Loading AI tools
ส่วนช่วยดักจับฝุ่นของหู จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขี้หู (อังกฤษ: earwax, cerumen) เป็นสิ่งคล้ายกับขี้ผึ้งที่ช่องหูของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ หลั่งออก ช่วยป้องกันผิวหนังภายในช่องหู ทำความสะอาด ช่วยหล่อลื่น และป้องกันเชื้อแบคทีเรีย รา แมลง และน้ำ[1]
ขี้หู | |
---|---|
ขี้หูมนุษย์แบบเปียก | |
สาขาวิชา | โสตศอนาสิกวิทยา |
ขี้หูประกอบด้วยเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วลอกหลุดออกพร้อมกับสารคัดหลั่งของต่อมขี้หูและของต่อมไขมัน (sebaceous gland) ภายในช่องหูภายนอก[2] องค์ประกอบทางเคมีรวมทั้งกรดไขมันลูกโซ่ยาวทั้งแบบอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว, แอลกอฮอล์, squalene และคอเลสเตอรอล[2] ขี้หูที่มากเกินหรืออัดแน่นอาจกดทับแก้วหู อุดช่องหู อุดเครื่องช่วยฟัง แล้วทำให้ไม่ได้ยิน
ช่องหูแบ่งเป็นสองส่วน ส่วน 1/3 ภายนอกเป็นกระดูกอ่อน ส่วน 2/3 ภายในเป็นกระดูก ส่วนที่เป็นกระดูกอ่อนเป็นส่วนที่ผลิตขี้หู ซึ่งเป็นน้ำเหนียวที่ต่อมไขมันหลั่ง และน้ำเหนียวยิ่งกว่านั้นที่ต่อมซึ่งวิวัฒนาการมาจากต่อมเหงื่อ (modified apocrine sweat glands) คือต่อมขี้หูหลั่ง[3] องค์ประกอบหลักก็คือผิวหนังที่ลอกหลุดออก โดยเฉลี่ย 60% จะเป็นเคราติน (keratin), 12-20% เป็นกรดไขมันลูกโซ่ยาวทั้งแบบอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว, แอลกอฮอล์, squalene และ 6-9% คอเลสเตอรอล[4]
มีขี้หูสองแบบโดยกรรมพันธุ์ คือ แบบเปียกซึ่งเป็นยีนเด่น (dominant) และแบบแห้งซึ่งเป็นยีนด้อย (recessive)[5] จนกระทั่งว่า นักมานุษยวิทยาสามารถใช้รูปแบบขี้หูเพื่อติดตามการย้ายถิ่นของมนุษย์ เช่น ของคนเอสกิโม[6] คนเอเชียตะวันออกและกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันในสหรัฐมักมีขี้หูแบบแห้ง (สีเทา เป็นแผ่น ๆ) คนแอฟริกาและคนเชื้อสายยุโรปมักมีแบบเปียก (สีน้ำผึ้งจนถึงสีน้ำตาลเข้ม เปียก และเหนียว ๆ)[5] ในญี่ปุ่น คนไอนู (Ainu) มักจะมีแบบเปียก เทียบกับคนยะมะโตะ (Yamato) โดยมากของประเทศที่มีแบบแห้ง[7] ขี้หูแบบเปียกต่างจากแบบแห้งโดยมีเม็ดเล็ก ๆ (granule) ที่เป็นลิพิดและสารสีมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น แบบเปียกมีลิพิด 50% แต่แบบแห้งมีแค่ 20%[4]
