาครี อักษรปัลลวะ และ อักษรพม่า พยัญชนะในวรรคจะแบ่งได้เป็น 5 วรรค (ᩅᩢᨣ᩠ᨣ᩼) คือ วรรค ᨠ (ก), วรรค ᨧ (จ), วรรค ᨭ (ฏ), วรรค ᨲ (ต), วรรค ᨷ (ป) ส่วนพยัญชนะเพิ่มนั้น เป็นพยัญชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นเพิ่มเติมสำหรับเขียนคำในภาษาตระกูลไท ซึ่งแต่เดิมจะไม่พบในภาษาบาลี อนึ่ง ในพจนานุกรม มักจัดเอาตัว ᩂ (ฤ) และ ᩄ (ฦ) เข้าไว้ในหมวดพยัญชนะด้วย โดยมีลำดับถัดมาจากอักษร ᩁ (ร) และ ᩃ (ล) ตามลำดับ แต่กระนั้น อักษรทั้งสองตัวนี้แท้จริงแล้วถือว่าเป็นอักขระแทนพยางค์ (syllabary) ไม่ใช่พยัญชนะแท้ นอกจากนี้อักษรธรรมล้านนายังมีพยัญชนะรูปพิเศษเช่น ᩕ- (ร ควบ) ᩔ (สฺส) ᨬ᩠ᨬ (ญฺญ) ᩓ (แล) เป็นต้น อีกด้วย
ตารางพยัญชนะ
อักษรธรรมล้านนามีพยัญชนะ 43 ตัว ได้แก่ พยัญชนะในวรรค 25 ตัว พยัญชนะอวรรค 10 ตัว และ พยัญชนะเพิ่ม 8 ตัว อย่างไรก็ดี อักษรไทยที่ปรากฏเป็นการปริวรรต (ถ่ายอักษร) เท่านั้น เสียงจริงของอักษรแสดงไว้ในสัทอักษร ซึ่งอาจจะออกเสียงต่างไปจากอักษรไทย
นอกจากนี้ ในทำนองเดียวกับอักษรมอญและเขมร อักษรธรรมล้านนายังมีพยัญชนะรูปตัวเชิง ซึ่งเป็นรูปของพยัญชนะที่ใส่ไว้ใต้พยัญชนะหรือสระ เรียกว่า หาง (ᩉᩣ᩠ᨦ) ตัวซ้อน (ᨲ᩠ᩅᩫᨪᩬ᩶ᩁ) ตัวห้อย (ᨲ᩠ᩅᩫᩉᩬ᩠ᨿ᩶) หรือ ตัวเสียบ (ᨲ᩠ᩅᩫᩈ᩠ᨿᨷ) พยัญชนะตัวเชิงใส่ไว้เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวสะกดหรือห้ามไม่ให้พยัญชนะตัวข่ม (อักษรที่อยู่ด้านบนของตัวเชิง) ออกเสียงอะ (ในกรณีที่เขียนภาษาบาลีสันสกฤต) เช่น ᨻᩩᨴ᩠ᨵ (พุทฺธ) จะอ่านเป็น ปุ๊ด-ทะ ไม่อ่านว่า ปุ๊ด-ต๊ะ-ทะ นอกจากนี้ ตัวเชิงของอักษร ᩅ (ว) ᨿ (ย) และ ᩋ (อ) ยังใช้เป็นรูปสระได้ด้วย ทั้งนี้ พยัญชนะในวรรคและอวรรคจะมีตัวเชิงทุกตัว และโดยทั่วไปก็มีลักษณะคล้ายเดิมกับพยัญชนะปกติ ยกเว้นบางตัวซึ่งเปลี่ยนรูปไป เช่น ตัวเชิงของ ᨮ (ฐ) ᨻ (พ) ᨷ (บ) ᨶ (น) ᨾ (ม) ᨿ (ย) ᩁ (ร) ᩋ (อ) อย่างไรก็ดี อักษรบางตัวเช่น ᩃ (ล) ᨷ (บ) ᩁ (ร) อาจจะมีรูปตัวเชิงมากกว่าหนึ่งแบบ ซึ่งตัวเชิงแต่ละแบบอาจมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกันในแต่ละปริบทหรือตามความนิยม ตัวอย่างเช่น รูป ◌᩠ᨷ จะใช้ในกรณีที่เป็นตัวสะกด ส่วนรูป ◌ᩝ จะใช้ในกรณีที่เป็นคำสะกดแบบพิเศษ เช่น ᨣᩴ᩵ᩝ (ก็บ่) ส่วนพยัญชนะเพิ่ม (ซึ่งแสดงในแถวตารางสีเหลือง) จะไม่มีรูปตัวเชิงแต่อย่างใดเนื่องจากประดิษฐ์ขึ้นภายหลัง อนึ่ง ในการป้อนอักขระอักษรธรรมด้วยระบบยูนิโคด จะสามารถแปลงพยัญชนะเป็นรูปตัวเชิงได้ด้วยการป้อนสัญลักษณ์ สะกด (รหัสอักขระ U1A60) (◌᩠) ซึ่งในขณะที่ป้อน จะปรากฏเป็นสัญลักษณ์กากบาทอยู่ใต้อักษร[4]
ในส่วนของมาตราตัวสะกด อักษรธรรมล้านนาก็มีแม่ตัวสะกดเช่นดียวกับอักษรไทย คือ แม่กก แม่กบ แม่กด แม่กง แม่กม แม่เกย และ แม่เกอว โดยนิยมเรียกว่า แม่กัก แม่กับ แม่กัด แม่กัง แม่กัม แม่กัย และ แม่กัว อย่างไรก็ดีจะมีความแตกต่างจากอักษรไทยเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น ตัว ᨫ (ฌ) ในอักษรธรรมล้านนาสามารถเป็นตัวสะกดในมาตราแม่กดได้ แต่กับอักษรไทยจะทำเช่นนี้ไม่ได้ อนึ่งอักษรธรรมล้านนาสามารถจัดหมวดหมู่ไตรยางศ์ได้ในทำนองเดียวกับอักษรไทยและอักษรลาว

ปริวรรตเป็นอักษรไทย : "วัดหม้อฅำทวง"
คำอ่าน : "วัดหม้อคำตวง"
- หมายเหตุ
- หากนำตัวอักษรนี้ไปเขียนบนตัวพยัญชนะอื่นๆ สามารถทำเป็นทัณฑฆาตได้ โดยจะเรียกตัวนี้ว่า ระห้าม

พยัญชนะกลุ่ม ห นำ
อักษรต่ำบางตัว ได้แก่ ᨦ (ง) ᨶ (น) ᨾ (ม) ᨿ (ย) ᨬ (ญ) ᩁ (ร) ᩃ (ล) ᩅ (ว) จะไม่มีคู่อักษรสูงสำหรับผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบ อักษรเหล่านี้เรียกว่าอักษรต่ำเดี่ยว ดังนั้นเพื่อให้สามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบ คู่อักษรสูงของอักษรเหล่านี้จะอยู่ในรูป ᩉ (ห) นำ โดยมีอักษรตัวตามอยู่ในรูปตัวเชิง ดังแสดงในตาราง โดยสำหรับอักษร ᨬ (ญ) จะนิยมใช้รูป ᩉ᩠ᨿ (หย) แทน[7]
- หมายเหตุ
พยัญชนะรูปพิเศษ
พยัญชนะควบ
อักษรธรรมล้านนามีพยัญชนะควบ 3 รูป คือ พยัญชนะควบตัวละ (ᩃ) พยัญชนะควบตัวระโรง (ᩕ) และ พยัญชนะควบตัววะ (ᩅ) โดยมีเพียงพยัญชนะควบตัววะเท่านั้นที่เป็นพยัญชนะควบแท้ ส่วนพยัญชนะควบตัวละ และควบตัวระโรง เป็นพยัญชนะควบไม่แท้ สาเหตุที่มีรูปพยัญชนะควบ 3 รูป (เหมือนภาษาไทย) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ได้เกิดการผันแปรของเสียงอ่านไปมากจนเหลือแต่เสียงควบ ว ที่ยังเป็นพยัญชนะควบแท้ ก็เนื่องด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นร่องรอยของเสียงพยัญชนะต้นควบกล้ำในภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิม (ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นภาษาล้านนา, ไทย ฯลฯ) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันในดินแดนล้านนาและไทยในช่วงเวลาก่อน พ.