ออซิเยก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ออซิเยก (โครเอเชีย: Osijek; ฮังการี: Eszék; เยอรมัน: Esseg) คือเมืองใหญ่อันดับที่สี่ของประเทศโครเอเชีย ตั้งอยู่ในภูมิภาคทางทิศตะวันออกของโครเอเชียที่เรียกว่าสลาโวเนีย (โครเอเชีย: Slavonija; อังกฤษ: Slavonia) ใกล้กับชายแดนประเทศฮังการีและประเทศเซอร์เบีย มีแม่น้ำดราวาเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านเมือง ได้รับการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคสลาโวเนีย ด้านประวัติศาสตร์ออซิเยกมีอายุยืนยาวติดต่อกันมากว่า 800 ปี ผ่านการปกครองจากหลายอาณาจักรทั้งราชอาณาจักรฮังการี, อาณาจักรออตโตมัน, ฮับส์บูร์ก, ออสเตรีย-ฮังการี รวมถึง ยูโกสลาเวีย
ออซิเยก Grad Osijek | |
---|---|
City of Osijek | |
ทิวทัศน์ออซิเยกจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำดราวา | |
แผนที่ตำแหน่งของเทศมณฑลออซิเยก-บาราญาในโครเอเชีย | |
ขอบเขตเมืองออซิเยกภายในเทศมณฑลออซิเยก-บาราญา | |
พิกัด: 45°33′27.11″N 18°40′46.52″E | |
ประเทศ | โครเอเชีย |
เทศมณฑล | ออซิเยก-บาราญา |
ก่อตั้ง: | ค.ศ. 1196 |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | Ivan Vrkić |
พื้นที่ | |
• เขตเมือง | 169 ตร.กม. (65 ตร.ไมล์) |
ความสูง | 94 เมตร (308 ฟุต) |
ประชากร (การสำรวจประชากรปี ค.ศ. 2011) | |
• ตัวเมือง | 108,048 คน |
เขตเวลา | UTC+1 (CET) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC+2 (CEST) |
Postal code | 31000 |
รหัสพื้นที่ | (+385) 31 |
ป้ายทะเบียนรถยนต์ | OS |
เว็บไซต์ | http://www.osijek.hr/en/ |
ในช่วงทศวรรษที่ 90 ออซิเยกเป็นหนึ่งในเมืองซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุดในสงครามการประกาศอิสรภาพของโครเอเชีย ทำให้เมืองซึ่งเคยเฟื่องฟูในฐานะเมืองอุตสาหกรรมหลักแห่งนึงของรัฐโครเอเชียในสหพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียประสบกับปัญหาความซบเซาทางเศรษฐกิจ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
ปัจจุบันนี้ด้วยประชากรราวๆ 108,000 คน ออซิเยกจึงเป็นศูนย์กลางการปกครองของเขตออซิเยก-บาราญา เป็นที่ตั้งของสนามบินเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคสลาโวเนียตะวันออก มีความสำคัญในฐานะศูนย์รวมความเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา การคมนาคม และการท่องเที่ยว
พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองออซิเยกตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำดราวา ในระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตรจากจุดที่แม่น้ำดราวาไหลลงสู่แม่น้ำดานูบซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติแบ่งเขตแดนระหว่างโครเอเชียและเซอร์เบีย ในบริเวณนี้เป็นที่ราบมีน้ำท่วมถึงจึงทำให้แทบทุกปีช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน บางพื้นที่ของออซิเยกซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำดราวาซึ่งมีความสูงจากระดับแม่น้ำน้อยกว่าฝั่งขวาจะมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งจากน้ำที่เพิ่มขึ้นหลังหิมะละลายหรือมีฝนตกหนัก
ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ประกอบกับพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองถูกขนาบด้วยแม่น้ำใหญ่สองสาย ส่งผลให้ไม่ไกลจากออซิเยกนักมีพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติ โคปาชกี้ ริท (โครเอเชีย: Kopački Rit) ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าผสมบึงน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของกวาง หมูป่า เพียงพอน (Beech Marten สัตว์ประจำชาติของโครเอเชีย) สัตว์จำพวกนกและสัตว์น้ำหลายชนิด รวมถึงแมลง ทำให้ออซิเยกเองนั้นมีปัญหาเรื่องยุงจำนวนมากในช่วงฤดูร้อนซึ่งเปรียบเสมือนสัตว์สัญลักษณ์ประจำถิ่นไปแล้ว[1] ทางทิศใต้ของเมืองจะเป็นเขตทุ่งเกษตรกรรม
ออซิเยกนั้นถือว่าเป็นเมืองใหญ่ซึ่งมีปริมาณพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโครเอเชีย นอกจากถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่ธรรมชาติแล้วยังมีสวนสาธารณะในเมืองถึง 17 แห่ง[2]
ในบริเวณริมแม่น้ำดราวาอันเป็นที่ตั้งของเมืองออซิเยกนั้น ปรากฏหลักฐานมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาช้านานนับตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่ ทว่าครั้งแรกที่ได้มีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ถึงชุมนุมนั้นได้เกิดขึ้นในสมัยที่โรมันได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในแถบที่ราบแพนโนเนียน ชุมชนชาวอิลลีเรียน-เคลต์ซึ่งตั้งอยู่มาก่อนถูกรวมเข้าเป็นส่วนนึงของอาณาจักรโรมันและก่อตั้งเป็นเมืองในชื่อ มูร์ซา (อังกฤษ: Mursa) โดยปัจจุบันนี้ซากสิ่งก่อสร้างโบราณของมูร์ซาอยู่ในเขตดอนยิ กราด (โครเอเชีย: Donji Grad; อังกฤษ: Lower Town)[3][4] ห่างไปจากทเวอร์จา (โครเอเชีย: Tvrđa) หรือหมู่ป้อมปราการเก่าของออซิเยกทางปลายแม่น้ำดราวาทิศตะวันออก
ด้วยความสำคัญของตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเป็นจุดที่ข้ามลำน้ำดราวาได้ง่ายกว่าจุดอื่นๆ ทำให้มูร์ซาพัฒนาเป็นเมืองซึ่งมีความโดดเด่นในฐานะจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร การบริหารปกครองและการค้าขาย ในปี ค.ศ. 133 จักรพรรดิ์ฮาเดรียนแห่งโรมันได้มอบสถานะโคโลเนียอันหมายถึงชุมชมโรมันซึ่งมีความแข็งแกร่งใหญ่โตระดับสูงสุดให้กับมูร์ซา และต่อมาได้มีการก่อสร้างสะพานด้วยอิฐเพื่อข้ามแม่น้ำดราวาเป็นครั้งแรก จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า มูร์ซามีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญอันบ่งบอกถึงความเจริญอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นโรงอาบน้ำสาธารณะตามวัฒนธรรมโรมันหรือโรงละครกลางแจ้ง
