ชาวไทยในพม่า พม่าเรียก ฉ่า หรือเป็นไทยมุสลิมจะเรียก ฉ่าปะซู คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเดียวกับไทยสยามในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศพม่า แต่เป็นคนละกลุ่มกับชาวโยดายา โดยมากอาศัยอยู่บริเวณเขตตะนาวศรีทางตอนใต้ของประเทศพม่า มีประวัติการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมายาวนาน ก่อนที่ดินแดนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าในปัจจุบัน[7] พวกเขายังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ ทั้งภาษา, ศาสนา, การใช้สกุลเงินไทย และการใช้นามสกุลอย่างคนไทย[8][9]
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
ไม่ทราบ | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
พม่า | ไม่ทราบ |
เขตตะนาวศรี | 41,258 คน (พ.ศ. 2530)[1] |
รัฐกะเหรี่ยง | ราว 20,000 คน (พ.ศ. 2557)[2] |
ท่าขี้เหล็ก | ราว 1,000 คน (พ.ศ. 2563)[3] |
ย่างกุ้ง | ราว 400–450 คน (พ.ศ. 2555)[4] |
เล่าไก่ | 293 คน (พ.ศ. 2566)[5] |
ไทย | 28,000 คน[6] |
ภาษา | |
ไทย (ถิ่นใต้ · ถิ่นเหนือ · ถิ่นอีสาน) · พม่า · มลายูไทรบุรี | |
ศาสนา | |
ศาสนาพุทธ ส่วนน้อยอิสลาม | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
ไทยใต้ · ไทยวน · พม่าเชื้อสายจีน · พม่าเชื้อสายมลายู |
ระยะหลังชาวไทยพลัดถิ่นจากประเทศพม่าจำนวนมากอพยพไปประเทศไทยในสถานะคนต่างด้าวไร้สัญชาติ อาศัยอยู่บริเวณสี่จังหวัดติดชายแดนได้แก่ จังหวัดตาก, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง[10] บางส่วนกระจายตัวไปยังจังหวัดพังงา[11] โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาถูกกดขี่จากประเทศต้นทาง[1][12][13] และพยายามขอสัญชาติไทย[14][15]
นอกจากชาวไทยพื้นเมืองแล้ว ยังมีบุคคลสัญชาติไทยที่เข้าไปพำนักหรือไปประกอบอาชีพในประเทศพม่า มีจำนวน 1,307 คน เมื่อ พ.ศ. 2560[16] และมีจำนวน 868 คน ใน พ.ศ. 2564[17]
ประวัติ
เขตตะนาวศรี
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าชาวสยามได้ก่อตั้งเมืองตะนาวศรี และบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอิทธิพลของกษัตริย์สยามมาช้านาน[18] จากเอกสาร สำเภากษัตริย์สุไลมาน ระบุว่าทั้งเมืองมะริดและตะนาวศรีเป็นหัวเมืองสำคัญของอยุธยา[19] และ พ.ศ. 2228 "ตะนาวศรีเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองเป็นชาวสยามประมาณ 5-6 พันครัว"[18] ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มะริดยังเป็นของสยาม "ที่นั่นเต็มไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งพม่า สยาม จีน อินเดีย มลายู และยุโรป"[20] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีความพยายามจากกษัตริย์สยามในการตีเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้คืนจากพม่าหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ[21] ตะนาวศรีถูกทำลายด้วยการยึดครองของพม่า แล้วตามด้วยการปกครองของสหราชอาณาจักรอีกทอดหนึ่ง ส่งผลให้เมืองท่าในแถบตะนาวศรีที่เคยมั่งคั่งจึงเสื่อมลง เพราะ "ถูกเทือกเขาตัดขาดจากพื้นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ของจีนและสยาม" ที่สุดจึงกลายเป็นดินแดนชายขอบอันล้าหลังของพม่า และกลายเป็นดินแดนของชนกลุ่มน้อย[22]
