ธรรมเนียมเตอร์กิก-มองโกล (อังกฤษ: Turco-Mongol tradition; บางครั้งสะกด Turko-Mongol) เป็นการสังเคราะห์ทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในหมู่ชนชั้นปกครองของโกลเดนฮอร์ดและจักรวรรดิข่านชากาทาย ภายหลังชนชั้นนำเหล่านี้กลืนกลายเข้ากับกลุ่มชนเตอร์กิกที่พวกเขาพิชิตและปกครองจนกลายเป็นกลุ่มชนเตอร์กิก-มองโกล ชนชั้นนำยังค่อย ๆ เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม (จากเดิมที่นับถือศาสนาเท็งกรี) และใช้กลุ่มภาษาเตอร์กิก แต่ยังคงรักษาสถาบันการเมืองและกฎหมายแบบมองโกล[1]

Thumb
ทวีปเอเชียในปี ค.ศ. 1335

กลุ่มชนเตอร์กิก-มองโกลก่อตั้งรัฐสืบทอดอิสลามหลายแห่งหลังการล่มสลายของรัฐข่านมองโกล เช่น รัฐข่านคาซัคและตาตาร์ที่เกิดขึ้นหลังโกลเดนฮอร์ด (เช่น รัฐข่านไครเมีย รัฐข่านอัสตราฮันและรัฐข่านคาซัน) และจักรวรรดิเตมือร์ที่สืบทอดจักรวรรดิข่านชากาทายในเอเชียกลาง จักรพรรดิบาบูร์ เจ้าชายชาวเตอร์กิก-มองโกลและลืบของเตมือร์ก่อตั้งจักรวรรดิโมกุล ซึ่งครอบครองเกือบทั่วอนุทวีปอินเดีย[2][3] นอกจากนี้ชาวเตอร์กิกและตาตาร์ยังมีอำนาจการเมืองและทหารนำในอียิปต์สมัยรัฐสุลต่านมัมลูก[4][5][6][7][8][9]

ชนชั้นนำเตอร์กิก-มองโกลกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ธรรมเนียมเตอร์กิก-เปอร์เซีย อันเป็นวัฒนธรรมเด่นในหมู่มุสลิมเอเชียกลางขณะนั้น วัฒนธรรมเตอร์กิก-เปอร์เซียแพร่ไปพร้อมการขยายอำนาจของชาวเตอร์กิก-มองโกลในภูมิภาคใกล้เคียงในศตวรรษต่อมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมเด่นของชนชั้นปกครองในเอเชียใต้ (อนุทวีปอินเดีย) โดยเฉพาะอินเดียเหนือ (จักรวรรดิโมกุล) เอเชียกลาง แอ่งทาริม (ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน) และส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันตก (ตะวันออกกลาง)[10]

เบื้องหลัง

ชาวเตอร์กิกและชาวมองโกลมีการแลกเปลี่ยนทางภาษามาตั้งแต่ก่อนสมัยเจงกิส ข่าน มีการพบหลักฐานการยืมคำจากภาษาเตอร์กิกดั้งเดิมในภาษามองโกลดั้งเดิมอย่างน้อยช่วงสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล กลุ่มภาษาเตอร์กิกและกลุ่มภาษามองโกลมีความคล้ายคลึงในแง่บุรุษสรรพนาม สัทสัมผัส ไวยากรณ์และแบบลักษณ์ (เช่น ความสอดคล้องกลมกลืนของสระเฉพาะสมัย การขาดลิงค์ ภาษารูปคำติดต่ออย่างแพร่หลาย กฎทางสัทสัมผัสและสัทวิทยาที่คล้ายกันมาก)[11]

ในอดีต ความคล้ายคลึงนี้เชื่อว่าเกิดจากความสัมพันธ์ทางเชื้อสายของสองภาษาและนำไปสู่สมมติฐานตระกูลภาษาอัลไต แต่ในปัจจุบัน การขาดหลักฐานด้านความสัมพันธ์ทางเชื้อสายภาษาส่งผลให้เกิดสมมติฐานเขตภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Asian sprachbund) แทน ซึ่งสมมติฐานนี้อธิบายว่าภาษามีความคล้ายคลึงเนื่องจากความใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์และการสัมผัสภาษา โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกัน ทั้งนี้ภาษาที่พบทั่วไปในกลุ่มคำศัพท์ของภาษามองโกลที่รับมาจากภาษาอื่นคือภาษาเตอร์กิก[12]

