Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (อังกฤษ: gastroenteritis) หรือ ท้องร่วงจากการติดเชื้อ (อังกฤษ: infectious diarrhea) เป็นภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะในทางเดินอาหาร ได้แก่กระเพาะอาหารและลำไส้[8] ผู้ป่วยอาจมีอาการอุจจาระร่วง อาเจียน และปวดท้องได้[1] บางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย และขาดน้ำร่วมด้วย[2][3] ส่วนใหญ่เป็นอยู่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เรียกว่ากระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเฉียบพลัน (อังกฤษ: acute gastroenteritis)[8]
กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (Gastroenteritis) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Gastro, stomach bug, stomach virus, stomach flu, gastric flu, gastrointestinitis |
ภาพไวรัสต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เป็นภาพถ่ายกำลังขยายเท่ากัน สามารถเปรียบเทียบขนาดของไวรัสแต่ละชนิดได้: A = ไวรัสโรต้า, B = ไวรัสอะดีโน, C = ไวรัสโนโร, และ D = ไวรัสแอสโตร | |
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ, วิทยาทางเดินอาหาร |
อาการ | อุจจาระร่วง, อาเจียน, ปวดท้อง, มีไข้[1][2] |
ภาวะแทรกซ้อน | ภาวะขาดน้ำ[2][3] |
สาเหตุ | เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัส, แบคทีเรีย, ปรสิต, เชื้อรา[2][4] |
วิธีวินิจฉัย | วินิจฉัยจากอาการ, อาจส่งอุจจาระเพาะเชื้อในบางกรณี[2] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | โรคลำไส้อักเสบไอบีดี, กลุ่มอาการดูดซึมสารอาหารบกพร่อง, ภาวะไม่ทนต่อแลกโตส[5] |
การป้องกัน | การล้างมือ, ดื่มน้ำสะอาด, ขับถ่ายของเสียให้ถูกสุขอนามัย, ให้ทารกกินนมแม่[2] |
การรักษา | สารละลายชดเชยการขาดน้ำแบบกินทางปาก (ประกอบด้วยน้ำ เกลือแกง และน้ำตาล), การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ[2] |
ความชุก | 2.4 พันล้านคน (ค.ศ. 2015)[6] |
การเสียชีวิต | 1.3 ล้านคน (ค.ศ. 2015)[7] |
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส[4] และมีบางส่วนเกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ปรสิต และเชื้อรา[2][4] เด็กที่ป่วยภาวะนี้และมีอาการรุนแรงส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า[9] ส่วนในผู้ใหญ่ที่พบบ่อยที่สุดคือไวรัสโนโรและเชื้อแบคทีเรียแคมไพโลแบกเตอร์[10][11] พฤติกรรมที่ทำให้โรคแพร่กระจายได้แก่ กินอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย[2] การรักษาส่วนใหญ่จะเหมือน ๆ กันไม่ว่าจะมีเชื้อใดเป็นสาเหตุ ดังนั้นโดยทั่วไปจะไม่นิยมส่งตรวจหาเชื้อ[2]
การป้องกันทำได้โดยล้างมือด้วยสบู่ ดื่มน้ำสะอาด ให้ทารกกินนมแม่แทนนมชง[2] และขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ ในเด็กแนะนำให้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าด้วยวัคซีน[2][9] การรักษาที่สำคัญคือการชดเชยสารน้ำ[2] ในรายที่ป่วยเล็กน้อยหรือปานกลางสามารถทำได้ด้วยวิธีกินสารละลายชดเชยสารน้ำที่ผสมจากน้ำสะอาด เกลือแกง และน้ำตาล[2] ทารกที่กินนมแม่แนะนำให้กินนมแม่ต่อไป[2] ในรายที่ป่วยรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับสารน้ำผ่านการให้ทางหลอดเลือดดำ[2] หรืออาจให้ผ่านสายสวนกระเพาะอาหารทางจมูก[12] ในเด็กแนะนำให้เสริมแร่ธาตุสังกะสี[2] ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ[13] แต่ในเด็กเล็กที่มีไข้และมีอุจจาระเป็นมูกเลือดแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมในการรักษาด้วย[1]
