Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลเรือเอก จิตต์ สังขดุลย์ (นามเดิม จงจิตต์ สังขดุลย์) นายทหารชาวไทย เป็นทหารผ่านศึกในยุทธนาวีเกาะช้าง อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหาร เจ้ากรมส่งกำลังบำรุง เสนาธิการทหารเรือ และปลัดกระทรวงกลาโหม
จิตต์ สังขดุลย์ | |
---|---|
ปลัดกระทรวงกลาโหม | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2517 – 30 กันยายน พ.ศ. 2520 | |
ก่อนหน้า | พลเอก บุลศักดิ์ วรรณมาศ |
ถัดไป | พลเอก ประลอง วีรปรีย |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 |
เสียชีวิต | 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 (78 ปี) |
พล.ร.อ. จิตต์ สังขดุลย์ เกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 เป็นบุตรคนที่ 4 ของพระพิจิตรจำนง (แจง สังขดุลย์) และนางยิ่ง สังขดุลย์ จากจำนวนพี่น้องชายหญิงทั้งหมด 11 คน ท่านเป็นพี่ชายของคุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา ภริยาของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน อดีตทหารอากาศและนักประพันธ์ชื่อดังของเมืองไทย
พล.ร.อ. จิตต์ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ และได้เข้าประจำการเป็นนายทหารเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2480
ขณะที่พลร.อ. จิตต์ มียศเป็น เรือโท นั้น ท่านได้รับคำสั่งให้ประจำอยู่ที่แผนกการปืน เรือหลวงธนบุรี ซึ่งเป็นเรือปืนยามฝั่งที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือในขณะนั้น ต่อมาเมื่อเกิดกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส เรือหลวงธนบุรีจึงได้รับคำสั่งให้ไปรักษาน่านไทยบริเวณพรมแดนด้านตะวันออกที่หมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อเกิดเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้างในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ร.ท. จงจิตต์ สังขดุลย์ ร.น. (ยศและชื่อในขณะนั้น) ก็ได้เข้าร่วมรบในฐานะนายป้อมปืนท้ายด้วย ภายหลังสิ้นสงครามแล้ว เรือโทจงจิตต์จึงได้รวบรวมบันทึกความทรงจำของตนเอง และของเพื่อนทหารที่ร่วมรบ ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "เมื่อธนบุรีรบ" เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484
หลังจากสิ้นสุดกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสแล้ว พล.ร.อ. จิตต์ได้รับราชการในกองทัพเรือ และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ จากตำแหน่งในหน่วยรบของกองต่อสู้อากาศยาน เป็นต้นเรือเรือหลวงศรีอยุธยา ย้ายมาประจำอยู่ที่กรมเสนาธิการทหารเรือ และโรงเรียนนายเรือ จนได้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนใน พ.ศ. 2500 จากนั้นก็ได้ย้ายไปเป็นทูตฝ่ายทหารเรือประจำประเทศฝรั่งเศสและประเทศสเปน ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด (1 ตุลาคม พ.ศ. 2507 - 30 กันยายน พ.ศ. 2510[1]) เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหาร (1 ตุลาคม พ.ศ. 2510 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511[2]) เสนาธิการทหารเรือ และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม[3] ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[4] และในปี พ.ศ. 2519 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน[5]
พล.ร.อ. จิตต์ สังขดุลย์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 รวมอายุได้ 78 ปี
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.