Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามตีเมืองทวาย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเกิดขึ้นสองครั้งได้แก่ ใน พ.ศ. 2331 และ พ.ศ. 2335 ในสงครามตีเมืองทวายครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2331 นั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาเมืองทวายเข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯทำให้สงครามตีเมืองทวายครั้งที่สองพ.ศ. 2335 ประสบความสำเร็จ ฝ่ายสยามครอบครองเมืองทวายได้เป็นเวลาประมาณหนึ่งปี จนกระทั่งในพ.ศ. 2336 พระเจ้าปดุงทรงส่งทัพพม่ามายึดเมืองทวายคืน ประกอบกับเมืองทวายกบฏขึ้นต่อการปกครองของสยาม ทำให้ฝ่ายพม่าสามารถยึดเมืองทวายคืนได้สำเร็จและฝ่ายสยามต้องถอยกลับในที่สุด
สงครามตีเมืองทวาย | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า–สยาม | |||||||
ขบวนทัพช้างกองทัพสยามเดินทัพไปตีเมืองทวายโดยใช้เส้นทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ภาพวาดโดย เหม เวชกร | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
พม่า | สยาม |
เมืองทวาย เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะนาวศรี (Tenassserim Coast) อยู่ในเขตตะนาวศรีของประเทศพม่าในปัจจุบัน ทวายมะริดและตะนาวศรีเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอิทธิพลของพม่าและสยามมาเป็นเวลายาวนาน ชาวเมืองทวายนั้นเป็น "ชนชาติทวาย" หรือเป็นชาวมอญ ในขณะที่เมืองตะนาวศรีนั้นเป็นชาวสยาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระอธิบายว่า "เมืองทวายซึ่งอยู่ต่อแดนมอญข้างเหนือเมืองตะนาวศรี ไพร่บ้านพลเมืองเปนทวายชาติหนึ่งต่างหาก การปกครองเคยตั้งทวายเปนเจ้าเมืองกรมการทั้งหมดจึงเปนแต่ขึ้นกรุงฯ เหมือนอย่างประเทศราชอันหนึ่ง ไม่สนิทนัก แต่ส่วนเมืองตะนาวศรีซี่งอยู่ใต้เมืองทวายลงมาต่อกับเมืองชุมพรนั้น ไพร่บ้านพลเมืองมีทั้งพวกเม็ง (มอญ) แลไทยปะปนกัน"[1] ปรากฏเมืองตะนาวศรีและเมืองทวายอยู่ในเมืองเจ้าพระยามหานครทั้งแปดเมืองซึ่งต้องถือน้ำพิพิฒน์สัตยาตามกฎมณเฑียรบาล และปรากฏเมืองตะนาวศรีในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาเมื่อการค้าทางอ่าวเบงกอลเจริญขึ้น มีเรือมาเทียบท่าที่ปากแม่น้ำตะนาวศรีนำไปสู่การกำเนิดเมืองมะริดขึ้น[1]
ในสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งพ.ศ. 2107 พระเจ้าบุเรงนองทรงได้เมืองทวายและตะนาวศรีไปครอบครองแก่พม่า สมเด็จพระนเรศวรฯทรงให้ทัพไปตีเมืองทวายและตะนาวศรีมาเป็นของสยามได้สำเร็จในพ.ศ. 2135 ต่อมาเมืองทวายตกกลับไปเป็นของพม่าในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม[1] จากนั้นเมืองทวายจึงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ส่วนเมืองมะริดและตะนาวศรีนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม เมืองมะริดเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญในการค้าขายทางอ่าวเบงกอลในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พลเมืองชาวเมืองมะริดนั้นประกอบไปด้วยหลากหลายเชื้อชาติได้แก่ "ชาวพม่า ชาวสยาม ชาวจีน ชาวอินเดีย ชาวมลายู และชาวยุโรป"[2]
ในช่วงปลายสมัยอยุธยา อาณาจักรพม่าราชวงศ์โก้นบอง (Konbaung dynasty) ซึ่งเพิ่งถือกำเนิดขึ้นต้องการสร้างอำนาจในพม่าตอนล่างอย่างมั่นคงเพื่อป้องกันไม่ให้หัวเมืองมอญเป็นกบฏขึ้นอีก[1] นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรพม่าและอาณาจักรอยุธยาในเรื่องอิทธิพลเหนือชาวมอญและหัวเมืองทางชายฝั่งตะนาวศรี ในพ.ศ. 2302 สงครามพระเจ้าอลองพญา ฝ่ายพม่าสามารถยึดเมืองมะริดตะนาวศรีและชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดไปได้สำเร็จ นับจากนั้นมาชาวฝั่งตะนาวศรีเมืองทวายมะริดและตะนาวศรีจึงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ในสงครามเก้าทัพพ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงทรงใช้เมืองทวายและเมืองมะริดเป็นฐานในการยกทัพเข้าโจมตีสยาม หลังจากที่สยามสามารถต้านการรุกรานของพม่าได้ในสงครามเก้าทัพและสงครามท่าดินแดง จึงกลับขึ้นเป็นฝ่ายรุกในแนวรบเทือกเขาตะนาวศรีทางภาคตะวันตกและเตรียมการเพื่อนำชายฝั่งตะนาวศรีกลับมาเป็นของสยามอีกครั้ง
สงครามตีเมืองทวายครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2330 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามเก้าทัพ | |||||||
เขียว หมายถึง เส้นทางเดินทัพของพม่า แดง หมายถึง เส้นทางเดินทัพของสยาม | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) | อาณาจักรรัตนโกสินทร์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระเจ้าปดุง แกงหวุ่นแมงยี แมงจันจา ทวายหวุ่น นัดมิแลง |
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก | ||||||
กำลัง | |||||||
มากกว่า 6,000 | 20,000 |
หลังจากที่ฝ่ายสยามสามารถต้านทานการรุกรานของพม่าได้ในสงครามเก้าทัพและสงครามท่าดินแดง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชดำริ[3]ที่ยกจัดทัพยกเข้าไปในดินแดนของพม่า แต่ใน พ.ศ. 2330 พระเจ้าปดุงส่งทัพมาปราบเมืองฝางได้ และตั้งทัพที่เมืองฝางเตรียมเข้ารุกรานลำปางต่อไป ธาปะระกามะนี (Abaya-Kamani) เจ้าเมืองเชียงแสน นำกองทัพเข้ามาสมทบที่เมืองฝางก่อนกลับเมืองเชียงแสน พระยาแพร่ชื่อมังไชยยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ธาปะระกามะนีหลบหนีไปเมืองเชียงราย พระยาเพชรเม็ง (น้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเมืองเชียงรายจับตัวธาปะระกามะนีส่งให้แก่พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง พระยากาวิละจึงนำทั้งธาปะระกามะนีเจ้าเมืองเชียงแสนและพระยาแพร่มังไชยส่งลงมาถวายที่กรุงเทพฯ[4] ธาปะระกามะนีให้การว่าฝ่ายพม่ากำลังเตรียมทัพเข้ารุกรานเมืองลำปางและหัวเมืองล้านนาอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นเหนือแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่และฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เป็นเมืองร้างมาตั้งแต่พ.ศ. 2319 เพื่อป้องกันทัพของพม่าที่จะมาจากเชียงแสน
ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้ายกไปโจมตีเมืองทวาย โดยยกทัพจากกาญจนบุรีเข้าโจมตีเมืองทวายโดยตรงผ่านทางด่านวังปอ (ทางตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางภูเขาสูงชัน ผ่านเมืองกะเลอ่าวง์ (Kaleinaung) หรือเมืองกลิอ่องแล้วเข้าเมืองทวาย กองกำลังฝ่ายไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 20,000 คน ประกอบด้วย;[5]
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพออกจากกรุงเทพฯทางชลมารค ในวันเสาร์เดือนยี่ขึ้นห้าค่ำ (12 มกราคม พ.ศ. 2331) เมื่อยกทัพเสด็จมาถึงยังท่าตะกั่ว ริมแม่น้ำแควน้อย จึงเสด็จยกทัพขึ้นบกตั้งทัพหลวงที่ท่าตะกั่ว และมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) และพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพหน้าจำนวน 10,000 คน ล่วงหน้าไปก่อนไปทางด่านวังปอ จากนั้นจึงเสด็จยกทัพหลวงตามไป
กองทัพพม่าที่ยกเข้ามารุกรานแหลมมลายูและภาคใต้ของไทยตั้งแต่สงครามเก้าทัพ ถึงพ.ศ. 2331 ยังคงปักหลักอยู่ที่เมืองทวาย[5] มีแม่ทัพใหญ่คือแกงหวุ่นแมงยี พระเจ้าปดุงทรงแต่งตั้งแมงจันจาให้มาเป็นเจ้าเมืองทวายคนใหม่ แทนที่เจ้าเมืองทวายคนเดิมชื่อว่าทวายหวุ่น เมื่อฝ่ายพม่าเมืองทวายทราบว่าฝ่ายไทยกำลังยกทัพข้ามมาทางด่านวังปอ แกงหวุ่นแมงยีจึงมีหนังสือไปทูลพระเจ้าปดุงเรื่องข่าวทัพไทย และมีคำสั่งให้จัดเตรียมทัพตั้งรับทัพไทย;
ทัพหน้าของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) และพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพข้ามผ่านเทือกเขาตะนาวศรี ให้พระยาสุรเสนาและพระยามหาอำมาตย์นำทัพหน้าจำนวน 5,000 คน ล่วงหน้าไปก่อน เข้าโจมตีทัพของนัดมิแลงที่ด่านวังปอในวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนสาม (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2331)[5] พระเสนานนท์นำทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตีฝ่ายพม่าก่อน พระเสนานนท์ถูกปืนของฝ่ายพม่าที่ขาซ้าย พระมหาอำมาตย์จึงยกทัพเข้าโจมตีฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าสามารถต้านทานได้พระยามหาอำมาตย์ถอยกลับออกมา พระยาสุรเสนาและพระยาสมบัติบาลถูกปืนของพม่าเสียชีวิตในที่รบ การรบที่ด่านวังปอกินเวลาร่วมสองสัปดาห์ จนกระทั่งเจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงยกทัพเข้าช่วยกองหน้าของพระยามหาอำมาตย์ในวันแรม 10 ค่ำ เดือนสาม นัดมิแลงแม่ทัพพม่าไม่สามารถต้านการฝ่ายไทยได้อีกต่อไปถึงพ่ายแพ้ถอยร่นไปยังเมืองกลิอ่อง เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงเข้ายึดด่านวังปอได้สำเร็จแล้วส่งม้าเร็วมากราบทูลฯ ที่ทัพหลวง
หลังจากยึดด่านวังปอได้แล้ว เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนายกทัพหน้าลงไปยังเมืองกลิอ่อง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงเสด็จยกทัพหลวงขึ้นตามไปยังด่านวังปอ เส้นทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรีที่ด่านวังปอเป็นเส้นทางที่สูงชันและกันดาร การยกทัพหลวงข้ามด่านวังปอเป็นไปด้วยความยากลำบาก จะทรงช้างที่นั่งขึ้นไปไม่ได้ ต้องผูกราวตามต้นไม้แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท[3][5]ยึดราวเหนี่ยวพระองค์ขึ้นไปแต่เช้าจนเที่ยงจึงถึงยอดเขา บรรดาช้างศึกต้องใช้งวงดึงตัวเองขึ้นเขาไป ช้างบางเชือกพลัดตกจากเขาพร้อมกับควาญช้างถึงแก่ความตาย อุปกรณ์สรรพาวุธต้องนำลงจากหลังช้างและใช้กำลังคนแบกขึ้นเขาไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงตรัสว่า "ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยาก พาลูกหลานมาได้ความลำบากยิ่งนัก"[5] การเสด็จนำทัพลงเขาอีกฝั่งหนึ่งนั้นก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนายกทัพลงไปจนถึงเมืองกลิอ่อง เมื่อทัพหลวงเสด็จถึงด่านวังปอแล้ว จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาเร่งโจมตียึดเมืองกลิอ่องให้ได้โดยเร็ว เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงยกทัพเข้าตีเมืองกลิอ่องในวันเสาร์ขึ้น 2 ค่ำ เดือนสี่ (8 มีนาคม พ.ศ. 2331) นำไปสู่การรบที่เมืองกลิอ่อง ทวายหวุ่นและนัดมิแลงซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองกลิอ่องออกสู้รบกับฝ่ายไทย การรบดำเนินตั้งแต่เช้าจนกลางคืน ทวายหวุ่นและนัดมิแลงไม่อาจต้านทานฝ่ายไทยได้อีกต่อไปจึงเปิดประตูเมืองด้านหลังถอยทัพกลับไปยังเมืองทวายในวันศุกร์แรมแปดค่ำเดือนสี่ (29 มีนาคม พ.ศ. 2331) เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงเข้ายึดเมืองกลิอ่องได้สำเร็จอีกเมืองหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนายกทัพไปโจมตีทัพของทวายหวุ่นที่ทุ่งระหว่างเมืองกลิอ่องและเมืองทวายให้แตกพ่ายในหนึ่งวัน ทวายหวุ่นได้ตั้งค่ายชักปีกกาไว้ก่อนแล้ว ฝ่ายพม่าปราชัยและถอยกลับเข้าไปยังเมืองทวาย แกงหวุ่นแมงยีและแมงจันจาเจ้าเมืองทวาย เกรงว่าชาวเมืองทวายจะกบฏหันไปเข้าไปฝ่ายไทย[3] จึงละทิ้งเมืองทวายไปตั้งทัพอยู่นอกเมืองให้ทัพฝ่ายไทยเข้ายึดเมืองทวายได้โดยง่าย ฝ่ายทัพของเจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาเข้าประชิดเมืองทวายวันที่แรม 9 ค่ำเดือนสี่ (30 มีนาคม พ.