อุทยานแห่งชาติทะเลบัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสตูล ถึงแม้จะมีชื่อว่าทะเลบัน แต่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติทางทะเล แต่เป็นการเรียกชื่อหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการยุบตัวของพื้นดินในอดีต [1]
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน | |
---|---|
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 2 (อุทยานแห่งชาติ) | |
ที่ตั้ง | จังหวัดสตูล ประเทศไทย |
พิกัด | 6°28′22″N 100°8′2″E |
พื้นที่ | 196 ตารางกิโลเมตร (122,000 ไร่) |
จัดตั้ง | 27 ตุลาคม พ.ศ. 2523 |
ผู้เยี่ยมชม | 11,996 (2562) |
หน่วยราชการ | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
พื้นที่ป่าทางด้านทิศใต้ของจังหวัดสตูล บริเวณชายแดนของประเทศกับรัฐปะลิส สหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นพื้นที่ป่าที่มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ตลอดแนวชายแดนประกอบด้วยความแตกต่างของสภาพโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ ชนิดของป่าและสัตว์ป่านานาชนิด มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เล่าขานกันมาว่า พื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านวังประจัน บริเวณรอยต่อระหว่างเขามดแดง ซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาหินปูนกับเขาจีนซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาหินแกรนิตได้เกิดยุบตัวลงเกิดเป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ เรียกภาษาท้องถิ่นว่า “เลิดเรอบัน” และได้เพี้ยนเป็น“ทะเลบัน” ในเวลาต่อมา
ใน พ.ศ. 2519 นายอารีย์ วงศ์อารยะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลในขณะนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่ป่าบริเวณนี้จึงได้เสนอกรมป่าไม้ให้ดำเนินการสำรวจและจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณหนองน้ำทะเลบัน และพื้นที่ป่าใกล้เคียงซึ่งมีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารอีกด้วย เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าหัวกะหมิง ป่ากุปัง ป่าปุโล้ต ท้องที่ตำบลควนสตอ กิ่งอำเภอควนโดน และตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นอุทยานแห่งชาติใน พ.ศ. 2523 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 97 ตอนที่ 165 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2523 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 20 ของประเทศโดยครอบคลุมพื้นที่ 101.68 ตารางกิโลเมตร
ต่อมาได้มีการสำรวจพื้นที่บริเวณรอยแยกต่อของป่ากุบัง-ปุโล้ต ในท้องที่ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ว่ายังมีพื้นที่ป่าที่มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไปจนถึงชายทะเลบริเวณตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เห็นสมควรประกาศผนวกเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติประกาศพื้นที่ดังกล่าวรวมกับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบัน โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 127 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 ฉบับพิเศษ หน้า 37-39 พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ในปัจจุบันจึงครอบคลุมพื้นที่ป่าหัวกะหมิง ป่ากุปัง ป่าปุโล้ต และป่าควนบ่อน้ำ ท้องที่ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน และตำบลเกตรี ตำบลบ้านควน ตำบลปูยู อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล รวมพื้นที่ 196 ตารางกิโลเมตร หรือ 122,500 ไร่[2][3]