ภายหลังยุคสมัยของจักรพรรดิ์ฮาเดรียน สถานะภาพของมูร์ซาก็ตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย มีทั้งการยึดอำนาจ การรบที่มีการสูญเสียเลือดเนื้อมหาศาลในบริเวณอาณาเขตของเมืองโดยเฉพาะ Battle of Mursa Major ในปี ค.ศ. 351 จนท้ายที่สุดเมื่อโรมันเริ่มเสื่อมอำนาจลง มูร์ซาก็ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มอนารยชนหลายกลุ่มซึ่งเข้ามารุกรานท้าทายอำนาจของโรมัน ในปี ค.ศ. 441 ถูกชาวฮันทำลายเมืองจนเสียหายหนัก ก่อนจะถูกรุกรานซ้ำโดยชาวอวาร์และถูกทำลายโดยสิ้นเชิงจากน้ำมือของชาวสลาฟที่เริ่มอพยพเข้ามาในคาบสมุทรบัลข่านช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-8[4]
ช่วงเวลาระหว่างการล่มสลายโดยสิ้นเชิงของเมืองมูร์ซาจนถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกของออซิเยก มีร่องรอยของการอยู่อาศัยของมนุษย์ในบริเวณอาณาเขตของเมืองแต่ยังไม่มีหลักฐานถึงการเป็นชุมชนที่ปักหลักถาวร ในปี ค.ศ. 1196 ได้มีการบันทึกกล่าวถึงชุมชนที่ชื่อออซิเยกเป็นครั้งแรกโดยเป็นการกล่าวถึงในสารของกษัตริย์เอเมริคแห่งราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งในเวลานั้นโครเอเชียมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีหลังจากการสิ้นราชวงศ์ของกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรโครเอเชียโบราณและได้มีการยอมรับกษัตริย์ของราชอาณาจักรฮังการีให้มาปกครองดินแดนโครเอเชียตั้งแต่ราวๆ ค.ศ. 1100 กล่าวถึงการอนุญาตให้นักบวชซิสเตอร์เชียนผู้มีอำนาจดูแลในแถบนี้สามารถเก็บภาษีการค้าและการขนส่งทางเรือได้[5] ในทุกวันนี้ทางเมืองออซิเยกได้ถือเอาปีที่บันทึกในสารนั้นเป็นปีของการก่อตั้งเมือง
แม้ว่าดินแดนบางส่วนของโครเอเชียโดยเฉพาะแถบซาเกร็บจะมีสิทธิ์ในการปกครองตัวเองบ้างด้วยการมีที่ประชุมสภา(อังกฤษ: Sabor)ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1273 การปกครองออซิเยกในระยะเวลานั้นอยู่ใต้อำนาจของตระกูลขุนนางจากฝั่งฮังการีเป็นหลักโดยเฉพาะตระกูล คอรอก(อังกฤษ: Korog)เป็นสายตระกูลขุนนางที่ปกครองเมืองยาวนานที่สุดตั้งแต่ ค.ศ. 1353 ถึง 1472 จวบจนทายาทคนสุดท้ายของตระกูลสิ้นชีวิตไปในช่วงสงครามกับฝ่ายอาณาจักรออตโตมัน
หลังการเปลี่ยนมือไปอยู่ใต้การปกครองของขุนนางตระกูลอื่น ออซิเยกยังคงอยู่ในอำนาจของราชอาณาจักรฮังการีที่กำลังระส่ำระสายจากความขัดแย้งภายในของการสืบทอดอำนาจราชวงศ์และการทำศึกกับออตโตมัน ในที่สุดหลังจากกษัตริย์หลุยส์ที่ 2 ของฮังการีสิ้นพระชนม์ไปจากศึกโมฮัทส์(อังกฤษ: Battle of Mohács)ในปี ค.ศ. 1526 หลังจากศึกนั้นทางอาณาจักรออตโตมันก็รุกคืบเข้ามายึดดินแดนของฮังการีเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็วและออซิเยกเองก็ตกไปอยู่ใต้เงื้อมมือของออตโตมันโดยสิ้นเชิง
แม้ว่าออซิเยกจะเปลี่ยนมือไปอยู่กับทางออตโตมันโดยแทบไม่มีการต่อสู้ กระนั้นทางออตโตมันก็ได้ดำเนินการทำลายเมืองอย่างกว้างขวางเพื่อกำจัดเอาสถาปัตยกรรมเดิมของเมืองออกไปและสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ในสถาปัตยกรรมตามอิทธิพลอิสลามและได้เปลี่ยนชื่อเรียกของเมืองเป็น โอสเซก(ตุรกี: Ösek) ในชั้นแรกโอซึเยกถูกรวมอยู่ใน ฺBudin Eyalet อันเป็นการแบ่งเขตปกครองใหม่ของอาณาจักรออตโตมันจากดินแดนซึ่งยึดมาได้จากทางฮังการี ก่อนในภายหลังจากมีการแบ่งเขตปกครองใหม่เมื่อทางออตโตมันยึดดินแดนได้เพิ่มขึ้น ภายหลังออซิเยกจึงถูกเอาไปรวมเข้ากับ Kanije eyalet ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ในแขวงย่อย Sanjak of Pojega(ตุรกี: Pojega Sancağı; โครเอเชีย: Požeški sandžak) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 แขวงย่อยในเขตทวีปยุโรปของอาณาจักรออตโตมันที่มีความเชี่ยวชาญทางอุตสาหกรรมการต่อเรือมากที่สุด
สิ่งก่อสร้างที่เชิดหน้าชูตาที่สุดของออซิเยกในระยะเวลาที่อยู่ใต้การปกครองของออตโตมันคือ สะพานสุลัยมาน(อังกฤษ: Suleiman Bridge; โครเอเชีย: Most Sulejmana I) เป็นสะพานไม้ความกว้าง 6 เมตร ยาวกว่า 7 กิโลเมตร สร้างขึ้นเชื่อมออซิเยกกับชุมชนดาร์ดา(อังกฤษ: Darda) ทางเหนือซึ่งต้องผ่านที่ลุ่มน้ำขัง สุลต่านสุลัยมานที่สองจึงได้มีพระดำริให้ก่อสร้างสะพานนี้ขึ้นเพื่อเป็นทางสัญจรใช้เคลื่อนย้ายกองทัพได้โดยสะดวกในประมาณปี ค.ศ. 1566 ต่อมามีความพยายามทำลายสะพานนี้หลายครั้งในช่วงสงครามระหว่างกองทัพยุโรปภายใต้การนำของออสเตรียและทัพของออตโตมัน จนในที่สุดสะพานก็ถูกเผาหมดสิ้นโดยฝ่ายออสเตรียในปี ค.ศ. 1686 ก่อนที่ออสเตรียจะเข้ามายึดครองออซิเยกในปีต่อมาและเริ่มยุคสมัยความเจริญของเมืองในวัฒนธรรมยุโรปอีกครั้ง
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีความพยายามจากประชากรของออซิเยกจำนวนหนึ่งซึ่งต้องการจะสร้างสะพานโดยจำลองจากสะพานสุลัยมานขึ้นมาใหม่ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า[6] และในวันก่อตั้งเมืองในปี ค.ศ. 2013 ทางเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศโครเอเชียได้มีการมอบ"ของขวัญ"ให้แก่ออซิเยกเป็นภาพพิมพ์ของสะพานสุลัยมานเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สลาโวเนียในเมืองอีกด้วย[7]
สถานภาพของออซิเยกในมือของอาณาจักรฮับส์บูร์กอยู่ในฐานะเป็นเมืองของออตโตมันที่ถูกทางออสเตรียยึดไปในสงครามออสโตร-ออตโตมันที่กินระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1683 จนถึง ค.ศ. 1699 เมื่อได้มีการเซ็นสนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์(อังกฤษ: Treaty of Karlowitz) ขึ้นที่เมืองเซเรมสกี้ คาร์ลอฟทซี(ปัจจุบันอยู่ในเขตวอยโวดีนาของเซอร์เบียใกล้กับนอวีซาด) ซึ่งคู่กรณีในสงครามทั้งสองฝ่ายได้ตกลงปักปันเขตแดนกันใหม่ ส่งผลให้ออตโตมันสูญเสียดินแดนแถบสลาโวเนียไปทั้งหมดให้แก่ทางออสเตรีย
ในชั้นแรกนั้น ทางออสเตรียได้สั่งให้ชาวเมืองออซิเยกอพยพออกจากใจกลางเมืองดั้งเดิมซึ่งตั้งอยู่สืบทอดมาตั้งแต่ก่อนการเมาของออตโตมัน โดยให้ประชากรแบ่งไปตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นสองจุดคือ กอร์นยิ กราด อยู่ห่างขึ้นไปทางต้นแม่น้ำดราวาเหนือตัวเมืองเดิมประมาณ 1.5 กิโลเมตร[8] และ ดอนยิ กราด อยู่ห่างไปทางปลายน้ำดราวา โดยทางออสเตรียได้สั่งให้ดำเนินการก่อสร้างทเวอร์จา ซึ่งเป็นป้อมปราการริมแม่น้ำดราวาใช้เป็นศูนย์กลางการปัญชาการทางทหารและการปกครองของเมืองเนื่องด้วยในระยะนั้นออซิเยกยังมีความเสี่ยงที่จะถูกออตโตมันรุกกลับเข้ามาโจมตีได้อีก
