Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฆวน เอโบ โมราเลส ไอมา (สเปน: Juan Evo Morales Ayma) เป็นอดีตประธานาธิบดีของประเทศโบลิเวีย เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของโบลิเวียที่ผู้นำประเทศเป็นชนพื้นเมืองหรืออินเดียนแดง โมราเลสเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 จากการเลือกตั้งของโบลิเวีย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2005 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 53.7 ในระหว่าง 2 ปีครึ่งหลังดำรงตำแหน่ง เขาได้รับความนิยมสูงมากถึง 2 ใน 3 และได้รับเลือกต่ออีกสมัยในปี ค.ศ. 2009 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 63 โมราเลสเป็นนักการเมืองซ้ายจัดเน้นนโยบายสังคมนิยม ได้แก่ การปฏิรูปที่ดิน แปรรูปองค์กรอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เป็นของรัฐ ต่อต้านทุนนิยมเสรีและสหรัฐอเมริกา
เอโบ โมราเลส | |
---|---|
ประธานาธิบดีโบลิเวีย คนที่ 80 | |
ดำรงตำแหน่ง 22 มกราคม ค.ศ. 2006 – 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 | |
รองประธานาธิบดี | อัลบาโร การ์ซิอา ลิเนรา |
ก่อนหน้า | เอดัวร์โด โรดริเกซ |
ถัดไป | ยานิเน อัญเญซ (รักษาการ/เป็นที่ขัดแย้ง) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | โอริโนกา แคว้นโอรูโร ประเทศโบลิเวีย | 26 ตุลาคม ค.ศ. 1959
เชื้อชาติ | โบลิเวีย |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก[1] / ประเพณีอินคา[2] |
พรรคการเมือง | MAS |
อาชีพ | ผู้นำสหภาพแรงงาน |
เอโบ โมราเลส เป็นชาวเมสติโซ เกิดวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1959 มีเชื้อสายอินเดียนแดงชาวไอมารา เกิดในชนชั้นกรรมกร ทำงานเป็นแรงงานหลากหลาย ตั้งแต่การเป็นคนเลี้ยงฝูงยามา (llama), รับจ้างเป่าทรัมเป็ต, วิ่งมาราธอนล่าเงินรางวัล, รับจ้างก่อกำแพงด้วยอิฐ, เป็นผู้ฝึกทีมฟุตบอล และเป็นเกษตรกรปลูกโคคา เขาสำเร็จการศึกษาแค่ระดับมัธยมศึกษาภายในประเทศ
ราวปี ค.ศ. 1985 โมราเลสได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสหภาพเกษตรกรโคคาโบลิเวีย โดยปัจจุบันยังอยู่ตำแหน่งนี้ เขากลายเป็นผู้นำขบวนการเกษตรกรต่อต้านสหรัฐอเมริกาและรัฐบาล เมื่อไร่โคคาของเขาถูกทหารทำลายล้างภายใต้การหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องการปราบปรามการผลิตโคเคน ทั้ง ๆ ในโบลิเวียยุคนั้น ที่โคคาเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้เคี้ยวและใช้ชงชาดื่มกันทั่วไป ตั้งแต่นั้นมาเขาผันตัวเองมาเล่นการเมืองเต็มตัว[3]
เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เขาเดินหน้ายึดกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของต่างชาติในโบลิเวียกลับคืนมาเป็นของชาติ สร้างความตกตะลึงให้แก่บรรดานายทุน-บรรษัทข้ามชาติน้ำมัน ที่กำลังจะสูญเสียผลประโยชน์ขนานใหญ่จากกิจการน้ำมันในโบลิเวีย รวมไปถึงประเทศเสรีนิยมทั่วโลกที่มุ่งเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือโอนกิจการของชาติให้ไปอยู่ในตลาดทุนที่เสรีมากขึ้น
เอโบ โมราเลส กล่าวถึงเหตุผลเบื้องหลังความยากจนของประชาชนในประเทศของตนว่า "เป็นผลมาจากการเอารัดเอาเปรียบ การฉกฉวยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่โบลิเวียมีอยู่ใต้ผืนมาตุภูมิของตนเองไปแบบหน้าตาเฉย ของบรรดาบริษัทต่างชาติตะวันตกที่เข้ามาในประเทศ" โมราเลสเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็น "การปล้นสะดม" จากประชาชนโบลิเวีย เขาจึงแก้ปัญหาที่ว่านี้ ด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปยึดที่ทำการของบริษัท โรงกลั่นและโรงแปรรูป และหลุมขุดเจาะน้ำมันรวมทั้งสิ้น 56 จุดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 มาเป็นทรัพย์สินของรัฐ และประชาชนโบลิเวีย
ในขณะเดียวกันก็ได้ให้เวลาบรรดาบริษัทต่างชาติทั้งหลาย 180 วัน เพื่อเปิดการเจรจาและทำสัญญาใหม่โดยที่บริษัททั้งหมดต้องถือหลักที่ว่าด้วย "การเคารพในเกียรติภูมิของชาวโบลิเวีย" โดยการให้ผลตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่อประชาชนเจ้าของประเทศอย่างเหมาะสม[4]
โมลาเรสเน้นสร้างความเป็นปึกแผ่นในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ที่เตรียมต่อกรกับทุนนิยมเสรี ระหว่างการครองตำแหน่งประธานาธิบดี โมราเลสเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้นำซ้ายจัดของละตินอเมริกาอย่างอูโก ชาเบซ ของเวเนซุเอลา และฟีเดลกับราอุล กัสโตร แห่งคิวบา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับโบลิเวียตึงเครียดขึ้นสมัยรัฐบาลของโมราเลส ทั้งสองฝ่ายต่างถอนทูตของกันและกันกลับประเทศ[5] เมื่อโมราเลสสั่งห้ามการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาในโบลิเวีย
ในสมัยที่สองของตำแหน่งประธานาธิบดี เขามีนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และในปี ค.ศ. 2010 โมราเลสได้แปรรูปบริษัทพลังงานต่างชาติให้เป็นของรัฐ ทำการปฏิรูประบบบำนาญโดยการเข้ายึดกองทุนส่วนบุคคลเพื่อนำมาจ่ายให้คนยากจน โมราเลสได้พยายามยกเลิกกองทุนน้ำมัน เป็นผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากกว่า 70% จนเป็นเหตุให้มีการนัดหยุดงานในภาคการค้า และการชุมนุมประท้วง นับเป็นการเผชิญปัญหาทางการเมืองเป็นครั้งแรก[6]
มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อเขาเกี่ยวกับยาเสพติดมากมาย โมราเลสให้เหตุผลว่า การปลูกโคคาเป็นวัฒนธรรมในสายเลือดของชาวพื้นเมืองแอนดีส ไม่ใช่เพื่อนำไปผลิตโคเคน
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.