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยระหว่างเส้นรุ้งที่ 6 องศา 25 ลิปดา – 6 องศา 48 ลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 05 ลิปดา – 100 องศา 13 ลิปดา ตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกจดอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ทิศใต้จดรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย และทิศตะวันตกจดช่องแคบมะละกา พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบันเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วย เขาวังช้าง เขาหินร้อง เขาวังพะเนียด เขาจีน เขามดแดง เขาหาบเคย เขากวงใหญ่ เขากวงเล็ก เขาวังหมู เขาวังกลวง เขากายัง เขากล่ำ เขาปูยู และเขาวังกูนอง มียอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ในเทือกเขาจีน สูงประมาณ 756 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาทางด้านอำเภอเมืองหรือด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติมีลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนใน ยุคออร์โดวิเชียน (500-435 ล้านปีมาแล้ว) หินดินดาน และหินควอร์ตไซต์ ซึ่งมีการกัดเซาะตามธรรมชาติจึงเกิดเป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่หลายแห่งเช่น ถ้ำโตนดิน ถ้ำผาเดี่ยว และถ้ำลอดปูยู เป็นต้น ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอควนโดนจะเป็นหินแกรนิตใน ยุคครีเทเชียส (141-65 ล้านปีมาแล้ว) และหินแกรโนไดโอไรต์ นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติทะเลบันยังได้รวมพื้นที่อีก 1 เกาะ ซึ่งติดแนวเขตประเทศ คือ เกาะปรัสมานา เทือกเขาจีนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ประกอบด้วยลำธารย่อย ๆ มากมายที่สำคัญคือ คลองกลางบ้าน คลองยาโรย คลองตูโย้ะ มีน้ำตกที่สวยงาม 2 แห่ง ได้แก่ น้ำตกยาโรย และน้ำตกโตนปลิว ส่วนทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณเขาบ่อน้ำมีคลองท่าส้ม และบริเวณแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทางทิศตะวันตก เป็นลำธารน้ำกร่อยและน้ำเค็มในพื้นที่ป่าชายเลนตลอดแนวตะวันตก
จังหวัดสตูลได้รับอิทธิพลเต็มที่จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย ในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ในระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อ่อนกำลังลงก็จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนพัดเข้ามาแทนที่ แต่เนื่องจากจังหวัดสตูลอยู่ทางด้านตะวันตกของฝั่งทะเล จึงไม่ค่อยได้รับอิทธิพลมากนักจากมรสุมนี้ อย่างไรก็ตามในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ก็ยังมีฝนตกชุกอยู่หลังจากนี้ไปฝนจะเริ่มน้อยลงตามลำดับ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาแทนที่ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในระยะนี้ โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 2,281 มิลลิเมตร ฝนจะตกมากที่สุดในเดือนกันยายน 378 มิลลิเมตร และตกน้อยที่สุดในเดือนมกราคม 7 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 28oC โดยอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 39oC และต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 17oC ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปี 79 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ยจะเกิดในเดือนกันยายนและตุลาคมซึ่งสูงถึง 95% ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ยจะเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีเพียง 48%