ยีนโดยเฉพาะที่ทำให้ต่างกันก็ได้ระบุแล้ว[8] คือเป็นคู่เบสคู่เดี่ยวที่เปลี่ยนไป (คือเป็นภาวะพหุสัณฐาน) ในยีนที่เรียกว่า ATP-binding cassette C11 gene (ABCC11)[9] แบบแห้งจะมี adenine แบบฮอโมไซกัส ในขณะที่แบบเปียก จะมี guanine อย่างน้อยข้างหนึ่ง เพราะขี้หูแบบเปียกสัมพันธ์กับกลิ่นรักแร้ซึ่งแรงขึ้นเมื่อเหงื่อออก นักวิจัยจึงคาดว่า ยีนช่วยลดกลิ่นตัวหรือเหงื่อซึ่งเป็นประโยชน์แก่คนเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือผู้อยู่อาศัยในเขตอากาศหนาว[10]
การทำความสะอาดช่องหูอาศัยการย้ายที่ของเนื้อเยื่อบุผิวคล้ายกับเป็นสายพานส่งวัสดุซึ่งการเคลื่อนขากรรไกรก็จะช่วยสนับสนุนด้วย[11] คือ เซลล์ซึ่งเกิดตรงกลางแก้วหูจะย้ายที่ไปจากหลุมแก้วหู (umbo) ในอัตราใกล้กับที่เล็บมืองอก ไปยังผนังของช่องหู และก็ย้ายต่อไปยังปากช่องหู ขี้หูในช่องหูพร้อมกับผงละอองที่ติดอยู่ก็จะเคลื่อนตามออกไปด้วย การขยับกรามจะทำให้เศษที่ติดอยู่กับผนังช่องหูหลุดออก ทำให้หลุดออกจากหูได้ง่ายขึ้น
ขี้หูช่วยหล่อลื่นผิวหนังของช่องหูป้องกันไม่ให้แห้งสนิท คือต่อมไขมันจะหลั่งไขซึ่งมีลิพิดมากเป็นตัวหล่อลื่น ในขี้หูแบบเปียกเป็นอย่างน้อย ลิพิดเช่นนี้มีคอเลสเตอรอล, squalene, กรดไขมันลูกโซ่ยาวหลายอย่าง และแอลกอฮอล์[12][13]
แม้งานศึกษาที่ทำจนถึงคริสต์ทศวรรษ 1960 จะไม่พบหลักฐานสนับสนุนว่าขี้หูมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย[14] แต่งานศึกษาต่อ ๆ มาก็พบฤทธิ์ต้านแบคทีเรียบางสายพันธุ์ รวมทั้ง Haemophilus influenzae (เป็นเหตุการติดเชื้อหลายชนิด), Staphylococcus aureus (เป็นเหตุการติดเชื้อผิวหนัง ทางเดินลมหายใจ และอาหารเป็นพิษ) และ Escherichia coli บางสายพันธุ์ (โดยบางอย่างเป็นเหตุอาหารเป็นพิษ) บางครั้งช่วยฆ่าเชื้อถึง 99%[15][16]
ขี้หูมนุษย์สามารถยับยั้งการติดเชื้อราในหูสองสายพันธุ์อย่างสำคัญ[17]
ฤทธิ์ต้านจุลชีพโดยหลักมาจากการมีกรดไขมันอิ่มตัว, lysozyme และความเป็นกรดเล็กน้อยราว ๆ 6.1 สำหรับบุคคลปกติ[18] แต่ก็มีงานวิจัยที่พบว่า ขี้หูอาจช่วยให้จุลชีพเจริญเติบโต และมีตัวอย่างขี้หูที่พบแบคทีเรียหนาแน่นถึง 107 ตัว/กรัม[19]
ขี้หูมากเกินอาจทำให้ไม่ได้ยินเสียง และเครื่องช่วยฟังอาจทำให้ขี้หูอัดแน่น[20] ซึ่งประเมินว่าเป็นเหตุของปัญหาเครื่องช่วยฟังในกรณี 60-80%[21]
การขยับกรามช่วยทำความสะอาดช่องหูโดยธรรมชาติ วิทยาลัยวิทยาการหูคอจมูกอเมริกัน (AAO) จึงแนะนำไม่ให้เอาขี้หูออกยกเว้นเมื่อก่อปัญหา[22]