ศ. 2331) ไม่เห็นมีทหารพม่าขึ้นประจำการที่เชิงเทินป้อมปราการของเมือง เกรงว่าจะเป็นอุบายของฝ่ายพม่า[5]ที่ให้ฝ่ายไทยเข้ายึดเมืองทวายแล้วฝ่ายพม่าจึงล้อมเมืองทวายอีกทีหนึ่ง จึงยังไม่เข้ายึดเมืองทวายแต่ตั้งทัพอยู่นอกเมืองเช่นกัน ฝ่ายแกงหวุ่นแมงยีและแมงจันจาเห็นว่าฝ่ายไทยไม่เข้ายึดเมืองทวายและชาวเมืองทวายยังไม่ไปเข้าพวกฝ่ายไทย จึงยกทัพกลับเข้ารักษาเมืองทวายอีกครั้ง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพจากด่านวังปอผ่านเมืองกลิอ่องเข้าประชิดเมืองทวาย ทรงตั้งค่ายห่างจากทัพหน้าของเจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาประมาณ 50 เส้น[5] แล้วมีพระราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรยกทัพส่วนหนึ่งไปตั้งค่ายอยู่หน้าทัพหลวงเพื่อหนุนทัพหน้า นำไปสู่การประชิดเมืองทวาย แกงหวุ่นแมงยีและแมงจันจาตั้งมั่นอยู่ในเมืองทวายไม่ออกมาสู้รบ ฝ่ายไทยประชิดเมืองทวายอยู่เป็นเวลาประมาณครึ่งเดือน[3] เสบียงอาหารซึ่งขนมาอย่างยากลำบากข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเริ่มลดลง มีผู้ทูลอาสาขอยกทัพเข้าตีเมืองทวายหลายคน แต่ทรงห้ามไว้เนื่องจากขณะนั้นฝ่ายสยามยังไม่มีเส้นทางถอยทัพที่สะดวก หากพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายพม่าและฝ่ายพม่ายกทัพติดตามมา ศึกจะมาประชิดทัพหลวงและถอยทัพกลับโดยลำบาก[5]
หลังจากที่ทรงประชิดเมืองทวายเป็นเวลาประมาณครึ่งเดือน ฝ่ายพม่ายังไม่ยอมแพ้ เสบียงอาหารลดลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯจึงทรงตัดสินพระทัยให้เลิกทัพถอยกลับทางคะมองส่วย ให้ทัพหลวงถอยก่อนจากนั้นทัพหน้าจึงรั้งถอยตามมาทีหลัง ฝ่ายพม่ายกทัพติดตามมาจนถึงสุดเขตแดนเมืองทวายถึงกลับเมืองทวายไป ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯเมื่อเสด็จกลับจากราชการทางหัวเมืองล้านนาแล้ว ทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพไปตีเมืองทวายจึงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมามารับเสด็จถึงที่แม่น้ำแควน้อย[5]
สงครามตีเมืองทวายในพ.ศ. 2331 ไม่ประสบผลสำเร็จ เส้นทางเดินทัพของฝ่ายไทยผ่านด่านวังปอข้ามเทือกเขาตะนาวศรีแม้จะตัดเข้าเมืองทวายโดยตรงมากกว่าเส้นทางด่านบ้องตี้[3] แต่เป็นเส้นทางที่สูงชันและยากลำบาก ทำให้การขนส่งเสบียงยุทโธปกรณ์เป็นไปด้วยความลำบาก และทำให้ฝ่ายสยามไม่สามารถใช้เส้นทางนี้เป็นช่องทางถอยทัพได้โดยสะดวก
แมงจันจา หรือแมงแกงซา (Myinzaingza) หรือเนเมียวจอดิน (Nemyo Kyawdin) เจ้าเมืองทวายผู้สามารถต้านทานการรุกรานเมืองทวายของสยามในปีพ.ศ. 2331 ได้สำเร็จ มีความคาดหวังว่า[3]ตนเองจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะซึ่งมีอำนาจสำเร็จราชการตลอดเมืองทวายมะริดและตะนาวศรี แต่พระเจ้าปดุงทรงแต่งตั้งมังจะเลสู หรือเมงหลาสีหะสุ (Minhla Sithu) มาเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะในพ.ศ. 2334 แมงจันจาจึงผิดหวังและไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจปกครองของมังจะเลสูเจ้าเมืองเมาะตะมะคนใหม่ มังจะเลสูจึงกราบทูลพระเจ้าปดุงว่าแมงจันจาเจ้าเมืองทวายมีความกระด้างกระเดื่อง พระเจ้าปดุงจึงทรงปลดแมงจันจาจากตำแหน่งเจ้าเมืองทวายแล้วให้จับกุมแมงจันจาไปไต่สวนที่เมืองอมรปุระ มังจะเลสูจึงแต่งตั้งให้มะรุวอนโบเป็นเจ้าเมืองทวายคนใหม่และให้มะรุวอนโบจับตัวแมงจันจาส่งไปเมืองอมรปุระ เมื่อมะรุวอนโบเดินทางมาถึงเมืองทวายแมงจันจาคุมกำลังคนจำนวน 500 คน ไปสกัดจับมะรุวอนโบที่นอกเมืองทวายและสังหารมะรุวอนโบไปเสีย[3]