พืชพรรณของอุทยานแห่งชาติทะเลบัน สามารถจำแนกออกได้เป็น[4] ป่าดงดิบ เป็นป่าผืนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบันประกอบด้วยป่าดิบชื้นในพื้นที่ต่ำและป่าดิบชื้นเชิงเขา มีพืชพันธุ์ไม้หลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เช่น ยางปาย ยางแดง ตะเคียนทอง พะยอม ไข่เขียว กระบาก สยา มะคะ มะหาดรุม ทุ้งฟ้า มะม่วงป่า จวง แซะ เต่าร้าง หมากพน ไม้เถาและพืชชั้นล่างประกอบด้วย หวายเล็ก หวายกำพวน และเฟินแผง เป็นต้น พื้นป่าดงดิบของอุทยานแห่งชาติทะเลบัน เป็นที่อยู่ของซาไกหรือเงาะป่า เจ้าของสมญา “ราชันย์แห่งพงไพร”เผ่าพันธุ์มนุษย์ซึ่งสัมผัสและรู้จักผืนป่าทุกตารางนิ้ว ชำนาญการใช้พื้นป่าในการดำรงชีวิตและรู้จักใช้ประโยชน์จากพืชในลักษณะของยารักษาโรค และอาหารเหนือเผ่าพันธุ์มนุษย์เผ่าใด ๆ การดำรงชีพจะอาศัยผลไม้พืชผักที่มีอยู่ในป่าเป็นอาหารไม่รู้จักการเพาะปลูก นิยมการล่าสัตว์โดยการใช้กระบอกตุดหรือบอเลาคู่กับลูกดอกอาบยางน่องหรือบิลา ชอบอาศัยอยู่ในป่าลึกมีอุปนิสัยชอบเร่ร่อนและรักสงบทำที่พักจากใบไม้ในป่าที่พักเรียกว่าทับ เมื่อใบไม้ที่มาทำทับเหี่ยวก็จะเร่ร่อนหาแหล่งที่อยู่ใหม่ต่อไป ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน มีซาไกอยู่กลุ่มเดียวมีสมาชิกจำนวน 9 คน ปัจจุบันวิธีชีวิตของซาไกได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากการได้สัมผัสกับสังคมของคนเมืองมากขึ้นและส่วนหนึ่งจากการดำรงชีวิตในป่าเริ่มฝืดเคืองขึ้น เนื่องจากป่าถูกบุกรุกและถูกทำลาย แต่อย่างไรก็ตามซาไกก็ยังเป็นชนเผ่าดั้งเดิมเผ่าสุดท้ายที่มีอยู่ในป่าทะเลบัน ป่ารุ่นหรือป่าเหล่า อยู่บริเวณตอนกลางเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบันแถบทุ่งหญ้าวังประ มีสภาพเป็นป่าโปร่งและมีหญ้าคาขึ้นอยู่หนาแน่น มีไม้เบิกนำขึ้นผสมกับพันธุ์ไม้ป่าดงดิบ พันธุ์พืชที่สำคัญได้แก่ กระโดน ตะแบก เปล้า ส้าน ปออีเก้ง โมกมัน มังตาน ผ่าเสี้ยน ยางมันหมู เสม็ดชุน กล้วยไม้ป่าชนิดต่าง ๆ และพืชชั้นล่าง เช่นไผ่ไร่ ไผ่หลอด และหญ้าชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ป่าชายเลน พบบริเวณชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติทะเลบัน พันธุ์พืชที่พบได้แก่ โกงกาง ประสัก แสม โปรงขาว ตาตุ่มทะเล ถั่วขาว ตีนเป็ดทะเล เป้งทะเล ปรงทะเล และเหงือกปลาหมอ เป็นต้น ในบึงน้ำจืดทะเลบันพรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุกได้แก่ เทียนนา บอน บากง ผักบุ้ง ขี้เหล็กย่าน บัวสาย กกกอ หญ้าคมบาง กูดขม แขม และสาคู เป็นต้น
จากการสำรวจชนิดสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน รวมทั้งสิ้น 406 ชนิด จำแนกเป็น[4] สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 64 ชนิด ได้แก่ แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เลียงผา เก้ง กระจงควาย หมูป่า เสือโคร่ง แมวดาว ค่างแว่นถิ่นใต้ ลิงกัง ชะนีมือขาว หมีคน กระรอกข้างลายท้องแดง ค้างคาวมงกุฎ ฯลฯ นก 282 ชนิด เช่น นกหว้า ไก่จุก นกยางกรอกพันธุ์จีน นกกระปูดเล็ก นกบั้งรอกเล็กท้องแดง นกขุนแผนอกสีส้ม นกเงือก (มีถึง 8 ชนิดใน 12 ชนิดของประเทศไทย) นกแซงแซวหางปลา นกขุนทอง นกหัวขวานใหญ่สีดำ ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน 40 ชนิด เช่น เต่าจักร เต่าหกดำ ตะพาบน้ำ ตุ๊กแกป่าใต้ กิ้งก่าบินหัวสีฟ้า เห่าช้าง งูเหลือม งูจงอาง ฯลฯ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 20 ชนิด เช่น อึ่งกรายหัวแหลม จงโคร่ง เขียดว้าก กบทูด ปาดบ้าน และคางคกแคระ ฯลฯ ปลา ในบึงทะเลบันมีปลาน้ำจืดมากมายหลากชนิด เช่น ปลายี่สก ปลานิล ปลาช่อน ปลาดุก ปลาเลียหินหรือปลาติดดิน ปลาไส้ขม ปลาเนื้ออ่อน และปลาในสกุลปลาตะเพียน หมาน้ำ หรือ เขียดว้าก หมาน้ำหรือเขียดว้าก (Rana glandulosa) เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และเสน่ห์แห่งหนองน้ำทะเลบัน ควบคู่กับต้นบากง เขียดว้ากชอบอาศัยอยู่ตามป่าบากง รอบ ๆ หนองน้ำทะเลบัน ลำตัวสีเทาเข้ม มีแต้มจุดสีเทาเข้มถึงดำ หัวค่อนข้างแบนเรียบ ตัวผู้มีถุงขยายเสียงมองเห็นได้จากภายนอก 1 คู่ จะส่งเสียงร้องคล้ายเสียงลูกสุนัขในยามค่ำคืนที่สงบ นี่เองคือที่มาคำว่า “หมาน้ำ” และในฤดูผสมพันธุ์จะร้อง “ว้าก ๆ ๆ ”
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.