แม้มีวิธีเอาขี้หูออกหลายอย่าง แต่ข้อดีข้อเสียก็ยังไม่เคยเปรียบเทียบ[23] มีสารที่ทำให้ขี้หูนิ่ม แต่นี่อย่างเดียวยังไม่พอ[24] วิธีเอาขี้หูออกที่สามัญที่สุดก็คือฉีดน้ำอุ่นด้วยกระบอกฉีดยา[25] แพทย์หูคอจมูกอาจใช้ช้อนแคะหู (curette) ถ้าขี้หูอุดช่องหูเป็นบางส่วนและไม่ได้ติดอยู่กับผิวหนังของช่องหู ส่วนไม้ปั่นสำลีโดยมากจะดันขี้หูเข้าไปในช่องหูให้ลึกขึ้น และเอาขี้หูออกได้แต่ตรงปลาย ๆ ที่ติดกับสำลีเท่านั้น[26]
การใช้สารทำให้นิ่มก่อนเอาขี้หูออกอาจมีผลเท่ากับไม่ทำ และสารชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำหรือน้ำมัน ก็อาจไม่มีผลต่างกันมาก[23] แต่ก็ไม่ได้ศึกษาพอให้สรุปได้อย่างชัดเจน อนึ่ง หลักฐานของการฉีดล้างหู (irrigation) และการแคะขี้หูออก (manual removal) ก็ค่อนข้างกำกวม[23]
สารทำให้ขี้หูนิ่มซึ่งมีทั่วไปรวมทั้ง[27]
ควรใช้สารทำให้ขี้หูนิ่ม 2-3 ครั้งต่อวัน 3-5 วันก่อนจะเอาขี้หูออก[28]
เมื่อทำขี้หูให้นิ่มแล้ว ก็จะสามารถล้างหูเอาขี้หูออกได้ แต่หลักฐานว่าการทำเช่นนี้มีผลดีก็ไม่ชัดเจน[23] การล้างอาจทำด้วยใช้น้ำฉีด ซึ่งทำได้ทั้งในคลินิกและที่บ้าน หรืออาจใช้กระเปาะยางฉีดน้ำ (bulb syringe)[29]
นักวิชาการได้อธิบายวิธีใช้กระบอกฉีดน้ำอย่างละเอียด[28][30] และแนะนำให้ดึงหูขึ้นไปข้างหลัง เล็งปากกระเปาะฉีดน้ำขึ้นเล็กน้อยเข้าไปในหู เพื่อให้น้ำไหลลงเหมือนน้ำตกจากเพดานหู และให้น้ำยาไหลออกจากพื้นช่องหู ล้างเอาเศษขี้หูออก
น้ำที่ใช้ล้างหูปกติจะเป็นน้ำอุ่น[30] น้ำเกลือ[31] น้ำยาโซเดียมไบคาร์บอเนต[32] หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูเพื่อป้องกันการติดเชื้อ[30]
คนไข้ปกติจะชอบน้ำยาล้างที่มีอุณหภูมิเท่ากับร่างกาย[31] เพราะการล้างหูด้วยน้ำยาที่อุ่นกว่าหรือเย็นกว่าอุณหภูมิร่างกายอาจทำให้เวียนหัวคลื่นไส้[25][30]
ขี้หูสามารถเอาออกด้วยช้อนแคะหูหรือไม้แคะหู โดยใช้แคะให้ขี้หูหลุดออกจากผนังแล้วตักมันออกมาจากช่องหู[33] ในประเทศตะวันตก มืออาชีพด้านสาธารณสุขเท่านั้นจะใช้ไม้แคะหู แต่ก็เป็นเรื่องปกติในยุโรปโบราณ และยังเป็นเรื่องปกติในเอเชียปัจจุบัน (รวมทั้งประเทศไทย) เพราะคนเอเชียโดยมากมีขี้หูแบบแห้ง[5] จึงสามารถใช้ไม้ขูดเบา ๆ ทำให้ขี้หูหลุดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ที่แห้ง ๆ
