อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน (อังกฤษ: Imperial College London) หรือชื่อตามกฎหมายว่า อิมพิเรียลคอลเลจออฟไซอันเท็กนอลอจีแอนด์เมดซิน (อังกฤษ: Imperial College of Science, Technology and Medicine)[3] เป็นมหาวิทยาลัยใจกลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ และธุรกิจ[4] จนถึงปัจจุบัน บุคลากรของอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนได้รับรางวัลโนเบลจำนวนทั้งหมด 15 รางวัล อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนเป็นสถาบันมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และแพทยศาสตร์

ข้อมูลเบื้องต้น คติพจน์, ประเภท ...
อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน
Imperial College London
Thumb
ตราอาร์ม (Coat of arms)
คติพจน์Scientia imperii decus et tutamen "Scientific knowledge, the crowning glory and the safeguard of the empire"
(ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกียรติยศเหนือเศียรเกล้า และเกราะคุ้มครองจักรวรรดิ)
ประเภทมหาวิทยาลัย
สถาปนา8 กรกฎาคม ค.ศ. 1907
อธิการบดีมหาวิทยาลัยอลิซ แกสต์[1]
ที่อยู่
เซาท์เคนซิงตัน ลอนดอน สหราชอาณาจักร
วิทยาเขตเซาท์เคนซิงตัน
Hammersmith
St. Mary's
Chelsea and Westminster
Royal Brompton
Charing Cross
Silwood Park
Wye
สี  Imperial blue[2]
เว็บไซต์www.imperial.ac.uk
ปิด

ปี ค.ศ. 2010 The Complete University Guide ได้จัดให้อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 แรกในสหราชอาณาจักร ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์[5] เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นนานาชาติอันดับ 1 ของสหราชอาณาจักร[6] และเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับจากหนังสือพิมพ์เดลิเทเลกราฟต์ว่าเข้าศึกษาต่อ ยากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในสหราชอาณาจักร[7]

ปี ค.ศ. 2018 สำนักข่าวรอยเตอส์ จัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมที่สุดของโลกอันดับที่ 2[8] และได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์คลินิกและวิทยาศาสตร์สุขภาพดีที่สุดอันดับที่ 4 ของโลก[9] และอันดับที่ 6 ของโลกด้านวิศวกรรมศาสตร์[10]

ปี ค.ศ. 2020 อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 10 ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดยไทมส์ไฮเออร์เอดยูเคชันซัปพลีเมนต์ และคอกโครัลลีไซมอนส์[11][12]

อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนเป็นสมาชิกของกลุ่มมหาวิทยาลัยรัสเซลล์ และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสามเหลี่ยมทองคำในสมาพันธ์มหาวิทยาลัยยุโรปและสมาพันธ์ประชาคมมหาวิทยาลัย

ในช่วงแรก อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนเป็นสมาชิกในเครือมหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนที่จะแยกออกมาเป็นอิสระในครั้งฉลองครบรอบร้อยปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย (8 กรกฎาคม ค.ศ. 2007) โดยสมเด็จพระราชินีอลิธาเบธที่ 2 พร้อมด้วย เจ้าชายฟิลลิปดยุคแห่งเอดินเบอระ เสด็จพระราชดำเนิน ณ อิมพิเรียลคอลเลจ ลอนดอนในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2007

ประวัติ

การก่อตั้ง

สืบเนื่องจากการก่อตั้งอิมพิเรียลอินสติทูต (Imperial Institute) โดยเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย โดยในปี ค.ศ. 1887 สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย เสด็จวางศิลาฤกษ์ ต่อมาอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน เริ่มก่อตั้งขึ้นจากการผนวกเอาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน สถาบันหลักที่เป็นต้นกำเนิดวิทยาเขตเซาท์เคนซิงตันซึ่งเป็นวิทยาเขตหลักได้แก่ รอยัลสคูลออฟไมนส์ (อังกฤษ: Royal School of Mines) (ค.ศ. 1854 โดยเซอร์เฮนรี่ เดอ ลา บาช) รอยัลคอลเลจออฟไซอันเซส (อังกฤษ: Royal College of Sciences) (ค.ศ. 1881) และซิตีแอนด์กิลด์คอลเลจ (อังกฤษ: City and Guild College) (ค.ศ. 1884)[13]

