Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชสันตติวงศ์ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Descendants of Queen Victoria) เป็นเรื่องราวของการสืบสายพระโลหิตของพระราชโอรสและธิดาทั้งหมด 9 พระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (อเล็กซานดรินา วิกตอเรีย; 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2362 - 22 มกราคม พ.ศ. 2444 เสวยราชสมบัติ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2380) โดยมีพระราชนัดดา 42 พระองค์ และพระราชปนัดดา (เหลน) 88 พระองค์ แต่ละพระองค์จึงเป็นทั้งพี่น้องกันหรือพระญาติชั้นที่หนึ่งซึ่งกันและกัน (first cousin) และด้วยการอภิเษกสมรสเข้าไปยังราชสำนักต่างๆ ในทวีปยุโรป พระองค์จึงทรงมีผลกระทบต่อโชคชะตาของราชวงศ์ยุโรปอย่างมาก ทรงมีความเกี่ยวข้องทางสายพระโลหิตและการอภิเษกสมรสกับราชวงศ์สเปน เยอรมนี กรีซ รัสเซีย โรมาเนีย ยูโกสลาเวีย นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก จึงทำให้ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า สมเด็จย่าแห่งยุโรป (Grandmother of Europe)
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นพระมหากษัตริย์ที่เคยครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ เป็นเวลา 63 ปีเศษ ระหว่างปี พ.ศ. 2380-2444 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2362 ณ พระราชวังเค็นซิงตัน กรุงลอนดอน โดยเป็นพระธิดาในเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรเธิร์น พระราชโอรสในพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร กับ เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ พระองค์ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 พระบรมราชปิตุลา ในปี พ.ศ. 2380 ขณะมีพระชนมพรรษา 18 พรรษา ต่อมาได้ราชาภิเษกสมรสกับ เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา (ฟรันซ์ ออกุสต์ คาร์ล อัลเบิร์ต เอมานูเอล; 26 สิงหาคม พ.ศ. 2362 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2404) ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าชายพระราชสวามี (Prince Consort) พระญาติชั้นที่หนึ่งทางฝ่ายพระมารดา ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2383 ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน และประสูติพระราชโอรสและธิดาทั้งสิ้น 9 พระองค์ในระหว่างปี พ.ศ. 2383-2400 ชีวิตสมรสที่แสนสุขมีอันต้องสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2404 เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีสิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคไข้รากสาดน้อย หรือไทฟอยด์ (และอาจเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารร่วมด้วย) เมื่อพระชนมายุ 42 พรรษา ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปจนตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยความโทมนัสและสูญเสียที่ยากจะหาสิ่งใดมาทดแทนได้ พระองค์จึงทรงจมอยู่กับความเศร้าโศกและฉลองพระองค์ไว้ทุกสีดำตลอดรัชกาล อีกทั้งยังทรงหลีกเลี่ยงการปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะและแทบจะไม่เสด็จฯ มาประกอบพระราชกรณียกิจที่กรุงลอนดอนเป็นเวลาหลายปี แต่ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ที่พระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของพระองค์กับพระสวามี จนเป็นที่มาของพระราชสมัญญา แม่ม่ายแห่งวินด์เซอร์ (Widow of Windsor)
การปลีกพระองค์อยู่โดดเดี่ยวจากสาธารณชนทำให้ความนิยมในระบอบกษัตริย์เสื่อมถอยลงอย่างมาก ในที่สุดเมื่อทรงได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสองบุรุษคนสำคัญคือ เบนจามิน ดิสราเอลี นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น และจอห์น บราวน์ มหาดเล็กชาวสก็อต ทำให้ทรงสามารถผ่านพ้นความทุกข์ระทมและมองเห็นความสำคัญในภาระหน้าที่ของการเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413 เป็นต้นมา ทำให้ระบอบกษัตริย์กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2419 เมื่อจักรวรรดิอังกฤษได้เข้าปกครองอินเดีย รัฐบาลอังกฤษได้สถาปนาให้พระองค์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย (Empress of India) พระองค์ทรงเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี หรือ Golden Jubilee (กาญจนาภิเษก) ในปี พ.ศ. 2430 โดยทรงเชิญประมุขและเจ้านายจากราชวงศ์ต่างประเทศมาร่วมงานเลี้ยงที่กรุงลอนดอน และการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี หรือ Diamond Jubilee (พัชราภิเษก) ในอีกสิบปีต่อมา ซึ่งเป็นการจัดงานเลี้ยงฉลองทั่วทั้งจักรวรรดิอังกฤษ หลังจากช่วงเวลาที่น่ายินดีปรีดาในรัชกาลผ่านไปเพียงไม่กี่ปี พระพลานามัยของพระองค์ได้เสื่อมถอยลงเป็นลำดับจนเสด็จสวรรคตในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2444 ณ พระตำหนักออสบอร์น เกาะไวท์ สิริพระชนมพรรษา 81 พรรษา
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมีพระราชนัดดาทั้งสิ้น 42 พระองค์ (เป็นชายจำนวน 20 พระองค์ และเป็นหญิงจำนวน 22 พระองค์) จากพระราชโอรสและธิดาแปดพระองค์ โดยจำนวนสองพระองค์ (พระโอรสพระองค์เล็กในเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา และในเจ้าหญิงเฮเลนา) สิ้นพระชนม์ในขณะอยู่ในพระครรภ์ ส่วนอีกสองพระองค์ (เจ้าชายจอห์นแห่งเวลส์ และ เจ้าชายฮาราลด์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกัสเต็นบูร์ก) สิ้นพระชนม์ตั้งแต่เมื่อแรกประสูติ ทั้งนี้พระราชนัดดาพระองค์แรกคือ สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (พระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2402) พระโอรสพระองค์แรกในเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระราชินีนาถวิกตอเรีย ส่วนพระราชนัดดาพระองค์สุดท้ายคือ เจ้าชายมอริสแห่งบัทเทนแบร์ก (ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2434) พระโอรสพระองค์เล็กในเจ้าหญิงเบียทริซ พระราชธิดาพระองค์เล็กและสิ้นพระชนม์ชีพเป็นพระองค์สุดท้ายในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชนัดดาที่สิ้นพระชนม์เป็นพระองค์สุดท้ายคือ เจ้าหญิงอลิซ เคานเตสแห่งแอธโลน (พระอิสริยยศเดิมคือ เจ้าหญิงอลิซแห่งอัลบานี ประสูติเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2426 พระธิดาในเจ้าชายเลโอโพลด์ ดยุกแห่งอัลบานี) ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยโรคชรา (97 พรรษา) ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2524 เป็นเวลาเกือบแปดสิบปีหลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระอัยยิกา
ในบรรดาพระราชนัดดาทั้งหมดของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต มีพระราชนัดดาจำนวนสองคู่ที่อภิเษกสมรสกันเองคือ การอภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2431 ระหว่างเจ้าชายไฮน์ริชแห่งปรัสเซีย พระโอรสในเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารีและพระจักรพรรดินีแห่งเยอรมนี กับ เจ้าหญิงไอรีนแห่งเฮสส์และไรน์ พระธิดาในเจ้าหญิงอลิซ และอีกครั้งเป็นการอภิเษกสมรสในปี ในปี พ.ศ. 2437 ระหว่างเจ้าชายแอร์นส์ ลุดวิก แกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์และไรน์ พระโอรสในเจ้าหญิงอลิซ กับ เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาแห่งเอดินบะระ พระธิดาในเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระ (และดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา) พระอนุชาในเจ้าหญิงอลิซ แต่สิ้นสุดด้วยหย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2444
เจ้าชายอัลเบิร์ต (สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2404) ทรงพระชนม์ชีพจนได้เห็นพระธิดาพระองค์เดียว (เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี) จากบรรดาพระธิดาทั้งหมดอภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2401 และพระนัดดาสองพระองค์ประสูติ (เจ้าชายวิลเฮล์ม ในปี พ.ศ. 2402 และเจ้าหญิงชาร์ล็อต พระขนิษฐาในปี พ.ศ. 2403) ในขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมีพระชนม์ชีพยืนยาวจนได้เห็นการประสูติไม่เพียงแค่พระราชนัดดาทั้งหมด แต่ยังรวมถึงพระราชปนัดดาส่วนใหญ่จากทั้งหมด 88 พระองค์ด้วย (จำนวนสามใน 56 พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อแรกประสูติ และหนึ่งในพระราชปนัดดาจำนวน 29 พระองค์เป็นลูกนอกสมรส)
เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ไม่เพียงเป็นพระชนนีในพระราชนัดดาพระองค์แรกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียคือ สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี เท่านั้น แต่ยังเป็นพระอัยยิกา (ยาย) ในพระราชปนัดดาพระองค์แรกด้วยคือ เจ้าหญิงฟีโอดอราแห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน (19 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2488) พระธิดาองค์เดียวในเจ้าหญิงชาร์ล็อตแห่งปรัสเซีย (พระราชนัดดา (หญิง) พระองค์แรกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย) และในพระราชปนัดดาหญิงพระองค์สุดท้ายที่สิ้นพระชนม์คือ เลดี้ แคทเธอรีน แบรนด์แรม (พระอิสริยยศเดิมคือ เจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งกรีซและเดนมาร์ก; 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550) พระธิดาพระองค์สุดท้ายในเจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย (ต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีแห่งกรีซ) พระขนิษฐาในเจ้าหญิงชาร์ล็อต หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในปี พ.ศ. 2550 ขณะมีพระชันษา 94 ปี พระราชปนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียซึ่งยังทรงพระชนม์เป็นพระองค์สุดท้ายคือ เคานต์ คาร์ล โยฮัน เบอร์นาด็อตแห่งวิสบอร์ก (พระอิสริยยศเดิมคือ เจ้าชายคาร์ล โยฮันแห่งสวีเดน ดยุกแห่งดาลาร์นา; 31 ตุลาคม พ.ศ. 2459 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555) ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์สุดท้ายในเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งคอนน็อต พระธิดาในเจ้าชายอาร์เธอร์ ดยุกแห่งคอนน็อต พระราชโอรสพระองค์ที่สามในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทั้งนี้เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษา 95 ปี สายพระโลหิตรุ่นพระราชปนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2422 (ปีประสูติของเจ้าหญิงฟีโอดอราแห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน) จึงได้สิ้นสุดลงตามไปด้วย
ก่อนการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในปี พ.ศ. 2444 มีพระราชโอรสและธิดาจำนวนสามพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว (เจ้าหญิงอลิซ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2421, เจ้าชายเลโอโพลด์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2427 และเจ้าชายอัลเฟรด ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2443) และตามมาด้วยการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2444 นอกจากการสิ้นพระชนม์ขณะยังทรงพระเยาว์ของพระราชนัดดาจำนวนสี่พระองค์ สมเด็จพะราชินีนาถวิกตอเรียดำรงพระชนม์ยืนยาวกว่าพระราชนัดดาหลายพระองค์ ได้แก่
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตมีพระอัยกาพระองค์เดียวกันคือ เจ้าชายฟรานซิส ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ ซึ่งเป็นพระบิดาในเจ้าชายแอร์นส์ที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา (พระบิดาในเจ้าชายอัลเบิร์ต) และเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ (พระมารดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และพระขนิษฐาในเจ้าชายแอร์นส์ที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา)
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (ซึ่งเสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2380 และเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2381) ทรงราชาภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2383 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน (เจ้าชายอัลเบิร์ตได้สิ้นพระชนม์เป็นเวลาสิบสี่ปีครึ่งก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2419)
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส (ประสูติและสิ้นพระชนม์) และพระโอรส-ธิดา | |
เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี | พ.ศ. 2383 | 21 พฤศจิกายนพ.ศ. 2444 | 5 สิงหาคมอภิเษกสมรส 25 มกราคม พ.ศ. 2401 เจ้าชายฟรีดริช มกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย (พ.ศ. 2374–2431) ต่อมา จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 แห่งเยอรมนี และกษัตริย์แห่งปรัสเซีย พระโอรส 4 พระองค์ และ พระธิดา 4 พระองค์ (รวมถึง จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี และ เจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย สมเด็จพระราชินีแห่งกรีซ) | |
เจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ต่อมา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 | พ.ศ. 2384 | 9 พฤศจิกายนพ.ศ. 2453 | 6 พฤษภาคมราชาภิเษกสมรส 10 มีนาคม พ.ศ. 2406 เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก (พ.ศ. 2387–2468) พระราชโอรส 3 พระองค์ และ พระราชธิดา 3 พระองค์ (รวมถึง พระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าหญิงม็อดแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์) | |
เจ้าหญิงอลิซ | พ.ศ. 2386 | 25 เมษายน พ.ศ. 2421 | 14 ธันวาคมอภิเษกสมรส 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 แกรนด์ดยุกลุดวิกที่ 4 แห่งเฮสส์และไรน์ (พ.ศ. 2380–2435) พระโอรส 2 พระองค์ และ พระธิดา 5 พระองค์ (รวมถึง อเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา พระจักรพรรดินีพระองค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย) | |
เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา และ ดยุกแห่งเอดินบะระ จอมพลแห่งราชนาวีอังกฤษ | พ.ศ. 2387 | 6 สิงหาคมพ.ศ. 2443 | 31 กรกฎาคมอภิเษกสมรส 23 มกราคม พ.ศ. 2417 แกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย (พ.ศ. 2396–2463) พระโอรส 2 พระองค์ (1 พระองค์สิ้นพระชนม์ขณะอยู่ในพระครรภ์) และพระธิดา 4 พระองค์ (รวมถึง เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย) | |
เจ้าหญิงเฮเลนา | พ.ศ. 2389 | 25 พฤษภาคมพ.ศ. 2466 | 9 มิถุนายนอภิเษกสมรส 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2409 เจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (พ.ศ. 2374–2460) พระโอรส 4 พระองค์ (1 พระองค์สิ้นพระชนม์ขณะอยู่ในพระครรภ์) และ พระธิดา 2 พระองค์ | |
เจ้าหญิงลูอีส | พ.ศ. 2391 | 18 มีนาคมพ.ศ. 2482 | 3 ธันวาคมอภิเษกสมรส 21 มีนาคม พ.ศ. 2421 จอห์น แคมป์เบลล์ ดยุกที่ 9 แห่งอาร์กายล์ (พ.ศ. 2388–2457) มาร์ควิสแห่งลอร์น ต่อมา ดยุกแห่งอาร์กายล์ และ ผู้สำเร็จราชการแคนาดา (พ.ศ. 2421-2426) ไม่มีพระโอรสและธิดา | |
เจ้าชายอาร์เธอร์ ดยุกแห่งคอนน็อตและสแตรธเอิร์น จอมพลแห่งกองทัพอังกฤษ ผู้สำเร็จราชการแคนาดา (พ.ศ. 2454-2459) | 2393 | 1 พฤษภาคมพ.ศ. 2485 | 16 มกราคมอภิเษกสมรส 13 มีนาคม พ.ศ. 2422 เจ้าหญิงหลุยส์ มาร์กาเรเทแห่งปรัสเซีย (พ.ศ. 2403–2460) พระโอรส 1 พระองค์ และ พระธิดา 2 พระองค์ | |
เจ้าชายลีโอโพลด์ ดยุกแห่งออลบานี | พ.ศ. 2396 | 7 เมษายนพ.ศ. 2427 | 28 มีนาคมอภิเษกสมรส 27 เมษายน พ.ศ. 2425 เจ้าหญิงเฮเลนแห่งวาลเด็คและไพร์มอนท์ (พ.ศ. 2404–2465) พระโอรส 1 พระองค์ และ พระธิดา 1 พระองค์ | |
เจ้าหญิงเบียทริซ | พ.ศ. 2400 | 14 เมษายนพ.ศ. 2487 | 26 ตุลาคมอภิเษกสมรส 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 เจ้าชายเฮนรี่แห่งบัทเทนแบร์ก (พ.ศ. 2401–2439) พระโอรส 3 พระองค์ และ พระธิดา 1 พระองค์ (เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทนแบร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน) | |
พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตคือ เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี (วิกตอเรีย อเดเลด แมรี่ หลุยซา) ซึ่งมีพระนามลำลองว่า "วิกกี้" ประสูติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2383 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2444 ห้าเดือนหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระราชชนนี ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระราชกุมารี เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2384 และอภิเษกสมรสในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2401 กับ เจ้าชายฟรีดริช มกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย (ฟรีดริช วิลเฮล์ม นิโคเลาส์ คาร์ล; 18 ตุลาคม พ.ศ. 2374 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2431 พระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 ซึ่งต่อมาได้สืบราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเยอรมนี และครองราชย์ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2431) และมีพระโอรสธิดาจำนวนแปดพระองค์และพระราชนัดดายี่สิบสามพระองค์
เจ้าหญิงพระราชกุมารีไม่เพียงแต่เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตเท่านั้น ยังเป็นพระราชมารดาของพระราชนัดดาพระองค์แรกด้วยคือ สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (27 มกราคม พ.ศ. 2402 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2484) และเป็นพระอัยยิกาในพระราชปนัดดาพระองค์แรกในเก้าสิบพระองค์คือ เจ้าหญิงฟีโอดอราแห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน (19 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2488) พระธิดาในเจ้าหญิงชาร์ล็อตแห่งปรัสเซีย และพระราชปนัดดาพระองค์สุดท้ายที่สิ้นพระชนม์คือ เลดี้ แคทเธอรีน แบรนด์แรม (4 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2550) พระธิดาพระองค์สุดท้ายในเจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย
ทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีและพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร (พระราชโอรสในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระอนุชาในเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี) รวมถึงสมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระธิดาในเจ้าหญิงอลิซและพระมเหสีในพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย ต่างเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียด้วยกันทั้งสิ้น ตามแผนภูมิต่อไปนี้
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงวิกตอเรียและเจ้าชายฟรีดริช มกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2383 พระราชวังบักกิงแฮม เวสต์มินส์เตอร์ (กรุงลอนดอน) | 5 สิงหาคม พ.ศ. 2444 ปราสาทฟรีดริชโชฟ เมืองพ็อทซ์ดัม ปรัสเซีย (เยอรมนี) | อภิเษกสมรส 25 มกราคม พ.ศ. 2401 ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน พระโอรส 4 พระองค์ และ พระธิดา 4 พระองค์ (รวมถึง จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี และ เจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย สมเด็จพระราชินีแห่งกรีซ) พระภาคิไนย 18 พระองค์ และ พระภาติกา 5 พระองค์ (รวมถึง พระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 พระราชาธิบดีอเล็กซานเดอร์ที่ 1 พระราชธิบดีพอลที่ 1 แห่งกรีซ & สมเด็จพระราชินีเฮเลนแห่งโรมาเนีย) เจ้าชายฟรีดริช มกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 พระราชชนก ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2431 และเสด็จสวรรคตในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน | |
เจ้าชายฟรีดริช มกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ต่อมา ฟรีดริชที่ 3 จักรพรรดิแห่งเยอรมนีและกษัตริย์แห่งปรัสเซีย |
18 ตุลาคม พ.ศ. 2374 เมืองพ็อทซ์ดัม ปรัสเซีย |
15 มิถุนายน พ.ศ. 2431 เมืองพ็อทซ์ดัม ปรัสเซีย | ||
เจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด (9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2384 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2453) ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2406 กับ เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก (อเล็กซานดรา แคโรไลนา มารี ชาร์ล็อต หลุยส์ จูเลีย; 1 ธันวาคม พ.ศ. 2387 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก) มีพระราชโอรส 3 พระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติได้หนึ่งวัน) พระราชธิดา 3 พระองค์ พระราชภาคิไนย 7 พระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในพระครรภ์) และพระราชภาติกา 3 พระองค์ เจ้าชายแห่งเวลส์เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งอินเดีย หลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2444
พระเจ้าจอร์จที่ 5 (ครองราชย์ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 - 20 มกราคม พ.ศ. 2479) พระราชโอรสพระองค์ที่สองในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และเจ้าหญิงอเล็กซานดรา เป็นพระบรมราชชนกในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (ครองราชย์ 20 มกราคม - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2479) และ พระเจ้าจอร์จที่ 6 (ครองราชย์ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2479 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495) และพระอัยกาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (เสวยราชสมบัติหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระชนกในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495) และ เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน (21 สิงหาคม พ.ศ. 2473 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545) ในฐานะพระราชธิดาในพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี (เดิมคือ เลดี้ เอลิซาเบธ โบวส์-ลีออน; 4 สิงหาคม พ.ศ. 2443 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2545) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตจีงเป็นพระราชปนัดดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และลื่อในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย รวมทั้งยังสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าจอร์จที่ 3 พระอัยกาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียด้วย
เจ้าหญิงม็อดแห่งเวลส์ พระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ เมื่อเจ้าชายคาร์ลแห่งเดนมาร์ก พระสวามี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแห่งนอร์เวย์เป็น สมเด็จพระราชาธิบดีโฮกุนที่ 7 (ครองราชย์ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 - 21 กันยายน พ.ศ. 2500) เมื่อประเทศนอร์เวย์ประกาศอิสรภาพแยกตัวออกจากการรวมกับประเทศสวีเดนในปี พ.ศ. 2448 ส่วนพระโอรสซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เสวยราชสมบัติเป็น สมเด็จพระราชาธิบดีโอลาฟที่ 5 (ครองราชย์ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 - 17 มกราคม พ.ศ. 2534) ดังนั้นพระราชโอรสธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีโอลาฟที่ 5 ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 (เสวยราชสมบัติในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2534) เจ้าหญิงรังน์ฮิลด์และเจ้าหญิงแอสตริด จีงเป็นพระราชปนัดดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และลื่อในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ และเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ต่อมา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และ จักรพรรดิแห่งอินเดีย | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2384 พระราชวังบักกิงแฮม เวสต์มินส์เตอร์ (กรุงลอนดอน) | 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 พระราชวังบักกิงแฮม เวสต์มินส์เตอร์ (กรุงลอนดอน) |
อภิเษกสมรส 10 มีนาคม พ.ศ. 2406 ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ พระราชโอรส 3 พระองค์ และ พระราชธิดา 3 พระองค์ (รวมถึง พระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าหญิงม็อดแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์) พระราชภาคิไนย 7 พระองค์ และ พระราชภาติกา 3 พระองค์ (รวมถึง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และ พระเจ้าจอร์จที่ 6 และ สมเด็จพระราชธิบดีโอลาฟที่ 5) เจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดเสวยราชสมบัติหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย พระบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2444 พระองค์และเจ้าหญิงอเล็กซานดราทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ณ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ (กรุงลอนดอน) | |
เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก ต่อมา พระราชินีอเล็กซานดราแห่งสหราชอาณาจักร และ จักรพรรดินีแห่งอินเดีย |
1 ธันวาคม พ.ศ. 2387 พระราชวังสีเหลือง กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก |
20 ธันวาคม พ.ศ. 2468 ตำหนักซานดริงแฮม มณฑลนอร์โฟล์ค อังกฤษ |
เจ้าหญิงอลิซ (อลิซ ม็อด แมรี) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ประสูติเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2386 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2421 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตเมื่อสิบเจ็ดปีก่อน พระองค์อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 กับ เจ้าชายลุดวิกแห่งเฮสส์และไรน์ (ฟรีดริช วิลเฮล์ม ลุดวิก คาร์ล; 12 กันยายน พ.ศ. 2380 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2435 พระโอรสในเจ้าชายคาร์ลแห่งเฮสส์และไรน์ และเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งปรัสเซีย ต่อมาได้สืบราชบัลลังก์เป็นแกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์และไรน์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2420) และมีพระโอรส 2 พระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์) พระธิดา 5 พระองค์ พระภาคิไนย 9 พระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในพระครรภ์) และพระภาติกา 7 พระองค์
เจ้าหญิงอลิกซ์แห่งเฮสส์และไรน์ พระธิดาพระองค์ที่หกในเจ้าหญิงอลิซและแกรนด์ดยุกลุดวิกแห่งเฮสส์และไรน์ และพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย เมื่ออภิเษกสมรสกับสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย เมื่อในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437 ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย พระองค์ทรงเป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลียและได้นำพันธุกรรมบกพร่องเข้าไปสู่ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย โดยส่งผ่านโรคไปยังพระโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ แกรนด์ดยุกอเล็กซิส มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้เกิดการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซียในช่วงการปฏิวัติรัสเซียเมื่อปี พ.ศ. 2460
เจ้าชายแอร์นส์ ลุดวิก แกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์และไรน์ พระโอรสในเจ้าหญิงอลิซและพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียอีกพระองค์หนึ่ง อภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2437 กับ เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาแห่งเอดินบะระ พระญาติชั้นที่หนึ่งฝ่ายพระมารดา ซึ่งเป็นพระธิดาในเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระ พระอนุชาในเจ้าหญิงอลิซ แต่ได้หย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2444
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงอลิซและเจ้าชายลุดวิกที่ 4 แกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์และไรน์ | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าหญิงอลิซ | 25 เมษายน พ.ศ. 2386 พระราชวังบักกิงแฮม เวสต์มินส์เตอร์ (กรุงลอนดอน) | 14 ธันวาคม พ.ศ. 2421 พระราชวังใหม่ ดาร์มชตัดท์ รัฐเฮสส์ (เยอรมนี) |
อภิเษกสมรส 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 (หกเดือนหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต) ณ ห้องเสวยพระกระยาหาร ตำหนักออสบอร์น เมืองอีสต์โควส์ เกาะไว้ท์ (ประเทศอังกฤษ) พระโอรส 2 พระองค์ และ พระธิดา 5 พระองค์ (รวมถึง อเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา จักรพรรดินีองค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย) พระภาคิไนย 9 พระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในพระครรภ์) และ พระภาติกา 7 พระองค์ (รวมถึง สมเด็จพระราชินีหลุยส์แห่งสวีเดน และ เอิร์ลเมานต์แบ็ทแตนแห่งพม่า อุปราชพระองค์สุดท้ายแห่งอินเดีย) เจ้าชายหลุยส์ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นแกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์และไรน์ ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2420 ก่อนการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงอลิซ เป็นเวลาเกือบสองปี | |
เจ้าชายลุดวิกแห่งเฮสส์ ต่อมา เจ้าชายลุดวิก แกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์และไรน์ |
12 กันยายน พ.ศ. 2380 ดาร์มชตัดท์ รัฐเฮสส์ |
13 มีนาคม พ.ศ. 2435 พระราชวังใหม่ ดาร์มชตัดท์ รัฐเฮสส์ |
เจ้าชายอัลเฟรด (อัลเฟรด เออร์เนส อัลเบิร์ต) พระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ประสูติเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2387 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 ทรงได้รับการสถาปนาเป็น ดยุกแห่งเอดินบะระ เอิร์ลแห่งอัลส์เตอร์และเคนต์ ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2409 และอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2417 ณ พระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กับ แกรนด์ดัชเชสมารี อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย (17 ตุลาคม พ.ศ. 2396 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2463 พระราชธิดาในสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย) พระองค์มีพระโอรส 2 พระองค์ (หนึ่งพระองค์สิ้นพระชนม์ในพระครรภ์) พระธิดา 4 พระองค์ พระภาคิไนย 5 พระองค์ (8 พระองค์มีพระชนม์ผ่านสัปดาห์แรก) และพระภาติกา 8 พระองค์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2436 เจ้าชายอัลเฟรดทรงได้รับตำแหน่งจอมพลเรือแห่งราชนาวีอังกฤษ ไม่นานก่อนที่จะสืบราชสมบัติเป็นดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน
เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ พระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายอัลเฟรด (และพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย) อภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2436 กับ เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ มกุฎราชกุมารแห่งโรมาเนีย และได้ดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย ในปี พ.ศ. 2457 หลังจากการเสวยราชสมบัติของพระสวามี
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระ และแกรนด์ดัชเชสมารี อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระ ต่อมา ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและ โกทา จอมพลแห่งราชนาวีอังกฤษ | 6 สิงหาคม พ.ศ. 2387 พระราชวังวินด์เซอร์ เขตเบิร์กเชียร์ (อังกฤษ) | 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 ปราสาทโรเซอเนา เมืองโคบูร์ก (เยอรมนี) |
อภิเษกสมรส 23 มกราคม พ.ศ. 2417 ณ พระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย พระโอรส 2 พระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ขณะอยู่ในพระครรภ์) และ พระธิดา 4 พระองค์ (รวมถึง เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย) พระภาคิไนย 10 พระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ขณะยังทรงอยู่ในพระครรภ์) พระภาติกา 8 พระองค์ (รวมถึง พระราชาธิบดีคาโรลที่ 2 สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธแห่งกรีซ และ สมเด็จพระราชินีมารีแห่งยูโกสลาเวีย) เจ้าชายอัลเฟรดได้รับการสถาปนาเป็นดยุกแห่งเอดินบะระ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2409 และสืบราชบัลลังก์ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2436 และประทับที่เมืองโคบูร์ก จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2443 | |
แกรนด์ดัชเชสมารี อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระราชธิดาใน จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 |
17 ตุลาคม พ.ศ. 2396 พระราชวังซาร์โกเซโล กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย |
24 ตุลาคม พ.ศ. 2463 เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ |
เจ้าหญิงเฮเลนา (เฮเลนา ออกัสตา วิกตอเรีย) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สามในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ประสูติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2389 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2466 พระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2409 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังวินด์เซอร์ กับ เจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกุสเท็นบูร์ก (ฟรีดริช คริสเตียน คาร์ล ออกุสต์; 22 มกราคม พ.ศ. 2374 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2460 พระโอรสในเจ้าชายคริสเตียน ดยุกแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกุสเท็นบูร์ก) มีพระโอรส 2 พระองค์และพระธิดา 2 พระองค์ซึ่งเจริญพระชนม์เป็นผู้ใหญ่ และมีพระโอรสอีก 2 พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อแรกประสูติ เจ้าหญิงเฮเลนาและเจ้าชายคริสเตียนไม่มีพระราชนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีพระนัดดานอกสมรสจำนวนหนึ่งคน ซึ่งเสียชีวิตโดยไม่มีทายาทสืบสกุล เช่นเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษพระองค์อื่นๆ ที่มีพระอิสริยยศของเยอรมัน (เช่น เจ้าชายหลุยส์แห่งบัทเทนแบร์ก) เจ้าหญิงเฮเลนา เจ้าชายคริสเตียน และพระธิดาสองพระองค์ได้สละพระอิสริยยศแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ในปี พ.ศ. 2460 เมือจักรวรรดิอังกฤษและเยอรมันเป็นปฏิปักษ์กันในสงครามโลกครั้งที่ 1
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงเฮเลนาและเจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าหญิงเฮเลนา | 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2389 พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน อังกฤษ |
9 มิถุนายน พ.ศ. 2466 พระราชวังโชมเบิร์ก กรุงลอนดอน อังกฤษ |
อภิเษกสมรส 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2409 ณ พระราชวังวินด์เซอร์ เมืองวินด์เซอร์ เมืองเบิร์คไชร์ พระโอรส 4 พระองค์ (2 พระองค์ทรงพระชนม์) และพระธิดา 2 พระองค์ (รวมถึง เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ และ เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรีย และ เจ้าหญิงมารี หลุยส์); พระนัดดานอกสมรส 1 คน (วาเลรี มารี ซู ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ ดัชเชสแห่งอาเร็นแบร์ก) เจ้าหญิงเฮเลนาและเจ้าชายคริสเตียนไม่ทรงมีทายาทสืบสายสกุลเหลืออยู่ในปัจจุบัน ส่วนวาเลรี มารี พระนัดดานอกสมรส เสียชีวิตโดยไม่มีทายาทสืบสกุล | |
เจ้าชายคริสเตียนแห่ง ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ |
22 มกราคม พ.ศ. 2474 ออกุสเท็นบูร์ก เดนมาร์ก |
28 ตุลาคม พ.ศ. 2460 พระราชวังโชมเบิร์ก กรุงลอนดอน อังกฤษ |
เจ้าหญิงลูอีส (ลูอีส แคโรไลน์ อัลเบอร์ตา) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สี่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ประสูติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2391 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2421 ณ พระราชวังวินด์เซอร์ กับ จอห์น แคมป์เบลล์ ดยุกที่ 9 แห่งอาร์กายล์ (จอห์น จอร์จ เอ็ดเวิร์ด เฮนรี ดักลาส ซูเธอร์แลนด์ แคมป์เบลล์; 6 สิงหาคม พ.ศ. 2388 - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2457) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแคนาดา ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2421 - 22 ธันวาคม พ.ศ. 2423 พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกของพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2057 ที่เลือกอภิเษกสมรสกับสามัญชนมากกว่าสมาชิกจากพระราชวงศ์ด้วยกัน
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงหลุยส์และจอห์น แคมป์เบลล์ มาร์ควิสแห่งลอร์น | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าหญิงลูอีส | 18 มีนาคม พ.ศ. 2391 พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน |
3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 พระราชวังเค็นซิงตัน กรุงลอนดอน |
อภิเษกสมรส 21 มีนาคม พ.ศ. 2414, ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ ไม่มีพระโอรสและธิดา มาร์ควิสแห่งลอร์นเป็นสมาชิกสภาสามัญชนในระหว่างปี พ.ศ. 2411-2421 และระหว่างปี พ.ศ. 2438-2443 และตำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแคนาดา เทียบเท่าผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ระหว่างปี พ.ศ. 2421-2426 ต่อในปี พ.ศ. 2443 เขาได้สืบทอดเป็นดยุกที่ 9 แห่งอาร์กายล์ (แล้วเข้าเป็นสมาชิกสภาขุนนาง) | |
จอห์น ดักลาส ซูเธอร์แลนด์ แคมป์เบลล์ ส.ส. มาร์ควิสแห่งลอร์น ต่อมา ผู้สำเร็จราชการแคนาดา ต่อมา ดยุกแห่งอาร์กายล์ |
6 สิงหาคม พ.ศ. 2388 กรุงลอนดอน |
2 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 เมืองโควส์ เกาะไว้ท์ |
เจ้าชายอาร์เธอร์ (อาร์เธอร์ วิลเลียม แพทริค อัลเบิร์ต) พระราชโอรสพระองค์ที่สามในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต ประสูติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2393 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2485 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น ดยุกแห่งคอนน็อตและสแตรธเอิร์น และเอิร์ลแห่งซัสเซกซ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 และอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2422 ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ กับ เจ้าหญิงหลุยส์ มาร์กาเรเทแห่งปรัสเซีย (หลุยส์ มาร์กาเรเท อเล็กซานดรา วิคตอเรีย แอ็กเนส; 25 มิถุนายน พ.ศ. 2403 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2460 พระธิดาในเจ้าชายฟรีดริช คาร์ลแห่งปรัสเซีย) และมีพระโอรส 1 พระองค์ พระธิดา 2 พระองค์ พระภาคิไนย 6 พระองค์ และพระภาติกา 1 พระองค์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2454 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ้าชายอาร์เธอร์เป็นผู้สำเร็จราชการแคนาดา นับเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์แรกและพระองค์เดียวที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งคอนน็อต พระธิดาในเจ้าชายอาร์เธอร์ (และพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย) อภิเษกสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2448 กับ เจ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟแห่งสวีเดน และดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงมกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน เมื่อพระสวามีทรงเป็นรัชทายาทแห่งสวีเดนในปี พ.ศ. 2450 พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2463 สามสิบปีก่อนที่พระสวามีได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งสวีเดน
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายอาร์เธอร์ ดยุกแห่งคอนน็อต และเจ้าหญิงหลุยส์ มาร์กาเรเทแห่งปรัสเซีย | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าชายอาร์เธอร์ ดยุกแห่งคอนน็อตและ สแตรธเอิร์น จอมพลแห่งกองทัพอังกฤษ ผู้สำเร็จราชการแคนาดา |
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2393 พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน อังกฤษ |
16 มกราคม พ.ศ. 2485 ตำหนักแบ็กช็อทพาร์ค มณฑลเซอร์รีย์ อังกฤษ |
อภิเษกสมรส 13 มีนาคม พ.ศ. 2422 ณ โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ (มณฑลเบิร์คไชร์) พระโอรส 1 พระองค์ และ พระธิดา 2 พระองค์ พระภาคิไนย 6 พระองค์ และ พระภาติกา 1 พระองค์ (รวมถึง สมเด็จพระราชินีอิงกริดแห่งเดนมาร์ก และ เคานต์ คาร์ล โยฮัน เบอร์นาด็อต พระราชปนัดดาที่ทรงพระชนม์พระองค์สุดท้ายในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย) เจ้าชายอาร์เธอร์ทรงเป็นจอมพลแห่งกองทัพอังกฤษในปี พ.ศ. 2445 และดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแคนาดา (ผู้แทนพระองค์ในพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระนัดดา) ระหว่างปี พ.ศ. 2454-2459 | |
เจ้าหญิงหลุยส์ มาร์กาเรเทแห่งปรัสเซีย |
25 มิถุนายน พ.ศ. 2403 เมืองพ็อทซ์ดัม ปรัสเซีย |
14 มีนาคม พ.ศ. 2460 ตำหนักคลาเรนซ์เฮาส์ กรุงลอนดอน |
เจ้าชายลีโอโพลด์ (ลีโอโพลด์ จอร์จ ดันแคน อัลเบิร์ต) พระราชโอรสพระองค์ที่สี่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามี ประสูติเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2396 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2427 ทรงได้รับการสถาปนาให้เป็น ดยุกแห่งออลบานี เอิร์ลแห่งคลาเรนซ์ และบารอนอาร์กโลว์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2424 พระองค์เข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2425 ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ กับ เจ้าหญิงเฮเลเนอแห่งวัลเด็คและเพือร์ม็อนท์ (เฮเลนา ฟรีเดอริคา ออกุสตา; 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 - 1 กันยายน พ.ศ. 2465 พระธิดาในเจ้าชายจอร์จ วิคเตอร์ ดยุกแห่งวาลเด็คและไพร์มอนท์) และมีพระโอรส 1 พระองค์ พระธิดา 1 พระองค์ พระภาคิไนย 5 พระองค์ และพระภาติกา 2 พระองค์ นอกจากนี้เจ้าชายเลโอโพลด์ทรงได้รับพันธุกรรมโรคฮีโมฟิเลียมาจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชชนนี และดำรงพระชนม์ชีพแบบกึ่งทุพพลภาพ
เจ้าหญิงอลิซแห่งออลบานี พระธิดาในเจ้าชายเลโอโพลด์ (และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย) อภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2447 กับ เจ้าชายอเล็กซานเดอร์แห่งเท็ก พระอนุชาในสมเด็จพระราชินีแมรี และดำรงพระอิสริยยศเป็น เคานท์เตสแห่งแอธโลน และไวเคานท์เตสเทรมาตัน เมื่อพระสวามีทรงได้รับการสถาปนาเป็นเอิร์ลแห่งแอธโลน และไวเคานต์เทรมาตัน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2460 พระองค์เป็นพระราชนัดดาที่ดำรงพระชนม์ชีพเป็นพระองค์สุดท้ายในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (97 พรรษา) นอกจากนี้เจ้าหญิงยังทรงเป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลีย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากพระบิดาและส่งผ่านไปยังพระโอรสสองพระองค์
เจ้าชายเลโอโพลด์มีพระโอรสที่ประสูติหลังจากการสิ้นพระชนม์อีกพระองค์หนึ่งคือ เจ้าชายชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด ซึ่งได้ทรงสืบทอดพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งอัลบานีเมื่อแรกประสูติในปี พ.ศ. 2427 พระองค์ได้เสวยราชสมบัติเป็นดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเฟรด พระปิตุลาในปี พ.ศ. 2443 และต้องสละราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2461 รวมทั้งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ ของอังกฤษทั้งหมดในปี พ.ศ. 2462 เนื่องจากทรงอยู่ในฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับประเทศอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าชายชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ดเป็นพระอัยกาของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ผ่านทางพระธิดาคือ เจ้าหญิงซิบิลลาแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายเลโอโพลด์ ดยุกแห่งอัลบานี และเจ้าหญิงเฮเลนาแห่งวาลเด็คและไพร์มอนท์ | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าชายลีโอโพลด์ ดยุกแห่งออลบานี |
7 เมษายน พ.ศ. 2396 พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน อังกฤษ |
28 มีนาคม พ.ศ. 2427 เมืองคานส์ ฝรั่งเศส |
อภิเษกสมรส 27 เมษายน พ.ศ. 2426 โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ (มณฑลเบิร์คไชร์) พระโอรส 1 พระองค์ และ พระธิดา 1 พระองค์ พระภาคิไนย 5 พระองค์ และ พระภาติกา 2 พระองค์ | |
เจ้าหญิงเฮเลเนอแห่งวัลเด็คและเพือร์ม็อนท์ | 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 อาโรลเซิน รัฐวาลเด็ค (ปัจจุบัน เฮสส์) |
1 กันยายน พ.ศ. 2465 ฮินเทอร์ริส ไทรอล ออสเตรีย | ||
เจ้าหญิงเบียทริซ (เบียทริซ แมรี่ วิกตอเรีย ฟีโอดอรา) พระราชธิดาพระองค์ที่ห้าและองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ประสูติเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2400 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ณ โบสถ์เซนต์มิลเดร็ด เมืองวิปปิงแฮม ใกล้ตำหนักออสบอร์น เกาะไว้ท์ กับ เจ้าชายเฮนรีแห่งบัทเทนแบร์ก (เฮนรี มอริส; 5 ตุลาคม พ.ศ. 2401 - 20 มกราคม พ.ศ. 2439 พระโอรสในเจ้าชายอเล็กซานเดอร์แห่งเฮสส์และไรน์) มีพระโอรส 3 พระองค์ พระธิดา 1 พระองค์ (สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูจีเนียแห่งสเปน) พระภาคิไนย 5 พระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในพระครรภ์) และพระภาติกา 3 พระองค์ ในฐานะพระราชนัดดาผ่านทางเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทนแบร์ก สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสแห่งสเปน จึงเป็นพระราชปนัดดาในเจ้าหญิงเบียทริซ และลื่อในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียอีกด้วย
เนื่องจากกระแสต่อต้านเยอรมันในประเทศอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมาชิกในราชวงศ์บัทเทนแบร์กซึ่งเป็นพลเมืองชาวอังกฤษได้สละพระอิสริยยศ "เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งบัทเทนแบร์ก" และเปลี่ยนมาใช้ชื่อราชสกุลที่เป็นรูปแบบภาษาอังกฤษว่า "เมานต์แบ็ทแตน"
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงเบียทริซและเจ้าชายเฮนรีแห่งบัทเทนแบร์ก | ||||
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | รายละเอียด | |
เจ้าหญิงเบียทริซ | 14 เมษายน พ.ศ. 2400 พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน อังกฤษ |
26 ตุลาคม พ.ศ. 2487 แบรนทริดจ์พาร์ค มณฑลซัสเซ็กซ์ |
อภิเษกสมรส 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ณ โบสถ์เซนต์มิลเดร็ด เมืองวิปปิงแฮม (ใกล้กับ ตำหนักออสบอร์น) เกาะไว้ท์ พระโอรส 3 พระองค์ และ พระธิดา 1 พระองค์ (เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทนแบร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน) พระภาคิไนย 5 พระองค์ (หนึ่งพระองค์สิ้นพระชนม์) พระภาติกา 3 พระองค์ (รวมถึง เจ้าชายฆวน เคานต์แห่งบาร์เซโลนา รัชทายาทแห่งสเปน ระหว่างปี พ.ศ. 2476-2509) | |
เจ้าชายเฮนรีแห่ง บัทเทนแบร์ก |
5 ตุลาคม พ.ศ. 2401 มิลาน อิตาลี |
20 มกราคม พ.ศ. 2439 เรือรบบล็อนด์ เซียร์ราลีโอน |
พระนาม | ความสัมพันธ์ในสายพระโลหิต (ควีนวิกตอเรีย) | พระราชสมภพ/ประสูติ | สวรรคต/สิ้นพระชนม์ | พระชนมายุ |
เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ | พระโอรสในเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทนแบร์ก (พระธิดาในเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์) |
10 มิถุนายน 2464 (1921) | 9 เมษายน 2564 (2021) | 99 พรรษา 9 เดือน 30 วัน |
เจ้าหญิงอลิซ เคาน์เตสแห่งแอธโลน | พระธิดาในเจ้าชายลีโอโพลด์ ดยุกแห่งออลบานี | 25 กุมภาพันธ์ 2426 (1883) | 3 มกราคม 2524 (1981) | 97 พรรษา 10 เดือน 9 วัน |
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร | พระราชธิดาในพระเจ้าจอร์จที่ 6 (พระราชโอรสในพระเจ้าจอร์จที่ 5) |
21 เมษายน 2469 (1926) | 8 กันยายน 2565 (2022) | 96 พรรษา 4 เดือน 20 วัน |
สมเด็จพระราชาธิบดีไมเคิลที่ 1 แห่งโรมาเนีย | พระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีคาโรลที่ 2 (พระโอรสในเจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ) และเจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระธิดาในเจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย) |
25 ตุลาคม 2464 (1921) | 5 ธันวาคม 2560 (2017) | 96 พรรษา 1 เดือน 10 วัน |
เลดีพาเมลา ฮิกส์ | พระธิดาในลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบ็ทแตน (พระโอรสในเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์) |
19 เมษายน 2472 (1929) | ยังมีชีวิตอยู่ | 95 |
เคานต์ คาร์ล โยฮัน เบอร์นาด็อตแห่งวิสบอร์ก | พระโอรสในเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งคอนน็อต | 31 ตุลาคม 2459 (1916) | 5 พฤษภาคม 2555 (2012) | 95 พรรษา 6 เดือน 5 วัน |
เคานต์ ซิกวาร์ด เบอร์นาด็อตแห่งวิสบอร์ก | พระโอรสในเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งคอนน็อต | 7 มิถุนายน 2450 (1907) | 4 กุมภาพันธ์ 2545 (2002) | 94 พรรษา 7 เดือน 28 วัน |
เลดีแคทเธอรีน แบรนด์แรม | พระธิดาในเจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย | 4 พฤษภาคม 2456 (1913) | 2 ตุลาคม 2550 (2007) | 94 พรรษา 4 เดือน 28 วัน |
เจ้าหญิงเบียทริซแห่งสเปน | พระธิดาในเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทนแบร์ก | 22 มิถุนายน 2452 (1909) | 22 พฤศจิกายน 2545 (2002) | 93 พรรษา 5 เดือน |
แพทริเซีย แนตช์บูล เคานเตสเมานต์แบ็ทแตนที่ 2 แห่งพม่า | พระธิดาในลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบ็ทแตน (พระโอรสในเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์) |
14 กุมภาพันธ์ 2467 (1924) | 13 มิถุนายน 2560 (2017) | 93 พรรษา 4 เดือน |
เจ้าหญิงอัสตริดแห่งนอร์เวย์ | พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีโอลาฟที่ 5 (พระโอรสในเจ้าหญิงม็อดแห่งเวลส์) |
12 กุมภาพันธ์ 2475 (1932) | ยังทรงพระชนม์ | 92 |
เจ้าชายวอล์ฟกังแห่งเฮสส์-คาสเซิล | พระโอรสในเจ้าหญิงมาร์กาเรเทแห่งปรัสเซีย | 6 พฤศจิกายน 2439 (1896) | 12 กรกฎาคม 2532 (1989) | 92 พรรษา 8 เดือน 6 วัน |
เจ้าหญิงลูอีส ดัชเชสแห่งอาร์กายล์ | พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย | 18 มีนาคม 2391 (1848) | 3 ธันวาคม 2482 (1939) | 91 พรรษา 8 เดือน 16 วัน |
เจ้าชายอาร์เธอร์ ดยุกแห่งคอนน็อตและสแตรธเอิร์น | พระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย | 1 พฤษภาคม 2393 (1850) | 16 มกราคม 2485 (1942) | 91 พรรษา 8 เดือน 15 วัน |
เจ้าชายจอร์จ วิลเฮล์มแห่งฮาโนเวอร์ | พระโอรสในเจ้าหญิงวิกตอเรีย-หลุยซาแห่งปรัสเซีย (พระราชธิดาในพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2) |
25 มีนาคม 2458 (1915) | 8 มกราคม 2549 (2006) | 90 พรรษา 9 เดือน 15 วัน |
สมเด็จพระราชินีอิงกริดแห่งเดนมาร์ก | พระธิดาในเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งคอนน็อต | 28 มีนาคม 2453 (1910) | 7 พฤศจิกายน 2543 (2000) | 90 พรรษา 7 เดือน 10 วัน |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.