คำแนะนำปกติจะไม่ให้ใช้ไม้ปั่นหัวสำลี เพราะจะดันขี้หูเข้าไปในหูให้ลึกขึ้น และถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง อาจทำให้แก้วหูทะลุ[26] อนึ่ง การทำให้ช่องหูถลอก โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำจากการว่ายน้ำหรืออาบน้ำ อาจทำให้ติดเชื้อ แม้สำลีเองก็อาจหลุดออกติดอยู่ในหู ดังนั้น ไม้ปั่นหัวสำลีควรใช้ทำความสะอาดหูภายนอกเท่านั้น
เทียนดูดหู เป็นขี้ผึ้งแท่งกลวงซึ่งจุดไฟที่ปลายข้างหนึ่ง และเอาปลาย (กลวง) อีกข้างหนึ่งใส่เข้าในหูเพื่อดูดสิ่งที่อยู่ในหูออก แพทย์ทางเลือกอาจอ้างว่า มันสามารถทำให้สุขภาพดี แต่แพทย์ปัจจุบันแนะนำไม่ให้ทำเพราะเสี่ยงอันตรายและไม่มีผลอะไร[22][34]
ผู้สนับสนุนเชื่อว่า เศษสีเข้ม ๆ ที่เหลือจากการทำเช่นนี้เป็นขี้หูที่ดูดออกมา เป็นข้อพิสูจน์ว่าได้ผล แต่งานศึกษาต่าง ๆ ได้แสดงว่า เศษสีเข้มที่พบเป็นส่วนเหลือของการจุดเทียน ซึ่งมีไม่ว่าจะใส่เข้าในหูหรือไม่ เพราะเทียนทำจากใยฝ้ายและขี้ผึ้งซึ่งมีเศษเหลือเมื่อไหม้ แต่เศษเหลือที่ว่านี้จะมีสีน้ำตาลเหมือนกับขี้หู (ของบางคน) ทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นขี้หู และเพราะเทียนเป็นแท่งกลวง ขี้ผึ้งร้อน ๆ อาจตกใส่ในช่องหูแล้วทำอันตรายแก่แก้วหู
วิทยาลัยวิทยาการหูคอจมูกอเมริกัน (AAO) กล่าวว่า เทียนดูดหูไม่ปลอดภัยเพื่อเอาขี้หูออก และไม่มีงานศึกษาที่มีกลุ่มควบคุมหรือเป็นวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ใช้มันเยี่ยงนี้[35] ส่วนองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการขายเทียนดูดหูหลายครั้งเริ่มตั้งแต่ปี 1996 รวมทั้งยึดของและออกหมายไม่ให้ทำอีก[35]
อนึ่ง ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ขายเพื่อ "ดูดหู" ก็ไม่สามารถเอาขี้หูออกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ (Jobson-Horne probe[upper-alpha 1]) ที่แพทย์ใช้[37]
การสำรวจแพทย์ทั่วไปในอังกฤษทางไปรษณีย์[25] พบว่า เพียงแค่ 19% เอาขี้หูออกเอง เป็นปัญหาเพราะการเอาขี้หูออกเสี่ยง และแพทย์พยาบาลมักไม่ได้ฝึกเอาขี้หูออกพอ การล้างหูสามารถทำที่บ้านถ้ามีอุปกรณ์ที่จำเป็นและไม่ฉีดน้ำแรงเกิน วิธีการอื่น ๆ ควรให้บุคคลที่ฝึกวิธีนั้นมาดีพอทำ
นักวิชาการผู้หนึ่งแนะนำแพทย์ว่า "หลังจากเอาขี้หูออก ตรวจให้ทั่วว่าไม่มีเหลือ คำแนะนำนี้อาจดูเหลือเฟือ แต่บ่อยครั้งถูกเมิน"[32] ซึ่งนักวิชาการอีกท่านหนึ่งก็ได้ยืนยัน[25] เพราะได้สำรวจแพทย์ทั่วไป 320 รายแล้วพบว่า แพทย์เพียง 68% จะตรวจช่องหูว่ามีขี้หูเหลือหรือไม่หลังล้างหูแล้ว ดังนั้น การเอาขี้หูออกไม่หมดจึงเป็นภาวะแทรกซ้อน 30% เนื่องกับหัตถการนี้
