สะพานพระราม 4
สะพานในจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานในจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานพระราม 4 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมการคมนาคมระหว่างพื้นที่ตำบลบางตะไนย์กับตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด ทางตอนเหนือของจังหวัดนนทบุรี โดยสร้างเป็นส่วนต่อจากสะพานลอยรถข้ามห้าแยกปากเกร็ดตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ ยกระดับเหนือถนนแจ้งวัฒนะย่านกลางเมืองปากเกร็ด ข้ามแม่น้ำตรงด้านเหนือของเกาะเกร็ด แล้วเชื่อมต่อกับถนนชัยพฤกษ์ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ (ก่อนที่จะไปบรรจบถนนราชพฤกษ์)
สะพานพระราม 4 | |
---|---|
สะพานพระราม 4 | |
เส้นทาง | ถนนแจ้งวัฒนะ, ถนนชัยพฤกษ์ |
ข้าม | แม่น้ำเจ้าพระยา |
ที่ตั้ง | อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี |
ชื่อทางการ | สะพานพระราม 4 |
ผู้ดูแล | กรมทางหลวงชนบท |
รหัส | ส.005 |
เหนือน้ำ | สะพานนนทบุรี |
ท้ายน้ำ | สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ประเภท | สะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง |
ความยาว | 278.00 เมตร |
ความกว้าง | 40.00 เมตร |
ความสูง | 5.60 เมตร |
ประวัติ | |
วันเริ่มสร้าง | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 |
วันเปิด | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2549 |
สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2540 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณห้าแยกปากเกร็ดและถนนเชื่อมต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การคมนาคม การขนส่ง และการจราจร[1] กรมทางหลวงชนบทได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างถนนตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2546[2] ระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณห้าแยกปากเกร็ดแห่งนี้ว่า สะพานพระราม 4 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] กรมทางหลวงชนบทจึงได้ออกแบบและตกแต่งภูมิทัศน์ของสะพานตามแบบสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 ให้สอดคล้องกับชื่อที่ได้รับพระราชทาน[3]
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ กรมทางหลวงชนบทจึงเปิดใช้สะพานพร้อมกับถนนชัยพฤกษ์ (ถนนเชื่อมต่อแนวตะวันออก-ตะวันตก) อย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2549[4] และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสะพาน พร้อมด้วยท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551[3]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.