Remove ads
พระโอรสคนเดียวในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ร้อยตำรวจตรี นายกองตรี คุณพุ่ม เจนเซน (นามเดิม ภูมิ เจนเซน; 16 สิงหาคม พ.ศ. 2526 — 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547) ชื่อเล่น ภู เป็นพระโอรสคนเดียวในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กับปีเตอร์ เจนเซน และยังเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพี่น้องคือท่านผู้หญิงพลอยไพลินและท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ร้อยตำรวจตรี คุณพุ่ม เจนเซน | |
---|---|
เกิด | ภูมิ เจนเซน 16 สิงหาคม พ.ศ. 2526 แซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ |
เสียชีวิต | 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 (21 ปี 132 วัน) อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา |
สาเหตุเสียชีวิต | จมน้ำจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ |
บิดามารดา | ปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี |
คุณพุ่ม เจนเซนถึงแก่อนิจกรรมจากกรณีพิบัติภัยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 สิริอายุได้ 21 ปีจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547
คุณพุ่ม เจนเซน มีนามเดิมว่า ภูมิ เจนเซน [อ่านว่า พู-มิ][1] เกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ณ โรงพยาบาลในเมืองแซนดีเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กับนายปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน[2] มีพี่น้องร่วมพระมารดา-บิดา คือท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ภายหลังพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานนามใหม่ว่า "พุ่ม"[1]
คุณพุ่ม เจนเซนเกิดและเติบโตในแซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เมื่อแรกเกิด คุณพุ่มมีน้ำหนัก 8 ปอนด์ 16 ออนซ์[3] แข็งแรงและปกติ ก่อนที่จะเริ่มมีอาการของโรคออทิซึมเมื่อมีอายุได้ 18 เดือน[3] คุณพุ่ม เจนเซนได้เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนมัธยมทอร์รีย์ไพนส์ (Torrey Pines High School) เช่นเดียวกับท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน น้องสาว[4] จนสำเร็จการศึกษา ภายหลังบิดาและมารดาหย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2541 แต่คุณพุ่มต้องอยู่ในซานดีเอโกต่อจนมีอายุครบ 18 ปี ถือว่าบรรลุนิติภาวะจึงจะสามารถกลับมารักษาภายในประเทศไทยได้ เนื่องจากปัญหาการหย่าร้างของบิดาและพระมารดา[3] ที่สุดทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 พร้อมด้วยคุณพุ่ม ส่วนท่านผู้หญิงพลอยไพลินยังศึกษาในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร[5] และท่านผู้หญิงสิริกิติยาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์[4] โดยพำนักอยู่ร่วมกับบิดา[5]
หลังจากกลับมายังประเทศไทย คุณพุ่มเข้าศึกษาต่อในโปรแกรมพิเศษออทิสติกที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อินเตอร์เนชั่นแนลโปรแกรม และโปรแกรมวิทยาศาสตร์กีฬา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[6]
คุณพุ่มมีความสามารถพิเศษในการนับคำนวณตัวเลขปฏิทิน เพียงแค่บอกวันที่ เดือน ปีเกิด คุณพุ่มสามารถบอกได้ทันทีว่า บุคคลนั้นเกิดวันอะไร และได้รับประกาศนียบัตรทองคำจากพิพิธภัณฑ์ริบลีส์ ในฐานะคนไทยคนแรกที่มีความสามารถดังกล่าว[7] นอกจากนี้คุณพุ่มยังมีความสามารถทางด้านการเล่นกีฬา โดยเฉพาะการเล่นเจ็ตสกี[6] ด้วยเหตุที่คุณพุ่มป่วยเป็นโรคออทิซึม ทำให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงสนพระทัยที่จะปฏิบัติพระกรณียกิจช่วยเหลือผู้ป่วยออทิซึมกับโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งได้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ป่วยออทิซึม[6]
คุณพุ่ม เจนเซน ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 สิริอายุ 21 ปี[8][9][10] ในเหตุการณ์คลื่นสึนามิ เนื่องจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่เล่นเจ็ตสกีอยู่ที่ชายหาดโรงแรมมันดะเลย์รีสอร์ต บ้านเขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยได้พบศพเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ข้างแท็งก์น้ำหลังโรงแรมลาฟลอร่า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ห่างจากสถานที่ที่คุณพุ่มเล่นเจ็ตสกี 100 เมตร เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้องครักษ์ 4 คน และมนุษย์กบที่ถวายการอารักขาหายไป 2 คน ในส่วนพระองค์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีทรงปลอดภัยดี[11] ส่วนคุณสิริกิติยา เจนเซนนั้นบาดเจ็บที่ขา[12]
เมื่อเวลา 19.00 น. เครื่องบินพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ สยามมงกุฏราชกุมารทรงขับ[13] เดินทางมาถึงท่าอากาศยาน บน.6 จากนั้นในเวลา 19.45 น. ขบวนรถพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ฉลองพระองค์นักบินทรงขับรถพระที่นั่งนำทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็ก นำขบวนรถยนต์พระที่นั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระบรมวงศานุวงศ์ รถพยาบาลหลวง หมายเลขทะเบียน รยล. 839 นำศพคุณพุ่มเข้ามาทางประตูวิเศษไชยศรีมายังศาลาสหทัยสมาคม[11] ในพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญกุศลและการสวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 50 วัน ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังเป็นกรณีพิเศษเพื่อสะดวกในการบำเพ็ญพระกุศลในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ และพระราชทานโกศราชวงศ์เป็นกรณีพิเศษในฐานะพระราชนัดดาอีกด้วย ซึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานศพคุณพุ่ม เจนเซน โดยตลอดจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร), สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา (เมื่อครั้งยังทรงเป็นหม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล), ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี (เมื่อครั้งยังทรงเป็นหม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา), คุณพลอยไพลินและคุณสิริกิติยา เจนเซน ไปในการพระราชทานเพลิงศพคุณพุ่ม เจนเซน ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส[14]
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 คุณพุ่ม เจนเซน ได้รับมอบบัตรประจำตัวและเครื่องหมายของกองอาสารักษาดินแดนติดยศ "ว่าที่นายหมวดตรี" ซึ่งในพิธีรับมอบครั้งนั้น คุณพุ่มกล่าวว่า ภาคภูมิใจที่ได้มาเป็นทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบและทูลกระหม่อมแม่มีรับสั่งแสดงความยินดี พร้อมชมเชยว่าเก่งมาก ซึ่งต่อไปถ้ามีโอกาสจะช่วยเหลืองานด้านสังคม การขี่ม้าร่วมขบวนสวนสนามในวาระสำคัญ ๆ ภายหลังมีการพระราชทานยศ นายกองตรี ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2548[15] นอกจากติดยศนายกองตรีแล้ว คุณพุ่มยังติดยศ "ร้อยตำรวจตรี" อีกด้วย เนื่องจากเป็นตำรวจม้า สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ[16][17]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.