สันนิบาตชาติ (อังกฤษ: League of Nations, LON;[1] ฝรั่งเศส: Société des Nations, SDN, SdN) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลทั่วโลกแห่งแรกที่มีภารกิจหลักในการปกป้องสันติภาพของโลก[2] ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1920 ภายหลังจากการประชุมสันติภาพปารีส ซึ่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ยุติลง ในปี ค.ศ. 1919 วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากบทบาทของเขาในฐานะผู้ก่อตั้งสันนิบาต
สันนิบาตชาติ League of Nations (อังกฤษ) Société des Nations (ฝรั่งเศส) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ธงกึ่งทางการใน ค.ศ. 1939 | |||||||||
แผนที่ประเทศสมาชิกสันนิบาต | |||||||||
สถานะ | องค์การระหว่างรัฐบาล | ||||||||
สำนักงานใหญ่ | เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ | ||||||||
ภาษาทางการ | อังกฤษ, ฝรั่งเศส | ||||||||
เลขาธิการ | |||||||||
• ค.ศ. 1920–1933 | Sir James Eric Drummond | ||||||||
• ค.ศ. 1933–1940 | Joseph Avenol | ||||||||
• ค.ศ. 1940–1946 | Seán Lester | ||||||||
รองเลขาธิการ | |||||||||
• ค.ศ. 1919–1923 | Jean Monnet | ||||||||
• ค.ศ. 1923–1933 | Joseph Avenol | ||||||||
• ค.ศ. 1937–1940 | Seán Lester | ||||||||
ก่อตั้ง | |||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | สมัยระหว่างสงคราม | ||||||||
10 มกราคม ค.ศ. 1920 | |||||||||
• ประชุมครั้งแรก | 16 มกราคม ค.ศ. 1920 | ||||||||
• ยุบ | 20 เมษายน ค.ศ. 1947 | ||||||||
|
เป้าหมายหลักขององค์กรนี้ ตามที่ได้ระบุไว้ในกติกาสัญญา รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามผ่านทางการรักษาความปลอดภัยโดยรวมและการลดอาวุธและการยุติข้อพิพาทระว่างประเทศผ่านทางการเจรจาและอนุญาโตตุลาการ[3] ประเด็นอื่น ๆ ในเรื่องนี้และสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สหภาพแรงงาน การปฏิบัติตัวต่อประชากรชาวพื้นเมือง การค้ามนุษย์และยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย การค้าขายอาวุธปืน สุขภาพทั่วโลก เชลยสงคราม และการปกป้องชนกลุ่มน้อยในยุโรป[4] กติกาสัญญาของสันนิบาตชาติลงนาม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นส่วนที่หนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซาย และมีผลใช้บังคับร่วมกับสนธิสัญญาอื่น ๆ เมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1920 การประชุมครั้งแรกของคณะมนตรีสันนิบาตเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1920 การประชุมครั้งแรกของสมัชชาสันนิบาตได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920
ปรัชญาด้านการทูตที่อยู่เบื้องหลังของสันนิบาตเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงรากฐานจากช่วงร้อยปีก่อนหน้านี้ สันนิบาตนั้นไม่มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตัวเองและขึ้นอยู่กับประเทศต่าง ๆ ในฝ่ายสัมพันธมิตรที่เป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของสภาบริหาร) เพื่อใช้บังคับในการลงมติ บทลงโทษด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือให้จัดตั้งกองทัพเมื่อมีความจำเป็น มหาอำนาจมักจะไม่เต็มใจที่จะกระทำเช่นนั้น บทลงโทษนั้นอาจจะไปทำร้ายต่อประเทศสมาชิกในสันนิบาต ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตาม ในช่วงสงครามอิตาลี-อะบิสซิเนียครั้งที่สอง เมื่อสันนิบาตได้กล่าวหาว่า ทหารอิตาลีได้กำหนดเป้าหมายโจมตีไปที่เต็นท์แพทย์ของหน่วยงานกาชาด เบนิโต มุสโสลินีได้ตอบไปว่า "สันนิบาตนี้ดีนักหนา เมื่อนกกระจอกส่งเสียงร้องเอะอะโวยวาย แต่คงไม่ดีทั้งหมดเลย เมื่อนกอินทรีได้หลุดออกไป"[5]