หลังจากตกไปอยู่ใต้การปกครองของออสเตรียโดยสิ้นเชิง ทางออสเตรียได้นำชาวเยอรมันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในออซิเยก ทำให้ช่วงเวลาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ออซิเยกมีชนเชื้อสายเยอรมันเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มหลักของเมือง
หลังจากสนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์ได้ยืนยันอำนาจของออสเตรียเหนือออซิเยกอย่างเป็นทางการ ทางออสเตรียก็ได้กำหนดให้ออซิเยกเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรสลาโวเนีย(อังกฤษ: Kingdom of Slavonia; โครเอเชีย: Kraljevina Slavonija) มีฐานะเป็นแคว้นถือเป็นส่วนหนึ่งของทั้งราชอาณาจักรโครเอเชียและอาณาจักรฮังการี(ซึ่งตอนนั้นก็ต่างถูกปกครองโดยอาณาจักรออสเตรียเป็นหลัก) ตั้งขึ้นจากดินแดนที่ได้รับมาจากการออตโตมันในช่วงสงครามออสโตร-ออตโตมัน แม้จะได้ชื่อว่าอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชียและฮังการี ทว่าในเวลานั้นออสเตรียเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองพัฒนาเมืองออซิเยกโดยแท้ ทำให้ออซิเยกได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆของภูมิภาคสลาโวเนียนับแต่บัดนั้น ในปี ค.ศ. 1786 ที่สุดแล้วชุมชนของออซิเยกทั้งสามส่วนในเวลานั้นคือ กอร์นยิ กราด ทเวอร์จา และ ดอนยิ กราดก็ได้รวมเข้ามาเป็นเมืองอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในปี ค.ศ. 1809 ออซิเยกได้รับสิทธิ์เป็น Free Royal City ทำให้เมืองมีอำนาจในการจัดการเรื่องการบริหารปกครองและพัฒนาเมืองได้เองโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากกษัตริย์ และในเวลานั้นออซิเยกมีฐานะเป็นถึงเมืองซึ่งมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ภายในดินแดนส่วนโครเอเชียทั้งหมด[8] ด้วยเหตุนั้นออซิเยกจึงมีชื่อเสียงในด้านเป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าขายและงานช่างฝีมือแขนงต่างๆ รวมถึงเริ่มมีการก่อตั้งอุตสาหกรรมขึ้นภายในเมืองเช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากเส้นไหมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774 และเริ่มเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมไปยังส่วนต่างๆของสลาโวเนียตะวันออกและบาราญา
ระหว่างการปฏิวัติปี ค.ศ. 1848-1849 ซึ่งทางฮังการีได้พยายามแยกตัวออกจากอาณาจักรฮับส์บูร์ก ราชอาณาจักรสลาโวเนียได้ตัดสินใจเข้าไปอยู่ฝ่ายเดียวกับทางราชอาณาจักรโครเอเชียซึ่งสนับสนุนฝั่งฮับส์บูร์กในการรบกับฝ่ายฮังการีซึ่งจะแยกตัวออก จนในที่สุดทางฝั่งฮังการีก็พ่ายแพ้ไม่สามารถแยกตัวออกไปได้และต่อมาเมื่อมีข้อตกลงออสเตรีย-ฮังการี ค.ศ. 1867อันเปลี่ยนแปลงให้อาณาจักรออสเตรียกลายเป็นออสเตรีย-ฮังการี ทางฝ่ายโครเอเชียก็ได้มีการเจรจากับทางฮังการีโดยยอมรับให้ฮังการีเข้ามาถือเอาดินแดนของราชอาณาจักรโครเอเชียและราชอาณาจักรสลาโวเนียเข้าเป็นดินแดนในปกครองโดยตรงของฮังการี ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นการสิ้นสุดการมีอยู่ของราชอาณาจักรเมื่อได้ถูกรวมเข้าเป็นราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนียในปี ค.ศ. 1868[9] หลังจากช่วงเวลานี้เองที่ซาเกร็บได้แซงหน้าออซิเยกขึ้นมาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากที่สุดของโครเอเชียในขณะที่ออซิเยกค่อยๆได้รับความสนใจในการพัฒนาเมืองน้อยลง กระนั้นก็ยังคงเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของภูมิภาคสลาโวเนียและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยเฉพาะช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการเปิดสาขาโรงละครแห่งชาติของโครเอเชียขึ้น และช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ยังถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของฝั่งโครเอเชียอีกด้วย
ทางรถไฟสายแรกได้เชื่อมมายังออซิเยกในปี ค.ศ. 1884 โดยใช้สำหรับเดินทางไปยังเมือง บีเยโลวาร์ ผ่าน นาซิทเซ่ และในปีเดียวกันนั้นออซิเยกได้เป็นเมืองแรกในเขตโครเอเชียซึ่งมีรถรางบริการวิ่งในเมือง
หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ออซิเยกซึ่งอยู่ในส่วนซึ่งแยกออกมาเป็นรัฐของชาวเซิร์บ โครแอท และสโลวีน(อังกฤษ: State of Serbs, Croats and Slovenes) ได้เข้ารวมกับราชอาณาจักรเซอร์เบียเพื่อก่อตั้งรัฐรวมของชาวสลาฟใต้โดยเฉพาะ ในขณะออซิเยกถือว่าเป็นเมืองหนึ่งซึ่งมีความพร้อมทางด้านอุตสาหกรรมอย่างสูง หากแต่การช่วงชิงความเป็นใหญ่กันระหว่างฝ่ายชาวโครแอทกับชาวเซิร์บซึ่งชาวเซิร์บยึดเอาอำนาจการปกครองส่วนใหญ่ของรัฐใหม่แห่งนี้ไปอยู่ในมือได้มากกว่า ทำให้ออซิเยกขาดการพัฒนาที่ต่อเนื่องต่างจากก่อนหน้าในสมัยอยู่ใต้การปกครองของออสเตรีย-ฮังการี และค่อยๆเริ่มต้นเข้าสู่ยุคที่ความสำคัญของเมืองเริ่มตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด
ในช่วงแรกนั้นออซิเยกถูกรวมไว้ในส่วนการแบ่งดินแดนปกครองย่อยร่วมกับดินแดนโครเอเชียส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ติดทะเลอาเดรียติก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1922 จึงได้มีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ภายในราชอาณาจักรชาวเซิร์บ โครแอท และสโลวีนขึ้นอีกครั้ง โดยออซิเยกได้แยกออกมาเป็นเมืองเอกของเขตปกครองย่อยซึ่งมีนามตามชื่อของเมืองคือ เขตปกครองย่อยออซิเยก (อังกฤษ: Osijek Oblast) แต่เพียง 7 ปี ก็มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตปกครองย่อยอีกครั้งโดยใช้ลุ่มแม่น้ำใหญ่ของแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนดเขต ครานี้ออซิเยกถูกจัดให้ไปอยู่ในเขตปกครองย่อยซาวา(อังกฤษ: Sava Banovina)