ศ. 2000 และคาบเกี่ยวกับช่วงต้นของการประดิษฐ์อักษรธรรม[8]
พยัญชนะต้นควบตัวละ
การเขียนพยัญชนะต้นควบตัวละ (ᩃ) จะใช้รูปตัวเชิงตัวละหน้อย (◌ᩖ) หรือรูปตัวละเสียบ (-᩠ᩃ) ซ้อนไว้ใต้พยัญชนะ อย่างไรก็ตาม ในภาษาล้านนาปัจจุบันนั้น พยัญชนะควบตัวละถือเป็นพยัญชนะควบไม่แท้ เพราะจะไม่ออกเสียงควบกล้ำ ล แต่อย่างใด โดยยังคงออกเสียงตามเสียงพยัญชนะต้นเช่นเดิม เสมือนไม่มีการควบ เช่น คำว่า ᨸᩖᩦ (ปลี) หรือ ᨸᩦ (ปี) ก็ล้วนแต่ออกเสียงว่า ปี๋ ทั้งคู่
พยัญชนะต้นควบระโรง (ระโฮง หรือ ระวง)
การควบตัวระโรงเป็นรูปที่พิเศษที่ใช้เขียนการควบกล้ำด้วยตัว ᩁ (ร) ในทำนองเดียวกับอักขรวิธีของอักษรขอมไทย และอักษรเขมร โดยระโรงจะเรียกได้หลายอย่าง ซึ่งจะเรียกว่า ระโฮง (ตามการอ่านแบบล้านนา) หรือ ระวง ก็ได้
พยัญชนะควบตัวระโรงถือเป็นพยัญชนะควบไม่แท้ การควบด้วยตัวระโรงนั้น แม้จะเทียบเคียงได้กับการควบพยัญชนะ ร ในภาษาไทย แต่ในภาษาล้านนานั้นไม่มีเสียง ร ดังนั้นการควบด้วยระโรงจึงไม่ใช่การควบเสียง ร อย่างที่ปรากฏในภาษาไทย ในทางตรงกันข้าม การควบด้วยระโรงจะมีกฎการผันเสียงโดยเฉพาะ สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่เกิดการผันเสียง และกลุ่มที่ไม่เกิดการผันเสียง และในบางกรณีอาจมีการเติมหน่วยเสียง ล เข้าไปแทรกในทำนองเดียวกับอักษรนำด้วย เช่น ᨴᩕᩣ᩠ᨿ (ทฺราย; หมายถึงทะลายมะพร้าว) อาจออกเสียงเป็น ทาย หรือ ทะลาย ก็ได้ (ไม่ออกเสียงว่า ซาย แบบภาษาไทย)
การเขียนคำยืมที่มาจากภาษาต่างประเทศ ที่มีเสียงควบ ร หรือ r ก็อาจอนุโลมให้ใช้การควบด้วยรูประโรงก็ได้ เช่น ฟรี หรือ free สามารถเขียนเป็น ᨼᩕᩦ โดยอาจออกเสียงเป็น ฟี หรือ ฟรี ตามการออกเสียงในภาษาดั้งเดิมก็ได้[9]
การควบระโรงแบบมีการผันเสียง