พระเจ้าปดุงทรงทราบความก็พิโรธให้จับเมกคะราโบ (Metkaya Bo) บิดาของแมงจันจาไว้ แมงจันจาจึงหันมาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายสยามพร้อมกับเจ้าเมืองมะริด แมงจันจาสืบทราบว่ามีพระราชภาคิไนยหญิงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯพระองค์หนึ่ง ทรงถูกจับเป็นเชลยตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและตกมาประทับอยู่ที่เมืองทวายนี้ แมงจันจาจึงเชิญพระองค์หญิงพระองค์นั้นมาสอบถามได้ความว่าคือพระองค์เจ้าชี แมงจันจาจึงแต่งทูตถือหนังสือศุภอักษรจารึกแผ่นทองเข้ามาถวายขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขันฑสีมาของกรุงเทพฯและขอพระราชทานทัพไทยไปป้องกันเมืองทวาย พร้อมทั้งให้พระองค์เจ้าชีทรงพระอักษรจดหมายมาอีกหนึ่งฉบับถวายฯ ทูตเมืองทวายมาถึงกรุงเทพฯในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2335 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯได้ทรงรับสาส์นของเมืองทวายและทอดพระเนตรสาส์นของพระองค์เจ้าชีแล้ว จึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพจำนวน 5,000 คน คุมเครื่องยศไปยังเมืองทวายแต่งตั้งให้แมงจันจาเป็นพระยาทวาย
พระยายมราชยกทัพไปถึงเมืองทวาย แมงจันจายังไม่ออกมาพบ พระยายมราชจึงมีคำสั่งให้แมงจันจาออกมาคำนับ แมงจันจาจึงออกจากเมืองทวายมาสวามิภักดิ์ พระยายมราชส่งพระองค์เจ้าชีและชาวกรุงเก่าฯจำนวนหนึ่งมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯและกรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกทัพไปยังเมืองกาญจนบุรี พระองค์เจ้าชีเข้าเฝ้าทั้งสมเด็จฯทั้งสองพระองค์ที่แม่น้ำแควน้อย ทรงไต่ถามทุกข์สุขความลำบากที่พระองค์เจ้าชีทรงประสบมา[5] และทรงส่งพระองค์เจ้าชีลงมายังพระนครฯ กรมพระราชวังบวรฯทูลลายกทัพเสด็จไปเมืองทวายเพื่อทรงดูสถานการณ์ เมื่อเสด็จถึงเมืองทวายแล้ว กรมพระราชวังบวรฯมีพระดำริว่าแมงจันจาเจ้าเมืองทวายมิได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพอย่างแท้จริง เมืองทวายตั้งอยู่ห่างไกลมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นอุปสรรคยากที่จะรักษา เห็นสมควรที่จะกวาดต้อนชาวเมืองทวายกลับมาและรื้อกำแพงเมืองทวายลงเสีย[5] เพื่อไม่ให้ฝ่ายพม่าใช้เป็นฐานที่มั่น จึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยายมราชนำความมากราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯที่แม่น้ำแควน้อย ขอพระราชทานรื้อเมืองทวายกวาดต้อนผู้คนกลับมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชดำริที่จะยกทัพล่วงต่อจากเมืองทวายไปยังเขตแดนเมืองพม่าเพื่อช่วยเหลือชาวกรุงเก่าที่ถูกพม่าจับไปเป็นเชลยให้ได้หวนคืนกลับสู่สยาม[5] จึงทรงตอบว่า "พม่ายกมาตีกรุงกวาดต้อนครอบครัวชาวกรุงและพี่น้องขึ้นไปไว้แต่ที่เมืองทวายเมืองเดียวดอกหรือ เมืองอังวะและเมื่องอื่นๆ ไทยชาวกรุงไม่มีหรือ ไม่ช่วยเจ็บแค้นขึ้งโกรธบ้างเลย ได้เมืองทวายไว้ จะได้เป็นเมืองพักผู้คนไว้เสบียงอาหารเป็นกำลังทำศึกต่อไป ห้ามอย่ารื้อกำแพงเมืองและกวาดครอบครัว"[5]
จากนั้นชาวไทยเมืองทวายชื่อว่า ตามา มากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯว่าพระยาทวายแมงจันจามีพฤติกรรมที่แปลกไปเนื่องจากฝ่ายพม่าพระเจ้าปดุงจับกุมบิดาของแมงจันจาไว้และกำลังจัดทัพพม่าเข้ามาโจมตีเมืองทวายกลับคืน กรมพระราชวังบวรฯจึงจับตัวมองนุน้องชายของแมงจันจาส่งมาถวายที่แม่น้ำแควน้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงสอบสวนนายมองนุแล้วมีพระวินิจฉัยว่าพระยาทวายแมงจันจาไม่สวามิภักดิ์อย่างแท้จริง จึงมีพระราชโองการให้นำตัวพระยาทวายแมงจันจารวมทั้งกรมการเมืองมาไว้ที่กรุงเทพฯ และให้แต่งตั้งกรมการเมืองทวายขึ้นใหม่ กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยายมราชนำตัวแมงจันจามาเข้าเฝ้าที่แม่น้ำแควน้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้แมงจันจาและพรรคพวกไปอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯเป็นการถาวร จากนั้นกรมพระราชวังบวรฯจึงทรงจัดตั้งกรมการเมืองทวายขึ้นใหม่ เมืองทวายจึงอยู่ภายใต้การปกครองของสยามในเวลานั้น
