Loading AI tools
องค์กรทางการเมืองและการทหารของปาเลสไตน์ มักถูกจัดเป็นองค์การก่อการร้าย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮะมาส (อาหรับ: حماس, Ḥamās) ย่อมาจาก ฮะเราะกะฮ์ อัลมุกอวะมะฮ์ อัลอิสลามียะฮ์ (حركة المقاومة الاسلامية, Ḥarakat al-Muqāwamah al-ʾIslāmiyyah) เป็นพรรคการเมืองหนึ่งของปาเลสไตน์ที่นับถือศาสนาอิสลามและมีกองกำลังติดอาวุธ
ฮะมาส حركة المقاومة الإسلامية | |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | เชค อะห์มัด ยาซิน, อับดุล อะซีซ อัล-รันติสซี และอื่น ๆ |
หัวหน้ากรมการเมือง | คณะกรรมการชั่วคราวฮะมาส (รักษาการ)[1] |
รองหัวหน้ากรมการเมือง | เคาะลีล อัล ฮัยยะอ์ |
ก่อตั้ง | 10 ธันวาคม ค.ศ. 1987 |
ก่อนหน้า | ภราดรภาพมุสลิมปาเลสไตน์ |
ที่ทำการ |
|
อุดมการณ์ | การกำหนดการปกครองด้วยตนเองปาเลสไตน์[2] หลักนิยมอิสลาม,[3] ชาตินิยมปาเลสไตน์, สิทธิกลับมาตุภูมิปาเลสไตน์ |
ศาสนา | นิกายซุนนีย์ |
กลุ่มระดับสากล | ภราดรภาพมุสลิม แกนแห่งการต่อต้าน (ไม่เป็นทางการ) |
สภานิติบัญญัติปาเลสไตน์ | 74 / 132 |
เว็บไซต์ | |
hamasinfo.net | |
ธงประจำพรรค | |
การเมืองปาเลสไตน์ รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
ฮามาสเป็นขบวนการที่เป็นผลพวงของการต่อต้านอิสราเอลใน พ.ศ. 2530 เป็นกลุ่มเคร่งศาสนาสายซุนนี สืบทอดอุดมการณ์จากขบวนการภราดรภาพมุสลิมของอียิปต์ ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านที่นับถือนิกายชีอะห์ โดยขบวนการฮามาสเปิดที่ทำการในอิหร่านเมื่อ พ.ศ. 2536 อย่างไรก็ตาม ขบวนการนี้ตกต่ำลงในช่วง พ.ศ. 2542 – 2543 โดยถูกขับจากจอร์แดนใน พ.ศ. 2542 และแบ่งกลุ่มออกเป็นสองส่วนในเขตเวสต์แบงก์และดามัสกัส[4]
คำว่า ฮะมาส (แปลเป็นไทยว่า ขวัญกำลังใจ) เป็นอักษรย่อของวลี "ฮะเราะกะฮ์ มุกอวะมะฮ์ อิสลามียะฮ์" ชื่อเต็มแปลว่า "ขบวนการอิสลามเพื่อการยืนหยัดต่อสู้"
องค์กรฮะมาสก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 โดยเป็นเครือข่ายของกระบวนการเคลื่อนไหว ขบวนการภราดรภาพมุสลิมของอาหรับ ซึ่งได้รับความนิยมนับถืออย่างมากทั่วปาเลสไตน์ โดยพิสูจน์ได้จากการได้รับชัยชนะ ในการเลือกตั้งเข้าสู่สภาของปาเลสไตน์ในปี พ.ศ. 2549
ฮะมาสก่อตั้งโดยเชคอะห์มัด อิสมาอีล ฮะซัน ยาซีน ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนา ในการลุกฮือขึ้นต่อต้านอิสราเอลครั้งแรก มีจุดประสงค์หลักเพื่อยุติการยึดครองทางทหารของอิสราเอล ในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (เวสต์แบงก์) และเขตฉนวนกาซา ส่วนความมุ่งหมายที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือการสร้างรัฐปาเลสไตน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง บนแผ่นดินเดิมก่อนที่จะเป็นรัฐอิสราเอลในปี พ.ศ. 2491 ฮะมาสสร้างความนิยมในหมู่ชาวปาเลสไตน์ที่ยากจน ด้วยการจัดหาความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์ทางศาสนา และที่แตกต่างจากกระบวนการทางการเมืองปาเลสไตน์อื่น ๆ นั่นคือ ฮะมาส ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) และต่อต้านการเซ็นสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล แม้จะเคยทำสัญญาหยุดยิงกับอิสราเอลหลายครั้ง เชื่อกันว่าเงินทุนในการดำเนินการของกลุ่มฮะมาส ได้มาจากการบริจาคของชาวปาเลสไตน์ทั้งใน และนอกประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนจากประเทศอาหรับอื่น ๆ และรัฐบาลอิหร่านอีกด้วย