ในกรณีที่พยัญชนะต้นมีเสียงอโฆษะสิถิล ได้แก่ เสียง ก (ᨠ, ᨣ); ต (ᨲ, ᨴ); ป (ᨷ, ᨻ) การควบด้วยระโรงจะทำให้เกิดการผันเสียงเป็นเสียงอโฆษะธนิต ได้แก่ เสียง ค, ท, พ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในเอกสารโบราณอาจพบรูปที่มีการควบระโรงซ้ำซ้อนได้เช่นรูป ᨡᩕ (ขฺร) และ ᨹᩕ (ผฺร) หรือแม้แต่การควบ ปฺร ด้วยรูป ᨸᩕ อย่างไรก็ดี มักถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่ตรงกับหลักอักขรวิธี
การควบระโรงแบบไม่มีการผันเสียง
ในกรณีที่พยัญชนะต้นมีเสียงอื่นนอกจากเสียงอโฆษะสิถิล จะไม่มีการผันเสียงพยัญชนะ แต่มักจะนิยมเติมหน่วยเสียง ล เข้าไปในทำนองเดียวกับอักษรนำ เช่น ᩈᩕᩦ (สฺรี) อ่านว่า สะหลี เป็นต้น
พยัญชนะต้นควบตัววะ
พยัญชนะควบตัววะถือเป็นพยัญชนะควบแท้ เพียงหนึ่งเดียว
Remove ads
สระ
สรุป
มุมมอง
สระลอย
สระลอยคือรูปสระที่ออกเสียงได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องประสมกับพยัญชนะ สระลอยในอักษรธรรมล้านนามีใช้สำหรับเขียนภาษาบาลีสันสกฤตเป็นหลัก เว้นแต่รูปสระ ᩐᩣ (เอา) ซึ่งเป็นรูปสระพิเศษแทนคำว่า เอา ซึ่งเป็นคำภาษาตระกูลไท ไม่ใช้กับคำภาษาบาลีสันสกฤต[14]
สระจม
เป็นสระที่ไม่สามารถออกเสียงได้ด้วยตัวเอง ต้องนำไปผสมกับพยัญชนะก่อนจึงจะสามารถออกเสียงได้

สระพิเศษสำหรับภาษาสันสกฤต
อักษรธรรมล้านนานั้นแต่หนเดิมได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เขียนภาษาบาลีก่อนเป็นเบื้องแรก ดังนั้นจึงใช้เขียนภาษาบาลีได้อย่างราบรื่น แต่ทว่าการณ์มิได้เป็นเช่นนั้นสำหรับภาษาสันสกฤต เนื่องจากการใช้อักษรธรรมเขียนภาษาสันสกฤตนั้นได้เกิดขึ้นในสมัยหลัง และแม้โดยพื้นฐานแล้วภาษาสันสกฤตจะใกล้เคียงกับภาษาบาลีมาก แต่ก็มีเสียงสระที่เพิ่มขึ้นมาคือ สระไอ และ สระเอา เพื่อให้สามารถเขียนภาษาสันสกฤตได้ จึงมีการดัดแปลงไม้แก๋ (รูปสระแอ) สำหรับใช้แทนเสียง สระไอ และ สระเอา ในภาษาสันสกฤต ดังตารางด้านล่าง จากหลักฐานจะพบเพียงรูปสระจมของสระทั้งสองนี้เท่านั้น ไม่พบรูปสระลอย และรูปสระ ᩐᩣ ก็จะไม่นำไปใช้กับภาษาสันสฤต นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์รูปสระจมของตัว ฤ ขึ้นใช้สำหรับภาษาสันสกฤตด้วย โดยอักขระนี้อาจมีรูปลักษณ์คล้ายหางป๊ะ (◌ᩛ) หรือเขียนเป็นตัว ᩂ อยู่ใต้พยัญชนะ [15]
Remove ads
วรรณยุกต์
สรุป
มุมมอง
รูปวรรณยุกต์
