Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาสันสกฤต (มาจากคำว่า संस्कृत-, สํสฺกฺฤต-,[9][10] แปลงเป็นคำนาม: संस्कृतम्, สํสฺกฺฤตมฺ)[11][b] เป็นภาษาคลาสสิกในเอเชียใต้ที่อยู่ในสาขาอินโด-อารยันของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน[12][13][14] ภาษานี้เกิดขึ้นในเอเชียใต้หลังจากที่ภาษารุ่นก่อนหน้าได้แพร่กระจายไปที่นั่นจากทางตะวันตกเฉียงเหนือในยุคสัมฤทธิ์ตอนปลาย[15][16] ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู ภาษาของปรัชญาฮินดูคลาสสิก และภาษาของวรรณกรรมศาสนาพุทธและศาสนาเชนในอดีต นอกจากนี้ยังเป็นภาษากลางภาษาหนึ่งในเอเชียใต้สมัยโบราณถึงสมัยกลาง และในช่วงการเผยแผ่วัฒนธรรมฮินดูกับพุทธไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียกลางในสมัยกลางตอนต้น ได้กลายเป็นภาษาทางศาสนาและวัฒนธรรมชั้นสูง และภาษาของผู้ทรงอำนาจทางการเมืองในบางภูมิภาค[17][18] ด้วยเหตุนี้ ภาษาสันสกฤตจึงมีอิทธิพลอย่างยาวนานต่อภาษาในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงศัพท์ทางการและวงศัพท์วิชาการของภาษาเหล่านั้น[19]
ภาษาสันสกฤต | |
---|---|
संस्कृतम् สํสฺกฺฤตมฺ | |
[[File:
(บน) เอกสารตัวเขียนภาษาสันสกฤตสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 จาก ภควัทคีตา[1] ซึ่งแต่งขึ้นในช่วงประมาณ 400–200 ปีก่อนคริสต์ศักราช[2][3] (ล่าง) แสตมป์ครบรอบ 175 ปีของวิทยาลัยสันสกฤตโกลกาตา วิทยาลัยภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่เป็นอันดับที่ 3 (ส่วนอันดับที่ 1 คือวิทยาลัยสันสกฤตพาราณาสีซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 1791) |200px]] | |
ออกเสียง | [sɐ̃skr̩tɐm] |
ภูมิภาค | เอเชียใต้ (สมัยโบราณถึงสมัยกลาง), บางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สมัยกลาง) |
ยุค | ประมาณ 1,500–600 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ภาษาพระเวท);[4] 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 1350 (สันสกฤตแบบแผน)[5] |
ตระกูลภาษา | อินโด-ยูโรเปียน
|
รูปแบบก่อนหน้า | ภาษาพระเวท
|
ระบบการเขียน | แต่เดิมเป็นภาษาที่สืบมาโดยมุขปาฐะ ไม่พบหลักฐานตัวเขียนจนกระทั่งศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อมีการเขียนเป็นอักษรพราหมี และต่อมาเขียนเป็นอักษรต่าง ๆ ในตระกูลพราหมี[a][6][7] |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | อินเดีย (หนึ่งในภาษา 22 ภาษาในกำหนดรายการที่แปดของรัฐธรรมนูญ) |
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน | แอฟริกาใต้ (ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ)[8] |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | sa |
ISO 639-2 | san |
ISO 639-3 | san |
โดยทั่วไป สันสกฤต สื่อความหมายถึงวิธภาษาอินโด-อารยันเก่าหลายวิธภาษา[20][21] วิธภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มนี้คือภาษาพระเวทในคัมภีร์ ฤคเวท ซึ่งประกอบด้วยบทสวด 1,028 บทที่แต่งขึ้นในช่วงระหว่าง 1,500 ถึง 1,200 ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยชนเผ่าอินโด-อารยันที่ย้ายถิ่นจากบริเวณที่เป็นอัฟกานิสถานในปัจจุบันไปทางตะวันออก ผ่านตอนเหนือของปากีสถาน