ฮะมาส มีหน่วยรบอิซซุดดีน อัลก็อสซาม ซึ่งเชื่อกันว่ามีสมาชิกหลายพันคน และได้เคยทำการสู้รบกับอิสราเอลมาหลายครั้ง และหน่วยรบนี้ ร่วมกับกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ของปาเลสไตน์ เป็นผู้ยิงจรวดเข้าไปในเขตตอนใต้ของอิสราเอล เพื่อตอบโต้การที่อิสราเอลโจมตีในฉนวนกาซา
ขบวนการฮามาสได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2537 ประกาศจุดยืนของตนว่าจะขัดขืนและตอบโต้ขบวนการไซออนิสต์เป็นหลัก กลุ่มนี้มองว่าข้อตกลงสันติภาพออสโลระหว่างยิวและอาหรับเป็นการยอมแพ้ต่อเงื่อนไขของไซออนิสต์ และองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์อีกต่อไป จุดหมายระยะยาวของฮามาสที่ประกาศในเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 ได้แก่ ให้อิสราเอลถอนตัวออกจากดินแดนยึดครองทั้งหมด ปลดอาวุธผู้เข้ามาตั้งรกรากและยกเลิกการตั้งถิ่นฐาน ใช้กองกำลังนานาชาติบนเส้นทางสีเขียวที่สร้างขึ้นในเขตยึดครองระหว่างสงคราม พ.ศ. 2491 และ พ.ศ. 2510 ให้มีการเลือกตั้งเสรีในปาเลสไตน์เพื่อเลือกตัวแทนที่แท้จริงในปาเลสไตน์ และจัดตั้งสภาที่เป็นตัวแทนของปาเลสไตน์อย่างแท้จริง[4]
ผู้นำคนสำคัญหลายต่อหลายคนของกลุ่ม ถูกลอบสังหารโดยอิสราเอล เชคยาซีนถูกลอบสังหารในปี 2004 และไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น อับดุล อะซีซ อัรร็อนตีซี ซึ่งเป็นผู้นำฮะมาสที่ยึดครองกาซาได้อย่างเหนียวแน่น ก็ต้องถูกสังหารไปอีกคนหนึ่ง เชคยาซีนเป็นที่เคารพนับถือของชาวปาเลสไตน์อย่างมาก โดยเขาเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับอิสราเอล โดยไม่มีการประนีประนอม เขาถูกสังหารทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพต้องนั่งรถเข็น
ในปี พ.ศ. 2533 ฮะมาสได้สร้างความน่านับถือ โดยสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ในฉนวนกาซาได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับฮะมาสมาก่อน เช่น กลุ่มคริสเตียนปาเลสไตน์ ฮะมาสเริ่มปฏิบัติการระเบิดพลีชีพกับอิสราเอลในปี พ.ศ. 2537 ในปีพ.ศ. 2543 การเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ล้มเหลวลงอีกครั้งหนี่ง ฮะมาสได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมือง และกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ของปาเลสไตน์ ทำการลุกฮือขึ้นต่อต้านอิสราเอลเป็นครั้งที่สอง โดยมีการรณรงค์ต่อต้านจากพลเรือนปาเลสไตน์ในเขตยึดครอง และการเพิ่มขึ้นของปฏิบัติการระเบิดพลีชีพในอิสราเอล เพื่อแสดงการต่อต้านการที่อิสราเอลโจมตีเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา กลุ่มฮะมาสต่อต้านการประชุมสันติภาพที่กรุงออสโล ในปีพ.ศ. 2536 และได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ เพราะเห็นว่าเป็นผลมาจากการประชุมสันติภาพครั้งนั้น
ฮะมาสยังตัดสินใจส่งสมาชิก เข้าร่วมในการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาปาเลสไตน์ในปี พ.ศ. 2549 และได้รับการสนับสนุนจากชาวปาเลสไตน์ โดยสามารถเอาชนะกลุ่มฟะตะห์ ด้วยคำมั่นที่จะต่อต้านการคอรัปชั่น และการยึดครองของอิสราเอล ซึ่งทำให้ฮานิยาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น ฮามาสได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่กลุ่มฟาตะห์ที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่าไม่ต้องการเสียอำนาจจึงเกิดการปะทะกัน สหรัฐและอิสราเอลต้องการให้ฟาตะห์มีอำนาจต่อไป จึงให้เงินสนับสนุนกลุ่มฟาตะห์ ขบวนการฮามาสได้เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ[4]
