Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สโมสรฟุตบอลศรีราชา เป็น สโมสรฟุตบอล ในประเทศไทย และเป็นตัวแทนจาก อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยสโมสรฯ เคยเล่นใน ไทยลีก สองครั้ง และยุติการทำทีมไปในปี พ.ศ.2557 โดยปัจจุบัน สิทธิ์การทำทีมของสโมสร คือ สโมสรนครราชสีมา ยูไนเต็ด
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลศรีราชา | ||
---|---|---|---|
ฉายา | เดอะบลูมารีน ปลาโทงเทง | ||
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2540 ในนาม สโมสรฟุตบอลชลบุรี-สันนิบาต สมุทรปราการ พ.ศ. 2548 ในนาม สโมสรฟุตบอลศรีราชา พ.ศ. 2566 ในนาม สโมสรฟุตบอลศรีราชา เอฟ.ซี. บูรพา พฤศจิกายน 2566 ในนาม สโมสรฟุตบอลศรีราชา | ||
ยุบ | พ.ศ. 2557 | ||
สนาม | สนามกีฬาเทศบาลเมืองศรีราชา ศรีราชา,ชลบุรี | ||
ประธาน | ฉัตรชัย ทิมกระจ่าง | ||
ผู้จัดการ | ปิยะณัฐ ทิมกระจ่าง | ||
ผู้ฝึกสอน | ชนะ เฉลิมศักดิ์ | ||
2557 | อันดับที่ 18 ตกชั้นและโอนสิทธิ์ให้กับ ทวีวัฒนา เอฟซี | ||
|
โดยสโมสรได้กลับมาส่งทีมอีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ.2566
สโมสรฟุตบอลศรีราชา แต่เดิมเป็นสโมสรฟุตบอลของ สมาคมสันนิบาตสงเคราะห์ จังหวัดสมุทรปราการ และ ได้เข้าร่วมแข่งขัน ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ต่อมาเมื่อทาง สมาคมฯ ได้เข้ามาฝึกซ้อมในจังหวัดชลบุรี ทางฝั่งกลุ่มชลบุรี ก็ได้มีการเจรจา เพื่อขอเข้าร่วมการแข่งขัน โดยได้รับความร่วมมือ ด้านนักฟุตบอล จาก สโมสรสิงห์เทโรศาสน โดยเปรียบเสมือนเป็น "ทีมสำรอง" ของสโมสร[1] และใช้สิทธิ์การบริหารสโมสร สโมสรสันนิบาตฯ สมุทรปราการ โดยใช้ชื่อ สโมสรฟุตบอลชลบุรี–สันนิบาตฯ สมุทรปราการ และได้เข้าแข่งขันใน ดิวิชัน 1[2]
ต่อมาเมื่อทาง สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน โปรวินเชียลลีก ทางผู้บริหารจึงทำการได้แยกสโมสรฟุตบอลชลบุรี-สันนิบาตฯ สมุทรปราการ ออกจากกัน ซึ่งในขณะนั้นลงเล่นในดิวิชั่น 1 อยู่ โดยชลบุรีนั้นได้นำผู้เล่นจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี แทน แต่ก็ยังมาดูแลสโมสรอยู่ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 ฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา (ในขณะนั้น) ได้รับช่วงการบริหารสโมสรชลบุรี-สันนิบาต สมุทรปราการ และทำการเปลื่ยนชื่อเป็น สโมสรฟุตบอลศรีราชา-สันนิบาตฯ เพื่อลงทำการแข่งขัน ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2550 โดยได้รับเกียรติจาก สนธยา คุณปลื้ม, วิทยา คุณปลื้ม และ ชาญวิทย์ ผลชีวิน รับเป็นที่ปรึกษาของสโมสรฯ และมี ทรงยศ กลิ่นศรีสุข เป็นผู้ฝึกสอน และใช้ สนามกีฬาสิรินธร ภายใน โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เป็นสนามเหย้าของทีม โดยนักฟุตบอลในทีมส่วนใหญ่มาจาก โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา, โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ชลบุรี และ โรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรี โดยในปีแรก สโมสรฯ ทำผลงานจบที่อันดับ 6 [3]