แล้วเข้าสู่ตอนเหนือของอินเดีย[22][23] ภาษาพระเวทมีปฏิสัมพันธ์กับภาษาโบราณที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้วในอนุทวีป โดยรับชื่อเรียกพืชและสัตว์ที่ค้นพบใหม่เข้ามาใช้ในภาษา นอกจากนี้ ภาษากลุ่มดราวิเดียนโบราณยังมีอิทธิพลต่อระบบสัทวิทยาและวากยสัมพันธ์ภาษาสันสกฤตด้วย[24] สันสกฤต ในนิยามอย่างแคบอาจหมายถึงภาษาสันสกฤตแบบแผน ซึ่งเป็นรูปแบบไวยากรณ์ที่ผ่านการขัดเกลาและปรับเป็นมาตรฐานในช่วงกลางสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการจัดประมวลใน อัษฏาธยายี ตำราไวยากรณ์โบราณที่มีความครอบคลุมมากที่สุด[25] กาลิทาส นักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่ แต่งผลงานเป็นภาษาสันสกฤตแบบแผน และรากฐานของเลขคณิตสมัยใหม่ได้รับการอธิบายครั้งแรกเป็นภาษาสันสกฤตแบบแผน[c][26] อย่างไรก็ตาม มหากาพย์ภาษาสันสกฤตที่สำคัญอย่าง มหาภารตะ และ รามายณะ นั้นได้รับการแต่งขึ้นโดยใช้ทำเนียบภาษามุขปาฐะที่เรียกว่าภาษาสันสกฤตมหากาพย์ ซึ่งใช้กันในตอนเหนือของอินเดียระหว่าง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึง ค.ศ. 300 และร่วมสมัยกับภาษาสันสกฤตแบบแผน[27] ในหลายศตวรรษถัดมา ภาษาสันสกฤตได้กลายเป็นภาษาที่ผูกติดกับประเพณี ไม่ได้รับการเรียนรู้เป็นภาษาแม่ และหยุดพัฒนาในฐานะภาษาที่ยังมีชีวิตไปในที่สุด[28] ทั้งนี้ ไม่พบหลักฐานว่าภาษาสันสกฤตมีตัวอักษรเป็นของตนเอง โดยตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนคริสต์สหัสวรรษที่ 1 มีการเขียนภาษานี้โดยใช้อักษรต่าง ๆ ในตระกูลพราหมี และในสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เขียนโดยใช้อักษรเทวนาครี[a][6][7]
สถานะ หน้าที่ และตำแหน่งของภาษาสันสกฤตในมรดกวัฒนธรรมของอินเดียได้รับการรับรองผ่านการระบุรวมอยู่ในกำหนดรายการที่แปดของรัฐธรรมนูญอินเดีย[29][30] อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความพยายามฟื้นฟูภาษานี้[31][32] ก็ยังไม่มีผู้พูดภาษาสันสกฤตเป็นภาษาแม่ในอินเดียเลย[33][32][34][35]
ในภาษาสันสกฤต คำคุณศัพท์ สํสฺกฺฤต- (संस्कृत-) เป็นคำประสมที่ประกอบด้วย สํ ('พร้อม, ดี, สมบูรณ์แล้ว') และ สฺกฺฤต- ('ทำแล้ว, สร้างแล้ว, งาน')[36][37] หมายถึงงานที่ "เตรียมไว้อย่างดี, บริสุทธิ์และสมบูรณ์, ขัดเกลา, ศักดิ์สิทธิ์"[38][39][40] ตามไบเดอร์แมน (Biderman) ซึ่งเป็นภาษาของชนชั้นพราหมณ์ ตรงข้ามกับภาษาพูดของชาวบ้านทั่วไปที่เรียกว่าปรากฤต ภาษาสันสกฤตมีพัฒนาการในหลายยุคสมัย โดยมีหลักฐานเก่าแก่ที่สุด คือภาษาที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท (เมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล) อันเป็นบทสวดสรรเสริญพระเจ้าในลัทธิพราหมณ์ในยุคต้น ๆ อย่างไรก็ตาม ในการจำแนกภาษาสันสกฤตโดยละเอียด นักวิชาการอาจถือว่าภาษาในคัมภีร์ฤคเวทเป็นภาษาหนึ่งที่ต่างจากภาษาสันสกฤตแบบแผน (Classical language) และเรียกว่า ภาษาพระเวท (Vedic language) ภาษาพระเวทดั้งเดิมยังมิได้มีการวางกฎเกณฑ์ให้เป็นระเบียบรัดกุมและสละสลวย และมีหลักทางไวยากรณ์อย่างกว้าง ๆ ปรากฏอยู่ในบทสวดในคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู เนื้อหาคือบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า เอกลักษณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะในภาษาพระเวทคือระดับเสียง (accent) ซึ่งกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และถือเป็นสิ่งสำคัญของการสวดพระเวทเพื่อให้สัมฤทธิผล
