Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สันติ-วีณา (อังกฤษ: Santi-Vina) เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2497 เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 มม. (ไวด์สกรีน สีอีสต์แมน เสียงจริงขณะถ่ายทำ) และเป็นผลงานภาพยนตร์ชิ้นแรกของบริษัทหนุมานภาพยนตร์ โดย รัตน์ เปสตันยี ซึ่งเป็นทั้งผู้อำนวยการสร้าง ถ่ายภาพและลำดับภาพ สร้างจากบทประพันธ์ของ โรเบิร์ด จี นอร์ท เขียนบทโดย คุณาวุฒิและมารุต กำกับศิลป์โดย อุไร ศิริสมบัติ และบันทึกเสียงโดย ปง อัศวินิกุล โดยถ่ายทำในระบบ 35 ม.ม. ด้วยจุดเด่นนอกจากเรื่องราวของความรักแล้ว การถ่ายภาพเพื่อแสดงวิถีชีวิตในชนบทไทยยังงดงามตื่นตา สะท้อนความเชื่อทางสังคมขนบประเพณีศาสนา และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดนานาชาติ [2][3]
สันติ-วีณา | |
---|---|
กำกับ | มารุต |
บทภาพยนตร์ | บทประพันธ์ : โรเบิร์ด จี นอร์ท บทภาพยนตร์ : วิจิตร คุณาวุฒิ ทวี ณ บางช้าง |
อำนวยการสร้าง | รัตน์ เปสตันยี |
นักแสดงนำ | พูนพันธ์ รังควร (สันติ) เรวดี ศิริวิไล (วีณา) จหมื่นมานพนริศร์ (หลวงตา) ไพจิต ภูติยศ (ไกร) วีระชัย แนวบุญเนียร [1] อนุฉัตร โตษยานนท์ ดลพิบูลย์ ทุมมานนท์ |
ถ่ายภาพ | รัตน์ เปสตันยี |
ลำดับภาพ | รัตน์ เปสตันยี |
ดนตรีประกอบ | นารถ ถาวรบุตร |
ผู้จัดจำหน่าย | หนุมานภาพยนตร์ |
วันฉาย | 30 ธันวาคม พ.ศ. 2497 |
ความยาว | 119 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย |
ภาพยนตร์ สันติ-วีณา ได้ส่งประกวดในงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับ 3 รางวัล คือ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) และรางวัลพิเศษเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ จากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา สำหรับภาพยนตร์ที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมดีเด่น[4] และได้ไปฉายประกวดในงานชุมนุมสัปดาห์ภาพยนตร์เอเชีย (Asian Film Week) ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 [5] ยังได้รางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาเป็นกล้อง Mitchell BNC ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียได้ดี [6] เป็นเสมือนทูตทางวัฒนธรรมเพื่อผูกมิตรกับประเทศสังคมนิยมในขณะนั้น[7] ในช่วงเวลานั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายที่จะถ่วงดุลทางการทูตกับสหรัฐอเมริกาที่พยายามเข้ามาแผ่อำนาจเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ แม้ทางไทยจะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากอเมริกาแต่ก็พยายามที่จะเป็นมิตรกับประเทศในภูมิภาคอย่างโซเวียตด้วยเมื่อทางสถานทูตรัสเซียขอซื้อภาพยนตร์ สันติ-วีณาไปฉาย เนื่องจากมีรางวัลที่ญี่ปุ่นการันตีทางรัฐบาลไทยก็ยินดีและข่าวที่เผยแพร่ออกมาเป็นรูปแบบของการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมและเป็นไปในรูปของเอกชน หลังจาก สันติ-วีณา ไปฉายในต่างประเทศแล้ว วงการภาพยนตร์ไทยก็มีแนวโน้มถ่ายทำในระบบ 35 มม. มากขึ้นเพื่อสะดวกในการนำไปฉายในต่างประเทศ ต่อมารัสเซียติดต่อซื้อภาพยนตร์ 16 มม. เนื่องจากช่วงนั้นส่วนใหญ่ยังนิยมถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. เช่น สาวเครือฟ้า (2496), ศรีปราชญ์ (2500)
ภายหลังการประกวด รัตน์นำฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์กลับประเทศไทย แต่กลับถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ จึงจำเป็นต้องทิ้งฟิล์มเนกาทีฟไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะส่งกลับไปเก็บรักษาที่ห้องแล็บของบริษัทแรงค์ แลบอราทอรี่ส์ ประเทศอังกฤษ แต่ก็เกิดอุบัติเหตุฟิล์มภาพยนตร์ได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งทางเรือทำให้ฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” ไม่มีฟิล์มเนกาทีฟหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย[8] แต่มีหลักฐานว่าเมื่อปี พ.ศ. 2500 ทางสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ซื้อก๊อปปี้ไปฉาย จึงอาจจะยังหลงเหลือฟิล์มภาพยนตร์เหลืออยู่ในโลกก็เป็นได้ ในบทความในนิตยสาร investor ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513 ยังกล่าวว่า อาจจะเป็นภาพยนตร์ไทยที่ดีที่สุดที่มีการสร้างมา สิ่งที่เกิดเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
หลังจากอยู่ในสถานะหายสาบสูญมาเนิ่นนาน ปัจจุบันพบว่าฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่คลังฟิล์มภาพยนตร์ของ Gosfilmofond ของประเทศรัสเซีย และหอภาพยนตร์แห่งชาติของจีน ซึ่งหอภาพยนตร์กำลังประสานงานเพื่อบูรณะให้นำกลับมาฉายได้ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ [9][10] โดยในเทศกาลภาพยนตร์กาน ครั้งที่ 69 ประจำปี พ.ศ. 2559 ภาพยนตร์เรื่องนี้ในฉบับบูรณะสมบูรณ์ความละเอียด 4K ได้รับเกียรติให้ฉายในสาย Cannes Classic [11][12]
ภาพยนตร์ สันติ-วีณา เคยถูกนำมาสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2519 เขียนบทโดย มารุต กำกับและอำนวยการสร้างโดย สันต์ เปสตันยี นำแสดงโดย นาท ภูวนัย, นัยนา ชีวานันท์, สมภพ เบญจาธิกุล, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, เสถียร ธรรมเจริญ, จวง ยอดกลกิจ และพูนพันธ์ รังควร (ผู้รับบทที่เคยรับบทสันติ) รับบทเป็นพ่อ [13]
เรื่องราวของชายหนุ่มตาบอด สันติ (พูนพันธ์ รังควร) กับประสบมรสุมชีวิตมากมาย วีณา (เรวดี ศิริวิไล) เป็นหญิงสาวผู้มอบความรักและความเมตตาแก่สันติด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่แล้วความรักของทั้งคู่ก็พบอุปสรรคจากไกร (ไพจิต ภูติยศ) เป็นคู่หมั้นของวีณา ผู้พยายามกลั่นแกล้งสันติในทุกทางมาโดยตลอด สุดท้ายเขาต้องสูญเสียคนที่รักไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ในตอนจบของเรื่องสันติยุติปัญหาด้วยการหันเข้าหาศาสนาซึ่งเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตของคนไทย
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.