อักษรธรรมล้านนามีรูปวรรณยุกต์หลัก ๆ คือไม้เหยาะ (ᨾᩱ᩶ᩀᩰᩬᩡ) และไม้ขอจ๊าง (ᨾᩱ᩶ᨡᩬᩴᨩ᩶ᩣ᩠ᨦ) ซึ่งเทียบเท่ากับไม้เอกและไม้โทของอักษรไทย โดยไม่มีรูปที่เทียบเท่าไม้ตรีและจัตวา ทำให้การผันเสียงวรรณยุกต์มีระบบที่แตกต่างจากภาษาไทยมาตรฐานค่อนข้างมาก เนื่องจากภาษาล้านนามีเสียงวรรณยุกต์ถึง 6 เสียง แต่ในการเขียน จะผันเสียงโดยใช้รูปวรรณยุกต์เพียงสองรูปเท่านั้น ขณะที่ภาษาไทยมาตรฐานมีเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง แต่ก็มีการประดิษฐ์รูปวรรณยุกต์ให้ใช้ได้ครบทุกเสียง อนึ่ง ในภาษาไทเขิน ก็ได้มีความพยายามในการประดิษฐ์รูปวรรณยุกต์เพิ่มเติมอีก 3 รูป คือ ไม้ก๋อเหนือ (ᨾᩱ᩶ᨠᩳᩉ᩠ᨶᩮᩬᩥᩋ) ไม้สองเหนือ (ᨾᩱ᩶ᩈᩬᨦᩉ᩠ᨶᩮᩬᩥᩋ) และไม้สามเหนือ (ᨾᩱ᩶ᩈᩣ᩠ᨾᩉ᩠ᨶᩮᩬᩥᩋ) สำหรับใช้กับกลุ่มอักษรกลาง ᩋ (อ) ᨷ (บ) ᨯ (ด) ᩀ (อย) อย่างไรก็ตาม รูปวรรณยุกต์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้ ยังจำกัดใช้เฉพาะในภาษาไทเขินแบบเชียงตุง ซึ่งมีการออกเสียงวรรณยุกต์ต่างจากภาษาล้านนาที่ใช้ในภาคเหนือของไทย ทั้งยังมีรูปแบบการใช้ที่สับสนและไม่เป็นระบบมากนัก จึงไม่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายนัก[17]
การผันวรรณยุกต์
คำเมืองสำเนียงเชียงใหม่มีวรรณยุกต์ 6 เสียง โดยพื้นฐานจะใกล้เคียงกับภาษาไทยมาตรฐานคือมีเสียง 5 เสียง ได้แก่ สามัญ เอก โท ตรี และ จัตตา แต่มีเสียงครึ่งโทครึ่งตรีเพิ่มมาอีกหนึ่งเสียง ซึ่งในวงวิชาการมักเรียกว่า เสียงโทพิเศษ วรรณยุกต์สำเนียงเชียงใหม่มีระดับเสียงที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับเสียงวรรณยุกต์ของภาษาไทยมาตรฐาน แต่สำเนียงในถิ่นอื่นอาจจะมีความแตกต่างไปจากภาษาไทยมาตรฐานได้มาก และอาจจะมีเสียงวรรณยุกต์มากถึง 8 เสียง
อักษรธรรมล้านนาแบ่งเป็นระบบไตรยางศ์สำหรับผันวรรณยุกต์ได้เช่นเดียวกับอักษรไทย แต่ก็มีความแตกต่างค่อนข้างมาก เนื่องจากอักษรธรรมมีรูปวรรณยุกต์เพียง 2 รูป คือ ไม้เหยาะ (เทียบเท่าไม้เอก) และ ไม้ขอจ๊าง (เทียบเท่าไม้โท) แต่ต้องผันเสียงถึง 6 เสียง อีกทั้งพยัญชนะหลายตัวก็ออกเสียงต่างจากอักษรไทย ดังนั้นในการผันวรรณยุกต์ดัวยอักษรธรรม จะเป็นการผันในลักษณะที่ผันอักษรต่ำคู่ไปกับอักษรสูงให้ครบ 6 เสียง และในส่วนของอักษรต่ำเดียว ก็จะมีรูป ᩉ (ห) นำ สำหรับเป็นคู่อักษรสูงเช่นเดียวกับอักษรไทย