ในปี ค.ศ. 1941 เจ้าชายพอล ผู้สำเร็จราชการแทนมกุฏราชกุมารปีเตอร์ซึ่งยังทรงพระเยาว์เกินกว่าจะปกครองราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ถูกทางนาซีเยอรมันบีบบังคับให้ต้องลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2หลังจากวางตัวเป็นกลางมาตลอด ทว่าในสัปดาห์ต่อมาเจ้าชายพอลก็ถูกปฏิวัติโค่นอำนาจในกรุงเบลเกรดและมกุฏราชกุมารปีเตอร์ก็ได้รับการเชิญขึ้นเป็นผู้ปกครองราชอาณาจักรแทนและถือเป็นการฉีกสัญญาพันธมิตรที่ทำไว้กับฝ่ายอักษะ ฝ่ายอักษะจึงเริ่มการโจมตียูโกสลาเวียในวันที่ 6 เมษายน ปี ค.ศ. 1941 ก่อนที่กองกำลังของนาซีเยอรมันจะเข้ามายึดเมืองออซิเยกได้ในวันที่ 11 เมษายน[10]
หลังเข้ายึดครองยูโกสลาเวียได้สำเร็จ ทางนาซีเยอรมันได้ให้การสนับสนุนกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงชาวโครเอเชียในนาม อุสตาสชา (อังกฤษ: Ustasha; โครเอเชีย: Ustaša) ขึ้นมาเป็นรัฐบาลปกครองรัฐหุ่นเชิดโครเอเชียซึ่งแยกออกมาจากยูโกสลาเวียและอยู่ใต้อำนาจของนาซี ต่อมาได้มีการแบ่งสรรพื้นที่ของยูโกสลาเวียในหมู่พันธมิตรฝ่ายอักษะกันและทางเหนือของเมืองออซิเยกที่เป็นฝั่งซ้ายแม่น้ำดราวาได้ถูกส่งให้ไปอยู่ในความดูแลของฮังการี ทำให้ออซิเยกกลายสภาพเป็นเมืองชายแดนระหว่างรัฐอิสระโครเอเชียใต้อำนาจของนาซีกับประเทศฮังการีในยามนั้น โดยชาวเมืองเชื้อสายเยอรมันได้ให้การสนับสนุนฝ่ายนาซีอย่างเต็มตัว ชุมชนชาวยิวในออซิเยกที่ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีจำนวนชาวยิวถึง 2,584 คน[11] ได้ถูกกวาดล้างอย่างสิ้นเชิง โบสถ์ยิวของเมืองถูกทำลาย ชาวยิวในออซิเยกถูกส่งออกไปที่ค่ายยาเซโนวัทส์ซึ่งเป็นค่ายสังหารที่ใหญ่ที่สุดในโครเอเชียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการกวาดล้างชาวเมืองนี้มิได้เกิดเฉพาะแก่ชาวยิวเพียงกลุ่มเดียว แม้แต่ชาวเมืองเชื้อสายโครแอทเองหากมีท่าทีต่อต้านฝ่ายอักษะหรือสนับสนุนกลุ่มปาร์ติซานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีของพรรคคอมมูนิสต์ยูโกสลาเวียก็จะถูกส่งไปยังค่ายกักกันเช่นกัน
ภายใต้ช่วงเวลานั้น โรงกลั่นน้ำมันของออซิเยกถูกมอบหมายหน้าที่ให้ทำการกลั่นน้ำมันผลิตเชื้อเพลิงให้แก่ฝ่ายอักษะ และในช่วงเดือนเมษายน-พฤศจิกายน ค.ศ. 1941 ในเมืองก็เป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการส่วนภูมิภาคของกองทหารชาวโครแอทที่ทำการสู้รบให้กับฝ่ายรัฐอิสระโครเอเชีย[12] อย่างไรก็ตามนั่นก็ทำให้ออซิเยกตกเป็นเป้าหมายในปฏิบัติการของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีทำลายแหล่งผลิตน้ำมันของฝ่ายนาซีเยอรมันในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1944 และในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1945 หลังจากสามารถรุกไล่รวบรวมพื้นที่ของยูโกสลาเวียคืนจากฝ่ายอักษะได้เรื่อยๆ วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1945 ออซิเยกก็ถูกกองกำลังปาร์ติซานของยูโกสลาเวียยึดได้ก่อนจะจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงไม่นาน
ประชากรของออซิเยกที่เป็นคนเชื้อสายเยอรมันส่วนมากจะหลบหนีออกไปพร้อมๆกับการถอนกำลังทหารของนาซีออกจากยูโกสลาเวียช่วงที่กำลังถูกปาร์ติซานรุกไล่เข้ามาในช่วงปลายสงคราม และบางส่วนที่ไม่หลบหนีออกไปก็ถูกยึดทรัพย์สินและถูกส่งไปเป็นนักโทษในค่ายใช้แรงงานในข้อหาให้ความร่วมมือกับนาซี ดังนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ได้ทำให้องค์ประกอบของประชากรในออซิเยกเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งชาวยิวและชนเชื้อสายเยอรมัน โดยปัจจุบันทั้งสองกลุ่มมีจำนวนเพียงไม่ถึง 1% ของประชากรในเมืองทั้งหมด
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทของออซิเยกในฐานะเมืองซึ่งมีความเฟื่องฟูทางวัฒนธรรมมายาวนานแทบจะถูกแทนที่ความสำคัญด้วยหน้าที่ของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว โดยอุตสาหกรรมหลักในเมืองยังคงเป็นโรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางเคมีภัณฑ์ โรงงานน้ำตาล เฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต่างๆ
โคปาชกี้ ริท ซึ่งเป็นป่าผสมบึงน้ำซึ่งอยู่ไม่ห่างออซิเยกมากนัก กลายเป็นสถานที่โปรดที่หนึ่งของจอมพลตีโตในการมาพักผ่อนล่าสัตว์ ทำให้ถูกจัดเป็นเขตคุ้มครองทางธรรมชาติแห่งแรกในภูมิภาคสลาโวเนีย
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของสลาโวเนียคือ Glas Slavonije ได้ย้ายมาตั้งสำนักงานใหญ่ในออซิเยกตั้งแต่ช่วงเวลานี้และปัจจุบันก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์จำหน่ายหลักๆในสลาโวเนีย
ช่วงยุค 1970-1980 ได้มีการพัฒนาสำคัญๆของเมือง ในปี ค.ศ. 1975 ได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยออซิเยกขึ้น โดยนับเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่สุดในจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมดในโครเอเชีย การก่อสร้างโรงแรมออซิเยกซึ่งเป็นโรงแรมที่หรูหราที่สุดของเมืองและเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดของเมืองรองจากโบสถ์เซนต์ปีเตอร์และพอลในปี ค.ศ. 1978 ต่อมาสถานีโทรทัศน์หลักของยูโกสลาเวียในเวลานั้นก็ได้มาเปิดสาขาภูมิภาคที่ออซิเยกซึ่งทุกวันนี้สืบทอดต่อมาเป็น HR Osijek (สถานีภูมิภาคของ HRT หรือสถานีวิทยุและโทรทัศน์หลักของโครเอเชียในปัจจุบัน) การสร้างและเปิดให้บริการสนามบินออซิเยกซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไป 20 กิโลเมตร และ การสร้างสะพานคนเดินเท้าข้ามแม่น้ำดราวาซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของเมืองจนถึงทุกวันนี้
หลังการถึงแก่อสัญกรรมของจอมพลตีโตในปี ค.ศ. 1980 สถานภาพทางการเมืองในยูโกสลาเวียเริ่มกลับมาตึงเครียดด้วยในแต่ละรัฐก็มีการเคลื่อนไหวทางแนวคิดชาตินิยมกันเพิ่มขึ้น ทางโครเอเชียและสโลเวเนียมีแนวโน้มที่จะแยกจนออกเป็นกลุ่มแรกๆด้วยไม่พอใจที่ทางเซอร์เบียพยายามจะดึงอำนาจไปอยู่ในมือตนมากเกินไป ในที่สุดช่วงปี ค.ศ. 1990 ทางโครเอเชียได้จัดการเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกหลังจากล้มเลิกการปกครองแบบคอมมูนิสต์ภายในประเทศ ซึ่งก็ได้ ฟรานโย ทุจมาน (อังกฤษ: Franjo Tudjman) ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของโครเอเชีย โดยทุจมานเคยมีประวัติถูกจับกุมในสมัยจอมพลตีโตยังปกครองยูโกสลาเวียอยู่ในฐานที่ร่วมดำเนินการเคลื่อนไหวทางชาตินิยมของคนเชื้อสายโครแอทในทศวรรษที่ 70 เมื่อได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี ทุจมานได้แสดงเจตจำนงอย่างเด่นชัดที่จะแยกโครเอเชียออกเป็นประเทศเอกราชจากสหพันธรัฐยูโกสลาเวีย