ภาวะแทรกซ้อนอื่นรวมทั้งหูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa) เพราะติดเชื้อแบคทีเรีย ตลอดจนเจ็บ รู้สึกหมุน (vertigo) เสียงในหู และแก้วหูทะลุ ข้อมูลจากงานศึกษานี้ทำให้เสนอว่าภาวะแทรกซ้อนสำคัญเนื่องกับหัตถการนี้เกิดในอัตรา 1/1,000 เมื่อฉีดล้างหู[25]
หน่วยประกันภัยที่ไม่ต้องพิสูจน์ความผิดของนิวซีแลนด์มีกรณีเรียกร้องเพราะปัญหาเอาขี้หูออก 25% ในบรรดากรณีเรียกร้องเกี่ยวกับหูคอจมูก โดยแก้วหูทะลุเป็นปัญหาความพิการซึ่งสามัญที่สุด[30] แม้มีอัตราสูงแต่ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะการล้างขี้หูออกเป็นหัตถการที่ทำอย่างสามัญ นักวิชาการได้ประเมินว่า มีการล้างขี้หูออก 7,000 ครั้งต่อประชากร 100,000 คนต่อปีอาศัยการประมาณค่านอกช่วงของข้อมูลที่ได้จากเมืองเอดินบะระ[25]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 นักเขียนสารานุกรมชาวโรมัน Aulus Cornelius Celsus ได้บอกวิธีการเอาขี้หูออกไว้ในหนังสือ De Medicina[38]
เมื่อบุคคลเริ่มไม่ค่อยได้ยินเสียง ซึ่งเกิดบ่อยมากหลังปวดหัวมานาน ขั้นแรก ควรตรวจดูหู เพราะถ้าไม่พบรอยแผลที่มีของแข็งติดด้านบน ก็จะพบขี้หูรวมกันแข็ง ๆ ถ้าเป็นของแข็ง ให้ใส่น้ำมันร้อนเข้าไป หรือสนิมเขียวของทองแดงผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำผักลีก (Allium ampeloprasum) หรือน้ำโซดาเล็กน้อยผสมกับกับไวน์น้ำผึ้ง และเมื่อของแข็งหลุดออกจากแผล ให้ล้างหูด้วยน้ำอุ่น ทำให้ตักออกด้วยไม้แคะหูได้ง่าย ถ้าเป็นขี้หูนิ่ม ก็สามารถเอาออกโดยวิธีเดียวกันด้วยไม้แคะหู แต่ถ้าแข็ง ให้หยอดน้ำส้มสายชูที่มีน้ำโซดาเล็กน้อย[39] และเมื่อนิ่มแล้ว ก็ให้ล้างและทำความสะอาดดังที่กล่าวมาแล้ว อนึ่ง ควรล้างหูด้วย castoreum[upper-alpha 2] ผสมกับน้ำส้มสายชู กับน้ำมัน laurel (Laurus nobilis) และกับน้ำเปลือกหัวผักกาดอ่อน (Raphanus raphanistrum subsp. sativus) หรือน้ำแตงกวาผสมกับใบต้นกุหลาบบด การหยดน้ำผลองุ่นที่ยังไม่สุกผสมกับน้ำมันดอกกุหลาบก็ค่อนดีกับการไม่ได้ยินด้วย
มีปลาวาฬหลายชนิดที่สะสมขี้หูเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสามารถใช้ขนาดกำหนดอายุของวาฬที่ไม่มีฟัน[44][45]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.