สงครามพม่าตีเมืองทวาย พ.ศ. 2336 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ ยุทธการที่ทวาย | |||||||
เขียว หมายถึง เส้นทางเดินทัพของพม่า แดง หมายถึง เส้นทางเดินทัพของสยาม | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) | อาณาจักรรัตนโกสินทร์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระเจ้าปดุง เจ้าชายอินแซะมหาอุปราช เนเมียวคุณะจอสู เนเมียวจอดินสีหะสุระ |
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก | ||||||
กำลัง | |||||||
50,000 | 40,000 |
ฝ่ายสยามได้ครอบครองเมืองทวายและมะริดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2335 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชดำริที่จะยกทัพล่วงต่อจากเมืองทวายไปยังเขตแดนเมืองพม่าตอนล่าง[5] เมืองเมาะตะมะเมืองย่างกุ้ง และไปจนถึงเมืองอังวะหากว่าสามารถทำได้[5] โดยมีเมืองทวายเป็นฐานที่มั่น ทรงปรึกษากับเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) และพระยาไทรโยคถึงเส้นทางและระยะทางจากเมืองกาญจนบุรีไปจนถึงเมืองหงสาวดี จากนั้นมีพระราชโองการให้จัดเตรียมฝ่ายไทยจำนวนทั้งสิ้น 40,000 คน[5] กำหนดไปตีเมืองพม่าในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2336 ดังนี้;
ฝ่ายพม่าพระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้เจ้าชายอินแซะมหาอุปราชพระโอรสจัดเตรียมทัพเพื่อยกมาโจมตียึดเมืองทวายคืน เจ้าชายอินแซะมหาอุปราชยกทัพออกจากเมืองอมรปุระในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2335[6] พร้อมกับหวุ่นยีมหาชัยสุระ (Wunyi Maha Zeyathura) และ"อินแซะหวุ่น"เนเมียวจอดินสีหะสุระ (Einshe Wun Nemyo Kyawdin Thihathu) เมื่อเจ้าชายอินแซะยกทัพมาถึงเมืองสะกาย มีพระบัณฑูรให้ประหารชีวิตเมกคะยาโบบิดาของแมงจันจา เมื่อเจ้าชายอินแซะเสด็จมาประทับที่เมืองย่างกุ้งแล้ว จึงมีพระบัณฑูรให้จัดทัพเข้าตีเมืองทวายคืน จำนวนคนทั้งสิ้น 50,000 คน ประกอบด้วย ทัพเรือสี่ทัพ ทัพบกสองทัพ ได้แก่[3][6];
ฝ่ายเจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาเมื่อยกทัพไปถึงเมืองทวายแล้ว ทราบข่าวว่าฝ่ายพม่ากำลังยกทัพมาโจมตีเมืองทวาย จึงตั้งค่ายล้อมป้องกันเมืองทวายดังนี้;[3]
ทัพเรือที่ 2 ของเนเมียวคุณะจอสู จำนวน 10,000 คน มาถึงปากแม่น้ำเมืองทวาย พบกับทัพเรือฝ่ายไทยที่รักษาปากแม่น้ำอยู่จึงต่อสู้กัน ทัพเรือฝ่ายไทยมีกำลังน้อยกว่าจึงถอยไป[3] ทัพเรือพม่าจึงเดินทัพเข้ามาในแม่น้ำทวาย มาขึ้นบกตั้งทัพที่ชานเมืองทวาย ทัพของเนเมียวคุณะจอสูตั้งที่เกาะหงษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองทวาย ทัพที่ 3 ของหวุ่นยีสิงคยา และทัพที่ 4 ของพละรัตนะจอดิน จำนวนทัพละ 10,000 คน มาตั้งที่ตำบลกินมะยาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวาย ทัพบกของ"อินแซะหวุ่น"เนเมียวจอดินสีหะสุระมาตั้งที่ตำบลกะยอทางเหนือ เนเมียวจอดินสีหะสุระเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายพม่า[6]
ฝ่ายทางเมืองทวาย ชาวเมืองทวายซึ่งถูกเกณฑ์ไปรบในฝ่ายไทยเมื่อทราบว่าทัพพม่าเข้าประชิดเมืองทางด้านตะวันตก จึงเริ่มต่อต้านกรมการเมืองของฝ่ายไทย[5] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2336 ชาวทวายเจ็ดคนมีหนังสือลับไปหาฝ่ายพม่า[3] ฝ่ายไทยทราบว่าเกิดไส้ศึกขึ้นในเมืองทวาย จึงจับตัวชาวทวายทั้งเจ็ดคนไปประหารชีวิต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพมาตั้งทัพหลวงที่แม่น้ำแควน้อยแขวงเมืองไทรโยค จากนั้นจึงเสด็จยกทัพมายังเมืองทวายทางด่านคะมองส่วย ไปประทัพที่ตำบลหินดาด ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองทวายเป็นระยะทางสองคืน
