คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นับได้ว่าเป็นคณะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด และเป็นคณะแพทยศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากที่สุดของประเทศไทย โดยมีต้นกำเนิดมาจาก โรงเรียนแพทยากร และพัฒนามาจนกระทั่งเป็น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีอายุ 128 ปี มีแพทย์สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 128 รุ่น นักศึกษาแพทย์ปีการศึกษา 2567 นี้นับเป็นรุ่นที่ 135
Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University | |
สถาปนา | 5 กันยายน พ.ศ. 2433 |
---|---|
สังกัดการศึกษา | มหาวิทยาลัยมหิดล |
คณบดี | ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อภิชาติ อัศวมงคลกุล |
ที่อยู่ | |
สี | สีเขียวศิริราช |
เว็บไซต์ | www |
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ เผยแพร่ความรู้สู่สังคมและให้การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไป มีชื่อเสียงและผลงานด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
ประวัติ
สรุป
วิชาการแพทย์ไทยแต่เดิมพัฒนาจากการใช้ยาสมุนไพรและรับการรักษาจากหมอยาตำราหลวงตามแบบแผนอย่างไทย ต่อมาเมื่อมีคณะมิชชันนารีจากต่างประเทศเข้ามาเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับวิทยาการทางการแพทย์แผนตะวันตกในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เกิดรูปแบบการรักษาพยาบาลแบบใหม่ขึ้นในประเทศ ไม่นานในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น เพื่อจัดระเบียบและยกระดับมาตรฐานการแพทย์และการสาธารณสุขในประเทศให้สมกับความรุ่งเรืองของประเทศ พระองค์ทรงจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ท่าน คือ
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นนายก
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
- พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
- พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
- พระยาโชฏึกราชเศรษฐี
- เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี
- ดร.ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์
เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศ คณะกรรมการได้กราบทูลขอแบ่งพื้นที่พระราชวังบวรสถานพิมุขด้านใต้อันเป็นพื้นที่หลวงร้างฝั่งธนบุรี เพื่อเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลและซื้อที่ริมข้างเหนือโรงเรียนของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพื่อทำท่าขึ้นโรงพยาบาล และตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลวังหลัง”
ในปี พ.ศ. 2430 ขณะกำลังก่อสร้างโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิด สร้างความโศกเศร้าพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เป็นอย่างมาก จึงมีพระราชประสงค์พระราชทานโรงพยาบาลเพื่อเป็นพระราชกุศล เมื่อเสร็จสิ้นงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้พระราชทานไม้ที่ใช้สร้างพระเมรุมาศจำนวน 15 หลังมาเป็นวัสดุสำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง ทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในส่วนของเจ้าฟ้าศิริราชฯ จำนวน 700 ชั่ง (56,000 บาท) เป็นค่าก่อสร้างอีกด้วย ตามพระราชปรารภของพระองค์ในพระราชหัตถเลขาถึงคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ลงวันอังคาร เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิ์ศก จุลศักราช 1250 ใจความตอนหนึ่งว่า
"...ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้าย ลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาเจ็บไข้ เห็นแต่ว่าลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ ยังได้ความทุกขเวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชนุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาล ทำความเห็นมายื่น เห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึงได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการ แลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์แก่คนที่ได้ความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ด้วย ยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตายให้เป็นส่วนในการทำโรงพยาบาลนี้ เป็นต้นทุน..."