ท่าทีของทุจมานได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางเชื้อชาติระหว่างชาวโครแอทและชาวเซิร์บที่อาศัยอยู่ในโครเอเชียในเวลานั้นซึ่งมีมากถึงราวๆ 12% ของประชากรในโครเอเชียทั้งหมด ในแถบต่างๆซึ่งมีชาวเซิร์บอาศัยเป็นจำนวนมาก เริ่มมีการต่อต้านอำนาจจากรัฐบาลกลางของโครเอเชียรวมถึงทางตะวันออกของภูมิภาคสลาโวเนียด้วย ในออซิเยกเองซึ่งเวลานั้นมีประชากรในเมืองเป็นคนเชื้อสายเซิร์บถึงเกือบ 20% ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้จะไม่เกิดความรุนแรงโดยตรงภายในเมืองออซิเยกในช่วงก่อนการประกาศอิสรภาพของโครเอเชีย แต่ในชุมชมรอบๆบางที่นั้นได้เกิดการปะทะกันของชาวโครแอทกับชาวเซิร์บและเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1991 ก่อนโครเอเชียจะประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการ ได้มีผู้บัญชาการตำรวจของเมืองออซิเยกคือ โยซิป ไรห์ล-คีร์ (โครเอเชีย: Josip Reihl-Kir) ได้พยายามเป็นตัวกลางเจรจาให้ทั้งชาวโครแอทและชาวเซิร์บในชุมชนละแวกใกล้ๆเมืองออซิเยกหันมาเจรจากันโดยสันติแทนที่จะปะทะกันด้วยอาวุธ ทว่าความพยายามของไรห์ล-คีร์ก็ไม่บังเกิดผล เมื่อเขาถูกสังหารพร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของเมืองออซิเยกสองคนโดยชาวโครแอทติดอาวุธหัวรุนแรงซึ่งไม่ต้องการเจรจากับฝ่ายชาวเซิร์บ ในขณะรถยนต์ของพวกเขาติดด่านตรวจก่อนจะเข้าไปยังชุมชนเทนยาทางด้านใต้ของออซิเยกที่มีการนัดแนะให้ทั้งสองฝ่ายมาตกลงหยุดยิงกัน[13] หลังการเสียชีวิตของไรห์ล-คีร์ ผู้ซึ่งมีอำนาจในการดูแลความเรียบร้อยของเมืองออซิเยกซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาปีนั้นเริ่มเข้าสู่ภาวะสงครามคือ บรานิมีร์ กลาวาช (โครเอเชีย: Branimir Glavaš) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมโครแอทหัวรุนแรง
ในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1991 สองวันหลังประธานาธิบดีทุจมานประกาศให้โครเอเชียเป็นเอกราชจากยูโกสลาเวีย เหตุการณ์ที่เป็นการเริ่มเปิดฉากภาวะสงครามในออซิเยกได้เกิดขึ้น เมื่อได้มีการนำรถถังของหน่วยทหาร JNA (กองทัพร่วมของยูโกสลาเวีย) ออกมาวิ่งก่อความวุ่นวายข่มขวัญชาวเมืองบริเวณถนนเทอร์ปิมีร์กับถนนวูคอวาร์ ในเหตุการณ์นั้นไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีรถยนต์ได้รับความเสียหายและมีผู้บาดเจ็บบ้าง ขณะที่รถถังกำลังออกมาวิ่งบนถนนนั้น ได้มีทหารเชื้อสายโครแอทคนนึงตัดสินใจจอดรถของตนขวางรถถังกลางถนนซึ่งก็ถูกรถถังบดขยี้เสียหายไม่เหลือสภาพเดิม กระนั้นการแสดงออกนั้นก็ได้กลายเป็นภาพติดตาภาพหนึ่งของการต่อต้านการแสดงอำนาจทางทหารของกองทัพร่วมยูโกสลาเวียที่จะข่มขวัญชาวเมืองไม่ให้ลุกขึ้นมาสู้[14]
เมื่อไม่มีการสานต่อความพยายามของไรห์ล-คีร์ที่จะเจรจาอย่างสันติ ในที่สุดฝ่ายชาวเซิร์บซึ่งจับอาวุธขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลโครเอเชียได้ร่วมมือกับกองทัพร่วมยูโกสลาเวียซึ่งข้ามฝั่งมาให้การช่วยเหลือฝ่ายชาวเซิร์บในการต่อสู้กับฝั่งโครเอเชียโดยอ้างว่าทำเพื่อรักษาอธิปไตยของยูโกสลาเวียและปกป้องชาวเซิร์บซึ่งเป็นพลเมืองของยูโกสลาเวีย ด้วยความเสียเปรียบของฝ่ายชาวโครแอทซึ่งถูกกองทัพร่วมยูโกสลาเวียเรียกคืนอาวุธไปก่อนหน้าจะเกิดสงครามไปจากกองกำลังทหารของโครเอเชีย ทำให้ถูกระดมโจมตีพร้อมกันหลายพื้นที่และเสียดินแดนไปให้ฝ่ายชาวเซิร์บซึ่งยึดพื้นที่ไปและประกาศก่อตั้งรัฐชาวเซิร์บซึ่งไม่ขึ้นกับรัฐบาลโครเอเชีย เรียกกันว่า สาธารณรัฐเซอร์เบียน ครายินา (อังกฤษ: Republic of Serbian Krajina; เซอร์เบีย: Republika Srpska Krajina) และเป็นการเปิดทางให้กองพันทหารจากยูโกสลาเวียซึ่งมีฐานทัพอยู่ที่เมืองนอวีซาดรุกเข้ามาในฝั่งโครเอเชียได้โดยสะดวก
ในช่วงความตึงเครียดของสงครามถึงจุดสูงสุด ออซิเยกถูกล้อมโดยพื้นที่ของฝ่ายเซิร์บติดอาวุธตลอดแนวทิศเหนือ ตะวันออก และ ใต้ มีเพียงทิศตะวันตกเท่านั้นที่ยังเป็นเส้นทางใช้เดินทางติดต่อกันเมืองอื่นๆในโครเอเชียได้โดยผ่านทางรถไฟที่เชื่อมไปยังเมืองนาซิทเซ่ จากก่อนสงครามที่ประชากรในเมืองมีราวๆ 114,000 คน หลังจากเมืองถูกระดมโจมตีทั้งโดยรถถัง กระสุนปืนใหญ่ และแม้แต่ทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ ทำให้ประชากรในเมืองพากันอพยพหนีออกไปจนมีประชากรในระยะนั้นเหลืออยู่เพียง 1/3 และส่วนมากต้องหลบอยู่ในที่หลบภัยชั้นใต้ดินจากการถูกระดมยิงใส่ไม่เว้นวันตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนธันวาคมของปี ค.ศ. 1991 ผลจากการถูกโจมตีจากฝ่ายชาวเซิร์บติดอาวุธและกองทัพร่วมยูโกสลาเวียสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่เมืองและมีคนเสียชีวิตไปเกือบพันคน เมื่อขึ้นปี ค.ศ. 1992 ได้มีการตกลงสนธิสัญญาหยุดยิง Vance Plan ที่ทำให้การระดมโจมตีออซิเยกมีอัตราเบาบางลงแต่ก็มิได้หยุดโดยสิ้นเชิง ซึ่งหลังจากมีสนธิสัญญาหยุดยิงนี้ ทางสหประชาชาติก็ได้ทยอยส่งกองกำลังทหารต่างชาติเข้ามาดูแลความสงบไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันโดยตรงอีก และทั้งทางโครเอเชียและยูโกสลาเวียต่างก็เบนเข็มส่งกำลังพลไปรบในสงครามในบอสเนียแทนเสียเป็นส่วนใหญ่หลังจากมีข้อตกลงหยุดยิงนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายชาวโครแอทจะเป็นฝ่ายตั้งรับการรุกรานจากฝ่ายชาวเซิร์บติดอาวุธ แต่ในเวลานั้นเองที่กองกำลังชาวโครแอทที่ต่อสู้ป้องกันเมืองออซิเยกเองก็ได้มีการก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการคุมขังตัวพลเมืองเชื้อสายเซิร์บในเมืองออซิเยกก่อนจะทำการทารุณกรรมและสังหาร ในปี ค.ศ. 2008 ศาลโครเอเชียได้ตัดสินว่า บรานิมีร์ กลาวาช มีความผิดในฐานะสั่งการให้กระทำทารุณชาวเซิร์บซึ่งเป็นพลเมืองธรรมดาภายในเมืองออซิเยกในช่วงที่เป็นผู้บัญชาการกองทหารที่ป้องกันเมืองอยู่[15] [16] ปัจจุบันนี้กลาวาชถูกจำคุกอยู่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาหลังจากหลบหนีการจับกุมของทางโครเอเชียเข้าไปในบอสเนียซึ่งเขามีพาสปอร์ทถือสัญชาติร่วมกับสัญชาติโครเอเชียอยู่