ปี พ.ศ. 2551 สโมสรฯ ลงทำการแข่งขันใน ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2551 โดยมีการเพิ่มเติมฝ่ายบริหาร เช่น วีระศักดิ์ หวังกุศล ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีม และได้ ครองพล ดาวเรือง เป็นผู้ฝึกสอนของทีม และพาสโมสรจบการแข่งขันด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศ ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นไปเล่นใน ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2552 ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 สโมสรเปลื่ยนชื่อในนาม สโมสรฟุตบอลศรีราชา โดยนักฟุตบอลส่วนใหญ่ยังเป็นชุดที่คว้ารองแชมป์ ดิวิชั่น 1 เมื่อฤดูกาลที่แล้ว โดยมีนักฟุตบอลอย่าง อรรถพงษ์ หนูพรหม, สุภภรณ์ พรหมพินิจ, อำไพ มุธาพร, พรศักดิ์ ป้องทอง, สุจริต จันทกล, เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์, สุพจน์ วงษ์หอย, ซารูตะ ฮิโนริ, กัสตัน ราอูล กอนซาเลส เป็นต้น แต่ผลงานของสโมสรกลับไม่ดีอย่างที่คิดโดยสโมสรจบอันดับที่ 14 มีคะแนนรวมแค่ 30 คะแนน จากการชนะเพียง 8 แต่แพ้ถึง 16 ต้องตกชั้นไปเล่น ดิวิชั่น 1
ปี พ.ศ. 2553 สโมสรฯ ต้องลงไปเล่นใน ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2553 โดยหมายมั่นปั้นมือที่จะกลับไปเล่นใน ไทยลีก ในปีเดียว โดยสโมสรก็ยังใช้ผู้เล่นเดิมทั้งสิ้น และ สโมสรฯ คว้าตำแหน่งชนะเลิศการแข่งขัน ในฤดูกาลนั้น โดยทำคะแนน ทิ้งห่างรองชนะเลิศในปีนั้น อย่าง ขอนแก่น เอฟซี ถึงแปดคะแนน กลับมาเล่นลีกสูงสุดอีกครั้ง ใน ฤดูกาล 2554 สโมสรฯ ก็ยังใช้ตัวผู้เล่นชุดเดิม แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้นักฟุตบอลดาวรุ่งจาก ชลบุรี เอฟซี หลายราย เช่น อนุวัฒน์ นาคเกษม, ชนินทร์ แซ่เอียะ เป็นต้น แต่สโมสรฯ ก็ไม่วายต้องตกชั้นสู่ ลีกรองอีกรอบ ด้วยการจบอันดับที่ 17
หลังจากการตกชั้นสู่ลีกรอง ถึงสองครั้งซ้อน ในรอบ 3 ปี สโมสรฯ ก็เริ่มเกิดปัญหาทางการเงิน โดยต้องขายตัวหลักในทีมอย่าง สุจริต จันทกล และ เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ ให้กับ ชลบุรี เอฟซี แต่สโมสรฯก็ได้พยายามทำผลงานให้ดีที่สุด แต่ใน ฤดูกาล 2556 สโมสรจบอันดับที่ 15 รอดตกชั้นแค่คะแนนเดียว (สโมสรฯทำผลงานโดยเก็บได้แค่ 37 คะแนน มีคะแนนเหนือ ระยอง เอฟซี ที่มี 36 คะแนน) ต่อมา ได้มีการรวมนักฟุตบอล และ เจ้าหน้าที่ของทีม รวมกับ พัทยา ยูไนเต็ด โดยได้มีการเปลื่ยนแปลงยกสโมสร โดยให้ทีมเยาวชนของ ชลบุรี เอฟซี