ภาษาสันสกฤตมีวิวัฒนาการมาจากภาษาชนเผ่าอารยัน หรืออินโดยูโรเปียน (Indo-European) บรรพบุรุษของพวกอินโด-อารยัน ตั้งรกรากอยู่เหนือเอเซียตะวันออก (ตอนกลางของทวีปเอเชีย - Central Asia) โดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง กลุ่มอารยันต้องเร่ร่อนทำมาหากินเหมือนกันชนเผ่าอื่น ๆ ในจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการแยกย้ายถิ่นฐาน การเกิดประเพณี และภาษาที่แตกต่างกันออกไป ชนเผ่าอารยันได้แยกตัวกันออกไปเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่ 1 แยกไปทางตะวันตกเข้าสู่ทวีปยุโรป กลุ่มที่ 2 ลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ อนุมานได้ว่าน่าจะเป็นชนชาติอิหร่านในเปอร์เซีย และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด กลุ่มนี้แยกลงมาทางใต้ตามลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) ชาวอารยันกลุ่มนี้เมื่อรุกเข้าในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุแล้ว ก็ได้ไปพบกับชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ดราวิเดียน (Dravidian) และเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและภาษา โดยชนเผ่าอารยันได้นำภาษาพระเวทยุคโบราณเข้าสู่อินเดียพร้อม ๆ กับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งในยุคต่อมาได้เกิดตำราไวยากรณ์ภาษาสันสกฤตคือ อษฺฏาธฺยายี (अष्टाध्यायी "ไวยากรณ์ 8 บท") ของปาณินิ เชื่อกันว่ารจนาขึ้นในช่วงพุทธกาล ปาณินิเห็นว่าภาษาสันสกฤตแบบพระเวทนั้นมีภาษาถิ่นปนเข้ามามากพอสมควรแล้ว หากไม่เขียนไวยากรณ์ที่เป็นระเบียบแบบแผนไว้ ภาษาสันสกฤตแบบพระเวทที่เคยใช้มาตั้งแต่ยุคพระเวทจะคละกับภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้การประกอบพิธีกรรมไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น จึงแต่งอัษฏาธยายีขึ้น ความจริงตำราแบบแผนไวยากรณ์ก่อนหน้าปาณินิได้มีอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อเกิดอัษฏาธยายีตำราเหล่านั้นก็ได้หมดความนิยมลงและสูญไปในที่สุด ผลของไวยากรณ์ปาณินิก็คือภาษาเกิดการจำกัดกรอบมากเกินไป ทำให้ภาษาไม่พัฒนา ในที่สุด ภาษาสันสกฤตแบบปาณินิ หรือภาษาสันสกฤตแบบฉบับ จึงกลายเป็นภาษาเขียนในวรรณกรรม ซึ่งผู้ที่สามารถจะอ่าน เขียนและแปลได้จะต้องใช้เวลามากพอสมควร
ภาษาสันสกฤตแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มกว้าง ๆ ได้แก่ ภาษาสันสกฤตแบบแผน และภาษาสันสกฤตผสม
เกิดขึ้นจากการวางกฎเกณฑ์ของภาษาสันสกฤตให้มีแบบแผนที่แน่นอนในสมัยต่อมา โดยนักปราชญ์ชื่อ ปาณินิตามประวัติเล่าว่าเป็นผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์ แคว้นคันธาระราว 57 ปีก่อนพุทธปรินิพพาน บางกระแสว่าเกิดราว พ.ศ. 143 ปาณินิได้ศึกษาภาษาในคัมภีร์พระเวทจนสามารถหาหลักเกณฑ์ของภาษานั้นได้ จึงจัดรวบรวมขึ้นเป็นหมวดหมู่ เรียบเรียงเป็นตำราไวยากรณ์ขึ้น 8 บทให้ชื่อว่า อัษฏาธยายี มีสูตรเป็นกฎเกณฑ์อธิบายโครงสร้างของคำอย่างชัดเจน นักวิชาการสมัยใหม่มีความเห็นว่า วิธีการศึกษาและอธิบายภาษาของปาณินิเป็นวิธีวรรณนา คือศึกษาและอธิบายตามที่ได้สังเกตเห็นจริง มิได้เรียบเรียงขึ้นตามความเชื่อส่วนตัว มิได้เรียบเรียงขึ้นตามหลักปรัชญา