ด้วยองค์กรนี้ได้เติบโตขยายมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1934 ถึง 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 ได้มีสมาชิกถึง 58 สมาชิก ภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นและบางส่วนก็ประสบความล้มเหลวในปี ค.ศ. 1920 ในท้ายที่สุด สันนิบาตได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถขัดขวางความก้าวร้าวของฝ่ายอักษะในปี ค.ศ. 1930 ความน่าเชื่อถือขององค์กรได้ลดลงจากข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐอเมริกาไม่เคยเข้าร่วมสันนิบาตและสหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมในช่วงปลายปีและไม่นานก็ถูกขับไล่ในภายหลังจากได้เข้ารุกรานฟินแลนด์.[6][7][8][9] เยอรมนีได้ถอนตัวออกจากสันนิบาตเช่นเดียวกับญี่ปุ่น อิตาลี สเปน และอื่น ๆ การริเริ่มของสงครามโลกครั้งที่สองได้แสดงให้เห็นว่า สันนิบาตได้ประสบความล้มเหลวในเป้าหมายหลักนั่นคือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกในอนาคต สันนิบาติได้ดำรงอยู่ถึง 26 ปี สหประชาชาติ (UN) ได้เข้ามาแทนที่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และได้สืบทอดหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสันนิบาต
ที่มา
แนวความคิดของประชาคมนานาชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติมีมานานแล้ว ในปี ค.ศ. 1795 อิมมานูเอล คานต์ เสนอให้มีการก่อตั้งองค์การที่จะไกล่เกลี่ยของพิพาทและรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในงานเขียนของเขา Perpetual Peace: A Philosophical Sketch[10] โดยเขาย้ำว่าแนวทางนี้ไม่ใช่การให้มีรัฐบาลปกครองโลก แต่ให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเคารพพลเมืองของตน และต้อนรับชาวต่างประเทศในลักษณะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน สันติภาพระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้น[11]
ต่อมาเมื่อเกิดสงครามนโปเลียนในศตวรรษที่ 19 ก็มีความพยายามร่วมมือกันเพื่อให้ยุโรปมีความมั่นคงยิ่งขึ้น รวมทั้งได้เกิดอนุสัญญาเจนีวาขึ้นเพื่อมนุษยธรรมระหว่างสงคราม และอนุสัญญาเฮกซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ของสงครามและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ และในปี ค.ศ. 1889 นักรณรงค์สันติภาพได้ก่อตั้งสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) ขึ้นเพื่อสนับสนุนการเจรจาและการทูตในการแก้ไขข้อพิพาท[12]
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีกลุ่มอำนาจใหญ่สองกลุ่มในยุโรปที่ขัดแย้งกัน และเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมีทหารเสียชีวิต 8.5 ล้านนาย ผู้บาดเจ็บ 21 ล้านคน และพลเรือนเสียชีวิต 10 ล้านคน สงครามนี้ได้ส่งผลกระทบในทุกด้านของชีวิต และทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามทั่วโลก จนเกิดวลีเรียกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า "สงครามเพื่อที่จะหยุดสงครามทั้งหมด" และมีการสืบสวนถึงสาเหตุอย่างถี่ถ้วน ซึ่งพบว่าเกิดจาก การแข่งขันทางอาวุธ พันธมิตร การทูตลับ และเสรีภาพในการเข้าร่วมสงครามของรัฐต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงมีการเสนอให้มีองค์การระหว่างประเทศที่จะทำหน้าที่หยุดสงครามในอนาคตด้วยการลดอาวุธ การทูตอย่างเปิดเผย การตัดสินข้อพิพาท ความร่วมมือระหว่างชาติ การควบคุมสิทธิในการเข้าร่วมสงคราม และการลงโทษประเทศที่ทำผิดกฎ
บุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้สันนิบาตชาติเป็นความจริงขึ้นมาคือประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา การตั้งสันนิบาตชาติเป็นหนึ่งในหลักการสิบสี่ข้อของวิลสัน ซึ่งข้อ 14 ระบุว่า การรวมตัวกันของประชาชาติควรจะก่อตั้งขึ้นภายใต้พันธะที่แน่นอนเพื่อจุดประสงค์ที่สามารถให้ความช่วยเหลือกันได้กับทุกฝ่าย และให้การรับรองแก่รัฐที่มีขนาดเล็กกว่าเทียบเท่ากับตนเอง โดยการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นมา[13] โดยในระหว่างการประชุมสันติภาพที่ปารีส ซึ่งมีสามประเทศใหญ่ผู้ชนะสงครามเข้าร่วมคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แนวความคิดการก่อตั้งสันนิบาตชาติของวิลสันได้รับการยอมรับ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายส์
กติกาสันนิบาตชาติร่างขึ้นโดยคณะกรรมการพิเศษ โดยมี 44 ประเทศที่เซ็นยอมรับกติกานี้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ดีแม้วิลสันจะประสบผลสำเร็จในการผลักดันให้สันนิบาตชาติเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีเดียวกัน แต่รัฐสภาอเมริกากลับมีมติไม่ยอมให้ประเทศอเมริกาเข้าร่วมสันนิบาต เนื่องจากเกรงว่าจะมีข้อผูกมัดตามมา ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สันนิบาตล่มในเวลาต่อมา
สันนิบาตชาติเปิดประชุมคณะมนตรีหกวันหลังจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์มีผลใช้บังคับ ต่อมาสำนักงานใหญ่ย้ายไปกรุงเจนีวา และมีการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1920
ตราสัญลักษณ์
มีตราสัญลักษณ์กึ่งทางการเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งเป็นดาวห้าเหลี่ยมสองดวงในรูปห้าเหลี่ยมสีน้ำเงิน สื่อความหมายถึงทวีปในโลก 5 ทวีป และเผ่าพันธุ์ 5 เผ่า (ขาว เหลือง น้ำตาล ดำ แดง) ตามที่เชื่อกันในสมัยนั้น ด้านบนเป็นชื่อภาษาอังกฤษ (League of Nations) ส่วนด้านล่างเป็นภาษาฝรั่งเศส ("Société des Nations") [14]
โครงสร้าง
องค์กรที่สำคัญมี 3 องค์กรคือ:
- สมัชชา (Assembly) เป็นที่ประชุมใหญ่ขององค์การ ประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิกทั้งหมด มีหน้าที่พิจารณาปัญหาต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลก
- คณะมนตรี (Council) ทำหน้าที่ควบคุมสมัชชา ประกอบด้วยสมาชิกถาวร 4 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น และสมาชิกประเภทไม่ถาวรที่มาจากการเลือกตั้งอีก 4 ประเทศ ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของสมัชชา ทั้งนี้มติของคณะมนตรีซึ่งเป็นมติสูงสุด จะต้องเป็นฉันทามติเท่านั้นจึงสามารถใช้บังคับได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สันนิบาตล่มเมื่อญี่ปุ่นและอิตาลีกลับกลายเป็นผู้คุกคามสันติภาพเสียเองในเวลาต่อมา
- สำนักงานเลขาธิการ (Secretary-General) เลขาธิการที่ได้รับเลือกมีหน้าที่จัดทำรายงาน รักษาเอกสาร อำนวยการวิจัย และประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ
และมีหลายหน่วยงานและคณะกรรมการ (commission) อื่น ๆ อีก ซึ่งบางองค์การเมื่อยุบสันนิบาตชาติก็ได้ถ่ายโอนไปในสังกัดของสหประชาชาติ
- ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (ต่อมากลายเป็นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) ทำหน้าที่พิจารณาคดีและตัดสินข้อพิพาทระหว่างประเทศ
- องค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีผลงานโดดเด่นได้แก่ การรณรงค์ให้ทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน การรณรงค์คัดค้านแรงงานเด็ก และสนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในสถานที่ทำงาน
- องค์การอนามัย (ต่อมากลายเป็นองค์การอนามัยโลก) มีผลงานโดดเด่นทางด้านการต่อสู้โรคเรื้อน มาลาเรีย ไข้เหลือง และไข้รากสาดใหญ่
