Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวเขมร (เขมร: ហាយនភាពខ្មែរ หรือ ការប្រល័យពូជសាសន៍ខ្មែរ, ฝรั่งเศส: Génocide cambodgien) ถูกดำเนินโดยเขมรแดงภายใต้การนำโดยพล พต ผู้ผลักดันกัมพูชาอย่างรุนแรงต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 1.5–2 ล้านคน ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 ถึง ค.ศ. 1979 ซึ่งเป็นจำนวนเกือบหนึ่งในสี่ของประชากรชาวกัมพูชาใน ค.ศ. 1975 (ประมาณ 7.8 ล้านคน)[1][2][3]
การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวเขมร | |
---|---|
เป็นส่วนหนึ่งของ สงครามเย็นในทวีปเอเชียและการปกครองกัมพูชาของเขมรแดง | |
กะโหลกของเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวเขมรที่อนุสรณ์เจิงเอก | |
สถานที่ | กัมพูชาประชาธิปไตย |
วันที่ | 17 เมษายน ค.ศ. 1975 – 7 มกราคม ค.ศ. 1979 (3 ปี, 8 เดือน, 20 วัน) |
เป้าหมาย | ผู้นำทางทหารและทางการเมืองของสาธารณรัฐเขมรในช่วงเมื่อก่อนหน้า, ผู้นำธุรกิจ, นักเขียน, นักแสดง, แพทย์, นักกฎหมาย, ชาวพุทธ, ชาวจาม, ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน, ชาวคริสต์, ปัญญาชน, ชาวกัมพูชาเชื้อสายไทย, ชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียดนาม |
ประเภท | พันธุฆาต, การสังหารชนชั้น, การสังหารการเมือง, การล้างชาติพันธุ์, วิสามัญฆาตกรรม, การทรมาน, ความอดอยาก, การบังคับใช้แรงงาน, การทดลองกับมนุษย์, การบังคับบุคคลให้สูญหาย, การเนรเทศ, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ |
ตาย | 1.5 ถึง 2 ล้านคน[1] |
ผู้ก่อเหตุ | เขมรแดง |
เหตุจูงใจ | ต่อต้านศาสนาพุทธ, ความรู้สึกต่อต้านชาวจาม, ลัทธิชนชั้น, ต่อต้านศาสนาคริสต์, ต่อต้านปัญญาชน, ความรู้สึกต่อต้านชาวไทย, ความรู้สึกต่อต้านชาวเวียดนาม, อาการกลัวอิสลาม, ลัทธิชาตินิยมเขมรอย่างรุนแรง, อาการกลัวจีน, ลัทธิมากซ์-เลนิน, ลัทธิเหมา |
พล พต และเขมรแดงได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และเหมา เจ๋อตง มาช้านาน[4][5][6][7][8][9] มีการคาดการณ์ว่าอย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ของความช่วยเหลือจากต่างประเทศแก่เขมรแดงมาจากจีน โดยใน ค.ศ. 1975 มีเพียงอย่างเดียวที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนเงินอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารจากจีนโดยปลอดดอกเบี้ย[9][10][11] ภายหลังจากได้ยึดอำนาจในเดือนเมษายน ค.ศ. 1975 เขมรแดงต้องการที่จะเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นสาธารณรัฐเกษตรกรรมสังคมนิยม ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามนโยบายลัทธิเหมาอย่างรุนแรงและได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[12][13][14][15] พล พต และเจ้าหน้าที่เขมรแดงคนอื่น ๆ ได้เข้าพบกับประธานเหมาอย่างเป็นทางการที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1975 ซึ่งได้รับการอนุมัติและคำแนะนำ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น จาง ชุนเฉียว ได้เดินทางมาเยือนกัมพูชาในภายหลังเพื่อให้ความช่วยเหลือ[16] เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เขมรแดงได้ทำให้เมืองว่างเปล่าและบังคับให้ชาวกัมพูชาย้ายไปตั้งค่ายแรงงานในชนบทที่มีการประหารชีวิตหมู่ การเกณฑ์บังคับใช้แรงงาน การทำร้ายร่างกาย ความอดอยากหิวโหย และเกิดโรคระบาด[17][18] พวกเขาเริ่มต้นด้วย "มหาโลดเผลาะ" (មហាលោតផ្លោះ maha lout ploh อ่านว่า มอฮาโลดเผลาะฮ์) ซึ่งเป็นการลอกเลียนแบบนโยบายการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าของจีนที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตกว่าสิบล้านคนในทุพภิกขภัยจีนใหญ่[19][20] ใน ค.ศ. 1976 เขมรแดงได้เปลี่ยนประเทศเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 ประชากรจำนวน 1.5 ถึง 2 ล้านคน เสียชีวิตเนื่องจากนโยบายของเขมรแดง รวมทั้งชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนจำนวน 200,000-300,000 คน ชาวมุสลิม 90,000 คน และชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียดนาม 20,000 คน[21][22] ชายเขมรเสียชีวิต 33.5 เปอร์เซ็นต์ และหญิงเขมรเสียชีวิต 15.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ค.ศ. 1975[3] มีประชากร 20,000 คนได้เข้าคุกเรือนจำความมั่นคงที่ 21, หนึ่งในเรือนจำ 196 แห่งที่เขมรดำเนินการ[3][23] และมีเพียงผู้ใหญ่เจ็ดคนเท่านั้นที่รอดชีวิต[24] นักโทษจะถูกนำตัวไปที่ทุ่งสังหาร ซึ่งพวกเขาจะถูกประหารชีวิต (ซึ่งมักจะใช้ด้วยอีเต้อ เพื่อเป็นการประหยัดกระสุน[25]) และถูกฝังไว้ในหลุมศพหมู่ มีการลักพาตัวและปลูกฝังความคิดต่อเด็กซึ่งเป็นที่แพร่หลาย และมีหลายคนถูกชักนำหรือถูกบังคับให้ก่อกระทำทารุณกรรม[26] ใน ค.ศ. 2009 ศูนย์รวบรวมเอกสารแห่งกัมพูชา (The Documentation Center of Cambodia, DC-Cam) ได้ทำแผนที่หลุมฝังศพหมู่จำนวน 23,745 หลุม ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.3 ล้านคนของเหยื่อที่ต้องสงสัยว่าถูกประหารชีวิต โดยเชื่อกันว่าการประหารชีวิตโดยตรงนั้นมีสัดส่วนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ[27] กับเหยื่อรายอื่น ๆ ที่ประสบความอดอยากหิวโหย หรือป่วยด้วยโรคระบาด
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดการรั่วไหลครั้งที่สองของผู้ลี้ภัย ซึ่งหลายคนได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และรองลงมาคือไทย[28] การบุกครองกัมพูชาของเวียดนามถือเป็นจุดสิ้นสุดลงของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ด้วยความปราชัยของเขมรแดง ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979[29] เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 2001 รัฐบาลกัมพูชาได้จัดตั้งศาลคดีเขมรแดงเพื่อพิจารณาคดีต่อสมาชิกผู้นำเขมรแดงที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวเขมร การพิจารณาคดีได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009[30] เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2014 นวน เจีย และเขียว สัมพัน ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกตลอดชีวิตด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[31]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.