Loading AI tools
นักร้อง นักแสดง และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชรินทร์ นันทนาคร[3] (1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567) ชื่อเล่น ฉึ่ง หรือ มัย เป็นนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวไทย ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541 สมรสครั้งที่สองกับนางเอกภาพยนตร์ เพชรา เชาวราษฎร์
ชรินทร์ นันทนาคร | |
---|---|
เกิด | บุญมัย งามเมือง[1][2] 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 จังหวัดเชียงใหม่ อาณาจักรสยาม |
เสียชีวิต | 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567 (91 ปี) โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
อาชีพ | นักร้อง, นักแสดง, ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ |
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2492–2567 |
คู่สมรส | สปัน เธียรประสิทธิ์ (พ.ศ. 2500–2505)[1] เพชรา เชาวราษฎร์ (พ.ศ. 2512–2567)[1] |
บุตร | ปัญญ์ชลี เพ็ญชาติ ปัญชนิตย์ นันทนาคร |
บิดามารดา |
|
ญาติ | ปวริศา เพ็ญชาติ (หลาน) ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์ (หลาน) |
รางวัล | พ.ศ. 2541 – ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล–ขับร้อง) |
ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ริเริ่มร่วมสร้างสรรค์เพลง สดุดีมหาราชา ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ "สังข์เงิน" สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์
ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสานกับเพลงไทยเดิม มีท่วงทำนองสูงต่ำเอื้อนด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง ออกเสียงอักขระได้ชัดเจน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงประมาณ 1,500 เพลง
ชรินทร์ ศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จบมัธยมการศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ กรุงเทพมหานคร เริ่มฝึกหัดร้องเพลงกับ ไสล ไกรเลิศ และเริ่มร้องเพลงสลับละครเวทีเรื่อง นางไพร เมื่อ พ.ศ. 2492 ด้วยเพลงดวงใจในฝัน และเริ่มบันทึกแผ่นเสียงจำหน่ายเป็นครั้งแรก และตามด้วยเพลง อิเหนารำพัน เมื่อ พ.ศ. 2494 จากนั้นย้ายกลับไปเชียงใหม่ ทำงานที่บริษัทกมล-สุโกศล สาขาเชียงใหม่ แล้วสำนักงานใหญ่เรียกมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทำตำแหน่งแผนกบัญชี แผนกต่างประเทศ ไปจนถึงแผนกแผ่นเสียง จากนั้นทำงานเป็นเลขานุกรมที่องค์การยูซ่อม (USOM)[4]
ผลงานของชรินทร์ นันทนาคร ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมสูงสุด ได้แก่ เพลงเรือนแพ, มนต์รักดอกคำใต้, หยาดเพชร, อาลัยรัก, ทาษเทวี, เด็ดดอกรัก, ผู้ชนะสิบทิศ, ที่รัก, นกเขาคูรัก, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สักขีแม่ปิง, ทุยจ๋าทุย, เพราะขอบฟ้ากั้น ฯลฯ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง อาลัยรัก ก่อนจะผันตัวไปเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในนาม นันทนาครภาพยนตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2508 ในเรื่อง เทพบุตรนักเลง จากนั้นจึงเริ่มกำกับภาพยนตร์ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในเรื่อง สวรรค์วันเพ็ญ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ของนันทนาครภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2512 มีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์เรื่อง รักข้ามคลอง ที่ทำรายได้สูงที่สุด และภาพยนตร์ แผ่นดินแม่ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยที่สร้างในระบบ 70 มม. แต่หลังจากนั้นก็เลิกทำหนังไปเหตุเพราะวงการหนังที่เปลี่ยนไปจึงเกิดความเบื่อ
ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า "นันทนาคร" ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง" ชรินทร์ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541
ชรินทร์สมรสครั้งแรกกับสปัน เธียรประสิทธิ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของปองทิพย์ ภรรยาของสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ชรินทร์และสปันมีบุตรสาวสองคนคือ ปัญญ์ชลี เพ็ญชาติ (สมรสกับ เศรณี เพ็ญชาติเป็นมารดาของ ปวริศา เพ็ญชาติ) และปัญชนิตย์ นันทนาคร (สมรสกับสหัสชัย ชุมรุม เป็นมารดาของ ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์)
ต่อมาชรินทร์ได้หย่าขาดสปัน และได้สมรสใหม่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ อดีตนางเอกภาพยนตร์ชื่อดัง มีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก
ชรินทร์ถึงแก่กรรมเมื่อเวลาประมาณ 02:23 น. ของวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[5] ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ หีบลายก้านแย่ง กับทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์อัญเชิญพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วางหน้าหีบศพ ซึ่งตั้ง ณ ศาลา ชูทับทิม(ศาลา 9) วัดธาตุทอง พระอารามหลวง แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม[6] กำหนดสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 21-27 สิงหาคม[7] จากนั้นจะเก็บร่างไว้ 100 วัน เพื่อรอการพระราชทานเพลิงศพต่อไป[8]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.