การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส

การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส (อังกฤษ: French invasion of Russia) หรือในรัสเซียรู้จักกันในชื่อ สงครามของผู้รักชาติปี 1812 (รัสเซีย: Отечественная война 1812 года) หรือในฝรั่งเศสรู้จักกันในชื่อ การทัพรัสเซีย (ฝรั่งเศส: Campagne de Russie) เป็นความพยายามของจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ในการกดดันให้รัสเซียล้มเลิกทำการค้าขายกับอังกฤษ รวมถึงเพื่อชิงดินแดนโปแลนด์มาจากรัสเซีย ปฏิบัติการครั้งนี้สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ยับเยินของฝรั่งเศส

ข้อมูลเบื้องต้น การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส, วันที่ ...
การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส
ส่วนหนึ่งของ สงครามนโปเลียน
Thumb
ตามเข็มฯจากบนซ้าย: 1) ยุทธการที่โบโรดีโน, 2) เพลิงไหม้ในมอสโก, 3) จอมพลมีแชล แน ในยุทธการเคานัส, 4) การถอนกำลัง
วันที่24 มิถุนายน – 14 ธันวาคม ค.ศ. 1812
(5 เดือน 2 สัปดาห์ 6 วัน)
สถานที่
ผล ชัยชนะของรัสเซีย[1]
กองทัพใหญ่ของนโปเลียนล่มสลาย
เริ่มสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก
คู่สงคราม

จักรวรรดิฝรั่งเศส

พันธมิตร:
จักรวรรดิออสเตรีย
ราชอาณาจักรปรัสเซีย
เดนมาร์ก–นอร์เวย์
จักรวรรดิรัสเซีย
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
นโปเลียนที่ 1
อาแล็กซ็องดร์ แบร์ตีเย
หลุยส์-นีกอลา ดาวู
มีแชล แน
เอเตียน แม็กโดนัลด์
นีกอลา อูดีโน
เฌโรม โบนาปาร์ต
ยูแซฟ ปอญาตอฟสกี
ฌออากีม มูว์รา
เออแฌน เดอ โบอาร์แน
เจ้าชายคาร์ล ฟิลิป
ลุดวิจ ฟอน ยอร์ก
ยูลิอุส ฟอน กราเวือร์ท
โยฮันน์ เอวัลด์[2][3]
อเล็กซานเดอร์ที่ 1
มีฮาอิล คูตูซอฟ
ไมเคิล บาร์เคลย์
ปิออตร์ บากราตีออน 
ปีเตอร์ วิตเก็นสไตน์
อะเลคซันดร์ ตอร์มาซอฟ
ปาเวล ชีชากอฟ
กำลัง
กองทัพใหญ่:
~685,000 นาย[4]
กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย:
มากที่สุด ~900,000 นาย[4]
ความสูญเสีย
เสียชีวิต: ~400,000 นาย[5][6]
เหลือรอด: 120,000 นาย (ในจำนวนนี้เป็นทหารฝรั่งเศส 35,000 นาย)
เสียชีวิต: 210,000 นาย[7]
ปิด

เบื้องหลัง

สรุป
มุมมอง

ภายหลังความพ่ายแพ้ในยุทธนาวีที่ตราฟัลการ์เมื่อปี 1805 จักรพรรดินโปเลียนก็ล้มเลิกแผนการบุกครองเกาะบริเตนใหญ่ และหันไปทำสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่สี่ภายในยุโรปตอนกลาง ฝรั่งเศสได้รับชัยชนะในสงครามดังกล่าวในปี 1807 และได้ดินแดนราวครึ่งหนึ่งมาจากราชอาณาจักรปรัสเซีย หลังจากนั้น จักรวรรดิออสเตรียก็ก่อสงครามสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่ห้าในปี 1809 เพื่อพยายามโค่นล้มนโปเลียน แต่ก็กลับพ่ายแพ้ต่อกองทัพนโปเลียน และเกิดเป็นสนธิสัญญาเชินบรุน

ด้วยผลของสนธิสัญญาเชินบรุนซึ่งยุติสงครามดังกล่าว ทำให้มณฑลกาลิเซียตะวันตก (ปัจจุบันคือภาคตะวันออกเฉียงใต้ของโปแลนด์) ซึ่งเดิมเป็นของราชวงศ์ออสเตรีย ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นวอร์ซออันเป็นมิตรของฝรั่งเศส รัสเซียมองว่าเหตุการนี้เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของรัสเซีย และมองว่าเป็นเค้าลางที่ฝรั่งเศสจะยกทัพบุกรัสเซีย[8]