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันกำเนิดโรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล และพระราชทานนามใหม่แก่โรงพยาบาลว่า “โรงศิริราชพยาบาล” สังกัดกรมพยาบาลอันมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นอธิบดี เมื่อตั้งโรงพยาบาลแล้ว ในชั้นแรกคณะกรรมการได้เชิญหมอหลวงที่มีชื่อเสียงมาเป็นแพทย์ใหญ่ ซึ่งได้พระประสิทธิวิทยา (หนู) ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง พร้อมกับลูกศิษย์อีก 2 คน
ในช่วงนั้น คณะกรรมการเห็นว่าการจัดหาแพทย์สำหรับโรงพยาบาลค่อนข้างลำบาก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ จึงได้กราบบังคมทูลให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์และเพื่อการอบรมการรักษาด้วยการผ่าตัดสมัยใหม่ให้แก่แพทย์ไทยด้วย โดยตั้งโรงเรียนขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าโรงพยาบาลในปี พ.ศ. 2432 และเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2433 รับสมัครเข้าศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน มีดอกเตอร์ยอร์ช แมกฟาแลนด์ (หมอเมฆฟ้าลั่น ภายหลังได้เป็น อำมาตย์เอก ศาสตราจารย์พระอาจวิทยาคม) เป็นอาจารย์แพทย์ กระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 จึงได้เปิด “โรงเรียนแพทยากร” ขึ้นอย่างเป็นทางการตามพระบรมราชโองการ และพัฒนาต่ออย่างรวดเร็วจนได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย” ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443
ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมชนกนาถ ในโอกาสนี้ได้ทรงรวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าเป็น 1 ใน 4 คณะแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า “คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ต่อมาได้เปลี่ยนนามตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2461 เป็น “คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล” โดยก่อนที่นิสิตจะได้ข้ามไปเรียนที่โรงพยาบาลศิริราชจะต้องเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในปี พ.ศ. 2464 รัฐบาลได้เริ่มเจรจากับมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ (Rockefeller) โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการเจรจาเพื่อขอความช่วยเหลือปรับขยายหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลให้ถึงระดับปริญญา โดยมีโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลฝึกหัด นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างตึกในโรงพยาบาลศิริราชหลายหลัง และยังได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทย สำหรับไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์ นับได้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ มีพระมหากรุณาธิคุณต่อศิริราชและการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยเป็นอย่างมาก ทางคณะฯ จึงได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ไว้ ณ ใจกลางโรงพยาบาล และถวายพระราชสมัญญาว่า “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”
ในรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้จัดระเบียบการบริหารราชการใหม่และก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 โดยโอนคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกทันตแพทยศาสตร์ แผนกสัตวแพทยศาสตร์ และแผนกเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นคณะในสังกัดของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะย้ายมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2502 แต่นักศึกษายังคงต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิมแม้คณะจะเปลี่ยนไปสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แล้ว [1]
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512[2] พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนามใหม่แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ว่า “ มหาวิทยาลัยมหิดล ” พร้อมกันนี้ คณะได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” มหาวิทยาลัยมหิดล โดยในระหว่างนี้ได้ช่วยเหลือในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย
ปี พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำนวน 30 ไร่ รวมเป็น 107 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์
วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ ณ บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) เขตบางกอกน้อย และพระราชทานนาม ดังนี้ สถาบันการแพทย์ชื่อว่า สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช (Sayamindradhiraj Medical Institute), อาคารโรงพยาบาลชื่อว่า “อาคารปิยมหาราชการุณย์” (Piyamaharajkarun Building) และอาคารวิจัยชื่อว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” (His Majesty the King’s 80th Birthday Anniversary 5th December 2007 Building)
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ประกาศความร่วมมือกับไอซีเอสในการจัดตั้งศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต หรือ ศิริราช เอช โซลูชันส์ โดยเป็นศูนย์สุขภาพแห่งแรกที่ตั้งนอกพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล[3] โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566[4]
ภาควิชาและหน่วยงาน
ภาควิชา
|
|
สถาน / ศูนย์
- ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
- สถานวิทยามะเร็งศิริราช
- สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
- สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
- โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร
หลักสูตร
ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณทิต หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขากายอุปกรณ์ |
หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์มหาบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
ทำเนียบคณบดี
สรุป
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลมีผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีมาแล้ว 17 คน ดังรายพระนามและรายนามต่อไปนี้[5]
ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ||
---|---|---|