ทัพบกของเนเมียวจอดินสีหะสุระยกเข้าตีทัพของเจ้าพระยามหาเสนาทางทิศตะวันออกของเมืองทวาย[3] พระยากาญจนบุรีออกรับทัพพม่า ถูกปืนเสียชีวิตในที่รบ จากนั้นเนเมียวจอดินจึงตีค่ายของพระยาสีหราชเดโชแตกพ่ายอีก ทัพพม่าเข้าประชิดเมืองทวายทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ[3] แต่ฝ่ายไทยในเมืองทวายสามารถต้านทานไว้ได้
ฝ่ายไทยประสบปัญหาขาดแคลนเสบียงและแรงงาน[5] เนื่องจากเสบียงนั้นต้องขนส่งข้ามเทือกเขาตะนาวศรีและแรงงานชายถูกเกณฑ์ไปรบ ต้องให้แรงงานหญิงชาวเมืองทวายมาขนเสบียงแทน ฝ่ายชาวเมืองทวายเห็นฝ่ายไทยเกณฑ์คนไปขนเสบียง เข้าใจว่าฝ่ายไทยกำลังจะกวาดต้อนชาวเมืองทวายไปอยู่กาญจนบุรี จึงไม่ทำตามคำสั่ง เจ้าพระยามหาเสนามีคำสั่งให้นำตัวหวุ่นทอก ชาวเมืองทวายผู้นำในการต่อต้านไปลงโทษด้วยการเฆี่ยน[5] หวุ่นทอกจึงปลุกระดมชาวเมืองทวายให้ลุกฮือเป็นกบฏขึ้นต่อต้านการปกครองของฝ่ายไทยในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2337 (เดือนยี่แรมหนึ่งค่ำ[3] หรือตามพงศาวดารพม่า 1st waning of Pyatho)[6] สังหารกรมการเมืองฝ่ายไทยในเมืองทวาย และนำปืนใหญ่เข้ายิงใส่โจมตีทัพของฝ่ายไทยทางทิศตะวันออก กองทัพฝ่ายไทยที่ยังเหลือในเมืองทวายจึงถอยทัพออกมาทางตะวันออก ทัพพม่าจึงยกทัพติดตามมาเข้าโจมตีทัพของเจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาทางตะวันออกของเมืองทวายอย่างหนัก
ในวันรุ่งขึ้น เสนาบดีทั้งสามได้แก่ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา และพระยายมราช ไม่สามารถต้านทานทัพพม่าได้อีกต่อไป ถึงถอยทัพมาทางทิศตะวันออกไปยังค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นทัพหน้าของทัพหลวง เสนาบดีทั้งสามขอเข้าไปตั้งหลักสู้กับพม่าในค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ แต่พระอภัยรณฤทธิ์ปฏิเสธให้เหตุผลว่าหากทัพพม่ายกติดตามเสนาบดีทั้งสามเข้ามาในค่ายและทัพหน้าของพระอภัยรณฤทธิ์แตกพ่ายไปทัพหลวงจะได้รับอันตราย[5] เสนาบดีทั้งสามจึงตั้งรับทัพพม่าอยู่หน้าค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ ต้านทานพม่าไม่ได้จึงแตกพ่ายไป เจ้าพระยารัตนาพิพิธและพระยายมราชสามารถรอดมาได้ แต่เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สูญหายในที่รบ พงศาวดารพม่าว่าถูกสังหารถึงแก่อสัญกรรมในที่รบ[3] พระยาสีหราชเดโชเสียชีวิตในที่รบเช่นกัน เมื่อทัพของเสนาบดีทั้งสามแตกพ่ายไปแล้ว ทัพพม่าจึงเข้าโจมตีค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์แตกพ่ายไปเช่นกัน ฝ่ายไทยสูญเสียกำลังพลไปมาก ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯซึ่งประทับที่ตำบลหินดาด เมื่อทรงทราบว่าทัพหน้าพ่ายแพ้แก่พม่าถอยมาแล้ว จึงมีพระราชโองการให้ถอยทัพหลวงกลับไปประทับยังแม่น้ำแควน้อย
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงต่อเรืออยู่ที่เมืองสิงขร แล้วจึงเสด็จยกทัพเรือพร้อมกับพระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) พระยาไกรโกษา พระยาพิไชยบุรินทรา และพระยาแก้วเการพ (ทองขาว) เจ้าเมืองพัทลุง เสด็จยกทัพเรือส่วนหนึ่งไปส่งไว้ป้องกันปากแม่น้ำเมืองทวาย (ซึ่งถูกทัพเรือพม่าตีพ่ายไปข้างต้น) แล้วจึงยกทัพเรือเสด็จกลับมาประทับที่เมืองกระบุรี (เป็นส่วนหนึ่งของแขวงเมืองชุมพร) จากนั้นมีพระราชบัณฑุรให้พระยาจ่าแสนยากร พระยาไกรโกษา พระยาพิไชยบุรินทรา และพระยาแก้วเการพ ยกทัพเรือล่วงหน้าไปยังเมืองทวายก่อน เมื่อพระยาจ่าแสนยากรยกทัพเรือไปจนถึงเมืองมะริด ในขณะนั้นฝ่ายพม่าสามารถยึดเมืองทวายได้แล้วเจ้าเมืองมะริดจึงแปรพักตร์กลับไปเข้ากับฝ่ายพม่า พระยาจ่าแสนยากรเมื่อทราบข่าวว่าเมืองมะริดกลับไปเข้ากับฝ่ายพม่าแล้วจึงนำทัพเรือเข้าโจมตีเมืองมะริด ระดมยึงปืนใหญ่ใส่เมืองมะริดแต่ยังไม่สามารถยึดเมืองได้ พระยาจ่าแสนยากรจึงนำทัพเรือเทียบท่าที่เกาะหน้าเมืองมะริด ใช้ปืนใหญ่ระดมยิงใส่เมืองมะริดในระยะที่ใกล้กว่าเดิม ทำให้ทหารเมืองมะริดต้องขุดหลุมเพื่อหลบกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายไทย แม้กระนั้นฝ่ายไทยก็ยังไม่สามารถเข้ายึดเมืองมะริดได้
ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯซึ่งประทับที่แม่น้ำแควน้อย มีพระราชโองการให้นายฉิมมหาดเล็กชาวเมืองชุมพร เดินทางไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯที่เมืองกระบุรี กราบทูลว่าทัพหลวงที่เมืองทวายพ่ายแพ้ให้แก่พม่าแล้ว การยกทัพเข้ารุกรานพม่าไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้ทัพเรือที่เมืองมะริดถอยกลับ ขณะที่พระยาจ่าแสนยากรกำลังจะถอยทัพกลับนั้น ทัพบกของพม่านำโดย"อินแซะหวุ่น"เนเมียวจอดินสีหะสุระ[6] และทัพเรือที่ 1 ของศิริธรรมรัตนะจากเมืองทวายยกมาถึงเมืองมะริดพอดี นำไปสู่การสู้รบกัน ทัพไทยกลับขึ้นเรือถอยทัพเรือเอาท้ายลงมาที่เมืองปากจั่น ทัพพม่ายกทัพติดตามมา พระยาจ่าแสนยากรยกทัพขึ้นบกที่ปากจั่นพบกับทัพพม่าอีกสู้รบกัน ฝ่ายไทยต้องสละเรือพระยาจ่าแสนยากรนำทัพถอยกลับไปทางเมืองชุมพร ทัพพม่าติดตามสู้รบเป็นสามารถฝ่ายต้องรบไปถอยไป พระยาจ่าแสนยากร "รบพม่าแข็งแรง พม่าหาอาจล่วงเกินเข้ามาได้ไม่"[5] เมื่อทัพพม่าถอยกลับไปแล้ว พระยาจ่าแสนยากรจึงยกทัพกลับทางเมืองชุมพร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงพิโรธพระอภัยรณฤทธิ์ที่เป็นเหตุให้สูญเสียเสนาบดีสมุหกลาโหมไป จึงมีพระราชโองการลงพระราชอาญาให้ประหารชีวิตพระอภัยรณฤทธิ์เสียที่แม่น้ำแควน้อยนั้น[5] จากนั้นจึงมีพระราชโองการไปยังพระยาพลเทพ (ปิ่น) และพระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี) ที่พระนครฯให้ระวังชาวพม่า[5]ในเมืองกลุ่มของแมงจันจาอดีตเจ้าเมืองทวาย ต่อมาในภายหลังจึงทรงแต่งตั้งพระยายมราช (บุนนาค) ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนา สมุหกลาโหม แทนที่เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในที่รบ หลังจากที่ฝ่ายสยามครองครองเมืองทวายและมะริดได้ประมาณหนึ่งปี ทวายและมะริดจึงตกกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอีกครั้ง
สยามไม่ประสบความสำเร็จในการนำชายฝั่งตะนาวศรี ซึ่งประกอบด้วยเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี กลับมาครอบครองอีกครั้งดังเช่นที่เคยเป็นในสมัยอยุธยา เทือกเขาตะนาวศรีเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นการติดต่อขนส่งระหว่างชายฝั่งตะนาวศรีและที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลางเป็นไปอย่างลำบาก สยามจึงเข้าควบคุมทวาย มะริด และตะนาวศรีได้ยาก อีกทั้งอาณาจักรพม่ายุคราชวงศ์โก้นบองมีนโยบายเข้าควบคุมพม่าตอนล่างอย่างมั่งคง[1] ไม่ยินยอมให้สยามเข้ามามีอำนาจในชายฝั่งตะนาวศรี เมืองทวายเป็นฐานให้แก่ทัพพม่าในการเข้าโจมตีสยามอีกครั้งในสงครามพม่าตีเมืองถลางในพ.ศ. 2352
หลังจากสงครามตีเมืองทวาย ชายฝั่งตะนาวศรีอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอย่างถาวร จนกระทั่งสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่ง (First Anglo-Burmese War) พม่าจึงสูญเสียชายฝั่งตะนาวศรีให้แก่จักรวรรดิอังกฤษไปในพ.ศ. 2369 การที่พม่าสามารถรักษาหัวเมืองมะริดตะนาวศรีไว้ได้ จึงมีชาวไทยในพม่าอาศัยอยู่ในเขตตะนาวศรีของพม่าจนถึงปัจจุบัน
แมงจันจาอดีตเจ้าเมืองทวาย หรือ"พระยาทวาย"ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯต่อมา จนกลายเป็นหัวหน้าชุมชนชาวทวายในกรุงเทพฯที่ตำบลคอกกระบือ[7] (ปัจจุบันคือบริเวณวัดบรมสถล แขวงยานนาวา) ต่อมาในพ.ศ. 2359 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เชลยสงครามชาวพม่าแหกคุกและก่อการกบฏ พระยาทวายแมงจันจาถูกจับว่ามีส่วนรู้เห็นในการกบฏครั้งนี้และถูกประหารชีวิตไปในที่สุด[8]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.