ในยุคอาณานิคม สหราชอาณาจักรได้ทำการสำรวจจำนวนประชากร เซอร์เจมส์ สกอตต์ระบุว่า มีชาวสยามอยู่ในเขตตะนาวศรี 19,631 คน อาศัยในเมืองทวาย, แอมเฮิสต์ และมะริด[23] ส่วน ราชอักขรานุกรมภูมิศาสตร์อินเดีย (Imperial Gazetteer of India) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2444 มีชาวสยามในเมืองมะริด 9,000 คน โดยมีชาวสยามกระจายตัวตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังในตำบลบกเปี้ยน มีชาวสยามอาศัยอยู่ร้อยละ 53 ตำบลตะนาวศรี มีชาวสยามอาศัยอยู่ร้อยละ 40 และตำบลมะลิวัลย์มีชาวสยาม, มลายู และจีนทั้งตำบล ชาวพม่าหาไม่พบ[23] ขณะที่เมืองทวาย มีประชากรเพียง 200 คนเท่านั้นที่ระบุตัวตนว่าเป็นชาวสยาม[23] ทั้ง ๆ ที่มีร่องรอยของชาวสยามอาศัยมายาวนาน ดังปรากฏหลักฐานตามศาสนสถานต่าง ๆ ภายในตัวเมือง[24]
บทความของเอ. เคอร์ (A. Kerr) ชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ ซึ่งเดินทางเข้าไปเขตตะนาวศรีของพม่า เมื่อ พ.ศ. 2475 ในบันทึกของเขาระบุว่าพบบ้านกะเหรี่ยงบ้างแถบไหล่เขา แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็พบแต่บ้านคนไทยที่พูดภาษาไทยถิ่นใต้กระจายอยู่ตลอดเส้นทาง และรายชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในบันทึกของเคอร์ก็ล้วนแต่เป็นชื่อภาษาไทย[25] หนังสือ คนไทยในพม่า (พ.ศ. 2503) ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ระบุว่ามีชาวไทยจากภาคใต้และภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในตะนาวศรีเป็นจำนวนมาก ชาวไทยจำนวนนี้บางคนถือสัญชาติพม่า และนิยมแต่งกายอย่างพม่า[26]
หลังพม่าได้รับเอกราชเป็นต้นมาชาวไทยที่อาศัยในแถบตะนาวศรีอยู่อย่างสุขสงบมาตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2535 พม่าได้ตั้งกระทรวงพัฒนาพื้นที่ชายแดนและเชื้อชาติแห่งชาติขึ้น ซึ่งดำเนินนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานละการโยกย้ายประชาชนจากพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นไปยังพื้นที่ชายแดนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงชุมชนไทยด้วย หลังจากนั้นพม่าจึงเริ่มนโยบายกลืนคนไทย ได้แก่ การตั้งโรงเรียนพม่า การนำชาวพม่ามาแทรกซึมในชุมชนไทย และการนำพระสงฆ์พม่าเข้ามาประจำในวัดไทย[23] นอกจากนี้ยังมีการใช้แรงงานคนไทยไปเป็นลูกหาบให้กองทัพพม่าไปสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยช่วง พ.ศ. 2531-2534[23]
ปัจจุบันชาวไทยในเขตตะนาวศรีราว 3 ใน 4 ยอมมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองในไทย แบ่งเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ๆ คือกลุ่มชาวไทยที่อพยพจากตะนาวศรี (Tanintharyi) – สิงขร (Theinkun) จะอาศัยอยู่ในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์, อำเภอบางสะพาน, อำเภอบางสะพานน้อย และอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มที่สองคือชาวไทยที่อพยพจากลังเคี๊ยะ (Lenya) อาศัยอยู่ในอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กลุ่มที่สามคือชาวไทยที่อพยพจากบกเปี้ยน (Bokpyin) อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองระนอง และอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และกลุ่มที่สี่คือชาวไทยที่อพยพจากมะลิวัลย์ (Maliwan) – เกาะสอง (Kawthaung) – ตลาดสุหรี (Karathuri) อาศัยอยู่อำเภอกระบุรี, อำเภอเมืองระนอง และอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง[27] มีการประมาณการถึงผู้อพยพเชื้อสายไทยจากพม่า หลบหนีเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 28,000 คน[6]
รัฐกะเหรี่ยง
ตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยส้าน, บ้านแม่แปป, บ้านปางกาน, บ้านหนองห้า, บ้านแม่กาใน, บ้านผาซอง, บ้านปะล้ำปะตี๋ และบ้านไฮ่ เมืองเมียวดี (Myawaddy) รัฐกะเหรี่ยง รวมทั้งหมด 7 หมู่บ้าน มีประชากรราว 20,000 คน[2] ชาวไทยกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ไต เป็นชาวไทยวนที่อพยพมาจากอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภองาว จังหวัดลำปาง บ้างก็มาจากจังหวัดลำพูน, เชียงใหม่หรือน่านก็มี โดยเข้าทำงานเป็นคนงานตัดไม้ของบริษัทอังกฤษราวร้อยปีก่อน[28] บ้างก็ว่าหนีการเสียภาษีจากรัฐบาลสยาม[2] จึงเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันพวกเขายังใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือ และนับถือศาสนาพุทธ[2] รวมทั้งมีการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยอย่างดี[29] ชาวไทยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอพยพกลับประเทศไทยราว 30 ปีก่อน อาศัยอยู่อำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยไม่มีสัญชาติไทย[29]
นอกจากเมืองเมียวดี ยังมีชาวไทยตั้งถิ่นฐานในเมืองพะย่าโต้นซู (Payathonzu) จำนวนหนึ่ง[30]
รัฐมอญ
ใน ราชอักขรานุกรมภูมิศาสตร์อินเดีย (Imperial Gazetteer of India) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2444 มีชาวสยามตั้งนิคมขนาดน้อยในเมืองแอมเฮิสต์ ส่วนเมืองสะเทิมซึ่งเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของรัฐมอญ มีชาวสยามตั้งถิ่นฐาน 10,000 คน[23] ปัจจุบันยังมีชุมชนไทยในเมืองไจคามี[31]
วัฒนธรรม
ภาษา
มีการค้นพบจารึกภาษาไทยอักษรขอมในประเทศพม่า เชื่อว่าอาจจะมาจากเมืองทวาย มิกกี ฮาร์ต นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าสันนิษฐานว่าจารึกนี้น่าจะถูกทำขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 ก่อนยุคอาณาจักรสุโขทัย[32] คริสต์ศตวรรษที่ 17 ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและภาษาทางการของมะริดและตะนาวศรี ทั้ง ๆ ที่มีชุมชนไทยเป็นชนกลุ่มน้อยขนาดเล็กในนั้น แต่ประชากรส่วนใหญ่ล้วนเป็นพม่าหรือมอญ[20] ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แอนน์ แฮซเซลไทน์ จัดสัน (Ann Hasseltine Judson) มิชชันนารีชาวอเมริกันเข้าไปเผยแผ่ศาสนาในเมืองแอมเฮิสต์ โดยได้ศึกษาภาษาไทยจากคนไทยในแอมเฮิสต์ เธอเป็นคนแรกที่แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาไทย[33]
ปัจจุบันชาวไทยในเขตตะนาวศรีเกือบทั้งหมดยังคงใช้ภาษาไทยถิ่นใต้สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับชาวไทยทางภาคใต้ของประเทศไทย[34] ยกเว้นที่บ้านท่าตะเยี๊ยะที่พูดภาษาไทยถิ่นอีสาน[1]และชาวไทยมุสลิมบางส่วนพูดภาษามลายูไทรบุรี[35] ส่วนชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงจะใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับชาวไทยวนในภาคเหนือของไทย[2] ชาวไทยทั้งสองกลุ่มมีการเล่าเรียนภาษาไทยมาตรฐาน โดยชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงจะมีการสอนภาษาไทยแก่บุตรหลานช่วงปิดเทอมโดยพระสงฆ์ บ้างก็เข้าเรียนในโรงเรียนไทยในจังหวัดตาก[29] เดิมชาวไทยกลุ่มนี้จะใช้อักษรธรรมล้านนาและพม่าในการเขียน แต่ในปัจจุบันมีการเขียนด้วยอักษรไทยมากขึ้น[36] ขณะที่ชาวไทยในเขตตะนาวศรีเล่าเรียนภาษาไทยจากพระสงฆ์ในวัด[34] สามารถพบการติดตั้งป้ายภาษาไทยอย่างโดดเด่นตามศาสนสถาน[37] รวมทั้งนิยมสิ่งพิมพ์ภาษาไทย และสื่อโทรทัศน์ภาษาไทย ด้วยมีจินตนาการร่วมกับรัฐไทยมากกว่าพม่า[38]