อย่างไรก็ดีเสียงพยัญชนะของอักษรธรรมจะต่างจากอักษรภาษาไทย เช่น รูป ᨠ (ก) กับ ᨣ (ค) มีเสียง ก เหมือนกัน และจะใช้ผันเป็นเสียง ก คู่กันจนครบ 6 เสียง คือ ᨣᩤ ᨠ᩵ᩣ ᨣ᩵ᩤ ᨠ᩶ᩣ ᨣ᩶ᩤ ᨠᩣ ดังนั้น คู่ของอักษรที่จะใช้ผันวรรณยุกต์คู่กันจะแตกต่างจากอักษรไทย ซึ่งจะได้แสดงไว้ในตารางข้างล่างนี้[21]
- Notes
อย่างไรก็ตาม อักษรกลาง ได้แก่ ᩋ (อ) ᨷ (บ) ᨯ (ด) ᩀ (อย) ไม่มีคู่สำหรับผันให้ครบ 6 เสียง ดังนั้นจึงอนุโลมให้รูปวรรณยุกต์เดียวใช้ผันได้หลายเสียง เช่น ᩋᩩ᩠ᨿ (อุย) สามารถออกเสียงเป็น อุย หรือ อุ๋ย ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริบท อนึ่งในภาษาไทเขิน ได้มีการประดิษฐ์รูปวรรณยุกต์เพิ่มอีก 3 ตัวสำหรับอักษรกลาง คือ ไม้ก๋อเหนือ (᩷) ไม้สองเหนือ (᩸) และ ไม้สามเหนือ (᩹) เพื่อให้สามารถผันเสียงได้ครบ 6 เสียง แต่อย่างไรก็ดี วรรณยุกต์ที่ประดิษฐ์ใช้ใหม่นี้ไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย และการใช้ยังไม่เป็นระเบียบแบบแผนมากนัก เนื่องจากภาษาไทเขินเองก็มีหลายสำเนียง และมีเสียงวรรณยุกต์ที่ต่างจากคำเมืองพอสมควร
การผันวรรณยุกต์ยังต้องคำนึงถึงมาตราตัวสะกด กับคำเป็นคำตาย อีกด้วย คำเป็น คือคำที่มีมาตราตัวสะกด แม่กม แม่กง แม่กน แม่เกย เแม่กอว และ แม่ ก กา (เฉพาะสระเสียงยาว) และ คำตาย คือ คำที่มีมาตราตัวสะกด แม่กก แม่กบ แม่กด และแม่ ก กา (เฉพาะสระเสียงสั้น) ซึ่งเมื่อรวมกับไตรยางศ์แล้ว ก็สามารถสร้างตารางการผันวรรณยุกต์แบบสมบูรณ์ได้ดังตารางข้างล่างนี้ โดยในแง่ของสัญลักษณ์แทนวรรณยุกต์ กำหนดให้ช่องสีเหลือง เป็นรูปไม้เหยาะ, ช่องสีส้ม เป็นรูปไม้ขอจ๊าง, และช่องสีฟ้า ไม่มีรูปวรรณยุกต์ นอกจากนี้ อักษรสูงกับอักษรต่ำจะเรียงแถวไว้คู่กันเพื่อให้เห็นลักษณะการผันแบบคู่อักษรสูงอักษรต่ำที่สลับกันไปมา
อนึ่ง ในส่วนของการผันคำตายนั้น มีลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะ และนักภาษาศาสตร์บางท่านก็อาจะถือว่าเป็นระบบการผันเสียงวรรณยุกต์ที่แยกออกอีกระบบต่างหาก
- Notes
Remove ads
ตัวเลข