- คณะกรรมการทาส ทำหน้าที่ขจัดระบอบทาสและการบังคับขายประเวณี โดยเฉพาะในประเทศอาณานิคม
- คณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัย มีผลงานโดดเด่นคือการนำเชลยศึกสงคราม 427,000 คน จากประเทศรัสเซียส่งกลับประเทศดั้งเดิม 26 ประเทศ
- คณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงิน
- คณะกรรมการดูแลดินแดนใต้อาณัติสันนิบาต (ดูที่ดินแดนใต้อาณัติ)
- คณะกรรมการศึกษาสถานะทางกฎหมายของสตรี ต่อมากลายเป็นคณะกรรมการเพื่อสถานะของสตรี ในสหประชาชาติ
- คณะกรรมการการสื่อสารและคมนาคม มีผลงานจัดตั้งอนุสัญญาเพื่อควบคุมท่าเรือ น่านน้ำ และทางรถไฟ ระหว่างประเทศ
- คณะกรรมการเพื่อความร่วมมือทางปัญญา (ต่อมากลายเป็นองค์การยูเนสโก) ทำหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย การแลกเปลี่ยนวารสารและสิ่งตีพิมพ์ระหว่างประเทศ
รัฐสมาชิก
เมื่อเริ่มต้นมีรัฐสมาชิกร่วมก่อตั้งสันนิบาต 42 ประเทศ แต่มีเพียง 23 ประเทศเท่านั้นที่เป็นสมาชิกจนกระทั่งยุบสันนิบาตในปี ค.ศ. 1946 ซึ่งประเทศไทยรวมอยู่ในประเทศเหล่านี้ด้วย
สันนิบาตมีจำนวนรัฐสมาชิกมากที่สุดคือ 58 ประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1934-1935[15]
ดินแดนใต้อาณัติ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง ประเทศผู้แพ้ เช่น เยอรมนี และจักรวรรดิออตโตมันจำต้องสละอาณานิคมซึ่งเป็นบทลงโทษจากประเทศผู้ชนะสงคราม การประชุมสันติภาพที่ปารีสจึงได้ตกลงให้รัฐบาลต่าง ๆ บริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาต เรียกว่า ดินแดนใต้อาณัติ (mandate) ซึ่งอำนาจของสันนิบาตในการจัดการได้รับการรับรองจากมาตรา 22 ของกติกาสันนิบาตชาติ โดยมีคณะกรรมการจัดการดินแดนใต้อาณัติเป็นผู้ดูแล
ดินแดนใต้อาณัติแบ่งออกเป็นสามประเภท A B C ตามมาตรา 22
- A คือดินแดนที่เคยอยู่ในจักรวรรดิออตโตมันมาก่อน ที่ "ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ได้รับมอบอาณัติเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะสามารถปกครองตนเองได้"
- B คือดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของเยอรมนีมาก่อน ที่ "ต้อง[ได้รับการเข้ามาดูแล]เพื่อรักษาเสรีภาพทางมโนธรรมและศาสนา...และเพื่อยับยั้งการค้าทาส การค้าอาวุธ"
- C คือเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ที่ "สมควรที่สุดที่จะอยู่ใต้อาณัติ... เพื่อที่ชนพื้นเมืองจะได้รับการปกป้องดังที่กล่าวมาแล้ว[สำหรับ B]
ส่วนประเทศมหาอำนาจขณะนั้น 7 ประเทศได้ รับมอบอาณัติ (mandatory) คือมีอำนาจปกครองดินแดนใต้อาณัติของสันนิบาต ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สหพันธ์แอฟริกาใต้, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
ดินแดนใต้อาณัติทั้งหมดไม่ได้รับเอกราชจวบจนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ยกเว้นประเทศอิรักประเทศเดียวที่ได้รับเอกราชและเข้าร่วมสันนิบาตในปี ค.ศ. 1932 หลังจากสันนิบาตถูกยุบดินแดนใต้อาณัติเหล่านี้ถูกโอนไปให้สหประชาชาติดูแล เรียกว่า ดินแดนในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ (United Nations Trust Territories) และเป็นเอกราชทั้งหมดในปี ค.ศ. 1990
นอกจากดินแดนใต้อาณัติแล้ว สันนิบาตยังปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำซาร์เป็นเวลา 15 ปี ก่อนจะจัดให้มีประชามติ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เลือกที่จะกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี และยังปกครองเสรีนครดันท์ซิช (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์) ตั้งแต่ค.ศ. 1920 - 1939
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.