ส่วนภาษาพม่าเพิ่งมีการสอนตามโรงเรียนช่วงปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา เพราะในอดีตเด็กไทยไม่เข้าใจภาษาพม่าเลย[39] การเรียนรู้ภาษาพม่าของชาวไทยถือเป็นการเอาตัวรอด เพราะลดการคุกคามจากทหารพม่าได้มาก[40] ปัจจุบันชาวไทยในตะนาวศรีที่เป็นลูกครึ่งพม่าไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้และนิยมให้ลูกหลานใช้ภาษาพม่าในชีวิตประจำวัน[41] ขณะที่คนไทยสูงอายุบางส่วนยังพบกับอุปสรรคทางภาษาเพราะมีหลายคนพูดพม่าได้น้อยหรือไม่ได้เลย[42] แต่จากการที่ไม่มีโรงเรียนไทย กอปรกับวัดไทยมีพระเชื้อสายไทยจำพรรษาน้อยและมีพระพม่ามาจำพรรษาแทน ทำให้ขาดผู้สอนภาษาไทยแก่บุตรหลานไทยในตะนาวศรี หลายคนพูดภาษาไทยได้แต่อ่านหนังสือไม่ออก[43]
ศาสนา
ในปี พ.ศ. 2530 ชาวไทยในเขตตะนาวศรี 41,258 คน ประกอบด้วยพุทธศาสนิกชน 22,978 คน และอิสลามิกชน 18,280 คน โดยชาวไทยพุทธตั้งถิ่นฐานในตำบลสิงขร, ตำบลบกเปี้ยน และตำบลมะลิวัลย์ ส่วนชาวไทยมุสลิมตั้งถิ่นฐานแถบเกาะสองจนถึงตลาดสุหรี[44]
พุทธศาสนิกชนชาวไทยในเขตตะนาวศรีจะทำการบวชอย่างไทยคือโกนคิ้วและห่มจีวรสีออกเหลือง[45] ศาสนาพุทธถูกยึดโยงกับความเป็นไทย ชาวไทยในพม่าจะจัดเวรทำและนำอาหารไปถวายพระทุกวัน ผู้คนนิยมเข้าวัดฟังธรรมเนืองแน่นทุกวันพระ[46] แต่ยังคงความเชื่อออกไปทางเวทมนตร์คาถา เชื่อในสิ่งลี้ลับ เช่น ภูติผี วิญญาณ เจ้าป่า เจ้าเขา โชคลาง และการบนบาน[34] พุทธศิลป์แบบไทยส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของตะนาวศรี ดังปรากฏในพุทธศิลป์ของพระประธานภายในวัดตะนาวศรีใหญ่ ซึ่งมีพระเกศาและพระพักตร์มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ริ้วจีวรได้รับอิทธิพลศิลปะอยุธยา แต่มีพระกรรณยาวอย่างศิลปะพม่า จนเรียกว่าเป็นศิลปะตะนาวศรี และวัดตอจาง เคยมีเจ้าอาวาสเป็นชาวสยาม[47] ชาวไทยและพม่าที่นับถือศาสนาพุทธไม่ค่อยมีข้อขัดแย้งหรือเกิดการกดขี่ทางวัฒนธรรมกัน และมองคนมุสลิมเป็นชนชั้นสอง[48]
ส่วนชาวไทยจากเขตตะนาวศรีผู้เป็นอิสลามิกชนเข้ารับการอบรมจริยธรรมจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหรือจากมัสยิด[49]
ชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงนับถือศาสนาพุทธเช่นกัน มีวัดประจำชุมชน ได้แก่ วัดบัวสถาน, วัดศรีบุญเรือง, วัดสว่างอารมณ์, วัดสุวรรณคีรี และวัดป่าเลไลย์[2] โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ[29]
ประเพณี
ชาวไทยในพม่า โดยเฉพาะกลุ่มในเขตตะนาวศรีมีประเพณี 12 เดือน เป็นประเพณีประพฤติปฏิบัติสืบมานาน ได้แก่ ในเดือนอ้ายเดือนยี่จะมีการบูชานางโพสพ เดือนสามมีพิธีปล่อยวัวควายลงทุ่ง เดือนสี่ไหว้ตาเจ้าที่ เดือนห้ามีประเพณีสงกรานต์ เดือนหกมีดูฤกษ์ยาม รับผีตายาย ทำบุญส่งตายาย บุญเดือนสิบ ชิงเปรต เดือนสิบเอ็ดทำบุญออกพรรษา เดือนสิบสองทำบุญทอดกฐิน ทำบุญลอยแพ[50] โดยเฉพาะประเพณีสารทเดือนสิบ ชาวพม่าในแถบนั้นได้รับเอาไปปฏิบัติด้วย แต่ต่างกับคนไทยตรงที่จะมีพิธีกรรมส่งตายายกลับภพภูมิของตน โดยจะจัดหฺมรับ (สำรับ) อุทิศแก่วิญญาณบรรพชนตั้งไว้หน้าบ้าน[51]
ศิลปะ
ชาวไทยในตะนาวศรีมักแสดงหรือชมหนังตะลุง, มโนราห์, มวยไทย และเพลงพื้นบ้านอย่างไทยภาคใต้ มีคณะหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงอาทิ หนังสร้อย แสงวิโรจน์ หนังช่วย และหนังยอด ส่วนมโนราห์ที่มีชื่อเสียงได้แก่ มโนราห์อาบ เกตุแก้ว มโนราห์นุ้ย ขันศรี และมโนราห์เคี่ยม[34] ขณะที่ชาวไทยมุสลิมก็มีกาโหยง เป็นศิลปะการต่อสู้พื้นบ้าน[1][45]
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.