อักษรธรรมมีตัวเลขสองชุด ชุดแรกคือ "เลขในธรรม" นิยมใช้กับงานเขียนเรื่องทางธรรมะหรืองานเขียนภาษาบาลี อีกชุดคือ "เลขโหรา" ซึ่งนิยมใช้ในงานเขียนเรื่องทางโลกย์ เช่น ตำราโหร เลขยันต์ วรรณกรรม ฯลฯ แต่เดิมนั้นจะใช้เป็นเลขในธรรมอย่างเดียว แต่เมื่ออาณาจักรล้านนาได้ถูกเป็นเมืองประเทศราชในอาณาจักรพม่า จึงทำให้ใช้เลขโหราเป็นเลขที่นิยมใช้โดยทั่วไป และเลขในธรรมก็จะเป็นเลขที่นิยมใช้ในเรื่องทางธรรมรวมถึงภาษาบาลี โดยเลขในธรรมจะมีลักษณะคล้ายตัวเลขลาว ส่วนเลขโหรามีลักษณะคล้ายกับตัวเลขพม่า
Remove ads
อักขระวิธีพิเศษ
อักขระวิธีพิเศษ คือการสะกดคำโดยใช้รูปพิเศษที่ไม่ตรงกับหลักอักขรวิธี โดยส่วนมากมักเป็นไปในลักษณะของการสะกดคำแบบย่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รูปตัวเชิงซึ่งไม่ตรงกับอักขรวิธีปกติ มักมีจุดประสงค์เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนคำที่ใช้บ่อย และมักจะพบคำประเภทนี้ได้ทั่วไปในงานเขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา ตัวอย่างที่พบบ่อยเช่นคำว่า ᨧᩢ᩠ᨠ (จัก) ซึ่งมักจะย่อเป็น ᨧᩢ (จั) ทั้งนี้ ในบางครั้งอาจมีการประดิษฐ์สัญลักษณ์พิเศษขึ้นมาแทนคำ เช่น สัญลักษณ์ ᪠ (เวียง) แทนคำว่า เวียง หรือ เมือง โดยตัวอย่างของอักขระวิธีพิเศษ จะแสดงไว้ในตารางดังนี้
Remove ads
ผังยูนิโคด
อักษรธรรมล้านนาได้รับการบรรจุลงในยูนิโคดตั้งแต่รุ่น 5.2 ดังนั้นจึงสามารถใช้อักษรธรรมล้านนาในคอมพิวเตอร์ได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยช่วงรหัสของอักษรอื่นดังเช่นที่เคยทำกันในอดีตอีกต่อไป
ผังยูนิโคดสำหรับอักษรธรรมล้านนาอยู่ในช่วง U+1A20–U+1AAF:
Tai Tham[1][2] Official Unicode Consortium code chart (PDF) | ||||||||||||||||
0 | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | A | B | C | D | E | F | |
U+1A2x | ᨠ | ᨡ | ᨢ | ᨣ | ᨤ | ᨥ | ᨦ | ᨧ | ᨨ | ᨩ | ᨪ | ᨫ | ᨬ | ᨭ | ᨮ | ᨯ |
U+1A3x | ᨰ | ᨱ | ᨲ | ᨳ | ᨴ | ᨵ | ᨶ | ᨷ | ᨸ | ᨹ | ᨺ | ᨻ | ᨼ | ᨽ | ᨾ | ᨿ |
U+1A4x | ᩀ | ᩁ | ᩂ | ᩃ | ᩄ | ᩅ | ᩆ | ᩇ | ᩈ | ᩉ | ᩊ | ᩋ | ᩌ | ᩍ | ᩎ | ᩏ |
U+1A5x | ᩐ | ᩑ | ᩒ | ᩓ | ᩔ | ᩕ | ᩖ | ᩗ | ᩘ | ᩙ | ᩚ | ᩛ | ᩜ | ᩝ | ᩞ | |
U+1A6x | ᩠ | ᩡ | ᩢ | ᩣ | ᩤ | ᩥ | ᩦ | ᩧ | ᩨ | ᩩ | ᩪ | ᩫ | ᩬ | ᩭ | ᩮ | ᩯ |
U+1A7x | ᩰ | ᩱ | ᩲ | ᩳ | ᩴ | ᩵ | ᩶ | ᩷ | ᩸ | ᩹ | ᩺ | ᩻ | ᩼ | ᩿ | ||