ข้อมูล ค.ศ. 2015 พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบราว 2 พันล้านคน เสียชีวิตประมาณ 1.3 ล้านคน[6][7] กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็กและคนที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา[14] โดยข้อมูล ค.ศ. 2011 มีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ป่วยจากภาวะนี้ราว 1.7 พันล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 7 แสนคน[15] เด็กอายุไม่เกิน 2 ปีในประเทศพัฒนาแล้วจะป่วยจากภาวะนี้ประมาณปีละ 6 ครั้ง หรือมากกว่า[16] ในผู้ใหญ่จะพบภาวะนี้ได้น้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะภูมิคุ้มกันพัฒนาแล้ว[17] ชื่อภาษาอังกฤษของภาวะนี้ชื่อหนึ่งคือ stomach flu ("ไข้หวัดใหญ่ที่กระเพาะอาหาร") ซึ่งเป็นการเรียกชื่อที่ไม่ตรงกับสาเหตุของโรค ภาวะนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด[18]
ผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบส่วนใหญ่จะทั้งอาการอาเจียนและถ่ายเหลว[17] แต่อาจมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้[1] อาจปวดท้องร่วมด้วยได้[1] ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อมาเป็นเวลา 12–72 ชั่วโมง[14] หากเป็นจากการติดเชื้อไวรัสจะหายได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์[17] อาการอื่นที่อาจพบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น[17] หากอุจจาระมีเลือดปนอาจเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่าจะเป็นจากไวรัส[17][19] การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจทำให้มีอาการปวดท้องต่อเนื่องได้หลายสัปดาห์[19]
เด็กที่ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโรต้ามักหายได้เองภายใน 3–8 วัน[20] อย่างไรก็ดีเด็กในประเทศยากจนอาจมีความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษาสำหรับกรณีที่เป็นรุนแรง ซึ่งอาจทำให้มีภาวะถ่ายเหลวเรื้อรังตามมาได้[21] ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือการขาดน้ำ[22] หากผู้ป่วยเด็กขาดน้ำรุนแรงอาจทำให้มีผิวหนังแข็งจับตั้งแล้วคืนตัวได้ช้า เรียกว่าภาวะสูญเสียความยืดหยุ่นของผิวหนัง (poor skin turgor)[23] และอาจมีความเร็วเลือดไหลกลับคืนหลอดเลือดฝอยช้าลง (prolonged capillary refill) ได้ด้วย[23] รายที่ขาดน้ำรุนแรงมากอาจมีอาการหายใจลำบากเพิ่มได้อีก[23] ในพื้นที่ที่สุขลักษณะไม่ดีและขาดแคลนสารอาหารอาจทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำได้บ่อย[14] ซึ่งทำให้เกิดภาวะไม่เจริญเติบโตและสติปัญญาบกพร่องตามมาได้[16]
ผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรียแคมไพโลแบกเตอร์ประมาณ 1% จะมีข้ออักเสบแบบปฏิกิริยาตามมาในภายหลัง และ 0.1% จะเกิดกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร รายที่ติดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ที่สร้างสารพิษชิกา หรือติดเชื้อชิเกลลา อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกยูรีเมีย (HUS) ตามมาได้ ผู้ป่วยที่มี HUS จะมีเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย และเลือดจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะนี้มีโอกาสเกิดในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ นอกจากนี้แล้วการติดเชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคลมชักแบบไม่รุนแรงในทารกได้ด้วย
กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (โดยเฉพาะไวรัสโรต้า) และแบคทีเรีย เช่น อี. โคไล และ แคมไพโลแบกเตอร์[14][24] อย่างไรก็ดียังอาจเกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ เช่น ปรสิต และเชื้อรา เป็นต้น[16][4] นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อได้ แต่พบได้น้อยกว่ามาก[1] เด็กมีโอกาสป่วยมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์[1] และยังไม่สามารถปฏิบัติตนตามหลักสุขอนามัยได้[1] เด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้จะมีโอกาสป่วยสูงขึ้นไปอีก[1]
เป็นที่ทราบกันว่าการติดเชื้อไวรัสโรตา, ไวรัสโนโร, ไวรัสอะดีโน และไวรัสแอสโตร เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากไวรัส[25] ไวรัสโรตาเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก[24] และมีอัตราใกล้เคียงกันทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา[20] ไวรัสโรตาทำให้เกิดอาการท้องร่วงติดเชื้อประมาณ 70% ในกลุ่มอายุเด็ก[12] แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่จากการมีภูมิคุ้มกันแบบรับมา[26] ไวรัสโนโรเป็นสาเหตุประมาณ 18% ของผู้ป่วยทุกกรณี[27] กล่าวโดยทั่วไป โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุถึง 21–40% ของกรณีผู้ป่วยโรคท้องร่วงติดเชื้อในประเทศที่พัฒนาแล้ว[28]
ไวรัสโนโรเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบในผู้ใหญ่ในสหรัฐซึ่งคิดเป็นประมาณ 90% ของการระบาดของไวรัสก่อโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ[17] โรคระบาดเฉพาะถิ่นเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนที่ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเช่น บนเรือสำราญ[17] ในโรงพยาบาล หรือในร้านอาหาร[1] ผู้คนอาจยังคงติดเชื้อแม้หลังจากอาการท้องร่วงสิ้นสุดลงแล้ว[17] และไวรัสโนโรเป็นสาเหตุประมาณ 10% ในผู้ป่วยเด็ก[1]
ในบางประเทศ Campylobacter jejuni เป็นสาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากแบคทีเรีย โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกรณีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับสัตว์ปีก[19] แบคทีเรียเป็นสาเหตุประมาณ 15% ของกรณีผู้ป่วยเด็กทั้งหมด โดยชนิดของแบคทีเรียที่พบมากที่สุดคือสายพันธุ์ของ Escherichia coli, Salmonella, Shigella และ Campylobacter[12] หากอาหารปนเปื้อนแบคทีเรียและยังคงอยู่ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายชั่วโมง แบคทีเรียจะทวีคูณจำนวนซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในผู้ที่รับประทานอาหารนั้น[16] อาหารที่มักเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยได้แก่ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล และไข่ดิบหรือปรุงไม่สุก, ถั่วงอกดิบ, นมไม่พาสเจอร์ไรส์และชีสเนื้ออ่อน, น้ำผักและผลไม้[29] ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราและเอเชีย การติดเชื้ออหิวาตกโรคเป็นสาเหตุทั่วไปของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ โดยมักติดต่อจากน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน[30]
แบคทีเรียก่อชีวพิษ Clostridium difficile เป็นสาเหตุสำคัญของอาการท้องร่วงที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ[16] ทารกสามารถเป็นพาหะของแบคทีเรียเหล่านี้ได้โดยไม่แสดงอาการใด ๆ[16] โดยเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงในผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมักเกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะ[31] โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อ Staphylococcus aureus อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ[32] "อาการท้องร่วงของนักเดินทาง" ซึ่งเกิดเฉียบพลันมักจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ในขณะที่อาการเรื้อรังมักเกิดจากการติดเชื้อปรสิต[33] ยายับยั้งการหลั่งกรดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญหลังจากได้รับเชื้อหลายชนิด รวมทั้งเชื้อ Clostridium difficile, Salmonella และ Campylobacter[34] ความเสี่ยงในผู้ที่ใช้ยาชนิดยับยั้งการขับโปรตอนมีมากกว่าสารต้านตัวรับเอช 2[34]
มีปรสิตอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบได้หลายชนิด[12] ที่พบบ่อยที่สุดคือจิอาร์เดีย แลมเบลีย ชนิดอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น อี. ฮิสโตไลติกา และคริปโตสปอริเดียม เป็นต้น[12][33] นับรวม ๆ แล้วพบเป็นสาเหตุได้ถึง 10% ของผู้ป่วยเด็กที่มีกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ[35][33] ชนิดที่เกิดจากจิอาร์เดียพบได้บ่อยในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็สามารถพบได้เกือบทุกที่[36] โดยเฉพาะในคนที่เดินทางไปยังพื้นที่ระบาด เด็กในศูนย์เลี้ยงเด็ก ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และหลังเกิดภัยพิบัติ[36]
การแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นจากการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนหรือเมื่อผู้คนแบ่งปันสิ่งของส่วนตัว[14] คุณภาพน้ำโดยทั่วไปจะแย่ลงในฤดูฝนและมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้[14] ในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นการติดเชื้อจะพบได้บ่อยในฤดูหนาว[16] การป้อนนมทารกด้วยขวดที่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุสำคัญทั่วโลก[14] อัตราการแพร่เชื้อยังสัมพันธ์กับสุขอนามัยที่ไม่ดี (โดยเฉพาะในเด็ก)[17] ในครัวเรือนที่มีสมาชิกจำนวนมาก[37] และในผู้ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี[16] ผู้ใหญ่ที่พัฒนาภูมิคุ้มกันแล้วยังอาจเป็นพาหะของเชื้อบางชนิดโดยไม่แสดงอาการ ดังนั้นจึงอาจกลายเป็นรังโรคตามธรรมชาติ[16] ในขณะที่เชื้อบางชนิด (เช่นแบคทีเรียสกุล Shigella) ก่อโรคในไพรเมตเท่านั้น เชื้ออื่น ๆ (เช่นปรสิตสกุล Giardia) อาจก่อให้เกิดโรคในสัตว์หลายชนิด[16]
มีสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินอาหารได้โดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ที่พบบ่อย เช่น ยาบางชนิด (เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์), อาหารบางชนิด เช่น นมที่มีแลกโตส (ในผู้ที่มีความไม่ทนต่อแลกโตส), และ กลูเตน (ในผู้ป่วยโรคซีลีแอก) โรคโครห์นก็เป็นอีกโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีลำไส้อักเสบโดยไม่ต้องมีการติดเชื้อ และอาจเป็นได้รุนแรง บางครั้งอาจมีการอักเสบจากการได้รับสารพิษ ซึ่งพิษที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว โรคอื่น ๆ เช่น การเป็นพิษจากซิกัวเทอรา เกิดจากการกินปลาที่สะสมสารพิษเอาไว้, การเป็นพิษจากสครอมบอยด์ เกิดจากการกินปลาบางชนิดที่เน่าเสีย, การเป็นพิษจากเตโตรโดท็อกซิน จากการกินปลาปักเป้า และ การเป็นพิษจากโบทูลินัม จากการกินอาหารกระป๋องที่เก็บไม่ดี เป็นต้น
ในสหรัฐพบว่าอัตราการเข้าใช้บริหารที่ห้องฉุกเฉินจากภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใน ค.ศ. 2011 ลดลงจาก ค.ศ. 2006 ประมาณ 30% โดยในบรรดาโรคที่นำผู้ป่วยมารับบริการที่ห้องฉุกเฉินบ่อยที่สุด 20 อันดับแรก จำนวนผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อลดลงเป็นสัดส่วนมากที่สุด
ส่วนใหญ่แล้ววินิจฉัยโดยดูจากอาการและอาการแสดงทางคลินิก[17] การตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจนของภาวะนี้มักไม่จำเป็น เนื่องจากไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษา[14]
กรณีที่ควรตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจอุจจาระด้วยการเพาะเชื้อ ได้แก่ กรณีที่ถ่ายเป็นเลือด, กรณีที่อาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ และกรณีที่เดินทางกลับมาจากประเทศกำลังพัฒนา[12] นอกจากนี้อาจควรทำในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี, ผู้สูงอายุ, และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[38] นอกจากนี้ยังอาจตรวจเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฝ้าระวังโรค[17] ผู้ป่วยที่เป็นทารกและเด็กเล็กประมาณ 10% อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำร่วมด้วย จึงแนะนำให้ตรวจระดับกลูโคสในเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้[23] ในรายที่มีภาวะขาดน้ำรุนแรงอาจต้องตรวจอีเล็กโตรลัยต์ในเลือดและตรวจการทำงานของไตร่วมด้วย[12]
ผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบส่วนใหญ่หายได้เองและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์[22] การรักษาที่จะได้ประโยชน์ที่สุดสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งมีภาวะขาดน้ำระดับเล็กน้อยถึงปานกลางคือการชดเชยน้ำด้วยการกินสารละลายเกลือแร่[35] ในเด็กเล็กบางรายที่อาจขาดน้ำจากการอาเจียนอาจได้ประโยชน์จากการใช้ยาต้านการอาเจียนสักหนึ่งครั้ง เช่น เมโทโคลปราไมด์ หรือ ออนแดนซีตรอน เป็นต้น[39] ไฮออสซีนบิวทิลโบรไมด์อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้[40]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.