แม้ว่าในช่วงซึ่งทางฝ่ายชาวเซิร์บและกองกำลังจากยูโกสลาเวียจะทวีการกดดันโจมตีถึงขั้นสูงสุดก่อนมีการตกลงหยุดยิงนั้น ฝ่ายกองกำลังชาวโครแอทจะสามารถป้องกันเมืองไว้ได้จนฝ่ายเซิร์บไม่สามารถบุกเข้ามาและยึดได้โดยสิ้นเชิงเช่นเมืองวูคอวาร์ที่อยู่ห่างออกไปราวๆ 30 กิโลเมตร ทำให้ออซิเยกได้รับสมญานามว่า ออซิเยก - เมืองซึ่งไม่พ่ายแพ้ (อังกฤษ: Osijek - Unconquered city; โครเอเชีย: Osijek - Nekoporeni Grad) กระนั้นบางส่วนของเมืองเช่น ย่านชุมชนเทนยาทางด้านใต้ และฝั่งซ้ายของแม่น้ำดราวาทางทิศเหนือของเมืองนั้นถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย ครายินา และไม่สามารถเอากลับมาได้ในตลอดช่วงที่เหลือของสงครามประกาศอิสรภาพของโครเอเชียจนกระทั่งจบสงครามโดยสิ้นเชิงในปี ค.ศ. 1995 แม้ว่าดินแดนเซอร์เบียนครายินาส่วนอื่นๆในโครเอเชียจะถูกกองกำลังทหารโครเอเชียบุกยึดกลับมาได้หมดในยุทธการพายุ (อังกฤษ: Operation Storm) ที่ปฏิบัติการในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1995 โดยเซอร์เบียน ครายินาเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในเขตสลาโวเนียตะวันออกนี้ได้กลายเป็น เขตปกครองสลาโวเนียตะวันออก บาราญา และ ซีร์เมียตะวันตก (อังกฤษ: Eastern Slavonia, Baranja and Western Syrmia; บอสเนีย-โครเอเชีย-มอนเตเนโกร-เซอร์เบีย: Istočna Slavonija, Baranja i Zapadni Srem) ซึ่งเป็นเขตปกครองที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสากลโลกและไม่ได้อยู่ในอำนาจของทั้งโครเอเชียและยูโกสลาเวียในยามนั้น ด้วยการเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยของสหประชาชาติ ทำให้ช่วงปี ค.ศ. 1995-1998 เขตปกครองนี้ได้อยู่ในความดูแลของสหประชาชาติและค่อยๆเจรจาเพื่อคืนดินแดนนี้ให้แก่ทางโครเอเชียโดยสันติ ในที่สุดดินแดนนี้ก็กลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชียในปี ค.ศ. 1998 หลังมีการเซ็นข้อตกลงเอร์ดุท (อังกฤษ: Erdut Agreement) ทว่าในระหว่างช่วงที่พื้นที่นี้อยู่ใต้ความควบคุมของกลุ่มชาวเซิร์บติดอาวุธ ประชากรเชื้อสายโครแอทส่วนมากหากไม่ถูกขับไล่ออกไปก็จะถูกสังหารไป ในทางกลับกัน ประชากรชาวเซิร์บของออซิเยกจากที่เคยมีเกือบ 20% ช่วงก่อนสงครามก็กลับลดจำนวนลงเหลือแค่ไม่ถึง 8% ในการสำรวจปี ค.ศ. 2001
ออซิเยกอยู่ห่างจากเมืองหลวงของโครเอเชียคือซาเกร็บราวๆ 280 กิโลเมตร แม้ว่าจะไม่ได้อยู่บนทางหลวงสายหลัก E70 ซึ่งเชื่อมต่อซาเกร็บกับเบลเกรด อดีตเมืองหลวงของยูโกสลาเวีย แต่ไม่ห่างจากตัวเมืองออซิเยกมากนักทางทิศตะวันตกนั้น มีทางหลวงสาย แพน-ยูโรเปี้ยนคอร์ริดอร์ European route E73 / A5 ซึ่งเชื่อมจากบูดาเปสต์ผ่านชายแดนฮังการีและโครเอเชียในแนวเหนือ-ใต้ โดยทางหลวงสาย E73 จะไปตัดกับทางหลวง E70 ซึ่งทอดตัวแนวตะวันตก-ตะวันออก ที่เมือง เวลิก้า โคปานิทซ่า ในแขวงโบรด-โปซาวิน่าซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแขวงออซิเยก-บาราญา ส่วนการเดินทางด้วยรถโดยสาร ออซิเยกมีเส้นทางของรถโดยสารจากซาเกร็บ หรือแม้กระทั่งรถโดยสารจากประเทศอื่นเช่น เซอร์เบีย
นอกจากการเดินทางทางถนนแล้ว ออซิเยกยังมีเครือข่ายทางรถไฟต่อเชื่อมกับสายรถไฟเส้นหลักไปยังเมืองอื่นๆของโครเอเชียรวมถึงสามารถเดินทางต่อยังไปฮังการีได้ด้วย โดยสถานีรถไฟของออซิเยกอยู่ไม่ห่างจากใจกลางเมืองและมีสถานีรถโดยสารหลักของเมืองอยู่เยื้องใกล้ๆกัน
ขณะเดียวกันนั้น การเดินทางไปยังออซิเยกสามารถใช้บริการจากสนามบินออซิเยก[17] (อังกฤษ: Osijek Airport; โครเอเชีย: Zračna luka Osijek) ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 20 กิโลเมตรในอาณาเขตรอยต่อระหว่างแขวงออซิเยก-บาราญา กับ แขวงวูคอวาร์-ซีร์เมีย โดยใกล้ๆสนามบินมีถนนสายหลักซึ่งเชื่อมเมืองออซิเยกกับเมืองวูคอวาร์ตัดผ่าน ปัจจุบันนี้ มีสายการบินเพียงสองสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินไปยังเมืองออซิเยก คือ Ryanair บินจากสนามบิน London Stansted Airport[18][19] และสายการบินภายในประเทศโครเอเชีย Trade Air บินจากสนามบินซาเกร็บ[20][21]
จุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของออซิเยกคือเป็นเพียงเมืองเดียวในโครเอเชียที่ยังมีระบบเดินรถรางภายในเมืองนอกเหนือจากกรุงซาเกร็บ โดยประวัติระบบรถรางของออซิเยกนั้นเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1884 ในชั้นแรกเป็นรถรางม้าลากใช้ขนส่งผู้คนจากสถานีรถไฟของออซิเยกมายังจตุรัสกลางเมืองและเป็นระบบเดินรถรางแห่งแรกของโครเอเชีย[22] ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรถรางขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าในปี ค.ศ. 1926 ทุกวันนี้ระบบเดินรถรางของออซิเยกประกอบไปด้วยเส้นทางรถรางสองสาย
เส้นทางรถรางสาย 1 นั้น จะเป็นสองรางคู่ขนานกันบนคนละฝั่งของถนน ทว่าเส้นทางรถรางสาย 2 ตั้งแต่กัทซกาเป็นต้นไป จะมีเพียงรางเดียว เมื่อรถรางจะวิ่งสวนกันก็ต้องมีคันหนึ่งหลบเข้ารางเสริมซึ่งมีเป็นระยะตามสถานีเพื่อหยุดรอให้คันที่สวนมาบนรางเดียวกันนั้นวิ่งผ่านไปก่อนจึงค่อยกลับมาวิ่งบนรางหลัก[23]
ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ 2014 ได้มีการเปิดใช้เส้นทางขยายเพิ่มเติมของรถรางสาย 1 โดยเป็นเส้นทางใหม่วิ่งไปทางตะวันตกของย่านวิชเนวัทส์ซึ่งเดิมเป็นสถานีปลายทางของรถรางสาย1 โดยมีการเปิดจุดจอดรถรางเพิ่มขึ้นอีก 5 จุด[24]
นอกจากรถรางแล้ว ระบบขนส่งมวลชนของออซิเยกส่วนใหญ่จะเป็นเส้นทางรถโดยสารในย่านที่รถรางวิ่งไปไม่ถึงหรือสำหรับเดินทางไปยังชุมชนอื่นภายนอก
ขอบเขตเมืองเก่าของออซิเยกนั้นโดยมากถูกสร้างขึ้นมาใหม่หลังจากการเข้ามาของฮับส์บูร์ก โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างอย่างแรกซึ่งสำคัญที่สุดเมื่อทางฮับส์บูรก์ยึดเมืองกลับมาจากทางอาณาจักรออตโตมันได้คือ ทเวอร์จา(โครเอเชีย: Tvrđa) หรือ หมู่ป้อมปราการริมแม่น้ำดราวาซึ่งสร้างขึ้นเป็นทั้งป้อมปราการทางการศึกและเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับงานด้านการทหารและการบริหารปกครองเมือง เริ่มทำการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1712 ในยุคที่การศึกระหว่างฮับส์บูร์กและออตโตมันยังคงไม่สงบดีและออซิเยกยังอยู่ในพื้นที่อันยังสามารถถูกออตโตมันคุกคามได้