นโปเลียนพยายามเจรจาสันติภาพกับอังกฤษ แต่ถูกอังกฤษปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย เช่นนั้นแล้วนโปเลียนจึงพยายามบังคับอังกฤษทางอ้อม โดยการบังคับให้พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย ยุติการติดต่อค้าขายกับอังกฤษ เพื่อกดดันทางอ้อมให้อังกฤษสูญเสียรายได้จนต้องยอมเซ็นสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศส[9] และปฏิบัติการนี้ก็ยังมีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงโปแลนด์มาจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จักรพรรดินโปเลียนในช่วงนี้มีสภาพจิตใจและร่างกายต่างไปจากอดีต พระองค์เริ่มลงพุงและมีโรคภัยไข้เจ็บ[10]

เหตุการณ์

สรุป
มุมมอง

การบุกรัสเซีย

ปฏิบัติการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1812 เมื่อกองทัพใหญ่ (Grande Armée) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทำการข้ามแม่น้ำเนมันเข้าสู่แผ่นดินรัสเซีย กองทัพใหญ่มีกำลังพลมากถึง 680,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นทหารฝรั่งเศสประมาณ 400,000 นาย

จอมพลไมเคิล บาร์เคลย์ ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียเชื้อชาติสกอต กำชับไม่ให้กองทัพรัสเซียเข้าปะทะกับกองทัพฝรั่งเศส แม้ว่ารองผู้บัญชาการอย่างพลเอกบากราตีออนจะเรียกร้องให้ออกโจมตีก็ตาม บาร์เคลย์พยายามสร้างแนวรับที่เหนียวแน่นอยู่หลายครั้ง แต่การรุกของฝรั่งเศสมีความรวดเร็วเกินกว่าจะเตรียมแนวรับสำเร็จ ท้ายที่สุด รัสเซียต้องร่นถอยในทุกครั้ง

การปะทะเล็กหลายครั้งรวมถึงศึกใหญ่ที่สโมเลนสค์ในสิงหาคมปีนั้น ฝรั่งเศสเอาชนะได้เสมอ แต่ถึงแม้ฝรั่งเศสสามารถรุกคืบต่อเนื่อง นโปเลียนก็ไม่พอใจที่กองทัพรัสเซียมีท่าทีหลีกเลี่ยงการปะทะ และเอาแต่ถอยลึกเข้าในแผ่นดิน ทิ้งเมืองสโมเลนสค์ไว้ในกองเพลิง ทำให้แผนการบดขยี้กองทัพรัสเซียที่สโมเลนสค์ถูกล้มเลิก ฝรั่งเศสจำเป็นต้องไล่ตามกองทัพรัสเซียลึกเข้าในแผ่นดิน[11]

ในระหว่างที่กองทัพรัสเซียถอยลึกเข้าในแผ่นดิน พลเอกบากราตีออนสั่งการให้พวกคอสแซคเผาหมู่บ้าน, เมือง และทุ่งข้าวระหว่างทาง[9] เพื่อทำลายสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ต่อฝรั่งเศส กลยุทธ์ผลาญภพของรัสเซียสร้างความยุ่งยากและความตกตะลึงแก่นายทหารฝรั่งเศส พวกเขาไม่อยากเชื่อว่ารัสเซียจะยอมทำร้ายราษฎรและแผ่นดินของตนเองเพื่อสกัดกั้นข้าศึก ซึ่งยากที่แม่ทัพชาวฝรั่งเศสจะเอาอย่าง[12] ด้วยเหตุฉะนี้ ความเป็นอยู่กองทัพนโปเลียนจึงต้องพึ่งการส่งกำลังบำรุงเพียงอย่างเดียว ซึ่งเสบียงที่ถูกขนส่งก็ไม่พอเลี้ยงกองทัพขนาดมหึมา ความขาดแคลนเสบียงบังคับให้กำลังพลฝรั่งเศสออกจากค่ายทหารในเวลากลางคืนเพื่อหาอาหาร ซึ่งบ่อยครั้งที่กำลังพลกลุ่มนี้ถูกจับหรือถูกฆ่าโดยพวกคอสแซค

กองทัพรัสเซียร่นถอนเข้าในแผ่นดินต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่าสามเดือน การสูญเสียดินแดนอันไพศาลเริ่มทำให้ขุนนางรัสเซียกลัดกลุ้ม พวกขุนนางจึงรวมตัวกดดันซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ให้ปลดจอมพลไมเคิล บาร์เคลย์ ลงจากตำแหน่ง ในที่สุดพระองค์ก็ยินยอมแต่งตั้งทหารเก่าอย่างจอมพลมีฮาอิล คูตูซอฟ วีรบุรุษในสงครามรัสเซีย-ตุรกี ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพแทนอย่างไม่ค่อยยินดีพระทัยนัก กระบวนการถ่ายโอนตำแหน่งนี้กินเวลากว่าสองสัปดาห์

