Loading AI tools
อดีตประธานรัฐสภาไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชัย ชิดชอบ (5 เมษายน พ.ศ. 2471 – 24 มกราคม พ.ศ. 2563) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย[4] อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นอดีตประธานชั่วคราวสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 และ 25 เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดของสภาในขณะนั้นเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคพลังประชาชน ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนนายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่โดนใบแดง [5] ก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดบุรีรัมย์ หลายสมัย และสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 9 (ส.ว.) จังหวัดบุรีรัมย์
ชัย ชิดชอบ | |
---|---|
ประธานรัฐสภาไทย และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร | |
ดำรงตำแหน่ง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 – 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 (2 ปี 360 วัน) | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
นายกรัฐมนตรี | สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
ก่อนหน้า | ยงยุทธ ติยะไพรัช |
ถัดไป | สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 เมษายน พ.ศ. 2471[1] จังหวัดสุรินทร์ ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 24 มกราคม พ.ศ. 2563 (91 ปี) จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย [2][3] |
ศาสนา | พุทธ |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2500—2501, 2511—2512, 2514—2525) อิสระ (2512—2514) ประชาราษฏร์ (2525—2527) กิจสังคม (2527—2531) ชาติไทย (2531—2540, 2543—2547) เอกภาพ (2540—2543) ไทยรักไทย (2547—2550) พลังประชาชน (2550—2551) ภูมิใจไทย (2551—2563) |
คู่สมรส | ละออง ชิดชอบ |
ลายมือชื่อ | |
นายชัย ชิดชอบ เกิดที่บ้านเพี้ยราม ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรของนายเมียศกับนางเรียด ชิดชอบ จบการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนสุรวิทยาคาร อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ [6]
นายชัย ชิดชอบ ใช้วุฒิการศึกษา ม.6 ถึงปี พ.ศ. 2539 ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี นายชัย จึงสมัครเรียนต่อ ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาตรี สาขาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ชีวิตส่วนตัว นายชัย ชิดชอบ สมรสกับนางละออง ชิดชอบ มีบุตรชาย 5 คน หญิง 1 คน บุตรคือนายชลอ ชิดชอบ กรรมการบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด นางสาวอุชษณีย์ ชิดชอบ วุฒิสภาไทย ชุดที่ 8 นายทวีศักดิ์ ชิดชอบ นายเนวิน ชิดชอบ เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยชื่นชอบนักการเมืองชาวอิสราเอลคนหนึ่ง ที่ชื่อ โมเช ดายัน ถึงขนาดตั้งฉายาให้ตัวเองว่า "ชัย โมเช"
ชัย ชิดชอบ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราที่บ้านพักในโรงโม่หินศิลาชัย ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 สิริอายุ 91 ปี 9 เดือน โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี
นายชัย ชิดชอบ เริ่มงานการเมืองจากการเมืองท้องถิ่น เป็นกำนันตำบลอิสาน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และทำธุรกิจโรงโม่หิน ชื่อโรงโม่หินศิลาชัย ที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มงานการเมืองตั้งแต่ปี 2500 โดยสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ [7] และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบุรีรัมย์หลายสมัยติดต่อกัน ในการเลือกตั้งปี 2512 (อิสระ), 2522 (พรรคประชาราษฎร์), 2526 (พรรคกิจสังคม), 2529 (พรรคสหประชาธิปไตย), 2535/2 2538 (พรรคชาติไทย), 2539 (พรรคเอกภาพ) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อปี 2544 (พรรคชาติไทย) (เลื่อนแทน), 2550 (พรรคพลังประชาชน), 2554 2562 (พรรคภูมิใจไทย) และสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์ปี 2549 [8]และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 2[9]
นายชัย ชิดชอบ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 นายชัยได้ทำหน้าที่ประธานโดยได้ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ ขณะที่นายชัยจะคุกเข่าสดับพระบรมราชโองการฯ ก็เกิดล้มหัวคะมำ และเมื่อคุกเข่ารับฟังเสร็จแล้ว เมื่อจะลุกขึ้นก็ลุกไม่ขึ้น แต่นายชัยก็พยายามจะลุกให้ได้ จึงทำให้ล้มไปข้างหน้า จนนายนิสิต สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ที่มาร่วมในพิธีด้วย รีบเข้าไปพยุงนายชัยให้ยืนขึ้นเป็นปกติ และเดินกลับไปห้องประชุมได้และเรื่องนี้ก็ได้เป็นที่เล่าขานถึงความศักดิ์สิทธ์ของรัฐสภาในการคัดสรรผู้เหมาะสมที่จะนั่งบังลังก์[10]
ขณะปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส. หนองบัวลำภู พรรคพลังประชาชน ได้เสนอ นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส. สกลนคร พรรคพลังประชาชน เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่นายจุมพฏไม่เห็นชอบด้วย นายพิษณุจึงมีทีท่าจะเสนอคนอื่นแทน นายชัย ชิดชอบ จึงกล่าวขึ้นกลางที่ประชุมว่า "จะเสนอใครถามเจ้าตัวก่อนดีกว่าว่าเขารับหรือไม่ เจ้าตัวไม่เอายังเสือกเสนออยู่อีก จะเสนอใครก็รีบเสนอ เสียเวล่ำเวลา" ท่ามกลางความตกตะลึงของ ส.ส. ในที่ประชุม อย่างไรก็ดี ความหงุดหงิดของนายชัยเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มประชุมแล้ว เนื่องจากความไม่พร้อมเพรียงและความวุ่นวายของ ส.ส. ที่เข้าประชุม จนนายชัยต้องกดสัญญาณเรียกถึงหกครั้ง และสั่งให้นับองค์ประชุมอีกหลายครั้ง ทั้งนี้ ในวันต่อมา นายชัยก็ได้กล่าวขอโทษ ส.ส. สำหรับกรณีดังกล่าวอย่างสุภาพด้วยความรู้สึกผิด[11][12][13][14]
ภายหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ นายชัยซึ่งเป็นบิดาของเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน จึงได้ย้ายตามกลุ่มดังกล่าวเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายชัย ชิดชอบ ได้กลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งเมื่อมีอายุมากแล้ว จึงได้รับการเรียกขานเล่น ๆ จากสื่อมวลชน ว่า "ปู่ชัย" หรือ "ลุงชัย" และในปลายปี พ.ศ. 2552 ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาว่า "ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์" อันเนื่องจากการทำหน้าที่ประธานสภาฯ ที่มีลูกล่อลูกชนและมีมุกตลกแพรวพราวสร้างความสนุกสนานลดความตึงเครียดในที่ประชุมเสมอ[15]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.