สหรัฐ ประเทศในสหภาพยุโรป และอิสราเอล ได้ตราหน้าว่าฮะมาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย และไม่ยอมรับรองผลการเลือกตั้ง ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปาเลสไตน์ต้องถูกยัดเยียดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างหนัก กลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตกบังคับให้ฮะมาสรับรองรัฐอิสราเอล ละทิ้งอุดมการณ์ต่อสู้ด้วยอาวุธ และยอมรับการตกลงสันติภาพอื่น ๆ ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮะมาส และกลุ่มฟะตะห์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้มีอำนาจในปาเลสไตน์ที่ได้รับการรับรองเป็นทางการ ต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะถูกตัดความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกไปด้วย สมาชิกที่สนับสนุนฮะมาสและฟะตะห์ต่อสู้กันอยู่เนือง ๆ ทั้งในเวสต์แบงก์ และในฉนวนกาซา เพื่อช่วงชิงการปกครองพื้นที่ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2550 ทั้ง 2 กลุ่มตกลงประนีประนอมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วม ทั้งนี้เพื่อต้องการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ
อิสมาอีล ฮะนีเยะห์ ผู้นำอาวุโสของฮะมาสในฉนวนกาซา ซึ่งถูกปลดออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เคยทำงานใกล้ชิดกับเชคยาซีน คอลิด มัชอัล ซึ่งเขาถูกเนรเทศไปอยู่ในซีเรีย เป็นผู้นำทางการเมืองสำคัญอีกคนหนึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 หลังจาก มูซา อะบู มัรซูก ซึ่งเคยอยู่ในตำแหน่งนี้ถูกจับติดคุก มัชอัลเคยเป็นผู้นำกลุ่มฮะมาสย่อยในคูเวต แต่เขาได้ออกจากประเทศไปเมื่ออิรักถูกรุกรานในปี 1990 หลังจากนั้นได้ย้ายไปเป็นผู้นำฮะมาสในกรุงอัมมาน จอร์แดน และสามารถหลุดรอดจากการตามล่าสังหารของอิสราเอลมาได้
แต่ความพยายามดังกล่าวล้มเหลวลง โดยในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2550 ประธานาธิบดีมะฮ์มูด อับบาส และกลุ่มฟะตะห์ ร่วมมือกันยึดอำนาจในเขตเวสต์แบงก์ ทำให้การดิ้นรนขึ้นสู่การเป็นผู้ปกครองดินแดนปาเลสไตน์ของกลุ่มฮะมาสต้องยุติลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลในเวสต์แบงก์มีความอ่อนแอแต่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ขบวนการฮามาสจึงยึดฉนวนกาซาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 ฉนวนกาซาถูกปิดล้อมโดยอิสราเอลมากขึ้น ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น นักศึกษาไม่สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในต่างประเทศได้ การส่งออกถูกระงับจนโรงงานต้องปิดตัว[4] ฝ่ายอิสราเอลได้เพ่งเล็งฉนวนกาซาเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มกำลังทหารและเพิ่มมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการตัดไฟฟ้า และเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2551 โดยอ้างว่าเพื่อยุติไม่ให้ฮะมาสยิงจรวดเข้ามาในดินแดนอิสราเอล
การเลือกตั้งในปาเลสไตน์ 25 มกราคม พ.ศ. 2549 ทำให้เกิดรัฐบาลผสมระหว่างพรรคฮะมาสกับพรรคฟะตะห์ ก่อนที่ประธานาธิบดีมะฮ์มูด อับบาสจะขับไล่ออกไปเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เพราะต้องการให้ชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรกลับมาให้ความช่วยเหลือปาเลสไตน์ และอิสราเอลจะยอมรับรองรัฐบาลปาเลสไตน์ที่ไม่มีสมาชิกฮะมาส แต่กลุ่มฮะมาสยังถือว่ารัฐบาลผสมซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีอิสมาอีล ฮะนียะฮ์เป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.