คริสต์ศตวรรษที่ 20

ในปี ค.ศ. 1907 คณะผู้บริหารฝ่ายการศึกษามีความประสงค์ที่จะรวมวิทยาลัยต้นกำเนิดทั้งสามเพื่อให้มีศักยภาพในการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น รอยัลสคูลออฟไมนส์ รอยัลคอลเลจออฟไซอันเซส และซิตีแอนด์กิลด์คอลเลจ จึงได้รวมกันเป็นมหาวิทยาลัยเดียวและขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยลอนดอน รอยัลชาร์เตอร์ซึ่งดูแลวิทยาลัยต้นกำเนิดทั้งสามได้ลงนามอนุมัติการจัดตั้งอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 โดยก่อตั้งวิทยาเขตหลักในพื้นที่ของสถาบันอิมพิเรียลในเซาท์เคนซิงตัน

ในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1919 ได้มีการจัดตั้งกิจกรรมชมรมพายเรือสำหรับนักศึกษาในอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ต่อมาในปี ค.ศ. 1947 ทางมหาวิทยาลัยได้ซื้อพื้นที่บริเวณซิลวูดพาร์กเพื่อใช้เป็นที่สำหรับวิจัยและให้การศึกษาในด้านวิชาชีววิทยาซึ่งยากที่จะศึกษาในพื้นที่ของวิทยาเขตหลัก

ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1949 ได้มีการเผยแพร่หนังสือพิมพ์ฟีลิกซ์ ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ ในรั้วของมหาวิทยาลัย วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1950 รัฐบาลอังกฤษได้วางโครงการสนับสนุนและพัฒนาอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนให้เป็นสถาบันชั้นนำในด้านการวิจัยและให้การศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในคริสต์ศตวรรษที่ 20

ปี ค.ศ. 1959 มูลนิธิวูลฟ์สันบริจาคเงินมูลค่า 350,000 ปอนด์เพื่อก่อตั้งภาควิชาชีวเคมี

ปี ค.ศ. 1963 อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนได้จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีอินเดีย (เดลี) ร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ปี ค.ศ. 1971 ได้มีการจัดตั้งภาควิชาวิทยาศาสตร์บริหารตามด้วยการจัดตั้งภาควิชาความร่วมมือและความสัมพันธ์ในปี ค.ศ. 1972

ปี ค.ศ. 1980 ภาควิชาความร่วมมือและความร่วมมือได้ยุบรวมกับภาควิชาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์กลายเป็นภาควิชามนุษยวิทยา

ปี ค.ศ. 1988 อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนได้รวมเอาโรงเรียนแพทย์โรงพยาบาลเซนต์แมรี เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ทำให้อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนกลายเป็นวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และแพทยศาสตร์อิมพิเรียลดังเช่นในปัจจุบัน

ปี ค.ศ. 1995 อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ และโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง โดยมีเครือข่ายร่วมกับวารสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก ในปีนี้อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนยังได้ผนวกเอาสถาบันปอดและหัวใจแห่งชาติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย

ปี ค.ศ. 1997 โรงเรียนแพทย์ชาร์ลิงครอสและเวสมินสเตอร์ โรงเรียนแพทย์หลวงสำหรับบัณฑิต และสถาบันผดุงครรภ์และนรีเวชวิทยาได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาราชวิทยาลัย ทำให้เกิดการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ขึ้นอย่างเป็นทางการ

ปี ค.ศ. 1998 ได้มีการเปิดใช้อาคารเซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางงานวิจัยทางการแพทย์และชีววิทยาด้านการแพทย์

คริสต์ศตวรรษที่ 21

ปี ค.ศ. 2000 อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนได้ผนวกสถาบันไขข้อเคนเนดี และไวย์คอลเลจซึ่งศึกษาทางด้านเกษตรกรรมและเป็นส่วนหนึ่งของเครือมหาวิทยาลัยลอนดอนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย

ปี ค.ศ. 2004 สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนธุรกิจอิมพิเรียลคอลเลจ

ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2005 มหาวิทยาลัยได้ประกาศโครงการซายน์พาร์กที่วิทยาเขตไวย์ แต่ถูกยกเลิกไปในเดือนกันยายนปีถัดมาเนื่องด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ปัจจุบันไวย์คอลเลจถูกบริหารโดยมหาวิทยาลัยเคนท์โดยความร่วมมือของมหาราชวิทยาลัยและไวย์คอลเลจ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยเคนท์ในความร่วมมือของอิมพิเรียลและไวย์คอลเลจ