อาคารส่วนมากของทเวอร์จาเป็นศิลปะแบบบาโรค ในใจกลางของหมู่อาคารเป็นลานกว้าง มีเสาอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าเมื่อสิ้นสุดการเกิดโรคระบาดในเมืองเมื่อปี ค.ศ. 1729[25] ส่วนกำแพงซึ่งเคยล้อมรอบป้อมปราการอย่างแน่นหนานั้นถูกทำลายลงในช่วงทศวรรษที่ 20 เพื่อเปิดทางให้มีการก่อสร้างพัฒนาเมืองได้ง่ายขึ้น(ปัจจุบัน ถนนยูโรเปียนอเวนิวที่ตัดผ่านใกล้ทเวอร์จาก็อยู่ในพื้นที่เคยเป็นแนวกำแพงมาก่อน) ในทุกวันนี้ทเวอร์จาเป็นจุดเรียกนักท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเมืองในฐานะเป็นหมู่ป้อมปราการสร้างในศิลปะแบบบาโรคซึ่งยังคงสภาพความสมบูรณ์ได้มากที่สุดในประเทศโครเอเชียและมีการพยายามผลักดันเพื่อให้ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกแม้ว่าช่วงสงครามโลกประอิสรภาพของโครเอเชียในช่วงปี ค.ศ. 1991-1995 จะได้รับความเสียหายพอสมควรและยังทำการบูรณะอยู่เรื่อยมา อาคารต่างๆที่เคยเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทหารในสมัยฮับส์บูร์กก็กลายเป็นร้านอาหาร สถานบันเทิงตอนกลางคืน พิพิธภัณฑ์ ที่ว่าการของเมือง รวมถึงอาคารอธิการบดีของมหาลัยวิทยาลัยออซิเยก
ในเวลาต่อมา สถาปัตยกรรมในออซิเยกซึ่งอยู่ในความปกครองสืบต่อมาจนถึงจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็เริ่มได้รับอิทธิพลการก่อสร้างอาคารในสไตล์เซเซสชั่นนิสม์(อังกฤษ: Secessionism) สถาปัตยกรรมแนวนี้จะกระจุกตัวกันอยู่ในย่านกอร์นยิ กราด เหนือขึ้นไปทางต้นแม่น้ำจากทเวอร์จาไปตามถนนยูโรเปียนอเวนิวจนถึงจตุรัสอันเต สตาร์เชวิชที่ถือเป็นจตุรัสใจกลางเมืองของออซิเยก สร้างในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 สิ่งก่อสร้างที่เป็นจุดเด่นคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันซึ่งสร้างในยุคสมัยนี้ประกอบไปด้วย โบสถ์เนตืปีเตอร์และพอล อาคารโรงละครแห่งชาติสาขาเมืองออซิเยก โรงภาพยนตร์คิโนยูราเนีย
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รูปแบบการก่อสร้างในเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นแนวคอมมูนิสต์ซึ่งไม่เน้นความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่อ่อนช้อยเช่นเดิม หากแต่สร้างในรูปแบบเรียบง่ายยึดประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ช่วงนี้เองที่เริ่มมีอาคารที่อยู่อาศัยแบบแฟลตเป็นบล็อกผุดขึ้นมาในบางย่าน โดยสถาปัตยกรรมแบบคอมมูนิสต์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สุดของเมืองคือตัวอาคารของโรงแรมออซิเยกริมฝั่งแม่น้ำดราวา และ สะพานคนเดินเท้าข้ามแม่น้ำดราวาซึ่งในอดีตเคยถูกขนานนามว่าสะพานแห่งความเยาว์วัยเพื่อเป็นเกียรติแก่จอมพลติโต นับแต่โครเอเชียได้รับอิสรภาพมา ก็เริ่มมีการสร้างอาคารในรูปลักษณ์ทันสมัยเช่น อาคารสำนักงานยูโรดอมที่เป็นอาคารทรงรีเลขาคณิต
ศาสนาสถานที่เด่นที่สุดคือโบสถ์เซนต์ปีเตอร์และพอล อยู่เยื้องจตุรัสกลางเมืองโดยสร้างจากดำริของมุขนายกโยซิป ยูราย สตรอสมาเยอร์ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในศิลปะแบบนีโอโกธิค สร้างจากอิฐและมีหอซึ่งสูงถึง 90 เมตร นับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโครเอเชียนอกเหนือจากตึกระฟ้าและยอดของมหาวิหารในกรุงซาเกร็บ ได้รับความเสียหายจากการระดมยิงจากฝ่ายชาวเซิร์บติดอาวุธในสงครามช่วงทศวรรษที่ 90 แม้สภาพภายนอกส่วนใหญ่จะดำเนินการบูรณะแล้วแต่ก็ยังมีบางส่วนยังคงต้องบูรณะเพิ่มเติมอยู่กระทั่งทุกวันนี้
นอกจากนั้นแล้ว ศาสนสถานในศาสนาคริสต์ที่สำคัญของเมืองคือโบสถ์เซนต์ไมเคิล และ โบสถ์ฟรานซิสกัน ตั้งอยู่ภายในทเวอร์จาทั้งคู่ โดยโบสถ์เซนต์ไมเคิลเป็นโบสถ์สีเหลืองในศิลปะแบบบาโรคมียอดโดมสูงขนานสองข้างของตัวอาคารสร้างโดยคณะเยซูอิท ส่วนโบสถ์ฟรานซิสกันนั้นเป็นโบสถ์สีขาวสร้างห่างออกมาจากโบสถ์เซนต์ไมเคิลมาทางตะวันออกห่างกันประมาณสามบล็อก
ออซิเยกเคยมีชุมชนชาวยิวที่ยั่งยืนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันแม้จะมีชาวยิวอาศัยอยู่เป็นจำนวนไม่มากนักแต่ก็ยังคงมีโบสถ์ยิวอยู่ในเขตกอร์นยิ กราด[26]
ภายในเขตทเวอร์จา มีพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองสองแห่งที่มีความสำคัญไม่ด้อยกว่ากัน แห่งแรกคือพิพิธภัณฑ์สลาโวเนีย(โครเอเชีย: Muzej Slavonije) ซึ่งรวบรวมประวัติความเป็นมาและการจัดแสดงสิ่งต่างๆที่เป็นวัฒนธรรมเฉพาะของภูมิภาคสลาโวเนียทั้งหมดไม่ใช่แค่ที่ขุดค้นพบในเมืองออซิเยกเท่านั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงทั่วไปไม่ใช่หัวข้อเฉพาะที่ใหญ่ที่สุดในโครเอเชียโดยเปิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877 ส่วนอีกแห่งนึงนั้นคือพิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีซึ่งจัดแสดดงโบราณวัตถุต่างๆที่ขุดค้นพบตั้งแต่มีการเริ่มอยู่อาศัยของมนุษย์ในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์
วันที่ถือกันว่าเป็นวันครบรอบการก่อตั้งของเมืองคือ วันที่ 2 ธันวาคมของทุกปี โดยเป็นวันที่อาณาเขตหลักของเมืองทั้งสามเขต(กอร์นยิ กราด ทเวอร์จา และ ดอนยิ กราด)ได้มารวมกันเป็นออซิเยกเพียงเมืองเดียวหลังจากอยู่แยกกันมาระยะหนึ่ง
วันที่ 6 กันยายนปี ค.ศ. 2014 ได้มีการจัดพาเหรดไพร์ดของบุคคลรักร่วมเพศและเพศที่สามขึ้นในออซิเยกเป็นครั้งแรก นับเป็นเมืองที่สามในโครเอเชียซึ่งจัดการเดินพาเพรดเช่นนี้ขึ้น(นอกจากกรุงซาเกร็บ และ สปลิท)และเป็นครั้งแรกที่งานสามารถผ่านพ้นไปโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง[27][28]
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา ทุกๆปีในช่วงเดือนมิถุนายน ออซิเยกจะจัดงานแสดงดนตรีที่เรียกกันว่า เออร์บัน เฟส ออซิเยก(อังกฤษ: Urban fest Osijek) หรือเรียกย่อๆว่ายูเอฟโอ(UFO) ที่เป็นงานเปิดโอกาสให้ศิลปินท้องถิ่นของโครเอเชียในงานเพลงแนวฮาร์ดร็อค เมทัล พังค์ ฮิปฮอป และอิเล็กโทรนิคแดนซ์ ได้แสดงสดเป็นระยะเวลาราวๆ 3 ถึง 5 วัน[29]