ภาษา

หลังการพิชิตของมองโกล ชนชั้นนำของรัฐสืบทอดจักรวรรดิมองโกลเริ่มกระบวนการกลืนกลายเข้ากับกลุ่มชนที่พวกตนปกครอง ประชากรของโกลเดนฮอร์ดส่วนใหญ่ประกอบด้วยเชื้อสายผสมเติร์ก-มองโกลซึ่งภายหลังเข้ารับศาสนาอิสลาม รวมถึงกลุ่มชนฟินนิก ซามาร์โต-ซิเทีย ชาวสลาฟและกลุ่มชนจากคอเคซัสจำนวนเล็กน้อย (ซึ่งอาจนับถือ/ไม่นับถือศาสนาอิสลาม)[13]

ประชากรโกลเดนฮอร์ดส่วนใหญ่ที่เป็นชาวเติร์กสามารถจำแนกเป็นคิปชาก คูมันส์ บัลการ์วอลกาและฆวอแรซม์ โกลเดนฮอร์ดค่อย ๆ รับเอาวัฒนธรรมเตอร์กิกและสูญเสียอัตลักษณ์แบบมองโกลในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1350 หรือก่อนหน้านั้น หนึ่งในตัวอย่างการกลายเป็นเตอร์กิกคือเปลี่ยนจากภาษามองโกลสมัยกลางมาใช้ภาษาเตอร์กิกคิปชาก แม้จะยังคงใช้ภาษามองโกลในทางกฎหมายก็ตาม[14][15] โกลเดนฮอร์ดใช้กลุ่มภาษาคิปชากต่อไปจนกระทั่งเกรตฮอร์ด หรือรัฐหลงเหลือของโกลเดนฮอร์ดถูกรัฐข่านไครเมียตีแตกในปี ค.ศ. 1502[16][17]

ในจักรวรรดิข่านชากาทาย ภาษาเตอร์กิกที่ชนชั้นปกครองชาวมองโกลรับมาใช้เรียกว่า ภาษาชากาทาย ภาษานี้เป็นภาษาแม่ของราชวงศ์เตมือร์ ราชวงศ์เชื้อสายผสมเตอร์กิก-มองโกลที่เรืองอำนาจในเอเชียกลางหลังจักรวรรดิข่านชากาทายเสื่อมถอย ภาษาชากาทายเป็นภาษาก่อนหน้ากลุ่มภาษาโอคุซ ซึ่งรวมถึงภาษาอุซเบกและภาษาอุยกูร์ปัจจุบัน[18]

ศาสนา

ชาวมองโกลส่วนใหญ่ในช่วงการพิชิตของเจงกิส ข่านนับถือศาสนาเท็งกรี ต่อมารัฐสืบทอดจักรวรรดิมองโกลอย่างจักรวรรดิข่านอิล โกลเดนฮอร์ดและจักรวรรดิข่านชากาทายเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาหลักในอิหร่านและเอเชียกลาง

อืซเบ็ก ข่านแห่งโกลเดนฮอร์ดขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1313 และประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ พระองค์สั่งห้ามศาสนาพุทธและลัทธิเชมันในหมู่ชาวมองโกลในรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1315 อืซเบ็กประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนโกลเดนฮอร์ดเป็นอิสลาม สังหารบรรดาเจ้าชายและลามะที่คัดค้านนโยบายทางศาสนา และเป็นพันธมิตรกับพวกมัมลูกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยบะเราะกะฮฺ ทำให้อิสลามภายใต้การปกครองของอืซเบ็กและญานี เบ็กได้รับการยอมรับทั่วไป

มุบาร็อก ชาห์แห่งจักรวรรดิข่านชากาทายเข้ารับศาสนาอิสลาม หลังจากนั้นชนชั้นนำของชากาทายเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน ต่อมาจักรวรรดิข่านชากาทายล่มสลายและจักรวรรดิเตมือร์ของเตมือร์ขึ้นมามีอำนาจแทน จอห์น โจเซฟ ซอนเดอส์ นักประวัติศาสตร์ชาวบริติชกล่าวว่าเตมือร์เป็น "ผลผลิตของสังคมแบบอิสลามและอิหร่าน" ไม่ใช่ชนร่อนเร่ในทุ่งหญ้าสเตปป์[19] เตมือร์ใช้สัญลักษณ์และภาษาอิสลาม เรียกตนเองว่า "ดาบแห่งอิสลาม" และอุปถัมภ์สถานศึกษาและศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน หลังเอาชนะคณะอัศวินบริบาลในการล้อมสเมอร์นาในปี ค.ศ. 1402 เตมือร์เรียกตนเองว่า ฆาซี หรือนักรบผู้กำชัยเหนือศัตรูของศาสนาอิสลาม[20]

อ้างอิง

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.