คัมภีร์อัษฏาธยายีจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราไวยากรณ์เล่มแรกที่ศึกษาภาษาในแนววิทยาศาสตร์และวิเคราะห์ภาษาได้สมบูรณ์ที่สุด[ต้องการอ้างอิง] ความสมบูรณ์ของตำราเล่มนี้ทำให้เกิดความเชื่อในหมู่พราหมณ์ว่า ตำราไวยากรณ์สันสกฤตหรือปาณินิรจนานี้ สำเร็จได้ด้วยอำนาจพระศิวะ อย่างไรก็ตาม นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าการวางแบบแผนอย่างเคร่งครัดของปาณินิ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาสันสกฤตต้องกลายเป็นภาษาตายอย่างรวดเร็วก่อนเวลาอันควร[ต้องการอ้างอิง] เพราะทำให้สันสกฤตกลายเป็นภาษาที่ถูกจำกัดขอบเขต (a fettered language) ด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่เคร่งครัดและสลับซับซ้อน ภาษาสันสกฤตที่ได้ร้บการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ให้ดีขึ้นโดยปาณินินี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เลากิกภาษา" หมายถึงภาษาที่ใช้กับสิ่งที่เป็นไปในทางโลก
ภาษาสันสกฤตผสม (Buddhist Hybrid Sanskrit or Mixed Sanskrit) เป็นภาษาสันสกฤตที่นักวิชาการบางกลุ่มได้จัดไว้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีความแตกต่างจากภาษาพระเวทและภาษาสันสกฤตแบบแผน (ตันติสันสกฤต) ภาษาสันสกฤตแบบผสมนี้คือภาษาที่ใช้บันทึกวรรณคดีสันสกฤตทางพระพุทธศาสนา ทั้งในนิกาย สรรวาสติวาท และ มหายาน ภาษาสันสกฤตชนิดนี้คาดว่าเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 3–4 นักปราชญ์บางท่านถือว่าเกิดขึ้นร่วมสมัยกับตันติสันสกฤต คือในปลายสมัยพระเวทและต้นของยุคตันติสันสกฤต โดยปรากฏอยู่โดยส่วนมากในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนามหายาน เช่น ลลิตวิสฺตร ลงฺกาวตารสูตฺร ปฺรชฺญาปารมิตา สทฺธรฺมปุณฺฑรีกสูตฺร และศาสตร์อันเป็นคำอธิบายหลักพุทธปรัชญาและตรรกวิทยา เช่น มธฺยมิกการิกา อภิธรฺมโกศ มหาปฺรชฺญาปารมิตาศาสฺตฺร มธฺยานฺตานุคมศาสฺตฺร เป็นต้น
ไวยากรณ์ของภาษาสันสกฤตมีความซับซ้อนมากกว่าหลาย ๆ ภาษา โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การสนธิ แต่ก็นับว่ามีความสอดคล้องกับหลายภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน เช่น กรีกหรือละติน อย่างที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ไวยากรณ์สันสกฤตอาจเทียบเคียงได้กับของภาษาบาลี แต่ยังมีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าพอสมควร
ภาษาสันสกฤตมีรูปอักษร 48 ตัว แบ่งเป็นพยัญชนะ 34 ตัว สระ 14 ตัว
รูปเดี่ยว | ไอเอเอสที/ ไอเอสโอ |
สัทอักษร สากล |
รูปเดี่ยว | ไอเอเอสที/ ไอเอสโอ |
สัทอักษร สากล | |||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
กัณฐยะ (เพดานอ่อน/ช่องคอ) |
अ | a | /ɐ/ | आ | ā | /ɑː/ | ||
ตาลวยะ (เพดานแข็ง) |
इ | i | /i/ | ई | ī | /iː/ | ||
โอษฐยะ (ริมฝีปาก) |
उ | u | /u/ | ऊ | ū | /uː/ | ||
มูรธันยะ (ปลายลิ้นม้วน) |
ऋ | ṛ/r̥ | /r̩/ | ॠ | ṝ/r̥̄ | /r̩ː/ | ||
ทันตยะ (ฟัน) |
ऌ | ḷ/l̥ | /l̩/ | (ॡ) | (ḹ/l̥̄)[e] | /l̩ː/ | ||
กัณฐตาลวยะ (เพดานแข็ง-คอหอย) |
ए | e/ē | /eː/ | ऐ | ai | /ɑj/ | ||
กัณโฐษฐยะ (ริมฝีปาก-คอหอย) |
ओ | o/ō | /oː/ | औ | au | /ɑw/ | ||
(หน่วยเสียงพยัญชนะย่อย) | अं | aṃ/aṁ | /ɐ̃/ | अः | aḥ | /ɐh/ |
สระ 14 ตัวได้แก่ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ไอ เอา แบ่งได้เป็น 3 ขั้นคือ ขั้นปกติ ขั้นคุณ ขั้นพฤทธิ์
สปรรศะ (หยุด) |
อนุนาสิกะ (นาสิก) |
อันตัสถะ (เปิด) |
อูษมัน/saṃgharṣhī (เสียดแทรก) | ||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ความก้อง → | อโฆษะ | โฆษะ | อโฆษะ | ||||||||||||||||||
การออกเสียงพ่นลม → | อัลปปราณะ | มหาปราณะ | อัลปปราณะ | มหาปราณะ | อัลปปราณะ | มหาปราณะ | |||||||||||||||
กัณฐยะ (เพดานอ่อน/ช่องคอ) |
क | ka | /k/ | ख | kha | /kʰ/ | ग | ga | /g/ | घ | gha | /gʱ/ | ङ | ṅa | /ŋ/ | ह | ha | /ɦ/ | |||
ตาลวยะ (เพดานแข็ง) |
च | ca | /t͡ɕ/ | छ | cha | /t͡ɕʰ/ | ज | ja | /d͡ʑ/ | झ | jha | /d͡ʑʱ/ | ञ | ña | /ɲ/ | य | ya | /j/ | श | śa | /ɕ/ |
มูรธันยะ (ปลายลิ้นม้วน) |
ट | ṭa | /ʈ/ | ठ | ṭha | /ʈʰ/ | ड | ḍa | /ɖ/ | ढ | ḍha | /ɖʱ/ | ण | ṇa | /ɳ/ | र | ra | /ɾ/ | ष | ṣa | /ʂ/ |
ทันตยะ (ฟัน) |
त | ta | /t̪/ | थ | tha | /tʰ/ | द | da | /d̪/ | ध | dha | /d̪ʱ/ | न | na | /n̪/ | ल | la | /l̪/ | स | sa | /s̪/ |
โอษฐยะ (ริมฝีปาก) |
प | pa | /p/ | फ | pha | /pʰ/ | ब | ba | /b/ | भ | bha | /bʱ/ | म | ma | /m/ | व | va | /ʋ/ |
พยัญชนะ 34 ตัวแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
พยัญชนะไทยที่เขียนลำพังโดยไม่มีสระอื่นถือว่ามีเสียงอะ ถ้ามีจุดข้างล่างถือว่าไม่มีเสียงสระ
ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่มีการลงวิภัตติปัจจัย แจกนามได้ถึง 8 การก [แบ่งเป็นสามพจน์ (เอกพจน์, ทวิพจน์, พหูพจน์) และสามเพศ (สตรีลิงค์, ปุลลิงก์ และนปุงสกลิงก์)]
สำหรับกริยา (ธาตุ) ในภาษาสันสกฤตนั้นมีความซับซ้อนยิ่งกว่าคำนาม กล่าวคือ จำแนกกริยาไว้ถึง 10 คณะ แต่ละคณะมีการเปลี่ยนรูป (เสียง) แตกต่างกันไป กริยาเหล่านี้จะแจกรูปตามประธาน 3 แบบ (ปฐมบุรุษ, มัธยมบุรุษ และอุตมบุรุษ) นอกจากนี้กริยายังต้องแจกรูปตามกาล (tense) 6 ชนิด และตามมาลา (mood) 4 ชนิด
ภาษาสันสกฤตไม่มีอักษรสำหรับเขียนชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ และก็คล้ายกับภาษาอื่นหลายภาษา นั่นคือสามารถเขียนได้ด้วยอักษรหลายชนิด อักษรเก่าแก่ที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤตมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น อักษรขโรษฐี (Kharosthī) หรืออักษรคานธารี (Gāndhārī) นอกจากนี้ยังมีอักษรพราหมี (อักษรทั้งสองแบบพบได้ที่จารึกบนเสาอโศก) อักษรรัญชนา ซึ่งนิยมใช้จารึกคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในอินเดียเหนือและเนปาล รวมถึง อักษรสิทธัม ซึ่งใช้บันทึกคัมภีร์พุทธศาสนารวมถึงบทสวดภาษาสันสกฤตในประเทศจีนและญี่ปุ่นโดยเฉพาะในนิกายมนตรยาน อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปนิยมเขียนภาษาสันสกฤตด้วยอักษรเทวนาครี (Devanāgarī) ส่วนอักษรอื่น ๆ เป็นความนิยมในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้เนื่องจากอักษรที่ใช้ในอินเดีย มักจะเป็นตระกูลเดียวกัน จึงสามารถดัดแปลงและถ่ายทอด (transliteration) ระหว่างชุดอักษรได้ง่าย
แม้กระทั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีจารึกภาษาสันสกฤตที่ใช้ อักษรปัลลวะ อักษรขอม นอกจากนี้ชาวยุโรปยังใช้อักษรโรมันเขียนภาษาสันสกฤต โดยเพิ่มเติมจุดและเครื่องหมายเล็กน้อยเท่านั้น
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.