ออซิเยกมีโรงเรียนสอนทางดนตรีโดยเฉพาะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีการพยายามจัดตั้งโรงเรียนดนตรีขึ้นมาแต่ก็ดำเนินงานได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัวลงไป นักดนตรีคนสำคัญที่มีบ้านเกิดที่ออซิเยกคือ ฟรานโย เครซมา(อังกฤษ: Franjo Krezma) ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนักไวโอลินอัจฉริยะในยุคครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 หากแต่จบชีวิตก่อนเวลาอันควรด้วยวัยเพียง 19 ปีจากวัณโรค ในแต่ละปีจะมีการแสดงดนตรีเพื่อเป็นการสดุดีแก่เครซมาและนักดนตรีท้องถิ่นคนอื่น[30] ด้านดนตรีพื้นบ้าน ออซิเยกมีคณะการแสดงดนตรีและการเต้นพื้นบ้านของโครเอเชียสองคณะใหญ่ๆคือ HKUD Osijek1892 กับ HKUD Željezničar และในแต่ละปีจะมีการประกวดแข่งขันการเล่น Tambura ที่เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดแพร่หลายในแถบบัลข่าน
โรงละครแห่งชาติของโครเอเชียได้มาเปิดสาขาที่ออซิเยกตั้งแต่ ค.ศ. 1866 และจัดการแสดงมาจนถึงปัจจุบันนี้
ทีมกีฬาซึ่งได้รับความนิยมสูงที่สุดในเมืองคือ ทีมฟุตบอล เอ็นเค ออซิเยก(อังกฤษ: NK Osijek) เล่นอยู่ในลีกฟุตบอลอาชีพของโครเอเชีย ใช้สนามเหย้าคือ สนามกราดสกี้ เวิร์ท(อังกฤษ: Stadium Gradski vrt)
นอกจากฟุตบอล ในเมืองยังมีทีมกีฬาอื่นๆอีกหลากหลายเช่น วอลเลย์บอล แฮนด์บอล บาสเก็ตบอล อเมริกันฟุตบอลแบบสมัครเล่น โดยเฉพาะบาสเก็ตบอลมีทีมในเมืองราวๆ 3-4 ทีม แต่ตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2014 มา ออซิเยกได้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับทีมบาสเก็ตบอลระดับลีก A-1(ลีกบาสเก็ตบอลอาชีพสูงสุดของโครเอเชีย)จากชุมชนดาร์ดาซึ่งอยู่ใกล้เคียงและมีความไม่สะดวกเรื่องสนามการแข่งขัน จึงได้มาขอใช้สนามกีฬาในร่มของออซิเยกเป็นสนามเหย้าและได้ทำการย้ายฐานของทีมมายังออซิเยกแทนและเปลี่ยนชื่อทีมเป็น KK Vrijednosnice Osijek[31] นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ออซิเยกได้มีทีมบาสเก็ตบอลลงแข่งขันในลีกอาชีพระดับสูงสุดของโครเอเชีย
งานกีฬาประจำปีซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดของออซิเยกคือ แพนโนเนียน ชาเลนจ์(อังกฤษ: Pannonian Challenge) เป็นการแข่งขันกีฬาผาดโผนประเภท สเก็ตบอร์ด อินไลน์สเก็ต และ จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์รายการใหญ่ที่สุดในภูมิภาคบัลข่าน และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ออซิเยกได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันยิมนาสติกระดับนานาชาติในชื่อรายการ Grand prix Osijek โดยจัดการแข่งที่ กราดสกี้ เวิร์ท ฮอลล์ สนามกีฬาในร่มที่ใหญ่ที่สุดของเมือง สร้างขึ้นเพื่อรองรับการร่วมเป็นสนามเจ้าภาพของการแข่งขันแฮนด์บอลชิงแชมป์ยุโรปในปี ค.ศ. 2009
หมู่การ์ดเฮอร์วาทสกี้ โซโกล(โครเอเชีย: Hrvatski Sokol; อังกฤษ: Croatian Falcon) ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองออซิเยก แต่เดิมมาได้รับการจัดตั้งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเป็นจุดประสงค์ของสมาคม Sokol(สมาคมการรวมตัวทางชาตินิยมของชาวสลาฟในออสเตรีย-ฮังการี) เพื่อฝึกฝนชายหนุ่มสืบทอดธรรมเนียมหมู่ทหารเกียรติยศของชาวโครแอท หากแต่ช่วงหลังจากโครเอเชียเข้ามารวมอยู่ในรัฐยูโกสลาเวีย การจัดตั้งหมู่การ์ดก็ถูกยกเลิกไปเพราะถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางชาตินิยมของชาวโครแอทที่จะสร้างความแตกแยกในยูโกสลาเวียจนมามีการรื้อฟื้นอีกครั้งหลังจากโครเอเชียได้กลายเป็นประเทศเอกราช[32]
ในปัจจุบันนี้ เครื่องแบบของหมู่การ์ดโซโกลเมืองออซิเยกจะประกอบไปด้วยเสื้อยูนิฟอร์มสีน้ำเงินเฉดเดียวกับสีพื้นหลังตราเมือง สวมทับเสื้อเชิ้ตสีแดงสด กางเกงสีดำมีเงื่อนเชือกเหลืองทองประดับและบู้ทหนังสีดำสูงเสมอเข่า บนศีรษะสวมหมวกสีดำมีขนนกเหยี่ยวประดับที่ด้านหน้า หากเป็นหน้าหนาวจะมีเสื้อคลุมยาวสีน้ำเงินเช่นกันสวมทับอีกชั้น มักจะปรากฏในฐานะหมู่ทหารเกียรติยศเวลามีงานสำคัญต่างๆในเมือง เช่น วันครบรอบวันก่อตั้งเมือง วันวางพวงหรีดระลึกถึงผู้สูญเสียในสงครามประกาศอิสรภาพของโครเอเชีย งานทางวัฒนธรรม หรือกระทั่งเชิญธงชาติในการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติโครเอเชีย
ฮังการี Pécs ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972
สโลวีเนีย Maribor ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995
เยอรมนี Pforzheim ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994
โรมาเนีย Ploieşti ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996
บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา Tuzla ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996
สวิตเซอร์แลนด์ Lausanne ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997
สโลวาเกีย Nitra ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997
ฮังการี Budapest, XIII district ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001
เซอร์เบีย Subotica ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004
คอซอวอ Prizren ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010
อิตาลี Vicenza ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014
ดาวอร์ ซูเคอร์ (อดีตนักฟุตบอลทีมชาติโครเอเชีย)
ฟรานโย เครซมา (นักไวโอลินในคริสต์ศตวรรษที่ 19)
ลูโย สเวเซนสกี้ (นักไวโอลินในคริสต์ศตวรรษที่19-20)
ฟรานโย คูฮัทส์ (นักดนตรี นักประพันธ์เพลง และผู้ทำการศึกษารวบรวมเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านของโครเอเชีย)
โยซิป ยูราย สตรอสมาเยอร์ (มุขนายกแห่งมุขมณฑลจาโคโว-ออซิเยกและผู้มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองท้องถิ่นในคริสต์ศตวรรษที่19)
อีวาน เวอร์โดเลียก (โครเอเชีย: Ivan Vrdoljak) (รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของโครเอเชีย)[34]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.