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. อำมาตย์เอก พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ (จรัส วิภาตะแพทย์) | พ.ศ. 2460 - พ.ศ. 2467 | |
2. หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี | พ.ศ. 2468 | |
3. ศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์ แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส | พ.ศ. 2468 - พ.ศ. 2481 | |
4. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อำมาตย์ตรี พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) | พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2486 | |
ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ | ||
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์) | พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2487 | |
6. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงพิณพากย์พิทยาเภท (พิณ เมืองแมน) | พ.ศ. 2488 - พ.ศ. 2501 | |
7. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัชวาล โอสถานนท์ | พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2506 | |
8. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ | พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2510 | |
9. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร | พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2512 | |
ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล | ||
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
8. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ | พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 2516 | |
10. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ วีกิจ วีรานุวัตติ์ | พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2528 | |
11. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ นที รักษ์พลเมือง | พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2532 | |
12. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี | พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534 | |
13. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อรุณ เผ่าสวัสดิ์ | พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2541 | |
14. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ชนิกา ตู้จินดา | พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2543 | |
15. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร | พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2550 | |
16. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ | พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2554 | |
17. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ อุดม คชินทร | พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2558 | |
18. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา | พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2565 | |
19. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อภิชาติ อัศวมงคลกุล | พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน[6] | |
ผู้บริหารคณะ
รายชื่อผู้บริหาร | ตําเเหน่ง |
---|---|
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล | คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล |
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย อัครวิพุธ | รองคณบดี คนที่ 1 เเละผู้อํานวยการโรงเรียนเเพทย์ศิริราช |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธารา วงศ์วิริยางกูร | รองคณบดี คนที่ 2 |
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร | ผู้อํานวยการโรงพยาบาลศิริราช |
ศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล | ผู้อํานวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ |
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร | ผู้อํานวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรบุตร มาศรัตน | รองคณบดีฝ่ายบริหาร |
รองศาสตราจารย์ เเพทย์หญิงอุบลรัตน์ สันตวัตร | รองคณบดีฝ่ายการคลัง |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อนุวัฒน์ สุตัณฑวิบูลย์ | รองคณบดีฝ่ายนโยบายเเละเเผน |
อาจารย์ นายเเพทย์ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ | รองคณบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล |
รองศาสตราจารย์ นายเเพทย์ตรีภพ เลิศบรรณพง | รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา |
รองศาสตราจารย์ ดร.นายเเพทย์ถาวรชัย ลิ้มจินดาพร | รองคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา |
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิ์ สาธรสุเมธี | รองคณบดีฝ่ายวิจัยเเละนวัตกรรม |
ศาสตราจารย์ นายเเพทย์อาศิส อุนนะนันทน์ | รองคณบดีฝ่ายวิชาการ |
ศาสตราจารย์ เเพทย์หญิงธนัญญา บุณยศิรินันท์ | รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมความเป็นเลิศเเละคุณค่าองค์กร |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ อรุณพฤกษากุล | รองคณบดีฝ่ายทรัพย์สินเเละพัสดุ |
รองศาสตราจารย์ เเพทย์หญิงอรอุมา ชัยวัฒน์ | รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพัฒน์ สุริยผล | รองคณบดีสารสนเทศ |
รองศาสตราจารย์ นายเเพทย์รัฐพล ตวงทอง | รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา |
รองศาสตราจารย์ นายเเพทย์ประภัทร วานิชพงษ์พันธุ์ | รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ |
รองศาสตราจารย์ เเพทย์หญิงนันทกร ทองแตง | รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษเเละองค์กรสัมพันธ์ |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายเเพทย์ธีรวุฒิ ธรรมวิบูลย์ศรี | รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ |
โรงพยาบาลในสังกัด
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย | จังหวัด |
---|---|
โรงพยาบาลศิริราช | กรุงเทพมหานคร |
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ | กรุงเทพมหานคร |
ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก | นครปฐม |
รางวัล
ปี | รางวัล | สาขา | ผล |
---|---|---|---|
2566 | Thailand Social Awards 2023[7] | Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ | ชนะ |
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.