7 กันยายน บรรดากองพลฝรั่งเศสจำนวน 135,000 นาย เผชิญหน้ากองทัพรัสเซียราว 111,000 นายในบัญชาของจอมพลคูตูซอฟ ซึ่งขุดสนามเพลาะอยู่เชิงเขาก่อนถึงหมู่บ้านขนาดเล็กชื่อโบโรดีโน ประมาณ 110 กิโลเมตรทางตะวันตกของมอสโก ยุทธการที่โบโรดีโนถือเป็นการปะทะที่นองเลือดที่สุดในวันเดียวของสงครามนโปเลียน ซึ่งมีทหารเสียชีวิตกว่าเจ็ดหมื่นนาย แม้ว่านโปเลียนได้รับชัยชนะในทางเทคนิค แต่ก็เสียนายทหารสัญญาบัตรถึง 49 นายและกำลังพลอีกหลายหมื่น กองทัพรัสเซียที่เหลือรอดสามารถหลบหนีได้ในวันต่อมา[13]

การยึดมอสโก

Thumb
นโปเลียนในมอสโกที่มอดไหม้

หนึ่งสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน นโปเลียนกรีฑาทัพถึงมอสโก ซึ่งสร้างความงุนงงแก่ทุกคนอย่างมากที่มอสโกเป็นเมืองร้างที่มีพลเรือนอยู่เพียงน้อยนิด เนื่องจากจอมพลคูตูชอฟมีคำสั่งให้ถอนสรรพกำลังและประชาชนออกจากมอสโกแล้วตั้งแต่ต้นเดือน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัสเซียยังทิ้งคนส่วนหนึ่งไว้ในมอสโก คนกลุ่มนี้อาศัยจังหวะที่ฝ่ายฝรั่งเศสเผลอทำการวางเพลิงทั่วมอสโก กองทัพฝรั่งเศสใช้เวลาหกวันในการดับไฟอย่างทุลักทุเล มีการจับกุมและประหารผู้ลอบวางเพลิงจำนวนหลายคน

นโปเลียนยังคงตัดสินใจปักหลักในมอสโกเพื่อรอให้รัสเซียประกาศยอมแพ้ตามธรรมเนียมการเสียเมืองหลวง แต่การเสียมอสโกซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองก็ไม่ทำให้พระเจ้าซาร์ยอมจำนน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายตระหนักดีถึงความโหดร้ายของฤดูหนาวในรัสเซีย ดังนั้น นโปเลียนจึงต้องพิชิตรัสเซียก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มรูปแบบ นโปเลียนปักหลักอยู่ในมอสโกหนึ่งเดือนเศษก็ดำริว่ารอไม่ได้อีกแล้ว จึงยกทัพออกจากมอสโกไปยังเมืองคาลูกาทางตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นที่ตั้งทัพของจอมพลคูตูซอฟ

นโปเลียนถอนทัพ

Thumb
นโปเลียนถอนทัพออกจากรัสเซีย

การเคลื่อนพลของนโปเลียนไปยังคาลูกาถูกจับตาโดยหน่วยสอดแนมของรัสเซีย นโปเลียนปะทะกับกองทัพรัสเซียอีกครั้งที่มาโลยาโรสลาเวตในวันที่ 24 ตุลาคม แม้ว่าจะได้รับชัยชนะ แต่นโปเลียนก็เลิกล้มที่จะไปยังคาลูกาเนื่องจากเริ่มเข้าฤดูหนาวและตัดสินใจถอนสรรพกำลังออกจากรัสเซีย ซึ่งระหว่างที่ถอนกำลัง กองทัพนโปเลียนก็ต้องเผชิญกับความหฤโหดของหน้าหนาวในรัสเซีย ทั้งการขาดที่พักและเสบียงทั้งของทหารและม้า (ผลจากกลยุทธ์ผลาญภพของรัสเซีย), ความขาดแคลนเสื้อกันหนาว, ภาวะตัวเย็นเกิน, ภาวะเหน็ดเหนื่อย ทำให้กองทัพนโปเลียนด้อยศักยภาพลง นี่จึงเป็นโอกาสทองของรัสเซีย รัสเซียได้ทีจึงยกทัพคอยตามตีอยู่เนือง ๆ ในวันที่กองทัพนโปเลียนข้ามแม่น้ำเบเรซีนาในเดือนพฤศจิกายน มีทหารที่พร้อมรบเหลือเพียง 27,000 นาย กองทัพใหญ่ได้สูญเสียกำลังพลในปฏิบัติการนี้ถึง 380,000 นายและตกเป็นเชลยอีกกว่า 100,000 นาย[14] ปฏิบัติการครั้งนี้สิ้นสุดลงเมื่อข้าศึกนายสุดท้ายออกจากแผ่นดินรัสเซียในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1812

อ้างอิง

Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.