ปี ค.ศ. 2008 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมสุขภาพโลก ขึ้นโดย ศ. นพ. ลอร์ดอารา ดาร์ซี แห่ง เดนแฮม[14] และได้เริ่มโครงการขยายวิทยาเขตไวท์ซิตีขึ้นทางฝั่งตะวันตกของกรุงลอนดอน เพื่อเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นที่ทำการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทผลิตนวัตกรรมเอกชน รวมถึงหอพักของนักศึกษามหาวิทยาลัยเพิ่มเติม โดยใช้งบประมาณลงทุน 2 พันล้านปอนด์[15]

ปี ค.ศ. 2013 จัดตั้งห้องปฏิบัติการอวกาศขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ โดยบูรณาการกับ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และภาคธุรกิจ[16]

ปี ค.ศ. 2014 จัดตั้งโรงเรียนออกแบบด้านวิศวกรรมไดสัน โดยทำการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมร่วมกับการออกแบบกับ ราชวิทยาลัยศิลปะ[17]

วิทยาเขต

อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนดำเนินการบริหารและกิจการทุก ๆ อย่างภายในวิทยาเขตเซาท์เคนซิงตัน ย่านอันเป็นแหล่งรวมของทั้งสถาบันทางการศึกษาและศิลปะต่าง ๆ มากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียอัลเบิร์ต รอยัลสคูลออฟมิวสิค รอยัลคอลเลจออฟอาร์ต สมาคมภูมิศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ โรงมหรสพหลวงอัลเบิร์ต ฯลฯ

นอกจากวิทยาเขตหลักที่เซาท์เคนซิงตันแล้ว อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนยังประกอบไปด้วยวิทยาเขตย่อย ๆ ต่าง ๆ ภายในมหานครลอนดอน และนอกมหานครลอนดอน

อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนยังเป็นเครือข่ายขององค์การบริการสาธารณสุขแห่งชาติซึ่งดูแลควบคุมสถานพยาบาลหลายแห่งภายในมหานครลอนดอนและดูแลให้การอบรมและเปิดหลักสูตรทางการแพทย์ตามสถานพยาบาลและโรงพยาบาลเหล่านี้ ใน ปี ค.ศ.1997 พระราชบัญญัติอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนได้ระบุให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจสิทธิขาดในการดูแลบริหารโรงเรียนแพทย์ชาร์ลิงครอสและเวสต์มินสเตอร์ สถาบันหัวใจและปอดแห่งชาติ และโรงเรียนแพทย์หลวงสำหรับบัณฑิต

การขยายพื้นที่ของวิทยาเขตเซาท์เคนซิงตันในช่วงปี 1960-1969 นั้นทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ขึ้นอย่างกว้างขวาง เหลือเพียงหอคอยควีนส์ทาวเวอร์เท่านั้นที่เป็นสิ่งก่อสร้างดั้งเดิม การก่อสร้างดำเนินต่อไป สิ่งก่อสร้างยุคปัจจุบันรวมถึงตึกทานากะ (โรงเรียนพาณิชยการอิมพิเรียลคอลเลจ) สถานออกกำลังกายอีตอส หอพักเซาท์ไซด์และอีสต์ไซด์ เป็นต้น

พิธีฉลองปริญญาและวุฒิบัตรแห่งอิมพิเรียลคอลเลจ

อิมพิเรียลคอลเลจมีธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเกี่ยวเนื่องกับการรับปริญญาและการมอบวุฒิบัตร โดยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นหลังปริญญาจะได้รับวุฒิบัตรแห่งอิมพิเรียลคอลเลจ (Diploma of Imperial College: DIC)[18] พิธีรับปริญญาบัตรมีชื่อเฉพาะคือ พิธีฉลองปริญญา (Commemoration Day) โดยถือเอาชื่อจากวันที่ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ เสด็จพระราชดำเนินมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1945[19]

อิมพิเรียลคอลเลจยังคงได้รับอภิสิทธิ์ในการจัดพิธีฉลองปริญญาสำหรับบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ณ รอยัลอัลเบิร์ตฮอลล์ มาจนถึงปัจจุบัน[20]

ศิษย์เก่าชาวไทยที่มีชื่อเสียง

อ้างอิง

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.