มาเป็นผู้เล่นแกนหลัก โดยกลุ่มบริหารของชลบุรี บริหารเองทั้งหมด โดยมี ธนะศักดิ์ สุระประเสริฐ เป็นประธานสโมสร ให้ วิทยา เลาหกุล เป็นผู้จัดการทีม โดยมี นฤพล แก่นสน เป็นผู้ฝึกสอน โดยผู้เล่นที่รู้จักในทีมชุดนี้ประกอบด้วย วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, สรรเสริญ ลิ้มวัฒนะ, เหมันต์ กิติอำไพพฤกษ์ เป็นต้น[4] แต่ผลงานของทีม กลับแย่จนตกชั้นไปเล่นในระดับ ลีกภูมิภาค ดิวิชัน 2 ด้วยการจบอันดับที่ 18 มีแค่ 3 คะแนน จากการเสมอ โดยที่ไม่ชนะทีมใดเลย
ในปี พ.ศ. 2558 สโมสรฟุตบอลศรีราชา ในลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ได้โอนสิทธิในการลงแข่งขันในระดับดิวิชั่น 2 (กลุ่มภาคกลางตะวันออก) ให้กับสโมสรฟุตบอลทวีวัฒนา จากฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ค. ลงแข่งขันแทน สโมสรฟุตบอลทวีวัฒนาจึงได้ก้าวเข้ามาสู่การแข่งขันในระบบลีกอาชีพอย่างรวดเร็ว จากการรับโอนสิทธิในการแข่งขันจากสโมสรฟุตบอลศรีราชา ฤดูกาล 2558 ในการแข่งขันลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกของสโมสรบนลีกอาชีพ ได้ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า ทวีวัฒนา-ศรีราชา เอฟซี เป็นการปิดฉากสโมสรอย่างเป็นทางการ
ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2566 โดยชนะ เฉลิมศักดิ์ อดีตผู้ช่วยผู้ฝึกสอน ศรีราชา เอฟซี ในชุดเดียวกับ ทรงยศ กลิ่นศรีสุข มีความคิดที่จะนำทีมศรีราชา เอฟซี กลับมา โดยต้องการสร้างพื้นที่ให้เยาวชนมีพื้นที่ลงเล่นในรายการของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับทางเทศบาลเมืองศรีราชาในการร่วมมือกันนำทีมศรีราชา เอฟซี กลับมาก่อตั้งใหม่ในชื่อ ศรีราชา เอฟ.ซี. บูรพา โดยได้ผู้บริหารชุดเดิมกลับมาบริหารทีม อาทิ ประภัส เจริญสันติสุข รองนายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา รองประธานสโมสร , ปิยะณัฐ ทิมกระจ่าง สมาชิกสภาเทศบาลเมืองศรีราชา ผู้จัดการทีม , ชลิสร์ เจริญสันติสุข ผู้อำนวยการสโมสร , วรวิทย์ เจริญสันติสุข ผู้ควบคุมทีม และมี ทรงยศ กลิ่นศรีสุข เป็นที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิค โดยใช้นักเตะเยาวชนในพื้นที่อำเภอศรีราชา , โรงเรียนอ่างศิลาพิทยาคม และบางส่วนมาจากทีมฟุตบอลมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเตะอ่างศิลา เอฟซี ชุดลุย ไทยแลนด์ เซมิโปรลีก ฤดูกาล 2566 รวมถึงมีการดึงอดีตนักเตะลูกหม้อของทีมอย่าง ชลิตพงศ์ จันทกล กลับมาช่วยทีม
หลังจากได้รับการตอบรับจากแฟนบอลชาวศรีราชาเป็นอย่างดี สโมสรได้กลับมาใช้ชื่อเดิมเป็นสโมสรฟุตบอลศรีราชา ในเดือนพฤจิกายน พ.ศ.2566 พร้อมส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ไทยแลนด์ เซมิโปรลีก ฤดูกาล 2567
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.