U+1A8x | ᪀ | ᪁ | ᪂ | ᪃ | ᪄ | ᪅ | ᪆ | ᪇ | ᪈ | ᪉ | ||||||
U+1A9x | ᪐ | ᪑ | ᪒ | ᪓ | ᪔ | ᪕ | ᪖ | ᪗ | ᪘ | ᪙ | ||||||
U+1AAx | ᪠ | ᪡ | ᪢ | ᪣ | ᪤ | ᪥ | ᪦ | ᪧ | ᪨ | ᪩ | ᪪ | ᪫ | ᪬ | ᪭ | ||
หมายเหตุ |
Remove ads
ฟอนต์
สรุป
มุมมอง

ในปัจจุบันนี้ โปรแกรมสำหรับทำงานเอกสารที่สำคัญเช่น ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ และไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ยังรองรับระบบการป้อนอักษรธรรมแบบยูนิโค้ดได้อย่างไม่สมบูรณ์[29] ทำให้เกิดการใช้งานฟอนต์อักษรธรรมแบบนอกระบบยูนิโคด (non-Unicode) อย่างแพร่หลาย ฟอนต์อักษรธรรมที่เผยแพร่โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็เป็นฟอนต์นอกระบบยูนิโคด ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการไม่รองรับของโปรแกรมต่าง ๆ ดั้งที่กล่าวมา และเพื่อให้ฟอนต์สามารถแสดงผลข้อความอักษรธรรมจากบันทึกโบราณได้ โดยบันทึกเหล่านี้มักประกอบด้วยอักษรพิเศษและสัญลักษณ์ที่ช่วงรหัสยูนิโคดของอักษรไทธรรม (Tai Tham) ยังไม่รองรับ [30][31] ฟอนต์อักษรธรรมนอกระบบยูนิโคดมักใช้ช่วงรหัสยูนิโคดของอักษรไทยและอักษรละตินประสมกันสำหรับแสดงผล เพื่อแก้ปัญหาการไม่รองรับอักษรธรรมในระบบไมโครซอฟท์ออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม ฟอนต์เหล่านี้อาจมีปัญหาในการแสดงผลบนเว็บเบราว์เซอร์หรือคอมพิวเตอร์ที่ไม่รองรับฟอนต์ดังกล่าว โดยอาจเกิดปัญหาการแสดงผลเป็นภาษาต่างดาวได้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาฟอนต์อักษรธรรมแบบยูนิโคดขึ้นอย่างแพร่หลายเพื่อใช้สำหรับแสดงผลบนเว็บไซต์และเพื่อการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน โดยฟอนต์ Noto Sans Tai Tham ซึ่งจัดทำโดยกูเกิล ได้กลายเป็นฟอนต์เริ่มต้นสำหรับแสดงผลอักษรธรรมในระบบแมคโอเอสและไอโอเอส[32] กระนั้น ฟอนต์ดังกล่าวในรุ่นปัจจุบันยังคงมีปัญหา กล่าวคือยังแสดงผลอักษรธรรมล้านนาได้ไม่ถูกต้อง และมีรูปทรงที่อ่านยาก
รายการฟอนต์อักษรธรรมที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว ได้จัดรวบรวมไว้ในตารางข้างล่างนี้
- หมายเหตุ
Remove ads
อ้างอิง
อ่านเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads