Loading AI tools
ชื่อเรียกของโฮโมเซเปียนส์ สปีชีส์ในสกุลโฮโม จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มนุษย์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Homo sapiens, ภาษาละตินแปลว่า "คนฉลาด" หรือ "ผู้มีปัญญา") หรือ คน เป็นสปีชีส์เดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ในสกุล Homo ในทางกายวิภาค มนุษย์สมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นในทวีปแอฟริการาว 200,000 ปีที่แล้ว และบรรลุความนำสมัยทางพฤติกรรม (behavioral modernity) อย่างสมบูรณ์เมื่อราว 50,000 ปีที่แล้ว[1]
มนุษย์ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 0.3–0Ma ชิบาเนียน – ปัจจุบัน | |
---|---|
มนุษย์วัยผู้ใหญ่เพศชาย (ซ้าย) และเพศหญิง (ประเทศไทย, 2550) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | อันดับวานร Primates |
อันดับย่อย: | Haplorhini Haplorhini |
อันดับฐาน: | Simiiformes Simiiformes |
วงศ์: | ลิงใหญ่ Hominidae |
วงศ์ย่อย: | โฮมินินี Homininae |
สกุล: | โฮโม Homo Linnaeus, 1758 |
สปีชีส์: | Homo sapiens |
ชื่อทวินาม | |
Homo sapiens Linnaeus, 1758 | |
ความหนาแน่นประชากรของ Homo sapiens (2563) |
เชื้อสายมนุษย์แยกออกจากบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายกับชิมแปนซี ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้ชิดที่สุด เมื่อราว 5 ล้านปีที่แล้วในแอฟริกา ก่อนจะวิวัฒนาการไปเป็นออสตราโลพิเธซีน (Australopithecines) และสุดท้ายเป็นสกุล Homo[2] สปีชีส์ โฮโม แรก ๆ ที่อพยพออกจากแอฟริกา คือ Homo erectus, Homo ergaster ร่วมกับ Homo heidelbergensis ซึ่งถูกมองว่าเป็นบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์สมัยใหม่[3][4] Homo sapiens ได้เดินทางต่อไปเพื่อที่จะตั้งถิ่นฐานในทวีปต่าง ๆ โดยมาถึงยูเรเชียระหว่าง 125,000-60,000 ปีที่แล้ว[5][6] ทวีปออสเตรเลียราว 40,000 ปีที่แล้ว ทวีปอเมริการาว 15,000 ปีที่แล้ว และเกาะห่างไกล เช่น ฮาวาย เกาะอีสเตอร์ มาดากัสการ์ นิวซีแลนด์ระหว่าง ค.ศ. 300 ถึง ค.ศ. 1280[7][8] ราว 10,000 ปีที่แล้ว มนุษย์เริ่มเกษตรกรรมแบบอยู่กับที่ โดยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ป่า ทำให้ประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิง และเทคนิคใหม่ ๆ ของการพัฒนาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ประชากรมนุษย์ยิ่งเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากมนุษย์อาศัยอยู่ในทุกทวีปยกเว้นแอนตาร์กติกา จึงได้ชื่อว่าเป็น "สปีชีส์ที่พบได้ทั่วโลก" (cosmopolitan species) จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012 ขนาดประชากรมนุษย์ที่กองประชากรสหประชาชาติประเมินไว้ มีจำนวนอยู่ที่ราว 7 พันล้านคน[9]
มนุษย์มีลักษณะพิเศษ คือ มีสมองใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัว โดยเฉพาะสมองชั้นนอก สมองส่วนหน้า และสมองกลีบขมับที่พัฒนาเป็นอย่างดี ทำให้มนุษย์สามารถให้เหตุผลเชิงนามธรรม ใช้ภาษา พินิจภายใน (introspection) แก้ปัญหาและสร้างสรรค์วัฒนธรรมผ่านการเรียนรู้ทางสังคม ความสามารถทางจิตใจของมนุษย์นี้ ประกอบกับการปรับตัวมาเคลื่อนไหวสองเท้าซึ่งทำให้มือว่างจัดการจับวัตถุได้ ทำให้มนุษย์สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือได้ดีกว่าสปีชีส์อื่นใดบนโลกมาก มนุษย์ยังเป็นสปีชีส์เดียวเท่าที่ทราบที่ก่อไฟและทำอาหารเป็น สวมใส่เสื้อผ้า และสร้างสรรค์ รวมถึงมีความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีและศิลปะอื่น ๆ การศึกษามนุษย์เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ เรียกว่า มานุษยวิทยา
เอกลักษณ์ที่สำคัญของมนุษย์ ได้แก่ ความถนัดในการใช้ระบบการสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ เช่น ภาษา เพื่อการแสดงออก แลกเปลี่ยนความคิด และการจัดระเบียบ มนุษย์สร้างโครงสร้างทางสังคมอันซับซ้อน ซึ่งประกอบด้วยการรวมกลุ่มจำนวนมากที่มีทั้งร่วมมือและแข่งขันกัน จากครอบครัวและวงศาคณาญาติ ไปจนถึงรัฐ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์ได้ก่อตั้งค่านิยม บรรทัดฐานทางสังคมและพิธีกรรม ซึ่งรวมกันเป็นรากฐานของสังคมมนุษย์ มนุษย์ขึ้นชื่อในความปรารถนาที่จะเข้าใจและมีอิทธิพลเหนือสิ่งแวดล้อม แสวงหาคำอธิบายและปรับเปลี่ยนปรากฏการณ์ต่าง ๆ ผ่านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา เทพปกรณัม และศาสนา
การศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาพัฒนาการของสกุล Homo การปะติดปะต่อหลักฐานของวิวัฒนาการเบนออกของเชื้อสายมนุษย์จากโฮมินิน (บรรพบุรุษร่วมระหว่างมนุษย์กับชิมแปนซี) โฮมินิด (ลิงไม่มีหางขนาดใหญ่) และไพรเมตอื่น ๆ "มนุษย์สมัยใหม่" ถูกนิยามให้อยู่ในสปีชีส์ Homo sapiens และโดยเจาะจงว่าอยู่ในสปีชีส์ย่อย Homo sapiens sapiens เพียงหนึ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ลิงสิ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ กอริลลาและชิมแปนซี ด้วยการเรียงลำดับของจีโนมมนุษย์และชิมแปนซี การประเมินความพ้องระหว่างลำดับดีเอ็นเอของมนุษย์กับชิมแปนซีในปัจจุบันมีพิสัยระหว่าง 95% ถึง 99%[10][11][12][13] โดยการใช้เทคนิคที่เรียกว่า นาฬิกาโมเลกุล ซึ่งประเมินเวลาที่จำนวนการกลายเบนออกต้องการสะสมระหว่างเชื้อสายทั้งสอง ซึ่งทำให้สามารถคำนวณช่วงเวลาโดยประมาณที่เกิดการแยกเชื้อสายได้. ชะนี (hylobatidae) และอุรังอุตัง (สกุล Pongo) เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่แยกออกจากสายที่นำไปสู่มนุษย์ จากนั้นเป็นกอริลลา (สกุล Gorilla) ตามมาด้วยชิมแปนซีและลิงโบโนโบ (สกุล Pan) เชื้อสายมนุษย์และชิมแปนซีแยกจากกันระหว่าง 8-4 ล้านปีที่แล้ว ในปลายสมัยไมโอซีน[14][13][15]
มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์เพียงเล็กน้อยที่อธิบายการเบนออกของเชื้อสายกอริลลา ชิมแปนซี และโฮมินิน ซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่ที่สุดที่ถูกเสนอเป็นสมาชิกของเชื้อสายโฮมินิน คือ Sahelanthropus tchadensis ซึ่งมีอายุราว 7 ล้านปี, Orrorin tugenensis ซึ่งมีอายุราว 5.7 ล้านปี และ Ardipithecus kadabba ซึ่งมีอายุราว 5.6 ล้านปี แต่ละสปีชีส์ดังกล่าวมีการโต้แย้งว่าเป็นบรรพบุรุษสองเท้าของโฮมินินในสมัยหลัง แต่ข้ออ้างในแต่ละกรณีได้ถูกคัดค้าน เป็นไปได้ว่า สปีชีส์หนึ่งข้างต้นเป็นบรรพบุรุษของลิงไม่มีหางแอฟริกาอีกสาขาหนึ่ง หรือพวกมันอาจเป็นบรรพบุรุษร่วมของโฮมินินกับลิงไม่มีหางอื่น ๆ คำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ยุคต้นเหล่านี้กับเชื้อสายโฮมินินยังต้องหาคำตอบต่อไป จากสปีชีส์ยุคแรกเริ่มเหล่านี้ ออสตราโลพิเธซีน (Australopithecines) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 4 ล้านปีที่แล้ว และเบนออกเป็นสาขา Robust (หรือเรียกว่า Paranthropus) และ Gracile ซึ่งหนึ่งในนั้น (อาจเป็น A. garhi) ต่อมาเป็นบรรพบุรุษของสกุล Homo
สมาชิกเก่าแก่ที่สุดของสกุล Homo คือ Homo habilis ซึ่งวิวัฒนาการเมื่อราว 2.3 ล้านปีที่ผ่านมา Homo habilis เป็นสปีชีส์แรกซึ่งมีหลักฐานการใช้เครื่องมือหิน สมองของโฮมินินยุคเริ่มแรกนี้ยังมีขนาดเท่ากับสมองชิมแปนซี และการปรับตัวหลักของพวกมัน คือ การเดินสองเท้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยบนดิน อีกหนึ่งล้านปีต่อมา ขบวนการรวมอวัยวะสำคัญไว้ที่หัว (encephalization) เริ่มขึ้น และด้วยการมาถึงของ Homo erectus ในบันทึกซากดึกดำบรรพ์ ความจุกะโหลกได้เพิ่มเป็นสองเท่า Homo erectus เป็นโฮมินินชนิดแรกที่อพยพจากแอฟริกา และสปีชีส์นี้แพร่กระจายไปทั่วแอฟริกา เอเชียและยุโรประหว่าง 1.8 ถึง 1.3 ล้านปีที่แล้ว ประชากรหนึ่งของ H. erectus หรือที่บางครั้งจัดเป็นอีกสปีชีส์ต่างหาก ชื่อ Homo ergaster ยังคงอาศัยอยู่ในแอฟริกาและวิวัฒนาการเป็น Homo sapiens เชื่อกันว่าสปีชีส์เหล่านี้เป็นพวกแรกที่ใช้ไฟและเครื่องมือที่ซับซ้อน ซากดึกดำบรรพ์ตัวเชื่อมที่เก่าแก่ที่สุดระหว่าง H. ergaster/erectus และ H. sapiens โบราณมาจากแอฟริกา เช่น Homo rhodesiensis แต่ดูเหมือนว่า รูปแบบตัวเชื่อมจะยังพบที่ดมานีซี (Dmanisi) ประเทศจอร์เจีย สิ่งมีชีวิตสืบเชื้อสายของ H. erectus แอฟริกานี้แพร่กระจายทั่วยูเรเซียจากประมาณ 500,000 ปีที่แล้ว วิวัฒนาการเป็น H. antecessor, H. heidelbergensis และ H. neanderthalensis ซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์สมัยใหม่ทางกายวิภาคศาสตร์อยู่ในยุคหินเก่าตอนกลาง ราว 200,000 ปีที่แล้ว เช่น ซากโอโม (Omo remains) แห่งเอธิโอเปีย ฟอสซิลในสมัยหลังจาก Skhul ในอิสราเอล และยุโรปใต้ เริ่มตั้งแต่ราว 90,000 ปีที่แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 การค้นพบซากฟอสซิลกระดูกมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ ที่ถ้ำเซเบล อีร์ฮูด ในประเทศโมร็อกโก อายุระหว่าง 300,000 - 350,000 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่ามนุษย์ไม่ได้มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วจากแหล่งเดียวที่เอธิโอเปียตามที่เข้าใจกันแต่เป็นการค่อย ๆ วิวัฒนาการปรับสภาพทางกายภาพร่วมกันจากหลาย ๆ แหล่งในแอฟริกาแบบที่ละเล็กทีละน้อยผ่านเวลายาวนานจนเป็นลักษณะในปัจจุบันนี้[16]
วิวัฒนาการของมนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษโดยการเปลี่ยนแปลงทางกายสัณฐานวิทยา พัฒนาการ สรีรวิทยาและพฤติกรรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้เกิดขึ้นนับแต่การแยกออกระหว่างบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายของมนุษย์กับชิมแปนซี การปรับตัวทางกายวิภาคศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ 1. ทวิบทหรือการเดินสองเท้า 2. ขนาดสมองที่ใหญ่ขึ้น 3. การพัฒนาเจริญเติบโตที่นานขึ้น (การตั้งครรภ์และวัยทารก) 4. ภาวะทวิสัณฐานทางเพศที่ลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้ยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่[17] การเปลี่ยนแปลงทางการสัณฐานวิทยาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ วิวัฒนาการของการหยิบจับที่มีพลังและแม่นยำด้วยนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกใน H. erectus[18]
ทวิบท (Bipedalism) เป็นการปรับตัวพื้นฐานของสายโฮมินิน และถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักเบื้องหลังชุดการเปลี่ยนแปลงของโครงกระดูกที่เกิดในโฮมินินทวิบทร่วมกัน โฮมินินทวิบทที่เก่าแก่ที่สุดถูกมองว่า อาจเป็น Sahelanthropus[19] หรือ Orrorin โดย Ardipithecus ซึ่งเป็นทวิบทอย่างเต็มตัว มาทีหลัง พวกที่เดินด้วยข้อนิ้วมือ อย่างกอริลลาและชิมแปนซี เบนออกในเวลาใกล้เคียงกัน และ Sahelanthropus หรือ Orrorin สปีชีส์ใดสปีชีส์หนึ่งอาจเป็นบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายรหว่างมนุษย์กับลิงทั้งสอง สัตว์สองเท้าช่วงต้น ๆ สุดท้ายวิวัฒนาการไปเป็นออสตราโลพิเธซีน และสกุล Homo ต่อมา มีหลายทฤษฎีที่อธิบายคุณค่าของการปรับตัวเป็นทวิบท เป็นไปได้ว่าเหตุที่ทวิบทได้รับการสนับสนุนเพราะทำให้สัตว์มีมือว่างที่จะเอื้อมถึงและถืออาหาร เพราะมันช่วยรักษาพลังงานระหว่างการเคลื่อนไหว เพราะทำให้สามารถวิ่งและล่าระยะไกลได้ หรือเป็นยุทธศาสตร์หลีกเลี่ยงภาวะไข้สูงโดยลดพื้นผิวที่จะสัมผัสกับแสงอาทิตย์โดยตรง
สปีชีส์มนุษย์พัฒนาสมองใหญ่กว่าสมองของไพรเมตอื่นมาก โดยทั่วไป สมองมนุษย์สมัยใหม่มีปริมาตร 1,330 ซม.3 กว่าสองเท่าของขนาดสมองชิมแปนซีหรือกอริลลา[20] รูปแบบของการรวมอวัยวะสำคัญที่หัวเริ่มต้นด้วย Homo habilis ซึ่งมีขนาดสมองประมาณ 600 ซม.3 ใหญ่กว่าชินแปนซีเล็กน้อย ตามมาด้วย Homo erectus (800-1,100 ซม.3) และถึงขีดสุดในนีแอนเดอร์ทาล โดยมีขนาดโดยเฉลี่ย 1,200-1,900 ซม.3 ซึ่งใหญ่กว่า Homo sapiens เสียอีก รูปแบบของการเจริญเติบโตของสมองหลังคลอดของมนุษย์แตกต่างไปจากลิงไม่มีหางอื่น และทำให้มีระยะการเรียนรู้ทางสังคมและการพัฒนาทักษะภาษายาวนานขึ้นในมนุษย์วัยเยาว์ อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างระหว่างโครงสร้างสมองมนุษย์กับสมองลิงไม่มีหางอื่นอาจสำคัญมากกว่าข้อแตกต่างในด้านขนาด[21][22][23][24] การเพิ่มปริมาตรขึ้นตามเวลาได้กระทบต่อพื้นที่ต่าง ๆ ในสมองไม่เท่ากัน สมองกลีบขมับ ซึ่งบรรจุศูนย์กลางการประมวลผลภาษาได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่ได้สัดส่วน เช่นเดียวกับที่สมองส่วนหน้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่ซับซ้อนและการประสานพฤติกรรมทางสังคม[20] การรวมอวัยวะสำคัญไว้ที่หัวมีความสัมพันธ์กับการที่มนุษย์เน้นกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารเพิ่มขึ้น[25][26] หรือกับพัฒนาการของการทำอาหาร[27] และมีการเสนอว่า เชาวน์ปัญญาเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการสนองต่อความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้น เมื่อสังคมมนุษย์ซับซ้อนขึ้น
ระดับทวิสัณฐานทางเพศที่ลดลงสังเกตได้ชัดเจนที่สุดจากการลดลงของฟันเขี้ยวในชายเมื่อเทียบกับสปีชีส์ลิงไม่มีหางอื่น (ยกเว้นชะนี) การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเพศสภาพในมนุษย์ คือ วิวัฒนาการของการเป็นสัดแฝงเร้น (hidden estrus) มนุษย์เป็นลิงไม่มีหางขนาดใหญ่ชนิดเดียวซึ่งหญิงสามารถสืบพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และไม่มีสัญญาณแสดงภาวะเจริญพันธุ์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเป็นพิเศษ (เช่น อวัยวะสืบพันธุ์บวมระหว่างการเป็นสัด) แม้กระนั้น มนุษย์ยังมีภาวะทวิสัณฐานทางเพศระดับหนึ่งในการกระจายขนของร่างกายและไขมันใต้หนัง และในขนาดโดยรวม ชายใหญ่กว่าหญิงราว 25% เพราะวัยทารกของลูกยาวนาน มนุษย์จึงเน้นการจับคู่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางออกที่เป็นไปได้ต่อความต้องการการลงทุนของพ่อแม่ (parental investment) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาต่าง ๆ ข้างต้นนั้นถูกตีความว่าเป็นผลมาจากการเน้นการจับคู่ที่เพิ่มขึ้นนี้เอง
มนุษย์สมัยใหม่ทางกายวิภาควิวัฒนาการจาก โฮโม เซเปียนส์ ดั้งเดิมในแอฟริกาในยุคหินเก่าตอนกลาง ราว 200,000 ปีที่แล้ว จนถึงการเริ่มต้นของสมัยหินเก่าตอนปลาย (50,000 ปีที่แล้ว) ได้มีการพัฒนาความนำสมัยทางพฤติกรรมเต็มตัว รวมทั้งภาษา ดนตรีและสิ่งสากลทางวัฒนธรรมอื่นขึ้น
การอพยพออกนอกทวีปแอฟริกาประเมินว่าเกิดขึ้นราว 70,000 ปีที่แล้ว มนุษย์สมัยใหม่ภายหลังแพร่กระจายไปทั่วโลก แทนที่โฮมินิดอื่นก่อนหน้า มนุษย์อาศัยอยู่ในยูเรเชียและโอเชียเนียก่อน 40,000 ปีที่แล้ว และทวีปอเมริกาเมื่ออย่างน้อย 14,500 ปีที่แล้ว[28] ทฤษฎีที่นิยมแพร่หลายหนึ่งว่า มนุษย์แทนที่ Homo neanderthalensis และสปีชีส์อื่นซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก Homo erectus[29] (ผู้อยู่อาศัยในยูเรเชียเนิ่นตั้งแต่ 2 ล้านปีที่แล้ว) ผ่านการสืบพันธุ์และการแก่งแย่งชิงทรัพยากรที่ประสบความสำเร็จกว่า[30] รูปแบบหรือขอบเขตที่แน่ชัดของการอยู่ร่วมกันและปฏิสัมพันธ์ของสปีชีส์ทั้งสองนั้นไม่ทราบและยังคงเป็นหัวข้อโต้แย้งกันต่อไป[31]
หลักฐานจากพันธุศาสตร์โบราณคดีซึ่งสะสมมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ได้ให้การสนับสนุนที่น่าเชื่อถือต่อสมมุติฐานลำดับเหตุการณ์ "ออกจากแอฟริกา" และได้เบียดข้อสันนิษฐานหลายภูมิภาคคู่แข่งตกไป ซึ่งได้เสนอว่า มนุษย์สมัยใหม่วิวัฒนาการมา อย่างน้อยบางส่วน จากประชากรโฮมินิดที่แยกกัน[32]
นักพันธุศาสตร์ ลินน์ จอร์จและเฮนรี อาร์เพนดิงแห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ เสนอว่า ความหลากหลายในดีเอ็นเอมนุษย์นั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความหลากหลายในสปีชีส์อื่น[33] พวกเขายังเสนอว่า ระหว่างสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย ประชากรมนุษย์ลดลงเหลือเพียงคู่พ่อแม่พันธุ์จำนวนน้อยเท่านั้น คือ ไม่มากกว่า 10,000 คน และอาจเหลือน้อยเพียง 1,000 คน ส่งผลให้ยีนพูลตกค้างมีขนาดเล็กมาก[34] หลายเหตุผลสำหรับข้อสมมุติปรากฏการณ์คอขวดประชากรนี้ เหตุผลหนึ่ง คือ ทฤษฎีมหันตภัยโตบา (Toba catastrophe theory)[35]
มนุษย์ส่วนมากมีวิถีชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเก็บหาของป่า กระทั่งเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว พวกเขามักอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเร่รอนขนาดเล็ก เรียกว่า สังคมกลุ่มคน (band society) การเริ่มทำการเกษตรกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติยุคหินใหม่ เมื่อมนุษย์มีอาหารส่วนเกินจนนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานมนุษย์อย่างถาวร มีการนำสัตว์มาเลี้ยงและการใช้เครื่องมือโลหะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เกษตรกรรมยังเกื้อหนุนการค้าและความร่วมมือ และได้นำไปสู่สังคมที่มีความซับซ้อน
ราว 6,000 ปีที่แล้ว มนุษย์ได้พัฒนา "ว่าที่รัฐ" แห่งแรกขึ้นในดินแดนเมโสโปเตเมีย, ลุ่มแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ และลุ่มแม่น้ำสินธุ ทั้งมีการจัดกำลังทางทหารเพื่อการป้องกัน และระบบราชการเพื่อการบริหารปกครอง รัฐต่าง ๆ มีการร่วมมือกันและแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากร ซึ่งในบางกรณีก็ถึงขั้นทำสงครามกัน ประมาณ 2,000-3,000 ปีที่แล้ว บางรัฐเช่น เปอร์เซีย, อินเดีย, จีน, โรม, และกรีซ เป็นรัฐแรก ๆ ที่พัฒนาจากการขยายดินแดนจนกลายเป็นจักรวรรดิ กรีซโบราณเป็นอารยธรรมต้นแบบซึ่งได้วางรากฐานของวัฒนธรรมตะวันตก เป็นบ่อเกิดของปรัชญาตะวันตก ประชาธิปไตย ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่สำคัญ กีฬาโอลิมปิก วรรณกรรมและประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก รวมทั้งนาฏกรรมตะวันตก รวมทั้งโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม[36] ศาสนาซึ่งมีอิทธิพล เช่น ศาสนายูดาย กำเนิดขึ้นในเอเชียตะวันตก และศาสนาฮินดู ซึ่งกำเนิดขึ้นในเอเชียใต้ ยังปรากฏชัดในช่วงเวลานี้เช่นกัน
ยุคกลางตอนกลายได้เกิดการปฏิวัติทางความคิดและเทคโนโลยี สังคมเมืองที่ก้าวหน้าในประเทศจีนได้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดนวัตกรรมและความรู้ใหม่ ๆ เช่นการหว่านเมล็ดพืชและการพิมพ์ ในอินเดีย ความก้าวหน้าที่สำคัญมีในด้านคณิตศาสตร์ ปรัชญา ศาสนาและโลหะวิทยา ยุคทองของอิสลามมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในจักรวรรดิมุสลิม การกลับมาค้นพบความรู้ในยุคคลาสสิกของยุโรปและการประดิษฐ์แท่นพิมพ์นำไปสู่การฟื้นฟูศิลปะวิทยาในศตวรรษที่ 14 และ 15 ในระยะเวลา 500 ปีต่อมาเป็นยุคแห่งการสำรวจและล่าอาณานิคม กระทั่งดินแดนส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกา เอเซีย และแอฟริกาอยู่ภายใต้การควบคุมของยุโรป นำไปสู่การดิ้นรนเพื่อเอกราชในภายหลัง การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 17 และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18-19 ก่อให้เกิดนวัตกรรมรูปแบบการขนส่งสำคัญ เช่น ทางรถไฟและรถยนต์ การพัฒนาทางพลังงาน เช่น ไฟฟ้าและถ่านหิน และมีการพัฒนารูปแบบการปกครองเช่น ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนและคอมมิวนิสต์
จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพัฒนาทางเทคโนโลยีในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นการเริ่มต้นของยุคสารสนเทศ มนุษย์สมัยใหม่มีชีวิตในโลกที่ทุกสถานที่สามารถรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวของทั่วทุกที่ในโลกไปพร้อม ๆ กัน และทุกที่เชื่อมต่อถึงกันโดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยหลัก มีการประมาณไว้ว่าใน ค.ศ. 2010 มนุษย์กว่า 2 พันล้านคนสื่อสารกันได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต[37] และ 3.3 พันล้านคนสื่อสารกันด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่[38]
ถึงแม้ว่าการเชื่อมต่อถึงกันระหว่างมนุษย์ช่วยให้เกิดการเติบโตทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ การสนทนา และเทคโนโลยี แต่ก็เกิดการปะทะกันของวัฒนธรรม เกิดการพัฒนาและการใช้อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง อารยธรรมมนุษย์ได้นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดมลภาวะ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตอื่น เรียกว่า เหตุการณ์สูญพันธุ์โฮโลซีน (holocene extinction event) [39] ซึ่งอาจเร่งให้เกิดเร็วขึ้นโดยปรากฏการณ์โลกร้อนในอนาคต[40]
ถิ่นฐานมนุษย์ช่วงต้น ๆ ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดกับน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่นซึ่งใช้เพื่อยังชีพขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น ประชากรของเหยื่อสัตว์ที่ใช้เพื่อการล่าและผืนดินซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงปศุสัตว์ แต่มนุษย์มีขีดความสามารถอย่างสูงในการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ด้วยวิธีการเทคโนโลยี ผ่านชลประทาน การผังเมือง การก่อสร้าง การขนส่ง การผลิตสินค้า การทำลายป่าและการกลายเป็นทะเลทราย (desertification) การเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่โดยเจตนามักทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มความมั่งคั่งเชิงวัตถุ เพิ่มความสบายเชิงความร้อน (thermal comfort) พัฒนาปริมาณอาหารที่หาได้ พัฒนาสุนทรียศาสตร์ หรือเพิ่มความง่ายในการเข้าถึงทรัพยากรหรือถิ่นฐานมนุษย์อื่น ๆ ด้วยการริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าและการขนส่งขนานใหญ่ ความใกล้ชิดทรัพยากรเหล่านี้กลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น และในหลายพื้นที่ ปัจจัยเหล่านี้มิได้เป็นแรงขับดันเบื้องหลังการเติบโตและการเสื่อมถอยของประชากร แต่รูปแบบซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่มักเป็นปัจจัยหลักกำหนดการเปลี่ยนแปลงประชากร
เทคโนโลยีเอื้อให้มนุษย์ตั้งอาณานิคมในทุกทวีปและปรับตัวเองเข้ากับลักษณะอากาศแทบทุกแบบได้ ภายในศตวรรษที่แล้ว มนุษย์ได้สำรวจแอนตาร์กติกา ร่องลึกมหาสมุทร และอวกาศ แม้การตั้งอาณานิคมในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะยังเป็นไปไม่ได้ก็ตาม ด้วยประชากรกว่าหกพันล้านคน มนุษย์เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนมากที่สุด มนุษย์ส่วนมาก (61%) อาศัยอยู่ในเอเชีย ที่เหลืออาศัยอยู่ในทวีปอเมริกา (14%) ทวีปแอฟริกา (14%) ทวีปยุโรป (11%) และโอเชียเนีย (0.5%)
การอยู่อาศัยของมนุษย์ภายในระบบนิเวศวิทยาปิดในสิ่งแวดล้อมไม่เป็นมิตร เช่น แอนตาร์กติกาและอวกาศ มีราคาแพง โดยปกติแล้วมีระยะเวลาจำกัด และมีขอบเขตเฉพาะการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ทางทหารหรือทางอุตสาหกรรมเท่านั้น ชีวิตในอวกาศนานทีมีหน โดยไม่เคยมีมนุษย์ในอวกาศพร้อมกันเกินกว่าสิบสามคนเลย[41] ระหว่าง ค.ศ. 1969 และ 1972 มนุษย์ใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ บนดวงจันทร์คราวละสองคน จวบจนปัจจุบัน มนุษย์ไม่เคยเดินทางเยือนเทห์ฟากฟ้าอื่นเลย แม้จะมีมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศอย่างต่อเนื่องนับแต่การส่งลูกเรือชุดแรกไปอาศัยอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2000[42] อย่างไรก็ดี เทห์ฟากฟ้าอื่นเคยมีวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นส่งไปเยือนแล้ว
นับแต่ ค.ศ. 1800 ประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นจากหนึ่งพันล้านคนเป็นกว่าหกพันล้านคน[43] ใน ค.ศ. 2004 ประชากรราว 2.5 พันล้านคนจาก 6.3 พันล้านคน (39.7%) อาศัยอยู่ในเขตเมือง และตัวเลขนี้คาดว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 21 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 สหประชาชาติประเมินว่าประชากรโลกครึ่งหนึ่งจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองเมื่อถึงสิ้นปีนั้น[44] ปัญหาของมนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในนครมีทั้งมลพิษและอาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ[45] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นครชั้นในและสลัมชานเมือง
มนุษย์ได้มีผลกระทบอย่างรวดเร็วต่อธรรมชาติ ด้วยมนุษย์แทบไม่เคยตกเป็นเหยื่อของสัตว์ใด จึงถูกอธิบายว่าเป็นนักล่าขั้นสูงสุด (apex predator)[46] ปัจจุบัน ผ่านการพัฒนาที่ดิน การเผาไหม้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ และมลพิษ จึงคาดกันว่ามนุษย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศโลก[47] ถ้าการเปลี่ยนแปลงนี้ยังเกิดขึ้นด้วยอัตราในปัจจุบัน มีการทำนายว่า สปีชีส์ครึ่งหนึ่งบนโลกจะหายไปภายในศตวรรษหน้า[48][49]
มนุษย์มีลักษณะร่างกายต่างกันอยู่มาก แม้ว่าขนาดร่างกายส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยยีน แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อร่างกายเช่นการออกกำลังกายและโภชนาการ ความสูงเฉลี่ยของมนุษย์โตเต็มวัยอยู่ที่ประมาณ 1.5 ถึง 1.8 เมตร ตัวเลขนี้แตกต่างกันมากในแต่ละที่และขึ้นอยู่กับชาติพันธุ์กำเนิด[50][51] น้ำหนักโดยเฉลี่ยคือ 76-83 กิโลกรัมในชาย และ 54-64 กิโลกรัมในหญิง[52] น้ำหนักอาจแตกต่างกันได้มากโดยมีปัจจัยเช่นความอ้วน
แม้มนุษย์จะดูเหมือนไม่มีขนเมื่อเทียบกับไพรเมตอื่น แต่ด้วยการเติบโตของเส้นผมที่เด่นชัดเกิดขึ้นหลัก ๆ บนจุดสูงสุดของหัว ใต้แขนและบริเวณหัวเหน่า มนุษย์โดยเฉลี่ยมีรูขุมขนบนร่างกายมากกว่าชิมแปนซีโดยเฉลี่ย ความแตกต่างหลักคือ ขนของมนุษย์สั้นกว่า บางกว่าและย้อมสีเข้มน้อยกว่าของชิมแปนซีโดยเฉลี่ย ทำให้ขนของมนุษย์มองเห็นได้ยากกว่า[53]
สีของผิวหนังและขนมนุษย์กำหนดโดยการมีอยู่ของสารสี เรียกว่า เมลานิน สีผิวหนังมนุษย์มีตั้งแต่น้ำตาลเข้มไปถึงชมพูซีด สีขนมนุษย์มีตั้งแต่ขาวถึงน้ำตาลถึงแดงถึงดำที่พบมากที่สุด[54] ความเข้มข้นของเมลานินในผมจางไปเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ทำให้ผมกลายเป็นสีเทาหรือกระทั่งขาว นักวิจัยส่วนมากเชื่อว่า การเข้มของผิวหนังเป็นการปรับตัวซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นการป้องกันต่อการแผ่รังสีอัลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการถกเถียงกันว่า สีผิวหนังเฉพาะเป็นการปรับตัวเพื่อรักษาสมดุลโฟเลต ซึ่งถูกทำลายโดยการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลต และวิตามินดี ซึ่งต้องการแสงอาทิตย์ในการสร้างขึ้น[55] การมีสารสีจับผิวหนังของมนุษย์ร่วมสมัยนั้นจัดช่วงชั้นตามภูมิศาสตร์ และโดยทั่วไปแล้วมีความสัมพันธ์กับระดับของการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลต ผิวหนังมนุษย์ยังสามารถมีสีเข้มขึ้นได้ (เช่น การอาบแดด) เพื่อสนองต่อการสัมผัสการแผ่รังสีอัลตราไวโอเล็ต[56][57] มนุษย์มีแนวโน้มอ่อนแอทางกายภาพกว่าไพรเมตอื่นที่มีขนาดเท่า ๆ กัน โดยมนุษย์เพศชายหนุ่มภายใต้เงื่อนไขยังแสดงว่าไม่อาจเทียบได้กับความแข็งแกร่งของอุรังอุตังเพศเมีย ซึ่งแข็งแรงกว่าอย่างน้อยสามเท่า[58]
โครงสร้างเชิงกรานมนุษย์แตกต่างไปจากของไพรเมตอื่น เช่นเดียวกับนิ้วเท้า ผลคือ มนุษย์วิ่งระยะสั้นได้ช้ากว่าสัตว์อื่นส่วนมาก แต่เป็นหนึ่งในบรรดานักวิ่งระยะไกลที่ดีที่สุดในอาณาจักรสัตว์[59] ขนตามร่างกายที่บางกว่าและต่อมเหงื่อที่มีมากกว่าของมนุษย์ยังช่วยหลีกเลี่ยงอาการเพลียแดดขณะวิ่งเป็นระยะทางไกล ๆ ด้วยเหตุนี้ การล่าต่อเนื่อง (persistence hunting) จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดสำหรับมนุษย์ช่วงแรก ๆ วิธีการนี้ เหยื่อจะถูกไล่ติดตามกระทั่งเหนื่อยอย่างแท้จริง วิธีนี้ยังอาจช่วยให้ประชากรมนุษย์โครมันยองช่วงแรก ๆ เอาชนะประชากรนีแอนเดอร์ธัลในการแย่งชิงอาหาร ในทางตรงกันข้าม นีแอนเดอร์ธัลซึ่งมีความแข็งแรงทางกายมากกว่าจะประสบความยากลำบากกว่าเมื่อต้องล่าสัตว์ด้วยวิธีนี้ และมีแนวโน้มล่าสัตว์ที่ใหญ่กว่าในพื้นที่ปิด การแลกเปลี่ยนข้อได้เปรียบนี้ของเชิงกรานมนุษย์สมัยใหม่คือ การคลอดเด็กจะยากและอันตรายกว่ามาก มนุษย์ยังไม่เหมือนไพรเมตอื่นส่วนมากตรงที่มนุษย์สามารถเดินสองเท้าได้เต็มที่ ดังนั้นจึงสามารถใช้สองแขนในการทำงานกับวัตถุหรือเครื่องมือชนิดต่าง ๆ โดยมีนิ้วโป้งที่ยื่นออกไปด้านข้างช่วยประคอง
โครงสร้างไหล่มนุษย์สมัยใหม่เอื้อให้ขว้างปาอาวุธได้ ซึ่งสำหรับคู่แข่งนีแอนเดอร์ธัลแล้ว การขว้างปาอาวุธนั้นยากกว่ามากหรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้อย่างมีประสิทธิภาพเลย[61]
สูตรฟันของมนุษย์เป็นดังนี้ มนุษย์มีสัดส่วนเพดานปากสั้นกว่าและฟันเล็กกว่ามากเมื่อเทียบกับไพรเมตอื่น มนุษย์เป็นเพียงไพรเมตชนิดเดียวที่ฟันสั้นและค่อนข้างราบ มนุษย์มีลักษณะฟันเก โดยมีช่องว่างจากฟันที่เสียไปโดยปกติแล้วจะถูกอุดอย่างรวดเร็วในวัยเด็ก มนุษย์ค่อย ๆ เสียฟันกรามซี่สุดท้ายไป โดยในบางรายไม่มีมาแต่กำเนิด[62]
มนุษย์เป็นสปีชีส์ยูคาริโอตดิพลอยด์เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ แต่ละเซลล์มีโครโมโซมสองชุด ชุดละ 23 แท่ง โดยโครโมโซมได้รับมาจากพ่อและแม่คนละชุด ยกเว้นเซลล์สืบพันธุ์ซึ่งมีโครโมโซมชุดเดียวผสมกันระหว่างชุดของพ่อและแม่ มนุษย์มีโครโมโซมร่างกาย 22 คู่ และโครโมโซมเพศ 1 คู่ เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่น มนุษย์มีระบบการกำหนดเพศ XY ดังนั้น ผู้หญิงมีโครโมโซมเพศ XX และชายมี XY
จากการประเมินในปัจจุบัน มนุษย์มียีนประมาณ 22,000 ยีน[63] การแปรผันในดีเอ็นเอของมนุษย์นั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสปีชีส์อื่น ซึ่งอาจเป็นหลักฐานของปรากฏการณ์คอขวดประชากรในยุคไพลสโตซีนตอนปลาย (ราว 100,000 ปีก่อน) ซึ่งประชากรมนุษย์ลดลงเหลือเพียงไม่กี่คู่[34][33] ความหลากหลายของนิวคลีโอไทด์ขึ้นอยู่กับการกลายพันธุ์เดี่ยว ที่เรียกว่า ซิงเกิลนิวคลีโอไทด์โพลีมอร์ฟิซึม (single nucleotide polymorphism) ความหลากหลายของนิวคลีโอไทด์ในมนุษย์อยู่ที่ราว 0.1% หรือ ความแตกต่าง 1 ต่อ 1,000 คู่เบส ซึ่งความแตกต่าง 1 ใน 1,000 นิวคลีโอไทด์ระหว่างมนุษย์สองคนที่ถูกสุ่ม หมายความว่า จะมีความแตกต่าง 3 ล้านนิวคลีโอไทด์ เพราะจีโนมมนุษย์มีประมาณ 3 พันล้านนิวคลีโอไทด์ ซิงเกิลนิวคลีโอไทด์โพลีมอร์ฟิซึมเหล่านี้ส่วนมากเป็นกลาง (neutral) ส่วนราว 3 ถึง 5% มีหน้าที่และส่งอิทธิพลต่อความแตกต่างของฟีโนไทป์ระหว่างมนุษย์ผ่านแอลลีล
ด้วยการเปรียบเทียบส่วนของจีโนมที่ไม่ถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติกับที่มีการกลายพันธุ์สะสมที่อัตราค่อนข้างคงที่ จึงเป็นไปได้ที่จะปะติดปะต่อต้นไม้พันธุกรรมซึ่งรวมสปีชีส์มนุษย์ทั้งหมดนับตั้งแต่บรรพบุรุษร่วมสุดท้าย แต่ละครั้งที่การกลายพันธุ์ที่แน่นอน (ซิงเกิลนิวคลีโอไทด์โพลีมอร์ฟิซึม) เกิดขึ้นในปัจเจกบุคคลและถูกส่งต่อไปยังเชื้อสายของผู้นั้น จะมีการสร้าง haplogroup ซึ่งได้แก่เชื้อสายของปัจเจกบุคคลผู้จะมีการกลายพันธุ์นั้นด้วย โดยการเปรียบเทียบดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียซึ่งรับมาเฉพาะจากแม่เท่านั้น นักพันธุศาสตร์จึงได้สรุปว่า บรรพบุรุษร่วมหญิงสุดท้ายซึ่งพบเครื่องหมายพันธุกรรมในมนุษย์สมัยใหม่ทุกคน หรือที่เรียกว่า "ไมโทคอนเดรียล อีฟ" (mitochondrial Eve) นั้น ต้องมีชีวิตอยู่เมื่อราว 200,000 ปีมาแล้ว
พลังแห่งการคัดเลือกโดยธรรมชาตินั้นยังคงเกิดขึ้นกับประชากรมนุษย์ต่อไป โดยมีหลักฐานว่าจีโนมบางบริเวณแสดงการคัดเลือกไว้ทิศทางเดียว (directional selection) ในช่วง 15,000 ปีที่ผ่านมา[64]
เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่น การสืบพันธุ์ของมนุษย์เป็นการปฏิสนธิภายในโดยการร่วมเพศ (หรือเพศสัมพันธ์) ระหว่างกระบวนการนี้ องคชาตที่แข็งตัวของชายถูกสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดของหญิง กระทั่งชายหลั่งน้ำอสุจิ ซึ่งบรรจุสเปิร์ม สเปิร์มเดินทางผ่านช่องคลอดและปากมดลูกเข้าไปในมดลูกหรือท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับโอวุม (ไข่) ในเวลาที่มีการปฏิสนธิและการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วนั้น จะเกิดการตั้งครรภ์ในมดลูกของหญิงตามมา
ไซโกตแบ่งตัวภายในมดลูกของหญิงกลายมาเป็นเอ็มบริโอ (คัพภะ) ซึ่งหลังสภาวะตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ (9 เดือน) เอ็มบริโอจะกลายเป็นทารกในครรภ์ (fetus) หลังช่วงเวลานี้ ทารกในครรภ์ที่โตเต็มที่แล้วก็จะคลอดออกจากร่างของหญิง และหายใจด้วยตัวเองเป็นทารกครั้งแรก ณ จุดนี้ วัฒนธรรมสมัยใหม่ส่วนใหญ่ยอมรับว่า ทารกเป็นบุคคลซึ่งได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเต็มที่ แม้บางเขตอำนาจขยายความเป็นมนุษย์ (personhood) หลากหลายระดับไปจนถึงทารกมนุษย์ในครรภ์ ขณะที่ยังอยู่ในมดลูก
เมื่อเทียบกับสปีชีส์อื่น การคลอดมนุษย์เป็นสิ่งอันตราย การคลอดซึ่งเจ็บปวดที่กินเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงหรือนานกว่านั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และบางครั้งนำไปสู่การเสียชีวิตของแม่หรือเด็ก สาเหตุมาจากทั้งเส้นรอบวงหัวที่ใหญ่เพื่อบรรจุสมองของทารกในครรภ์ และเชิงกรานที่ค่อนข้างแคบของแม่ (ลักษณะซึ่งจำเป็นให้การเคลื่อนไหวสองเท้าประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผลมาจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ)[65][66] โอกาสการคลอดลูกสำเร็จเพิ่มขึ้นมากระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในประเทศร่ำรวย ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ ในทางกลับกัน การตั้งครรภ์และการคลอดลูกตามธรรมชาติยังเป็นประสบการณ์อันตรายในภูมิภาคกำลังพัฒนาของโลก ที่มีอัตราตายของมารดามากกว่าประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 100 เท่า[67]
ในประเทศพัฒนาแล้ว ทารกแรกเกิดหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม และสูง 50-60 เซนติเมตร[68] อย่างไรก็ดี ทารกในประเทศกำลังพัฒนามีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเป็นธรรมดา และเป็นสาเหตุของอัตราภาวะการตายของทารกที่สูงในภูมิภาคเหล่านี้[69] มนุษย์แรกเกิดช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เติบโตขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี กระทั่งบรรลุพัฒนาการทางเพศเมื่ออายุได้ 12 ถึง 15 ปี หญิงยังมีพัฒนาการทางกายภาพกระทั่งอายุ 18 ปี ขณะที่พัฒนาการของชายสิ้นสุดเมื่ออายุได้ 21 ปี ระยะชีวิตมนุษย์สามารถแบ่งได้เป็นหลายขั้น: ทารก เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ใหญ่และวัยชรา อย่างไรก็ดี ความยาวของแต่ละขั้นนี้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและยุคสมัย เมื่อเทียบกับไพรเมตอื่นแล้ว มนุษย์มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (growth spurt) ผิดปกติในช่วงวัยรุ่น โดยร่างกายมีขนาดใหญ่ขึ้น 25% สัตว์อื่น ตัวอย่างเช่น ชิมแปนซีใหญ่ขึ้นเพียง 14% และไม่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว[70] มนุษย์มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วนี้เป็นไปได้ว่าจำเป็นเพื่อให้เด็กมีร่างกายเล็กกระทั่งเจริญเต็มที่ทางจิตใจ มนุษย์เป็นหนึ่งในไม่กี่สปีชีส์ที่หญิงมีวัยหมดระดู มีการเสนอว่าการหมดระดูเพิ่มความสำเร็จในการสืบพันธุ์โดยรวมของหญิง โดยการให้หญิงใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้นในลูกหลานที่มีอยู่แล้ว มากกว่าที่จะให้กำเนิดลูกจนถึงวัยชรา[71][72]
ทั่วโลกมีอายุคาดเฉลี่ยแตกต่างกันอย่างสำคัญ ประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไปจะสูงวัย โดยมีอายุมัธยฐานที่ราว 40 ปี ในประเทศกำลังพัฒนา อายุมัธยฐานอยู่ระหว่าง 15 ถึง 20 ปี อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดในฮ่องกง คือ 84.8 ปีสำหรับหญิง และ 78.9 ปีสำหรับชาย ขณะที่สวาซิแลนด์ คือ 31.3 ปีสำหรับทั้งสองเพศ ซึ่งอาจมีสาเหตุหลักมาจากโรคเอดส์[73] ขณะที่ชาวยุโรปหนึ่งในห้ามีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีชาวแอฟริกาเพียงหนึ่งในยี่สิบที่มีอายุ 60 ขึ้นไป[74] จำนวนผู้มีอายุ 100 ปีขึ้นไปในโลก สหประชาชาติประเมินไว้ที่ 210,000 คน เมื่อ ค.ศ. 2002[75] ทั่วโลก มีชาย 81 คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเทียบกับหญิง 100 คนในกลุ่มอายุนั้น และในบรรดาที่มีอายุมากที่สุด มีชาย 53 คนต่อหญิง 100 คน
หลักฐานพันธุกรรมและโบราณคดีล่าสุดสนับสนุนแนวคิดล่าสุดที่ว่ามนุษย์สมัยใหม่มีแหล่งกำเนิดแห่งเดียวในแอฟริกาตะวันออก[76] โดยมีการอพยพครั้งแรก ๆ เมื่อ 60,000 ปีที่แล้ว การศึกษาพันธุกรรมปัจจุบันได้แสดงว่า มนุษย์ในทวีปแอฟริกามีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากที่สุด[77] อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับลิงไม่มีหางใหญ่อื่น ๆ ลำดับยีนของมนุษย์เป็นแบบเดียวกัน (homogeneous) ผิดธรรมดา[78][79][80][81] ความเด่นของความแปรผันทางพันธุกรรมเกิดขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีเพียง 5 ถึง 15% จากความแปรพันทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม[78]
มีความหลากหลายทางชีววิทยาอยู่ไม่น้อยระหว่างประชากรมนุษย์ทั่วโลก ส่งผลให้ฟีโนไทป์มีการแปรผันพอสมควร แต่เดิม ความแปรผันของฟีโนไทป์มนุษย์นั้นถูกอธิบายโดยแบ่งออกเป็นเชื้อชาติ (race) ขนาดใหญ่ตามทวีป แสดงลักษณะที่นิยามได้ง่าย ขณะนั้น มนุษย์จึงถูกจำแนกเป็นหนึ่งในสี่หรือห้ากลุ่มฟีโนไทป์ซึ่งมักแบ่งตามสีผิว เนื้อผมและร่างกายใบหน้า และจะถูกจับคู่กับทวีปซึ่งแต่ละกลุ่มเชื่อมโยงกัน บ่อยครั้งที่การจำแนกเชื้อชาติมนุษย์อธิบายในแง่ของคุณลักษณะธรรมชาติ และกลายมาเป็นวิถีการปรับทัศนคติทั่วไป (stereotype) ทางสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับกลุ่มเชื้อชาติ และเป็นการให้เหตุผลหรือจูงใจคตินิยมเชื้อชาติรูปแบบต่าง ๆ ตามมา เมื่อการศึกษาความแปรผันทางชีววิทยามนุษย์ก้าวหน้าขึ้น ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ความแปรผันส่วนมากมีการกระจายแบบไคลน์ (cline) และค่อย ๆ ผสมกลืนกันจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง โดยไม่มีเส้นแบ่งเขตชัดเจนระหว่างทวีป ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะที่ต่างกันก็มีการกระจายแบบไคลน์ต่างกันไปด้วย ความตระหนักในเรื่องนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาและนักชีววิทยาจำนวนมากทิ้งความคิดเชื้อชาติหลักของมนุษย์ และอธิบายความผันแปรทางชีววิทยาในแง่ของประชากรและลักษณะที่กระจายแบบไคลน์แทน
ไม่มีความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเชื้อชาติในทางชีววิทยา นักโบราณคดีจำนวนน้อยสนับสนุนแนวคิดว่า "เชื้อชาติ" (race) ของมนุษย์เป็นมโนทัศน์ชีววิทยาพื้นฐาน นักโบราณคดีส่วนมากยังยึดมั่นว่า คำว่า "เชื้อชาติ" ถือว่าเชื้อชาติเป็นกลุ่มที่ผูกพันกันอย่างชัดเจนด้วยลักษณะเฉพาะที่สำคัญ มักเป็นลำดับที่มีระเบียบและใช้เพื่ออ้างความชอบธรรมแก่ความไม่เท่าเทียมทางสังคมโดยปริยาย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ นักโบราณคดีจึงมีแนวโน้มปฏิเสธการใช้คำว่า "เชื้อชาติ" เพื่ออธิบายความหลากหลายทางชีววิทยา พวกเขามักเห็นว่า "เชื้อชาติ" เป็นความนึกคิดทางสังคมซึ่งเสริมแต่งบนความแปรผันทางชีววิทยาที่ซ่อนอยู่ แต่ปิดบังบางส่วน[82][83][84] มุมมองขัดแย้งมีว่า เป็นไปได้ที่จะพูกถึง "เชื้อชาติ" โดยไม่ต้องทำการสันนิษฐานองค์ประกอบและลำดับขั้น และนักชีววิทยาบางคนและนักนิติวิทยาศาสตร์จำนวนมากใช้คำว่า "เชื้อชาติ" เพื่ออธิบายความแปรผันทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษแห่งทวีป (continental ancestry) เป็นที่ตกลงกันโดยทั่วไปว่า ลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่าง รวมทั้งโรคที่พบได้ทั่วไปบางโรค สัมพันธ์กับบรรพบุรุษแห่งทวีปจากภูมิภาคหนึ่งโดยเฉพาะ และบรรพบุรุษทางพันธุกรรมตามที่กำหนดโดยการระบุเชื้อชาตินั้นกำลังเป็นเครื่องมือแพร่หลายมากขึ้นในการประเมินความเสี่ยงทางการแพทย์[79][80][81][85][86][87][88][89]
การใช้คำว่า "เชื้อชาติ" ให้มีความหมายคล้ายกับ "สปีชีส์ย่อย" ในมนุษย์นั้นเลิกไปแล้ว Homo sapiens ไม่มีสปีชีส์ย่อย ในความหมายโดยนัยทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คำนี้ใช้ไม่ได้กับสปีชีส์ที่เป็นเอกพันธุ์ทางพันธุกรรมอย่างมนุษย์ ดังที่แถลงไว้ในแถลงการณ์ว่าด้วยเชื้อชาติ[90] (ยูเนสโก ค.ศ. 1950 ให้สัตยาบันซ้ำ ค.ศ. 1978) การศึกษาทางพันธุศาสตร์ได้พิสูจน์ถึงการขาดพรมแดนทางชีววิทยาที่ชัดเจนแล้ว ฉะนั้น คำว่า "เชื้อชาติ" จึงพบใช้น้อยครั้งเป็นศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะในทางมานุษยวิทยาเชิงชีววิทยาหรือพันธุศาสตร์มนุษย์[91] สิ่งที่ในอดีตเคยนิยามว่าเป็น "เชื้อชาติ" เช่น ผิวขาว ผิวดำ หรือเอเชีย ปัจจุบันนิยามว่าเป็น "กลุ่มชาติพันธุ์" หรือ "ประชากร" ตามสาขาที่พิจารณา (สังคมวิทยา มานุษยวิทยา พันธุศาสตร์)[92][93]
มนุษย์กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ด้วยความหลากหลายของแหล่งอาหารที่มีอยู่ในภูมิภาคที่อาศัยอยู่ และความหลากหลายของบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและศาสนา กลุ่มมนุษย์จึงได้เปิดรับอาหารหลายแบบ จากตั้งแต่มังสวิรัตินิยมไปจนถึงกินเนื้อสัตว์เป็นหลัก ในบางกรณี การจำกัดอาหารในมนุษย์สามารถนำไปสู่โรคขาดอาหารได้ อย่างไรก็ดี กลุ่มมนุษย์ที่เสถียรรับเอารูปแบบอาหารหลายแบบผ่านทั้งพันธุกรรมเฉพาะและขนบวัฒนธรรมที่จะใช้แหล่งอาหารที่สมดุลทางโภชนาการ[94] อาหารมนุษย์สะท้อนอย่างโดดเด่นในวัฒนธรรมมนุษย์ และได้นำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์การอาหาร
ก่อนมีการพัฒนาการเกษตรเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว มนุษย์เก็บรวบรวมอาหารด้วยวิธีการล่าสัตว์และเก็บของป่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีทั้งแหล่งอาหารอยู่กับที่ (เช่น ผลไม้ ธัญพืช หัวของพืช และเห็ด ตัวอ่อนแมลงและสัตว์ทะเลพวกหอยและหมึก) กับการล่าสัตว์ป่า อันจะต้องถูกล่าและฆ่าเพื่อบริโภค[95] มีการเสนอว่า มนุษย์ได้ใช้ไฟเตรียมและทำอาหารตั้งแต่เป็น Homo erectus[96] ราวหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว มนุษย์ได้พัฒนาการเกษตร ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงอาหารของมนุษย์ไปอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงอาหารนี้ยังอาจเปลี่ยนแปลงชีววิทยามนุษย์ด้วย เมื่อฟาร์มโคนมเป็นแหล่งอาหารอันอุดมแหล่งใหม่ จนนำไปสู่วิวัฒนาการความสามารถในการย่อยแลคโทสในผู้ใหญ่บางส่วน[97][98] เกษตรกรรมทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น พัฒนาการของนคร และเพราะความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้น โรคติดเชื้อจึงแพร่กระจายเป็นวงกว้างขึ้นด้วย ประเภทของอาหารที่บริโภค และวิธีการเตรียมอาหาร แตกต่างกันตามเวลา สถานที่และวัฒนธรรม
โดยทั่วไป มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลาสองถึงแปดสัปดาห์โดยไม่มีอาหาร ขึ้นอยู่กับไขมันของร่างกายที่สะสมไว้ การมีชีวิตโดยปราศจากน้ำโดยทั่วไปจำกัดเพียงสามหรือสี่วันเท่านั้น มนุษย์ราว 36 ล้านคนเสียชีวิตทุกปีจากสาเหตุทางตรงหรือทางอ้อมที่เกี่ยวกับความหิวโหย[99] ทุพโภชนาการวัยเด็กนั้นพบทั่วไปและเป็นสาเหตุของภาระโรคทั่วโลก[100] อย่างไรก็ดี การกระจายอาหารทั่วโลกไม่เท่าเทียมกัน และความอ้วนในบรรดาบางประชากรมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอีกส่วนหนึ่ง ประชากรหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกอ้วนเกิน[101] ขณะที่ประชากรสหรัฐอเมริกา 35% อ้วนเกิน[102] ความอ้วนเกิดจากการบริโภคแคลอรีเกินกว่าใช้หมด ดังนั้น น้ำหนักเพิ่มที่เกินมาโดยทั่วไปจึงเกิดจากอาหารไขมันสูงอุดมไปด้วยพลังงานและการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอร่วมกัน[101]
สมองของมนุษย์ อันเป็นจุดรวมระบบประสาทส่วนกลางในมนุษย์ ควบคุมระบบประสาทส่วนนอก นอกเหนือไปจากควบคุมกิจกรรมนอกอำนาจจิตใจที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเป็นหลัก เช่น การหายใจและการย่อยอาหารแล้ว ยังเป็นที่คั้งของคำสั่งที่ "สูงกว่า" เช่น ความคิด การให้เหตุผลและภาวะนามธรรม[103] ขบวนการที่เกี่ยวกับการคิดนี้ซึ่งประกอบด้วยจิตและพฤติกรรม มีการศึกษาในสาขาจิตวิทยา
เชื่อกันว่า สมองมนุษย์มี "ความฉลาด" โดยรวมกว่าสมองของสปีชีส์อื่นใดเท่าที่ทราบ แม้ว่าสปีชีส์อื่นที่มิใช่มนุษย์บางสปีชีส์จะสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างและใช้อุปกรณ์อย่างง่ายได้ ส่วนมากผ่านสัญชาตญาณและการล้อเลียน แต่เทคโนโลยีของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่ามาก และมีวิวัฒนาการและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามเวลา
มนุษย์โดยทั่วไปออกหากินกลางวัน ความต้องการการนอนหลับโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่างเจ็ดถึงเก้าชั่วโมงต่อวันสำหรับผู้ใหญ่และเก้าถึงสิบชั่วโมงสำหรับเด็ก คนสูงวัยโดยทั่วไปนอนหลับหกถึงเจ็ดชั่วโมง แต่ในสังคมสมัยใหม่ การนอนหลับน้อยกว่าเท่านี้เป็นธรรมดา ภาวะขาดการนอนหลับนี้อาจมีผลกระทบด้านลบได้ การจำกัดการนอนหลับในผู้ใหญ่เหลือสี่ชั่วโมงต่อวันอย่างต่อเนื่องได้แสดงว่า สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในสภาพทางสรีระและจิตใจ รวมทั้งความล้า ความก้าวร้าวและความไม่สบายกาย[104] มนุษย์ฝันระหว่างที่หลับ ในฝัน มนุษย์รู้สึกสัมผัสทางการมองเห็นและเสียง ในลำดับที่ผู้ฝันตามปกติรับรู้ในฐานะผู้มีส่วนร่วมชัดเจนมากกว่าผู้สังเกต ฝันถูกกระตุ้นโดยพอนส์และส่วนมากเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับระยะ REM
มนุษย์เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่สปีชีส์ที่มีความตระหนักรู้ในตัวเองพอที่จะจำตัวเองในกระจกได้[105] ตั้งแต่อายุ 18 เดือน เด็กมนุษย์ส่วนมากรู้แล้วว่า ภาพในกระจกหาใช่คนอื่นไม่[106]
สมองมนุษย์รับรู้โลกภายนอกผ่านประสาทสัมผัส และแต่ละบุคคลก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประสบการณ์ของตนเอง นำไปสู่มุมมองอัตวิสัยต่อการดำรงอยู่และการผ่านของเวลา กล่าวกันว่า มนุษย์มีความรู้สึกตัว ความตระหนักรู้ในตัวเอง และจิต ซึ่งสัมพันธ์อย่างคร่าว ๆ กับขบวนการทางจิตของความคิด ทั้งความรู้สึกตัว ความตระหนักรู้ในตัวเอง และจิตนี้ กล่าวกันว่า มีคุณภาพ เช่น ความสามารถในการรู้สึก เชาวน์ปัญญา และความสามารถในการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสิ่งแวดล้อม ขอบเขตที่จิตสามารถก่อความคิดขึ้นหรือสัมผัสโลกภายนอกยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่ เช่นเดียวกับนิยามและความสมเหตุสมผลของหลายคำที่ใช้ข้างต้น
แรงจูงใจเป็นแรงขับความปรารถนาเบื้องหลังการกระทำโดยเจตนาทั้งหมดของมนุษย์ แรงจูงใจขึ้นอยู่กับอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงความพึงพอใจ (ประสบการณ์อารมณ์ทางบวก) และการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง อารมณ์ทางบวกและทางลบนิยามโดยภาวะสมองแต่ละคน ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากบรรทัดฐานทางสังคม บุคคลอาจถูกขับให้ทำร้ายตัวเองหรือก่อเหตุรุนแรงเพราะสมองของผู้นั้นถูกวางเงื่อนไขให้สร้างการตอบสนองทางบวกต่อการกระทำเหล่านี้ แรงจูงใจนั้นสำคัญเพราะมันเกี่ยวข้องกับสมรรถนะของการตอบสนองที่เกิดจากการเรียนรู้ทั้งหมด ในวิชาจิตวิทยา การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและแรงขับทางเพศ (libido) ถูกมองว่าเป็นแรงจูงใจหลัก ในวิชาเศรษฐศาสตร์ แรงจูงใจมักถูกมองว่าเกิดจากสิ่งจูงใจ ซึ่งอาจเป็นเงิน ศีลธรรมหรือการบีบบังคับก็ได้ ขณะที่ศาสนามักมองถึงอิทธิพลของพระเจ้าหรือปีศาจ
สำหรับมนุษย์ เพศสภาพมีหน้าที่ทางสังคมที่สำคัญในการสร้างความใกล้ชิดทางกาย พันธะและลำดับชั้นระหว่างปัจเจกบุคคล นอกเหนือไปจากการประกันการสืบพันธุ์ทางชีววิทยา มนุษย์และลิงโบโนโบเป็นไพรเมตเพียงสองสปีชีส์ที่มีเพศสัมพันธ์นอกภาวะเจริญพันธุ์ตามช่วงเวลาของหญิงหรือตัวเมียบ่อยครั้ง และยังมักมีกิจกรรมทางเพศเพื่อความพึงพอใจและความสนุกสนานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งพบได้น้อยมากในสัตว์ชนิดอื่น ความสำคัญของเพศสภาพในมนุษย์สะท้อนออกมาในลักษณะทางกายภาพจำนวนหนึ่ง เช่น การซ่อนการตกไข่ วิวัฒนาการของถุงอัณฑะและองคชาตภายนอก ซึ่งมีการเสนอว่าเพื่อการแข่งขันของสเปิร์ม การขาดท่อนกระดูกในอวัยวะเพศ (baculum) ลักษณะทุติยภูมิทางเพศที่ถาวร และการก่อพันธะคู่ (pair bond) โดยยึดความดึงดูดทางเพศเป็นโครงสร้างสังคมพื้นฐาน มนุษย์หญิงไม่มีสัญญาณการตกไข่ที่ชัดเจนหรือสังเกตได้ ต่างจากไพรเมตอื่นที่แสดงการตกมัน (estrus) ผ่านสัญญาณที่สังเกตได้ บวกกับการมีความต้องการทางเพศนอกภาวะเจริญพันธุ์ตามช่วงเวลา การปรับตัวนี้บ่งชี้ว่า ความหมายของเพศสภาพในมนุษย์นั้นคล้ายคลึงกับที่พบในลิงโบโนโบ และพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์อันซับซ้อนมีประวัติศาสตร์วิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน[107]
ตัวเลือกของมนุษย์ในการปฏิบัติตามเพศสภาพโดยทั่วไปได้รับอิทธิพลจากบรรทัดฐานวัฒนธรรมซึ่งแตกต่างกันมาก การจำกัดมักกำหนดโดยความเชื่อทางศาสนาและจารีตประเพณีสังคม นักวิจัยบุกเบิก ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ เชื่อว่า มนุษย์เกิดมาวิตถารหลายรูปแบบ ซึ่งหมายความว่า วัตถุใด ๆ ก็สามารถเป็นแหล่งของความพึงพอใจได้ ฟร็อยท์ระบุว่า มนุษย์ผ่านขั้นพัฒนาการความต้องการทางเพศห้าขั้น และสามารถติดข้องได้ในทุกขั้น เพราะความชอกช้ำทางจิตหลายอย่างระหว่างขบวนการนี้ สำหรับอัลเฟรด คินซีย์ นักวิจัยทางเพศที่มีอิทธิพลอีกคนหนึ่ง บุคคลสามารถตกอยู่ที่ใดก็ตามบนมาตรารสนิยมทางเพศที่ต่อเนื่อง โดยมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกันอย่างเต็มที่ การศึกษาทางประสาทวิทยาและพันธุศาสตร์ล่าสุดเสนอว่า บุคคลอาจมีแนวโน้มทางเพศที่หลากหลาย[108][109]
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอย่างสูงและมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในกลุ่มสังคมซับซ้อนขนาดใหญ่ มนุษย์ถนัดในการใช้ระบบการสื่อสารเพื่อแสดงความรู้สึกของตน แลกเปลี่ยนความคิด และการจัดระเบียบ เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใด และฉะนั้นจึงได้สร้างโครงสร้างทางสังคมซับซ้อนซึ่งประกอบด้วยหลายกลุ่มทั้งที่ร่วมมือและแข่งขันกัน กลุ่มมนุษย์มีตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงชาติ อันตรกิริยาทางสังคมระหว่างมนุษย์ได้สร้างค่านิยม จารีตสังคม และพิธีกรรมอันหลากหลายกว้างขวางมาก ซึ่งทั้งหมดร่วมกันสร้างรากฐานของสังคมมนุษย์
วัฒนธรรมในที่นี้นิยามว่า รูปแบบของพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ซับซ้อน คือ ทุกพฤติกรรมที่ไม่ได้มีมาโดยกำเนิดแต่ต้องเรียนรู้ผ่านอันตรกิริยาทางสังคมกับผู้อื่น เช่น การใช้วัตถุต่าง ๆ และระบบสัญลักษณ์ รวมถึงภาษา พิธีกรรม การจัดระเบียบสังคม ประเพณี ความเชื่อและเทคโนโลยี
ขีดความสามารถของมนุษย์ในการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศและความคิดผ่านการพูดและการเขียนไม่พบเหมือนในสปีชีส์อื่น ภาษามนุษย์นั้นเปิด คือ นำเสียงและคำจำนวนจำกัดมารวมกันสามารถสร้างเป็นความหมายได้ไม่สิ้นสุด ไม่เหมือนกับรับบสัญลักษณ์ปิดของไพรเมตอื่นซึ่งมีเสียงเป็นได้อย่างเดียวและคู่กับความหมายหนึ่ง ๆ เท่านั้น ภาษามนุษย์ยังมีความสามารถในการแทนที่ คือ การใช้คำเพื่อแทนสิ่งของและปรากฏการณ์ที่มิได้เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในท้องถิ่น แต่มีอยู่ในจินตนาการร่วมของคู่สนทนา[62] การแทนที่เบื้องต้นอาจพบในสปีชีส์อื่นด้วย แต่ในมนุษย์จะพบซับซ้อนเป็นพิเศษ ทำให้สัญลักษณ์และภาษาสามารถหมายถึงสภาพนามธรรมหรือแม้แต่จินตภาพล้วน ๆ ได้ และสนับสนุนวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์ซับซ้อนของมนุษย์ ภาษามนุษย์ยังมีเอกลักษณ์เป็นระบบสัญลักษณ์ที่ไม่ขึ้นกับวิธี คือ ความหมายเดียวกันสามารถถ่ายทอดได้ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ด้วยการฟังในคำพูด ด้วยการมองเห็นโดยสัญลักษณ์ท่าทาง หรือแม้แต่สื่อกายสัมผัสอย่างอักษรเบรลล์ ความสามารถทางภาษาเป็นลักษณนิยามแห่งมนุษยชาติ และเป็นวัฒนธรรมสากล ภาษาเป็นจุดรวมการสื่อสารระหว่างมนุษย์ และสำนึกแห่งอัตลักษณ์ซึ่งรวมชาติ วัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์เป็นหนึ่ง การคิดค้นระบบภาษาเมื่ออย่างน้อยห้าพันปีก่อนทำให้ภาษาสามารถเก็บรักษาเป็นรูปธรรม และเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ภาษาศาสตร์อธิบายโครงสร้างและหน้าที่ของภาษาและความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ปัจจุบันมีประมาณหกพันภาษาใช้กันอยู่ รวมทั้งภาษามือ และภาษาสูญพันธุ์อีกหลายพัน[110]
การแบ่งเพศมนุษย์ออกเป็นชายกับหญิงถูกแสดงทางวัฒนธรรมโดยการแบ่งบทบาท จารีต การปฏิบัติ เครื่องแต่งกาย พฤติกรรม สิทธิ หน้าที่ เอกสิทธิ์ สถานภาพและอำนาจที่ต้องกัน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยเพศเชื่อว่าเกิดตามธรรมชาติจากการแบ่งแรงงานผลิตซ้ำ (reproductive labor) คือ ข้อเท็จจริงทางชีววิทยาที่ว่าหญิงให้กำเนิดนำไปสู่ความรับผิดชอบทางวัฒนธรรมของหญิงในการเลี้ยงดูและเอาใจใส่บุตรต่อไป บทบาทประจำเพศมีหลากหลายในประวัติศาสตร์ และการคัดค้านจารีตทางเพศที่ครอบงำอยู่เกิดขึ้นในหลายสังคม
ทุกสังคมมนุษย์จัดระเบียบ ยอมรับและแบ่งประเภทความสัมพันธ์ทางสังคมโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างบิดาหรือมารดาและบุตร (การร่วมสายโลหิต) และความสัมพันธ์ผ่านการสมรส (ความเกี่ยวดอง) ความสัมพันธ์เหล่านี้โดยทั่วไปเรียกว่า ความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ในสังคมส่วนมาก ความเป็นญาติตั้งความรับผิดชอบและการคาดหวังความเป็นปึกแผ่นซึ่งกันและกันต่อปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเช่นนั้น และผู้ที่ยอมรับอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นหมู่ญาติ (kinsman) จะมาตั้งเครือข่ายซึ่งสถาบันทางสังคมอื่นสามารถวางระเบียบผ่านได้ การทำหน้าที่ของความเป็นญาติอันหนึ่ง คือ ความสามารถในการตั้งกลุ่มการสืบเชื้อสาย (descent group) คือ กลุ่มบุคคลที่มีสายการสืบสกุลเดียวกัน ซึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยการเมืองได้ เช่น ตระกูล (clan) ความเป็นญาติยังทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ รวมครอบครัวผ่านการสมรส ตั้งเป็นความเกี่ยวดองเป็นญาติกันระหว่างกลุ่มผู้รับภรรยา (wife-taker) กับผู้ให้ภรรยา (wife-giver) ความสัมพันธ์แบบเครือญาติมักรวมระเบียบที่ปัจเจกบุคคลควรหรือไม่ควรสมรสกับผู้ใด ทุกสังคมมีกฎข้อห้ามการร่วมประเวณีกับญาติ (incest taboo) ซึ่งห้ามการสมรสระหว่างความสัมพันธ์แบบญาติบางอย่าง กฎนี้มีหลากหลายตามวัฒนธรรม บางสังคมยังมีกฎการสมรสสิทธิพิเศษ (preferential marriage) กับความสัมพันธ์แบบญาติบางอย่าง บ่อยครั้งกับลูกพี่ลูกน้องแบบข้ามหรือขนาน (cross or parallel cousin) กฎและจารีตของการสมรสและพฤติกรรมทางสังคมในวงศ์วานมักสะท้อนในระบบอภิธานศัพท์ความเป็นญาติในหลายภาษาทั่วโลก ในหลายสังคม ความสัมพันธ์แบบเครือญาติสามารถสร้างได้ผ่านการอยู่อาศัยร่วมกัน การรับบุตรบุญธรรม การเลี้ยงดูหรือมิตรภาพ ซึ่งยังมีแนวโน้มสร้างความสัมพันธ์อันมีความเป็นปึกแผ่นที่คงทน
มนุษย์มักตั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักมีขนาดใหญ่กว่าเครือข่ายญาติและจัดระเบียบโดยอัตลักษณ์ร่วมกันที่นิยามหลากหลายในแง่ของบรรพบุรุษและประวัติศาสตร์ร่วมกัน จารีตวัฒนธรรมและภาษาร่วมกัน หรือฟีโนไทป์ทางชีววิทยาร่วมกัน อุดมการณ์คุณลักษณะร่วมกันเช่นนี้มักถูกทำให้ถาวรในรูปของการบรรยายอันทรงพลังและบังคับที่ให้ความชอบด้วยกฎหมายและความต่อเนื่องแก่ชุดค่านิยมร่วมกันนี้ การจัดกลุ่มชาติพันธุ์มักสอดคล้องกับองค์กรการเมืองระดับหนึ่ง ๆ เช่น กลุ่มคน เผ่า นครรัฐหรือชาติ แม้การจัดกลุ่มชาติพันธุ์จะปรากฏขึ้นและหายไปตลอดประวัติศาสตร์ สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์มักสร้างกรอบความคิดว่ากลุ่มของตนมีประวัติศาสตร์สืบย้อนไปไกล อุดมการณ์ดังนี้ทำให้ชาติพันธุ์มีบทบาททรงพลังในการนิยามอัตลักษณ์ทางสังคมและในการสร้งความเป็นปึกแผ่นระหว่างสมาชิกของหน่วยชาติพันธุ์การเมือง คุณสมบัติรวมของชาติพันธุ์นี้ผูกพันใกล้ชิดกับการเจริญของรัฐชาติเป็นรูปแบบองค์กรการเมืองที่มีอิทธิพลในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20[111][112][113][114][115][116]
สังคมเป็นระบบองค์การและสถาบันที่เกิดขึ้นจากอันตรกิริยาระหว่างมนุษย์ รัฐเป็นชุมชนการเมืองที่มีการจัดระเบียบโดยครอบครองดินแดนที่แน่นอน มีรัฐบาล และครอบครองอธิปไตยทั้งภายในและภายนอก การรับรองการประกาศเอกราชของรัฐโดยรัฐอื่น ทำให้รัฐสามารถเข้าสู่ความตกลงระหว่างประเทศได้นั้น มักสำคัญในการสถาปนาความเป็นรัฐ "รัฐ" ยังสามารถนิยามในแง่ของสภาพภายในประเทศโดยเจาะจง ดังกรอบความคิดของมักซ์ เวเบอร์ "รัฐเป็นชุมชนมนุษย์ที่ (ประสบความสำเร็จในการ) อ้างการผูกขาดการใช้กำลังอำนาจโดยตรง 'โดยชอบด้วยกฎหมาย' ภายในอาณาเขตหนึ่ง ๆ"[117]
นิยามการปกครองได้ว่าเป็นวิธีการทางการเมืองในการสร้างและบังคับใช้กฎหมาย โดยทั่วไปผ่านลำดับขั้นระบบราชการประจำ การเมืองเป็นขบวนการซึ่งกระทำการตัดสินใจภายในกลุ่ม ขบวนการนี้มักเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเช่นเดียวกับการประนีประนอม แม้คำนี้มักใช้กับพฤติกรรมภายในรัฐบาล แต่การเมืองยังพบในอันตรกิริยาทุกกลุ่มมนุษย์ รวมทั้งบริษัท สถาบันวิชาการและศาสนา มีระบบการเมืองหลากหลาย เนื่องจากมีหลายทางที่จะทำความเข้าใจระบบการเมืองเหล่านี้ และหลายนิยามก็ซ้อนทับกัน ตัวอย่างระบอบการปกครองรวมถึงราชาธิปไตย รัฐคอมมิวนิสต์ เผด็จการทหาร เทวาธิปไตย และเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเสรีประชาธิปไตยนี้ถูกพิจารณาว่าเป็นใหญ่อยู่ในเวลานี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวทั้งหมดล้วนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเศรษฐศาสตร์
การค้าเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้วยใจสมัคร และเป็นเศรษฐศาสตร์รูปแบบหนึ่ง กลไกที่ทำให้เกิดการค้าเรียกว่า ตลาด รูปแบบการค้าดั้งเดิม คือ การแลกเปลี่ยนสินค้าที่ใช้สินค้าและบริการแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ผู้ค้าสมัยใหม่โดยทั่วไปเจรจาผ่านสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทน เช่น เงิน ผลคือ การซื้อสามารถแยกจากการขาย หรือรายได้ การคิดค้นเงิน (และเครดิต เงินกระดาษและเงินที่จับต้องไม่ได้ภายหลัง) ทำให้การค้าง่ายขึ้นมากและเป็นการสนับสนุนการค้า เพราะการมีความชำนัญพิเศษและการแบ่งแรงงาน บุคคลส่วนมากจึงกระจุกอยู่ในมุมเล็ก ๆ ของการผลิตหรือบริการ โดยแลกแรงงานของตนกับผลิตภัณฑ์ การค้าเกิดขึ้นระหว่างภูมิภาค เพราะแต่ละภูมิภาคมีข้อได้เปรียบในการผลิตโภคภัณฑ์ที่สามารถค้าขายได้บางอย่าง หรือเพราะขนาดที่แตกต่างกันของภูมิภาคทำให้ได้ประโยชน์จากการผลิตเป็นจำนวนมาก
เศรษฐศาสตร์เป็นสังคมศาสตร์ซึ่งศึกษาการผลิต การแจกจ่าย การค้าและการบริโภคสินค้าและบริการ เศรษฐศาสตร์เน้นศึกษาตัวแปรที่วัดได้ และแบ่งเป็นสองสาขาหลัก คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวกระทำปัจเจก เช่น ครัวเรือนและธุรกิจ กับเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งพิจารณาเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งพิจารณาอุปทานและอุปสงค์มวลรวมกับเงิน ทุนและโภคภัณฑ์ มุมของเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ คือ การจัดสรรทรัพยากร การผลิต การแจกจ่าย การค้าและการแข่งขัน ตรรกะเศรษฐกิจถูกนำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกภายใต้ความขาดแคลนหรือการกำหนดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
พวกต้นสายของสกุลมนุษย์ (proto-humans) รู้จักใช้เครื่องมือหินมาอย่างน้อย 2.5 ล้านปีมาแล้ว[118] การควบคุมเพื่อใช้ประโยชน์จากไฟอาจเริ่มตั้งแต่ราว 1.7 ล้านปีก่อน[119] นับแต่นั้น มนุษย์ได้มีความก้าวหน้าใหญ่หลายครั้ง โดยพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเพื่อสร้างเครื่องมือที่จะช่วยในการดำเนินชีวิตและเปิดให้มีพัฒนาการอย่างอื่นในทางวัฒนธรรม การก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีที่สำคัญรวมถึงการค้นพบเกษตรกรรม ซึ่งรู้จักกันในชื่อ การปฏิวัติยุคหินใหม่ และการคิดค้นเครื่องจักรอัตโนมัติในการปฏิวัติอุตสาหกรรม
โดยทั่วไป ศาสนานิยามว่าเป็นระบบความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ความศักดิ์สิทธิ์หรือความเป็นพระเจ้า ตลอดจนหลัก ค่านิยม สถาบันและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อนั้น บางศาสนายังมีหลักศีลธรรม ในพัฒนาการของศาสนานับแต่ศาสนาแรก ศาสนามีหลายรูปแบบแล้วแต่วัฒนธรรมและมิติปัจเจก บางคำถามและประเด็นหลักที่ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึง ชีวิตหลังความตาย กำเนิดชีวิต ธรรมชาติของเอกภพ (จักรวาลวิทยาศาสนา) และชะตาสุดท้ายของเอกภพ และสิ่งใดคือศีลธรรมหรือผิดศีลธรรม แหล่งที่มาของคำตอบสามัญต่อคำถามเหล่านี้ คือ ความเชื่อในพระเจ้า เช่น เทวภาพหรือพระเจ้าองค์เดียว แม้ไม่ใช่ทุกศาสนาจะเชื่อในพระเจ้าก็ตาม จิตวิญญาณ ความเชื่อหรือความเกี่ยวข้องในเรื่องของวิญญาณหรือสปิริต เป็นหนึ่งในหลายแนวทางที่มนุษย์ใช้พยายามตอบคำถามพืนฐานเกี่ยวกับที่ของมนุษยชาติในเอกภพ ความหมายของชีวิต และวิถีอุดมคติในการมีชีวิตอยู่ แม้หัวข้อเหล่านี้ยังกล่าวถึงในวิชาปรัชญาด้วยเช่นกัน และวิทยาศาสตร์กล่าวถึงบ้างในบางขอบเขต แต่จิตวิญญาณมีเอกลักษณ์ในการมุ่งสนใจมโนทัศน์รหัสยะหรือเหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องกรรมและพระเจ้า
แม้ระดับความเลื่อมใสในศาสนายากที่จะวัดให้แน่ชัด แต่มนุษย์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาหรือความเชื่อทางจิตวิญญาณ แม้บางคนจะไม่นับถือศาสนา มนุษย์บางกลุ่มไม่มีความเชื่อทางศาสนาหรือถืออเทวนิยม กังขาคติวิทยาศาสตร์ หรืออไญยนิยม ศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณส่วนใหญ่แตกต่างชัดเจนจากวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับปรัชญาและระเบียบวิธี มนุษย์ส่วนใหญ่ถือทั้งมุมมองวิทยาศาสตร์และศาสนาด้วยกัน
การพัฒนาวิธีที่ซับซ้อนเพื่อให้ได้ความรู้มาผ่านการสังเกตและการวัดปริมาณเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมและความคิดมนุษย์ ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้ความรู้ของโลกทางกายภาพ ตลอดจนกฎเกณฑ์ กระบวนการและหลักของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อรวมกับคณิตศาสตร์แล้ว ทำให้สามารถทำนายแบบรูปปัจจัยภาพและผลสืบเนื่องที่ซับซ้อน สัตว์อื่นบางชนิดสามารถรับรู้ความแตกต่างในปริมาณเล็กน้อยได้ แต่มนุษย์สามารถเข้าใจและรับรู้ปริมาณที่มากกว่า หรือแม้กระทั่งเชิงนามธรรมได้ และยังรับรู้เข้าใจแบบรูปอัลกอริทึมซึ่งเปิดทางการนับประจำอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและพีชคณิต ซึ่งไม่พบในสปีชีส์อื่น
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.